สโมสรฟุตบอลเชลซี
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลเชลซี | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | ในอังกฤษ เดอะบลูส์ ในไทย สิงโตน้ำเงินคราม, สิงห์สำอาง, สิงห์ไฮโซ, สิงห์บลูส์ | |||
ก่อตั้ง | 10 มีนาคม 1905[1] | |||
สนาม | สแตมฟอร์ดบริดจ์ | |||
ความจุ | 41,837 ที่นั่ง[2] | |||
เจ้าของ | กลุ่มทุนของทอดด์ โบห์ลี | |||
ประธาน | ทอดด์ โบห์ลี | |||
ผู้จัดการ | เอนโซ มาเรสกา | |||
ลีก | พรีเมียร์ลีก | |||
2023−24 | พรีเมียร์ลีก อันดับที่ 6 จาก 20 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
| ||||
สโมสรฟุตบอลเชลซี (อังกฤษ: Chelsea Football Club) เป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพที่ตั้งอยู่ในเขตฟูลัม ทางฝั่งตะวันตกของกรุงลอนดอน ซึ่งเล่นอยู่ในพรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1905 มีสนามเหย้าคือ สแตมฟอร์ดบริดจ์[3] เป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของอังกฤษ[4][5][6] ในการแข่งขันภายในประเทศ เชลซีชนะเลิศฟุตบอลลีกสูงสุด 6 สมัย, เอฟเอคัพ 8 สมัย, ลีกคัพ 5 สมัย และ เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ 4 สมัย และในการแข่งขันระหว่างประเทศ สโมสรชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2 สมัย, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 2 สมัย, ยูฟ่ายูโรปาลีก 2 สมัย, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2 สมัย และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 1 สมัย
เชลซีชนะเลิศฟุตบอลลีกสูงสุดสมัยแรกใน ค.ศ. 1955, ชนะเลิศเอฟเอคัพสมัยแรกใน ค.ศ. 1970 และชนะเลิศฟุตบอลยุโรปครั้งแรกในรายการยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ค.ศ. 1971 สโมสรเข้าสู่ยุคตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนจะกลับมาประสบความสำเร็จในทศวรรษ 1990 โดยชนะเลิศฟุตบอลถ้วยหลายรายการ และในช่วงระหว่าง ค.ศ. 2003–2022 ภายใต้การบริหารทีมของ โรมัน อับราโมวิช ถือเป็นช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยคว้าถ้วยรางวัล 21 รายการ เชลซีเป็นหนึ่งในห้าสโมสรของยุโรป และเป็นสโมสรแรกของอังกฤษที่ชนะเลิศการแข่งขันรายการหลักของสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ครบสามรายการ[7] ได้แก่ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่ายูโรปาลีก และ ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ รวมทั้งเป็นสโมสรเดียวที่ชนะเลิศการแข่งขันสามรายการดังกล่าวได้สองสมัยในแต่ละรายการ[8] และยังเป็นสโมสรเดียวในกรุงลอนดอนที่ชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ยูฟ่าซูเปอร์คัพ และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก[9] จากการชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกใน ค.ศ. 2022 ส่งผลให้เชลซีเป็นสโมสรที่สามของประเทศที่คว้าแชมป์รายการนี้ ในแง่ของจำนวนถ้วยรางวัลรวม เชลซีเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากเป็นอันดับ 5 ของอังกฤษ
สีประจำสโมสรคือเสื้อเชิ้ตและกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินพร้อมถุงเท้าสีขาว ตราสโมสรคือรูปสิงโตอาละวาดถือไม้เท้า สโมสรมีคู่ปรับสำคัญ ได้แก่ อาร์เซนอล, ทอตนัมฮอตสเปอร์ และลีดส์ยูไนเต็ด[10] เชลซีเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ชมในสนามมากที่สุดในประเทศ[11] และหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก[12][13] และเป็นสโมสรที่มีมูลค่าทีมมากที่สุดอันดับ 9 ของโลกด้วยมูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์ ใน ค.ศ. 2024 รวมทั้งมีรายรับสูงที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก[14][15]
ประวัติ
ก่อตั้งทีม และยุคสงครามโลก (ค.ศ. 1905–50)
ใน ค.ศ. 1904 กัส เมียร์ส ซื้อสนามกรีฑาสแตมฟอร์ดบริดจ์ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนเป็นสนามฟุตบอล และยื่นข้อเสนอให้ฟูลัมที่อยู่ใกล้เคียงกันเช่าสนาม แต่ถูกปฏิเสธ ดังนั้นเมียร์สจึงเลือกที่จะก่อตั้งสโมสรของเขาเองเพื่อใช้สนามนี้ เนื่องจากมีทีมชื่อฟูลัมอยู่ในเมืองแล้ว จึงใช้ชื่อสโมสรว่าเชลซีซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ติดกัน ชื่ออื่น ๆ ที่เคยอยู่ในตัวเลือกคือ สโมสรฟุตบอลเคนซิงตัน, สโมสรฟุตบอลสแตมฟอร์ดบริดจ์ และสโมสรฟุตบอลลอนดอน[16] เชลซีก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1905 ที่เดอะไรซิงซันผับ (ปัจจุบันคือ เดอะบุตเชอส์ฮุก)[17] อยู่ตรงข้ามประตูทางเข้าหลักในปัจจุบันบนถนนฟูลัม และเชลซีได้รับเลือกให้เข้าสู่ฟุตบอลลีกหลังจากนั้นไม่นาน ผู้จัดการทีมคนแรกของสโมสรคือ จอห์น รอเบิร์ตสัน ซึ่งคุมทีมในฐานะ ผู้เล่น-ผู้จัดการทีม[18]
เชลซีเลื่อนชั้นไปเล่นในลีกสูงสุด (ดิวิชันหนึ่ง) ได้ในฤดูกาลที่สอง แต่ทีมยังมีผลงานไม่คงเส้นคงวานัก และสลับเลื่อนชั้น-ตกชั้นบ่อยครั้งในช่วงปีแรก ๆ พวกเขาผ่านเข้าถึงเอฟเอคัพรอบชิงชนะเลิศ 1915 ในยุคของเดวิด คัลเดอร์เฮด อดีตนักฟุตบอลชาวสกอตแลนด์ แต่ก็แพ้ให้แก่เชฟฟีลด์ยูไนเต็ดที่โอลด์แทรฟฟอร์ด และจบอันดับสามในดิวิชันหนึ่ง ค.ศ. 1920 ซึ่งเป็นการจบอันดับในลีกที่ดีที่สุดของสโมสรในขณะนั้น[19] เชลซีมีชื่อเสียงจากการเซ็นสัญญานักเตะดาวรุ่ง[20] และดึงดูดผู้คนจำนวนมาก สโมสรมีผู้เข้าชมฟุตบอลอังกฤษเฉลี่ยสูงสุดใน 10 ฤดูกาล[21] ได้แก่ ฤดูกาล 1907–08,[22] 1909–10,[23] 1911–12,[24] 1912–13,[25] 1913–14[26] และ 1919–20[27][28] พวกเขาผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศเอฟเอคัพในปี 1920 และ 1932 และเล่นอยู่ในลีกสูงสุดตลอดช่วงทศวรรษที่ 1930 ด้วยการคุมทีมของเลสลี ไนตัน ชาวอังกฤษ แต่ผลงานไม่น่าประทับใจนักโดยมักจะจบด้วยอันดับกลางตารางและท้ายตารางเป็นส่วนมาก
