ข้ามไปเนื้อหา

เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เนติบัณฑิตไทย)

เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปภัมภ์ เป็นองค์การอิสระ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ซึ่งตราขึ้นโดยจอมพล ถนอม กิตติขจร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นสภานายกพิเศษ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกิจการทั้งปวงของสภา และยับยั้งมติของสภาด้วย กับทั้งมีประธานศาลฎีกา เป็นนายก ประธานศาลอุทธรณ์ เป็นอุปนายกคนที่ 1 และอัยการสูงสุด เป็นอุปนายกคนที่ 2

สภามีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยทางนิติศาสตร์ และการประกอบอาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งจัดหาทุนเพื่อการนั้น ตลอดจนส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก

ประวัติ

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภา เพื่อประสงค์บำรุงการศึกษาวิชากฎหมายทั้งการรักษาความประพฤติของทนายความ ให้ตั้งอยู่ในสัจธรรม ให้สาธารณชนได้อาศัยทนายความซึ่งมีความสามารถและสมควรที่จะเชื่อถือได้ดียิ่งขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยราชา เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และกรมหลวงสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ อธิบดีศาลฎีกา พิจารณาร่างข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา ทรงรับเนติบัณฑิตยสภาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2457 และถือเป็น "วันกำเนิดเนติบัณฑิตยสภา"

สมาชิกภาพและสิทธิ

[แก้]

เนติบัณฑิตยสภามีสมาชิกประเภทต่างๆ ดังนี้

  • สามัญสมาชิก เป็นผู้ผ่านการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
  • วิสามัญสมาชิก
  • สมาชิกสมทบ
  • สมาชิกกิตติมศักดิ์

สมาชิกกิตติมศักดิ์ สามัญสมาชิกและวิสามัญสมาชิกสามารถสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตในการว่าความได้ หรือในโอกาสอันควร แต่ห้ามมิให้สวมในเวลาที่เป็นจำเลยในคดีอาญาหรือคดีล้มละลายหรือเวลาเป็นพยานในศาล[1]

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2491 เนติบัณฑิตยสภาได้จัดตั้ง สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา มีหลักสูตรตามแบบอย่างของ "สภาการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาประเทศอังกฤษ" และต้องตามมติของ "เนติบัณฑิตยสภาสากล" ซึ่งได้มีมติในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2491 ว่า การจัดการศึกษาวิชากฎหมายนั้นจำเป็นต้องให้มีการศึกษาภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอเสียก่อนที่จะอนุญาตเข้าปฏิบัติงานในวิชาชีพกฎหมาย

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เริ่มเปิดการสอนและศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2491 ผู้ที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตร และเนติบัณฑิตยสภาได้ยอมรับเข้าเป็นสามัญสมาชิกแล้ว ให้เป็นเนติบัณฑิต (Barrister-at-Law) เรียกว่า เนติบัณฑิตไทย ใช้อักษรย่อ น.บ.ท.และมีสิทธิ์ในการสวมครุยเนติบัณฑิต

การสมัครเข้าเป็นนักศึกษา

[แก้]

ผู้เป็นนักศึกษาในสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาต้องเป็น

  1. ผู้สอบไล่ได้ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  2. ผู้ที่ได้ศึกษาวิชานิติศาสตร์ในสถาบันอื่น ในหรือนอกประเทศไทย และสอบไล่ได้ตามมาตรฐานซึ่งคณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เทียบให้ไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะดังกล่าว ใน (1) ซึ่งในทางปฏิบัติ คณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ได้เทียบระดับปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้รับรองมาตรฐานการศึกษาแล้ว

คณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา อนุมัติสถาบันอุดมศึกษาที่สามารถสอบเนติบัณฑิตได้ ดังนี้[2]

หลักสูตรการเรียนการสอน

[แก้]
  • ภาคเรียนที่หนึ่ง

กลุ่มวิชากฎหมายแพ่ง ได้แก่ วิชาทรัพย์-ที่ดิน, นิติกรรม-สัญญา, หนี้, ละเมิด, ซื้อขาย-เช่าทรัพย์-เช่าซื้อ, ยืม-ค้ำประกัน-จำนอง-จำนำ, ตัวแทน-ประกันภัย-ตั๋วเงิน-บัญชีเดินสะพัด, หุ้นส่วน-บริษัท, ครอบครัว, มรดก, กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา, กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ

การเรียนการสอนในกลุ่มวิชากฎหมายแพ่งนั้น จะใช้บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั้งหมด แต่ในส่วนของวิชาละเมิด ได้มีการนำหลักความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาประกอบการเรียนการสอนด้วย

กลุ่มวิชากฎหมายอาญา ได้แก่ วิชากฎหมายอาญา, กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีในศาลแรงงาน, รัฐธรรมนูญ, กฎหมายปกครอง, กฎหมายภาษีอากร

ในส่วนของกฎหมายอาญานั้น จะมีการแบ่งออกไปเป็น 3 วิชา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59-106 1 วิชา, มาตรา 1-58 กับ 107-208 1 วิชา และ มาตรา 288-366 อีก 1 วิชา

  • ภาคเรียนที่สอง

กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้แก่ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, กฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ, ระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

กลุ่มวิชากฎหมายวิธิพิจารณาอาญา ได้แก่ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม, กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, วิชาว่าความและการถามพยาน, การจัดทำเอกสารทางกฎหมาย, ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย

การจบหลักสูตร

[แก้]

