เกาะเสม็ด

พิกัด: 12°34′04″N 101°27′17″E / 12.567778°N 101.454722°E / 12.567778; 101.454722
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกาะเสม็ด
อ่าวไผ่ เกาะเสม็ด
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด
พื้นที่5.127 ตารางกิโลเมตร (1.980 ตารางไมล์)
การปกครอง
จังหวัดจังหวัดระยอง
อำเภออำเภอเมืองระยอง
ตำบลตำบลเพ
ข้อมูลอื่น ๆ
เขตเวลา

12°34′04″N 101°27′17″E / 12.567778°N 101.454722°E / 12.567778; 101.454722

เกาะเสม็ด เป็นเกาะในตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของระยอง ที่ได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ อยู่ห่างจากชายฝั่งบ้านเพประมาณ 6.5 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 3,125 ไร่ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีตำนานเล่าขานที่เชื่อกันว่าคือเกาะแก้วพิสดาร ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ อาจเป็นเพราะที่เกาะเสม็ดนี้มีหาดทรายขาวละเอียดอยู่ทั่วไป เหตุที่ชื่อว่าเกาะเสม็ดก็เพราะมีต้นเสม็ดขาวและเสม็ดแดงขึ้นอยู่มาก ชาวบ้านนำมาใช้เป็นไต้เพื่อจุดไฟ

บนเกาะเสม็ดไม่มีแม่น้ำลำคลอง เป็นภูเขาและป่าไม้เบญจพรรณ ประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน ช่วงเดือนพฤษภาคมมีมรสุมและคลื่นลมจัดมาก เดือนสิงหาคมมีฝนตกชุกคนที่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวเกาะที่อาศัยอยู่แต่ดั้งเดิม ใช้ชีวิตอยู่กับทะเลลักษณะแบ่งปันกันรู้จักกันแบบทุกบ้าน ส่วนช่วงที่ไม่มีมรสุมจะเป็นฤดูท่องเที่ยว เนื่องจากบนเกาะมีที่พักและสถานพักตากอากาศหลายแห่ง

ภูมิประเทศ[แก้]

ที่ตั้งเกาะเสม็ด อยู่ตอนบนของอ่าวไทย ห่างจากชายฝั่ง ตำบลบ้านเพ อำเภอเมืองระยอง 6.5 กิโลเมตร มีพื้นที่ 5.127 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะแคบและยาวในแนวเหนือใต้ ยาวประมาณ 6.8 กิโลเมตร มีความกว้างที่สุด 2.5 กิโลเมตรทางทิศเหนือของเกาะและแคบเรียวยาวลงไปทางทิศใต้ มีส่วนที่แคบที่สุด 200 เมตรที่ตอนกลางและตอนใต้ของเกาะ

สภาพภูมิประเทศของเกาะเสม็ด มีสันเขาเป็นแกนยาวจากทิศเหนือลงมาทางใต้ ฝั่งตะวันตกของเกาะเป็นหน้าผาสูงชันและค่อย ๆ ลาดเอียงสู่ฝั่งตะวันออกซึ่งมีอ่าวและชายหาดที่สวยงามจำนวนมาก ส่วนฐานของเกาะอยู่ด้านทิศเหนือ ซึ่งหันเข้าสู่ฝั่งบ้านเพ มีภูเขาสลับซับซ้อนกันอยู่ 2-3 ลูก มีพื้นที่ราบขนาดเล็กรอบอ่าวต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านเหนือและตะวันออกของเกาะ บริเวณปลายแหลมด้านใต้มีเกาะเล็ก ๆ อยู่ใกล้ ๆ 3 เกาะ คือ เกาะจันทร์ เกาะสันฉลาม และเกาะหินขาว ซึ่งเป็นหินล้วน ไม่มีต้นไม้ เป็นที่อาศัยและวางไข่ของนกนางนวล

สถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะ[แก้]