บิลลี บีเรลล์ นักฟุตบอลชาวสกอตแลนด์เข้ามาคุมทีมตั้งแต่ ค.ศ. 1939–52 แต่เชลซีก็ไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันรายการสำคัญ ฟุตบอลอังกฤษได้รับผลกระทบจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเชลซีประสบปัญหาภายในหลายอย่าง พวกเขาทำได้เพียงประคองอันดับอยู่กลางตาราง โดยความสำเร็จในทศวรรษ 1940 ของเชลซีมีเพียงการชนะเลิศฟุตบอลถ้วยการกุศล (War Cup) 2 สมัยเท่านั้น
แชมป์รายการแรก และเริ่มประสบความสำเร็จ (ค.ศ. 1952–70)
เท็ด เดรก อดีตกองหน้าอาร์เซนอลและทีมชาติอังกฤษ ได้เข้ามาคุมทีมใน ค.ศ. 1952 และปรับสโมสรให้ทันสมัยด้วยการโละกลุ่มทหารและข้าราชการวัยเกษียณออกจากการเป็นทีมงาน และได้ปรับทีมเยาวชนและการซ้อมให้เข้มข้นมากขึ้น และซื้อสตาร์เข้ามามากมาย กระทั่งพวกเขาได้ถ้วยแรกในประวัติศาสตร์ในฤดูกาล 1954–55 โดยการเป็นแชมป์ดิวิชันหนึ่ง และอันที่จริงเชลซีจะเป็นทีมแรกจากอังกฤษที่ได้ไปแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรยุโรป แต่ถูกสมาคมฟุตบอลอังกฤษห้ามไว้เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศ เดรกถูกปลดจากตำแหน่งใน ค.ศ. 1961 และแทนที่ด้วยทอมมี ดอเคอร์ตี ที่เข้ามาในฐานะผู้เล่น-ผู้จัดการทีม
โดเชอร์ตีได้ทำการปรับปรุงระบบทีมใหม่ เขาได้ปล่อยนักเตะเก่าหลายคน และได้ซื้อนักเตะใหม่มากมาย หนึ่งในนั้นคือปีเตอร์ ออสกู๊ด ตำนานสโมสร และพวกเขาก็คว้าแชมป์ลีกคัพได้ในฤดูกาล 1964–65 เอาชนะเลสเตอร์ซิตีที่มีกอร์ดอนแบงส์ ผู้รักษาประตูชื่อดังไปด้วยผลประตูรวมสองนัด 3–2 ต่อมา เดฟ เซ็กตัน เข้ามาแทนที่โดเชอร์ตี ก่อนที่จะคว้าแชมป์เอฟเอคัพ 1970 ชนะลีดส์ยูไนเต็ด 2–1 ในนัดแข่งใหม่หลังจากเสมอกันในนัดแรก 2–2[29] ในปีต่อมาพวกเขาก็คว้าแชมป์ถ้วยยุโรปได้เป็นครั้งแรกในรายการยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ชนะเรอัลมาดริด 2–1 ในนัดแข่งใหม่หลังจากเสมอกันในนัดแรก 1–1
ยุคตกต่ำ (ค.ศ. 1970–90)
เชลซีถึงยุคตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อพวกเขาขายผู้เล่นคนสำคัญหลายราย ทีมมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมหลายคน ได้แก่ เอ็ดดี แม็คเครดี, เคน เชลลิโต, แดนนี บลานช์ฟลาวเวอร์ และเจฟฟ์ เฮิสต์ แต่ก็ทำผลงานได้ไม่ดี และมักจะอยู่ท้ายตาราง และย่ำแย่ต่อเนื่องจนถึงขั้นตกชั้นในปลายทศวรรษ 1970 แต่แล้วใน ค.ศ. 1982 เคน เบตส์ ได้เข้ามาซื้อสโมสรด้วยราคาหนึ่งล้านปอนด์ และเขาก็ปรับปรุงสนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ให้ดีขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก ซ้ำร้ายพวกเขาเกือบจะตกชั้นไปดิวิชันสาม ในปีเดียวกัน แต่ใน ค.ศ. 1984 จอห์น นีล ได้ดึงทีมขึ้นชั้นมาจากดิวิชันสองด้วยการคว้าแชมป์ในปี 1983–84 และตกชั้นอีกครั้งในฤดูกาล 1987–88 ก่อนที่จะเลื่อนชั้นอีกครั้งในฤดูกาล 1988–89 ด้วยแต้มที่ห่างจากแมนเชสเตอร์ซิตีถึง 17 คะแนน และเชลซีไม่ตกชั้นจากลีกสูงสุดอีกเลยนับจากนั้น
ประสบความสำเร็จในฟุตบอลถ้วย (ค.ศ. 1992–2000)
ใน ค.ศ. 1992 แมทธิว ฮาร์ดิง นักธุรกิจชาวอังกฤษซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสโมสรเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ และใช้เงินกว่า 26 ล้านปอนด์ในการลงทุนซื้อตัวผู้เล่นใหม่หลายราย รวมทั้งสร้างอัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนือของสนาม[30]
เชลซีเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพฤดูกาล 1993–94 ด้วยฝีมือของเกลนน์ ฮอดเดิล แต่แพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 0–4[31] ต่อมา รืด คึลลิต เข้ามาทำทีมในฐานะผู้เล่น-ผู้จัดการทีมใน ค.ศ. 1996 และพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้ใน ค.ศ. 1997 โดยชนะมิดเดิลส์เบรอ 2–0 ต่อมา กุลลิทถูกแทนที่โดยจันลูกา วีอัลลี ซึ่งพาทีมคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยหลายรายการ เริ่มต้นด้วยลีกคัพ 1998 โดยชนะมิดเดิลส์เบรอไปได้อีกครั้งในช่วงต่อเวลาพิเศษ 2–0 และยังคว้าแชมป์ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพสมัยที่สองด้วยการชนะชตุทการ์ท 1–0 ตามด้วยแชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพด้วยการชนะเรอัลมาดริด 1–0 ตามด้วยแชมป์เอฟเอคัพ 2000[32] ชนะแอสตันวิลลา 1–0 และยังได้ร่วมแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นครั้งแรกแต่ก็ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายโดยแพ้บาร์เซโลนา วิอัลลี่ถูกปลดในฤดูกาลถัดมา และแทนที่ด้วยเกลาดีโอ รานีเอรี ซึ่งพาทีมเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพได้อีกครั้งใน ค.ศ. 2002 แต่แพ้อาร์เซนอล 0–2[33]
ยุคของโรมัน อับราโมวิช (ค.ศ. 2003–2022)
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2003 เคนเบตส์ได้ขายสโมสรให้แก่โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซียในราคา 140 ล้านปอนด์ และทีมได้ทุ่มซื้อผู้เล่นชื่อดังมากมาย โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของสโมสรในการยกระดับเป็นทีมระดับโลกจนถึงปัจจุบัน[34][35][36][37] เขาได้ปลดรานีเอรีออกจากตำแหน่ง และแทนที่ด้วยโชเซ มูรีนโย ซึ่งเข้ามาเป็นตำนานผู้จัดการทีมที่นำความสำเร็จมาสู่สโมสร[38][39] เริ่มจากการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2004–05 ด้วยคะแนนสูงถึง 95 คะแนน และเป็นครั้งแรกที่สโมสรคว้าแชมป์ลีกได้นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อมาจากฟุตบอลดิวิชันหนึ่ง และยังเอาชนะลิเวอร์พูลในนัดชิงชนะเลิศลีกคัพ 3–2[40]