ผู้ที่จะถือว่าจบหลักสูตรเป็นเนติบัณฑิตได้นั้น จะต้องสอบผ่านการสอบข้อเขียนทั้งสองภาค โดยในการสอบแต่ละภาคจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป และผ่านการสอบปากเปล่า ผู้ที่สามารถสอบผ่านภาคหนึ่งภาคใดได้ ไม่ต้องสอบข้อเขียนของภาคนั้นอีก แม้ว่าจะสอบข้อเขียนอีกภาคหนึ่งตก เมื่อสอบได้ทั้งสองภาคจึงมีสิทธิสอบปากเปล่า

การสอบปากเปล่า กรรมการผู้สอบจะวินิจฉัยเพียงว่า "สอบได้" หรือ "สอบตก" เท่านั้น ถ้าผู้สอบปากเปล่าผู้ใดสอบตก ผู้นั้นมีสิทธิเข้าสอบปากเปล่ากับคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นเพื่อการนั้นในวันเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าผู้สอบปากเปล่าตกในการเรียนสมัยใด (หรือปีใด) ผู้นั้นมีสิทธิสอบแก้ตัวอีกสามครั้ง หากยังสอบไม่ผ่านอีกเป็นครั้งที่สาม ให้ถือว่าการสอบข้อเขียนทั้งสองภาคที่ได้ไว้แล้วนั้นเป็นอันยกเลิก


กรณีเนติบัณฑิตยสภาถูกฟ้องเป็นจำเลย

[แก้]

จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552 นายสถิตย์ เล็งไธสง ได้ฟ้องเนติบัณฑิตยสภาต่อศาลยุติธรรมว่า ในการประกาศผลสอบไล่เนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 14 ประจำ พ.ศ. 2504 เนติบัณฑิตยสภาได้กระทำการละเมิดต่อตนโดยประธานกรรมการของเนติบัณฑิตยสภา นายมนูเวทน์ สุมาวงศ์ (พระมนูเวทย์วิมลนาท) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา สมคบกันทุจริตในการให้คะแนนสอบปากเปล่าด้วยความลำเอียงไม่ให้คะแนนตามความรู้ ด้วยการให้คะแนนสอบปากเปล่าแก่นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ บุตรชายของนายมนูเวทน์ ผู้ซึ่งสอบข้อเขียนได้เป็นอันดับ 3 สูงถึง 85 คะแนน แต่กลับให้นายสถิตย์ซึ่งเป็นผู้สอบข้อเขียนได้คะแนนสูงสุดและมีคะแนนข้อเขียนมากกว่านายอัครวิทย์ถึง 19 คะแนน ได้คะแนนสอบปากเปล่าเพียง 65 คะแนน ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับคะแนนสอบข้อเขียนแล้วทำให้นายสถิตย์ตกไปอยู่ในอันดับ 2 และส่งผลให้นายอัครวิทย์ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 และกลายเป็นผู้สอบไล่ได้ในอันดับที่ 1 ของเนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 14 แทนนายสถิตย์ ทำให้นายสถิตย์ได้รับความเสียหายและอับอาย พร้อมทั้งขอให้ศาลสั่งบังคับให้เนติบัณฑิตยสภาดำเนินการขอขมานายสถิตย์และประกาศผลการสอบไล่ดังกล่าวเสียใหม่ว่านายสถิตย์เป็นผู้สอบไล่ได้เป็นอันดับ 1 มิใช่นายอัครวิทย์[3]

อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2552 ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องนายสถิตย์ โดยให้เหตุผลว่านายสถิตย์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานถึง 43 ปีจึงจะฟ้อง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และไม่มีอำนาจฟ้อง[4] ภายหลังได้มีบุคคลให้ความเห็นว่าเหตุที่นายสถิตย์เก็บเรื่องนี้ไว้กับตน โดยไม่ฟ้องร้องเป็นคดีความเนิ่นนานถึงเพียงนั้น เนื่องจากภายหลังที่นายสถิตย์สอบไล่เนติบัณฑิตได้หนึ่งปีนั้น นายสถิตย์ได้สอบไล่ได้ในตำแหน่งผู้พิพากษา ณ ศาลยุติธรรมในปี พ.ศ. 2506 และมีความเกรงกลัวว่าหากตนนำคดีดังกล่าวฟ้องร้องต่อศาล จะส่งผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตน และได้รับการกลั่นแกล้งจากพรรคพวกของนายมนูเวทน์ สุมาวงศ์ อดีตประธานศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงในศาลยุติธรรมอยู่

แม้ว่าศาลฎีกาจะยกฟ้องคดีดังกล่าว แต่การฟ้องร้องคดีของนายสถิตย์ เล็งไธสงก็เป็นที่กล่าวขานในแวดวงนักกฎหมายและสร้างแรงกดดันให้กับเนติบัณฑิตยสภาเป็นอย่างยิ่งถึงความเป็นธรรมในการให้คะแนนการสอบปากเปล่าตามอำเภอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คะแนนสอบโดยเอื้อแก่บุตรของตนเอง อย่างเช่นกรณีของนายมนูเวทน์ สุมาวงศ์กับนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ แม้ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องในกรณีดังกล่าว แต่ข้อครหาของสังคมที่มีต่อระบบการให้คะแนนของเนติบัณฑิตยสภายังไม่สิ้นไป ในท้ายที่สุด จึงส่งผลให้การสอบปากเปล่าไม่มีการให้คะแนนอีกต่อไปในอีกหลายปีให้หลัง เหลือเพียงประเมินว่า "สอบได้" หรือ "สอบตก" แต่เพียงเท่านั้น


ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-03. สืบค้นเมื่อ 2013-04-27.
  2. "รายชื่อสถาบันการศึกษาที่เนติบัณฑิตยสภารับรองในปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-17. สืบค้นเมื่อ 2007-07-02.
  3. "Smart Deka - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552". www.smartdeka.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2022-04-24.
  4. "Smart Deka - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552". www.smartdeka.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2022-04-24.