สาธารณรัฐเท็กซัส
สาธารณรัฐเท็กซัส Republic of Texas (อังกฤษ) República de Texas (สเปน) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ค.ศ. 1836–1846 | |||||||||
เมืองหลวง | วอชิงตัน-ออน-เดอะ-แบรซัส 1836 (ชั่วคราว) แฮร์ริสเบิร์ก 1836 (ชั่วคราว) แกลวิสตัน 1836 (ชั่วคราว) วิลาสโก 1836 (ชั่วคราว) โคลัมเบีย 1836-37 ฮิวสตัน 1837-39 ออสติน 1839-46 | ||||||||
ภาษาทั่วไป | อังกฤษและสเปน (โดยพฤตินัย) ฝรั่งเศส, เยอรมัน และภาษาอเมริกันอินเดียนในบางท้องที่ | ||||||||
การปกครอง | สาธารณรัฐ | ||||||||
ประธานาธิบดี1 | |||||||||
• 1836-1838 | แซม ฮิวสตัน | ||||||||
• 1838-1841 | มิราโบ บี. ลามาร์ | ||||||||
• 1841-1844 | แซม ฮิวสตัน | ||||||||
• 1844-1846 | แอนสัน โจนส์ | ||||||||
รองประธานาธิบดี1 | |||||||||
• 1836-1838 | มิราโบ บี. ลามาร์ | ||||||||
• 1838-1841 | เดวิด จี. เบอร์เน็ต | ||||||||
• 1841-1844 | เอ็ดเวิร์ด เบิร์ลสัน | ||||||||
• 1844-1845 | เคนเนท แอล. แอนเดอร์สัน | ||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||
2 มี.ค. ค.ศ. 1836 | |||||||||
29 ธ.ค. 1845 | |||||||||
• สิ้นสุดการถ่ายโอนอำนาจ | 19 ก.พ. 1846 | ||||||||
พื้นที่ | |||||||||
1840 | 1,007,935 ตารางกิโลเมตร (389,166 ตารางไมล์) | ||||||||
ประชากร | |||||||||
• 1840 | 70000 | ||||||||
สกุลเงิน | เท็กซัสดอลลาร์ ($) | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | สหรัฐอเมริกา | ||||||||
1ช่วงระหว่างกาล (16 มีนาคม - 22 ตุลาคม ค.ศ. 1836) : ประธานาธิบดี: เดวิด จี. เบอร์เน็ต, รองประธานาธิบดี: ลอเรนโซ เด ซาวาลา |
สาธารณรัฐเท็กซัส (อังกฤษ: Republic of Texas) หรือ สาธารณรัฐเตฆัส (สเปน: República de Texas) คือรัฐเอกราชในทวีปอเมริกาเหนือที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1836 ถึง 1846 โดยมีชายแดนติดอยู่กับสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก
สาธารณรัฐเท็กซัสสถาปนาตนเองเป็นสาธารณรัฐโดยแยกดินแดนออกมาจากเม็กซิโกในเหตุการณ์ปฏิวัติเท็กซัส โดยอ้างสิทธิ์ในดินแดนที่มีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของรัฐเท็กซัส รวมไปถึงบางส่วนของรัฐนิวเม็กซิโก, โอคลาโฮมา, แคนซัส, โคโลราโด และไวโอมิงของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน โดยยึดตามสนธิสัญญาวิลาสโกระหว่างสาธารณรัฐเท็กซัสที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่กับเม็กซิโก พรมแดนทางตะวันออกกับสหรัฐอเมริกาถูกกำหนดโดยสนธิสัญญาแอดัมส์-โอนิสที่ทำขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสเปนในปี ค.ศ. 1819 ส่วนพรมแดนทางตอนใต้และทางตะวันตกซึ่งติดกับเม็กซิโกนั้นตกเป็นข้อพิพาทระหว่างสองประเทศตลอดระยะเวลาที่สาธารณรัฐดำรงอยู่ โดยเท็กซัสใช้สองฝั่งของแม่น้ำรีโอแกรนด์เป็นตัวขีดเส้นแบ่งพรมแดน ในขณะที่เม็กซิโกใช้แม่น้ำนูเอซิสในการปักปันเขตแดน ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวกลายเป็นเหตุชนวนสงครามเม็กซิโก-อเมริกา หลังจากการผนวกเท็กซัสเข้ามาเป็นรัฐในสหรัฐอเมริกา
ประวัติศาสตร์
[แก้]การสถาปนารัฐ
