วัดสมานรัตนาราม
วัดสมานรัตนาราม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดสมานรัตนาราม, วัดใหม่ขุนสมานเพิ่มนคร, วัดไผ่แสวก |
ที่ตั้ง | ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดสมานรัตนาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ในตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ ตามหน้าโฉนดที่ตั้งวัด 26 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา (ที่ดินนอกวัดไม่มี) วัดตั้งอยู่ในตำแหน่งฮวงจุ้ยมงคล (ถุงเงินถุงทอง)
ครอบครัวท่านขุนสมานจีนประชา (เดิมชื่อจ๋าย) เมื่อท่านขุนสมานจีนประชาถึงแก่กรรมแล้ว ภรรยาทั้ง 2 ของท่านขุนสมานจีนประชา นางทิม สืบสมาน และ นางผ่อง สืบสมาน (เพิ่มนคร) พร้อมด้วย นางยี่สุ่น มีความศรัทธาคิดจะสร้างวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้สามีผู้ล่วงลับ จึงได้ดำเนินการสร้างวัด ปรากฏตามหลักฐาน เมื่อ พ.ศ. 2422 เมื่อสร้างวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดใหม่ขุนสมานเพิ่มนคร แต่เดิมเป็นฝ่ายมหานิกาย แต่ปกครองไม่นานนัก ผู้สร้างวัดได้ถวายพระในคณะธรรมยุตมีพระครูศิริปัญญามุนี (อ่อน เทวนิโพ) เป็นประธานสงฆ์ในการรับถวาย ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเสด็จออกตรวจสังฆมณฑลทางเรือตามลำแม่น้ำบางปะกง พระองค์ทรงเห็นป้ายชื่อวัดว่าไม่สอดคล้องกับตำบลไผ่แสวก จึงทรงตั้งชื่อเสียใหม่ว่า วัดไผ่แสวก เพื่อให้สอดคล้องกับตำบล แต่เมื่อทางราชการได้ยุบตำบลไผ่แสวกไปรวมกับตำบลบางแก้ว พระเถระผู้ใหญ่พร้อมด้วยภิกษุสามเณรชาวบ้านอุบาสกอุบาสิกาต่างก็มีความเห็นพ้องกันว่าสมควรที่จะเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ เป็น "วัดสมานรัตนาราม" ให้มีชื่อคำว่า สมาน เพราะเป็นตระกูลที่สร้างวัดและคำว่าแก้ว เพื่อให้สอดคล้องกับตำบล[1]
ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระพิฆเนศปางนอนเสวยสุข องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เจ้าแม่กวนอิมปางประทานบุตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเทวรูปพระพรหม 4 หน้าขนาดใหญ่ พระราหู และยังมีศาลาปฏิบัติธรรม[2]
-
พระพิฆเนศองค์ใหญ่
-
รูปเหมือน ขุนสมานจีนประชา
-
พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]- พระสมุห์ทัด สุวัณโณ
- พระสุชิต สุชิโต
- พระครูอนันตธรรมรัต (อนันต์ อติลาโภ)
- พระสมุห์เอี่ยม (เอี่ยมบุญเลอ)
- พระครูสุทธาภิมุข (ผิน สุทธาภิมุโข สิทธิโกศล)
- พระราชวชิรประชานาถ (ไพรัตน์ ปญญาธโร) เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา (ธ)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดสมานรัตนาราม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
- ↑ "วัดสมานรัตนาราม". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-12. สืบค้นเมื่อ 2021-06-12.