ชายหาดแสงเทียน
ถนนบนเกาะเสม็ดทอดยาวจากเหนือถึงใต้ ช่วงกลางถึงท้ายเกาะถนนสายนี้จะเป็นพื้นผิวลูกรัง
ชายฝั่งทางด้านตะวันตกของเกาะเสม็ด ส่วนใหญ่เป็นหน้าผาสูงชัน เนื่องมาจากเป็นด้านรับลมมรสุม
  • อ่าวกลาง อยู่ทางตอนเหนือของเกาะ มองเห็นจากฝั่งบ้านเพ มีหาดทรายขาวยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของชุมชน หมู่บ้านเกาะเสม็ด และเป็นที่จอดเรือท่องเที่ยว
  • หาดทรายแก้ว อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะห่างจากหมู่บ้านเกาะเสม็ดประมาณ 800 เมตร เป็นหาดทรายที่สวย ที่สุดของเกาะ เป็นหาดทรายละเอียดขาว สะอาด ยาวประมาณ 780 เมตร มีรูปปั้นนางเงือกในวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณีตั้งอยู่บริเวณหาดทรายแก้ว
  • อ่าววงเดือน อยู่ทางด้านตะวันออกทางตอนกลางของเกาะ เป็นอ่าวโค้งคล้ายพระจันทร์ครึ่งดวง หาดทรายขาวสะอาดยาวประมาณ 500 เมตร
  • อ่าวพร้าว เป็นหาดทรายเพียงหาดเดียวที่อยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะมีความยาวประมาณ 200 เมตร
  • หาดหินโคร่ง
  • อ่าวพร้าว
  • อ่าวไผ่ เป็นอ่าวเล็ก ๆ อยู่ถัดไปจากหาดทรายแก้ว มีความเงียบสงบ เหมาะกับการเล่นน้ำ
  • อ่าวทับทิม
  • อ่าวนวล
  • อ่าวคอก
  • อ่าวช่อ
  • อ่าวเทียน หรือ หาดแสงเทียน
  • อ่าวหวาย
  • อ่าวกิ่วนอก
  • อ่าวกะรัง

ประเพณี และวัฒนธรรม[แก้]

ประเพณีบนเกาะส่วนใหญ่เป็นไปตามปกติตามวิถีชีวิตคนไทยอาจเปลี่ยนแปลงไปบางอย่างเนื่องจากต่างพื้นที่กัน แต่ว่ามีหนึ่งอย่างที่มีทีเกาะเสม็ดที่เดียว คือการแห่พ่อปู่ดำรอบ ๆ เกาะโดยใช้เรือ

สัญลักษณ์ชุมชน[แก้]

เป็นแบบสังคมชาวเกาะทั่ว ๆ ไป อยู่กันเป็นชุมชนครอบครัว ในเขตรอบๆเกาะ และในเขตชุมชนการท่องเที่ยวอยู่กันแบบเพื่อนบ้านเป็นตึกแถวเป็นส่วนใหญ่

ภาษา[แก้]

บนเกาะโดยทั่วไปของประชากรที่อาศัยอยู่บนเกาะจะสื่อสารภาษาพื้นเมืองของจังหวัดระยอง และมีการใช้ภาษาอังกฤษในการประกอบอาชีพ เพราะบนเกาะมีชาวต่างชาติมาท่องเที่ยว

ศาสนา[แก้]

ประชาชนส่วนใหญ่บนเกาะนับถือศาสนาพุทธ บนเกาะมีวัดเพียงวัดเดียว คือ วัดเกาะเสม็ด[1]

การคมนาคม[แก้]

การเดินทางไปยังเกาะจะใช้เรือโดยสารข้ามไปเกาะ ส่วนการเดินทางภายในเกาะคนส่วนใหญ่ ใช้การโดยสารรถแท็กซี่ซึ่งเป็นรถกระบะที่วิ่งทั่วทั้งเกาะและใช้รถจักยานยนต์เป็นส่วนใหญ่ บนเกาะมีถนนทอดยาวจากเหนือถึงใต้

ทรัพยากร[แก้]

มีต้น เสม็ด ขาว และ เสม็ด แดงขึ้นอยู่มาก บนเกาะเสม็ด ไม่มีแม่น้ำลำคลอง เป็นภูเขาและป่าไม้เบญจพรรณ ประมาณ 80% ของพื้นที่

ประชากร[แก้]

จำนวนประชากรที่เป็นคนไทยที่ใช้ชีวิตบนเกาะ โดยประมาณ 1,500 คน และเป็นแรงงานชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานบนเกาะเกือบ 1,000 คน ส่วนใหญ่จะตั้งชุมชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในบริเวณตอนเหนือและตะวันออกของเกาะ

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วที่บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบ ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ขณะกำลังส่งน้ำมันมายังโรงกลั่น เมื่อเวลา 06.50 น.วันที่ 27 กรกฎาคม โดยมีน้ำมันดิบรั่วประมาณ 50,000 ลิตร ต่อมาในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ได้มีการประกาศให้อ่าวพร้าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางทะเล[2]และในวันที่ 1 สิงหาคมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนได้มีมติปิดอ่าวพร้าวเกาะเสม็ดเป็นเวลา 1 เดือนเหตุการณ์นี้สร้างความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวรวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าว[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "10 ที่เที่ยวเกาะเสม็ด จุดเช็คอิน พิกัดชิล ที่ซัมเมอร์นี้ต้องห้ามพลาด!".
  2. ประกาศอ่าวพร้าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเล
  3. กกร.สั่งปิดอ่าวพร้าว1เดือน จี้ PTTGC ชดใช้ค่าฟื้นฟูทั้งหมด

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]