โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล
Ammartpanichnukul School
ตราโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล
ตราสัญลักษณ์ โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล
ที่ตั้ง
แผนที่

พิกัด8°03′30″N 98°54′49″E / 8.058438148083868°N 98.913571566574°E / 8.058438148083868; 98.913571566574พิกัดภูมิศาสตร์: 8°03′30″N 98°54′49″E / 8.058438148083868°N 98.913571566574°E / 8.058438148083868; 98.913571566574
ข้อมูล
ชื่ออื่นอ.ม.(UM)
ประเภทรัฐ
คำขวัญ"เรียนเด่น ประพฤติดี สามัคคี มีวินัย"
ปญฺญา นรานํ รตนํ
(ปัญญาคือแก้วประดับตน)
สถาปนา8 กรกฎาคม พ.ศ. 2452
ผู้ก่อตั้งพระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง)
หน่วยงานกำกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ผู้อำนวยการนาย-
ระดับปีที่จัดการศึกษาม.1-ม.6
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่โรงเรียนจัดสอน:
สี███ น้ำเงิน
███ ขาว
เพลงมาร์ชอำมาตย์
เว็บไซต์http://www.ammart.ac.th

โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล (อังกฤษ: Ammartpanichnukul School) เป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 10 ถนนกระบี่ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พุทธศักราช 2452 โดยพระยาอิศราธิชัย หรือ หมี ณ ถลาง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่อยู่ในขณะนั้น ซึ่งสร้างขึ้นเขตวัดแก้วโกรวาราม โดยมีพ่อค้า ประชาชน ในจังหวัดกระบี่ร่วมกันออกกำลังทรัพย์ กำลังกายในการก่อสร้าง

ประวัติ[1][2][3][4][5][6][7][8][แก้]

ทศวรรษที่ 1 - 3 ยุคบุกเบิก (ระหว่าง พ.ศ. 2452 - 2482)[แก้]

เริ่มเมื่อ พ.ศ.2552 ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก บ่งบอกถึงการสร้างโรงเรียนชัดเจนว่า "โรงเรียนนี้พระแก้วโกรพ หมี ได้เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้าเมืองกระบี่ จัดสร้างขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี บอซิมบี้ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต สำเร็จเมื่อรัตนโกสินทรศก 128 จุลศักราช 1272* พระพุทธศักราช 2452 ปีระกา เอกศก"

ศิลาจารึก หลักฐานชั้นต้น ประเภทลายลักษณ์อักษร

โรงเรียนที่ พระแก้วโกรพ หรือบรรดาศักดิ์สมัยต่อมา คือ อำมาตย์-เอก พระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง) ได้สร้างขึ้นโดยการร่วมมือของ ข้าราชการและพ่อค้านั้น ตั้งอยู่บริเวณด้านขวาของทางเข้าฌาปนสถาน “วัดแก้วโกรวาราม พระอารามหลวง” ในปัจจุบัน ซึ่ง “โรงเรียนประจำจังหวัดกระบี่” เรียกกันโดยทั่วไปว่า “โรงเรียนจังหวัด”



ยุคบุกเบิกเมื่อ พ.ศ. 2452 อันเป็นปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อกับต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เริ่มเป็นโรงเรียนตามนโยบายของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น (กระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งต้องการให้มีโรงเรียนหลวงทุกจังหวัด

พระครูธรรมาวุธวิศิษฐ์สังฆปาโมกข์ (กิ่ม พุทฺธรกฺขิโต)

