อักษรสระประกอบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อักษรเทวนาครีเป็นอักษรสระประกอบชนิดหนึ่ง

อักษรสระประกอบ เป็นรูปแบบของระบบการเขียนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยพยัญชนะและสระ แต่พยัญชนะจะมีความสำคัญมากกว่าสระ ซึ่งแตกต่างจากอักษรสระ-พยัญชนะ (alphabet) ที่เป็นระบบการเขียนทั้งสระและพยัญชนะจะมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และแตกต่างจากอักษรไร้สระ (abjad) ซึ่งมักจะไม่มีรูปสระปรากฏอยู่เลย ในบรรดาระบบการเขียนทั้งหมดในโลกนี้ มีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของระบบการเขียนทั้งหมดที่เป็นอักษรสระประกอบ ซึ่งอักษรไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

คำว่า "อักษรสระประกอบ" เป็นคำแปลจากคำว่า abugida ซึ่งเป็นคำที่ Peter T. Daniels นำมาใช้เรียกระบบการเขียนรูปแบบนี้[1] โดยคำนี้มาจากชื่อของอักษรเอธิโอเปีย (’ä bu gi da) ในภาษาเอธิโอเปีย โดยนำมาจากชื่ออักษรสี่ตัวของอักษรเอธิโอเปีย (ในทำนองเดียวกับคำว่า alphabet ที่มาจากชื่ออักษรกรีก แอลฟา และ บีตา) ต่อมาในปีค.ศ. 1997 William Bright ได้เสนอคำว่า alphasyllabary ขึ้นมาเพื่อเรียกอักษรในตระกูลพราหมี เนื่องจากระบบการเขียนแบบนี้มีลักษณะของอักษรพยางค์ (syllabary) และอักษรสระ-พยัญชนะร่วมกันอยู่[2] นักวิชาการในอดีตถือว่าอักษรสระประกอบเป็นอักษรพยางค์ประเภทหนึ่ง หรือเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างอักษรพยางค์และอักษรสระ-พยัญชนะ จึงยังคงเรียกอักษรของชนพื้นเมืองในแคนาดาว่า syllabics อยู่ นอกจากนี้ยังมีคำอื่น ๆ ที่ใช้เรียกระบบการเขียนแบบนี้อีก ได้แก่ neosyllabary pseudo-alphabet semisyllabary และ syllabic alphabet

ลักษณะทั่วไป[แก้]

โดยทั่วไปแล้ว อักษรสระประกอบจะประกอบด้วยพยัญชนะเป็นหลัก ซึ่งพยัญชนะแต่ละตัวจะกำหนดเสียงสระไว้อยู่แล้วโดยไม่ต้องมีรูปสระใด ๆ มากำกับ (ในอักษรไทย พยัญชนะจะออกเสียง อะ หรือ ออ เช่นในคำว่า บ่ หรือ ณ) ส่วนใหญ่จะเขียนจากซ้ายไปขวา สระจะกำหนดโดยการดัดแปลงพยัญชนะด้วยการเติมเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ (อย่างในอักษรตระกูลพราหมี) โดยสระอาจจะอยู่ในตำแหน่งใด ๆ ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องตามหลังพยัญชนะเสมอไป หรือพยัญชนะอาจจะเปลี่ยนรูปร่างไปเพื่อแสดงเสียงสระที่แตกต่างกัน (อย่างในอักษรของชนพื้นเมืองของแคนาดา)

สระที่ไม่มีเสียงพยัญชนะนำหน้าอาจประกฎคู่กับพยัญชนะพิเศษ (เช่น ในอักษรไทย) หรือปรากฏเป็นรูปสระลอย ซึ่งเป็นรูปพิเศษของสระแต่ละเสียงที่สามารถอยู่ได้ตามลำพังโดยไม่ต้องกำกับกับพยัญชนะ สระลอยยังคงมีใช้อยู่ในอักษรหลายประเภทในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อักษรไทยนั้นเหลือเพียง ฤๅ ฦๅ เท่านั้น

อักษรสระประกอบแบ่งได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ

  • ตระกูลอักษรพราหมี เป็นกลุ่มที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด สระจะแสดงโดยเติมเครื่องหมายต่าง ๆ ลงไปที่ด้านหน้า หลัง บน ล่าง หรือรอบ ๆ พยัญชนะ และมีเครื่องหมายที่แสดงว่าพยัญชนะไหนเป็นตัวสะกดหรือไม่มีเสียงสระกำกับ (ดังเช่นพินทุในอักษรไทยที่ใช้เขียนภาษาบาลี)
  • ตระกูลอักษรเอธิโอเปีย สระจะแสดงโดยการดัดแปลงลักษณะของพยัญชนะเพื่อแสดงเสียงสระต่าง ๆและรวมถึงพยัญชนะที่ไม่มีเสียงสระกำกับด้วย
  • ตระกูลอักษรครี สระจะแสดงโดยการหมุนพยัญชนะให้ตะแคงเป็นมุมที่แตกต่างกันเพื่อแสดงเสียงสระที่แตกต่างกัน (เช่น ᒪ มา ᒥ มี) พยัญชนะที่ไม่มีสระกำกับจะแสดงด้วยการเติมเครื่องหมายหรือมีรูปอักษรพิเศษสำหรับพยัญชนะนั้น ๆ

อักษรทานะซึ่งใช้เขียนภาษามัลดีฟส์ของมัลดีฟส์ไม่มีรูปสระลอย มีเพียงรูปสระจมกับพยัญชนะพิเศษอย่าง อ ในอักษรไทยเท่านั้น

รายการอ้างอิง[แก้]

  1. http://www.jstor.org/pss/602899
  2. William Bright (2000:65–66): A Matter of Typology: Alphasyllabaries and Abugidas. In: Studies in the Linguistic Sciences. Volume 30, Number 1, pages 63–71