เชลซีป้องกันแชมป์ลีกได้อีกครั้งในฤดูกาลต่อมา ถือเป็นสโมสรที่ 5 ในอังกฤษที่ได้แชมป์ลีก 2 สมัยติดต่อกันนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในฤดูกาล 2006–07 เชลซีเสียแชมป์พรีเมียร์ลีกให้แก่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด แต่ยังได้แชมป์ฟุตบอลถ้วยสองรายการในเอฟเอคัพ (ชนะยูไนเต็ด 1–0) และลีกคัพ (ชนะอาร์เซนอล 2–1) มูรีนโยถูกปลดในช่วงต้นฤดูกาล 2007–08 จากการมีปัญหากับผู้บริหาร โดยมูรินโญอำลาทีมไปพร้อมสถิติไม่แพ้ทีมใดในบ้านตลอดสองฤดูกาลที่ทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก[41] อัฟราม แกรนท์ ผู้จัดการทีมชาติอิสราเอลเข้ามาคุมทีมต่อ และพาทีมเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นครั้งแรกแต่แพ้จุดโทษยูไนเต็ดหลังจากเสมอกัน 1–1[42] และยังได้รองแชมป์ทั้งในพรีเมียร์ลีก และลีกคัพ (แพ้ทอตนัมฮอตสเปอร์ 1–2)
ในฤดูกาล 2008–09 ลูอิส เฟลีปี สโกลารี เข้ามาคุมทีม โดยเป็นผู้จัดการทีมที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกคนแรกที่ได้คุมสโมสรในพรีเมียร์ลีก แต่ก็ถูกปลดหลังผ่านไปเพียง 6 เดือน คืส ฮิดดิงก์ เข้ามารับตำแหน่งชั่วคราว เขาพาทีมผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก แต่แพ้บาร์เซโลนาด้วยกฏประตูทีมเยือนหลังจากเสมอกันรวมผลสองนัด 1–1 ซึ่งผู้ตัดสินได้รับการวิจารณ์ในการแข่งขันนัดที่สองที่สแตมฟอร์ดบริดจ์ เชลซีจบอันดับ 3 ในลีก และคว้าแชมป์เอฟเอคัพด้วยการชนะเอฟเวอร์ตัน 2–1[43] ต่อมาในฤดูกาล 2009–10 การ์โล อันเชลอตตี เข้ามาคุมทีม และประเดิมด้วยการคว้าแชมป์เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ ก่อนจะพาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกด้วยการยิงไปถึง 103 ประตู โดยเป็นสโมสรแรกในลีกสูงสุดของอังกฤษที่ทำเกิน 100 ประตูในฤดูกาลเดียวนับตั้งแต่ ค.ศ. 1963 และยังเป็นสถิติมากที่สุดอันดับสองในพรีเมียร์ลีกมาถึงปัจจุบัน[44] เชลซียังป้องกันแชมป์เอฟเอคัพโดยชนะพอร์ตสมัท 1–0 เป็นการทำดับเบิลแชมป์ในประเทศได้เป็นครั้งแรกในยุคพรีเมียร์ลีก ต่อมาในฤดูกาล 2010–11 เชลซีเสียแชมป์พรีเมียร์ลีกให้แก่ยูไนเต็ด และตกรอบฟุตบอลถ้วยทุกรายการ[45] อันเชลอตตีถูกปลดเมื่อจบฤดูกาล[46]
ในฤดูกาล 2011–12 อังแดร วีลัช-โบอัช เข้ามาคุมทีมแต่ทำผลงานย่ำแย่จนโดนปลด โรแบร์โต ดี มัตเตโอ เข้ามารักษาการ และพาทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกสมัยแรกโดยเอาชนะไบเอิร์นมิวนิกในการดวลจุดโทษ ถือเป็นสโมสรแรกจากลอนดอนที่คว้าแชมป์ได้ และยังคว้าแชมป์เอฟเอคัพจากการชนะลิเวอร์พูล 2–1 ดี มัตเตโอได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ก็ถูกปลดในฤดูกาลต่อมา และราฟาเอล เบนิเตซ เข้ามาคุมทีมชั่วคราว[47] แม้จะทำได้แค่รองแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก โดยแพ้คอรินเทียนส์ 0–1 แต่สโมสรคว้าแชมป์ยูโรปาลีกสมัยแรกโดยชนะไบฟีกา 2–1 ถือเป็นสโมสรแรกที่ได้แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และยูโรปาลีกสองฤดูกาลติดต่อกัน รวมทั้งเป็นสโมสรที่ 4 ของยุโรปที่คว้าถ้วยรางวัลหลักของยูฟ่าครบทั้ง 3 รายการ ได้แก่ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ และ ยูฟ่ายูโรปาลีก
โชเซ มูรีนโย กลับมาคุมทีมอีกครั้งในฤดูกาล 2013–14 แม้จะไม่ได้แชมป์รายการใดในปีแรก แต่พวกเขาคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2014–15 ด้วยการไม่แพ้ทีมใดในบ้านทั้งฤดูกาล และคว้าแชมป์ลีกคัพด้วยการชนะสเปอร์ 2–0 ต่อมาในฤดูกาล 2015–16 เชลซีแพ้อาร์เซนอลในเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ และมีผลงานย่ำแย่ทำให้มูรีนโยถูกปลด คืส ฮิดดิงก์ เข้ามาคุมทีมชั่วคราวอีกครั้ง แต่ผลงานไม่ดีขึ้น โดยจบฤดูกาลเพียงอันดับ 10 ไม่ได้แข่งขันฟุตบอลยุโรป ต่อมา ในฤดูกาล 2016–17 อันโตนีโอ กอนเต พาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกโดยเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 6 ด้วยคะแนน 93 คะแนนซึ่งมากที่สุดในรอบ 12 ปี แต่ในฤดูกาลต่อมา พวกเขาทำได้เพียงจบอันดับ 5 และแม้จะคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้จากการชนะยูไนเต็ด 1–0 แต่กอนเตก็ถูกปลด[48] เมารีซีโอ ซาร์รี เข้ามาคุมทีมต่อในฤดูกาล 2018–19 และพาทีมชนะหลายนัดในช่วงแรก ก่อนจะสะดุดในเวลาต่อมารวมทั้งแพ้แมนเชสเตอร์ซิตี 0–6[49] ซึ่งเป็นการแพ้ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกของสโมสร ตามด้วยการตกรอบเอฟเอคัพด้วยการแพ้ยูไนเต็ด และยังแพ้จุดโทษแมนเชสเตอร์ซิตีในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลลีกคัพ[50] แต่ยังจบอันดับ 3 ในพรีเมียร์ลีก และคว้าแชมป์ยูโรปาลีกโดยชนะอาร์เซนอล 4–1[51][52]
