โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
Hongsonsuksa School Under the Royal Patronage of Her Royal Highness Princess Bejaratana
ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนห้องสอนศึกษาในพระอุปถัมภ์
ที่ตั้ง
แผนที่
ไทย
1/17 ถนนขุนลุมประพาส ตำบลจองคำ
อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000
ข้อมูล
ชื่ออื่นห.ศ. / H.S.
ประเภทโรงเรียนประจำจังหวัดของรัฐ
คำขวัญคำขวัญ
เรียนดี มีความคิด นำชีวิตสู่ความมั่นคง
คติธรรม
อตฺตานํ นาติ วตฺเตยฺย
(เป็นคนไม่ควรลืมตน)
สถาปนาพ.ศ. 2445 (โรงเรียนหลวง)

พ.ศ. 2453 (โรงเรียนประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนฮ่องสอนศึกษา)

พ.ศ. 2457 (โรงเรียนห้องสอนศึกษา)
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชทานนามโรงเรียน พ.ศ. 2457)
เขตการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
มัธยมศึกษา เขต 34
(เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน)
สำนักงานคณะกรรมการ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน
รหัส58012001
ผู้อำนวยการนายชัยวัฒน์ ใจภักดี
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 1—6 สหศึกษา
จำนวนนักเรียน1,343 คน
สี███ ขาว
███ เขียว
เพลงมาร์ชห้องสอน
เว็บไซต์www.hongson.ac.th fb.com/โรงเรียนห้องสอนศึกษา

โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (ตัวอักษรไทใหญ่: ) เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่เดิมเป็นโรงเรียนชายล้วน ปัจจุบันจัดอยู่ในประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ รูปแบบสหศึกษา ตั้งอยู่บริเวณถนนขุนลุมประพาส ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโรงเรียนในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ประวัติโรงเรียน[แก้]

ศาลพระพรหมบริเวณอาคาร 2


โรงเรียนห้องสอนศึกษาเดิมเรียกกันว่า “โรงเรียนหลวง” เปิดทำการสอนครั้งแรกราว  พ.ศ. 2445 โดยอาศัยศาลากลางเวียงซึ่งใช้เป็นที่ขายข้าวสาร เป็นสถานที่เรียน เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนมีการศึกษา จึงเปิดโอกาสให้บรรดาบุตรหลานของข้าราชการมาเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา โดยมีนักเรียนในระยะก่อตั้งโรงเรียน ประมาณ 30 คน

ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2450  เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ เนื่องจากมีคนบ้าใช้ดาบทำร้ายผู้คนแถวสี่แยกกลางเมือง ใกล้กับโรงเรียนหลวง บรรดาข้าราชการเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อลูกหลานจึงพากันเรียกร้องให้ย้ายโรงเรียนออกจากศาลากลางเวียงหรือสถานที่ขายข้าวสาร และได้ย้ายไปจัดการศึกษาที่ศาลาวัดพระนอนหลังเก่า

โดยสอนรวมกันตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3

ครั้นถึง ปี พ.ศ. 2453 โรงเรียนหลวงมีจำนวนนักเรียนมากขึ้น ประกอบกับสถานที่ในวัดคับแคบ                รวมทั้งนักเรียนเล่นกันเสียงดังรบกวนสมาธิของพระสงฆ์ จึงได้ย้ายไปเปิดสอนที่บริเวณหลังวัดจองคำ

ซึ่งต่อมาใช้เป็นสถานที่ตั้งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีนักเรียนประมาณ 100 คน เปิดทำการสอนตั้งแต่

ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีขุนสุวรรณสิงหราช (พัฒน์ สุวรรณสิงห์ราช)  เป็นครูใหญ่ ในครั้งนั้นเรียกชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนแม่ฮ่องสอนศึกษา”