[แก้]สาธารณรัฐเท็กซัสสถาปนาตนเองขึ้นมาจากรัฐโกอาวีลาและเตฆัส (Coahuila y Tejas) ของเม็กซิโกจากเหตุการณ์การปฏิวัติเท็กซัส ในขณะนั้นเม็กซิโกกำลังอยู่ในความสับสนอลหม่านขณะที่ผู้นำของประเทศในแต่ละสมัยพยายามที่จะกำหนดรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศ ในปี ค.ศ. 1835 เมื่อประธานาธิบดีอันโตนิโอ โลเปซ เด ซานตา อานา ล้มเลิกรัฐธรรมนูญแห่งปี 1824 ทำให้เขามีอำนาจมหาศาลในการควบคุมรัฐบาล ชาวอาณานิคมในเท็กซัสจึงเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวและเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการเพื่อการตอบโต้และความปลอดภัย โดยมีคณะกรรมการกลางในแซนฟิลิปดิออสตินเป็นผู้ประสานการทำงาน [1] ขณะที่ในเม็กซิโกชั้นใน ก็มีการต่อต้านนโยบายรวมอำนาจใหม่นี้ ในหลาย ๆ รัฐเช่นกัน [2] การปฏิวัติเท็กซัสเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1835 ในยุทธการกอนซาเลส แม้ว่าเริ่มแรกนั้นชาวเท็กซัสจะต่อสู้เพื่อให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญแห่งปี 1824 อีกครั้ง แต่ต่อมาในปี 1836 เป้าหมายของสงครามก็เปลี่ยนไป โดยได้มีการประกาศเอกราชที่การชุมนุมแห่งปี 1836 ในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1836 และสถานปนาตนเองเป็นสาธารณรัฐเท็กซัสอย่างเป็นทางการ
1836-1845
[แก้]การประชุมรัฐสภาครั้งแรกของสาธารณรัฐเท็กซัสเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1836 ที่เมืองโคลัมเบีย (ปัจจุบันคือเวสต์โคลัมเบีย) สตีเฟน เอฟ. ออสติน หรือที่เป็นรู้จักในนามว่า บิดาแห่งเท็กซัส ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1836 หลังจากดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นเวลาสองเดือนให้กับสาธารณรัฐใหม่
ในปี ค.ศ. 1836 มีเมืองห้าแห่งด้วยกันที่ทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงชั่วคราวให้กับเท็กซัส ได้แก่เมืองวอชิงตัน-ออน-เดอะ-แบรซัส, แฮร์ริสเบิร์ก, แกลวิสตัน, วิลาสโก และโคลัมเบีย ก่อนที่ประธานาธิบดีแซม ฮิวสตันจะย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองฮิวสตันในปี 1837 เมืองหลวงถูกย้ายไปที่เมืองสร้างใหม่ที่ชื่อว่าออสตินในปี 1839 โดยประธานาธิบดีคนต่อมา มิราโบ บี. ลามาร์ ธงชาติผืนแรกของสาธารณรัฐเท็กซัสคือ “ธงเบอร์เน็ต” (Burnet Flag) มีลักษณะเป็นธงผืนน้ำเงินที่มีดาวทองอยู่ตรงกลาง ตามมาด้วยการประกาศใช้อย่างเป็นทางการของธงดาวเดียว (Lone Star Flag) ที่ยังเป็นธงประจำรัฐเท็กซัสมาจนถึงทุกวันนี้
การเมืองภายในสาธารณรัฐมาจากความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม ได้แก่พรรคชาตินิยม นำโดยลามาร์ ซึ่งต้องการให้สาธารณรัฐเท็กซัสดำรงอยู่เป็นรัฐเอกราชต่อไป และสนับสนุนให้มีการขับไล่ชนพื้นเมืองอเมริกันออกจากดินแดน รวมถึงขยายอาณาเขตของเท็กซัสไปยังทิศตะวันตกจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามของคนกลุ่มแรก นำโดยฮิวสตัน สนับสนุนให้เท็กซัสผนวกดินแดนเข้ากับสหรัฐอเมริกา และอยู่ร่วมกับชนพื้นเมืองอเมริกันอย่างสันติ รัฐสภาเท็กซัสในขณะนั้นขัดแย้งกันถึงขนาดที่มีการผ่านมติเพื่ออ้างสิทธิ์ในดินแดนแคลิฟอร์เนียเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ครั้งแรกถูกคัดค้านให้ตกไปโดยอำนาจของประธานาธิบดีฮิวสตัน