ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศเม็กซิโก

พิกัด: 23°N 102°W / 23°N 102°W / 23; -102
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

23°N 102°W / 23°N 102°W / 23; -102

สหรัฐเม็กซิโก

Estados Unidos Mexicanos (สเปน)
คำขวัญ
La Patria Es Primero (สเปน)
("บ้านเกิดต้องมาก่อน")
เพลงชาติHimno Nacional Mexicano
("เพลงชาติเม็กซิโก")
ที่ตั้งของเม็กซิโก
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
เม็กซิโกซิตี
19°26′N 99°08′W / 19.433°N 99.133°W / 19.433; -99.133
ภาษาราชการ
ภาษาพื้นเมืองภาษาสเปนและภาษาของชนพื้นเมืองอีก 68 ภาษา[a]
ภาษาประจำชาติสเปน (โดยพฤตินัย)[b]
กลุ่มชาติพันธุ์
กลุ่มชาติพันธุ์อเมรินเดียนและต่างชาติ 56 กลุ่ม
ศาสนา
(2020)[1]
  • 88.9% คริสต์
  • —77.7% โรมันคาทอลิก
  • —11.2% นิกายอื่น ๆ
  • 10.6% ไม่นับถือศาสนา
  • 0.2% อื่น ๆ
  • 0.3% ไม่ระบุ
การปกครองสหพันธ์ ระบบประธานาธิบดี
สาธารณรัฐรัฐธรรมนูญ[2]
คลอเดีย เชนบัม
Gerardo Fernández Noroña
Sergio Gutiérrez Luna
สภานิติบัญญัติสภาคองเกรส
วุฒิสภา
สภาผู้แทนราษฎร
เอกราช 
จากสเปน
16 กันยายน ค.ศ. 1810[3]
27 กันยายน ค.ศ. 1821
28 ธันวาคม ค.ศ. 1836
4 ตุลาคม ค.ศ. 1824
5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1857
5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917
พื้นที่
• รวม
1,972,550 ตารางกิโลเมตร (761,610 ตารางไมล์) (อันดับที่ 13)
1.58 (ใน ค.ศ. 2015)[4]
ประชากร
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2020
126,014,024[1] (อันดับที่ 10)
61 ต่อตารางกิโลเมตร (158.0 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 142)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2022 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 2.92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[5] (อันดับที่ 13)
เพิ่มขึ้น 22,440 ดอลลาร์สหรัฐ[5] (อันดับที่ 69)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2022 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 1.42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[5] (อันดับที่ 15)
เพิ่มขึ้น 10,950 ดอลลาร์สหรัฐ[5] (อันดับที่ 71)
จีนี (ค.ศ. 2018)positive decrease 41.8[6]
ปานกลาง
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021)เพิ่มขึ้น 0.758[7]
สูง · อันดับที่ 86
สกุลเงินเปโซ (MXN)
เขตเวลาUTC−8 ถึง −5 (ดู เวลาในประเทศเม็กซิโก)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC−7 ถึง −5 (หลายแบบ)
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์+52
โดเมนบนสุด.mx
  1. ^ มาตราที่ 4.° ของ General Law of Linguistic Rights of the Indigenous Peoples[8][9]
  2. ^ ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการของรัฐบาลกลางเม็กซิโกโดยพฤตินัย

เม็กซิโก (อังกฤษ: Mexico; สเปน: México) หรือชื่อทางการคือ สหรัฐเม็กซิโก (อังกฤษ: United Mexican States; สเปน: Estados Unidos Mexicanos) เป็นประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ มีพรมแดนทางทิศเหนือจรดสหรัฐอเมริกา ทิศใต้และทิศตะวันตกจรดมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศตะวันออกเฉียงใต้จรดกัวเตมาลา เบลีซ และทะเลแคริบเบียน ส่วนทิศตะวันออกจรดอ่าวเม็กซิโก[10][11] เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่ถึงเกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตร[12] เม็กซิโกจึงเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของทวีปอเมริกา และเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และยังมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 10 ของโลก (126,014,024 คน)[13] เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีประชากรพูดภาษาสเปนมากที่สุดในโลก[14][15] และเป็นสหพันธ์ที่ประกอบด้วย 31 รัฐ โดยมีกรุงเม็กซิโกซิตีเป็นเมืองหลวง และยังเป็นหนึ่งในนครที่มีประชากรมากที่สุดในโลก[16] และมีเมืองอื่น ๆ ที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ได้แก่ กัวดาลาฮารา, มอนเตร์เรย์, ปวยบลา, โตลูกา, ติฆัวนา, ซิวดัดฆัวเรซ และเลออน

ประวัติศาสตร์ของเม็กซิโกยุคพรีโคลัมบัสมีประวัติย้อนไปถึง 8,000 ปีก่อนคริสตกาล บริเวณนี้ถือเป็นหนึ่งในหกแหล่งกำเนิดของอารยธรรมสำคัญของโลก[17] โดยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคมีโซอเมริกาซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของชาวโอลเมก, อารยธรรมมายา, อารยธรรมปูเรเปชา, เตโอตีวากาน และ จักรวรรดิแอซเท็ก ซึ่งครอบครองบริเวณนี้ก่อนการมาถึงของชาวยุโรป ต่อมาใน ค.ศ. 1521 จักรวรรดิสเปนได้พิชิตและตั้งอาณานิคมในภูมิภาคนี้โดยมีฐานที่มั่นในเม็กซิโกซิตี และก่อตั้งเป็นอาณานิคมของสเปน ต่อมา คริสตจักรคาทอลิกได้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์และภาษาสเปน[18] แต่ยังคงรักษาวัฒนธรรมพื้นเมืองเอาไว้ ประชากรพื้นเมืองถูกปราบปรามและถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างหนักจากการบังคับใช้แรงงานเพื่อขุดแร่โลหะที่มีค่าจำนวนมาก ซึ่งทำให้สเปนมีสถานะเป็นมหาอำนาจโลกต่อไปอีกสามศตวรรษ[19] เมื่อเวลาผ่านไป เอกลักษณ์เฉพาะของเม็กซิโกได้ก่อตัวขึ้นจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของยุโรปและชนเผ่าพื้นเมือง ต่อมา เม็กซิโกเป็นอิสระจากการปกครองของสเปนภายหลังได้รับชัยชนะในสงครามประกาศเอกราชเม็กซิโก[20]

ประวัติศาสตร์ในยุคแรกของเม็กซิโกในฐานะรัฐชาติเต็มไปด้วยความวุ่นวายทางการเมือง เนื่องจากกลุ่มกบฎได้ก่อการปฏิวัติเท็กซัสและนำไปสู่สงครามเม็กซิโก-อเมริกันในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดความสูญเสียอาณาเขตอย่างใหญ่หลวงต่อสหรัฐอเมริกา การปฏิรูปเสรีนิยมได้รับการบันทึกอยู่ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1857 ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการพยายามรวบรวมชนเผ่าพื้นเมืองให้เป็นปึกแผ่นและมีการลดอำนาจของคริสตจักรและกองทัพลง สิ่งนี้ก่อให้เกิดสงครามภายในประเทศและการแทรกแซงของฝรั่งเศส ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ตั้งจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 แห่งเม็กซิโก เป็นจักรพรรดิต่อต้านการปกครองแบบสาธารณรัฐที่นำโดยเบนิโต ฮัวเรซ ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 ประเทศเม็กซิโกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของ ปอร์ฟิริโอ ดิอัซ ประธานาธิบดีในขณะนั้น ซึ่งพยายามปรับปรุงเม็กซิโกให้ทันสมัยและฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ต่อมาได้เกิดสงครามการปฏิวัติเม็กซิโกขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งมาจากการต่อต้านระบอบของดิอัซ สงครามได้กินเวลายาวนานกว่าทศวรรษ และคร่าชีวิตประชากรไปกว่า 10% และฝ่ายปฏิวัติซึ่งได้รับชัยชนะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ค.ศ. 1917 ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้มาจนถึงทุกวันนี้ นายพลของกองทัพคณะปฏิวัติได้ปกครองเม็กซิโกในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีจนกระทั่งเหตุการณ์การลอบสังหาร อัลบาโร โอเบรกอน ใน ค.ศ. 1928 นำไปสู่การก่อตั้งพรรคปฏิวัติ (PRI)[21] [22][23] เม็กซิโกเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองโดยถือฝ่ายสัมพันธมิตร[24][25] พรรคปฏิวัติบริหารประเทศมาต่อเนื่องอีกหลายทศวรรษ ทว่าก็ได้รับเสียงวิจารณ์ในด้านความโปร่งใสและการใช้อำนาจโดยมิชอบ และได้นำนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมมาใช้ รวมถึงการทำความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือในทศวรรษ 1990 ก่อนจะแพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคอนุรักษ์นิยม (PAN) เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 70 ปี ใน ค.ศ. 2000

เม็กซิโกเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลกตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ โดยมีสหรัฐเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด[26] จากการที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีประชากรมาก ส่งผลให้เม็กซิโกเป็นประเทศอำนาจนำภูมิภาคและมหาอำนาจระดับกลาง[27][28] และมักถูกระบุว่าเป็นมหาอำนาจเกิดใหม่[29] และรัฐอุตสาหกรรมใหม่[30][31][32] อย่างไรก็ตาม การทุจริตทางการเมือง ความยากจน และอาชญากรรมยังเป็นปัญหาสำคัญเช่นเดียวกับประเทศอื่นในลาตินอเมริกา โดยเม็กซิโกอยู่ในอันดับต่ำจากการจัดอันดับด้านความปลอดภัย ปัญหาหลักเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและองค์กรค้ายาเสพติดซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของประชากรมากกว่า 127,000 คนตั้งแต่ ค.ศ. 2006[33] เม็กซิโกอยู่ในอันดับหนึ่งในทวีปอเมริกาและอันดับเจ็ดของโลกในแง่จำนวนมรดกโลกของยูเนสโก[34][35] นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติมากที่สุดตั้งแต่ยุคโบราณ และเป็นอันดับที่ 5 ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และจากการที่มีมรดกทางวัฒนธรรมและสภาพอากาศอันหลากหลาย ส่งผลให้เม็กซิโกเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยใน ค.ศ. 2022 เม็กซิโกมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก (42 ล้านคน)[36] เม็กซิโกเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ, กลุ่ม 20, องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, องค์การการค้าโลก, ฟอรัมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก, องค์การนานารัฐอเมริกา, ประชาคมลาตินอเมริกา กลุ่มแคริบเบียน รวมทั้งองค์การรัฐไอบีโร-อเมริกา

ที่มาของชื่อประเทศ

[แก้]
รูปของเม็กซิโก-เตนอชตีตลันจากMendoza codex

หลังจากได้รับเอกราชจากประเทศสเปน ก็มีการตกลงว่าจะตั้งชื่อประเทศใหม่แห่งนี้ตามชื่อเมืองหลวงคือ กรุงเม็กซิโกซิตี ซึ่งมีชื่อดั้งเดิมในสมัยก่อตั้งว่า "เม็กซิโก-เตนอชตีตลัน" (Mexico-Tenochtitlan) มีที่มาจากชื่อของชนเผ่าเม็กซิกา (Mexica) ซึ่งเป็นชนกลุ่มหลักในอารยธรรมแอซเท็กอีกทอดหนึ่ง ส่วนต้นกำเนิดของชื่อเม็กซิกานั้นยังไม่ทราบชัดเจน มีการตีความไปหลาย ๆ ทาง มีข้อสันนิษฐานว่า มาจากคำในภาษานาอวตล์ว่า "เมชตลี" (Mextli) หรือ "เมชิตลี" (Mēxihtli) ซึ่งเป็นชื่อลับของเทพเจ้าวิตซีโลโปชตลี (Huitzilopochtli) เทพเจ้าแห่งสงครามและผู้คุ้มครองชาวแอซเท็ก (หรือชาวเม็กซิกา) ในกรณีนี้ Mēxihco [เมชิโก] จึงอาจจะแปลว่า "สถานที่ซึ่งเมชตลีทรงสถิตอยู่"[37]

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งกล่าวว่า Mēxihco ประกอบขึ้นจากคำว่า mētztli ("พระจันทร์"), xictli ("สะดือ", "ศูนย์กลาง" หรือ "ลูกชาย") และคำปัจจัย -co (สถานที่) ซึ่งโดยรวมแล้วแปลได้ว่า "สถานที่ใจกลางพระจันทร์" หรือ "สถานที่ใจกลางทะเลสาบพระจันทร์" ทะเลสาบพระจันทร์นี้หมายถึงทะเลสาบเตซโกโก (Lake Texcoco) ระบบทะเลสาบที่เชื่อมถึงกัน (โดยมีทะเลสาบเตซโกโกตั้งอยู่ตอนกลาง) ในบริเวณนี้มีรูปร่างเหมือนกระต่าย ซึ่งเป็นรูปเดียวกับที่ชาวแอซเท็กเห็นจากพระจันทร์ และกรุงเตนอชตีตลันนั้นก็ตั้งอยู่บนเกาะใจกลาง (หรือสะดือ) ของทะเลสาบ (หรือกระต่าย/พระจันทร์) เหล่านี้พอดี[38] นอกจากนี้ยังมีข้อสมมุติฐานที่กล่าวว่าชื่อนี้มาจากคำว่า "เมกตลี" (Mēctli) ซึ่งเป็นชื่อของเทพธิดาประจำดอกโคม (maguey) อีกด้วย[38]