ปี พ.ศ. 2457 บรรดาข้าราชการพ่อค้าและประชาชน ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อก่อสร้างอาคารไม้ กว้าง 5 วา ยาว 11 วา 2 ศอก หลังคามุงด้วยใบตองตึง (ต้นตองตึงเป็นไม้ยืนต้น ใบมีขนาดใหญ่ ใบสดใช้ห่ออาหาร ใบแห้งนำมาผ่านกระบวนการตามภูมิปัญญาชาวบ้านเอามาเย็บเป็นตับใช้มุงหลังคากันแดดกันฝนได้ใช้ได้ราว 4 – 5 ปี) พร้อมกับได้ดำเนินการ ประสานงานผ่านสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ

ขอพระราชทานนามโรงเรียนเพื่อถวายพระเกียรติรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และอุทิศส่วนกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ 5) ในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ 6) ได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนห้องสอนศึกษา”  เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2457 และได้มีพิธีเฉลิมฉลอง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2457 ในวโรกาสคล้ายวันสิ้นพระชนม์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ

ปี พ.ศ. 2474 ได้ย้ายโรงเรียนจากหลังวัดจองคำ มาตั้ง ณ บริเวณสำนักงานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน มีการสร้างอาคารอย่างถาวร มีนักเรียนประมาณ 200 คน โดยการบริหารงานของครูใหญ่ คือ

นายจันทร์แก้ว ทองเขียว

ปี พ.ศ. 2482 ได้ยกอาคารเรียนถาวรให้กับทางราชการเพื่อจัดตั้งสำนักงานสุขาภิบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งใช้เป็นสถานที่รักษาพยาบาลแก่คนทั่วไป และได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งบริเวณหน้าสำนักงานป่าไม้จังหวัดแม่ฮ่องสอน (บริเวณกลางท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) ซึ่งในสมัยนั้นเป็นทุ่งนากว้าง

ปี พ.ศ. 2486 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ย้ายโรงเรียนจากบริเวณกลางท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน

ไปตั้งอยู่ทางทิศใต้ของท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน เพราะการอยู่กลางทุ่งนาเกรงจะได้รับอันตรายจากการทิ้งระเบิดของข้าศึก อาคารหลักเป็นอาคาร 2 ชั้น และเปิดสอนนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  จำนวน 200 คน ครูใหญ่ คือ นายนิยม คำนวณมาสก

ปี พ.ศ. 2487 สงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงนี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น  มีเครื่องบิน มาทิ้งระเบิดอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าจะเกิดอันตรายกับนักเรียน จึงได้ย้ายโรงเรียนไปที่ใต้ถุนวัดก้ำก่อ  เป็นการชั่วคราว

ปี พ.ศ. 2488 สงครามสงบลง จึงย้ายโรงเรียนกลับมาที่เดิม คือบริเวณทิศใต้ของท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน ขณะนั้นจำนวนนักเรียนมีมากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2506 ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน เริ่มต้นการก่อสร้างอาคารและรันเวย์ จึงได้ย้ายโรงเรียน ไปอยู่ที่บริเวณโรงเรียนการช่างแม่ฮ่องสอนซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน (ปัจจุบันนี้ใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแม่ฮ่องสอน)  ทั้งนี้เนื่องจากที่เดิมพื้นที่แคบและมีเครื่องบินขึ้นลง รบกวนสมาธิในการเรียนของนักเรียน และเกรงว่าจะมีอันตรายต่อนักเรียนซึ่งมีจำนวน 400 คน ครู จำนวน 20 คน อาคารแห่งนี้ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น 12 ห้องเรียน เปิดสอนชั้น ม.ศ.1 –

ม.ศ.5

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2513 โรงเรียนได้รายงานปัญหาการปรับปรุงท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน โดยได้ขยายพื้นที่ จึงเสมือนเป็นกำแพงขวางกั้นระหว่างตัวเมืองกับโรงเรียน เป็นสาเหตุให้ครูและนักเรียน

ต้องเดินเท้า ข้ามท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน เพื่อมาโรงเรียนและกลับบ้านอย่างยากลำบาก จึงได้ดำเนินการของบประมาณจากรัฐบาล เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน ณ สถานที่แห่งใหม่ รัฐบาลโดยกรมสามัญศึกษารับทราบปัญหา ได้จัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ คือสถานที่ปัจจุบันก่อสร้างอาคาร (อาคาร 1 ในปัจจุบัน) ดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2515 