พระสุตาวุธวิสิฐ (ขรรค์ชัย ชนะกุล) วัดแก้วโกรวาราม พระอารามหลวง อดีตเจ้าคณะจังหวัดกระบี่ อดีตเจ้าอาวาส วัดแก้วโกรวาราม พระอารามหลวง ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนั้น บวชเป็นสามเณรอยู่วัดแก้วโกรวารามนี้ “หลวงตาแคล้ว อชิโต” ซึ่งอยู่ในวัดเดียวกันว่า โรงเรียนนี้ (โรงเรียนประจำ จังหวัดกระบี่) เมื่อเริ่มก่อสร้าง หลวงปู่กิ่ม หรือ พระสมุห์กิ่ม พุทฺธรกฺขิโต (ภายหลังได้สมณศักดิ์เป็น พระครูธรรมาวุธ วิศิษฐ์สังฆปาโมกข์) เจ้าอาวาสวัดแก้วโกรวารามในสมัยนั้น ได้ขอแรงหญิงแม่บ้านจากตำบลต่าง ๆ มาช่วยทำอาหารเลี้ยง คนที่ร่วมกันก่อสร้างโรงเรียน วันละ 1 มื้อ วัสดุก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ตะปู ปูนซีเมนต์ เป็นต้น ต้องสั่งจากปีนัง (ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน) โดยผ่านเอเยนต์ที่ภูเก็ต บางครั้ง หลวงปู่ต้องเดินทางไปหาซื้อวัสดุก่อร้างด้วยตนเองที่ภูเก็ต ใช้เวลาเดินทางไปกลับ 3 - 4 วัน ไม้ที่นำมาก่อสร้าง ต้องไปแปรรูปที่บ้านโพธิ์เรียง (ปัจจุบันอยู่เขตพื้นที่เทศบาลตำบลกระบี่น้อย) ลักษณะของอาคารเป็นอาคารไม้ ชั้นเดียว ยกพื้นสูงพอประมาณ มีระเบียงหน้าห้องเรียน ใช้เวลาก่อสร้างปีกว่า เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 - 3 มี 3 ห้องเรียน คือ ชั้น ม.1 ม.1 พิเศษ และ ม.2 ส่วน ม.3 แยกไปเรียนอาคารชั่วคราว ซึ่งสร้างเป็น อาคารไม้ฝาขัดแตะ ครูใหญ่คนแรก คือ นายกิ้มเฮง สุคันธปรีดิ์

อำมาตย์เอก พระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง)
พระราชสุตกวี (สิงห์ จนฺทาโภ)
ภาพอดีตเจ้าเมืองกระบี่ และเจ้าคณะจังหวัดกระบี่ รูปที่ 1

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ “สามเณรสิงห์ นบนอบ” หรือ หลวง ปู่สิงห์ (พระราชสุตกวี) สหชาติกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (เกิดวัน เดือน ปี) เดียวกันกับรัชกาลที่ 7 อดีตเจ้าอาวาสวัดแก้วโกรวาราม ได้มาเรียนชั้น ม.1 ที่โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูลแห่งนี้ด้วย โดยการช่วยเหลือและอุปการะของหลวงปู่กิ่ม ต่อมาทางราชการขอตัวไปเป็นครูผู้สอนที่วัดคลองเสียด และที่วัดปกาสัย ก่อนจะกลับมาวัดแก้วโกรวารามอีกครั้ง และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดแก้วโกรวาราม ในโอกาสต่อมา

สำหรับศิลาจารึกที่กล่าวถึงการสร้างโรงเรียนพบเมื่อรื้ออาคาร ดังกล่าว หลังจากทรุดโทรมมาก และนักเรียนย้ายไปเรียนอาคารแห่งใหม่ แล้ว โดยหลวงปู่สิงห์ขอให้เทศบาลเมืองกระบี่ช่วยรื้อ ซึ่งสมัยนั้น นายสินธุ์ ประทีป ณ ถลาง เป็นนายกเทศมนตรี

พระครูธรรมาวุธวิศิษฐ์สังฆปาโมกข์ (กิ่ม พุทฺธรกฺขิโต)
พระราชสุตกวี (สิงห์ จนฺทาโภ)
ภิกษุสงฆ์วัดแก้วโกรวาราม


(นับจากซ้าย)

แถวล่างพระสงฆ์รูปที่ 2 พระปัญญาวุธธรรมคณี (บริสุทธิ์ ขนฺติโก น.ธ.เอก จล.) อดีตเจ้าอาวาสวัดแก้วโกรวาราม