เข้าสู่ฤดูกาล 2019–20 เชลซีต้องเสียผู้เล่นสำคัญทั้งเอแดน อาซาร์ และดาวิด ลูอีซ รวมถึงผู้จัดการทีมอย่างซาร์รีที่ย้ายไปคุมยูเวนตุส[53] และสโมสรไม่สามารถซื้อขายนักเตะใหม่ตลอดทั้งฤดูกาลจากการทำผิดกฎการซื้อผู้เล่นเยาวชน[54] แฟรงก์ แลมพาร์ด อดีตผู้เล่นของสโมสรเข้ามาคุมทีม และพาเชลซีจบอันดับ 4 ในพรีเมียร์ลีก และยังเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพแต่แพ้อาร์เซนอล 1–2 แลมพาร์ดถูกปลดในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 จากผลงานย่ำแย่ในฤดูกาล 2020–21[55] โทมัส ทุคเคิล เข้ามาคุมทีมต่อ และพาทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นสมัยที่สอง โดยชนะแมนเชสเตอร์ซิตี 1–0 แต่ทำได้เพียงรองแชมป์เอฟเอคัพ โดยแพ้เลสเตอร์ซิตี 0–1 และในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2021 สโมสรออกแถลงการณ์ยืนยันเข้าร่วมการแข่งขันเดอะซูเปอร์ลีก ร่วมกับสโมสรใหญ่ในยุโรป[56] แต่ได้ประกาศยกเลิกในวันต่อมาเนื่องจากกระแสต่อต้านของผู้สนับสนุน[57] ในปีนี้เชลซียังเป็นสโมสรแรก ๆ ที่ให้การสนับสนุนบริการสุขภาพแห่งชาติจากการระบาดทั่วของโควิด-19[58] ต่อมา ในฤดูกาล 2021–22 เชลซีคว้าแชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพโดยชนะจุดโทษบิยาร์เรอัล[59] ตามด้วยแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2021 จากการชนะปัลเมย์รัส 2–1 คว้าแชมป์สมัยแรก พวกเขายังเข้าชิงชนะเลิศอีเอฟแอลคัพแต่แพ้ลิเวอร์พูลในการดวลจุดโทษ[60]
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 อับราโมวิชประกาศขายสโมสรอย่างเป็นทางการ และจะนำเงินส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือชาวยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากจากการรุกรานของรัสเซีย นอกจากนี้อับราโมวิชยังกล่าวว่า เงินที่ทางสโมสรติดค้างเขาอยู่จำนวนกว่า 1,500 ล้านปอนด์นั้น สโมสรมิต้องดำเนินการชำระคืน[61][62] ก่อนที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะประกาศคว่ำบาตรอับราโมวิชในวันที่ 12 มีนาคม[63] ส่งผลให้สโมสรมิสามารถซื้อขายหรือต่อสัญญาผู้เล่นได้ ต่อมา ในวันที่ 7 พฤษภาคม สโมสรยืนยันว่าได้ตกลงขายหุ้นให้แก่กลุ่มนักธุรกิจซึ่งนำโดยท็อดด์ โบห์ลี และมาร์ก วอลเตอร์ ชาวอเมริกัน รวมถึง ฮานสยอร์ก ไวส์ ชาวสวิส ด้วยมูลค่า 2,500 ล้านปอนด์[64] ก่อนที่เชลซีจะเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพได้เป็นฤดูกาลที่สามติดต่อกัน แต่ก็แพ้ลิเวอร์พูลในการดวลจุดโทษไปอีกครั้ง[65] และจบในอันดับสามในพรีเมียร์ลีก
ทอดด์ โบห์ลี (ค.ศ. 2022–ปัจจุบัน)
ในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 สโมสรได้ออกแถลงการณ์ถึงการได้กลุ่มเจ้าของใหม่ซึ่งนำโดย ทอดด์ โบห์ลี ภายหลังจากขั้นตอนในการเข้าคุมกิจการลุล่วงเป็นที่เรียบร้อย[66] โดยโบห์ลี นักธุรกิจชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นประธานและซีอีโอของ Eldridge รวมถึงเคลียร์เลค แคปิตัล กรุ๊ป คือกลุ่มทุนเจ้าของใหม่ที่เข้ามาควบคุมกิจการสโมสรต่อ ขั้นตอนในการซื้อขายผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร และพรีเมียร์ลีก และในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2022 สโมสรได้ประกาศว่า บรูซ บัค จะก้าวลงจากตำแหน่งประธานสโมสรสรเมื่อสิ้นสุดเดือนมิถุนายน หลังจากดำรงตำแหน่งมายาวนานตั้งแต่ ค.ศ. 2003 แต่จะยังรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้แก่สโมสร[67] โดยโบห์ลีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งต่อควบคู่ไปกับการเป็นเจ้าของทีม ตามด้วยการลาออกของบุคคลสำคัญอีกสองรายได้แก่ มารินา กรานอฟสกายา ผู้อำนวยการของสโมสร[68] และ แปเตอร์ แช็ค อดีตผู้เล่นคนสำคัญซึ่งลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคนิคและศักยภาพ[69]
ในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 2022 ทุคเคิลได้ถูกปลดเนื่องจากผลงานไม่เป็นที่ประทับใจ[70] ในวันต่อมา เกรอัม พอตเตอร์ อดีตผู้จัดการทีมไบรตันแอนด์โฮฟอัลเบียน เข้ามารับตำแหน่งด้วยสัญญา 5 ปี[71] แต่ก็ถูกปลดในเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 หลังจากผลงานย่ำแย่โดยอันดับตกไปอยู่กลางตาราง แฟรงก์ แลมพาร์ด ได้รับการแต่งตั้งให้กลับมาคุมทีมอีกครั้งจนจบฤดูกาล[72] แต่ก็พาทีมทำผลงานย่ำแย่ต่อเนื่อง โดยคุมทีมชนะเพียงนัดเดียวจาก 11 นัดรวมทุกรายการ และเชลซีจบฤดูกาลด้วยอันดับ 12 ซึ่งย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ ค.ศ. 1994 เมาริซิโอ โปเชติโน เข้ามาคุมทีมต่อด้วยสัญญาสองปี[73] และพาทีมเข้าชิงชนะเลิศอีเอฟแอลคัพฤดูกาล 2023–24 แต่แพ้ลิเวอร์พูลในช่วงต่อเวลา 0–1 ทำให้เชลซีกลายเป็นสโมสรแรกของฟุตบอลอังกฤษที่แพ้นัดชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยในประเทศ 6 ครั้งติดต่อกัน[74] โปเชติโนพาทีมจบอันดับ 6 ได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่าคอนเฟอเรนซ์ลีก ฤดูกาล 2024–25 เขาถูกยกเลิกสัญญาในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 เนื่องจากขัดแย้งกับผู้บริหารในด้านแนวทางการทำทีม โดยเฉพาะการใช้งานผู้เล่นเยาวชน[75][76][77] สโมสรแต่งตั้ง เอนโซ มาเรสกา มารับตำแหน่งแทนในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 2024
ตราสโมสร และสี
ตราสโมสรรูปแบบแรกของเชลซีเริ่มใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1905–52 ซึ่งเป็นรูปใบหน้าของชายชรา โดยเชื่อกันว่าเป็นขุนนางเก่าแก่ของอังกฤษในสมัยนั้น โดยสโมสรใช้ตราสัญลักษณ์นี้เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มข้าราชการวัยเกษียณซึ่งอาศัยอยู่แถบโรงพยาบาลรอยัลเชลซี โดยโรงพยาบาลดังกล่าวยังมีฐานะเป็นบ้านพักคนชราให้แก่กลุ่มทหารผ่านศึกและเหล่าข้าราชการเก่าแก่ในกรุงลอนดอน นำไปสู่ฉายาของสโมสรว่า "pensioner" ซึ่งหมายถึง "ผู้รับบำนาญ" โดยสโมสรใช้ตรานี้อยู่หลายปีแม้จะไม่ปรากฏบนเสื้อแข่งแต่มีปรากฏในตารางแข่งขันและสื่อสิงพิมพ์ในยุคนั้น