ชื่อของเมืองเมชิโกได้รับการถอดเสียงในภาษาสเปนเป็น México พร้อมกับเสียงของตัว x ในภาษาสเปนยุคกลางซึ่งในขณะนั้นแทนเสียงเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ไม่ก้อง /ʃ/ แต่ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เสียงนี้รวมทั้งเสียงเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ก้อง /ʒ/ ซึ่งแทนด้วยตัว j ได้เกิดการวิวัฒนาการกลายเป็นเสียงเสียดแทรก เพดานอ่อน ไม่ก้อง /x/[39] การเปลี่ยนแปลงเสียงตัวอักษรดังกล่าวนี้ได้ทำให้มีการสะกดชื่อประเทศนี้เป็น Méjico ในสิ่งพิมพ์ภาษาสเปนจำนวนมากโดยเฉพาะในประเทศสเปน แต่ในประเทศเม็กซิโกและประเทศอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาสเปนยังคงใช้การสะกดแบบเดิมคือ México จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้ ราชบัณฑิตยสถานสเปน ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมการใช้ภาษาสเปนในประเทศสเปนได้ตัดสินว่า การสะกดทั้งสองแบบเป็นที่ยอมรับได้ในภาษาสเปน แต่การสะกดที่เป็นแบบแผนกว่าก็คือ México[40] ปัจจุบันสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ในประเทศที่ใช้ภาษาสเปนทั้งหมดก็ถือตามกฎใหม่นี้ แม้ว่าจะยังมีการใช้รูป Méjico อยู่บ้างก็ตาม[41] สำหรับในภาษาอังกฤษ ตัว x ในคำว่า Mexico ไม่ได้แทนทั้งเสียงดั้งเดิมหรือเสียงปัจจุบันตามที่ปรากฏในภาษาสเปน แต่จะแทนเสียงควบกล้ำ /ks/

ภูมิศาสตร์

[แก้]
ประเทศเม็กซิโก เมื่อมองจากอวกาศ

เม็กซิโกตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของทวีปอเมริกาเหนือ[42][43] นอกจากบนทวีปดังกล่าวแล้ว เม็กซิโกยังมีกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเล็ก ๆ ในอ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน อ่าวแคลิฟอร์เนีย และมหาสมุทรแปซิฟิก (ได้แก่เกาะกวาดาลูเปและหมู่เกาะเรบียาคีเคโดที่อยู่ห่างไกลออกไป) อีกด้วย พื้นที่เกือบทั้งหมดของเม็กซิโกแผ่นดินใหญ่ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือ โดยมีบางส่วนของคาบสมุทรบาฮากาลิฟอร์เนียตั้งอยู่บนแผ่นแปซิฟิกและแผ่นโกโกส ในทางธรณีฟิสิกส์ นักภูมิศาสตร์บางกลุ่มจัดให้ดินแดนของประเทศที่อยู่ทางทิศตะวันออกของคอคอดเตอวนเตเปกอยู่ในภูมิภาคอเมริกากลาง[44] แต่ในทางภูมิศาสตร์การเมือง เม็กซิโกเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอเมริกาเหนือร่วมกับแคนาดาและสหรัฐอเมริกา[45][46]

เม็กซิโกมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,972,550 ตารางกิโลเมตร[47] นับเป็นประเทศที่มีขนาดเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก[47] เม็กซิโกมีพรมแดนทางทิศเหนือร่วมกับสหรัฐอเมริกายาว 3,141 กิโลเมตร[47] โดยใช้แม่น้ำบราโบที่คดเคี้ยวเป็นพรมแดนธรรมชาติตั้งแต่เมืองซิวดัดคัวเรซไปทางทิศตะวันออกจนถึงอ่าวเม็กซิโก และตั้งแต่เมืองซิวดัดคัวเรซไปทางทิศตะวันตกจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิกจะมีทั้งแม่น้ำและสิ่งก่อสร้างเป็นแนวแบ่งเขตสองประเทศไว้ ส่วนทางทิศใต้ เม็กซิโกมีพรมแดนร่วมกับกัวเตมาลายาว 962 กิโลเมตร[47] และมีพรมแดนร่วมกับเบลีซยาว 250 กิโลเมตร[47]

ภูมิประเทศ

[แก้]
โอรีซาบา ยอดเขาที่สูงสุดในเม็กซิโก

เทือกเขาขนาดใหญ่ในเม็กซิโก ได้แก่ เทือกเขาเซียร์รามาเดรโอเรียนตัล ซึ่งพาดผ่านพื้นที่ประเทศในแนวเหนือ-ใต้ เกือบจะขนานกับชายฝั่งภาคตะวันออก และเทือกเขาเซียร์รามาเดรออกซีเดนตัล ซึ่งขนานไปกับชายฝั่งภาคตะวันตก (เทือกเขานี้เป็นส่วนต่อเนื่องทางด้านใต้ของระบบเทือกเขาร็อกกีจากตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ) [48] นอกจากนี้ ทางภาคกลางตอนล่างของประเทศยังมีแนวภูเขาไฟทรานส์เม็กซิกัน หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า "เซียร์ราเนบาดา"[49] พาดผ่านจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ส่วนทางภาคใต้ก็มีเทือกเขาเซียร์รามาเดรเดลซูร์ที่ขนานไปกับชายฝั่งตั้งแต่รัฐมิโชอากังไปจนถึงรัฐโออาซากา ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ดินแดนทางภาคกลางและภาคเหนือของเม็กซิโกจึงตั้งอยู่บนพื้นที่ระดับสูง โดยกลุ่มยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศ ได้แก่ ยอดเขาโอรีซาบา (5,700 เมตร) [47] โปโปกาเตเปตล์ (5,426 เมตร) [50] อิซตักซีอวตล์ (5,230 เมตร) [51] และเนบาโดเดโตลูกา (4,680 เมตร) [52] ล้วนตั้งอยู่บริเวณแนวภูเขาไฟทรานส์เม็กซิกัน และเขตเมืองใหญ่ของเม็กซิโก ได้แก่ เขตมหานครเม็กซิโกซิตี โตลูกา และปวยบลา ต่างก็ตั้งอยู่ในหุบเขาระหว่างยอดเขาเหล่านี้[53]

แม่น้ำกรีคัลบา บริเวณหุบผาชันซูมีเดโร

ทางน้ำและแม่น้ำต่าง ๆ ในเม็กซิโกจัดอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำ 3 บริเวณ คือ บริเวณลุ่มน้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก และไหลสู่แอ่งภายในแผ่นดิน แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของประเทศคือ แม่น้ำบราโบ อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา แม่น้ำสายอื่นในบริเวณลุ่มน้ำเดียวกัน ได้แก่ แม่น้ำอูซูมาซินตา (พรมแดนธรรมชาติระหว่างเม็กซิโกกับกัวเตมาลา) แม่น้ำกรีคัลบา แม่น้ำปานูโก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีแม่น้ำหลายแห่งที่มีปริมาณน้ำน้อยและใช้เดินเรือไม่ได้ โดยทางน้ำในประเทศที่ใช้เดินเรือได้มีระยะทางรวมประมาณ 2,900 กิโลเมตร[54]

เม็กซิโกมีทะเลสาบขนาดย่อมหลายแห่งในพื้นที่ ทะเลสาบที่สำคัญที่สุดคือ ทะเลสาบชาปาลา ในรัฐฮาลิสโก แต่เนื่องจากมีการน้ำน้ำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมาก เกินไป ทะเลสาบแห่งนี้จึงเกิดภาวะมลพิษและเสี่ยงที่จะเหือดแห้ง ทะเลสาบที่สำคัญแห่งอื่น ๆ ได้แก่ ทะเลสาบปัตซ์กวาโร ซีราอูเอน และกวิตเซโอ ทั้งหมดตั้งอยู่ในรัฐมิโชอากัง

ภูมิอากาศ

[แก้]

เมืองใหญ่หลายแห่งในเม็กซิโกตั้งอยู่ในหุบเขาเม็กซิโกซึ่งมีระดับความสูงมากกว่า 2,000 ม. (6,562 ฟุต) ทำให้ประเทศมีสภาพอากาศที่อบอุ่นตลอดทั้งปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ 16 ถึง 18 °C หรือ 60.8 ถึง 64.4 °F และอุณหภูมิกลางคืนที่เย็นสบายตลอดทั้งปี หลายพื้นที่ของเม็กซิโกโดยเฉพาะทางตอนเหนือมีสภาพอากาศที่แห้งและมีฝนตกเล็กน้อย ในขณะที่บางส่วนของที่ราบลุ่มเขตร้อนทางตอนใต้มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 2,000 มม. (78.7 นิ้ว) เช่น หลายเมืองทางตอนเหนือ เช่น มอนเตร์เรย์ เอร์โมซีโย และเม็กซิกาลีมีอุณหภูมิ 40 °C (104 °F) ขึ้นไปในฤดูร้อน ในทะเลทรายโซโนรันอุณหภูมิถึง 50 °C (122 °F) หรือมากกว่า

ความหลากหลายทางชีวภาพ

[แก้]
หมาป่าเม็กซิโก

เม็กซิโกเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 10–12% ของสิ่งมีชีวิตในโลก[55] เป็นอันดับหนึ่งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพในด้านสัตว์เลื้อยคลานที่ค้นพบแล้วกว่า 707 สายพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 438 สายพันธุ์ รวมถึงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 290 สปีชีส์ และพันธุ์พืชกว่า 26,000 สปีชีส์ที่ต่างกัน ประมาณ 2,500 สายพันธุของสิ่งมีชีวิตได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายของเม็กซิโก ในปี 2002 เม็กซิโกมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าเป็นอันดับสองของโลก รองจากบราซิลเท่านั้น มีคะแนนเฉลี่ยดัชนีความสมบูรณ์ของภูมิทัศน์ป่าไม้ปี 2019 ที่ 6.82/10 อยู่ในอันดับที่ 63 ของโลกจาก 172 ประเทศ[56]

กว่า 170,000 ตารางกิโลเมตร (65,637 ตารางไมล์) ถือเป็น "พื้นที่ธรรมชาติที่ได้รับการคุ้มครอง" ซึ่งรวมถึงเขตสงวนชีวมณฑล 34 แห่ง, อุทยานแห่งชาติ 67 แห่ง, อนุสรณ์สถานทางธรรมชาติ 4 แห่ง (ได้รับการคุ้มครองอย่างถาวรเพื่อคุณค่าทางสุนทรียภาพ วิทยาศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์) พื้นที่อนุรักษ์พืชและสัตว์ 26 พื้นที่ 4 พื้นที่สำหรับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ (การอนุรักษ์ดิน ลุ่มน้ำและป่าไม้อุทกวิทยา) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 17 แห่ง (เขตที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด) การค้นพบทวีปอเมริกาทำให้เกิดพืชผลทางการเกษตรและพืชที่บริโภคได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก ส่วนผสมในการทำอาหารพื้นเมืองของเม็กซิโก ได้แก่ ช็อกโกแลต อาโวคาโด มะเขือเทศ ข้าวโพด วานิลา ฝรั่ง ชาโยเต้ อีปาโซเต คาโมเต จิคามา โนปาล บวบ เตโจโคต ฮุตลาโคเช สาโปเต มาเม่ย์ซาโปเต ถั่วหลากหลายสายพันธุ์ และพริกหลากหลายชนิด เช่น habanero และ jalapeno ชื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากภาษาพื้นเมืองเช่น Nahuat เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เม็กซิโกจึงเป็นแหล่งสำรวจทางชีวภาพบ่อยครั้งโดยหน่วยงานวิจัยระหว่างประเทศ[57]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

สมัยก่อนอาณานิคม

[แก้]
สถาปัตยกรรมมายาที่เมืองโบราณอุกซ์มัล (Uxmal)

