พร้อมพงษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พร้อมพงษ์ มุมมองจากเอ็มควอเทียร์
เอ็มสเฟียร์

พร้อมพงษ์ หรือ ซอยสุขุมวิท 39 เป็นชื่อย่านและซอยหนึ่งบนถนนสุขุมวิท ในพื้นที่แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา และแขวงคลองตัน เขตคลองเตยกรุงเทพมหานคร โดยย่านพร้อมพงษ์ครอบคลุมถึงช่วงต้นของซอยสุขุมวิท 24 ด้วย

ประวัติ[แก้]

แต่เดิมบริเวณนี้เรียกว่า ทุ่งบางกะปิ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางมาก ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณถนนสุขุมวิทในปัจจุบันไปถึงย่านบางกะปิในปัจจุบันและไกลไปกว่านั้น จนเมื่อมีการเปิดใช้ถนนสุขุมวิทเมื่อ พ.ศ. 2479 จึงเริ่มเกิดชุมชนเรียงรายไปตามถนนสุขุมวิท ที่ดินบริเวณทุ่งบางกะปิมีราคาถูกกว่าที่ดินฝั่งตะวันตกของกรุงเทพที่เป็นสวนผลไม้ เริ่มแรกมีเจ้านายในพระราชวงศ์ ข้าราชการชั้นสูง และคหบดี เข้ามาจับจองพื้นที่ ชื่อของซอย "พร้อมพงษ์" ก็มาจากพระนามของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงษ์อธิราช ต้นสกุล "สนิทวงศ์"[1] ซึ่งทรงเคยทรงสร้างวังอยู่ในซอยสุขุมวิท 39

พ.ศ. 2484 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ย้ายมาเปิดการเรียนการสอนในย่านนี้เป็นการชั่วคราว โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนกรุงเทพสเถียรวิทยาลัย"[2] ปีต่อมามีการตั้งกรมอุตุนิยมวิทยา[3] มีสำนักงานตั้งอยู่บริเวณอุทยานเบญจสิริในปัจจุบัน[4] ภายหลังที่มีการตัดถนนเพชรบุรีจึงมีการสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบเชื่อมต่อไปยังถนนเพชรบุรี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2523 มีโรงภาพยนตร์วิลล่า (ปัจจุบันคือ วิลล่ามาร์เก็ท)

พ.ศ. 2535 สร้างอุทยานเบญจสิริบริเวณซอยสุขุมวิท 24 จนเมื่อ พ.ศ. 2540 กลุ่มเดอะมอลล์ร่วมกับกลุ่มโสภณพนิชได้สร้างห้างเอ็มโพเรียม เป็นศูนย์การค้าแบรนด์หรูหรา ถัดจากนั้นเมื่อ พ.ศ. 2542 เปิดดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอส มีสถานีพร้อมพงษ์ของสายสุขุมวิทในย่านนี้ ทำให้ทำเลพร้อมพงษ์ได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนี้[5] ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2558 กลุ่มเดอะมอลล์เปิดเอ็มควอเทียร์ และได้เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นโครงการดิ เอ็มดิสทริค จนกระทั่งล่าสุดกลุ่มเดอะมอลล์ได้เปิดศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์[6] ซึ่งสร้างบนพื้นที่เดิมของวอชิงตันสแควร์ เป็นส่วนสุดท้ายของโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2566[7]

ปัจจุบันย่านพร้อมพงษ์ถือเป็นย่านมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหนาแน่นและมีพื้นที่พาณิชยกรรมที่สำคัญ มีอุทยานเบญจสิริ และห้างสรรพสินค้า มีคอนโดเกิดขึ้นมากเพื่อตอบสนองชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักในประเทศไทย ร้านอาหารญี่ปุ่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง ภายในซอยสุขุมวิท 39 ยังปรากฏบ้านเดี่ยวซึ่งเป็นบ้านเจ้านายเก่า มีชุมชนชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในย่านนี้เป็นจำนวนมากในซอยสุขุมวิท 33/1 จึงทำให้รู้จักย่านนี้ในอีกชื่อว่า Little Japan[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 จารุวรรณ ขำเพชร. "พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่านสุขุมวิท". วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม.
  2. สุขุม, ประสงค์ (2003). 150 ปี จากกุฎีจีนถึงประมวญ มิชชันนารีกับการศึกษาไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 154.
  3. "ประวัติกรมอุตุนิยมวิทยา".
  4. "เรื่องเล่าจากคนพร้อมพงษ์". culturedcreatures.co.
  5. "รู้จักย่านพร้อมพงษ์แบบเจาะลึก".
  6. ""พร้อมพงษ์" เสน่ห์ของไลฟ์สไตล์ที่ไม่เคยหลับไหล". กรุงเทพธุรกิจ.
  7. ไม่ต้องไปถึงบางนา-บางใหญ่ IKEA ยกสาขามาไว้ที่ Emsphere กลางถนนสุขุมวิทแล้ว