ต่อมา เท็ด เดรก เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมใน ค.ศ. 1952 และมีแนวคิดที่จะปรับปรุงตราสโมสรให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น มีการเพิ่มตัวอักษร C.F.C และสีน้ำเงินให้เด่นชัด เพื่อเปลี่ยนฉายาของทีม กลายมาเป็น The Blues โดยใช้สีน้ำเงินเป็นหลักเพื่อให้เป็นที่รู้กันว่าสีนี้คือสีประจำของทีม แต่ตราใหม่นี้ก็มีการใช้งานเพียงหนึ่งปีเท่านั้น และมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งใน ค.ศ. 1953 มีการออกแบบขอบบริเวณวงกลมให้สวยงามโดยได้อิทธิพลมาจากเสื้อของเหล่าขุนนางอังกฤษที่ประจำอยู่ในเมือง[78] และมีการนำสิงโตสีน้ำเงินถือไม้เท้ามาเป็นสัญลักษณ์หลักภายในตรา สื่อถึงความองอาจ น่าเกรงขาม และแฟนบอลของทีมจึงเรียกทีมตนเองว่าสิงโตน้ำเงินมานับแต่นั้น และตราสโมสรนี้มีการใช้งานมายาวนานถึง 33 ฤดูกาล
ใน ค.ศ. 1986 สโมสรต้องการเปลี่ยนตราสโมสรอีกครั้ง ด้วยเหตุผลทางการตลาด โดยยังยึดรูปแบบหลักของตราเดิมคือใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์หลัก เพียงแต่มีการปรับปรุงพื้นหลังเป็นสีน้ำเงิน และมีการใช้ตรานี้หลายปีก่อนที่แฟน ๆ จะเรียกร้องให้เปลี่ยนอีกครั้งในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งสโมสรใน ค.ศ. 2006 ซึ่งมีการเปิดตัวตราใหม่อีกครั้ง ยังคงยึดรูปแบบเดิมแต่ปรับให้ทันสมัยด้วยการเพิ่มพื้นหลังสีขาวลงไปด้านหลังของสิงโตสีน้ำเงิน และเปลี่ยนสีไม้เท้าที่มือสิงโตไปเป็นสีนำเงิน ซึ่งเป็นตราสโมสรที่แฟนบอลชื่นชอบมาก รวมถึงผู้บริหารอย่างปีเตอร์ เคนยอน ที่ถึงขั้นกล่าวว่าในที่สุดสโมสรก็พบตราที่สวยงามและเหมาะสมที่สุด[79] และสโมสรใช้ตรานี้มาถึงปัจจุบัน
|
เชลซีใช้สีเขียวอมฟ้าเป็นสีหลักของเสื้อแข่งในช่วงแรกของการก่อตั้ง (1905 – c. 1912)[80] |
ในช่วงแรกของการก่อตั้ง สโมสรใช้เขียวอมฟ้า (อีตันบลู) เป็นสีประจำซึ่งมาจากขุนนางซึ่งเป็นประธานสโมสรในยุคแรก ๆ และสวมกางเกงขาสั้นสีขาว และสวมถุงเท้าสีดำหรือน้ำเงินเข้ม ก่อนจะเปลี่ยนสีเสื้อเป็นสีน้ำเงินเข้มใน ค.ศ. 1912[81] ต่อมาในทศวรรษ 1960 ทอมมี ด็อคเคอร์ตี ผู้จัดการทีมได้เปลี่ยนสีกางเกงมาเป็นสีน้ำเงินเหมือนสีเสื้อ และสวมถุงเท้าสีขาว โดยต้องการให้มีความสวยงามและทันสมัยยิ่งขึ้น ชุดนี้มีการใช้ครั้งแรกในฤดูกาล 1964–65[82] และนับแต่นั้นเชลซีก็สวมชุดสีน้ำเงินล้วนและถุงเท้าสีขาวมาตลอด ยกเว้นในช่วง ค.ศ. 1985–92 ซึ่งพวกเขากลับไปสวมถุงเท้าสีน้ำเงิน
ชุดทีมเยือนของสโมสรมักจะเป็นสีขาวล้วนหรือสีเหลืองโดยมีแถบสีน้ำเงินที่แขน แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสโมสรมีการใช้ชุดทีมเยือนสีดำล้วน รวมทั้งสีกรมท่าเพื่อเพิ่มความหลากหลายและเหตุผลทางการตลาด สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบชุดทีมเยือนในโอกาสพิเศษบ้าง เช่น ในรอบชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ ค.ศ. 1966 เชลซีสวมเสื้อซึ่งเป็นแถบสีน้ำเงินสลับแดง ได้แรงบันดาลใจมากจากอินเตอร์มิลาน รวมถึงในช่วงทศวรรษ 1970 สโมสรใช้เสื้อทีมเยือนซึ่งมีสีแดง สีเขียว และสีขาวบนเสื้อ ได้แรงบันดาลใจมาจากทีมชาติฮังการีซึ่งประสบความสำเร็จและเป็นทีมดังในช่วงทศวรรษ 1950[83]
สนาม
สแตมฟอร์ดบริดจ์เป็นสนามฟุตบอลแห่งเดียวของเชลซีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาตั้งอยู่ในเขตฟูแลม ในลอนดอน โดยเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1877[84] โดยถือเป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ และในช่วง 28 ปีแรกที่เปิดใช้ สนามแห่งนี้ถูกใช้สำหรับการแข่งขันกีฬาดั้งเดิมในสมัยสมัยวิกตอเรียโดยเฉพาะ และยังถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของสนามกรีฑาด้วย[85] สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ออกแบบโดยอาร์ชิบาลด์ ลีตช์ สถาปนิกชาวสกอตแลนด์ สามารถจุคนได้กว่า 42,000 คน และจะมีแผนขยายเป็น 60,000 คน แต่แผนถูกเลื่อนไปโดยไม่มีกำหนด สแตมฟอร์ดบริดจ์ยังใช้ในการแข่งขันทางการของทีมชาติอังกฤษในบางโอกาส รวมถึงการแข่งขันเอฟเอคัพ และลีกคัพในนัดสำคัญ
สนามซ้อม
ในช่วงแรก เชลซีใช้สนามซ้อมเฮลลิงตันในการซ้อม แต่ก็ย้ายไปที่ค็อบแฮม ใน ค.ศ. 2004 เนื่องจากสโมสรฟุตบอลควีนส์พาร์กเรนเจอส์ได้เข้ามาซื้อสนามซ้อมในปี 2005
การสนับสนุน และคู่แข่ง
เชลซีถือเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก[86] พวกเขามียอดผู้เข้าชมการแข่งขันโดยเฉลี่ยต่อนัดสูงเป็นอันดับ 6 ในอังกฤษ[87] โดยมีจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันเฉลี่ย 40,000 คนที่สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ กลุ่มผู้สนับสนุนของสโมสรโดยมากแล้วจะอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน โดยเฉพาะในเกรเทอร์ลอนดอน ผู้สนับสนุนของสโมสรจำนวนมากยังมาจากชนชั้นแรงงานในย่าน แฮมเมอร์สมิธ และ แบตเทอร์ซี ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงลอนดอน รวมถึงชนชั้นสูงจากย่านเคนซิงตัน[88] ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 2007–12 เชลซีเป็นสโมสรที่สามารถจำหน่ายตั๋วเข้าชมเกมในบ้านได้มากที่สุดเป็นอับดับสี่ของโลกด้วยจำนวน 910,000 ใบ[89] และใน ค.ศ. 2023 สโมสรมีผู้ติดตามทางสื่อสังคมออนไลน์สูงถึง 119 ล้านคน สูงที่สุดเป็นอันดับสี่ในบรรดาสโมสรฟุตบอล[90]