แถวล่างพระสงฆ์รูปที่ 3 พระราชสุตก (สิงห์ จนฺทาโภ , นบนอบ ป.ธ.6, น.ธ.เอก)

แถวล่างพระสงฆ์รูปที่ 4 พระสุตาวุธวิสิฐ (ขรรค์ชัย อาภากโร , ชนะกุล , น.ธ.เอก)

อำมาตย์เอก พระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง)

จากการให้สัมภาษณ์พระสุตาวุธวิสิฐ (ขรรค์ชัย อาภากโร , ชนะกุล) ทำให้เกิดร่องรอยเกี่ยวกับ โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ ประเด็นแรก โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล ได้ร่วมสร้างโดยข้าราชการ (อำมาตย์) พ่อค้า (คหบดี) พระภิกษุ สามเณร ตลอดถึงประชาชนที่อาสาสมัครมาจากตำบลต่างๆ แสดงให้เห็นว่าเป็นโรงเรียนที่มีกำเนิดมาจาก ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

ประเด็นต่อมา หลวงปู่กิ่ม เป็นพระเถระอีกรูปหนึ่งที่เป็นผู้มีคุณูปการต่อโรงเรียนมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกซึ่งโรงเรียน จะละเลยถึงพระคุณมิได้เลย

ประเด็นสุดท้าย มีหลักฐานชัดเจนว่า หลวงปู่สิงห์เป็นศิษย์เก่าที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณภาพยากที่จะหาใคร ทัดเทียมได้ เมื่อหลวงปู่สิงห์ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดแก้วโกรวารามแล้ว ก็ได้ให้การอุปถัมภ์ค้ าจุนโรงเรียนอำมาตย์ พานิชนุกูล มาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย จนกระทั่งมรณภาพ จึงนับเป็นคุณูปการต่อโรงเรียนอย่างสูงเช่นกัน


ทศวรรษที่ 4 : ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 (ระหว่าง พ.ศ. 2482 - 2492)[แก้]

ปี พ.ศ.2482 ราชการได้จัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ตรงกับบริเวณที่ตั้งของอาคาร 2 ในปัจจุบัน เป็นที่ดินที่พระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง) สงวนไว้เพื่อสร้างโรงเรียนประจำจังหวัดโดยเฉพาะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างปล่อยโล่ง เสาคอนกรีต หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้อง ทาสีขาวเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางแมกไม้ในป่าใหญ่ เป็นความภาคภูมิใจของนักเรียนอย่างยิ่ง ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองต่างร่วมกันขนานนามอาคารหลังนี้ว่า “อาคารสง่างาม” และได้ขยายชั้นเรียนไปถึงมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 มีนายเนิ่น เกษสุวรรณ รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ ให้นักเรียนชั้น ม.4 - 6 เรียนอาคารใหม่ ส่วนนักเรียนชั้น ม.1 - 3 ยังคงเรียนที่อาคารเดิมที่วัดแก้ว เริ่มมีการกำหนดสีโรงเรียน คือ น้ำเงิน ขาว

ปี พ.ศ. 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยต้องจำยอมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ คือ ญี่ปุ่น และต้องประกาศสงครามกับอเมริกาและอังกฤษ กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเป็นมหามิตรกับเราจึงเข้ามาตั้งฐานทัพ ในประเทศไทยหลายแห่ง กระบี่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลอันดามัน กองทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งอยู่ในกระบี่ 2 แห่ง คือ บริเวณบ้านทุ่งแดง และบริเวณบ้านคลองหิน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ยึดอาคารโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูลเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ โรงเรียนต้องหยุดเรียนโดยไม่มีกำหนด ขณะนั้นนายกล่อม สัจจะบุตร เป็นครูใหญ่ ได้มีประกาศให้นักเรียนได้เลื่อนชั้นทุกคนโดยไม่ต้องสอบไล่

