โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช
Princess Chulabhorn Science High School Nakhon Si Thammarat[1]
ที่ตั้ง
แผนที่
120 หมู่ที่ 1 ถนนสุนอนันต์ ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
ข้อมูล
ชื่ออื่นจ.ภ.นศ.
PCSHSNST
ชื่อเดิมโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี นครศรีธรรมราช
โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช
ประเภทโรงเรียนรัฐบาล
โรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ
โรงเรียนเฉลิมพระเกีรติ
คำขวัญปญฺญา ยตฺถํ วิปสฺสติ : คนย่อมเห็นเนื้อความด้วยปัญญา
สถาปนา27 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 (30 ปี 236 วัน)
ผู้ก่อตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
หน่วยงานกำกับกระทรวงศึกษาธิการ
รหัส1003800108
ผู้อำนวยการวิชัย ราชธานี
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 1-6 สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
วิทยาเขตนครศรีธรรมราช
สี   สีน้ำเงิน-สีแสด
เพลงมาร์ชจุฬาภรณราชวิทยาลัย
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช
ต้นไม้แคแสด
เว็บไซต์www.pccnst.ac.th

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช (อังกฤษ: Princess Chulabhorn Science High School Nakhon Si Thammarat) เป็นโรงเรียนสหศึกษาให้การศึกษาในระดับมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2536

ประวัติ[แก้]

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช เป็น 1 ใน 12 โรงเรียนที่กรมสามัญศึกษาจัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่องานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม สนองตามพระราชประสงค์ ที่ทรงมุ่งมั่นส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านความเป็นอยู่ และการศึกษาของประชาชน โดยเฉพาะในท้องถิ่นห่างไกล โดยให้โอกาสแก่เยาวชนที่มีความสนใจและมีความสามารถด้านนี้ตั้งแต่เยาว์วัย โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งดังนี้

  • เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 3 รอบ
  • เพื่อเป็นสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่ฝึกทักษะความรู้ความสามารถของนักเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งเป็นการเตรียมบุคลากรไว้รองรับโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
  • เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่เรียนดี มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น ในการเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา และได้พัฒนาความรู้พื้นฐานในด้านนี้อย่างเข้มข้น นำไปสู่การแก้ปัญหาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ได้ผลอย่างแท้จริง
  • เพื่อเป็นสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาตัวอย่าง ในด้านการฝึกอบรมนักเรียน ให้เป็นกุลบุตรกุลสตรี ที่เพียบพร้อมด้วยจริยธรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม

ในปี พ.ศ. 2551 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนละ 1 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน โดยมีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนต้นแบบ และพัฒนาบุคลากร รวมทั้งควบคุมการใช้หลักสูตรตามมาตรฐานของหลักสูตร และในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาแห่งว่า โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์ได้มาตรฐานเดียวกันกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จึงประกาศ ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการพัฒนากลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเน้นการให้โอกาสกับผู้มีความสามารถพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในภูมิภาค โดยมีการพัฒนา ปรับปรุง ส่งเสริม ให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ โดยแบ่งเป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ชั้นละ 4 ห้องเรียน และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นละ 6 ห้องเรียน แต่ละห้องมีนักเรียน 24 คน รวมนักเรียนทั้งหมด 720 คน เริ่มมีการรับนักเรียนเข้าเรียนในหลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2554[2]

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน[แก้]

ตราประจำโรงเรียน[แก้]

ตราประจำโรงเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดย ประกอบด้วย อักษร จ สีส้ม และอักษร ภ สีขาว อยู่ภายใต้พระจุลมงกุฏ โดยตัวอักษร จ.ภ. มาจากพระนามของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้านล่างมีแพรแถบมีข้อความว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช

ต้นไม้ประจำโรงเรียน[แก้]

แคแสด Spathodea campanulata P.Beauv. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 15-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมค่อนข้างทึบ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องตามยาว ใบเป็น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ยาวประมาณ 30-45 ซม. ใบย่อยมี 4-9 คู่ รูปรีถึงรูปไข่ ขอบใบเป็นริ้วเล็กน้อย ปลายใบแหลมและมักจะงุ้มลง มีขนเล็กน้อย มีขนาดยาว 5-12 ซม. กว้าง 2-5 ซม. ดอกเป็น ช่อตั้ง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก โคนกลีบดอกติดกัน ปลายแผ่เป็นรูปแตร ปลายแยกเป็น 4-5 กลีบ กลีบดอกยับย่น สีส้มแสดถึงสีแดงแสด ดอกทยอยบาน ร่วงง่าย ออกดอกราวเดือน ตุลาคม - กุมภาพันธ์ ผลแบน คล้ายฝัก ปลายแหลม ผลแก่สีน้ำตาลดำ ผลแก่จะแตกเป็นด้านเดียวเมล็ดเล็กแบนมีปีก ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด จะเริ่มให้ดอกเมื่อมีอายุประมาณ 4 - 8 ปี