เมื่อเกือบสามพันปีก่อน ดินแดนประเทศเม็กซิโกเป็นแหล่งอารยธรรมของชาวพื้นเมืองอเมริกันที่ยิ่งใหญ่หลายกลุ่ม เช่น โอลเมก เป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มสุด ประมาณ 2,300 ปีก่อนคริสตกาล อยู่ทางภาคกลางของค่อนไปทางใต้ของเม็กซิโกปัจจุบัน มายา มีอำนาจอยู่ประมาณระหว่างปี ค.ศ. 200 ถึง ค.ศ. 900 ตั้งถิ่นฐานอยู่บนคาบสมุทรยูกาตันในนครรัฐที่ปกครองโดยกษัตริย์ มายามีอายุร่วมสมัยเดียวกับอารยธรรมเตโอตีวากาน หลังจากเมืองเตโอตีวากานเสื่อมอำนาจทางการเมืองลงไป พวกโตลเตกก็ขึ้นมามีอำนาจแทนในราวปี ค.ศ. 700 อิทธิพลของอารยธรรมโตลเตกพบได้ตั้งแต่ภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาลงไปจนถึงคอสตาริกาในปัจจุบัน ผู้ปกครองโตลเตกที่มีชื่อเสียงคือ เกตซัลโกอัตล์ ภายหลังอารยธรรมโตลเตกก็ล่มสลายลงไปและสืบทอดต่อมาโดยพวกแอซเท็กที่เรียกจักรวรรดิของตนเองว่า "เม็กซิกา"

กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงของแอซเท็กได้แก่ พระเจ้ามอกเตซูมาที่ 2 เมื่อถึงปี ค.ศ. 1519 เตนอชตีตลัน เมืองหลวงของจักรวรรดิแอซเท็ก (เม็กซิกา) เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรถึงประมาณ 350,000 คน ซึ่งกรุงลอนดอนในขณะนั้นมีประชากรเพียง 80,000 คนเท่านั้น เตนอชตีตลันเป็นที่ตั้งของกรุงเม็กซิโกซิตีในปัจจุบัน

สมัยอาณานิคม

[แก้]
จักรวรรดิแอซเท็ก

นักสำรวจชาวสเปนมาถึงเม็กซิโกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยฟรันซิสโก เอร์นันเดซ เด กอร์โดบาได้สำรวจชายฝั่งทางใต้ของเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1517 ตามมาด้วยการสำรวจของควน เด กรีคัลบาในปี ค.ศ. 1518 ผู้พิชิตดินแดนในสมัยแรกคนสำคัญคือ เอร์นัน กอร์เตส ซึ่งเข้ามาถึงในปี ค.ศ. 1519 จากทางเมืองชายฝั่งที่เขาตั้งชื่อให้ว่า "บียารีกาเดลาเบรากรุซ"

ด้วยความเชื่อว่ากอร์เตสเป็นเกตซัลโกอัตล์ (กษัตริย์เทพเจ้าในตำนานแอซเท็ก ซึ่งมีคำทำนายไว้ว่าพระองค์จะทรงกลับมาในปีเดียวกับที่กอร์เตสมาถึงพอดี) ชาวแอซเท็กจึงไม่ได้ต่อต้านเขาและยังต้อนรับเป็นอย่างดี แต่อีกสองปีต่อมา (ค.ศ. 1521) กรุงเตนอชตีตลันก็ถูกพิชิตโดยกองทัพผสมระหว่างสเปนกับตลัชกัลเตกซึ่ง เป็นศัตรูสำคัญของแอซเท็ก การที่สเปนยึดเมืองหลวงของจักรวรรดิแอซเท็กได้นั้นเป็นจุดเริ่มต้นยุค อาณานิคมที่นานเกือบ 300 ปีของเม็กซิโกในฐานะเขตอุปราชแห่งนิวสเปน อย่างไรก็ตาม กว่าสเปนจะยึดดินแดนเม็กซิโกได้ทั้งหมดนั้นก็ยังต้องใช้เวลาอีก 2 ศตวรรษหลังจากการตีกรุงเตนอชตีตลันได้ เนื่องจากต้องสู้รบกับชนพื้นเมืองกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังคงก่อการจลาจลและโจมตีดินแดนของสเปนอยู่

เอกราชและสงคราม

[แก้]
มีเกล อีดัลโก ผู้ก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชเม็กซิโก

ในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1810 นักบวชชาวเม็กซิโกชื่อ มีเกล อีดัลโก ได้ประกาศเอกราชจากสเปนที่เมืองโดโลเรส รัฐกวานาวาโต[58] เป็นตัวเร่งให้เกิดสงครามประกาศเอกราชเม็กซิโก ซึ่งในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1821 ชาวสเปนได้ออกไปจากประเทศและทำให้เม็กซิโกกลายมาเป็นประเทศเอกราช ผู้นำคนแรกของเม็กซิโก อากุสติน เด อีตูร์บีเด ได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิที่ 1 แต่ด้วยเหตุที่ว่าประชาชนไม่พอใจ อีก 2 ปีต่อมาเม็กซิโกจึงเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐ โดยมีกวาดาลูเป บิกโตเรีย เป็นประธานาธิบดีคนแรก

บุคคลที่มีความสำคัญอีกคนหนึ่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือ นายพลอันโตเนียว โลเปซ เด ซานตา อันนา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเม็กซิโกอยู่หลายสมัย เขาได้ประกาศยกเลิกระบบสหพันธรัฐและรวมอำนาจกลับเข้าสู่ศูนย์กลาง รัฐต่าง ๆ ถูกลดฐานะลงเป็นจังหวัดและไม่มีสิทธิ์ในการปกครองตนเอง ก่อให้เกิดความไม่สงบไปทั่วประเทศ รัฐต่าง ๆ ได้แก่ ยูกาตัง ตาเมาลีปัส และนวยโวเลอองได้ประกาศเอกราช ในที่สุดรัฐโกอาวีลาและเท็กซัสก็ได้ประกาศแยกตัวออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1836 ยุทธการที่แอละโมที่มีชื่อเสียงได้เกิดขึ้นในสงครามครั้งนี้ ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ผนวกสาธารณรัฐเท็กซัสเข้าเป็นรัฐหนึ่งของตน ทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องพรมแดนกับเม็กซิโกและเกิดสงครามระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1846-1848 เม็กซิโกเป็นฝ่ายแพ้สงครามและต้องเสียดินแดนอีกถึง 1 ใน 3 ให้สหรัฐอเมริกาตามสนธิสัญญาสงบศึก ส่วนซานตา อันนาถูกเนรเทศไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในลาตินอเมริกา (แต่กลับเม็กซิโกในบั้นปลายชีวิต)

วิวัฒนาการดินแดนของเม็กซิโก

ระหว่างปี ค.ศ. 1858 และ ค.ศ. 1861 เกิดสงครามภายในขึ้นระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายอนุรักษนิยม ในที่สุด เบนีโต คัวเรซ ผู้นำจากฝ่ายเสรีนิยมก็เป็นฝ่ายชนะและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในทศวรรษ 1860 ฝรั่งเศสได้เข้ารุกรานเม็กซิโกและสถาปนามักซีมีเลียนแห่งฮับสบูร์ก ขึ้นเป็นจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 1 แห่งจักรวรรดิเม็กซิโกที่ 2 แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ ต่อมาพระองค์ทรงถูกสำเร็จโทษประหารหลังจากที่กองกำลังสาธารณรัฐสามารถยึดเมืองหลวงได้ในปี ค.ศ. 1867 และคัวเรซก็กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งจนถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1872

ผู้สืบทอดอำนาจของคัวเรซอยู่ฝ่ายเสรีนิยมเช่นกันจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1876 ฝ่ายอนุรักษนิยมนำโดยปอร์ฟีรีโอ ดีอัซ (ซึ่งเป็นนายพลผู้เคยได้ชัยชนะในการรบกับฝรั่งเศสมาก่อน) ได้ก่อกบฏขึ้นอีกและขับไล่รัฐบาลเสรีนิยมที่มาจากการเลือกตั้งออกไปได้ ปอร์ฟีรีโอได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีปกครองประเทศอยู่กว่า 30 ปี เขาทำให้ประเทศมั่งคั่งขึ้น แต่คนยากจนในประเทศกลับยิ่งยากจนลง ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้นำไปสู่การปฏิวัติเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1910 นำโดยฟรันซิสโก อี. มาเดโร ดีอัซประกาศลาออกในปี ค.ศ. 1911 และมาเดโรได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1913 เกิดรัฐประหารนำโดยนายพลฝ่ายอนุรักษนิยมชื่อว่าบิกโตเรียโน อวยร์ตา มาเดโรถูกล้มล้างอำนาจและถูกฆาตกรรม ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองซึ่งมีผู้เข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่ง เช่น เอมีเลียว ซาปาตา และปันโช บียา โดยทั้งสองจัดตั้งกองกำลังของตนเอง แต่กองทัพภายใต้รัฐธรรมนูญที่นำโดยเบนุสเตียโน การ์รันซา ก็สามารถยุติสงครามลงได้ในที่สุดและได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1917 แต่การ์รันซาก็ถูกทรยศและลอบสังหารในปี ค.ศ. 1920 อัลบาโร โอเบรกอน วีรบุรุษอีกคนหนึ่งจากสงครามการปฏิวัติได้ขึ้นดำรงตำหน่งประธานาธิบดีแทน และปลูตาร์โก เอลีอัส กาเยส ก็ได้สืบต่ออำนาจ อย่างไรก็ตามโอเบรกอนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้งในปี ค.ศ. 1928 แต่กลับถูกลอบสังหารก่อนจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ในปี ค.ศ. 1929 กาเยสได้จัดตั้งพรรคปฏิวัติแห่งชาติขึ้น และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคปฏิวัติสถาบัน ซึ่งจะกลายเป็นพรรคที่มีอำนาจมากที่สุดในช่วงเวลาอีก 70 ปีถัดมา

สมัยใหม่และสมัยปัจจุบัน

[แก้]

ระหว่างปี ค.ศ. 1940 และ ค.ศ. 1980 เป็นช่วงที่เม็กซิโกมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนเรียกว่า "มหัศจรรย์เม็กซิโก" (El Milagro Mexicano)[59] การที่รัฐเข้าครอบครองสิทธิที่จะทำผลประโยชน์จากแร่และโอนอุตสาหกรรมน้ำมันเข้าสู่บริษัทปิโตรเลียมเปเมกซ์ ซึ่งเป็นกิจการของรัฐในช่วงที่ลาซาโร การ์เดนัส เดล รีโอ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมาก แต่ก็เป็นการจุดปัญหาทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ ที่พลเมืองของตนต้องสูญเสียธุรกิจซึ่งถูกยึดหรือบังคับซื้อไปโดยรัฐบาลของกา ร์เดนัส

แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมก็ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองยังไม่สงบ สุขนัก นอกจากนี้ นักการเมืองที่มีตำแหน่งบริหารของพรรคปฏิวัติสถาบันก็เริ่มลุแก่อำนาจ ไม่ฟังเสียงประชาชน และบางครั้งก็ดำเนินการกดขี่อย่างรุนแรง[60] ตัวอย่างของพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ได้แก่ กรณีสังหารหมู่ตลาเตลอลโก[61] ในปี ค.ศ. 1968 ที่กำลังตำรวจและทหารได้กราดกระสุนใส่กลุ่มนักศึกษาที่เดินขบวนต่อต้านรัฐบาล

ที่ตั้งของรัฐเชียปัส ฐานที่มั่นของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา

ในทศวรรษ 1970 การบริหารของประธานาธิบดีลุยส์ เอเชเบร์รีอา ไม่เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก เนื่องจากเขาตัดสินใจก้าวเดินผิดทั้งในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ แต่กระนั้น ในทศวรรษนี้เองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงขึ้นเป็นครั้งแรกในกฎหมาย การเลือกตั้งของเม็กซิโก นำไปสู่ความเคลื่อนไหวเพื่อทำให้ระบบการเลือกตั้งที่แต่เดิมเป็นแบบอำนาจ นิยมมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น[62][63] ในขณะที่ราคาน้ำมันขึ้นไปอยู่ที่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์และอัตราดอกเบี้ย ก็ค่อนข้างต่ำนั้น รัฐบาลก็ได้สร้างการลงทุนอย่างมาดในบริษัทน้ำมันที่ตนเองเป็นเจ้าของด้วย ความพยายามจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมา อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมที่มากเกินไปและการจัดการรายได้จากน้ำมันอย่างไม่ถูกต้องนั้นได้นำ ไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อและก่อให้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ. 1982 ในปีนั้น ราคาน้ำมันตกฉับพลัน อัตราดอกเบี้ยถีบตัวสูงขึ้น และรัฐบาลก็ยังผิดนัดชำระหนี้อีกด้วย ประธานาธิบดีมีเกล เด ลา มาดริด ต้องใช้วิธีการลดค่าเงินตราทางอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ยอดคงเหลือในบัญชีปัจจุบันมีเสถียรภาพ

