อักษรไทยฝักขาม
อักษรฝักขาม | |
---|---|
![]() รายละเอียดอักษรฝักขามในจารึกวัดเชียงมั่น (CM1) | |
ชนิด | |
ช่วงยุค | ประมาณ ค.ศ. 1400 - 1600[1] |
ทิศทาง | ซ้ายไปขวา |
ภาษาพูด | ภาษาไทยถิ่นเหนือ, และอื่น ๆ |
อักษรที่เกี่ยวข้อง | |
ระบบแม่ | |
ระบบลูก | ไทน้อย,[1] ไทญ้อ, ไทยนิเทศ |
อักษรไทยฝักขาม อักษรฝักขาม หรืออักษรไทยล้านนา[2] เป็นอักษรไทยที่เคยใช้ในดินแดนล้านนา เชียงตุง และสิบสองปันนา คาดว่าพัฒนาไปจากอักษรไทยสมัยสุโขทัย และแพร่หลายเข้าสู่ล้านนาในสมัยพญาลิไท พบจารึกภาษาไทยเขียนด้วยอักษรฝักขามในล้านนาชิ้นแรกคือจารึกวัดพระยืน อายุราว พ.ศ. 1954[3] ถือว่าเป็นจารึกอักษรไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในล้านนา โดยทั่วไปมักปรากฏอักษรฝักขามในจารึกใบเสมา หรือฐานพระพุทธรูป ตามวัดต่าง ๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพระราชทานกัลปนาและบูรณะวัดโดยกษัตริย์หรือเจ้าครองนคร[2]
ในดินแดนล้านนา อักษรฝักขามเป็นอักษรหลักอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้ควบคู่ไปกับอักษรธรรมล้านนา และต่อมาก็ได้เป็นต้นแบบให้อักษรไทยนิเทศ ซึ่งเป็นอักษรลูกผสมระหว่างอักษรฝักขามและอักษรธรรมล้านนา[2] มีผู้เสนอว่าอักษรฝักขามอาจเป็นต้นแบบให้อักษรไทน้อยและอักษรลาวโบราณ เนื่องจากมีรูปทรงอักษรและอักขรวิธีที่ใกล้เคียงกันมาก (มากกว่าอักษรไทยฝ่ายอยุธยา) ทั้งอาณาจักรล้านนาและล้านช้างก็เคยมีสัมพันธไมตรีต่อกัน[4] อย่างไรก็ดี ข้อมูลส่วนนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน นอกจากนี้อักษรฝักขามยังเป็นต้นแบบของอักษรเง่อันในประเทศเวียดนามด้วย
ในทางศาสนา อักษรฝักขามเป็นอักษรที่ใช้ในหมู่พระภิกษุนิกายลังกาวงศ์เก่า ส่วนอักษรธรรมใช้ในหมู่พระภิกษุนิกายลังกาวงศ์ใหม่ ในสมัยพระเจ้าติโลกราชขึ้นเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. 1984 ทรงสนับสนุนนิกายลังกาวงศ์ใหม่ และน่าจะเริ่มมีจารึกด้วยอักษรธรรมในรัชกาลนี้ เมื่อสิ้นรัชกาล กษัตริย์เชียงใหม่องค์ต่อมาให้ประชาชนนับถือศาสนาตามใจชอบ ทำให้ฟื้นฟูนิกายลังกาวงศ์เก่าขึ้นมาอีกและใช้อักษรฝักขามอีกครั้ง จนกระทั่งหลัง พ.ศ. 2000 นิกายลังกาวงศ์ใหม่ฟื้นฟูการเขียนคัมภีร์ทางศาสนาด้วยอักษรธรรมประกอบกับเป็นช่วงที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ล้านนาจึงใช้อักษรธรรมเป็นหลักเรื่อยมา
ภายหลังล้านนาเป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2325 สมัยพระเจ้ากาวิละเป็นต้นมาได้มีการฟื้นฟูอักษรฝักขามขึ้นใช้อีก โดยมักพบเป็นจารึกการกัลปนาและบูรณะวัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง โดยมีจารึกสำคัญคือจารึกวัดพระธาตุลำปางหลวง หลักที่ 3 จารึกเมื่อปี พ.ศ. 2339[5] จารึกในยุคนี้มีอักขรวิธีที่ได้รับอิทธิพลจากอักษรธรรมล้านนามาหลายประการ และค่อนข้างคล้ายคลึงกับอักขรวิธีของอักษรไทยนิเทศ ภายหลังปี พ.ศ. 2400 ยังมีจารึกอักษรฝักขามอยู่บ้าง เช่น จารึกบนฆ้องกังสดาล ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย พ.ศ. 2403[6] และจารึกหน้าอุโบสถวัดเชตุพน ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2459 ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ถวายเงินบูรณะวัด[7] อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการจัดทำจารึกอักษรฝักขามเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร[7]
-
ศิลาจารึกอักษรฝักขามในประเทศไทย
-
อักษรฝักขามในจารึกวัดเชียงมั่น (CM1)
-
อักษรไทยล้านนาในจารึกวัดล่ามช้าง ค.ศ. 1444
รูปพยัญชนะ
[แก้]อักษรฝักขามมีพยัญชนะ 41 ตัว, สระ 22 ตัว, ตัวเลข 10 ตัว และเครื่องหมายเสริมสัทอักษร 6 แบบ[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Lorrillard, Michel (Jan 2004). "The Diffusion of Lao Scripts. The literary heritage of Laos".
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ 2.0 2.1 2.2 กรรณิการ์, วิมลเกษม (2527). อักษรฝักขามที่พบในศิลาจารึกภาคเหนือ. บุรินทร์การพิมพ์.
- ↑ "จารึกวัดพระยืน". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อ 10 Jun 2025.
- ↑ Lorrillard, Michel (2005). "The Diffusion of Lao Scripts". The Literary Heritage of Laos: Preservation, Dissemination, Research Perspectives (Collected Papers in Lao, Thai and English from the International Conference in Vientiane, 8–10 January 2004). Vientiane: The National Library of Laos. pp. 366–372.
- ↑ "จารึกวัดพระธาตุลำปางหลวง 3". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อ 10 Jun 2025.
- ↑ "จารึกกังสดาล". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อ 10 Jun 2025.
- ↑ 7.0 7.1 "จารึกอักษรฝักขาม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง". กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 10 Jun 2025.
- ↑ Vimonkasam, Kannika (1981). "Fakkham scripts found in Northern Thai inscriptions".
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help)