สถาปัตยกรรมไทยประเพณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุโบสถทรงโรงวัดเขาบันไดอิฐ จังหวัดเพชรบุรี หลังคามี 2 ชั้น ซ้อนละ 3 ตับ

สถาปัตยกรรมไทยประเพณี เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต จนได้ลักษณะประจำชาติ แต่เดิมเป็นสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นหลัก การออกแบบอาคารทางสถาปัตยกรรมไทยประเพณีไทยจึงมีกระบวนการของการออกแบบเป็นมาตรฐานโดยการสืบทอดสืบต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นฝีมือช่างหลวงหรือช่างท้องถิ่น มีการวิวัฒนาการต่อเนื่องตลอดมาแต่ก็ยังยึดถือระเบียบบางอย่างอย่างเคร่งครัด ปัจจุบันการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยประเพณีได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การศึกษาสถาปัตยกรรมได้เปลี่ยนแปลงจากการถ่ายทอดความรู้ในหมู่ที่เป็นช่างในราชสำนักมาสู่การศึกษาในสถานศึกษาสู่บุคคลทั่วไป[1]

คำว่า แบบประเพณี มิใช่คำเรียกที่ใช้มาแต่อยุธยาแต่เป็นการเรียกสมัยหลัง คำที่ใช้ใกล้เคียงในสมัยนั้นเรียกว่า แบบหลวง ซึ่งให้นัยยะการสร้างอาคารตามขนบประเพณีซึ่งถูกรักษาและพัฒนาจากช่างหลวง ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเรียกแบบอาคารที่สร้างตามขนบประเพณีว่า "วัดแบบขนบนิยม" และวัดที่รัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างขึ้นแบบใหม่ว่า "วัดทรงประดิษฐ์ใหม่" ภายหลังเรียกว่า "แบบพระราชนิยม"[2]

ลักษณะและวิวัฒนาการ[แก้]

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยประเพณี คือ เป็นอาคารขนาดใหญ่ มีการแก้ปัญหาเรื่องรูปทรง รูปร่าง ขนาดและสัดส่วน ได้อย่างเหมาะสม ลักษณะรูปทรงชะลูด ทรงของอาคารที่มีผนังสอบลู่สู่ด้านบน มีการใช้หลังคาที่เรียกว่า ตับหลังคา การลดชั้นหลังคา เพื่อย่อยระนาบ ผืนหลังคาแอ่นโค้ง มีการย่อมุม ยื่นมุข ชายคายื่นออกล้ำผนังโดยรอบ มีการใช้ลวดลายทำให้สิ่งใหญ่โตมีรายละเอียด ดูเล็กลง มีการปิดทอง ร่องชาด แกะสลักและปั้นปูนประกอบ

การจัดวางอาคารต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างจักรวาล แผนผังของวัดในสมัยสุโขท้ยและอยุธยาจะใช้ระบบแนวแกนดิ่งเป็นหลักและมีแนวแกนราบเข้ามาสัมพันธ์ด้วย ณ ตำแหน่งของเจดีย์ประธานหรือพระมหาธาตุอันถือได้ว่าเป็นแนวแกนกลางของจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุ วิหารหลวงอยู่ส่วนหน้าของแนวแกน ถัดไปเป็นเจดีย์ประธานที่ล้อมรอบด้วยระเบียงคดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่เชื่อมกับวิหารส่วนหน้าหรืออุโบสถส่วนหลังในแนวแกนดิ่ง

คติการสร้างอุโบสถในสมัยสุโขทัย อุโบสถยังมีขนาดเล็กมาก ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก การสร้างอุโบสถเริ่มแพร่หลายในสมัยอยุธยาไปแล้ว อาคารประเพณีที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายมีลักษณะเฉพาะของยุคสมัย แผนผังของเจดีย์ได้ยุติการใช้เจดีย์เป็นประธานในแผนผัง แต่ใช้อุโบสถหรือวิหารเป็นประธานแทน แล้วใช้กำแพงแก้วเป็นแนวล้อมเพื่อเน้นอาคารและเน้นเจดีย์ประธานแยกจากเจดีย์รายซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ชายคาจะกุดป้อม หลังคามักจะเป็นผืนเดียวไม่ซ้อนชั้น[3]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีอย่างชัดเจน คือ เปลี่ยนจากอาคารแบบทรงไม้มาเป็นอาคารทรงตึกที่มีการตกแต่งทางสถาปัตยกรรมในลักษณะที่ได้รับอิทธิพลจีน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เช่นมีการใช้รูปทรงโค้งรับน้ำหนักระหว่างเสาอาคารหรือการตกแต่ง เช่น ใช้หินอ่อนนำเข้าจากต่างประเทศ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการพัฒนารูปแบบไทยประเพณีไม่เฉพาะแต่ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทซึ่งเป็นอาคารหลายชั้นที่ผสมผสานระหว่างรูปแบบตะวันตกและไทยประเพณี[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 วนิดา พึ่งสุนทร. "ระเบียบวิธีและการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีในปัจจุบัน". หน้าจั่ว.
  2. ตำนานวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา. ประชาช่าง. 2511. p. 87.
  3. อานนท์ เรืองกาญจนวิทย์. "การออกแบบพระอุโบสถและพระวิหารแบบไทยประเพณีสมัยอยุธยาตอนปลาย" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.