โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช

พิกัด: 8°22′24.0″N 99°48′14.3″E / 8.373333°N 99.803972°E / 8.373333; 99.803972
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช
ที่ตั้ง
แผนที่
109 หมู่ที่ 11 ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80230[1]
พิกัด8°22′24.0″N 99°48′14.3″E / 8.373333°N 99.803972°E / 8.373333; 99.803972
ข้อมูล
ชื่อเดิมโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์[1]
ประเภทโรงเรียนรัฐบาล[1]
คำขวัญบาลี: สุวิชาโน ภวํ โหติ
(ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ)
สถาปนา11 มิถุนายน พ.ศ. 2516 (50 ปี 314 วัน)
ยกฐานะเป็นสวนฯนคร
3 มีนาคม พ.ศ. 2554 (13 ปี 48 วัน)[2]
ผู้ก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการ[1]
เขตการศึกษานครศรีธรรมราช[1]
ผู้บริหารเกียรติศักดิ์ บุญรวบ [3]
ครู/อาจารย์56 คน[4] 2564
จำนวนนักเรียน1,112 คน[5] 2564
ชั้นเรียนที่เปิดสอนมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย[1]
สี   ชมพู-ฟ้า สวนกุหลาบฯ
   เหลือง-แดง ลานสกาฯ[1]
เพลงเพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
เพลงมาร์ชชมพูฟ้า
เพลงจากเหลืองแดงสู่ชมพูฟ้า
สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช[1]
เว็บไซต์www.skns.ac.th

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช(อักษรย่อ: ส.ก.นศ., S.K.NS.)[1] เดิมชื่อ โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ (อังกฤษ: LansakaPrachasan School) ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2516 ต่อมากระทรวงศึกษาธิการมีดำริจะให้มีโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยภาคใต้ และมองเห็นความพร้อมของโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ในด้านต่างๆ จึงได้ออกประกาศลงวันที่ 3 มีนาคม 2554 เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ เป็นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช (อังกฤษ: Suankularb Wittayalai Nakhon Si Thammarat School.) หรือเรียกโดยย่อว่า “สวนนคร” จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา รูปแบบสหศึกษา กลุ่มสถาบันสวนกุหลาบวิทยาลัย ลำดับที่สิบเอ็ด ให้การศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ รหัสสถานศึกษา 1080210784 มีเนื้อที่ 42 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 109 หมู่ที่ 11 ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช [1]

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในสถาบันสวนกุหลาบวิทยาลัย ทั้ง 11 สวน โดยบริหารจัดการภายใต้ธรรมนูญการศึกษาแห่งสถาบันสวนกุหลาบ ทั้งยังมีกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ และงานชุมนุมลูกเสือ - เนตรนารี สวนกุหลาบสัมพันธ์ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นประจำทุกปี โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ[6]

ประวัติ[แก้]

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ถือกำเนิดจาก “โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์” ซึ่งในระยะเริ่มแรกโรงเรียนยังไม่มีสถานที่ตั้งและอาคารเรียนถาวรจึงได้อาศัยสถานที่ชั่วคราว ณ อาคารเรียนของโรงเรียนวัดดินดอน และโรงฉันวัดดินดอน โดยได้เปิดทำการสอนครั้งแรกในระดับชั้น ม.ศ.1 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2516 มีนักเรียนรุ่นแรก จำนวน 90 คน มี นายสถิต ไชยรัตน์ ครูตรีจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศได้รับแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ในขณะนั้น และได้ขอครูประชาบาลมาช่วยสอนสองท่าน คือ นายภิรมณ์ รอดสรี และนายโสภณ จิราสิต ต่อมาได้รับอัตราครูประจำการมาจำนวน 4 อัตรา [7]

วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2516 กรมสามัญศึกษา ได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนอย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์” (อังกฤษ: LansakaPrachasan School) มีอักษรย่อว่า ล.ส. มีคติพจน์ประจำโรงเรียนว่า “เรียนดี ประพฤติดี สามัคคี มีวินัย” มีปรัชญาประจำโรงเรียนว่า ปญญา วธเนน เสยโย ปัญญาดีกว่าทรัพย์ และใช้ สีเหลือง แดง เป็นสีประจำโรงเรียน[7]

ซึ่งในระหว่างที่อาศัยเรียนอยู่ที่วัดดินดอน ศึกษาธิการอำเภอลานสกาในขณะนั้น คือ นายพิณ สิงคีพงศ์ ได้ประสานงานระดมกำลังกันพัฒนา ปราบพื้นที่ สถานที่ซึ่งได้รับบริจาคให้เป็นที่สร้างโรงเรียน โดยได้รับการบริจาคที่ดินจำนวน 37 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา จากผู้บริจาค 5 ราย คือ นายสีนวล ตรีกำจร จำนวน 21 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา นายซุน ศรีใส จำนวน 13 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา นางหนูเจียร สถานสัตย์ จำนวน 1 ไร่ 1 งาน 4 ตารางวา นายเลียบ ผกาศรี จำนวน 3 งาน 4 ตารางวา และนายแจ้ว ศรีใส จำนวน 2 งาน 62 ตารางวา [7]

โดยที่ดินได้รับการบริจาคตั้งอยู่บริเวณ เยื้องหน้าที่ว่าการอำเภอลานสกา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 6 ตำบลกำโลน (ต่อมา พ.ศ. 2545 ได้กำหนดแบ่งแยกพื้นที่ใหม่ของหมู่ที่ 6 เป็นสองหมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 6 เดิม และหมู่ที่ 11 ซึ่งบริเวณโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ อยู่ในเขตของหมู่ที่ 11 ตำบลกำโลนในปัจจุบัน) [7]