ด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสามจนทำให้อำนาจในการยับยั้งของประธานาธิบดีเป็นโมฆะ[3] จนกระทั่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1844 ซึ่งผลการลงคะแนนแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคะแนนเสียงแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามภูมิภาคอย่างเห็นได้ชัด โดยภูมิภาคตะวันตกที่เป็นดินแดนใหม่ในเท็กซัสสนับสนุนผู้สมัครพรรคชาตินิยม เอ็ดเวิร์ด เบิร์ลสัน ในขณะที่เขตปลูกฝ้าย โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทรินิตี สนับสนุนแอนสัน โจนส์[4]
เผ่าโคแมนชีเป็นชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองหลักที่ต่อต้านการปกครองของสาธารณรัฐเท็กซัส ในปลายทศวรรษที่ 1830 แซม ฮิวสตันได้ทำการเจรจาสงบศึกกับชนเผ่าโคแมนชี แต่เมื่อลามาร์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากฮิวสตันในปี 1838 เขาก็พลิกนโยบายกลายเป็นการต่อกรกับชนเผ่าอินเดียน และเริ่มสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโคแมนชี ด้วยการรุกรานโคแมนชีเรีย ดินแดนของชาวโคแมนชี ทำให้เผ่าโคแมนชีตอบโต้เท็กซัสด้วยการบุกโจมตีในที่ต่าง ๆ หลังจากที่การเจรจาสงบศึกในปี 1840 จบลงด้วยการสังหารหมู่ผู้นำโคแมนชี 34 คนในซานอันโตนีโอ ชาวโคแมนชีก็เปิดฉากการโจมตีครั้งใหญ่ลึกเข้าไปในดินแดนเท็กซัส เป็นที่รู้จักในนามว่า การบุกโจมตีครั้งใหญ่แห่งปี 1840 ภายใต้การบังคับบัญชาของพอตซานาควาฮิป (ฉายาบัฟฟาโลฮัมป์ หรือหลังกระบือ) นักรบเผ่าโคแมนชีประมาณ 500-700 นาย บุกผ่านห้วยเขาแห่งแม่น้ำกัวดาลูป ทำการสังหารประชาชนและปล้นสะดมไปตลอดทางจนถึงชายฝั่งของอ่าวเม็กซิโก ที่ซึ่งพวกเขาทำการเผาเมืองวิกตอเรียและลินน์วิลล์ เมื่อฮิวสตันได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 1841 ทั้งฝ่ายเท็กซัสและโคแมนชีต่างก็หมดกำลังจากสงคราม จึงทำให้เจรจาสงบศึกในที่สุด[5]
แม้ว่าเท็กซัสจะเป็นรัฐที่ปกครองตนเอง แต่เม็กซิโกปฏิเสธที่จะยอมรับเท็กซัสเป็นรัฐเอกราช[6] ในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1842 กองกำลังเม็กซิโกกว่า 500 นาย นำโดยราฟาเอล บัสเกซ ทำการรุกรานเท็กซัสเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการปฏิวัติมา พวกเขาร่นถอยกลับไปยังแม่น้ำรีโอแกรนด์หลังจากเข้ายึดครองแซนแอนโทนีโอเป็นเวลาสั้น ๆ ในเวลาต่อมาทหารเม็กซิโกอีก 1,400 นาย นำโดยนายพลรับจ้างชาวฝรั่งเศส อาดรีย็อง โวล เปิดฉากโจมตีเป็นครั้งที่สองและเข้ายึดเมืองแซนแอนโทนีโอได้อีกครั้งในวันที่ 11 กันยายน ปี 1842 ทหารอาสาสมัครเท็กซัสจึงทำการตอบโต้ในยุทธการที่ซาลาโดครีก[7] แต่ต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อทหารเม็กซิโกและชาวเผ่าเชอโรคีที่อาศัยอยู่ในเท็กซัสในวันที่ 18 กันยายนในเหตุการณ์ที่เรียกว่า การสังหารหมู่ดอว์สัน[8] แต่ในเวลาต่อมากองทัพเม็กซิโกก็ถอนทัพออกจากเมืองแซนแอนโทนีโอกลับไปยังเม็กซิโก
หนึ่งในผลกระทบที่เกิดจากการรุกรานเท็กซัสของเม็กซิโกคือความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างกลุ่มพรรคการเมือง ซึ่งรวมไปถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกว่า สงครามจดหมายเหตุเท็กซัส โดยเหตุเริ่มมาจากการที่ประธานาธิบดีแซม ฮิวสตันสั่งให้ย้ายจดหมายเหตุออกจากออสตินเพื่อปกป้องคลังจดหมายเหตุแห่งชาติของเท็กซัส โดยมีนัยยะเพื่อเริ่มดำเนินการย้ายเมืองหลวงจากออสตินไปยังฮิวสตัน แต่ประชาชนและทหารอาสาสมัครของเมืองออสตินได้ใช้กำลังบังคับให้คลังจดหมายเหตุกลับมาที่ออสตินเหมือนเดิม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีฮิวสตันถูกตำหนิโดยรัฐสภาเท็กซัส และเสริมสร้างความมั่นคงในสถานะความเป็นเมืองหลวงของออสตินจนมาถึงทุกวันนี้[9]