ร่องรอยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับฐานทัพญี่ปุ่นในยุคนี้ คือ มีผู้บังคับบัญชากองทหารญี่ปุ่นชื่อ “ร.ต. โอบุระ” เป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากในฐานทัพ ขณะนั้นเรือกลไฟลำหนึ่งของญี่ปุ่นชื่อ “เรือถ่องโห” ได้บรรทุกทหารจากฐานทัพกระบี่ไปกันตัง (จังหวัดตรัง) แต่ถูกยิงใกล้เกาะหัวขวาน ยังมีซากเรือปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงปี พ.ศ. 2486 – 2487 สงครามโลกครั้งที่ 2 ทวีความรุนแรงขึ้น มีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ ประชาชนเริ่มอดยาก เครื่องอุปโภค บริโภค สมุด ปากกา ดินสอ เสื้อผ้า ขาดแคลน นักเรียนได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง มีนักเรียนลาออกไปมาก ครูแก้ปัญหาโดยการสอนเรื่องการทำสวน เลี้ยงสัตว์ ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือนร้อนไปได้บ้าง

นายชลอ นครินทร์

นักเรียนชั้น ม.1 - 3 ได้ย้ายมาเรียนรวมกับชั้น ม.4 - 6 ที่อาคารสง่างาม ชั้น ม.4 - 6 เรียนชั้นบน ส่วน ม.1 - 3 ใช้ใต้ถุนของอาคารกั้นเป็นห้อง ๆ ด้วยฝาขัดแตะ 3 ห้องเรียน ขณะนั้นมีนักเรียนชั้น ม.6 ประมาณ 100 กว่าคน มีผู้หญิงเรียนรวมอยู่ด้วยเล็กน้อย

คืนวันที่ 25 มีนาคม 2488 ประมาณ 19 - 20 นาฬิกา ก่อนวันประกาศผลการสอบ 1 วัน ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงเรียนต่างตื่นตระหนกกับแสงเพลิงที่แดงฉานจับท้องฟ้า อาคารสง่างามถูกพระเพลิงเผาผลาญวอดวาย ไม่มีผู้ใดทราบสาเหตุของไฟไหม้ในครั้งนี้ ทุกคนต่างโศกเศร้าและเสียดาย บางคนถึงกับร้องไห้

เช้าของวันที่ 26 มีนาคม 2488 เป็นวันประกาศผลการสอบ นักเรียนและผู้ปกครองต่างมายืนรอ ใต้ต้นกอใหญ่ นายหล่อ รีละชาติ ศึกษาธิการจังหวัด ได้เดินทางมากล่าวปลอบขวัญและให้กำลังกับทุกคน ณ ที่นั้น เนื่องจากเอกสารหลักฐานมอดไหม้จนเป็นจุลไปกับพระเพลิง ปีนั้นนักเรียนจึงได้เลื่อนชั้นทุกคนโดยไม่ต้องสอบอีกครั้ง

เมื่อขึ้นปีการศึกษาใหม่ นักเรียนชั้น ม.4 - 6 ต้องไปอาศัยเรียนที่โรงเรียนอุตรกิจ ส่วน ม.1 - 3 ไปอาศัยเรียนที่อาคารทอผ้า (ปัจจุบันคือ ที่ตั้งห้องสมุดประชาชนจังหวัดกระบี่) ซึ่งเป็นอาคารที่จังหวัดใช้เป็นสถานที่ฝึกสอนการทอผ้าให้กับชาวบ้าน เพราะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสื้อผ้าขาดแคลน   นายชลอ นครินทร์ ได้เลขประจำตัวเป็นเลขที่ 1 (จากคำให้สัมภาษณ์ของ ผอ.ชลอ นครินทร์ เองว่า ครูมนูญ กัณหกุล เป็นผู้กำหนดให้)