ในระยะเริ่มแรกบนที่ตั้งใหม่บริเวณเยื้องหน้าที่ว่าการอำเภอลานสกา ได้สร้างอาคารเรียนชั่วคราว 1 หลัง จำนวน 6 ห้องเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองนักเรียน และชาวบ้านในการช่วยกันสร้าง และร่วมกันบริจาควัสดุ แรงงาน ในขณะเดียวกันได้รับงบประมาณสร้างบ้านพักครู จำนวน 1 หลัง ส้วม 1 หลัง [7]

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ได้ย้ายสถานที่เรียนจากสถานที่ชั่วคราววัดดินดอน มาเรียนในพื้นที่ปัจจุบันบริเวณเยื้องหน้าที่ว่าการอำเภอลานสกา และได้ขยายปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนนักเรียน บุคลการ อาคารเรียน และอาคารประกอบต่างๆ [7]

เมื่อมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่โรงเรียนออกไปอีก เพื่อให้เพียงพอกับการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ นายสถิตย์ ไชยรัตน์ ผู้บริหารในขณะนั้นได้ร่วมกับคณาจารย์ หารายได้โดยการออกร้านจำหน่ายอาหาร ในงานเดือนสิบ และเงินบริจาคของคณะอาจารย์ นำไปซื้อที่ดินขยายเพิ่มไปทางตะวันตก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2527 จำนวน 5 ไร่ เป็นเงิน 200,000 บาท ทำให้ปัจจุบันจึงมีที่ดินจำนวน 42 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา [7]

โรงเรียนได้รับการวางรากฐานที่ดีมากจากนายสถิตย์ ไชยรัตน์ ผู้บริหารคนแรกของโรงเรียน ที่ได้วางรากฐานทั้งการวางผังแม่บท มีภูมิทัศน์ที่โดดเด่น สวยงาม ร่มรื่น รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กร และการบริหารจัดการ ผู้บริหารสมัยต่อๆมาก็ได้สานต่อ เสริมสร้าง เติมเต็ม และพัฒนา มีจัดสร้างวัตถุถาวรสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกปี และทุกสมัยของผู้อำนวยการ โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นโรงเรียนเรียนดีเด่นในด้านบรรยากาศสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ และด้านการบริหารจัดการ ปีการศึกษา 2537 โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ได้รับรางวัลพระราชทาน และนางสาวสุนันทา เนาวกะ เป็นนักเรียนรับรางวัลพระราชทาน ประเภทโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง โรงเรียนได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน เมื่อเดือน กรกฎาคม 2546 และได้ผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนต้นแบบ โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ได้รับรางวัลพระราชทาน และนายณัฐพงศ์ สมพันธุ์ เป็นนักเรียนรับรางวัลพระราชทาน ประเภทโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง นอกจากนี้โรงเรียนได้จัดกิจกรรมชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานศึกษาจนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ และได้รับการประเมินให้เป็นโรงเรียนรักษามาตรฐานต้นแบบระดับเพชร จัดกิจกรรมรณรงค์และรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกโรงเรียน ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการและได้รับโล่รางวัลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ได้รับโล่งเกียรติยศเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพดีเด่น และได้รับเกียรติบัตรพัฒนาเข้าสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ระดับเพชร จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด และกิจกรรมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในส่วนของนักเรียน นายปฏิพันธ์ เจริญผล ได้รับประกาศเชิดชูเกียรติเป็น “ต้นแบบคนดีศรีแผ่นดิน” จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวัชรพงศ์ เชี่ยววิทย์ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติยกย่องว่า “มีความประพฤษดีงาม” เนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2553 โดยพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย นางสาวณัฐกฤตา ทองพิจิตร ได้รับการคัดเลือกไปร่วมงาน Bristish Council Connecting Classrooms Expo ณ ประเทศไต้หวัน

นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชาวลานสกาทุกคนมีความภูมิใจในโรงเรียนและนักเรียน ทุกคนมีความมุ่งมั่น และร่วมมือกันพัฒนาโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์มาโดยตลอด[7]

จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ในขณะนั้น มีดำริจะพัฒนาและสร้างโอกาสทางการศึกษา ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยมองจากทำเลที่ตั้ง คุณภาพงาน ความสำเร็จในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งระยะทาง เป็นข้อมูลให้มีการพิจารณา[8] โดยคำนึงถึงจุดกระจายความเจริญ และพัฒนาการศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในรูปแบบพัฒนาโรงเรียนคุณภาพให้กระจายอยู่ในต่างอำเภอ เป็น จตุรทิศ คือ

ทิศเหนือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคใต้ อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทิศตะวันออก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทิศใต้ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ นครศรีธรรมราช อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทิศตะวันตก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยตามที่ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ โดยประวัติท่านมีเครือญาตที่อำเภอนี้ ใกล้วัดปะธรรมาราม เมื่อกล่าวถึงบารมีและเจตนาที่ดีต่อประเทศชาติ ถือเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความยั่งยืนของความเป็นไทยที่สุดขณะนั้น เมื่อประกอบกับท่านเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จึงเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา การสั่งสมคุณงามความดี เกียรติยศ และคุณค่าทางการศึกษา ของโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ เป็นสิ่งที่ปรากฏ และเมื่อได้ร่วมพัฒนาอยู่ในเครือข่ายกับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็ยิ่งจะนำไปซึ่งความพร้อม โอกาส และความสำเร็จอันจะเป็นผลดีต่อ ชาวลานสกาประชาสรรค์ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช สังคมการศึกษาทั่วไปเป็นส่วนรวม

วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ในขณะนั้น ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ เป็นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช เพื่อให้เป็นโรงเรียนร่วมพัฒนากับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร [9] ในวันเดียวกันนี้โรงเรียนได้วางวางศิลาฤกษ์ป้ายนามโรงเรียนใหม่บริเวณด้านหน้าโรงเรียน โดยป้ายโรงเรียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทือกเขาหลวงนครศรีธรรมราช

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 โรงเรียนได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้างแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ และประกอบพิธีเททอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยมี ฯพณฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี ต่อมา วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ฯพณฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีได้เข้าเยี่ยมโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช เป็นการส่วนตัว โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ ตัวแทนนักเรียนให้การต้อนรับ

19 กันยายน พ.ศ. 2559 เมื่อได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จ โรงเรียนจึงได้อัญเชิญจาก มทบ.41 ค่ายวชิราวุธ (อัญเชิญมาจากกรุงเทพฯมาแล้วนำมาพักที่ มทบ.41 ค่ายวชิราวุธ) มายังโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช โดยในภาคกลางคืนมีงานสมโภชองค์พระรูป ร.5 และสมโภชกฐิน และในเช้าของวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 โรงเรียนได้ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ลงบนแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โรงเรียนได้ทำพิธีเปิดโรงอาหารใหม่ ขนาด 500 ที่นั่ง โดยมีนายอำเภอลานสกาเป็นประธานในพิธีเปิด นอกจากนี้โรงเรียนก็ได้รับงบประมาณปรับปรุงเรื่อยมาในด้านต่างๆ

สัญลักษณ์[แก้]

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน[แก้]

ตราเสมา ชมพู - ฟ้า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ธงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
บันทึกต้นฉบับ เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
  • ตราประจำโรงเรียน ตราประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช เป็นตราประจำโรงเรียนที่ใช้ร่วมกันในกลุ่มสถาบันสวนกุหลาบ ทั้ง 11 สวน โดยที่ตราประจำโรงเรียน เป็นตราของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบซึ่งได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตรานี้ เมื่อ พ.ศ. 2475 มีลักษณะของตราเป็นรูปหนังสือ ที่บริเวณหน้าปกได้ประดิษฐานพระปรมาภิไทยย่อ จ.ป.ร. และมีพระเกี้ยวยอดอยู่ด้านบน ในหนังสือมีขนนก ดินสอ ไม้บรรทัด ด้านขวามีช่อ กุหลาบ 4 ดอก อันหมายถึง หัวใจนักปราชญ์ คือ สุ จิ ปุ ริ หรือ ฟัง พูด อ่าน เขียน การเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมเกิดจาก การฟัง คิด สอบถาม และจดบันทึก จึงจะเรียนได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ด้านล่างซ้ายของ หนังสือมีริบบิ้นผูกอยู่ที่ก้านกุหลาบมีข้อความอยู่ที่ริบบิ้น เขียนว่า “โรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ” ด้านบน ปรากฏมีปรัชญาและคติพจน์ “สุวิชาโน ภว โหติ” ด้านล่างมีคำแปลว่า “ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ” ตรานี้จึงประมวลความดีทั้งหลายรวบรวมไว้ในตราโรงเรียน จึงถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวสวนกุหลาบวิทยาลัยควรภาคภูมิใจ[10]
ผู้รู้ดี คือ ผู้รู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆได้ดี คือรู้อ่าน รู้คิด รู้เท่าทัน รู้ความและรู้คุณ
ผู้เจริญ คือผู้ที่เจริญด้วย ความประพฤติดี ดีพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม สร้างสรรค์คำนึงถึงผลประโยชน์ ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว[10]
  • อักษรย่อ ส.ก.นศ. เป็นอักษรย่อของโรงเรียนภาษาอังกฤษ S.K.NS.ใช้ปักบนเครื่องแบบนักเรียนทุกชั้นปี โดยจะไม่ปักชื่อ-นามสกุล แต่ปักเพียงอักษรย่อ ส.ก.นศ. สีกรมท่าหรือน้ำเงินเข้ม ประดับบริเวณอกข้างขวา
  • สัญลักษณ์เสมาชมพู-ฟ้า เป็นตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนลำดับที่ 3 เดิมเป็นเข็มประดับชุดนักเรียน ต่อมาได้พัฒนาเรื่อยมา และเปลี่ยนมาเป็นการปักด้วยด้ายรูปทรงใบเสมาสีชมพู-ฟ้าอย่างละครึ่ง ประดับเหนืออักษรย่อ ส.ก.นศ. บนชุดนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายบริเวณอกข้างขวา
  • สีประจำโรงเรียน ชมพู - ฟ้า
    • ███ สีชมพู เป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันอังคาร ความหมายของสีชมพู คือ ความสุภาพอ่อนหวาน อ่อนโยน นอบน้อมเป็นสีแห่งความรัก ความเอื้อเฟื้อที่มีต่อบุลคลทั่วไป เป็นสีแห่งความเมตตา
    • ███ สีฟ้า เป็นสีประจำนพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ความหมายของสีฟ้า คือ ความเข้มแข็งอดทน ความกล้าหาญ ความเสียสละเป็นสีของท้องฟ้าที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสีแห่งจักรวาล
    • ██████ สีชมพู-ฟ้า จึงมีความหมายถึง องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และพระบรมราชินีนาถ ทั้งยังหมายถึง เป็นแหล่งที่มีความรัก ความสามัคคี ของผู้ที่มีความดีงาม มีความนึกคิดที่สูงส่ง[10]
  • สุภาพบุรุษสุภาพสตรีสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช “สุภาพบุรุษสวนกุหลาบฯ” หมายถึง นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ได้รับการปลูกฝังให้เป็นเป็นเลิศด้านคุณธรรม เป็นผู้นำที่มีคุณภาพ มีความสามารถทางวิชาการ มีวินัย ใส่ใจในระบอบประชาธิปไตย ยึดมั่นในสถาบันแห่งชาติ ไม่ละเลยในประโยชน์ส่วนรวม เอื้ออาทรต่อกันด้วยความรักความสามัคคี ประจักษ์ในพระคุณครู ร่วมเชิดชูเกียรติภูมิแห่งสวนกุหลาบ “เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง สนองคุณแผ่นดิน” เป็นสโลแกนช่วยให้จดจำได้ง่าย ต้องใส่ความเป็นสวนกุหลาบด้วยความภาคภูมิใจในเรื่องราวต่างๆ ของ “สวนกุหลาบฯ” เมื่อสิ่งต่างๆ สะสมอยู่ในตัวจึงจะเป็น “สุภาพบุรุษสุภาพสตรีสวนกุหลาบนครฯ” ที่สมบูรณ์[10]
  • ภาวะผู้นำเด่น เน้นสิ่งแวดล้อม มีความพร้อมทักษะชีวิต เป็นเอกลักษณ์ประจำโรงเรียน
  • นักเรียนเป็นคนดี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานความเป็นไทย ก้าวไกลเทคโนโลยี สู่มาตรฐานสากล เป็นวิสัยทัศน์ / ปรัชญาประจำโรงเรียน
  • ดอกกุหลาบพันธุ์จุฬาลงกรณ์ เป็นดอกไม้ประจำโรงเรียน กุหลาบจุฬาลงกรณ์ คือ ดอกกุหลาบพันธุ์หนึ่ง ไม่มีหนามที่ลำต้น มีขนาดดอกที่ใหญ่มาก สีชมพู และมีกลิ่นหอมจัด เกิดการการเพาะพันธุ์ของชาวยุโรปผู้หนึ่ง และชาวยุโรปผู้นั้นได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งชื่อกุหลาบงามพันธุ์ที่เขาผสมขึ้นใหม่ว่า “King of Siam” ซึ่งเป็นดอกกุหลาบที่โปรดของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และทรงถวายนามกุหลาบนั้นว่า "กุหลาบจุฬาลงกรณ์"[10]
  • ต้นอโศกน้ำ เป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน อโศกน้ำ โสก หรือ โสกน้ำ (Ashoka tree ชื่อวิทยาศาสตร์: Saraca asoca; บางครั้งใช้ผิดเป็น Saraca indica) เป็นพืชในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) วงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (Caesalpinioideae) มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและศรีลังกา เป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 20 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ยาว 10-15 เซนติเมตร ใบย่อย 1-7 คู่ เรียงสลับรูปใบหอก กว้าง 2-10 เซนติเมตร ยาว 5-30 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน รูปลิ่ม แผ่นใบหนา ดอกสีส้มหรือแดง ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงเป็นหลอดเรียว ยาวประมาณ1-2 เซนติเมตร บริเวณปลายแยกเป็น 4 แฉก รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายมน ผลแห้งแตก เป็นฝักทรงแบน กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 6-30 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ดรูปไข่ แบน มี 1-3 เมล็ด อโศกน้ำนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ยอดอ่อนและดอกสามารถรับประทานได้ โดยดอกมีรสเปรี้ยวอมฝาด ช่วยขับเสมหะ เปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus aureus ซึ่งภายในโรงเรียนจะมีต้นอโศกน้ำเติบโตให้เห็นภายในโรงเรียนมีจำนวนมาก
  • เพลงประจำโรงเรียน เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (บรรดาเรา) ประพันธ์ขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำร้องโดย หม่อมราชวงศ์เลื่อน สิงหรา ผู้เรียบเรียงคือ สุวัฒน์ เทียมหงษ์ ทำนองจากเพลงแขกต่อยหม้อ อัตราจังหวะสองชั้น เป็นเพลงไทยเดิมที่ใช้ประกอบการแสดง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีจังหวะการเอื้อนทำนองโดยเฉพาะ โดยจะร้องในโอกาสสำคัญของโรงเรียนเท่านั้นโดยจะมีการการทำความเคราพเพลงประจำโรงเรียนก่อนเริ่มร้องเพลง นอกจากนี้ก็ยังมีเพลงสวนกุหลาบอื่นๆอีกมากมาย [11][12]
  • ฟอนต์เอสเค นคร (Font SK NAKHON) ฟอนต์ประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ทศวรรษสวนนคร 3 มีนาคม 2564 ฟอนต์ได้รับแรงบัลดาลใจมาจากอักษรประดิษฐ์บนตราประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ลำดับที่ 4 ความว่า “สุวิชาโน ภว โหติ” “ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ” และรูปแบบฟอนต์ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยยังคงเอกลักษณ์ความเป็นอักษรประดิษฐ์เดิมและเพิ่มเติมอักขระเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้

สิ่งเคารพสักการะ[แก้]

  • หลวงพ่อสวนกุหลาบ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง พระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระมหากรุณาธิคุณให้ตั้งชื่อเป็นครั้งที่พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2424 เข้าใจว่าเมื่อโรงเรียนย้ายออกมาตั้งภายนอก พระบรมมหาราชวัง หลวงพ่อสวนกุหลาบคงได้เป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนต่อมา

ในปัจจุบันเนื่องด้วยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนครศรีธรรมราชถูกยกฐานะจากโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์จึงมีพระพุทธรูปประจำโรงเรียนเดิมอยู่ จึงยังไม่มีการจัดสร้างหลวงพ่อสวนกุหลาบในขณะนี้

  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช
    พระบรมราชานุเสาวรีย์รัชกาลที่ 5

ดำเนินการจัดสร้าง ตามแบบกรมศิลปากร เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์หล่อด้วยสำริด ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง มีลักษณะพระราชอิริยาบถประทับยืนเต็มพระองค์ ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ฉลองพระองค์จอมพลทหารบกภูษาโยง พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระแสงกระบี่และถุงพระหัตถ์ ความสูง 285 เซนติเมตร น้ำหนัก 800 กิโลกรัม โดยถูกจัดสร้างมีรูปแบบเดียวกับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระราชโอรส ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

ทรงพระราชสมภพ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 เสด็จสวรรคต วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม กอปรด้วยพระเมตตาธรรม และพระคุณธรรมอันประเสริฐ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ สร้างความเจริญแก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ ทางด้านการปกครอง การเลิกทาส การเศรษฐกิจ การคมนาคม การสาธารณสุข การศาสนา ทรงส่งเสริมการศึกษา และวางรากฐานการศึกษาอย่างเป็นระบบ ทรงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อพสกนิกรได้มีโอกาสศึกษาอย่างเสมอภาค ดังพระราชปณิธาน

‘เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้น จึงพอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้ จะเป็นข้อสำคัญข้อที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดขึ้นให้เจริญจงได้’ ข้าราชการ ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และนักเรียน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงพร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อสักการะ เฉลิมพระเกียรติ ประกาศเกียรติคุณ ให้แผ่ไพศาล ตราบกาลนาน

ผู้บริหาร[แก้]

โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ [13][แก้]

ทำเนียบผู้บริหารลานสกาประชาสรรค์ (เดิม)
ลำดับ รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง หมายเหตุ
1 นายสถิตย์ ไชยรัตน์ พ.ศ. 2516 - 2528 ครูใหญ่
2 นายไสว สุวรรณอักษร พ.ศ. 2528 - 2531
3 นายอุทัย เสือทอง พ.ศ. 2531 - 2535
4 นายสวงศ์ ชูกลิ่น พ.ศ. 2535 - 2536
5 นายบำรุง จริตงาม พ.ศ. 2536 - 2537
6 นายมงคล สุคนธชาติ พ.ศ. 2537 - 2541
7 นายสมคิด พัวพันธ์ พ.ศ. 2541 - 2543
8 นายถวิล รัตนโชติ พ.ศ. 2543 - 2547
9 นายสุพจน์ อภิศักดิ์มนตรี พ.ศ. 2473 - 2475
10 นายอำพล ยะสะนพ พ.ศ. 2547 - 2552
11 นายโชติ ธานีรัตน์ พ.ศ. 2552 - 2554
12 นายวินัย ชามทอง พ.ศ. 2554 - 2 มีนาคม 2554

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช[แก้]

ทำเนียบผู้บริหารสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช (ปัจจุบัน)
ลำดับ รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง หมายเหตุ
1 นายวินัย ชามทอง 3 มีนาคม พ.ศ. 2554 - 2555
2 นายชาติชาย ทองเลี่ยมนาค พ.ศ. 2555 - 2559
3 นายสมพงษ์ ปานหงษ์ พ.ศ. 2559 - 2562
4 นายเกียรติศักดิ์ บุญรวบ พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน

การศึกษา[แก้]

มัธยมศึกษาตอนต้น[แก้]

การรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จะรับสมัครนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้ารับการสอบข้อเขียน โดยมี 2 ประเภท 8 ห้องเรียน ดังนี้

  • ประเภทโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ − คณิตศาสตร์ ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
  • ประเภทห้องเรียนปกติ ระดับชั้นละ 7 ห้อง (280 คน)

มัธยมศึกษาตอนปลาย[แก้]

การรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะให้โควตากับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เดิมของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ที่ผ่านเกณฑ์ตามที่โรงเรียนกำหนดก่อน จำนวน 120 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั่วไป จำนวน 80 คน เข้ารับการสอบข้อเขียน โดยมี 3 หลักสูตรดังนี้

  • แผนการเรียนวิทย์ – คณิต ระดับชั้นละ 2 ห้อง (80 คน)
  • แผนการเรียนศิลป์ – คำนวณ ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
  • แผนการเรียนศิลป์ – สังคม ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
  • แผนการเรียนศิลป์ – จีน ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)**เปิดรับรุ่นแรกปีการศึกษา 2566**

ที่ตั้ง และสิ่งก่อสร้าง[แก้]

สถานที่ตั้ง[แก้]

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่เลขที่ 109 หมู่ที่ 11 ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80230 ประเทศไทย ใกล้กับที่ว่าการอำเภอลานสกา และหมู่บ้านคีรีวง โดยมาตามถนน 4016 จากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ผ่านสี่แยกเบญจมตรงมาตามถนน 4016 เมื่อถึงสามแยกบ้านตาลให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 4015 ทางที่มุ่งหน้าไปยังอำเภอลานสกา ประมาณ 11.8 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสาย นครฯ-ลานสกาใน นครฯ-เขาแก้ว หรือ นครฯ-จันดี โดยให้ลงบริเวณป้ายหยุดรถหน้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช เยื้องที่ว่าการอำเภอลานสกาและสถานีตำรวจภูธรอำเภอลานสกา[1]

อาคารต่างๆ ภายในโรงเรียน[แก้]

  • อาคารเรียน 1 “อำนวยการ” 216 ค..216 ล.ป,29 ,216 ก,,216 ปรัปปรุง 46,216 สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2518 เป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน เป็นอาคาร 2 ชั้น หันหน้าไปทางทิศใต้ โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ห้องประทับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ห้องผู้อำนวยการ ห้องธุรการ ห้องกิจการนักเรียน ห้องศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น ห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ [14] ห้องพักอาจารย์ สังคมศึกษา และห้องต้อนรับ
  • อาคารเรียน 2 216 ค..216 ล.ป,29 ,216 ก,,216 ปรัปปรุง 46,216 สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2521 เป็นอาคารเรียนหลังที่สองของโรงเรียน เป็นอาคารเรียน 3 ชั้น หันหน้าไปทางทิศใต้ ตั้งอยู่หลัง อาคารอำนวยการ โดยมี ถนนและสวนหย่อม คั่นกลาง โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ชั้น 1 ห้องสิ่งแวดล้อม ห้องเรียนเขียนแบบ ห้องพยาบาล ห้องกิจการนักเรียน(ห้องคณะกรรมการสภานักเรียนฯ) ชั้น 2 ห้องพักอาจารย์ วิทยาศาสตร์ ห้องเรียนชีววิทยา ห้องเรียนเคมี ห้องเรียนฟิสิกส์ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วไป ชั้น 3 ห้องพักอาจารย์ ภาษาต่างประเทศ และห้องเรียนภาษาต่างประเทศ
  • อาคารเรียน 3 216 ค..216 ล.ป,29 ,216 ก,,216 ปรัปปรุง 46,216 สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2526 เป็นอาคารเรียนหลังที่สามของโรงเรียน เป็นอาคาร 3 ชั้น หัหันหน้าไปทางทิศใต้ มีลักษณะอาคารเหมือนอาคารเรียน 2 ตั้งอยู่หลังอาคารเรียน 2 โดยมี ถนนและสวนหย่อม คั่นกลาง โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ชั้น 1 ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ ห้องแนะแนว ห้องบริการสืบค้นข้อมูล และห้องพักอาจารย์ สุขศึกษาและพละศึกษา ชั้น 2 ห้องพักอาจารย์ ภาษาไทย และห้องเรียนภาษาไทย ชั้น 3 ห้องพักอาจารย์ คอมพิวเตอร์ ห้องอาเซียน ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และห้องเรียนภาษาต่างประเทศ
  • อาคารเรียน 4 216 ค..216 ล.ป,29 ,216 ก,,216 ปรัปปรุง 46,216 สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นอาคารเรียนหลังที่สี่ของโรงเรียน เป็นอาคาร 3 ชั้น หัหันหน้าไปทางทิศใต้ ตั้งอยู่หลังอาคารเรียน 3 โดยมี ถนนและที่ซุ้มนั่งพัก คั่นกลาง โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือ ชั้น 1 ห้องวิชาการ ห้องโสตทัศนศึกษา 1 ห้องโสตทัศนศึกษาใหม่ ชั้น 2 ห้องพักอาจารย์คณิตศาสตร์ ห้องเรียนคณิตศาสตร์ ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ ชั้น 3 ห้องเรียนคณิตศาสตร์ ห้องเรียนสุขศึกษา ห้องเรียนประวัติศาสตร์
  • อาคารอเนกประสงค์และหอประชุม 100/27 สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2522 บริเวณติดกับลานเชิญธงอโศกน้ำ ฝั่งตรงข้ามกับสวัสดิการร้านค้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นอาคารหอประชุมของโรงเรียนและอาคารเรียนพละศึกษา
  • อาคารศิลปะ นาฏศิลป์ สามัญ/336 สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2523 อาคารอยู่ตรงกลางระหว่างกับหอประชุม และโรงอาหาร ฝั่งตรงข้ามกับบ้านพักครู หันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือห้องเรียนนาฏศิลป์ศึกษา และศิลปะศึกษา
  • อาคารโรงฝึกงาน สามัญ/336 สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2525 อาคารอยู่ตรงกลางระหว่างกับหอประชุม และโรงอาหาร โดยตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ใช้สำหรับการลงมือปฏิบัติจริง
  • อาคารคหกรรม โรงฝึกงาน 102/27 สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2531 อาคารอยู่ด้านหลังระหว่างหอประชุม และโรงอาหาร ติดกับอาคารห้องน้ำหญิงหลังหอประชุม โดยตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
  • อาคารโรงฝึกงาน 102/27 สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2534 อาคารอยู่ด้านหลังโรงอาหาร โดยตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยในอาคารนี้มีห้องสำคัญคือห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ใช้สำหรับการลงมือปฏิบัติจริง
  • อาคารโรงอาหาร (สร้างเอง) สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2528 อาคารอยู่ด้านข้างสวนป่า ติดกับกลุ่มอาคารอเนกประสงค์ โดยตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยในอาคารนี้ใช้เป็นโรงอาหารสำหรับนักเรียนและบุคคลากร
  • อาคารโรงอาหาร (หลังใหม่) สร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2562 อาคารอยู่หลังอาคารโรงอาหารหลังเก่าภายในสวนป่า โดยตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยในอาคารนี้ใช้เป็นโรงอาหาร เปิดใช้ในเดือนพฤษจิกายน 2562
  • อาคารสวัสดิการร้านค้าและห้องดุริยางค์ อาคารอยู่ตรงข้ามกับหอประชุม เป็นร้านสวัสดิการร้านค้าของโรงเรียนโดยด้านหลังจะเป็นห้องดุริยางค์และใช้เรียนวิชาดนตรีนาฏศิลป์
  • อาคารนิทรรศการ อาคารเป็นส่วนเดียวกับอาคารสวัสดิการร้านค้าและห้องดุริยางค์ อยู่ทางด้านหลัง เป็นรูปตัว L เป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการผลงานของชมรมทูบีนัมเบอร์วันโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ - โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ยังมีสิ่งปลูกสร้างอื่น ได้แก่

  • กลุ่มบ้านพักครู กลุ่มบ้านพักครูอยู่บริเวณทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของโรงเรียนขนานควบคู่ถนน มีจำนวน 7 หลัง
  • กลุ่มอาคารห้องน้ำนักเรียน ห้องน้ำสำหรับนักเรียนในโรงเรียนมีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ห้องน้ำสำหรับนักเรียนหญิงตั้งอยู่ด้านหลังหอประชุมทางด้านทิศใต้ ห้องน้ำนักเรียนชายตั้งอยู่บริเวณสวนป่าทางด้านทิศตะวันตก และห้องน้ำนักเรียนชาย/หญิง ด้านหลังอาคารเรียน 4 หรือด้านข้างของห้องโสตฯใหม่ ทางด้านทิศเหนือ[15]

สถานที่สำคัญภายในโรงเรียน

  • สถานเชิญธง อโศกน้ำ ปัจจุบันได้รับการอนุเคราะห์การจัดสร้างขึ้นใหม่โดยเจ้าของศูนย์การค้าสำเพ็งเมืองคอน นางสมจินต์ จ่างทอง เพื่อเป็นเสาเชิญธงชาติไทย โดยปัจจุบันยังไม่ได้จัดสร้างเป็นสามเสาเพื่อไว้เชิญธงประจำโรงเรียน สีชมพู-ฟ้า
  • ห้องประชุมสรวงศัทธา ตั้งอยู่ชั้น 1 อาคาร 4 เดิมเรียกห้องประชุมแห่งนี้ว่าห้องโสตทัศนศึกษา(ใหม่) เนื่องจากเป็นห้องประชุมที่สร้างขึ้นขึ้นใหม่
  • ห้องประชุมกุหลาบพันปี ตั้งอยู่ชั้น 1 หัวมุมอาคาร 4 เดิมเรียกห้องประชุมแห่งนี้ว่าห้องโสตทัศนศึกษา(เก่า)
  • ห้องกลิ่นกุหลาบ ตั้งอยู่ชั้น 1 อาคาร 1 เดิมเรียกห้องแห่งนี้ว่าห้องประทับ เนื่องจากเป็นห้องประทับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เมื่อครั้งเสด็จเปิดศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น
  • สวนป่า ตั้งอยู่ด้านหลังโรงเรียน อยู่ระหว่างกลางโรงอาหารและอาคารห้องน้ำชาย เป็นสวนที่มีต้นไม้ปกคลุมใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่พักผ่อนสำหรับนักเรียน
  • ลานโพธิ์ ตั้งอยู่ด้านสวนป่า เพื่อใช้สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ อดีตมีต้นโพธิ์สองต้น เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนจึงถูกตัดเนื่องจากมีผึ้งมาอาศัยอยู่
  • สนามลานสกาประชาสรรค์ หรือสนามฟุตบอล แบบ ฟ.3(พิเศษ) ถูกปรับปรุงเมื่อปี 2558 ตั้งอยู่ด้านหน้าโรงเรียนติดกับพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 ใช้สำหรับแข่งกีฬาภายใน และกีฬาอำเภอลานสกา
  • ป้ายนามโรงเรียน ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าโรงเรียน สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ป้ายโรงเรียนถูกออกแบบให้สื่อถึงเทือกเขาหลวงนครศรีธรรมราช [16]
  • อาคารโรงอาหาร จำนวน 500 ที่นั่ง
  • พัฒนารั้วโรงเรียนใหม่ โดยการนำสีเหลืองแดงชมพูฟ้ามาใช้เพื่อหลอมรวมความเป็นหนึ่งเดียวลานสกาประชาสรรค์-สวนนคร
  • สะพานลอยด้านหน้าโรงเรียน
  • พัฒนาสนามกรีฑา ลู่ยางสังเคราะห์

ชีวิตนักเรียน[แก้]

กิจกรรมในโรงเรียน[แก้]

  • วันปฐมนิเทศก้าวใหม่ในแดนสวน นักเรียนใหม่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4
    • วันละอ่อน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
    • วันรับขวัญเสมา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
  • วันไหว้ครู ทำพานไหว้ครู และประกวดพานไหว้ครู เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคุณครู
  • วันรำลึกลานสกาประชาสรรค์ ทุกๆวันที่ 11 มิถุนายน และ 8 สิงหาคม ของทุกปี
  • พระราชพิธีวันปิยมหาราชานุสรณ์ ทุกๆวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี
  • พระราชพิธีวันวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกๆวันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปี
  • พระราชพิธีวันวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ทุกๆวันที่ 3 มิถุนายน ของทุกปี
  • พระราชพิธีวันแม่แห่งชาติ ทุกๆวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี
  • สวนนครวิชาการ วันนำเสนอผลงาน และผลการปฏิบัติงาน
  • กุหลาบสายสัมพันธ์ เกษมสันต์วันเกษียณ คุณครูที่เกษียณอายุราชการและคุณครูที่ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ
  • วันกุหลาบลาสวน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ 3
    • วันจากเหย้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
    • วันปัจฉิมนิเทศ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
  • วันต่อต้านยาเสพติด ทุกวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีโดยมีกิจกรรมต่างๆมากมายตลอดวัน ปัจจุบันได้ลดบทบาทของกิจกรรมลง
  • กิจกรรมประเพณีให้ทานไฟและทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่
  • ลานสกาสัมพันธ์ การแข่งขันกีฬาลานสกาสัมพันธ์
  • กิจกรรมแข่งขันกีฑาสีภายในโรงเรียน "สวนนครเกมส์" หลังจากเปลี่ยนชื่อมาเป็นสวนนครจึงได้ปรับปรุงการจัดการแข่งขัน โดยได้ยุบสีเขียว และน้ำเงิน เหลือไว้เพียงสีเหลือง(ศรเพลิง) และสีแดง(นักรบ) ซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ไว้

และก่อตั้งพรรคสีใหม่ขึ้นมาคือ สีชมพูโดยใช้ชื่อว่าจุฬาลักษณ์ และสีฟ้าใช้ชื่อว่าพยัคฆราช ซึ่งเป็นสีประจำสถาบันสวนกุหลาบ ในปี พ.ศ. 2554 เป็นปีแรกที่จัดการแข่งขันและใช้ชื่องานว่า สวนนครเกมส์ ครั้งที่ 1 เรื่อยมาจนมาถึงปี พ.ศ. 2558 ได้มีการปรับปรุงสนามจึงงดจัดการแข่งขัน เมื่อสามารถใช้สนามได้ในปี 2559 จึงได้จัดการแข่งขันสวนนครเกมส์ ครั้งที่ 5 ปัจจุบันจัดการแข่งขันกรีฑาภายใน สวนนครเกมส์ จัดการแข่งขันมาจนถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ 13 และจัดการแข่งขันในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี

██ พรรคศรเพลิง (สีเหลือง) สีประจำโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ (พรรคสีเดิม) ศร หมายถึง อาวุธชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยคันศรกับลูกศร ส่วน เพลิง หมายถึง ไฟ พรรคศรเพลิงจึงมีความหมายและสัญลักษณ์ คือ ศรแห่งเพลิง

██ พรรคนักรบ (สีแดง) สีประจำโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ (พรรคสีเดิม) นักรบ หมายถึง ผู้ชำนาญหรือมีหน้าที่ในเรื่องรบ, ทหาร พรรคนักรบจึงมีความหมายและสัญลักษณ์ คือ นักรบช้างศึกไทย