ในช่วงทศวรรษ 1970–80 ผู้สนับสนุนของสโมสรเป็นที่รู้จักในฐานะส่วนหนึ่งของฟุตบอลฮูลิแกน ซึ่งแต่เดิมรู้จักกันในชื่อเชลซีเชดบอยส์ และต่อมาในชื่อเชลซีเฮดฮันเตอร์ มีชื่อเสียงระดับประเทศในด้านความรุนแรงในการเชียร์ ควบคู่ไปกับกลุ่มฮูลิแกนจากสโมสรอื่น ๆ อาทิ อินเตอร์ซิตีของเวสต์แฮมยูไนเต็ด และบุชแวกเกอร์สของมิลวอลล์[91] นำไปสู่การเสนอให้มีการสร้างรั้วกั้นไฟฟ้าเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ชมบุกรุกสนาม แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธโดยสภามหานครลอนดอน[92] ความรุนแรงของกลุ่มฮูลิแกนได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษ 1990 ด้วยมาตรการตรวจตราที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด[93] จากสถิติของกระทรวงมหาดไทย (สหราชอาณาจักร) ระบุว่าในฤดูกาล 2009–10 มีผู้สนับสนุนของเชลซีมากถึง 126 รายถูกจับกุมและดำเนินคดีในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเชียร์และการก่อความรุนแรงทั้งในและนอกสนาม ซึ่งสูงที่สุดเป็นอันดับสามในลีก และยังมีการออกคำสั่งห้ามกลุ่มผู้สนับสนุนของสโมสรเข้าสนามมากถึง 27 ครั้งซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับห้า[94]
เชลซีเป็นอริโดยตรงกับสโมสรใหญ่ร่วมกรุงลอนดอน ได้แก่ อาร์เซนอล และ ทอตนัมฮอตสเปอร์ มายาวนาน[95] โดยเฉพาะการเป็นอริกันอย่างเปิดเผยของ โชเซ มูรีนโย และ อาร์แซน เวนเกอร์ ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ในช่วงฤดูกาล 2004–07 และ 2013–15 รวมถึงการเป็นอริกับลีดส์ยูไนเต็ดในช่วงทศวรรษ 1960–70 ซึ่งมีการแข่งขันสำคัญมากมาย โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ 1969–70[96] นอกจากนี้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เชลซีได้ทำการแข่งขันรายการสำคัญกับลิเวอร์พูลหลายนัด โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากันของ โชเซ มูรีนโย และ ราฟาเอล เบนิเตซ ในช่วง ค.ศ. 2005–07 และยังมีการแข่งขันกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่บรรยากาศมีความเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่โรมัน อับราโมวิชเข้ามาบริหารทีม เชลซีได้ยกระดับขึ้นมาจนสามารถแย่งความสำเร็จกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้ สโมสรอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนตะวันตกเช่น เบรนต์ฟอร์ด, ฟูลัม และ ควีนส์พาร์กเรนเจอส์ แม้จะถือเป็นคู่อริในแง่ของสภาพที่ตั้งซึ่งอยู่ละแวกเดียวกัน แต่ไม่ถือเป็นคู่อริโดยตรงเนื่องจากไม่ได้แย่งความสำเร็จกัน
ใน ค.ศ. 2004 ผลสำรวจระบุว่าแฟนบอลเชลซีส่วนมากยกให้ อาร์เซนอล, สเปอร์ และ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เป็นสามสโมสรที่เป็นคู่อริโดยตรงของพวกเขา ในขณะเดียวกัน แฟนบอลของอาร์เซนอล, ฟูลัม, ลีดส์, สเปอร์ และเวสต์แฮม ก็ระบุว่าเชลซีเป็นหนึ่งในสามสโมสรหลักที่เป็นคู่อริของตัวเอง[97]
การเงินและเจ้าของ
สโมสรฟุตบอลเชลซีก่อตั้งโดย กัส เมียร์ส ใน ค.ศ. 1905 หลังจากที่เขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1912 บุตรชายและหลานชายของเขายังคงเป็นเจ้าของสโมสรจนถึง ค.ศ. 1982 ก่อนที่ เคนเบตส์ จะซื้อสโมสรจากไบรอัน เมียร์ส หลานชายของ กัส เมียร์ส ในราคา 1 ล้านปอนด์ เบตส์ซื้อหุ้นในสโมสรและนำเชลซีเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เอไอเอ็มในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1996 และในช่วงกลางทศวรรษ 1990 แฟนบอลและนักธุรกิจของเชลซี แมทธิว ฮาร์ดิง ได้เข้ามาเป็นผู้อำนวยการและให้เงินกู้แก่สโมสรจำนวน 26 ล้านปอนด์เพื่อสร้างอัฒจันทร์ฝั่งเหนือของสนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ขึ้นใหม่และลงทุนซื้อผู้เล่นใหม่
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2005 โรมัน อับราโมวิช เข้าซื้อหุ้น 50% ของทุนจดทะเบียน Chelsea Village plc ซึ่งรวมถึงสัดส่วนการถือหุ้น 29.5% ของเคนเบตส์ด้วยเงิน 30 ล้านปอนด์ และในสัปดาห์ต่อมาได้ซื้อผู้ถือหุ้น 12,000 รายที่เหลือส่วนใหญ่ในราคา 35 เพนนีต่อหุ้น การซื้อกิจการคิดเป็นมูลค่ารวม 140 ล้านปอนด์[98] ในช่วงเวลาดังกล่าว สโมสรยังมีหนี้อยู่ราว 100 ล้านปอนด์ ซึ่งรวมถึงหนี้ในระบบยูโรบอนด์จำนวน 75 ล้านปอนด์ที่สะสมมาตั้งแต่ ค.ศ. 1995 โดยทีมบริหารของเบตส์ได้กู้เงินเพื่อซื้อกรรมสิทธิ์สนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ และลงทุนสำหรับการพัฒนาทีมรวมถึงสนามกีฬา[99] หนี้ดังกล่าวรวมถึงดอกเบี้ย 9% ของเงินกู้ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ประมาณ 7 ล้านปอนด์ต่อปี และจากข้อมูลของ บรูซ บัค ประธานสโมสร ระบุว่าเชลซีกำลังประสบปัญหาในการผ่อนชำระเงินในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2005 โดยอับราโมวิชได้ชำระหนี้บางส่วนในทันที[100] แต่ยอดค้างชำระ 36 ล้านปอนด์ยังไม่ได้รับการชำระคืนเต็มจำนวนจนกระทั่ง ค.ศ. 2008 และตั้งแต่นั้นมาสโมสรก็ไม่มีหนี้นอกระบบอีกเลย[101]
สโมสรเชลซีทำกำไรไม่ได้เลยในช่วงเก้าปีแรกของอับราโมวิช และขาดทุนเป็นประวัติการณ์ถึง 140 ล้านปอนด์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2012 เชลซีประกาศผลกำไร 1.4 ล้านปอนด์ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สโมสรทำกำไรภายใต้การบริหารของอับราโมวิช[102] ตามมาด้วยการขาดทุนใน ค.ศ. 2013 ก่อนจะกำไร 18.4 ล้านปอนด์ในเดือนมิถุนายน 2014[103] และล่าสุด ใน ค.ศ. 2018 เชลซีประกาศผลกำไรหลังหักภาษีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 62 ล้านปอนด์[104] เชลซีเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าทีมสูงที่สุดในโลก และแบรนด์ของสโมสรถือว่ามีชื่อเสียงในแง่การตลาดลำดับต้น ๆ ในบรรดาทีมกีฬาทุกประเภท