แม้ว่าในระดับเทศบาล นายกเทศมนตรีคนแรกที่ไม่ได้มาจากพรรคปฏิวัติสถาบันจะได้รับการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947[64] แต่ก็ต้องรอจนถึงปี ค.ศ. 1989 ที่ผู้ว่าการรัฐคนแรกที่ไม่ได้มาจากพรรคปฏิวัติสถาบันจะได้รับการเลือกตั้ง เข้าทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลหลายแห่งอ้างว่าในปี ค.ศ. 1988 ทางพรรคได้ทุจริตการเลือกตั้งเพื่อป้องกันไม่ให้กูเวาเตม็อก การ์เดนัส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งระดับชาติครั้งนี้ โดยคะแนนเสียงส่วนมากเป็นของการ์โลส ซาลีนัส ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านขนานใหญ่ในเมืองหลวง[65] ซาลีนัสเริ่มลงมือปฏิรูปเสรีนิยมใหม่ (ทุนนิยม) โดยได้มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ควบคุมเงินเฟ้อ และลงเอยด้วยการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) กับสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งมีผลบังคับในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2537 อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนี้เอง กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา (Ejército Zapatista de Liberación Nacional) ซึ่งมีสมาชิกเป็นชนพื้นเมืองอินเดียนก็ได้เริ่มก่อการกบฏต่อต้านรัฐบาลสหพันธรัฐขึ้นที่รัฐเชียปัส (หนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของประเทศ) ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงดำเนินการเพื่อต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์โดยไม่ใช้ ความรุนแรงต่อมาถึงปัจจุบัน อนึ่ง เนื่องจากเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้ง (ในกระบวนการซึ่งภายหลังถือว่ามีความโปร่งใสที่สุดในประวัติศาสตร์เม็กซิโก นั้น) เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างไม่เต็มใจที่จะลดค่าเงินเปโซ อันจะทำให้เกิดการสูญสิ้นเงินสำรองแห่งชาติอย่างรวดเร็ว และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 หนึ่งเดือนหลังจากที่ประธานาธิบดีเอร์เนสโต เซดีโย ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากอดีตประธานาธิบดีซาลีนัส ก็เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศ

(อดีต) ประธานาธิบดีฟอกซ์และประธานาธิบดีบุชในการลงนามเพื่อการเป็นหุ้นส่วนทางความมั่นคงและความรุ่งเรืองแห่งอเมริกาเหนือ

ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจในระดับมหภาคที่เริ่มโดยประธานาธิบดีเซดีโย เศรษฐกิจก็กระเตื้องขึ้นอย่างรวดเร็วและการเจริญเติบโตก็อยู่ที่เกือบร้อยละ 7 เมื่อถึงสิ้นปี พ.ศ. 2542[66] การปฏิรูปเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเพื่อเพิ่มการเป็นผู้แทนของพรรคในสมัยการ บริหารของเซดีโย รวมทั้งความไม่พอใจพรรคปฏิวัติสถาบันหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ทำให้ ทางพรรคเสียคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภาไปเมื่อปี พ.ศ. 2540 ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 หลังจากที่บริหารประเทศอยู่ 71 ปี พรรคปฏิวัติสถาบันก็ได้พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับบีเซนเต ฟอกซ์ จากพรรคฝ่ายค้านคือ พรรคภารกิจแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2548 ฟอกซ์ได้ลงนามในการเป็นหุ้นส่วนทางความมั่นคงและความรุ่งเรืองแห่งอเมริกาเหนือ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ฐานะของพรรคปฏิวัติสถาบันก็ยิ่งอ่อนแอลงและกลายเป็นพรรคที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับที่ 3 รองจากพรรคภารกิจแห่งชาติและพรรคปฏิวัติประชาธิปไตย ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันนั้น เฟลีเป กัลเดรอน จากพรรคภารกิจแห่งชาติได้ประกาศชัยชนะโดยได้รับคะแนนเสียงเฉือนขาดอันเดรส มานวยล์ โลเปซ โอบราดอร์ ตัวแทนจากพรรคปฏิวัติประชาธิปไตยไปเพียงนิดเดียว อย่างไรก็ตาม โลเปซ โอบราดอร์ได้ประท้วงการเลือกตั้ง และประกาศจัดตั้ง "รัฐบาลทางเลือก"[67]

การเมืองการปกครอง

[แก้]

เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบ สหพันธรัฐ ประกอบด้วยรัฐ (State) 31 รัฐ กับ หนึ่งเขตสหพันธ์ (Federal District) ซึ่งในเขตสหพันธ์นี่เองมีเมืองหลวงของประเทศ คือ เม็กซิโกซิตี (Mexico City) หรือมหานครเม็กซิโก แต่ละรัฐจะมีธรรมนูญของตนองที่เป็นไปตามแบบของรัฐธรรมนูญของประเทศ โดยมีสิทธิที่จะออกรัฐบัญญัติเพื่อจัดเก็บภาษี นอกเหนือไปจากภาษีศุลกากร (Customs Duties) ระหว่างรัฐ การปกครองระดับชาติที่มีทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่าย นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการของรัฐเอง[68]

บริหาร

[แก้]
อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศเม็กซิโก

ประธานาธิบดีของประเทศเม็กซิโกต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติเม็กซิโกโดยการเกิด และบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งต้องเป็นคนเม็กซิโกด้วย โดยมีอายุ 35 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันเลือกตั้ง ต้องอาศัยอยู่ในประเทศเม็กซิโกมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ทั้งยังต้องพำนักอยู่ในประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนวันที่มีการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งนั้นได้ถือคะแนนเสียงของประชาชนรวมกัน ทั้งประเทศ ผู้สมัครคนใดได้คะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งก็จะได้เป็น ประธานาธิบดี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 เมื่อพรรคสถาบันปฏิวัติตั้งขึ้น พรรคการเมืองนี้ก็ได้ผูกขาดตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดมา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศคือ อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2018

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

เม็กซิโกเป็นประเทศสหพันธรัฐที่ประกอบด้วยเสรีรัฐอธิปไตย (estado libre y soberano) 31 แห่ง แต่ละแห่งมีรัฐธรรมนูญ รัฐสภา รวมทั้งฝ่ายตุลาการประจำท้องถิ่นของตนเอง ประชาชนในรัฐสามารถเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐได้โดยตรง ซึ่งจะดำรงตำแหน่งวาระละ 6 ปี และยังสามารถเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปประจำในรัฐสภาของรัฐทุก ๆ 3 ปี[69]

รัฐต่าง ๆ ในเม็กซิโกจะแบ่งเขตการปกครองเป็นเทศบาล (municipio) ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองอย่างเป็นทางการที่เล็กที่สุดของประเทศ แต่ละแห่งมีนายกเทศมนตรีที่ได้รับเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากจากประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้บริหาร[70] เทศบาลขนาดใหญ่บางแห่งอาจแบ่งพื้นที่ย่อยลงไปอีกเป็นเขตเล็ก ๆ ซึ่งมีทั้งแบบกึ่งปกครองตนเองและแบบที่ไม่ได้ปกครองตนเอง

ตามรัฐธรรมนูญแล้ว กรุงเม็กซิโกซิตีในฐานะเมืองหลวงและที่ตั้งอำนาจฝ่ายบริหารของสหพันธรัฐยังมีสถานะเป็นเฟเดอรัลดิสตริกต์หรือ "เขตของสหพันธ์" (distrito federal) ด้วย ทั้งสองถือเป็นหน่วยการปกครองเดียวกัน มีอาณาเขตเดียวกัน และมีลักษณะเป็นเขตการปกครองรูปแบบพิเศษที่ไม่ได้ขึ้นกับรัฐใดรัฐหนึ่งโดย เฉพาะ แต่เป็นของทุกรัฐในประเทศ ดังนั้นจึงมีอำนาจและกฎสำหรับท้องถิ่นค่อนข้างจำกัดกว่ารัฐต่าง ๆ[71] อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เขตสหพันธ์แห่งนี้ก็ได้รับอำนาจในการปกครองตนเองเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันประชาชนในเขตสหพันธ์มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งหัวหน้าคณะรัฐบาลประจำ เขตและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำรัฐสภาของเขตได้โดยตรงเช่นเดียวกับประชาชน ในรัฐต่าง ๆ และถึงแม้เขตสหพันธ์จะไม่มีรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีบทกฎหมายเป็นของตนเอง

เขตการปกครองหลักของเม็กซิโก
รัฐ เมืองหลวงรัฐ รัฐ เมืองหลวงรัฐ รัฐ เมืองหลวงรัฐ รัฐ เมืองหลวงรัฐ
อากวสกาเลียนเตส อากวสกาเลียนเตส  เฟเดอรัลดิสตริกต์ โมเรโลส เกวร์นาบากา ซินาโลอา กูเลียกัน
บาฮากาลิฟอร์เนีย เมฮิกาลิ ดูรังโก ดูรังโก นายาริต เตปิก โซโนรา เอร์โมซิโย
บาฮากาลิฟอร์เนียซูร์ ลาปาซ กัวนาฮัวโต กัวนาฮัวโต นวยโบเลออน มอนเตร์เรย์ ตาบัสโก บิยาเอร์โมซา
กัมเปเช กัมเปเช เกร์เรโร ชิลปันซิงโก วาฮากา วาฮากา ตาเมาลิปัส ซิวดัดบิกโตเรีย
เชียปัส ตุซตลากูติเอร์เรซ อิดัลโก ปาชูกา ปวยบลา ปวยบลา ตลัซกาลา ตลัซกาลา
ชิวาวา ชิวาวา ฮาลิสโก กัวดาลาฮารา เกเรตาโร เกเรตาโร เบรากรุซ ฮาลาปา
โกอาวิลา ซัลติโย เมฮิโก โตลูกา กินตานาโร เชตูมัล ยูกาตัน เมริดา
โกลิมา โกลิมา มิโชอากัน โมเรเลีย ซานลุยส์โปโตซี ซานลุยส์โปโตซี ซากาเตกัส ซากาเตกัส

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

[แก้]

ภาพรวม

[แก้]
ที่ทำการของคณะผู้แทนถาวรประจำเม็กซิโกในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเม็กซิโกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานาธิบดี[72] และบริหารผ่านกระทรวงการต่างประเทศ หลักการของนโยบายต่างประเทศได้รับการยอมรับตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 89 และมาตรา 10 ซึ่งรวมถึง: การเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและความเท่าเทียมกันทางกฎหมายของรัฐ อำนาจอธิปไตยและความเป็นอิสระของพวกเขา แนวโน้มการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศอื่น ๆ การแก้ไขโดยสันติของความขัดแย้งและการส่งเสริมความมั่นคงโดยรวมผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในองค์กรระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 หลักคำสอนของเอสตราดาได้ทำหน้าที่เป็นส่วนเสริมที่สำคัญยิ่งสำหรับหลักธรรมเหล่านี้

เม็กซิโกเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การสหประชาชาติ, องค์การนานารัฐอเมริกัน, องค์การรัฐไอบีโร-อเมริกัน, หน่วยงานสำหรับการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และชุมชนของรัฐลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ในปี 2008 เม็กซิโกบริจาคเงินกว่า 40 ล้านดอลลาร์ให้กับงบประมาณประจำขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกกลุ่มลาตินอเมริกาเพียงรายเดียวขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา นับตั้งแต่เข้าร่วมในปี 1994 จนกระทั่งชิลีได้รับสถานภาพสมาชิกเต็มรูปแบบในปี 2010

เม็กซิโกถือเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค และเป็นสมาชิกของกลุ่มเศรษฐกิจหลัก ๆ เช่น กลุ่ม 8+5 และ กลุ่ม 20 นอกจากนี้ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เม็กซิโกได้แสวงหาการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและวิธีการทำงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากแคนาดา อิตาลี ปากีสถาน และประเทศอื่น ๆ อีก 9 ประเทศซึ่งก่อตั้งกลุ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการว่า Coffee Club[73]

หลังสงครามประกาศอิสรภาพ เม็กซิโกมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาเป็นหลักเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นหุ้นส่วนการค้าที่ใหญ่ที่สุด เม็กซิโกสนับสนุนรัฐบาลคิวบาตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อต้นทศวรรษ 1960 การปฏิวัติซานดินิสตาในนิการากัวในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และกลุ่มปฏิวัติฝ่ายซ้ายในเอลซัลวาดอร์ในช่วงทศวรรษ 1980 ฝ่ายบริหารของเฟลิเป กัลเดรอน (2006-2012) ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมากขึ้น ในขณะที่ประธานาธิบดี เอนริเก เปญญา นิเอโต (2012–2018) เน้นประเด็นทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

[แก้]
ความสัมพันธ์เม็กซิโก – ไทย
Map indicating location of เม็กซิโก and ไทย

เม็กซิโก

ไทย

สหรัฐเม็กซิโกกับราชอาณาจักรไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2518 ไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโกซิตี และเม็กซิโกมีสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ณ กรุงเทพมหานคร รวมถึงมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดระยอง[74]