         ปีการศึกษา 2489 ครูใหญ่ชื่อ นายจิตต์ พิเศษศิลป์ ครูน้อยส่วนใหญ่เป็นคนในท้องที่ เช่น ครูละวาด ภิรมย์รัตน์ , ครูสุตา ผลิพัฒน์ , ครูสุวิทย์ จินดาพล , ครูสมบูรณ์ เพชรล้วน , ครูละเมียด แก้วละเอียด ,   ครูมนูญ หนูคำ , ครูสัญชัย แก้วสมศรี , ครูมนูญ กัณหกุล , ครูเอื้อม เดชเจริญ , ครูถ้วน บุญเสริม , ครูลิขิต (จำเนียร) เข็มปัญญา , ครูโสภา , ครูสังวาลย์ , ครูฟุ้งกราว นักเรียนชั้น ม.6 มี 14 คน เมื่อจบการศึกษา ศึกษาธิการจังหวัดขณะนั้น ได้คัดเลือกนักเรียนเรียนดี เป็นชาย 4 คน และหญิง 2 คน เพื่อไปเรียนฝึกหัดครูที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา 4 คน โรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา 2 คน

ปลายปี พ.ศ.2489 สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การเรียนการสอนเป็นไปอย่างทุลักทุเล โรงเรียนเริ่มขาดแคลนครู เพราะมีครูขอย้ายหลายคน

ทศวรรษที่ 5 : ยุคกระบี่อำมาตย์พานิชนุกูล (ระหว่าง พ.ศ. 2492 - 2502)[แก้]

ทศวรรษที่ 5 : ยุคกระบี่อำมาตย์พานิชนุกูล (ระหว่าง พ.ศ.2492 - 2502) เป็นยุคที่ “ฟ้ากระจ่างหลังพายุ” ราชการได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมบริจาคสมทบอีก 170,000 บาท   (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) สร้างอาคารหลังใหม่แทนหลังที่ถูกไฟไหม้ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว มีใต้ถุนเตี้ยๆ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2492 โรงเรียนเริ่มเข้ารูปเข้ารอยขึ้น มีการจัดระบบการบริหารงานที่ลงตัวขึ้น และมีทิศทางที่ชัดเจน

โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูลในปี พ.ศ.2490 (หลังจากเป็นโรงเรียนมัธยมแล้ว)

การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “กระบี่อำมาตย์พานิชนุกูล” น่าจะเปลี่ยนในยุคนี้ เพราะภาพเก่า อาคารหลังที่ 3 ที่เข้าใจว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2490 มีป้ายชื่อหน้าจั่วเป็น “กระบี่อำมาตย์พานิช (ณิช) นุกูล”

ทศวรรษที่ 6 ยุบรวมสตรีการช่างเข้าด้วยกัน (ระหว่าง พ.ศ. 2502 - 2512)[แก้]

ร.ร. ยุบรวมกับ ร.ร.อำมาตย์ฯ ปี 2508

          ยุคนี้ เป็นช่วงระยะเวลาที่นักเรียนรุ่นไฟไหม้กลับมารับใช้บ้านเกิดด้วยการเป็นครู เช่น นายดวล ดำดี นายชวน ชูมณี นายแอบ เทอดสุวรรณ นายวิพิศ เดชเจริญ นายชลอ นครินทร์ นางสาวประยูรศรี รอดกุล นางสาวสุภา เวสพันธุ์ นายรักษา สุวรรณพิทักษ์ นางสาววัณโน สัสดีเดช นางสาวมาลี บุณโยดม และนางสาวโสพิศ ผลิพัฒน์ เป็นต้น