นอกจากนี้ยังมีความวุ่นวายภายในประเทศ โดยเกิดสงครามที่ดินระหว่างเทศมณฑลแฮร์ริสันกับเทศมณฑลเชลบีในภูมิภาคตะวันออกของเท็กซัส ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างเขตที่มีระยะเวลายืนยาวถึง 5 ปี ตั้งแต่ปี 1839 จนถึง 1844 โดยมีผู้เกี่ยวข้องได้แก่เทศมณฑลแนคะโดชิส, แซนออกัสติน และเทศมณฑลอื่น ๆ ทางภาคตะวันออก ในที่สุดนายอำเภอของเทศมณฑลแฮร์ริสัน จอห์น เจ. เคนเนดี กับผู้พิพากษาเขต โจเซฟ ยู. ฟิลด์ส ก็ช่วยยุติข้อพิพาทโดยการเข้าร่วมกับฝ่ายรักษากฎหมายบ้านเมือง โดยในความขัดแย้งนี้ ประธานาธิบดีฮิวสตันจำเป็นจะต้องใช้ทหารอาสาสมัครถึง 500 นายเพื่อช่วยในการยุติข้อพิพาท
การปกครอง
[แก้]หลังจากได้รับอิสรภาพ ในเดือนกันยายน ปี 1836 ชาวเท็กซัสก็จัดการเลือกตั้งลงคะแนนเพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกเข้าสู่รัฐสภา ประกอบไปด้วยวุฒิสมาชิกจำนวน 14 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 29 คน รัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้นอนุญาตให้ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเท็กซัสดำรงตำแหน่งแค่สองปีเท่านั้น แต่ต่อมาได้เพิ่มวาระเป็นสามปีให้กับประธานาธิบดีในสมัยต่อๆ มา
การประชุมรัฐสภาสาธารณรัฐเท็กซัสครั้งแรกเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 1836 ที่เมืองโคลัมเบีย (เวสต์โคลัมเบียในปัจจุบัน) สตีเฟน เอฟ. ออสติน ผู้ได้รับสมญานาม “บิดาแห่งเท็กซัส” ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1836 หลังจากดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สาธารณรัฐใหม่ได้เพียงแค่สองเดือน เนื่องจากในช่วงสถาปนารัฐ เกิดสงครามต่อสู้เพื่ออิสรภาพอยู่ จึงมีการกำหนดให้เมืองห้าแห่งมีหน้าที่เป็นเมืองหลวงชั่วคราวของเท็กซัสในปี 1836 ได้แก่เมืองวอชิงตัน-ออน-เดอะ-แบรซัส, แฮร์ริสเบิร์ก, แกลวิสตัน, วิลาสโก และโคลัมเบีย ต่อมาได้มีการย้ายเมืองหลวงไปที่ฮิวสตัน ซึ่งเป็นเมืองสร้างใหม่ ในปี 1837 ในปี 1839 เมืองหลวงถูกย้ายอีกครั้งไปยังนิคมเล็กๆ บริเวณชายแดนเลียบแม่น้ำโคลาราโด ที่เรียกว่าวอเตอร์ลู ซึ่งได้มีการผังเมืองใหม่ที่เมืองดังกล่าว และทำการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็นเมืองหลวงชื่อว่าออสติน
ระบบศาลยุติธรรมมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐสภา ซึ่งรวมไปถึงศาลฎีกาอันประกอบไปด้วยผู้พิพากษาสูงสุดที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี กับผู้ช่วยผู้พิพากษาสูงสุดอีกสี่คน ซึ่งมาจากการลงคะแนนของทั้งสภาบนและสภาล่าง โดยมีวาระดำรงตำแหน่งเป็นเวลาสี่ปีและสามารถได้รับการคัดเลือกอีกครั้งได้ ผู้ช่วยผู้พิพากษาสูงสุดแต่ละท่านยังเป็นผู้รับผิดชอบเขตศาลแต่ละแห่งจากสี่แห่ง ฮิวสตันเสนอชื่อเจมส์ คอลลินสเวิร์ธให้เป็นผู้พิพากษาสูงสุดคนแรก