ประเทศเม็กซิโกเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยในปี 2560 มีมูลค่าการค้ากับประเทศไทยรวม 3,580.36 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวเม็กซิโกเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 27,884 คน[75] โดยชาวเม็กซิโกนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวไทยในรูปแบบของการพักผ่อน, การท่องเที่ยวแบบหมู่คณะ, การท่องเที่ยวสำหรับคู่รัก, การล่องเรือสำราญ, การฝึกโยคะและการปฏิบัติธรรม

ด้านการขนส่งอากาศยาน คาร์โกลักซ์ ได้ทำการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแวะที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงแองเคอเรจปลายทางกัวดาลาฮารา[76]และเส้นทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแวะที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงแองเคอเรจปลายทางเม็กซิโกซิตี

กองทัพ

[แก้]
ทหารจากกองทัพเม็กซิโกร่วมเดินสวนสนามในวันชาติ

กองทัพเม็กซิโกมีสองทัพหลักได้แก่: กองทัพรวมเม็กซิโก (ซึ่งรวมถึงกองทัพอากาศเม็กซิโก) และกองทัพเรือเม็กซิโก กองกำลังเม็กซิโกรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในประเทศ รวมถึงร่วมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้านการออกแบบ การวิจัย และการทดสอบอาวุธ ยานพาหนะ เครื่องบิน เรือเดินสมุทร ระบบป้องกันและอิเล็กทรอนิกส์[77]

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เม็กซิโกได้ปรับปรุงเทคนิคการฝึก การสั่งการทางทหาร โดยได้ดำเนินการเพื่อให้พึ่งพาตนเองมากขึ้นในการจัดหากำลังทหารโดยการออกแบบและการผลิตอาวุธของตนเองเช่น ขีปนาวุธ เครื่องบิน ยานพาหนะ อาวุธหนัก ระบบป้องกัน เกราะ และเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 กองทัพมีบทบาทมากขึ้นในสงครามต่อต้านยาเสพติด[78]

เม็กซิโกมีความสามารถในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่ผลจากสนธิสัญญาตลาเตโลลโกในปี 1968 รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างสันติเท่านั้น ในปี 1970 สถาบันวิจัยนิวเคลียร์แห่งชาติของเม็กซิโกประสบความสำเร็จในการกลั่นยูเรเนียมซึ่งใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในเดือนเมษายน 2010 เม็กซิโกตกลงที่จะส่งมอบยูเรเนียมดังกล่าวให้แก่สหรัฐอเมริกา[79] เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงนามสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

[แก้]

โครงสร้าง

[แก้]
ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเม็กซิโก

ณ เดือนเมษายน 2018 เม็กซิโกมีจีดีพีสูงสุดเป็นอันดับที่ 15 ในโลก[80] (1.15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ตามความเท่าเทียมกันของกำลังซื้อ (2.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) การเติบโตเฉลี่ยของจีดีพีต่อปีอยู่ที่ 2.9% ในปี 2016 และ 2% ในปี 2017 ภาคเกษตรกรรมคิดเป็น 4% ของปริมาณในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่น ๆ คิดเป็น 33% (ส่วนใหญ่เป็นยานยนต์ น้ำมัน และอิเล็กทรอนิกส์) และภาคบริการ (โดยเฉพาะบริการทางการเงินและการท่องเที่ยว) กว่า 63% จีดีพีของเม็กซิโกต่อหัวอยู่ที่ 18,714.05 ดอลลาร์สหรัฐธนาคารโลกรายงานในปี 2009[81] ว่ารายได้รวมของประเทศในด้านอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดนั้นสูงเป็นอันดับสองในลาตินอเมริกา รองจากบราซิลที่ 1,830.392 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนำไปสู่รายได้ต่อหัวสูงสุดในภูมิภาคที่ 15,311 ดอลลาร์ เม็กซิโกได้รับการยอมรับในฐานะประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หลังจากการชะลอตัวในปี 2001 เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวและเติบโตขึ้น 4.2, 3.0 และ 4.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2004, และภายในปี 2050 เม็กซิโกอาจกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับห้าหรือเจ็ดของโลก[82]

แม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งจะจัดเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หรือประเทศชนชั้นกลาง[83] สภาแห่งชาติของเม็กซิโกเพื่อการประเมินนโยบายการพัฒนาสังคม (CONEVAL) ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบในการวัดผลของประเทศ รายงานว่าประชากรของเม็กซิโกส่วนใหญ่ประสบกับความยากจน ตามรายงานของสภาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2010 (ปีที่ CONEVAL ตีพิมพ์รายงานความยากจนทั่วประเทศฉบับแรก)[84] สัดส่วนของชาวเม็กซิโกที่ประสบความยากจนเพิ่มขึ้นจาก 18%–19% เป็น 46% (52 ล้านคน) เป็นผลมาจากปัญหาสังคมที่เรื้อรังมานาน เช่น การศึกษา การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ บริการที่อยู่อาศัยและสินค้า ประกันสังคม ฯลฯ นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าเปอร์เซ็นต์ของประชากรยากจนของเม็กซิโกนั้นสูงกว่าอัตราที่รายงานโดยแนวความยากจนระหว่างประเทศของธนาคารโลกประมาณ 40 เท่า

เม็กซิโกเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์มากที่สุดในประเทศแถบอเมริกาเหนือ[85] รถยนต์ชื่อดังในกลุ่ม "บิ๊กทรี" (เจนเนอรัล มอเตอร์ส ฟอร์ด และไครสเลอร์) เปิดดำเนินการในเม็กซิโกตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 ขณะที่โฟล์คสวาเกนและนิสสันสร้างโรงงานขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960การขยายตัวของภาคส่วนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2014 เพียงปีเดียว มีการลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนกันยายน 2016 เกียมอเตอร์เปิดโรงงานมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ในเมืองนูโว เลออง และอาวดี้ได้เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองปวยบลาในปีเดียวกัน ปัจจุบันเม็กซิโกยังมีโรงงานของ BMW, Mercedes-Benz และ Nissan ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

พลังงาน

[แก้]
เขื่อน El Cajón ในรัฐนายาริต ประเทศเม็กซิโก

การผลิตพลังงานในเม็กซิโกได้รับการจัดการโดยองค์กร Federal Commission of Electricity and Pemex ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐ Pemex บริษัทมหาชนที่รับผิดชอบด้านการสำรวจ การสกัด การขนส่งและการตลาดของน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนการกลั่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยทำเงินได้ 86 เหรียญพันล้านในการขายต่อปี เม็กซิโกเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณ 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 1980 การส่งออกน้ำมันคิดเป็น 61.6% ของการส่งออกทั้งหมด[86]

โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเม็กซิโกคือเขื่อน Manuel Moreno Torres ขนาด 2,400 เมกะวัตต์ ในเมืองชิโคอาเซน รัฐเชียปัส ในแม่น้ำกรีฆาลวา ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีประสิทธิผลมากเป็นอันดับสี่ของโลก เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์รวมของประเทศอยู่ที่ประมาณ 5kWh/m2 ต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ 50 เท่า ปัจจุบัน มีแผงโซลาร์เทอร์มอลพาเนลมากกว่า 1 ล้านตารางเมตรติดตั้งในเม็กซิโก ในขณะที่ในปี 2005 มีเซลล์แสงอาทิตย์ (โฟโต-โวลตาอิก) อยู่ที่ 115,000 ตารางเมตร คาดว่าในปี 2012 จะมีการติดตั้งแผงระบายความร้อนด้วยแสงอาทิตย์ 1.8 ล้านตารางเมตร[87]

โครงการชื่อ SEGH-CFE 1 ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเปอร์โต ลิเบอร์ตาด โซโนรา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโก จะมีกำลังการผลิต 46.8 เมกะวัตต์จากแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 187,200 แผงเมื่อแล้วเสร็จในปี 2013 ไฟฟ้าทั้งหมดจะถูกขายโดยตรงและดูดซับเข้าสู่ระบบส่งของยูทิลิตี้เพื่อจำหน่ายทั่วทั้งเครือข่ายที่มีอยู่ ที่กำลังการผลิตติดตั้ง 46.8 MWp เมื่อสร้างเสร็จ โครงการนี้จะเป็นโครงการสาธารณูปโภคโครงการแรกในเม็กซิโก และเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกา

การท่องเที่ยว

[แก้]
กังกุน หนึ่งในเมืองชายฝั่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในทวีปอเมริกา

เมื่อปี 2017 เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก และมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับที่ 15 ของโลก ซึ่งสูงที่สุดในละตินอเมริกาเช่นกัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางมายังเม็กซิโกจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ตามมาด้วยยุโรปและเอเชีย ในรายงานความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวปี 2017 เม็กซิโกอยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 ในทวีปอเมริกา[88] แนวชายฝั่งของเม็กซิโกมีชายหาดหลายแห่งที่ผู้อาบแดดและผู้มาเยือนคนอื่น ๆ มักแวะเวียนมา ตามกฎหมายของประเทศ ความสมบูรณ์ของแนวชายฝั่งอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของรัฐบาลกลาง กล่าวคือ ชายหาดทั้งหมดในประเทศเป็นสาธารณะ บนคาบสมุทร Yucatán หนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชายหาดคือเมืองตากอากาศของ Cancun โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยในช่วงปิดเทอมฤดูใบไม้ผลิ[89]

โครงสร้างพื้นฐาน

[แก้]

คมนาคม และ โทรคมนาคม

[แก้]
สะพาน Baluarte เป็นสะพานลอยฟ้าที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกา

เครือข่ายถนนในเม็กซิโกกว้างขวางและครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ[90] โครงข่ายถนนในเม็กซิโกมีระยะทาง 366,095 กม. (227,481 ไมล์) ซึ่ง 116,802 กม. (72,577 ไมล์) เป็นทางลาดยาง ในจำนวนนี้ 10,474 กม. (6,508 ไมล์) เป็นทางด่วนหลายช่องทาง: 9,544 กม. (5,930 ไมล์) เป็นทางหลวงสี่ช่องจราจร และส่วนที่เหลือมี 6 ช่องจราจรขึ้นไป

เริ่มตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศลาตินอเมริกากลุ่มแรกที่ส่งเสริมการพัฒนาทางรถไฟ และเครือข่ายครอบคลุม 30,952 กิโลเมตร (19,233 ไมล์) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของเม็กซิโกได้เสนอเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะขนส่งผู้โดยสารจากเม็กซิโกซิตีไปยังกัวดาลาฮารา รัฐฮาลิสโก รถไฟซึ่งจะเดินทางด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (190 ไมล์ต่อชั่วโมง) จะช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางจากเม็กซิโกซิตีไปยังกัวดาลาฮาราได้ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง[91] โครงการทั้งหมดคาดว่าจะมีมูลค่า 240 พันล้านเปโซ หรือประมาณ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังได้รับเงินร่วมกันจากรัฐบาลเม็กซิโกและภาคเอกชนในท้องถิ่น[92] รวมถึงชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลก คาร์ลอส ซาลิม มหาเศรษฐีธุรกิจมหาเศรษฐีของเม็กซิโก รัฐบาลของรัฐยูกาตังยังให้เงินสนับสนุนในการสร้างเส้นทางความเร็วสูงที่เชื่อมเมืองโกซูเมลกับเมรีดาและชิเชนอิตซาและแคนคูน

เม็กซิโกมีสนามบิน 233 แห่งพร้อมรันเวย์ สนามบินนานาชาติเม็กซิโกซิตียังคงเป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดในลาตินอเมริกาและเป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดอันดับที่ 36 ของโลก ซึ่งขนส่งผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

[แก้]

มหาวิทยาลัยอิสระแห่งชาติของเม็กซิโกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1910 ได้กลายเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่สำคัญที่สุดในเม็กซิโก มีชื่อเสียงในด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์[93] สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งเม็กซิโกได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อประสานความพยายามทางวิทยาศาสตร์ระหว่างนักวิชาการ ในปี 1995 นักเคมีชาวเม็กซิโก มาริโอ โมลินา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับ Paul J. Crutzen และ F. Sherwood Rowland สำหรับผลงานด้านเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการก่อตัวและการสลายตัวของโอโซน โมลินากลายเป็นพลเมืองเม็กซิโกคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์[94]

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โครงการทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดที่พัฒนาขึ้นในเม็กซิโกคือการสร้างกล้องโทรทรรศน์มิลลิเมตรขนาดใหญ่ (Gran Telescopio Milimétrico, GMT) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์รูรับแสงเดี่ยวที่ใหญ่และละเอียดอ่อนที่สุดในโลกในช่วงความถี่ ได้รับการออกแบบเพื่อสังเกตพื้นที่ของอวกาศที่บดบังด้วยฝุ่นดาวฤกษ์ เม็กซิโกอยู่ในอันดับที่ 55 ในดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2020 เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 56 ในปี 2019