นายเสรี ลาชโรจน์ อดีตอาจาร์ยใหญ่

ปี พ.ศ. 2508 ได้มีการยุบรวมโรงเรียนสตรีการช่างเข้าด้วยกัน นายเสรี ลาชโรจน์ เป็นอาจารย์ใหญ่ในขณะนั้น ท่านได้เล่าให้ฟัง    ว่ามีปัญหาต่าง ๆ มากมาย สภาพโรงเรียนในช่วงปลายปี พ.ศ.2509 ถึงปี พ.ศ.2512 ต้องแก้ไขเรื่องที่เรียนที่เล่นของเด็ก และที่อยู่อาศัยของครูให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น ที่อยู่ของนักการภารโรงหลายคนก็ยังลำบาก เมื่อมีการรื้ออาคารเก่าเพื่อสร้างอาคารใหม่นั้น ไม้เก่าเหลืออยู่มาก ท่านจึงชี้แจงนักการภารโรงว่า จะต้องช่วยกันสร้างบ้านพักโดยใช้เวลาเย็นและวันหยุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อเวลาทำงาน เขียนแปลนเองแบบคร่าว ๆ ทุกคนช่วยกันอย่างขยันขันแข็ง ได้บ้านพักภารโรงเป็นเรือนแถวอยู่ในพื้นที่ลุ่มด้านตรงกันข้ามกับเรือนจำจังหวัดกระบี่ บ้านเดี่ยวหลังสนามฟุตบอลอีกหลังหนึ่งด้วย

ปี พ.ศ.2510 นายเสรี ลาชโรจน์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล ในขณะนั้น เดินทางเพื่อไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ

นักเรียนโรงเรียนการช่างสตรีกระบี่ ในปี 2508

ทศวรรษที่ 7 : ยุควิกฤติและปฏิรูปโรงเรียน (ระหว่าง พ.ศ. 2512 - 2522)[แก้]

ร.ร.สตรีกระบี่ ยุบรวมกับ ร.ร.อำมาตย์ฯ ปี 2513
กิจกรรมหน้าเสาธงโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูลในอดีต
อาคารยกพื้นไม้เตี้ย ๆ เป็นรูปตัวอี (E) มีห้องมุขยื่นออกมาตรงกลางเป็นห้องครูใหญ่

ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2510 – 2517 คาบเกี่ยวกัน ระหว่างทศวรรษที่ 6 กับ 7 หลังจากมีการยุบรวมโรงเรียนแล้ว กรมวิสามัญศึกษา ได้จัดสรรงบประมาณให้ต่อเนื่องทุกปี โรงเรียนจึงมีการก่อสร้างตลอดเวลาอาคารหลักของโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล เป็นอาคารยกพื้นไม้เตี้ย ๆ เป็นรูปตัวอี (E) มีห้องมุขยื่นออกมาตรงกลางเป็นห้องครูใหญ่

ปี พ.ศ.2512 กรมวิสามัญศึกษา (ในสมัยนั้นทำหน้าที่ดูแลการมัธยมศึกษา ส่วนกรมสามัญศึกษาดูแลการประถมศึกษา) มีคำส่งให้ยุบโรงเรียนสตรีกระบี่รวมกับโรงเรียนกระบี่อำมาตย์พานิชนุกูล เปลี่ยนชื่อเป็น “อำมาตย์พานิชนุกูล” อ่านว่า (อำ-หมาด-พา-นิด-ชะ-นุ-กูน) ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีนายเสรี ลาชโรจน์ เป็นอาจารย์ใหญ่/ผู้บริหารโรงเรียน

ถนนทางขึ้นวัดแก้วโกรวารามในอดีต

จากบันทึกความทรงจำของ นายเสรี ลาชโรจน์ : อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล ได้กล่าวถึงสภาพของอาคารที่ทรุดโทรม เช่น โรงอาหาร บ้านพักครู ซึ่งมีสภาพจะพังแหล่มิพังแหล่ ตั้งอยู่ชายป่าหลังโรงเรียน ส้วมยังเป็นส้วมหลุมอยู่ข้างสนามฟุตบอล ความเป็นอยู่ของครูใหญ่หรืออาจารย์ใหญ่ลำบากมาก เช่น เวลาจะอาบน้ำต้องเดินลงหุบลาดเขาทางลงไปวัดแก้วโกรวาราม ผูกอาหารปิ่นโต อาคารไม้เดิมของโรงเรียนการช่างสตรีกระบี่ใช้เป็นที่เรียนและที่พักของครู ช่วงที่มีการสร้างบ้านพักครูเพิ่มเติม อาจารย์เครือวัลย์ ใจสุทธิ์ และอาจารย์ศุภนิตย์ นาคะวิทย์ พักอยู่ที่อาคารนี้ มีโรงอาหารที่ทรุดโทรมมากอยู่หลังหนึ่ง ท่านจึงถ่ายภาพและชี้แจงถึงความล้าหลังของโรงเรียนไปยังฝ่ายจัดสรรงบประมาณพร้อมหลักฐานประกอบเป็นภาพถ่าย จึงได้งบประมาณมาสร้างส้วมและโรงอาหาร