ในปี พ.ศ. 2516 โรงเรียนได้ดำเนินการสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อย (อาคาร 1) จึงได้ย้ายโรงเรียน

จากข้างสนามบินมายัง ณ สถานที่ปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2552 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนห้องสอนศึกษาไว้ในพระอุปถัมภ์ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนแห่งสุดท้ายก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จสู่สวรรคาลัย ในกาลเดียวกันพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานพระอนุญาตให้ออกชื่อองค์กรแห่งนี้อย่างเป็นทางการว่า “โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ  เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี” นับตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ปี พ.ศ. 2558 วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558 โรงเรียนได้ทำพิธีเปิดหอพักนักเรียนโรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรือนนอน และอาคารอเนกประสงค์ จำนวน 4 อาคาร จากมูลนิธิสามสาระ ประจำประเทศไทย ในการนี้ ดร.สิทธิชัย มูลเขียน ผอ.สพม.34 เป็นผู้รับมอบอาคารเอนกประสงค์ ครุภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ ตามโครงการของมูลนิธิสามสาระ จากนางรัตนนา เขื่อนแก้ว ผู้แทนมูลนิธิสามสาระ ประจำประเทศไทย โดยคุณครูนิพนธ์ หมูทอง เป็นผู้เสนอชื่อหอพัก ดังนี้ หอพักนักเรียนหญิงอาคาร 1 ชื่อว่า พูลพิสมัย หอพักนักเรียนหญิงอาคาร 2 ชื่อว่า ดนัยเยาววิทย์ หอพักนักเรียนชาย ชื่อว่า พิศิษฏ์เมธี และอาคารอเนกประสงค์ ชื่อว่า คีรีวัฒนา

ไฟล์:พระประจำโรงเรียน บริเวณหน้าเสาธง.jpg
พระประจำโรงเรียน บริเวณหน้าเสาธง

ปี พ.ศ. 2559 วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โรงเรียนได้จัดพิธีเฉลิมฉลองวาระคล้ายวันพระราชทานนาม "ห้องสอนศึกษา" เป็นปีที่ 102

“ห้องสอนศึกษา” นามนี้มีที่มาด้วยพระมหากรุณาธิคุณ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระผู้พระราชทานนาม "ห้องสอนศึกษา"

ณ แดนดินถิ่นเขากลางลำเนาไพร อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความงดงามทางธรรมชาติและความงดงามภายใจจิตใจของชาวแม่ฮ่องสอน ดินแดนอันสุขสงบนี้มีบุญกุศลยิ่งนักเนื่องด้วยได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงมีพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่ราษฎรชาวแม่ฮ่องสอน ด้วยการลงพระราชหัตถ์พระราชทานนามให้แก่โรงเรียนแห่งนี้ว่า “ โรงเรียนห้องสอนศึกษา” อันเป็นที่มาของชื่อโรงเรียน ณ ปัจจุบัน  

ในปี พ.ศ. 2457  โรงเรียนแม่ฮ่องสอนศึกษาได้รับความร่วมมือจากบรรดาข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างโรงเรียนประจำเมืองขึ้นบริเวณสถานที่เดิม    เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง “พระปิยะมหาราชเจ้า” โดยโรงเรียนก่อสร้างเป็นอาคารไม้กว้าง 5 วา ยาว 11 วา 2 ศอกหลังคามุงด้วยใบตองตึง ซึ่งมีกำหนดเปิดใช้เป็นสถานที่เล่าเรียนในวัน 22 ตุลาคม 2457 ซึ่งเป็นอภิลักขิตสมัยตรงกับวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ดังนั้นบรรดาข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนจึงได้ดำเนินการประสานงานผ่านสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2457 เพื่อส่งเอกสารกราบบังคลทูลขอพระราชทานนามโรงเรียนจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อถวายพระเกียรติรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและอุทิศส่วนกุศลถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง “สมเด็จพระปิยมหาราช” และในเดือนเดียวกันพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงมีพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่ราษฎรชาวแม่ฮ่องสอน โดยการที่พระองค์ได้ทรงลงพระราชหัตถ์พระราชทานนามให้แก่โรงเรียนแห่งนี้ว่า “ โรงเรียนห้องสอนศึกษา” อันเป็นที่มาของชื่อโรงเรียน ณ ปัจจุบัน      