การศึกษา

[แก้]

ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารอ่านและเขียนได้ 92.2% ของประชากรทั้งหมด (ชาย 94% หญิง 90.5%) โดยมีมหาวิทยาลัยของรัฐที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดคือ National Autonomous University of Mexico (NAUM) ซึ่งก่อตั้งในปี 2094 (1551) และ มีนักศึกษาได้ 269,000 คน

สาธารณสุข

[แก้]

ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เม็กซิโกเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านด้านสุขภาพของประชากร โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ของเม็กซิโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ได้ว่าได้มาตรฐานสากล แต่ชุมชนในชนบทยังขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูง[95] ทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่เหล่านั้นต้องเดินทางไปยังเขตเมืองที่ใกล้ที่สุดเพื่อรับการรักษาพยาบาล[96]

สถาบันที่ได้รับทุนจากรัฐ เช่น สถาบันประกันสังคมเม็กซิโก (IMSS) และสถาบันประกันสังคมและบริการสำหรับคนงานของรัฐ (ISSSTE) มีบทบาทสำคัญในด้านสุขภาพและการประกันสังคม บริการด้านสุขภาพของเอกชนมีความสำคัญมากและคิดเป็น 13% ของหน่วยแพทย์ทั้งหมดในประเทศ การฝึกอบรมด้านการแพทย์ส่วนใหญ่ดำเนินการในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านอาชีวศึกษาหรือการฝึกงาน มหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งในเม็กซิโก เช่น University of Guadalajara ได้ลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อรับและฝึกอบรมนักศึกษาอเมริกันด้านการแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลในสถาบันเอกชนและยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ในเม็กซิโกนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของพันธมิตรทางเศรษฐกิจในอเมริกาเหนือ

ประชากรศาสตร์

[แก้]

ตลอดศตวรรษที่ 19 ประชากรของเม็กซิโกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่ในช่วงทศวรรษ 1910 ถึง 1921 การปฏิวัติเม็กซิโกเกิดขึ้นและตามมาด้วยการสูญเสียประชากรจำนวนมาก อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากระหว่างทศวรรษที่ 1930 และ 1980 เมื่อประเทศจดทะเบียนอัตราการเติบโตมากกว่า 3% (ค.ศ. 1950-1980) ประชากรเม็กซิโกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในยี่สิบปี และในอัตรานั้น คาดว่าภายในปี 2000 จะมีชาวเม็กซิโก 120 ล้านคน อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 36 ปี (ในปี 1895) เป็น 72 ปี (ในปี 2000) ตามการประมาณโดยสถาบันภูมิศาสตร์และสถิติแห่งชาติของเม็กซิโก ณ ปี 2017 เม็กซิโกมีประชากร 123.5 ล้านคน ทำให้เป็นประเทศที่พูดภาษาสเปนที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ระหว่างปี 2005 ถึง 2008 ประชากรเม็กซิโกเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ย 1.70% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 1.16% ต่อปีระหว่างปี 2000 ถึง 2005

แม้ว่าเม็กซิโกจะเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาก แต่การวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มักไม่ได้รับความสำคัญจากรัฐบาล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันในการนับชนเผ่าพื้นเมือง โดยมีตัวเลขที่แตกต่างกันมากตั้งแต่ 6.1% ถึง 23% ของประชากรในประเทศ ไม่นานมานี้รัฐบาลเม็กซิโกได้เริ่มดำเนินการสำรวจที่พิจารณากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศ เช่น ชาวเม็กซิโกเชื้อสายแอฟริกาซึ่งมีจำนวนถึง 2% ของประชากรเม็กซิโก หรือชาวเม็กซิโกผิวขาวซึ่งมีจำนวน ถึง 47% ของประชากรเม็กซิโก และยังมีชนกลุ่มน้อยในเม็กซิโกเช่นเอเชียและตะวันออกกลางด้วย (ประมาณ 1%)[97][98][99]

ภาษา

[แก้]

ภาษาสเปนเป็นภาษาประจำชาติที่พูดโดยประชากรส่วนใหญ่ ทำให้เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีประชากรพูดภาษาสเปนมากที่สุดในโลก[100] ภาษาสเปนแบบเม็กซิโกหมายถึงภาษาที่ใช้พูดในประเทศต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคในด้านเสียง โครงสร้าง และคำศัพท์[101] โดยทั่วไปแล้ว ภาษาสเปนแบบเม็กซิโกไม่ได้แยกแยะการออกเสียงในตัวอักษร s และ z เช่นเดียวกับ c เมื่อนำหน้าสระ e และ i ซึ่งต่างจากภาษาสเปนในกลุ่มประเทศคาบสมุทร ตัวอักษร b และ v มีการออกเสียงเหมือนกันเช่นกัน นอกจากนี้ การใช้ vos ซึ่งเป็นสรรพนามเอกพจน์บุรุษที่ 2 ซึ่งพบได้ในหลายพันธุ์ในลาตินอเมริกา ถูกแทนที่ด้วย tú; ในขณะที่ vosotros สรรพนามพหูพจน์บุรุษที่สอง ไม่มีการการใช้งานและถูกแทนที่ด้วย ustedes ในบริบทที่เป็นลายลักษณ์อักษร Spanish Royal Academy เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่เป็นแนวทางหลักในการสะกดคำ ยกเว้นคำที่มาจากภาษา Amerindian ที่คงไว้ซึ่งสัทศาสตร์ดั้งเดิม เช่น cenzontle แทน sinzontle และ México ไม่ใช่ Méjico[102]

รัฐบาลกลางรับรองกลุ่มภาษาศาสตร์หกสิบแปดกลุ่มและภาษาพื้นเมือง 364 สายพันธุ์ให้มีการใช้ได้ในประเทศ[103] และคาดว่าประชากรประมาณ 8.3 ล้านคนพูดภาษาเหล่านี้ โดยที่ Nahuatl เป็นภาษาที่พูดกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดโดยมากกว่า 1.7 ล้านคน รองลงมาคือ Yucatec Maya ที่ใช้เป็นประจำทุกวันโดยประชากรเกือบ 850,000 คน Tzeltal และ Tzotzil ซึ่งเป็นภาษามายันสองรูปแบบ มีคนพูดประมาณครึ่งล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐเชียปัสทางตอนใต้ Mixtec และ Zapotec มีเจ้าของภาษาประมาณ 500,000 คน เป็นกลุ่มภาษาที่รู้จักกันดีอีกสองกลุ่ม นับตั้งแต่ก่อตั้งในเดือนมีนาคม 2003 สถาบันภาษาพื้นเมืองแห่งชาติมีหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องการใช้ภาษาพื้นเมืองของประเทศ ผ่านกฎหมายทั่วไปว่าด้วยสิทธิทางภาษาของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งรับรองโดยทางนิตินัยว่าเป็น "ภาษาประจำชาติ" ด้วยสถานะเท่ากับภาษาสเปน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ชนพื้นเมืองมักเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างเหมาะสม เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ ตลอดจนระบบยุติธรรม เนื่องจากภาษาสเปนเป็นภาษาที่มีบทบาทหลักและได้รับการยอมรับในทางพฤตินัยมากกว่าภาษาท้องถิ่นดังกล่าว

ศาสนา

[แก้]

การสำรวจสำมะโนประชากรปี 2020 โดย Instituto Nacional de Estadística y Geografía (สถาบันสถิติและภูมิศาสตร์แห่งชาติ) กำหนดให้นิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาหลัก โดยมีประชากร 77.7% (97,864,218) ในขณะที่ 11.2% (14,095,307) อยู่ในนิกายโปรเตสแตนต์/ผู้เผยแพร่ศาสนา —รวมถึงคริสเตียนอื่น ๆ (6,778,435), Evangelicals (2,387,133), Pentecostals (1,179,415), พยานพระยะโฮวา (1,530,909), และสมาชิกของคริสตจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (337,998); ในขณะที่ 8.1% (9,488,671) ของจำนวนประชากรประกาศว่าตนเองไม่มีศาสนา[104]

ชาวคาทอลิกจำนวน 97,864,218 คนของเม็กซิโกถือเป็นชุมชนคาทอลิกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากบราซิล 47% เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนเหล่านี้ไปโบสถ์ทุกสัปดาห์[105] วันฉลองของ Our Lady of Guadalupe ซึ่งเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเม็กซิโก มีการเฉลิมฉลองในวันที่ 12 ธันวาคม และถือเป็นวันหยุดทางศาสนาที่สำคัญที่สุดในประเทศของชาวเม็กซิโก[106]

เมืองใหญ่

[แก้]
อันดับที่ เมือง รัฐ ประชากร ภาค
(ไม่เป็นทางการ)
1 เม็กซิโกซิตี เฟเดอรัลดิสตริกต์ 19.23 ล้านคน ตะวันออกเฉียงใต้
2 กัวดาลาฮารา ฮาลิสโก 4.10 ล้านคน ตะวันตก
3 มอนเตร์เรย์ นวยโวเลออง 3.66 ล้านคน ตะวันออกเฉียงเหนือ
4 ปวยบลา ปวยบลา 2.11 ล้านคน ตะวันออก
5 โตลูกา เม็กซิโก 1.61 ล้านคน กลางตอนใต้
6 ตีฮัวนา บาฮากาลิฟอร์เนีย 1.48 ล้านคน ตะวันตกเฉียงเหนือ
7 เลออง กวานาวโต 1.43 ล้านคน กลาง
8 ซิวดัดฮัวเรซ ชีวาวา 1.31 ล้านคน ตะวันตกเฉียงเหนือ
9 ตอร์เรออง โกอาวีลา 1.11 ล้านคน ตะวันออกเฉียงเหนือ
10 ซันลุยส์โปโตซี ซันลุยส์โปโตซี 0.96 ล้านคน กลาง
11 เกเรตาโร เกเรตาโร 0.92 ล้านคน กลาง
12 เมรีดา ยูกาตัง 0.90 ล้านคน ตะวันออกเฉียงใต้
13 เม็กซิกาลี บาฮากาลิฟอร์เนีย 0.85 ล้านคน ตะวันตกเฉียงเหนือ
14 อากวัสกาเลียนเตส อากวัสกาเลียนเตส 0.81 ล้านคน กลาง
15 ตัมปีโก ตาเมาลีปัส 0.80 ล้านคน ตะวันออกเฉียงเหนือ
16 กูเอร์นาวากา โมเรโลส 0.79 ล้านคน กลาง
17 อากาปุลโก เกร์เรโร 0.79 ล้านคน ใต้
18 ชีวาวา ชีวาวา 0.78 ล้านคน ตะวันออกเฉียงเหนือ
19 กูเลียกัง ซีนาโลอา 0.76 ล้านคน ตะวันตกเฉียงเหนือ

วัฒนธรรม

[แก้]

วัฒนธรรมเม็กซิโกสะท้อนถึงความซับซ้อนของประวัติศาสตร์ของประเทศผ่านการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมพื้นเมืองและวัฒนธรรมของสเปน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการปกครองอาณานิคมของเม็กซิโก 300 ปีของสเปน องค์ประกอบทางวัฒนธรรมภายนอกได้ถูกรวมเข้ากับวัฒนธรรมเม็กซิโกเมื่อเวลาผ่านไป ยุค Porfirian (el Porfiriato) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 และทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 โดดเด่นด้วยความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสันติภาพ หลังจากสี่ทศวรรษของความไม่สงบและสงครามกลางเมือง เม็กซิโกได้มีการพัฒนาปรัชญาและศิลปะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีดิอาซเอง นับตั้งแต่นั้นมา เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมผสมผสาน ซึ่งมีองค์ประกอบจากวัฒนธรรมชนพื้นเมือง (เช่น Amerindian) เป็นแกนหลัก

อาหาร

[แก้]
ตาโก อาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศเม็กซิโก

อาหารเม็กซิโกนั้นมีความหลากหลายและได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก[107][108][109][110] โดยได้รัการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้[111] อาหารเม็กซิโกมีประวัติยาวนานมาตั้งแแต่สมัยอาณาจักรมายาหรือย้อนไปเมื่อ 9,000 ปีที่แล้ว จากการค้นคว้าพบว่า อาหารเม็กซิโกมีกรรมวิธีการปรุงและเทคนิคที่ซับซ้อนไม่แพ้วัฒนธรรมอาหารที่เก่าแก่อย่างจีน อินเดีย หรือ ญี่ปุ่น[112] นอกจากวัตถุดิบที่นำมาใช้จะหลากหลายอันเนื่องจากการผสมผสานของหลาย ๆ ประเทศที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือเม็กซิโก อาหารเม็กซิโกยังมีสูตรที่หลากหลายตามความแตกต่างใน 6 ภูมิภาคของเม็กซิโก ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และชนชาติพันธุ์ เช่น ทางภาคเหนือของเม็กซิโก ส่วนมากประชากรนิยมรับประทานเนื้อวัว แพะ และ นกกระจอกเทศ ในขณะที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโกซึ่งจรดกับทะเลแคริบเบียน นิยมเมนูจากปลา[113] เมนูผักรสเผ็ดและไก่ เป็นต้น

อาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ ตาโก (Taco)[114][115] หรือบางคนเรียกว่าเป็นแฮมเบอร์เกอร์ของทวีปอเมริกาใต้ เป็นการนำแผ่นแป้งทาโก้หรือบางครั้งเรียกว่าแป้งตอร์ติยา ซึ่งทำจากข้าวโพดและแป้งสาลี มีสองประเภทคือแป้งนุ่มและแป้งกรอบ มาห่อไส้ด้านในซึ่งประกอบด้วยไก่ เนื้อ และหมู เสริมด้วยมะเขือเทศ ข้าวโพด หอมแดง ผักชี กะหล่ำปลี หรือ อาโวคาโด ทานกับซอสหลากหลายชนิด แต่ที่นิยมมากที่สุดคือซอสเผ็ด

เมนูอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงเช่น Burritos (บูร์ริโต) คือแป้งตอร์ติยา นำมาม้วนเนื้อสัตว์ ข้าวสไตล์เม็กซิโก ถั่วแดงบด และผักกะหล่ำทานกับซอส และ เกซาติยา (Quesadilla) หรือ พิซซาของอเมริกาใต้ คือการนำแผ่นแป้งตอร์ติยาไปอุ่นให้ร้อนในกระทะ จากนั้นเติมเนื้อสัตว์ที่ชอบ ตามด้วยชีส แล้วปิดทับด้วยตอร์ติยาอีกแผ่น อุ่นร้อนจนชีสละลาย เสิร์ฟด้วยการตัดเป็นสามเหลี่ยมเหมือนพิซซ่านิยมทานในทุกภูมิภาคของประเทศเม็กซิโก

ดนตรี

[แก้]

เพลงของเม็กซิโกมีความหลากหลายมาก ได้รับอิทธิพลจากความหลากหลายของวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุดทั้งจากทวีปอเมริกาและประเทศสเปน ดนตรีเป็นการแสดงออกถึงชาตินิยมของชาวเม็กซิโกเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 รากฐานของดนตรีเม็กซิโกมาจากชนพื้นเมืองและมรดกทางวัฒนธรรม[116] อย่างไรก็ตามดนตรีร่วมสมัยแบบดั้งเดิมของเม็กซิโกส่วนใหญ่เขียนขึ้นในระหว่างและหลังยุคอาณานิคมของสเปนโดยใช้เครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากโลกเก่าหลายชิ้น[117]

ชาวเม็กซิโกและชาวอินเดียนแดงในอเมริกากลางให้ความสำคัญกับดนตรีบรรเลงมากกว่าการร้องเพลงและดนตรีดั้งเดิมส่วนใหญ่จากภูมิภาคนี้แสดงโดยวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีหลายชนิด ดนตรีการเต้นรำและพิธีกรรมทางศาสนามีความเกี่ยวพันกันในเม็กซิโกและอเมริกากลางและดนตรีประกอบไปด้วยการเต้นรำแบบกลุ่มและการเต้นรำเดี่ยว[118] ดนตรีพื้นเมืองเม็กซิโกและอเมริกากลางอาจแบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ทางภูมิศาสตร์หลัก: เม็กซิโกตะวันตกเฉียงเหนือ, เม็กซิโกกลาง, พื้นที่มายาและชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก[119]

วรรณคดี

[แก้]
Nezahualcoyotl นักรบและกวีนิพนธ์ผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 16

วรรณคดีเม็กซิโกมีต้นกำเนิดมาจากการตั้งถิ่นฐานของชนพื้นเมืองในมีโซอเมริกา กวีนิพนธ์มีประเพณีทางวัฒนธรรมอันยาวนานในเม็กซิโกยุคพรีโคลัมเบียน โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ ฆราวาสและศาสนา กวียุคพรีโคลัมเบียนที่รู้จักกันดีที่สุดคือ Nezahualcoyotl วรรณคดีในช่วงศตวรรษที่ 16 ส่วนใหญ่ประกอบด้วยประวัติศาสตร์การพิชิตสเปน และนักเขียนส่วนใหญ่ในเวลานี้มาจากสเปน หนังสือประวัติการพิชิตเม็กซิโกของ Bernal Díaz del Castillo ยังคงเป็นที่นิยมในหมู่นักอ่านกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และยังมีกวีชื่อดังที่เกิดในสเปน เบร์นาร์โด เด บัลบูเอนา เป็นผู้ยกย่องคุณธรรมของเม็กซิโกในหนังสือชื่อ Grandeza mexicana (ความยิ่งใหญ่ของชาวเม็กซิโก) (ปี 1604); ฟรันซิสโก เด เตร์ราซัส เป็นกวีชาวเม็กซิโกคนแรกที่มีชื่อเสียงในแง่วรรณคดีบาโรกเจริญรุ่งเรืองในศตวรรษที่ 17; และนักเขียนที่โดดเด่นที่สุดในยุคดังกล่าวคือ ฆวน รุยซ์ เด อาลาร์กอน และ ฆัวนา อิเนส เด ลา กรุซ ซอร์ฆัวนา[120][121][122][123]

เทศกาล

[แก้]
เทศกาลวันแห่งคนตาย

ประเทศเม็กซิโกมีเทศกาลที่สำคัญมากมาย แตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาคและวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่เทศกาลที่มื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกได้แก่ "วันแห่งคนตาย" (Día de Muertos)[124] โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ของทุกปี[125] เป็นเทศกาลต่อจากเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งฉลองให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว[126] โดยจะมีพิธีเชิญดวงวิญญาณของคนสนิทให้มาเยี่ยมครอบครัว โดยผู้มาร่วมงานจะแต่งตัวเป็นผีคล้ายเทศกาลฮาโลวีน ส่วนบรรดาร้านค้าและบ้านเรือนก็มีการประดับตกแต่งด้วยตุ๊กตาโครงกระดูกและหัวกะโหลก หรือแม้แต่อาหารที่ขายช่วงนี้ยังถูกออกแบบให้เป็นหัวกะโหลกเช่นเดียวกัน บางครั้งมีการเรียกวันหยุดนี้ว่า Día de los Muertos[127]

กีฬา

[แก้]
ฟุตบอลทีมชาติเม็กซิโกในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018

กีฬายอดนิยมของเม็กซิโกคือฟุตบอล เป็นที่เชื่อกันว่าฟุตบอลถูกนำเผยแพร่ใช้ในเม็กซิโกโดยคนงานเหมืองคอร์นิชเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ใน ค.ศ. 1902 ลีกการแข่งขันได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยการร่วมก่อตั้งจาก 5 สโมสร โดยได้รับอิทธิพลจากสเปนและอังกฤษอย่างเข้มแข็ง สโมสรชั้นนำของเม็กซิโก ได้แก่ กลุบอาเมริกา[128], กัวดาลาฮารา และโตลูกา โดยอันโตนิโอ การ์บาฆาลเป็นผู้เล่นเม็กซิโกคนแรกที่ลงเล่นฟุตบอลโลกครบ 5 สมัย และฮูโก ซานเชซได้รับเลือกเป็นผู้เล่นภูมิภาคคอนคาเคฟที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 และ ราฟาเอล มาร์เกซ เป็นชาวเม็กซิโกเพียงคนเดียวที่คว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้

ฟุตบอลทีมชาติเม็กซิโกเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้วกว่า 16 สมัย มากที่สุดชาติหนึ่งในโลก[129] มีผลงานที่ดีที่สุดคือการเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายสองครั้ง ในปี 1970 และ 1986 ซึ่งทั้งสองครั้งนั้นพวกเขาเป็นเจ้าภาพ ประเทศเม็กซิโกเคยเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมาแล้วสองสมัย และในฟุตบอลโลก 2026 พวกเขาจะได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับอีกสองชาติคือประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา โดยเม็กซิโกจะถือเป็นชาติแรกในโลกที่ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 3 สมัย

กีฬาที่ได้รับความนิยมรองลงมาได้แก่ เบสบอส ลีกเบสบอลอาชีพของเม็กซิโกมีชื่อว่า Liga Mexicana de Beisbol แม้ว่าโดยปกติแล้วจะไม่แข็งแกร่งเท่าสหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบแคริบเบียน และญี่ปุ่น แต่เม็กซิโกยังประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์เบสบอลระดับนานาชาติมาหลายครั้ง[130][131] โดยได้รับรางวัลแคริบเบียนซีรีส์ 9 สมัย เม็กซิโกมีผู้เล่นหลายคนที่ลงเล่นกับทีมในเมเจอร์ลีกของสหรัฐอเมริกา