ระหว่างปี พ.ศ.2510 – 2517 โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล มีการก่อสร้างตลอด ได้ส้วมหลังใหม่แทนหลังที่พัฒนามาจากส้วมหลุม ได้โรงอาหารใหม่ ซึ่งเมื่อมีการประมูลและลงมือสร้างไปได้ระยะหนึ่ง ผู้รับเหมาก่อสร้างทิ้งงาน คนงานก็ยังค้างอยู่ในโรงเรียน ไม่มีเงิน ไม่มีข้าวกิน แต่มีเงินประกันสัญญาอยู่ จึงมีการตกลงกับทางจังหวัดขอให้โรงเรียนดำเนินการสร้างต่อด้วยตนเองจนสำเร็จ เบิกจ่ายค่าแรงเป็นข้าวสารและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น อาหารทะเลมีมากและราคาถูก คนงานก่อสร้างจึงได้กินอิ่มนอนหลับ และมีเงิน ค่าแรง เบิกได้ตรงเวลา โรงอาหารจึงสามารถสร้างสำเร็จได้ พร้อมทั้งยังได้ตึกเรียน 3 ชั้น 16 ห้องเรียน หลังจากได้บ้านพักครูใหญ่  ซึ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2511

บ้าพักครูใหญ่ (ปัจจุบันอยู่ข้างอาคารศิลปะ หลังอาคาร 4)


ทำเนียบผู้บริหาร[2][แก้]

นายสัจจะ เอียดศรีชาย ผู้อำนวยการโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล

นางจุลัยวรรณ ชนะกุล รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารวิชาการ

นายสุชาติ ขุนฤทธิ์เอียด รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงบประมาณ

นายสมชิต บรรทิต รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารบุคคล

นายมนตรี พันธ์คำ รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารทั่วไป

อาคารและสถานที่ภายในโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูลประกอบไปด้วยอาคารเรียน 8 อาคารดังต่อไปนี้

  • อาคาร 1 ประกอบไปด้วยที่ทำการของงานแนะแนว, ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์, ห้องเรียน และห้องพักครู
  • อาคาร 2 ประกอบไปสำนักงานกิจการนักเรียน และห้องพักครู , ห้องคณิตศาสตร์ , ห้องแนะแนว
  • อาคาร 3 ประกอบไปด้วยห้องเรียนกลุ่มสังคมศึกษา ได้แก่ ห้องสังคมศึกษา, ห้องอิสลาม, ห้องพระพุทธ, ห้องพยาบาล และห้องพักครู , ห้องคณิตศาสตร์
  • อาคาร 4 ประกอบไปด้วยอาคารเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนสีเขียว และห้องพักครู ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ เคมี ชีวะ
  • อาคาร 5 ประกอบไปด้วยห้องสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต, ห้อง TOT, ห้องสมุดหลัก, ห้องเรียน, หอประชุม 96 ปี, สถานีวิทยุเพื่อการศึกษา 95.25 MHz
  • อาคาร 6 ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการดนตรีสากล, ห้องปฏิบัติการดนตรีไทย และเป็นที่ทำการของกลุ่มวิชาการงานอาชีพ ห้องเรียนทำอาหาร
  • อาคาร 84 ปี ชั้นบนจัดเป็นหอประชุม ชั้นล่างจัดเป็นโรงอาหาร1
  • อาคาร 9 อำมาตย์ฯ 100 ปี เปิดใช้อาคารวันที่ 8 กรกฎาคม 2552 ฉลอง100 ปีอำมาตย์ฯ ประกอบไปด้วยห้องนาฏศิลป์ ห้องภาษาต่างๆ ได้แก่ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส,ภาษาเกาหลี, ห้อง Resource Center, โรงอาหาร2
  • อาคาร 10 อำมาตย์ฯ 108 ปี ร่มเย็น ซึ่งเป็นอาคารโดมสำหรับเล่นกีฬาและปฏิบัติกิจกรรมหน้าเสาธง
  • อาคาร 11 อำมาตย์ฯ 112 ปี ประกอบไปด้วยห้องเรียนนักเรียนโครงการ 2 ภาษา, ห้องสภานักเรียน, ห้องเรียนนาฏศิลป์, ห้องประชุม 112 ปี, ห้องครูผู้สอนภาษาต่างประเทศ, ห้องสมุดภาษาอังกฤษ, ห้องเรียนวิทยาศาสตร์