สีประจำโรงเรียน[แก้]

สีน้ำเงิน-แสด

ทำเนียบผู้บริหาร[แก้]

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช มีผู้บริหารมาแล้วทั้งสิ้น 6 คน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้[3]

ลำดับ รายนาม ตำแหน่ง เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
นายเสถียร สุคนธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช
รักษาการครูใหญ่
20 กันยายน พ.ศ. 2536 18 มีนาคม พ.ศ. 2537 (0 ปี 179 วัน)
1 นายวิชาญ เชาวลิต ครูใหญ่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2537 6 มีนาคม พ.ศ. 2539 (1 ปี 353 วัน)
2 นายโชติ ธานีรัตน์ ครูใหญ่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2539 26 ตุลาคม พ.ศ. 2539 (0 ปี 233 วัน)
อาจารย์ใหญ่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2539 30 กันยายน พ.ศ. 2541 (1 ปี 338 วัน)
ผู้อำนวยการ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 (2 ปี 38 วัน)
3 นายไพรัช วงศ์นาถกุล ผู้อำนวยการ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 30 กันยายน พ.ศ. 2560[4] (16 ปี 325 วัน)
นายณรงค์ ทองเพ็งจันทร์ รองผู้อำนวยการ
รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ
1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561 (0 ปี 267 วัน)
4 ดร.สุนทรัสส์ เพชรรักษ์คำด้วง ผู้อำนวยการ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561 30 กันยายน 2562[5] (1 ปี 96 วัน)
นางบังอร แป้นคง รองผู้อำนวยการ
รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ
1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 3 ธันวาคม 2562 (63 วัน)
5 ดร.สันติ นาดี ผู้อำนวยการ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562 30 กันยายน พ.ศ. 2566[6] (3 ปี 300 วัน)
6 นายวิชัย ราชธานี ผู้อำนวยการ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ปัจจุบัน (0 ปี 170 วัน +)

กิจกรรมของโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามหลักสูตรของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและตามสมควร อาทิ

  • กิจกรรมการปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4
  • พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณนักเรียนใหม่ มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4
  • กิจกรรมรับขวัญน้อง โดยนักเรียนรุ่นพี่และศิษย์เก่า โดยความดูแลของครู - อาจารย์ จัดกิจกรรมภายในโรงเรียน
  • การแข่งขันกีฬาภายใน เริ่มจัดมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 คณะสี ได้แก่
  1. ████ จุฬาภัทรพรรค สีแสด-ดำ
  2. ████ พรรคราชวิทย์ สีแสด-ขาว
  3. ████ พรรคเบญจวรมันต์ สีน้ำเงิน-ฟ้า
  4. ████ พรรคอัศวชโลทร สีน้ำเงิน-ขาว
  • กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา
  • กิจกรรมวันสำคัญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
  • กิจกรรมค่ายคุณธรรมจริยธรรม
  • กิจกรรมค่ายวิชาการ
  • กิจกรรมค่ายบริการวิชาการ
  • กิจกรรมอื่นๆ ที่ชุมชนจัด หรือขอการสนับสนุนโรงเรียน เช่น วงโยธวาทิต วงดนตรีสากล

นอกจากนี้ โรงเรียนได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะด้านวิชาการ เช่น

โรงเรียนที่มีความร่วมมือระหว่างประเทศ[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 8°22′08″N 100°02′43″E / 8.368936°N 100.045292°E / 8.368936; 100.045292

อ้างอิง[แก้]

  1. "Congratulations Message from Princess Chulabhorn Science High School Nakhon Si Thammarat" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-07-26. สืบค้นเมื่อ 2017-10-07.
  2. ประวัติโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช[ลิงก์เสีย]
  3. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช. "ทำเนียบผู้บริหาร". website. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2024.
  4. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ข้าราชการพ้นจากราชการเนื่องจากมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์
  5. กระทรวงศึกษาธิการ (30 พฤษภาคม 2019). "บัญชีรายชื่อข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ต้องพ้นจากราชการเนื่องจากครบเกษียณอายุราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ แนบท้ายประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒" (PDF). ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ. กระทรวงศึกษาธิการ. p. 644. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2024.
  6. กระทรวงศึกษาธิการ (12 พฤษภาคม 2023). "บัญชีรายชื่อข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ต้องพ้นจากราชการเนื่องจากครบเกษียณอายุราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ แนบท้ายประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒" (PDF). ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ. กระทรวงศึกษาธิการ. p. 444. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2024.
  7. "งานมหกรรมวิชาการมัธยมศึกษา ครั้งที่ 27 ปีการศึกษา 2560 (สพม.12) กลุ่มนครศรีธรรมราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-28. สืบค้นเมื่อ 2017-10-07.
  8. "ประกาศ การรับสมัครนักเรียนเพื่อสอบคัดเลือก เข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ โดยศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2560" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-10. สืบค้นเมื่อ 2017-10-07.