เม็กซิโกยังเป็นมหาอำนาจสากลในกีฬามวยสากลอาชีพ โดยได้เหรียญจากกีฬาโอลิมปิกในการชกมวยจำนวน 13 เหรียญ[132]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Censo Población y Vivienda 2020". www.inegi.org.mx. INEGI. สืบค้นเมื่อ 26 January 2021.
  2. "Political Constitution of the United Mexican States, title 2, article 40" (PDF). MX Q: SCJN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 11 May 2011. สืบค้นเมื่อ 14 August 2010. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  3. Rafaela Castro (2000). Chicano Folklore: A Guide to the Folktales, Traditions, Rituals and Religious Practices of Mexican Americans. Oxford University Press. p. 83. ISBN 978-0-19-514639-4.
  4. "Surface water and surface water change". Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD). สืบค้นเมื่อ 11 October 2020.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "IMF DataMapper". www.imf.org. สืบค้นเมื่อ 27 November 2022.
  6. Inequality - Income inequality - OECD Data. OECD. สืบค้นเมื่อ 12 August 2021.
  7. "Human Development Report 2021-2022" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 15 December 2020. สืบค้นเมื่อ 15 December 2020.
  8. INALI (13 March 2003). "General Law of Linguistic Rights of the Indigenous Peoples" (PDF). สืบค้นเมื่อ 7 November 2010.
  9. "Catálogo de las lenguas indígenas nacionales: Variantes lingüísticas de México con sus autodenominaciones y referencias geoestadísticas". Inali.gob.mx. สืบค้นเมื่อ 18 July 2014.
  10. Merriam-Webster's Geographical Dictionary, 3rd ed. Springfield, MA: Merriam-Webster, Inc.; p. 733. (อังกฤษ)
  11. "Mexico เก็บถาวร 2001-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". The Columbia Encyclopedia, 6th ed. 2001–6. New York: Columbia University Press. (อังกฤษ)
  12. "Mexico — Geography". CIA The World Factbook. CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-29. สืบค้นเมื่อ 2007-10-03. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help) (อังกฤษ)
  13. "Censo Población y Vivienda 2020". www.inegi.org.mx.
  14. "Countries with most Spanish speakers 2020". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  15. "Spanish Speaking Countries 2021". worldpopulationreview.com.
  16. "Mexico City Population 2021 (Demographics, Maps, Graphs)". worldpopulationreview.com.
  17. MapScaping. "Mapped: The 6 cradles of civilization". MapScaping (ภาษาอังกฤษ).
  18. ARBAGI, MICHAEL (2011). "THE CATHOLIC CHURCH AND THE PRESERVATION OF MESOAMERICAN ARCHIVES: AN ASSESSMENT". Archival Issues. 33 (2): 112–120. ISSN 1067-4993.
  19. Werner, Michael (2015-05-11). Concise Encyclopedia of Mexico (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-135-97370-4.
  20. "History of Mexico". history (ภาษาอังกฤษ).
  21. Stargardter, Anahi Rama, Gabriel (2012-06-28). "Chronology: Checkered history of the PRI's rule in Mexico". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.
  22. Whitehead, Laurence (2007). "An elusive transition: The slow motion demise of authoritarian dominant party rule in Mexico". Democratization. 2 (3): 246–269.
  23. Padgett, L. Vincent (1957). "Mexico's One-Party System: A Re-Evaluation". The American Political Science Review. 51 (4): 995–1008
  24. "Mexico's history of one-party rule". Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.
  25. Jones, Halbert. The War has brought Peace to Mexico: World War II and the Consolidation of the Post-Revolutionary State. Albuquerque: University of New Mexico Press 2014.
  26. "Mexico". U.S. Department of State.
  27. "Wayback Machine". web.archive.org. 2017-05-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  28. Nolte, Detlef (2010). "How to compare regional powers: analytical concepts and research topics". Review of International Studies (ภาษาอังกฤษ). 36 (4): 881–901. doi:10.1017/S026021051000135X. ISSN 1469-9044.
  29. https://www.mofa.go.jp/policy/other/bluebook/2006/05.pdf
  30. "Oxford Analytica Store - Free items". web.archive.org. 2007-04-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  31. Bożyk, Paweł (2006). Globalization and the Transformation of Foreign Economic Policy (ภาษาอังกฤษ). Ashgate Publishing, Ltd. ISBN 978-0-7546-4638-9.
  32. Waugh, David (2000). Geography: An Integrated Approach (ภาษาอังกฤษ). Nelson Thornes. ISBN 978-0-17-444706-1.
  33. "Mexico's Long War: Drugs, Crime, and the Cartels". Council on Foreign Relations (ภาษาอังกฤษ).
  34. Centre, UNESCO World Heritage. "Mexico's World Heritage Sites Photographic Exhibition at UN Headquarters". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
  35. Centre, UNESCO World Heritage. "UNESCO World Heritage Centre - World Heritage List". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
  36. "México ocupa el sexto lugar en turismo a nivel mundial". Expansión (ภาษาสเปน). 2018-08-28.
  37. Manuel Aguilar-Moreno. 2006. Libro de bolsillo para los hechos aztecas de la visa, Inc: New York, USA., p. 19. (สเปน)
  38. 38.0 38.1 (สเปน)
  39. "Diccionario Panhispánico de Dudas: la letra "x"". Real Academia Española. (สเปน)
  40. "Diccionario Panhispánico de Dudas: México". Real Academia Española. (สเปน)
  41. "Mexico". Online Dictionary. Merriam-Webster. (อังกฤษ)
  42. Mexico The American Heritage Reference Collection, et al. (อังกฤษ)
  43. Mexico เก็บถาวร 2007-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Columbia Encyclopedia (อังกฤษ)
  44. Nord-Amèrica, in Gran Enciclopèdia Catalana เก็บถาวร 2016-05-15 ที่ Portuguese Web Archive (กาตาลา)
  45. "Geopolitics Oil and Natural Gas", by Alan Larson, US Undersecretary for Economic, Business, and Agricultural Affairs เก็บถาวร 2008-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  46. "Transportation and Security in North America", NACTS North American Center for Transborder Studies, University of Arizona เก็บถาวร 2010-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  47. 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 47.5 "Mexico — Geography". CIA The World Factbook. CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-29. สืบค้นเมื่อ 2009-07-07. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help) (อังกฤษ)
  48. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากล เล่ม 2 (อักษร M-Z) ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.
  49. México, estructuras, política, económica y social (สเปน)
  50. Smithsonian Institution. "Popocatépetl" เก็บถาวร 2010-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. in Global Volcanism Program. Retrieved on 2009-07-07. (อังกฤษ)
  51. Smithsonian Institution. "Iztaccíhuatl" เก็บถาวร 2009-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. in Global Volcanism Program. Retrieved on 2009-07-07. (อังกฤษ)
  52. Smithsonian Institution. "Nevado de Toluca". in Global Volcanism Program. Retrieved on 2009-07-07. (อังกฤษ)
  53. "Mexico Topography" (อังกฤษ)
  54. "Country Comparison — Waterways". CIA The World Factbook. CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-04. สืบค้นเมื่อ 2009-07-07. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help) (อังกฤษ)
  55. https://web.archive.org/web/20071007045210/http://cruzadabosquesagua.semarnat.gob.mx/iii.html
  56. https://web.archive.org/web/20071007013648/http://oregon.conevyt.org.mx/actividades/diversidad/lectura_biodiversidad.htm
  57. Hayden, Cori. 2003. When Nature Goes Public: The Making and Unmaking of Bioproscpecting in Mexico. Princeton University Press.
  58. "Miguel Hidalgo Biography". Catholic Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ 2007-09-30.
  59. "The Mexican Miracle: 1940–1968". World History from 1500. Emayzine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2007. สืบค้นเมื่อ 30 September 2007. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  60. Krauze, Enrique (January–February 2006). "Furthering Democracy in Mexico". Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2006. สืบค้นเมื่อ 7 October 2007. {{cite magazine}}: Cite magazine ต้องการ |magazine= (help)
  61. Elena Poniatowska (1975). Massacre in Mexico. Viking, New York. ISBN 978-0-8262-0817-0.
  62. Schedler, Andreas (2006). Electoral Authoritarianism: The Dynamics of Unfree Competition. L. Rienner Publishers. ISBN 978-1-58826-440-4.
  63. Crandall, R.; Paz and Roett (2004). "Mexico's Domestic Economy: Policy Options and Choices". Mexico's Democracy at Work. Lynne Reinner Publishers. p. 160. ISBN 978-0-8018-5655-6.
  64. "Efemérides (Important dates)". National Action Party. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-10-03. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help) (สเปน)
  65. Photius Geographic.org, "Mexico The 1988 Elections", (Sources: The Library of the Congress Country Studies, CIA World Factbook)
  66. Cruz Vasconcelos, Gerardo. "Desempeño Histórico 1914–2004" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-07-03. สืบค้นเมื่อ 2007-02-17. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help) (สเปน)
  67. Reséndiz, Francisco (2006), "Rinde AMLO protesta como "presidente legítimo" เก็บถาวร 2012-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน",El Universal (สเปน)
  68. https://kpi.ac.th/media/pdf/M10_175.pdf
  69. "Article 116". Political Constitution of the United Mexican States. Congress of the Union of the United Mexican States. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-13. สืบค้นเมื่อ 2007-10-07. (สเปน)
  70. "Article 115". Political Constitution of the United Mexican States. Congress of the Union of the United Mexican States. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-13. สืบค้นเมื่อ 2007-10-07. (สเปน)
  71. "Article 112". Political Constitution of the United Mexican States. Congress of the Union of the United Mexican States. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-13. สืบค้นเมื่อ 2007-10-07. (สเปน)
  72. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2007-08-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-25. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  73. "Archives". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  74. "Embassy of the United Mexican States" (PDF). MFA. พฤษภาคม 2563. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-27. สืบค้นเมื่อ 2020-07-07.
  75. "ข้อมูลประเทศเม็กซิโก". กองลาตินอเมริกา. สิงหาคม 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
  76. Cargolux flight cv8481
  77. "Capacitarán a militares en combates con rifles láser | Ediciones Impresas Milenio". web.archive.org. 2010-05-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-14. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  78. "Secretaria de Marina - Armada de México". www.semar.gob.mx.
  79. "Mexico to slash weapons-grade uranium". UPI (ภาษาอังกฤษ).
  80. "The Top 25 Economies in the World". Investopedia (ภาษาอังกฤษ).
  81. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2010-11-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-05. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  82. "Mexico 2050: The World´s Fifth Largest Economy | TheCatalist". web.archive.org. 2010-08-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-19. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  83. Post, Mexico Daily (2019-04-11). "How much should you earn in Mexico to belong to the middle or upper class?". The Mazatlan Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  84. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2013-10-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-21. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  85. "Mexico tops U.S., Canadian car makers". UPI (ภาษาอังกฤษ).
  86. Crandall, Russell; Paz, Guadalupe; Roett, Riordan; Roett, Professor of Political Science Riordan (2005). Mexico's Democracy at Work: Political and Economic Dynamics (ภาษาอังกฤษ). Lynne Rienner Publishers. ISBN 978-1-58826-300-1.
  87. "Mexico Country Analysis Brief". web.archive.org. 2006-03-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-09. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  88. http://www3.weforum.org/docs/WEF_TTCR_2017_web_0401.pdf
  89. "Wayback Machine". web.archive.org. 2008-06-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-10. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  90. "Mexico Infrastructure, power, and communications, Information about Infrastructure, power, and communications in Mexico". www.nationsencyclopedia.com.
  91. "Bullet Train To Mexico City Looks To Be Back On Track ? | Guadalajara Reporter". web.archive.org. 2011-04-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-30. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  92. "Systra : Project for a Mexico City - Guadalajara High Speed Line. Rail transport engineering, public transport engineering". web.archive.org. 2011-05-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-01. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  93. Coerver, Don M.; Pasztor, Suzanne B.; Buffington, Robert (2004). Mexico: An Encyclopedia of Contemporary Culture and History (ภาษาอังกฤษ). ABC-CLIO. ISBN 978-1-57607-132-8.
  94. "Molina wins Nobel Prize for ozone work". MIT News | Massachusetts Institute of Technology (ภาษาอังกฤษ).
  95. "Mexico - Health Care and Social Security". countrystudies.us.
  96. "Health Care in Mexico". Expat Forum For People Moving Overseas And Living Abroad (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  97. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-11-08. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  98. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  99. https://www.inegi.org.mx/contenidos/saladeprensa/boletines/2018/EstSociodemo/ENADIS2017_08.PDF
  100. "Spanish Language History and main Spanish-speaking countries". web.archive.org. 2005-04-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-04-17. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  101. "MÉXICO NACIÓN MULTICULTURAL Programa Universitario". web.archive.org. 2013-08-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-23. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  102. https://web.archive.org/web/20130823015618/http://www.nacionmulticultural.unam.mx/Portal/Izquierdo/BANCO/Mxmulticultural/Elmestizajeylasculturas-elmestizaje.html
  103. "Diferentes lenguas indígenas". cuentame.inegi.org.mx. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.
  104. "Catolicismo pierde creyentes | Censo INEGI 2021". www.milenio.com (ภาษาสเปนแบบเม็กซิกัน).
  105. "Study identifies worldwide rates of religiosity, church attendance". web.archive.org. 2006-09-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-01. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  106. Online, Catholic. "Our Lady of Guadalupe - Saints & Angels". Catholic Online (ภาษาอังกฤษ).
  107. "Mexican recipes". www.taste.com.au. 2008-11-19.
  108. Perez, Griselda Muñoz (2021-06-02). "Top 30 Most Popular Mexican Foods- Best Mexican Dishes". Chef's Pencil (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  109. "Top 10 foods to try in Mexico". BBC Good Food (ภาษาอังกฤษ).
  110. "The Taste Of Mexican Food". www.streetdirectory.com.
  111. "El Universal - - Cocina, fiesta y cantos mexicanos reconocidos por UNESCO". archivo.eluniversal.com.mx.
  112. "ทำความรู้จักอาหารเม็กซิโก สุดยอดความอร่อยที่ได้ลองต้องหลงรัก สายหม่ำ... เช็คอินด่วน". www.newsplus.co.th (ภาษาอังกฤษ).
  113. "6 Most Popular Mexican Fish Dishes". www.tasteatlas.com.
  114. "Mexican Street Tacos: A Brief and Delicious History". Macayo’s Mexican Food (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-10-06.
  115. "The History of Tacos – Casa Blanca Mexican Restaurant, Massachusetts" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  116. "Mexican Music | Traditional, History, Rap". www.facts-about-mexico.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-17. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  117. Ilich, Tijana. "Traditional Musical Styles That Make Mexican Music Unique". LiveAbout (ภาษาอังกฤษ).
  118. "ดนตรีพื้นเมืองของอเมริกา - เม็กซิโกและอเมริกากลาง". ดนตรีพื้นเมืองของอเมริกา - เม็กซิโกและอเมริกากลาง. 2020-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-17. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  119. "ดนตรีพื้นเมืองของอเมริกา - เม็กซิโกและอเมริกากลาง". ดนตรีพื้นเมืองของอเมริกา - เม็กซิโกและอเมริกากลาง. 2020-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-17. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  120. "Aztec Poetry (1): Intro". www.mexicolore.co.uk.
  121. Coerver, Don M.; Pasztor, Suzanne B.; Buffington, Robert (2004). Mexico: An Encyclopedia of Contemporary Culture and History (ภาษาอังกฤษ). ABC-CLIO. ISBN 978-1-57607-132-8.
  122. "Latin American literature". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  123. "7 Notable Mexican Authors Who Changed History". 7 Notable Mexican Authors Who Changed History | Grammarly (ภาษาอังกฤษ). 2017-09-16.
  124. "«Día de Todos los Santos», con mayúscula | Fundéu". www.fundeu.es (ภาษาสเปน). 2010-10-29.
  125. "El Día de Muertos mexicano nació como arma política o tradición prehispánica - Arte y Cultura - IntraMed". www.intramed.net.
  126. "DIA DE LOS MUERTOS | El Museo del Barrio". web.archive.org. 2015-10-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-27. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  127. Bolivia, Opinión. "Dos historiadoras encuentran diverso origen del Día de Muertos en México". Opinión Bolivia (ภาษาสเปน).
  128. "Mexico - List of Champions". www.rsssf.com.
  129. "Mexico's World Cup Soccer History". El Jalisco (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  130. "México es Campeón en el Mundial Sub-23 de beisbol". www.mediotiempo.com (ภาษาสเปนแบบเม็กซิกัน).
  131. "México, una historia de éxito en la Serie Mundial de Ligas Menores". www.mediotiempo.com (ภาษาสเปนแบบเม็กซิกัน).
  132. "Los mejores deportistas mexicanos de la historia". MARCA Claro México (ภาษาสเปนแบบเม็กซิกัน). 2018-10-12.

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

รัฐบาล

ข้อมูลทั่วไป