ในส่วนของระบบศาลในแต่ละเทศมณฑลประกอบไปด้วยผู้พิพากษาหนึ่งคนและผู้ช่วยผู้พิพากษาอีกสองคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของคณะผู้พิพากษาศาลแขวงในเทศมณฑลนั้นๆ นอกจากนี้แต่ละเทศมณฑลยังมีนายอำเภอหนึ่งนาย เจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพหนึ่งนาย ผู้พิพากษาศาลแขวง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ประจำเทศมณฑลมีวาระการทำงานสองปี รัฐสภาจัดแบ่งเทศมณฑลออกเป็น 23 เขต โดยขอบเขตของแต่ละท้องที่มักจะตรงกับเขตของเทศบาลที่มีอยู่แล้ว
ในปี 1839 เท็กซัสกลายเป็นชาติแรกในโลกที่ประกาศใช้ข้อกำหนดการยกเว้นเคหสถาน ซึ่งกำหนดไว้ว่า สถานที่อยู่หลักของประชาชนไม่สามารถถูกยึดโดยเจ้าหนี้ได้
เขตแดน
[แก้]เริ่มแรก ผู้นำของเท็กซัสตั้งใจที่จะขยายแนวพรมแดนของประเทศไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ในสุดท้ายแล้วตัดสินใจที่จะอ้างสิทธิ์พรมแดนที่แม่น้ำริโอแกรนด์ ซึ่งรวมพื้นที่ส่วนใหญ่ของนิวเม็กซิโกเข้าไปด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เท็กซัสไม่เคยมีอำนาจปกครองในดินแดนดังกล่าวเลย นอกจากนี้ ผู้นำเท็กซัสยังมีความคิดที่จะสร้างรางรถไฟไปยังอ่าวแคลิฟอร์เนียเพื่อทำการค้ากับชาวอินเดียตะวันออก, ชาวเปรูและชาวชิลี หลังจากที่สงบศึกกับเม็กซิโกแล้ว[10] ขณะที่ทำการเจรจาหาความเป็นไปได้ที่จะผนวกเท็กซัสเข้ามาในสหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายปี 1836 รัฐบาลเท็กซัสได้มอบคำสั่งให้รัฐมนตรีวาร์ตันในวอชิงตันซึ่งระบุไว้ว่า ถ้าประเด็นเรื่องพรมแดนกลายเป็นปัญหา เท็กซัสยินยอมที่จะถอยร่นเขตแดนที่อ้างสิทธิ์ไว้กลับมาที่สันปันน้ำระหว่างแม่น้ำนูเอซิสกับแม่น้ำริโอแกรนด์ และไม่อ้างสิทธิ์ปกครองดินแดนนิวเม็กซิโกอีกต่อไป[11]
ความสัมพันธ์ทางการทูต
[แก้]ในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1837 ประธานาธิบดีสหรัฐ แอนดรูว์ แจ็คสันได้แต่งตั้งให้อัลซี ลาบอนช์ เป็นอุปทูตประจำสาธารณรัฐเท็กซัส ซึ่งถือเป็นการรับรองอย่างเป็นทางการว่าเท็กซัสเป็นสาธารณรัฐที่เป็นเอกราช ประเทศฝรั่งเศสรับรองเท็กซัสอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1839 โดยแต่งตั้งให้อัลพอนซ์ ดูบัว ดี ซาลินยี ดำรงตำแหน่งเป็นอุปทูต สถานอัครราชทูตฝรั่งเศส (French Legation) ถูกสร้างขึ้นในปี 1841 และในปัจจุบันก็ยังคงตั้งอยู่ในออสตินในฐานะสิ่งก่อสร้างแบบมีโครงสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง ในทางกลับกัน สถานทูตสาธารณรัฐเท็กซัสถูกสร้างขึ้นในกรุงปารีส ซึ่งปัจจุบันได้กลายไปเป็นโรงแรมโฮเทลดีวองเดิม ตั้งอยู่ในข้างๆ กับจตุรัสพลาสวองเดิม ในท้องถิ่นการปกครองที่สองของปารีส[12]
สาธารณรัฐเท็กซัสยังได้รับการรับรองทางการทูตจากประเทศเบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐยูกาตัง สหราชอาณาจักรไม่รับรองเท็กซัสอย่างเป็นทางการเนื่องด้วยสัมพันธไมตรีอันดีที่มีต่อเม็กซิโก แต่ยอมรับสินค้าของเท็กซัสเข้าสู่ท่าเรือของบริเตนโดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตนกำหนด อาคารสถานทูตสาธารณรัฐเท็กซัสยังคงตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน โดยตั้งอยู่ตรงข้ามกับประตูพระราชวังเซนต์เจมส์ ปัจจุบันอาคารดังกล่าวได้กลายเป็นที่ตั้งของร้านขายหมวก แต่ยังคงมีป้ายแผ่นเหล็กระบุไว้ว่าเป็นสถานทูตเท็กซัส อีกทั้งยังมีภัตตาคารชื่อว่า Texas Embassy (สถานทูตเท็กซัส) ตั้งอยู่ใกล้เคียง[13]
ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
[แก้]ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเท็กซัส | ||||
---|---|---|---|---|
ประธานาธิบดี | รองประธานาธิบดี | เริ่มต้นวาระ | สิ้นสุดวาระ | |
เดวิด จี. เบอร์เน็ต (ระหว่างกาล) |
ลอเรนโซ เด ซาวาลา (ระหว่างกาล) |
16 มีนาคม 1836 ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะผู้แทน ในการชุมนุมแห่งปี 1836 |
22 ตุลาคม 1836 | |
แซม ฮิวสตัน | มิราโบ บี. ลามาร์ | 22 ตุลาคม 1836 | 10 ธันวาคม 1838 | |
มิราโบ บี. ลามาร์ | เดวิด จี. เบอร์เน็ต | 10 ธันวาคม 1838 | 13 ธันวาคม 1841 | |
แซม ฮิวสตัน (สมัยที่สอง) |
เอ็ดเวิร์ด เบิร์ลสัน | 13 ธันวาคม 1841 | 9 ธันวาคม 1844 | |
แอนสัน โจนส์ | เคนเน็ธ แอล. แอนเดอร์สัน | 9 ธันวาคม 1844 | 19 กุมภาพันธ์ 1846 แอนเดอร์สันถึงแก่อนิจกรรม ขณะยังดำรงตำแหน่งในวันที่ 3 กรกฎาคม 1845 |
ความเป็นรัฐในสหรัฐ
[แก้]ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1845 รัฐสภาสหรัฐ ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาสามารถผนวกสาธารณรัฐเท็กซัสเข้าไปเป็นรัฐ ในวันที่ 1 มีนาคม ประธานาธิบดีสหรัฐ จอห์น ไทเลอร์ลงนามรับรองกฎหมาย โดยกฎหมายบัญญัติวันผนวกไว้เป็นวันที่ 29 ธันวาคมของปีเดียวกัน เมื่อเห็นว่าสหรัฐ กำลังจะดำเนินการผนวกเท็กซัสเข้าไปเป็นรัฐ ชาร์ลส เอลเลียตและอัลพอนซ์ ดี ซาลินยี อัครราชทูตแห่งเท็กซัสของบริเตนและฝรั่งเศสตามลำดับ จึงถูกรัฐบาลส่งไปยังกรุงเม็กซิโกซิตีเพื่อพบกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเม็กซิโก ทั้งสองประเทศได้ลงนามใน “รัฐบัญญัติทางการทูต” โดยเม็กซิโกเสนอที่จะรับรองเท็กซัสเป็นรัฐเอกราช โดยพรมแดนจะถูกกำหนดภายใต้การไกล่เกลี่ยของบริเตนและฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเท็กซัส แอนสัน โจนส์ยื่นของเสนอของทั้งสหรัฐ และเม็กซิโกไปยังการชุมนุมของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นพิเศษ ณ กรุงออสติน โดยข้อเสนอของสหรัฐ ได้รับการสนองรับโดยมีเสียงค้านเพียงหนึ่งเสียง ในขณะที่ข้อเสนอของเม็กซิโกไม่ได้รับการพิจารณาให้ลงคะแนน ตามกฤษฎีกาที่ ปธน. โจนส์ออกมาก่อนหน้านี้ ข้อเสนอที่ได้รับการสนองรับมากที่สุด จึงเข้าสู่กระบวนการลงคะแนนระดับชาติ
ในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1845 ผู้ลงคะแนนส่วนมากในเท็กซัสเห็นชอบกับข้อเสนอของสหรัฐ อีกทั้งยังเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนระบบทาส และสนับสนุนให้ผู้ย้ายถิ่นนำทาสมายังเท็กซัสด้วย[14] รัฐธรรมนูญดังกล่าวได้รับการสนองรับโดยรัฐสภาสหรัฐ ในเวลาต่อมา ทำให้เท็กซัสกลายเป็นรัฐของสหรัฐ ในวันเดียวกับที่วันที่มีบังคับใช้กฎหมายผนวกเท็กซัส (ซึ่งทำให้เท็กซัสมีสถานะเป็นรัฐในทันที โดยไม่ต้องมีสถานะเป็นอาณาเขตมาก่อน)[15] หนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการผนวกขึ้นมาจากการที่รัฐบาลเท็กซัสก่อหนี้ไว้มหาศาลซึ่งรัฐบาลสหรัฐ ตกลงที่จะรับไว้หลังจากที่ผนวกแล้ว โดยหนึ่งในข้อตกลงในข้อตกลงประนีประนอมแห่งปี 1850 ระบุไว้ว่าเพื่อแลกกับการรับรองการจ่ายหนี้จำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท็กซัสจะยุติการอ้างสิทธิ์ในดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐโคโลราโด, แคนซัส, โอคลาโฮมา, นิวเม็กซิโก และไวโอมิงในปัจจุบัน อันเป็นดินแดนที่เท็กซัสไม่เคยควบคุมและเป็นดินแดนที่รัฐบาลกลางยึดมาจากเมกซิโกในช่วงต้นของสงครามเม็กซิโก-อเมริกาโดยมีอำนาจปกครองเหนือดินแดนดังกล่าวโดยตรง
ข้อตกลงของการผนวกเคยเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันในด้านเนื้อหาสาระทางประวัติศาสตร์ แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงความเชื่อเดียวที่เล่าว่าในข้อตกลงมีบทบัญญัติหนึ่งที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเท็กซัสมีสิทธิ์ที่จะแบ่งแยกจากสหรัฐ แต่ก็มีการถกเถียงกันว่าทุกรัฐล้วนมีสิทธิ์นี้อยู่แล้วโดยนัย แม้ว่าศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาจะตัดสินคดีระหว่างรัฐเท็กซัสกับไวท์ในปี 1869 โดยตัดสินว่าไม่มีรัฐใดมีสิทธิ์ที่จะแบ่งแยกออกจากสหรัฐ เพียงฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงมีบทบัญญัติอยู่สองข้อที่ทำให้เท็กซัสมีสิทธิ์แตกต่างจากรัฐอื่น ข้อหนึ่งระบุว่ารัฐเท็กซัสมีสิทธิ์เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบที่จะสถาปนารัฐใหม่ขึ้นมาอีกสี่รัฐโดยแบ่งอาณาเขตตามพื้นที่ของเท็กซัส (โดยรัฐใหม่ที่อยู่เหนือแนวประนีประนอมมิสซูรีจะมีสถานะเป็นรัฐอิสระ) ข้อตกลงไม่ได้เพิ่มข้อยกเว้นพิเศษที่อยู่นอกเหนือจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสหรัฐว่าด้วยความเป็นรัฐ สิทธิ์ที่จากสถาปนารัฐใหม่ไม่ได้ถูกสงวนไว้ให้เท็กซัสอย่างที่เป็นที่กล่าวกัน[16] ข้อสองระบุว่าเท็กซัสไม่ต้องจำนนพื้นที่ให้กับรัฐบาลกลาง แม้ว่าเท็กซัสจะจำนนพื้นที่ที่อ้างสิทธิ์ครอบครองแต่ไม่ได้ครอบครองจริงให้กับรัฐบาลกลางก็ตาม แต่พื้นที่ที่เท็กซัสมีอาณาเขตอยู่จริงก็ไม่ได้ถูกจำนนให้กับรัฐบาลกลางแต่อย่างใด ดังนั้น พื้นที่ที่รัฐบาลกลางครอบครองในรัฐเท็กซัสนั้นถือว่าถูกซื้อมา ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลแห่งรัฐมีสิทธิ์เหนือแหล่งน้ำมันสำรอง ซึ่งในเวลาต่อมาถูกนำมาใช้เพื่อเป็นทุนสนับสนุนระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐ ผ่านกองทุนมหาวิทยาลัยถาวร[17] นอกจากนี้ รัฐเท็กซัสยังควบคุมแหล่งน้ำมันสำรองนอกชายฝั่งเป็นระยะ 3 โยชน์ทะเล (9 ไมล์ทะเล หรือ 16.668 กม.) ต่างจากรัฐอื่นๆ ที่มีสิทธิ์ครอบครองออกจากฝั่งไปแค่ 3 ไมล์ทะเล (5.56 กม.)[18] มีความเชื่อผิดๆ ว่าเท็กซัสเป็นรัฐเดียวที่เป็นเอกราชก่อนที่จะมาเป็นรัฐในสหรัฐ นี่ไม่ใช่ความจริงเนื่องจากก่อนที่จะรวมกันเป็นสหรัฐ อาณานิคมผู้ก่อตั้งทั้ง 13 อาณานิคมต่างก็เคยเป็นรัฐเอกราชมาก่อนที่จะกลายมาเป็นรัฐในสหรัฐ ในปี 1778 นอกจากนี้สาธารณรัฐเวอร์มอนต์ก็ถูกสถาปนาเป็นรัฐเอกราชในปี 1777 และมีรัฐบาลเป็นของตนเองเรื่อยมาจนกระทั่งเข้าร่วมกับสหรัฐ ในปี 1791 ส่วนฮาวายก็เคยเป็นรัฐที่มีเอกราชทางการเมืองมาก่อนที่จะเข้าร่วมกับสหรัฐ โดยเป็นถิ่นฐานของชนพื้นเมืองมาแต่โบราณ จนกระทั่งสถาปนาเป็นราชอาณาจักร, สาธารณรัฐ และดินแดนของสหรัฐ ตามลำดับ ก่อนที่จะได้รับความเป็นรัฐฯ ในปี 1959
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ Huson 1974, p. 4 .