ต่อมา ใน ค.ศ. 2022 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นสืบเนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ส่งผลให้อับราโมวิชได้ประกาศขายสโมสรในเดือนมีนาคม และเขาได้โอนมอบกรรมสิทธิ์ในการควบคุมสโมสรให้แก่มูลนิธิการกุศลของสโมสร ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศคว่ำบาตรอับราโมวิชอย่างเป็นทางการซึ่งเป็นผลมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยการคว่ำบาตรดังกล่าวรวมถึงการสั่งห้ามเดินทาง และห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเงินทุกรูปแบบ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้สโมสรจะไม่สามารถดำเนินการขายสินค้าต่าง ๆ และซื้อขายตัวผู้เล่นได้
ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2022 สโมสรได้ยืนยันว่า ได้ตกลงขายหุ้นให้กับกลุ่มมหาเศรษฐีซึ่งนำโดย ทอดด์ โบห์ลี นักธุรกิจชาวอเมริกัน เจ้าของร่วมทีมเบสบอล แอลเอ ด็อดเจอร์ส ในเมเจอร์ลีกเบสบอล สหรัฐอเมริกา รวมถึงมาร์ก วอลเตอร์ ชาวอเมริกัน และ ฮานสยอร์ก ไวส์ ชาวสวิส ด้วยมูลค่า 2,500 ล้านปอนด์ และในวันที่ 24 พฤษภาคม รัฐบาลอังกฤษ และคณะกรรมการพรีเมียร์ลีกอังกฤษได้อนุมัติข้อเสนอการเข้าซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลเชลซีของ ทอดด์ โบห์ลี และคณะ ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 พฤษภาคม
ผู้เล่น
ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
- ณ วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2024[105]
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
ผู้เล่นที่ถูกยืมตัว
- ณ วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2024[106]
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
ผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปี
ทำเนียบผู้จัดการทีม
ปี | ชื่อ | โทรฟี่แชมป์ |
---|---|---|
1905–1906 | จอห์น เทต รอเบิร์ตสัน | |
1906–1907 | วิเลียม ลูอิส | |
1907–1933 | เดวิด คัลเดอร์เฮด | |
1933–1939 | เลสลี ไนตัน | |
1939–1952 | บิลลี บีเริลล์ | |
1952–1961 | เท็ด เดรก | ดิวิชันหนึ่ง, แชริตีชีลด์ |
1962–1967 | ทอมมี ดอเคอร์ตี | ลีกคัพ |
1967–1974 | เดฟ เซกซ์ตัน | เอฟเอคัพ, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ |
1974–1975 | รอน ซวร์ต | |
1975–1977 | เอ็ดดี้ แม็คเครดี้ | |
1977–1978 | เคน เชลลิโต | |
1978–1979 | แดนนี บลานช์ฟลาวเวอร์ | |
1979–1981 | เจฟฟ์ เฮิสต์ | |
1981–1985 | จอห์น นีล | ดิวิชันสอง |
1985–1988 | จอห์น ฮอลลินส์ | ฟูลล์เมมเบอร์สคัพ |
1988–1991 | บ็อบบี แคมป์เบลล์ | ดิวิชันสอง, ฟูลล์เมมเบอร์สคัพ |
1991–1993 | เอียน พอร์เตอร์ฟิลด์ | |
1993 | เดวิด เวบบ์ | |
1993–1996 | เกล็น ฮอดเดิล | |
1996–1998 | รืด คึลลิต (ผู้เล่น–ผู้จัดการทีม) | เอฟเอคัพ |
1998–2000 | จันลูกา วีอัลลี (ผู้เล่น–ผู้จัดการทีม) | เอฟเอคัพ, ลีกคัพ, แชริตีชีลด์, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ |
2000–2004 | เกลาดีโอ รานีเอรี | |
2004–2007 | โชเซ มูรีนโย | 2 พรีเมียร์ลีก, 2 ลีกคัพ, เอฟเอคัพ, คอมมิวนิตีชีลด์ |
2007–2008 | อัฟราม แกรนท์ (รักษาการ) | |
2008–2009 | ลูอิส เฟลีปี สโกลารี | |
2009 | คืส ฮิดดิงก์ (รักษาการ) | เอฟเอคัพ |
2009–2011 | การ์โล อันเชลอตตี | พรีเมียร์ลีก, เอฟเอคัพ, คอมมิวนิตีชีลด์ |
2011–2012 | อังแดร วีลัช–โบอัช | |
2012 | โรแบร์โต ดี มัตเตโอ (รักษาการช่วงแรก)[107] | เอฟเอคัพ, ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก |
2012–2013 | ราฟาเอล เบนิเตซ (รักษาการ)[108] | ยูฟ่ายูโรปาลีก |
2013–2015 | โชเซ มูรีนโย | พรีเมียร์ลีก, ลีกคัพ |
2015–2016 | คืส ฮิดดิงก์ (รักษาการ) | |
2016–2018 | อันโตนีโอ กอนเต | พรีเมียร์ลีก, เอฟเอคัพ |
2018–2019 | เมารีซีโอ ซาร์รี | ยูฟ่ายูโรปาลีก |
2019–2021 | แฟรงก์ แลมพาร์ด | |
2021–2022 | โทมัส ทุคเคิล | ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ, ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก |
2022–2023 | เกรอัม พอตเตอร์ | |
2023 | แฟรงก์ แลมพาร์ด (รักษาการ) | |
2023–2024 | เมาริซิโอ โปเชติโน | |
2024– | เอนโซ มาเรสกา |
บุคลากร
- ณ วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 2024
ตำแหน่ง | ผู้ดูแล |
---|---|
ผู้จัดการทีม | เอนโซ มาเรสกา |
ผู้ช่วยผู้จัดการทีม | วิลิ กาบาเยโร |
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน | โรแบร์โต วิติลโล |
แดนนี วอล์กเกอร์ | |
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู | มิเชล เดอ แบร์นาร์ดิน |
เอ็งรีกึ อีลารียู | |
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู | เจมส์ รัสเซลล์ |
หัวหน้าผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู | เบน โรเบิตส์ |
นักกายภาพบำบัด | มาร์กอส อัลวาเรซ |
นักวิเคราะห์ทางเทคนิค | แบร์นาร์โด้ คูเอวา |
นักคณิตศาสตร์ | จาวี โมลินา |
หัวหน้าฝ่ายแมวมอง | คาร์โล คูดิชินี่ |
หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเยาวชน | ฟิลิเป้ โกเอลโญ่ |
ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายพัฒนาเยาวชน | แจ็ค เมชัวร์ |
เจมส์ ซิมมอนส์ | |
ผู้จัดการทีมรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี | ฮัสซัน สุไลมาน |
ผู้ช่วยผู้จัดการทีมรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี | แอนดี้ รอสส์ |
จิมมี่ สมิธ |
แหล่งที่มา: Chelsea F.C.