ชีวิตในโรงเรียน[แก้]

นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีคุณภาพและศักยภาพในการแข่งขัน ตระหนักในสิ่งแวดล้อม มีความสามารถด้านเทคโนโลยีและมีความเป็นไทยในโลกสากล

เกียรติยศ[แก้]

  1. โรงเรียนได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2529
  2. โรงเรียนมัธยมศึกษาดีเด่น ในปี พ.ศ. 2529
  3. โรงเรียนจัดกิจกรรมจริยศึกษาดีเด่น ในปี พ.ศ. 2529
  4. ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2537
  5. ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ประเภทชมเชย ในปี พ.ศ. 2545
  6. ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ. 2547

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  1. "จากอดีตถึงปัจจุบัน - GotoKnow". www.gotoknow.org.
  2. 2.0 2.1 "ฝ่ายบริหาร". www.ammart.ac.th.
  3. "บทเรียนออนไลน์อำมาตย์ฯ ๑๑๒ปี ๖๔.pdf". Google Docs. (อ้างอิงหลัก)
  4. "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย", วิกิพีเดีย, 2023-04-04, สืบค้นเมื่อ 2023-04-19
  5. โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล. 80 ปี อำมาตย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. ภูเก็ต : พิมพ์กองทอง, 2532 วัดแก้วโกรวาราม. งานพระราชทานเพลิงศพพระราชสุตกวี (สิงห์ จนฺทาโภ) วัดแก้วโกรวาราม
  6. จังหวัดกระบี่ 14 มีนาคม 2536. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : วี.เจพริ้นติ้ง, 2536 โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล. 9 ทศวรรษ หนังสืออนุสรณ์อำมาตย์พานิชนุกูล จังหวัดกระบี่
  7. ครบ 7 รอบ ปีนักษัตร หรือ 84 ปี กรกฎาคม 2563. พิมพ์ครั้งที่ 1. กระบี่ : ไชยวัฒน์, 2536
  8. ร้อยรักษ์อำมาตย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : เอส เอส โปรอาร์ต, 2552 สุตาวุธวิสิฐ พระอนุสรณ์วางศิลาฤกษ์พระมหาธาตุเจดีย์ วัดแก้วโกรวาราม จังหวัดกระบี่ 23 กันยายน 2552


ครบ 7 รอบ ปีนักษัตร หรือ 84 ปี กรกฎาคม 2563. พิมพ์ครั้งที่ 1. กระบี่ : ไชยวัฒน์, 2536

ร้อยรักษ์อำมาตย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : เอส เอส โปรอาร์ต, 2552 สุตาวุธวิสิฐ พระอนุสรณ์วางศิลาฤกษ์พระมหาธาตุเจดีย์ วัดแก้วโกรวาราม จังหวัดกระบี่ 23 กันยายน 2552