ข้ามไปเนื้อหา

พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระตำหนักชุบศรเมื่อ พ.ศ. 2566
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะทอดพระเนตรปรากฏการณ์จันทรุปราคา ณ พระตำหนักชุบศร

พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือ พระที่นั่งเย็น หรือ พระตำหนักทะเลชุบศร[1][2] เป็นพระที่นั่งที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ เมืองลพบุรี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างเพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถ โดยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2228 นับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของประเทศไทย เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใช้เป็นสถานที่ศึกษาจันทรุปราคา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ร่วมกับบาทหลวงเยซูอิตและบุคคลในคณะทูตชุดแรกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี

เหตุที่ใช้พระที่นั่งเย็นเป็นที่ศึกษาจันทรุปราคามีบันทึกของชาวฝรั่งเศสว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมมองท้องฟ้าได้ทุกด้าน มีพื้นที่กว้างพอในการติดตั้งเครื่องมือ มีหลักฐานภาพวาดการศึกษาจันทรุปราคาที่วาดโดยชาวฝรั่งเศสแสดงภาพสมเด็จพระนารายณ์ทรงสวมลอมพอก ทรงกล้องยาวบนขา ตั้งทอดพระเนตรดวงจันทร์จากสีหบัญชรและตรงเฉลียงหน้าสีหบัญชรด้านหนึ่งมีขุนนางหมอบกราบ อีกด้านหนึ่งมีนักดาราศาสตร์กำลังสังเกตการณ์โดยใช้กล้องส่องดาว[3] กล่าวได้ว่าการศึกษาดาราศาสตร์เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ พระที่นั่งเย็นเมืองลพบุรีนี่เอง ปัจจุบัน พระที่นั่งไกรสรสีหราชมีราษฎรบุกรุกสร้างบ้านเรือนอยู่ในเขตรัศมีใกล้ชิดโบราณสถาน กระทั่งวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 กรมศิลปากรจึงได้ออกประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระตำหนักทะเลชุบศร[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-27. สืบค้นเมื่อ 2010-08-27.
  2. "ระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-04. สืบค้นเมื่อ 2012-12-04.
  3. ภูธร ภูมะธน. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช: พระมหากษัตริย์ผู้สนพระทัยและองค์อุปถัมภ์การศึกษาดาราศาสตร์ตะวันตกในสยามพระองค์แรก. กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นท์ติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2555, หน้า 66
  4. ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน