ไทยแอร์เอเชีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไทยแอร์เอเชีย
IATA ICAO รหัสเรียก
FD AIQ THAI ASIA
ก่อตั้ง12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546; 20 ปีก่อน (2546-11-12)
เริ่มดำเนินงาน4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547; 20 ปีก่อน (2547-02-04)
AOC #AOC.0002[1]
ฐานการบิน
สะสมไมล์BIG Loyalty Programme[2]
ขนาดฝูงบิน53
จุดหมาย67
บริษัทแม่บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)[3]
การซื้อขายSET:AAV
สำนักงานใหญ่
บุคลากรหลักสันติสุข คล่องใช้ยา (ซีอีโอ)[4]
รายได้ลดลง 2.15 พันล้านบาท (2021)[5]
รายได้สุทธิ
ลดลง −6.65 พันล้านบาท (2021)[5]
เว็บไซต์www.airasia.com

ไทยแอร์เอเชีย SET:AAV เป็นบริษัทร่วมทุนสายการบินราคาประหยัดของประเทศมาเลเซีย แอร์เอเชีย กับ เอเชีย เอวิเอชั่น ของประเทศไทย ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศของแอร์เอเชียจากกรุงเทพมหานคร และเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

ในอดีต มีเพียงสายการบินแห่งชาติเท่านั้น ที่สามารถบินเส้นทางหลักๆ อาทิเช่น กรุงเทพ-เชียงใหม่ ด้วยการบินตรงแบบไม่จอดแวะพักที่ไหน ส่วนสายการบินอื่นๆ ที่จะทำเส้นทางบินไปเชียงใหม่จะต้องมีการหยุดพัก เช่นบางกอกแอร์เวย์ส จะต้องจอดแวะพักที่สนามบินสุโขทัย และ โอเรียนท์เอ็กซเพรสแอร์ (โอเรียนท์ไทย) ต้องไปจอดแวะพักที่สนามบินอู่ตะเภาก่อน จนกระทั่งรัฐบาลไทยได้เปิดเสรีการบินในปี พ.ศ. 2545 ทำให้สายการบินเอกชนอื่นที่มิใช่การบินไทยสามารถบินเส้นทางหลักทับกับสายการบินแห่งชาติได้ จึงทำให้มีสายการบินต้นทุนต่ำเกิดขึ้น

บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 19 กันยายน 2546[6] ประกอบธุรกิจสายการบินราคาประหยัดของประเทศไทยภายใต้ชื่อ ไทยแอร์เอเชีย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2549) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยถือหุ้นไทยแอร์เอเชียในสัดส่วนร้อยละ 51[7] และ AirAsia Berhad (ผ่าน AirAsia Investment ที่ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในประเทศมาเลเซียถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 ทั้งนี้ สัดส่วนการถือหุ้นใน บจ. ไทยแอร์เอเชีย ของ บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55 ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทให้แก่ประชาชนของ บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และการเสนอขายหุ้นสามัญ เพิ่มทุนของ บจ. ไทยแอร์เอเชีย ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและสัดส่วนการถือหุ้นของ AirAsia Berhad ลดลงเหลือร้อยละ 45 ปัจจุบัน บจ. ไทยแอร์เอเชีย มีทุนจดทะเบียนจำนวน 435,555,600 บาท

สายการบินไทยแอร์เอเชียนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของการเดินทางภายใต้แนวคิด “ใคร ใคร...ก็บินได้” ซึ่งท้าทายความเชื่อเดิมๆ ที่มองว่าการโดยสารเครื่องบินเป็นการเดินทางเฉพาะกลุ่ม ยากและราคาแพง โดยอาศัยต้นแบบแนวคิดของสายการบินราคาประหยัดที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ที่นำเสนออัตราค่าโดยสารที่ประหยัดคู่กับบริการที่จำเป็นในการเดินทาง และจ่ายเพิ่มสำหรับบริการเสริมพิเศษที่ต้องการ ที่สามารถทำให้สายการบินไทยแอร์เอเชียเปลี่ยนประสบการณ์การบินให้มีความง่าย สะดวกสบาย สนุกสนานในราคาประหยัดสำหรับผู้โดยสารทุกคน ทั้งนี้สายการบินไทยแอร์เอเชียให้บริการการเดินทางโดยชั้นบินเพียงชั้นเดียวจากฝูงบินที่ประกอบไปด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 เพียงรุ่นเดียว โดยมีรายได้จากการให้บริการขนส่งผู้โดยสารแบบประจำ และจากการให้บริการเสริม อาทิ การลงทะเบียนสัมภาระ การเลือกที่นั่ง การสำรองที่นั่งและการเปลี่ยนแปลงการสำรองที่นั่ง การขายอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าบนเครื่องบิน เป็นต้น

สายการบินไทยแอร์เอเชียเริ่มต้นจากการมีเครื่องบินโบอิ้ง 737-300 จำนวน 2 ลำ ให้บริการเที่ยวบินแบบไม่มีการเชื่อมต่อ (Point-to-point) จากศูนย์ปฏิบัติการการบินกรุงเทพมหานคร โดยให้บริการเส้นทางบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่[8] และขยายเส้นทางบินเพิ่มเติมไปยังจุดหมายปลายทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 สายการบินไทยแอร์เอเชีย มีเครือข่ายเส้นทางบินครอบคลุม 44 เมืองใน 10 ประเทศในทวีปเอเชีย แบ่งเป็นจุดหมายปลายทางระหว่างประเทศ 24 แห่งและจุดหมายปลายทางในประเทศ 20 แห่ง ปัจจุบันบริการด้วยฝูงเครื่องบินแอร์บัส A320 ใหม่จำนวน 53 ลำ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มี.ค. 2559) โดยมีจำนวน 180 ที่นั่งต่อลำ ให้บริการผู้โดยสารกว่า 14,849,422 ล้านคนในปี 2558 และกว่า 70 ล้านคนจนถึงปัจจุบัน

เส้นทางการบิน[แก้]

สายการบินไทยแอร์เอเชีย เน้นให้บริการเส้นทางบินระยะใกล้ไปยังท่าอากาศยานที่อยู่ในและใกล้เคียงกับบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นและจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว ซึ่งโดยปกติอยู่ในรัศมีไม่เกิน 3,500 กิโลเมตร และระยะเวลาของเที่ยวบินไม่เกิน 4 ชั่วโมงจากศูนย์ปฏิบัติการการบินของ บจ. ไทยแอร์เอเชีย แต่ละแห่งซึ่งจะทำให้สายการบินไทยแอร์เอเชีย สามารถเข้าถึงประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และจีนได้มากขึ้น ทั้งนี้ บจ.ไทยแอร์เอเชีย ให้บริการเที่ยวบินแบบไม่มีการเชื่อมต่อ (Point-to-point) โดยไม่มีเที่ยวบินที่จอดเครื่องบินค้างคืนที่ท่าอากาศยาน (ยกเว้นการจอดเครื่องบินค้างคืนในท่าอากาศยานที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการการบินของ บจ. ไทยแอร์เอเชีย) ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการส่งวิศวกรไปประจำการ หรือจากการที่ต้องเก็บอะไหล่เครื่องบินไว้นอกท่าอากาศยานที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการการบินของ บจ. ไทยแอร์เอเชีย รวมถึงจากการที่ต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงหรือค่าที่พักสำหรับนักบินและลูกเรือที่พักค้างคืนในจุดหมายปลายทางที่ไม่ใช่ศูนย์ปฏิบัติการการบินของบจ. ไทยแอร์เอเชีย อีกด้วย

ปัจจุบัน สายการบินไทยแอร์เอเชีย (FD) ประกอบกิจการโดยมีศูนย์ปฏิบัติการการบิน 6 แห่งในประเทศไทย ได้แก่

  • ศูนย์ปฏิบัติการการบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) เริ่มให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในปี 2547 ต่อมาย้ายไปทำการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในปี 2549 ตามการปิดท่าอากาศยานดอนเมือง และได้ย้ายกลับมายังท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555
  • ศูนย์ปฏิบัติการท่าอากาศยานภูเก็ต เริ่มให้บริการในปี 2552
  • ศูนย์ปฏิบัติการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เริ่มให้บริการในปี 2554
  • ศูนย์ปฏิบัติการท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ เริ่มให้บริการในปี 2557[9]
  • ศูนย์ปฏิบัติการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เริ่มให้บริการในปี 2558
  • ศูนย์ปฏิบัติการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย เริ่มให้บริการในปี 2562

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการท่าอากาศยานหาดใหญ่ ได้เริ่มให้บริการในปี 2559 แต่ได้ยกเลิกไป ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562


ไทยแอร์เอเชียได้ทำการบินไปยังจุดหมายปลายทางดังต่อไปนี้

ดูเพิ่มเติมที่ : เส้นทางการบินของสายการบินกลุ่มแอร์เอเชีย

เส้นทางการบินในอดีต[แก้]

ฝูงบิน[แก้]

แอร์บัส เอ320นีโอของไทยแอร์เอเชีย

ข้อมูลเมื่อ ธันวาคม 2566, ไทยแอร์เอเชียให้บริการเครื่องบินดังต่อไปนี้:[10]

ฝูงบินไทยแอร์เอเชีย
เครื่องบิน ประจำการ สั่งซื้อ ความจุผู้โดยสาร หมายเหตุ
แอร์บัส เอ320-200 41 180 [11]
แอร์บัส เอ320นีโอ 10 186
แอร์บัส เอ321นีโอ 2 8 236 [12]
รวม 53 8

ฝูงบินในอดีต[แก้]

ฝูงบินไทยแอร์เอเชียในอดีต
เครื่องบิน รวม ประจำการ ปลดประจำการ เปลี่ยน หมายเหตุ
โบอิง 737-300 14 2004 2010 แอร์บัส เอ320-200

อุบัติเหตุ[แก้]

  • 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3320 บินจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานอุบลราชธานี ขณะลงจอด เกิดยางล้อหลังขวาระเบิดขึ้น นักบินสามารถควบคุมเครื่องบินให้จอดได้อย่างปลอดภัย[13]
  • 7 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3151 บินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังท่าอากาศยานนราธิวาส หลังจากออกบินไปได้ไม่นาน เกิดระบบความดันอากาศในห้องโดยสารขัดข้อง กัปตันตัดสินใจบินกลับมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อแก้ไขปัญหา เที่ยวบินล่าช้า 3 ชั่วโมง[14]
  • 17 มีนาคม พ.ศ. 2553 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3321 กำหนดบินจากท่าอากาศยานอุบลราชธานี ไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เกิดความผิดพลาดขณะเตรียมจะนำเครื่องบินขึ้น เจ้าหน้าที่หอบังคับการบินแจ้งเตือนไม่ให้ขับเข้าพื้นรันเวย์ส่วนที่ปิดซ่อมแซม นักบินเบรกกะทันหัน แต่ไม่ทัน เครื่องบินเข้าไปในพื้นที่ที่ปิดซ่อมรันเวย์ และต้องใช้รถลากเครื่องบินถอยหลังออกมา[15]
  • 30 เมษายน พ.ศ. 2555 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3201 กำหนดบินจากท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช เวลา 08.40 น. ไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระบบไฟฟ้าของเครื่องบินขัดข้อง ต้องซ่อมและตรวจสอบ เที่ยวบินล่าช้า 7 ชั่วโมง[16]
  • 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3167 เครื่องบินแอร์บัส เอ320-216 ทะเบียน HS-ABB[17] บินจากท่าอากาศยานภูเก็ต ไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ หลังจากออกบินไปได้ไม่นาน เกิดบินชนนก ซากนกเข้าไปในเครื่องยนต์ จึงบินกลับมาท่าอากาศยานภูเก็ตเพื่อตรวจสอบความเสียหาย เที่ยวบินล่าช้าประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง[18]
  • 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3188 บินจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ขณะบินลดระดับความสูงลงเพื่อเตรียมลงจอดที่นครศรีธรรมราช ปีกด้านซ้ายชนนกได้รับความเสียหาย ต้องซ่อมปีกเครื่องบิน ทำให้เที่ยวบินถัดไปที่จะต้องบินกลับดอนเมืองต้องล่าช้าออกไป 2 ชั่วโมงครึ่ง[19][20][21]
  • 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3189 บินจากท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนเครื่องออกบินพบไฟสัญญาณเตือนติดในห้องนักบิน 1 จุด จึงต้องแก้ไขและตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องบิน ปรากฏว่าไม่พบปัญหาอื่นใดนอกจากไฟเตือนค้าง เที่ยวบินล่าช้า 3 ชั่วโมง[22]
  • 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3187 เครื่องบินแอร์บัส เอ320-216 ทะเบียน HS-ABQ บินจากท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะบินขึ้นจากสนามบินนครศรีธรรมราช เวลา 16.30 น. ปีกชนกับฝูงนกได้รับความเสียหาย นักบินตัดสินใจบินลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานภูเก็ต และได้เปลี่ยนเป็นเครื่องบินอีกลำหนึ่งแทนโดยบินจากดอนเมืองมารับผู้โดยสาร เที่ยวบินล่าช้า 4 ชั่วโมงครึ่ง[20][21][23][24]
  • 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3188 บินจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ขณะลดระดับความสูงลงเตรียมจะลงจอด เวลา 08.00 น. ใบพัดปีกด้านซ้ายได้ชนกับนกกระยางตัวใหญ่ตัวหนึ่ง ทำให้ใบพัดปีกด้านซ้ายได้รับความเสียหายเล็กน้อย ต้องซ่อมปีกเครื่องบิน เที่ยวบินถัดไปที่จะต้องบินกลับดอนเมืองต้องล่าช้าออกไป 2 ชั่วโมงครึ่ง อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับไทยแอร์เอเชียที่นครศรีธรรมราชถึง 3 ครั้งในปีเดียวกัน เกิดจากพื้นที่โดยรอบสนามบินมีนกอาศัยอยู่มาก และในขณะนั้นทางท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างถาวร[20][21]
  • 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3254 บินจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานขอนแก่น นักบินพบความผิดปกติในห้องเก็บสัมภาระ จึงบินกลับมาลงจอดที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อตรวจสอบ เที่ยวบินล่าช้า 1 ชั่วโมง[25]
  • 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3398 บินจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานนครพนม นักบินพบปัญหาทางเทคนิคบางอย่าง จึงบินกลับมาที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และเปลี่ยนเป็นเครื่องบินอีกลำหนึ่งบินแทน เที่ยวบินล่าช้า 3 ชั่วโมง[26]
  • 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3568 บินจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานร้อยเอ็ด นักบินพบปัญหาทางเทคนิคบางอย่าง จึงบินกลับมาที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และเปลี่ยนเป็นเครื่องบินอีกลำหนึ่งบินแทน เที่ยวบินล่าช้า 2 ชั่วโมงครึ่ง[27]
  • 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3259 กำหนดบินออกจากท่าอากาศยานขอนแก่น เวลา 20.40 น. ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง เครื่องบินขัดข้อง จึงเปลี่ยนเป็นเครื่องบินอีกลำหนึ่งแทนโดยบินจากดอนเมืองมารับผู้โดยสาร และบินออกจากขอนแก่นได้เมื่อเวลา 23.40 น. (เที่ยวบินล่าช้า 3 ชั่วโมง)[28]
  • 2 มกราคม พ.ศ. 2560 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3256 เครื่องบินแอร์บัส เอ320-216 ทะเบียน HS-ABB กำหนดบินออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานขอนแก่น ขณะลงจอด ส่วนปลายท้ายเครื่องบินกระแทกกับรันเวย์ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่เครื่องบินได้รับความเสียหาย ต้องซ่อม การซ่อมเสร็จสมบูรณ์และเครื่องบินลำดังกล่าวสามารถกลับมาบินได้ตามปกติในวันที่ 21 มีนาคมปีเดียวกัน[29]
  • 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3032 เครื่องบินแอร์บัส เอ320-216 ทะเบียน HS-ABI บินจากท่าอากาศยานภูเก็ต ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง หลังลงจอดเสร็จและกำลังเคลื่อนที่ไปยังหลุมจอด เวลา 19.10 น. เครื่องบินขัดข้อง วิ่งต่อไปไม่ได้ ต้องใช้รถลากลากเครื่องบินไปยังหลุมจอด[30] เพื่อให้ผู้โดยสารเดินออกจากเครื่องบินได้ตามปกติ และได้แก้ไขเครื่องบินจนแล้วเสร็จทันเวลาเที่ยวบินถัดไป
  • 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 104 เครื่องบินแอร์บัส เอ320-216 ทะเบียน HS-BBC บินจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ ไปท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ขณะลงจอดที่อู่ตะเภา เวลา 21.27 น. ล้อแตะพื้นแล้วเกิดยางล้อหลังซ้ายระเบิดขึ้น นักบินสามารถควบคุมเครื่องบินให้หยุดได้อย่างปลอดภัยบนรันเวย์ แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปยังหลุมจอดได้ ทางสนามบินจึงปิดรันเวย์ชั่วคราวเพื่อลากเครื่องบินออกไปจากรันเวย์จนแล้วเสร็จ และเปิดรันเวย์ได้อีกครั้งเวลา 2.30 น. ของวันถัดไป[31][32]
  • 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 608 เครื่องบินแอร์บัส เอ320-216 ทะเบียน HS-BBK บินจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานพนมเปญ ขณะออกบินขึ้นได้ไม่นานเกิดความขัดข้องที่ส่วนปีกด้านซ้าย สปอยเลอร์ที่ปีกเกิดค้าง ไม่ปิดพับลงไป จึงบินกลับดอนเมืองและเปลี่ยนเป็นเครื่องบินอีกลำหนึ่งบินแทน เที่ยวบินล่าช้า 2 ชั่วโมง 20 นาที[33]
  • 13 มีนาคม พ.ศ. 2561 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 761 เครื่องบินแอร์บัส เอ320-251 นีโอ ทะเบียน HS-CBG บินจากท่าอากาศยานนานาชาติมาเก๊า ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง ระหว่างบินเกิดมีสัญญาณแจ้งเตือนที่ห้องนักบินว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่เครื่องยนต์และปีกเครื่องบิน กัปตันจึงลงจอดฉุกเฉิน พร้อมผู้โดยสาร 147 คนและลูกเรืออีก 11 คน ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ได้อย่างปลอดภัย เมื่อเวลา 12:40 น. และสายการบินได้นำเครื่องบินอีกลำหนึ่งมารับผู้โดยสารเดินทางต่อ ทั้งนี้ผู้โดยสารได้มาถึงดอนเมืองล่าช้ากว่ากำหนดเวลาเดิมประมาณ 3 ชั่วโมง[34]
  • 20 เมษายน พ.ศ. 2562 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 3111 เครื่องบินแอร์บัส เอ320-216 ทะเบียน HS-ABN เส้นทางจากท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง เกิดเหตุเครื่องบินขัดข้อง สายการบินได้เปลี่ยนลำโดยสลับนำเครื่องบินอีกลำหนึ่ง ทะเบียน HS-BBA ของเที่ยวบินถัดไปเปลี่ยนมารับผู้โดยสารของเที่ยวบินนี้แทน รวมแล้วเที่ยวบินล่าช้ากว่ากำหนดเวลาเดิม 2 ชั่วโมง 35 นาที ส่วนลำเดิมที่ขัดข้องก็ได้แก้ไขแล้วเสร็จและใช้บินเที่ยวบินใหม่แทน[35]
  • 5 กันยายน พ.ศ. 2562 – ไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 178 เครื่องบินแอร์บัส เอ320-216 ทะเบียน HS-BBT บินจากท่าอากาศยานนานาชาติเวลานา หรือท่าอากาศยานมาเล ประเทศมัลดีฟส์ ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง เกิดเหตุเครื่องยนต์เครื่องหนึ่งขัดข้องขณะขึ้นบินออกจากมัลดีฟส์ นักบินจึงได้บินวนกลับมาจอดที่มัลดีฟส์อีกครั้งอย่างปลอดภัย[36][37]