“ห้องสอนศึกษา” สู่องค์กรในพระอุปถัมภ์ฯ[แก้]

“ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยความจงรักภักดี

ต่อบ้านเกิดและต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นประมุขของชาติ ทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์

แห่งความเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ชั่วชีวิต”

พระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี       

ที่พระราชทานในงานฉลองพระชนมายุ ๖๑ พรรษา

เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๙ ณ วชิราวุธวิทยาลัย 

พระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้นได้สะท้อนพระปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในการปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆแทนพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยวิริยภาพ และยังหมายรวมถึงการปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ เพื่อสืบสานพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงบำเพ็ญไว้เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ด้านการศึกษา ในฐานะพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และราชนารีแห่งราชวงศ์จักรีแห่งสยามประเทศ

ด้วยพระปณิธานดังกล่าว จึงทำให้โรงเรียนอันได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นจากสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ารับโรงเรียนห้องสอนศึกษาไว้ในพระอุปถัมภ์ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนแห่งสุดท้ายก่อนที่พระองค์ท่านเสด็จสู่สวรรคาลัย ในกาลเดียวกันพระองค์ทรง พระกรุณาพระราชทานพระอนุญาตให้ออกชื่อองค์กรแห่งนี้อย่างเป็นทางการว่า “โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี” นับตั้งแต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา ด้วยพระมหากรุณาธิคุณนี้จึงทำให้โรงเรียนห้องสอนศึกษาได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก “โรงเรียนห้องสอนศึกษา” กลายมาเป็น “โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ”         

แม้ในเวลานี้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีจะสิ้นพระชนม์แล้ว แต่พระองค์ยังคงสถิตย์อยู่ในดวงใจและเป็นดั่งดวงแก้วดวงขวัญแห่งกำลังใจให้แก่คณะผู้บริหาร ข้าราชการครู บุคลากรและนักเรียนโรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ อยู่เสมอ 

เพลงประจำโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ มีเพลงประจำโรงเรียนทั้งหมด 10 เพลง ได้แก่

  • 1.มาร์ชห้องสอน

ประพันธ์คำร้องโดย คุณครูอุไรวรรณ มณีกาญจน์

ประพันธ์ทำนองโดย คุณครูวัลลภ ชัยชนะ

  • 2.ขาว-เขียวสัมพันธ์

ประพันธ์คำร้องโดย คุณครูอุไรวรรณ มณีกาญจน์

ประพันธ์ทำนองโดย คุณครูทินกร สถิตเจริญกุล

  • 3.รำวงห้องสอนศึกษา

ประพันธ์คำร้องโดย คุณครูอุไรวรรณ มณีกาญจน์

ประพันธ์ทำนองโดย คุณครูทินกร สถิตเจริญกุล

  • 4.รำลึกห้องสอนศึกษา

ประพันธ์คำร้องโดย คุณครูอุไรวรรณ มณีกาญจน์

ประพันธ์ทำนองโดย คุณครูทินกร สถิตเจริญกุล

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ ได้จัดพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวาระคล้ายวันพระราชทานนาม "ห้องสอนศึกษา" เป็นปีที่ 102 งานประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานบริหารงานทั่วไป จึงเห็นความสำคัญของคุณค่าในเกียรติศักดิ์ของความเป็น “ห้องสอนศึกษา” และได้ดำเนินการจัดทำและปรับปรุงบทเพลงประจำโรงเรียนโดยได้จัดการประกวดประพันธ์เนื้อเพลงประจำโรงเรียน และได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองเลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพันธ์เนื้อเพลงมอบให้แก่โรงเรียนเป็นสมบัติของโรงเรียนต่อไป ประกอบด้วยเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ ดังนี้