- ↑ Lack 1992, p. 7 .
- ↑ #Fehrenbach, page 263 เก็บถาวร 2014-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ #Fehrenbach, page 265 เก็บถาวร 2014-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Hämäläinen 2008, pp. 215–217 .
- ↑ Jack W. Gunn, "MEXICAN INVASIONS OF 1842," Handbook of Texas Online (http://www.tshaonline.org/handbook/online/articles/qem02), เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2544 ตีพิมพ์โดย The Texas State Historical Association
- ↑ Thomas W. Cutrer, "SALADO CREEK, BATTLE OF," Handbook of Texas Online (http://www.tshaonline.org/handbook/online/articles/qfs01), เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2544 ตีพิมพ์โดย The Texas State Historical Association
- ↑ "Dawson Massacre". Handbook of Texas Online. ได้ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2549
- ↑ "The Archives War". Texas Treasures- The Republic. The Texas State Library and Archives Commission. 2 พฤศจิกายน 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มิถุนายน 2006. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2009.
- ↑ George Rives, The United States and Mexico vol. 1, p. 390
- ↑ Rives, p. 403
- ↑ "PARIS 2e: The Paris Embassy of Texas". Cedric Benetti. 28 June 2007.
- ↑ Diplomatic Relations of the Republic of Texas
- ↑ "Constitution of the State of Texas (1845). ARTICLE VIII. Slaves". Jamail center for legal research, Tarlton Law Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-15. สืบค้นเมื่อ 2012-06-08.
- ↑ "The Avalon Project at Yale Law School: Texas - From Independence to Annexation". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-05. สืบค้นเมื่อ 2012-06-08.
- ↑ "Joint Resolution for Annexing Texas to the United States". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-31. สืบค้นเมื่อ 2012-06-08.
- ↑ Texas Annexation : Questions and Answers เก็บถาวร 2013-11-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Texas State Library & Archives Commission.
- ↑ Overview of US Legislation and Regulations Affecting Offshore Natural Gas and Oil Activity
อ้างอิง
[แก้]- Huson, Hobart (1974), Captain Phillip Dimmitt's Commandancy of Goliad, 1835-1836: An Episode of the Mexican Federalist War in Texas, Usually Referred to as the Texian Revolution, Austin, TX: Von Boeckmann-Jones Co
- Hämäläinen, Pekka (2008), The Comanche Empire, Yale University Press, ISBN 978-0-300-12654-9
- Lack, Paul D. (1992), The Texas Revolutionary Experience: A Political and Social History 1835-1836, Texas A&M University Press, ISBN 0-89096-497-1
- Fehrenbach, T. R. (7 April 2000), Lone Star: a history of Texas and the Texans (Updated ed.), Da Capo Press. ISBN 0306809427, 9780306809422.
- Republic of Texas Historical Resources
- Hosted by Portal to Texas History:
- Texas: the Rise, Progress, and Prospects of the Republic of Texas, Vol. 1, published 1841
- Texas: the Rise, Progress, and Prospects of the Republic of Texas, Vol. 2, published 1841
- Laws of the Republic, 1836-1838 from Gammel's Laws of Texas, Vol. I.
- Laws of the Republic, 1838-1845 from Gammel's Laws of Texas, Vol. II.
- The Avalon Project at Yale Law School: Texas - From Independence to Annexation
- Early Settlers and Indian Fighters of Southwest Texas by Andrew Jackson Sowell 1900