██ พรรคจุฬาลักษณ์ (สีชมพู) สีประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช (พรรคสีก่อตั้งใหม่ 2554) จุฬาลักษณ์ หมายถึง ลักษณะที่เลอเลิศ หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงที่สูงสุดของศีรษะ พรรคจุฬาลักษณ์จึงมีความหมายและสัญลักษณ์ คือ พระเกี้ยวยอดหรือจุลมงกุฏ เพื่อเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 5 ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียน

██ พรรคพยัคฆราช (สีฟ้า) สีประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช (พรรคสีก่อตั้งใหม่ 2554) พยัคฆ์ หมายถึง เสือโคร่ง ส่วน ราช หมายถึง พญาหรือราชา พรรคพยัคฆราชจึงมีความหมายและสัญลักษณ์ คือ ราชาเสือโคร่ง[17]

กิจกรรมร่วมกับกลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[แก้]

งานชุมนุมลูกเสือ-เนตรนารีสวนกุหลาบสัมพันธ์ กลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัด งานชุมนุมลูกเสือ-เนตรนารี “สวนกุหลาบสัมพันธ์” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ซึ่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 จะเป็นผู้แทนของแต่ละโรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมนี้

การแข่งขันกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ กลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัด “การแข่งขันกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ สนามเมนสเตเดียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สถาบันสวนกุหลาบ[แก้]

ปัจจุบันโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีสถานศึกษาในเครือที่ใช้ชื่อ “สวนกุหลาบวิทยาลัย” ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยทั้งหมด 11 แห่ง มีการสร้างพันธกิจสำคัญร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาโดยการบริหารจัดการขององค์กรเครือข่ายสวนกุหลาบ สร้างบรรทัดฐานการเรียนการสอนทั้ง 11 แห่งให้ไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่

ลำดับที่ โรงเรียน อักษรย่อ จังหวัด สถาปนา สถานศึกษาเดิม
1 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ส.ก. / S.K. กรุงเทพมหานคร 8 มีนาคม พ.ศ. 2425
(142 ปี 43 วัน)
2 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ส.ก.น. / S.K.N. นนทบุรี 30 มีนาคม พ.ศ. 2521
(46 ปี 21 วัน)
3 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ นมร.ส.ก.ส. / NMR.S.K.S. สมุทรปราการ 8 เมษายน พ.ศ. 2534
(33 ปี 12 วัน)
4 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี นมร.ส.ก.ป. / NMR.S.K.P. ปทุมธานี 4 มีนาคม พ.ศ. 2535
(32 ปี 47 วัน)
5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ส.ก.ร. / S.K.R. ปทุมธานี 3 มีนาคม พ.ศ. 2536
(31 ปี 48 วัน)
6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี ส.ก.ช. / S.K.C. ชลบุรี 5 มีนาคม พ.ศ. 2542
(25 ปี 46 วัน)
7 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์ ส.ก.พ. / S.K.PB. เพชรบูรณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2542
(24 ปี 301 วัน)
โรงเรียนท่าพลพิทยาคม
(พ.ศ. 2519)
8 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สระบุรี ส.ก.บ. / S.K.B. สระบุรี 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
(18 ปี 74 วัน)
โรงเรียนปากเพรียววิทยาคม
(พ.ศ. 2537)
9 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ ส.ก.จ. / S.K.J. นครสวรรค์ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550
(16 ปี 115 วัน)
โรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม
(พ.ศ. 2517)
10 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ส.ก.ธ. / S.K.T. กรุงเทพมหานคร 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551
(15 ปี 256 วัน)
11 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ส.ก.นศ. / S.K.NS. นครศรีธรรมราช 3 มีนาคม พ.ศ. 2554
(13 ปี 48 วัน)
โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์
(พ.ศ. 2516)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 กลุ่มสารสนเทศ สนผ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, "ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นคร">เว็บไซต์ สพฐ. เก็บถาวร 2020-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน., 2554
  2. วันสถาปนาโรงเรียน เก็บถาวร 2020-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. จากเว็บไซต์ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษา สพม.12
  3. ผู้อำนวยการเกียรติศักดิ์ บุญรวบ. ผู้อำนวยการโรงเรียน. ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2563
  4. จำนวนครูบุคลากร ปีการศึกษา 2564. สถิติจำนวนครูบุคลากรทั้งหมด เก็บถาวร 2020-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2564
  5. จำนวนนักเรียน ปีการศึกษา 2564. สถิติจำนวนนักเรียนทั้งหมด เก็บถาวร 2020-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2564
  6. สถาบันสวนกุหลาบวิทยาลัย เอกสารข้อมูลทั่วไป. ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2562
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 หนังสือคู่มือนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2554,”ประวัติโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์”
  8. หนังสือคู่มือนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2554,”ความเป็นมาสวนนคร”
  9. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, "หนังสือประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียน">การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนลานสกาประชาสรรค์ เก็บถาวร 2019-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2554
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย,"ข้อมูลทั่วไป" เว็บไซต์ ส.ก.
  11. กาญจนา เตชะวณิชย์ (18 ตุลาคม 2551). "เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย". ไทยกู๊ดวิวดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-26. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "บทเพลงชาวสวนฯ : เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย". เว็บไซต์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. รายนามผู้บริหารสวนนคร
  14. ข้อมูลสิ่งก่อสร้าง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช เก็บถาวร 2020-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์สนผ
  15. ข้อมูลสถานที่ จากแฟนเพจหลักของโรงเรียน
  16. ข้อมูลสิ่งก่อสร้าง (B-OBEC) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช สิ่งก่อสร้าง เก็บถาวร 2020-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. จากเว็บไซต์ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษา สพม.12
  17. https://www.facebook.com/notes/suankularb-wittayalai-nakhon-si-thammarat/กิจกรรม-ประเพณี/2524432584234903/ ข้อมูลกิจกรรม สกนศ