  • 5.ศักดิ์ศรีห้องสอนศึกษา

ประพันธ์คำร้องโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชพล ไชยพร

ประพันธ์ทำนองโดย คุณครูทินกร สถิตเจริญกุล

  • 6.ห้องสอนรำลึก

ประพันธ์คำร้องโดย คุณครูนิพนธ์ หมูทอง

ประพันธ์ทำนองโดย คุณครูทินกร สถิตเจริญกุล

  • 7.ลาห้องสอน

ประพันธ์คำร้องโดย คุณครูนิพนธ์ หมูทอง

ประพันธ์ทำนองโดย คุณครูยงยุทธ ประวีณชัยกุล

  • 8.เหนือยอดเสา

ประพันธ์คำร้องโดย คุณครูคีต์รามิลธ์ ปุรณธวิทย์

ประพันธ์ทำนองโดย คุณครูยงยุทธ ประวีณชัยกุล

  • 9.เกียรติคุณห้องสอน

ประพันธ์คำร้องโดย นายพิทักษ์ภูมิ โพธิ์คำ

ประพันธ์ทำนองโดย คุณครูทินกร สถิตเจริญกุล

  • 10.ขาวเขียวร่วมใจ

ประพันธ์คำร้องโดย นายพิทักษ์ภูมิ โพธิ์คำ

ประพันธ์ทำนองโดย คุณครูยงยุทธ ประวีณชัยกุล

รายนามผู้บริหารโรงเรียนห้องสอนศึกษา[แก้]

ลำดับ รายนาม ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 ขุนสุวรรณสิงหราช (พัฒน์ สุวรรณสิงหราช) พ.ศ. 2443-2463
2 ขุนพิสิฐดรุณการ (ระเบียบ รัตนชาลี) พ.ศ. 2463-2466
3 นายวารินทร์ สุนทรวัฒน์ พ.ศ. 2466-2468
4 ขุนโกศลเศรษฐ์ (นวล ทะมิชาติ) พ.ศ. 2468-2474
5 นายจันทร์แก้ว ทองเขียว พ.ศ. 2474-2483
6 นายจีระ นิลกุล พ.ศ. 2483-2485
7 นายนิยม คำนวณมาสก พ.ศ. 2485-2489
8 นายเฉลิม ถาวรเวช พ.ศ. 2489-2490
9 นายบุญเชียร ศุภจิตร พ.ศ. 2491-2494
10 นายสวัสดิ์ สุคนธา พ.ศ. 2494-2495
11 นายกู้เกียรติ สุริยกุล ณ อยุธยา พ.ศ. 2495-2502
12 นายแก้ว ทองเขียว พ.ศ. 2502-2506
13 นายสวัสดิ์ สุคนธา พ.ศ. 2506-2510
14 นายสมเพ็ชร นาวิกวาณิชย์ พ.ศ. 2510-2529
15 นายนิคม เจริญศรี (ผู้อำนวยการ 8) พ.ศ. 2529-2533
16 นายพายัพ ภาพพริ้ง (ผู้อำนวยการ 8) พ.ศ. 2533-2535
17 นายเกษม พันธุรัตน์ (ผู้อำนวยการ 8) พ.ศ. 2535-2536
18 นายสมพร ชวฤทธิ์ (ผู้อำนวยการ) พ.ศ. 2536-2542
19 นายสุรเดช พหลโยธิน พ.ศ. 2542-2542
20 นายสุรัตน์ สังข์สุข พ.ศ. 2542-2547
21 นายวิชัย จิตสว่าง (รักษาราชการแทน) พ.ศ. 2547-2547
22 นายเจริญไชย ไชย์วงศ์ (ผู้อำนวยการ 8) พ.ศ. 2547-2551
23 นายอรรถเสฏฐ์ สุสุข พ.ศ. 2551-2554
24 นายวิเชียร ชูเกียรติ พ.ศ. 2554-2555
25 นายชัยวัฒน์ ใจภักดี พ.ศ. 2555-2557
26 นายพูลศักดิ์ จิตสว่าง พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน
27 นาย อัครวัฒน์ อรัญภูมิ พ.ศ.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]