อ้างอิง[แก้]

  1. "List of Thailand Air Operator Certificate Holders". Civil Aviation Authority of Thailand. 5 October 2022. สืบค้นเมื่อ 5 October 2022.
  2. Join BIG! AirAsia BIG Loyalty Programme เก็บถาวร 26 พฤษภาคม 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. "Home Page". Asia Aviation Public Company Ltd. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 30 January 2015.
  4. "Thai AirAsia picks Santisuk as new CEO". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 14 May 2018.
  5. 5.0 5.1 "Financial Highlights". Asia Aviation. สืบค้นเมื่อ 8 January 2023.
  6. Thai AirAsia (TAA) Background
  7. About AAV / Background
  8. แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 เก็บถาวร 2019-09-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ส่วนที่ 1 หน้า 8-9
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-07-09.
  10. "Thai AirAsia Fleet Details and History".
  11. "Tourism Increase Spurs Expansion for Thai AirAsia | Aviation Week Network".
  12. "Thai AirAsia to add ten A321neo in 2019".
  13. "แอร์เอเชียยางระเบิดขณะลงจอดที่สนามบินอุบลราชธานี". ผู้จัดการออนไลน์. 2006-02-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-04. สืบค้นเมื่อ 2017-07-05.
  14. "แอร์เอเชียแจงปัญหาเครื่องบินไปนราธิวาสขัดข้อง". ผู้จัดการออนไลน์. 2006-10-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-04. สืบค้นเมื่อ 2017-07-05.
  15. "ระทึก!บินแอร์เอเชียไถลผู้โดยสารวีดร้องไร้เจ็บ-ตาย". ไทยรัฐ. 2010-03-17. สืบค้นเมื่อ 2017-07-12.
  16. "ผู้โดยสารปั่นป่วน! เครื่องบินแอร์เอเชียขัดข้องตกค้างอื้อ". ไทยรัฐ. 2012-04-30. สืบค้นเมื่อ 2017-07-05.
  17. Simon Hradecky (2013-12-31). "Incident: AirAsia A320 at Phuket on Dec 27th 2013, bird strike". The Aviation Herald. สืบค้นเมื่อ 2017-07-13.
  18. "ระทึก! แอร์เอเชียบินชนนกนักบินสั่งลงภูเก็ตเช็กเครื่อง". ผู้จัดการออนไลน์. 2013-12-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-04. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04.
  19. "แอร์เอเชียชนนก". ไทยรัฐ. 2014-06-11. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04.
  20. 20.0 20.1 20.2 ""แอร์เอเซีย"บินชนนกกระยาง ที่สนามบินเมืองคอน ผู้โดยสารโวย! เผยเป็นครั้งที่ 4 ในรอบปีแล้ว". มติชน. 2014-10-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-04. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04. เกิดอุบัติเครื่องบินสายการบินทั้ง2สายการบินบินชนนกที่สนามบินนครศรีธรรมราชแล้วจำนวน 4 ครั้ง ในรอบปี 2557นี้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากบริเวณป่าพรุรอบๆสนามบินนครศรีธรรมราช มีฝูงนกกระยางจำนวนมากมาวางไข่ ซึ่งแม้ว่าทางเจ้าหน้าที่สนามบินเคยตามเก็บไข่นกกระยาง บริเวณป่าพรุรอบสนามบิน เดือนละ 200-300 ฟอง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถาวรก็ยังมาเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินชนนกอีกเป็นครั้งที่ 4 ในรอบปี 2557
  21. 21.0 21.1 21.2 "บินชนนก! เครื่องแอร์เอเชีย ดีเลย์2ชม". ไทยรัฐ. 2014-10-17. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04.
  22. "เครื่องบินขัดข้อง แอร์เอเชียเมืองคอน-ดอนเมือง ดีเลย์3ชม". ไทยรัฐ. 2014-07-21. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04.
  23. "แอร์เอเชีย ชี้แจงเหตุลงจอดเที่ยวบิน FD3187 ที่ภูเก็ต". ไทยรัฐ. 2014-08-05. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04.
  24. Simon Hradecky (2014-08-06). "Incident: Thai AirAsia A320 at Nakhon Si Thammarat on Aug 5th 2014, bird strike". The Aviation Herald. สืบค้นเมื่อ 2017-07-13.
  25. "แอร์เอเชีย แจง เที่ยวบินดอนเมือง-ขอนแก่น วกกลับ พบผิดปกติเล็กน้อย". ไทยรัฐ. 2014-12-31. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04.
  26. "แอร์เอเชีย แจงเที่ยวบิน FD3398 บินกลับดอนเมือง จากปัญหาเทคนิค". ไทยรัฐ. 2015-05-03. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04.
  27. "แอร์เอเชีย แจงเที่ยวบินดอนเมือง-ร้อยเอ็ด 16 ก.ค. ขัดข้องทางเทคนิค". ไทยรัฐ. 2015-07-17. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04.
  28. "แอร์เอเชีย เครื่องขัดข้อง ผู้โดยสารติดค้างสนามบินขอนแก่น กว่า 2 ชม". ไทยรัฐ. 2016-06-20. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04.
  29. Simon Hradecky (2017-05-04). "Accident: Thai AirAsia A320 at Khon Kaen on Jan 2nd 2017, tail strike on landing". The Aviation Herald. สืบค้นเมื่อ 2017-07-13.
  30. "แอร์เอเชียระทึก! จู่ๆเบรกอย่างแรง-ไฟดับ กลางรันเวย์ดอนเมือง ผู้โดยสารทั้งลำผวา". มติชน. 2017-07-21. สืบค้นเมื่อ 2017-07-25.
  31. "เครื่องบินแอร์เอเชียยางระเบิด ขณะลงจอดที่อู่ตะเภา". สปริงเรดิโอ. 2017-07-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-24. สืบค้นเมื่อ 2017-07-25.
  32. "ระทึกขวัญผวา!! ล้อเครื่องบินยางระเบิด ขณะลงจอดบนรันเวย์ ผู้โดยสารกว่า 100 ชีวิตแตกตื่น". ทีนิวส์. 2017-07-24. สืบค้นเมื่อ 2017-07-25.
  33. Simon Hradecky (2017-08-25). "Incident: Thai AirAsia A320 at Bangkok on Aug 25th 2017, spoilers floated on departure". The Aviation Herald. สืบค้นเมื่อ 2017-09-20.
  34. "แอร์เอเชียแจงเหตุเที่ยวบินมาเก๊า-กรุงเทพฯจอดฉุกเฉินสนามบินอุดร". ผู้จัดการออนไลน์. 2018-03-13. สืบค้นเมื่อ 2018-03-13.
  35. "แอร์เอเชีย แจงกรณีเครื่องบินขัดข้อง ผู้โดยสารผวา เครื่องติดๆดับๆ หนีลง เปลี่ยนลำใหม่". ข่าวสด. 2019-04-21. สืบค้นเมื่อ 2019-04-23.
  36. "Incident Airbus A320-216 HS-BBT, 05 Sep 2019". Aviation Safety Network (ASN). 2019-09-05. สืบค้นเมื่อ 2019-09-12.
  37. "แอร์เอเชีย แจงเหตุวกเครื่องกลับฉุกเฉิน ขัดข้องทางเทคนิค ยันความปลอดภัยสูงสุด". ข่าวสด. 2019-09-06. สืบค้นเมื่อ 2019-09-12.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]