เกียรติประวัติ
เชลซีเป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในวงการฟุตบอลอังกฤษและยุโรป และภายหลังชนะเลิศ ยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2012–13 เชลซีกลายเป็นสโมสรที่สี่จากห้าสโมสรของยุโรป ที่ชนะเลิศการแข่งขันถ้วยหลักของยูฟ่าได้ครบทั้งสามรายการ ได้แก่ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่ายูโรปาลีก และยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ต่อจากยูเวนตุส, อายักซ์อัมสเตอร์ดัม และไบเอิร์นมิวนิก และถือเป็นสโมสรแรกของอังกฤษที่ทำได้[109]
ฟุตบอลลีก
- ดิวิชันหนึ่ง/พรีเมียร์ลีก[nb 1]
- ชนะเลิศ (6): 1954–55, 2004–05, 2005–06, 2009–10, 2014–15, 2016–17
- รองชนะเลิศ (4): 2003–04, 2006–07, 2007–08, 2010–11
- ดิวิชันสอง/อีเอฟแอลแชมเปียนชิป[nb 1]
- ชนะเลิศ (2): 1983–84, 1988–89
- รองชนะเลิศ (4): 1906–07, 1929–30, 1962–63, 1976–77
ฟุตบอลถ้วย
- เอฟเอคัพ
- ชนะเลิศ (8): 1969–70, 1996–96, 1999–00, 2006–07, 2008–09, 2009–10, 2011–12, 2017–18
- รองชนะเลิศ (8): 1914–15, 1966–67, 1993–94, 2001–02, 2016-17, 2019–20, 2020–21, 2021–22
- ลีกคัพ/อีเอฟแอลคัพ
- ชนะเลิศ (5): 1964–65, 1997–98, 2004–05, 2006–07, 2014–15
- รองชนะเลิศ (5): 1971–72, 2007–08, 2018–19, 2021–22, 2023–24
- เอฟเอแชริตีชีลด์/เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์
- ชนะเลิศ (4): 1955, 2000, 2005, 2009
- รองชนะเลิศ (9): 1970, 1997, 2006, 2007, 2010, 2012, 2015, 2017, 2018
- ฟูลล์เมมเบอร์สคัพ
- ชนะเลิศ (2): 1986, 1990
- ยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
- ชนะเลิศ (2): 2011–12, 2020–21
- รองชนะเลิศ (1): 2007–08
- ยูฟ่าคัพ/ยูฟ่ายูโรปาลีก
- ชนะเลิศ (2): 2012–13, 2018–19
- ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ
- ชนะเลิศ (2): 1970–71, 1997–98
- ยูฟ่าซูเปอร์คัพ
- ชนะเลิศ (2): 1998, 2021
- รองชนะเลิศ (3): 2012, 2013, 2019
- ฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ/ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก
- ชนะเลิศ (1): 2021
- รองชนะเลิศ (1): 2012
- เวิลด์ฟุตบอลชาลเลนจ์
- ชนะเลิศ (1): 2009
ดับเบิลแชมป์
- แชมป์พรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพ: 2009–10
- แชมป์พรีเมียร์ลีกและลีกคัพ: 2004–05, 2014–15
- แชมป์ลีกคัพและยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ: 1997–98
- แชมป์เอฟเอคัพและลีกคัพ: 2006–07
- แชมป์เอฟเอคัพและยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก: 2011–12
สถิติสำคัญ
- สถิติผู้ชมสูงที่สุด: ในสแตมฟอร์ด บริดจ์ นัดที่พบกับอาร์เซนอล (ดิวิชันหนึ่ง) 12 ตุลาคม ค.ศ. 1935 (82,905 คน)[110]
- สถิติผู้ชมน้อยที่สุด: ในสแตมฟอร์ด บริดจ์ นัดที่พบกับลินคอล์น (ดิวิชันสอง) 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1906 (3,000 คน)[111]
- สถิติชนะสูงสุด: ชนะ จิวเนส ฮัทคาเรจ 13–0 (ยูฟ่าคัพวินเนอร์คัพ) 29 กันยายน ค.ศ. 1971[112]
- สถิติแพ้สูงสุด: แพ้ วูล์ฟแฮมตัน วันเดอร์เรอร์ส 1–8 (ดิวิชันหนึ่ง) 26 กันยายน ค.ศ. 1953[113]
- ผู้เล่นที่ลงสนามทุกรายการมากที่สุด: รอน แฮร์ริส, 795 นัด, ค.ศ. 1961-80[114]
- ผู้เล่นที่ลงสนามในเกมลีกมากที่สุด: รอน แฮร์ริส, 655 นัด, ค.ศ. 1961-80[115]
- ผู้เล่นที่อายุมากที่สุดที่ลงสนามให้กับทีม: มาร์ก ชวาร์เซอร์, 41 ปี และ 218 วัน, พบกับคาร์ดิฟฟ์ซิตี, 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2014[116]
- ผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ลงสนามให้กับทีม: เอียน แฮมิลตัน, 16 ปี และ 138 วัน, พบกับทอตนัมฮอตสเปอร์, 18 มีนาคม ค.ศ. 1967[117]
- สถิติซื้อนักเตะแพงที่สุด: 97.5 ล้านปอนด์, โรเมลู ลูกากู จาก อินเตอร์ มิลาน, สิงหาคม ค.ศ. 2021[118]
- สถิติขายนักเตะแพงที่สุด: 88 ล้านปอนด์, เอแดน อาซาร์ ไป เรอัลมาดริด, ค.ศ. 2019[119]
- นักเตะที่ทำประตูรวมมากที่สุดใน 1 ฤดูกาล (ดิวิชันหนึ่ง): จิมมี กรีฟส์, 43 ประตู, ฤดูกาล 1960–61[120]
- นักเตะที่ทำประตูรวมมากที่สุดใน 1 ฤดูกาล (พรีเมียร์ลีก): ดีดีเย ดรอกบา , 29 ประตู, ฤดูกาล 2009–10[121]
- นักเตะที่ทำประตูรวมมากที่สุดตลอดกาล: แฟรงก์ แลมพาร์ด, 211 ประตู, ค.ศ. 2001–14[122]
- ฤดูกาลที่ทีมยิงประตูรวมมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก: 103 ประตู, 2009–10[123]
- ผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด: โชเซ มูรีนโย, ชนะเลิศถ้วยรางวัล 8 รายการ (ค.ศ. 2004–07, 2013–15)[124]
- ผู้จัดการทีมที่คุมทีมยาวนานที่สุด: เดวิด คัลเดอร์เฮด, 26 ปี (ค.ศ. 1907–33)[125]
ทีมฟุตบอลหญิง
เชลซียังมีทีมฟุตบอลหญิงในชื่อ Chelsea Football Club Women เดิมชื่อ Chelsea Ladies และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาชุมชนของสโมสร พวกเธอเล่นเกมในบ้านที่ Kingsmeadow ซึ่งเคยเป็นสนามเหย้าของสโมสรวิมเบิลดันในลีกวัน สโมสรได้รับการเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 2005 ในฐานะแชมป์ดิวิชันตอนใต้ และคว้าแชมป์เซอร์รีย์เคาน์ตี้ คัพ 9 สมัยระหว่าง ค.ศ. 2003 ถึง 2013[126] ในปี 2010 ทีมหญิงเชลซีเป็นหนึ่งในแปดผู้ก่อตั้งการแข่งขันลีก[127] FA Women's Super League ใน ค.ศ. 2015 พวกเธอคว้าแชมป์เอฟเอคัพ (FA Women's Cup) เป็นครั้งแรก[128] โดยเอาชนะ น็อตต์ส เคาน์ตี้ ที่สนามเวมบลีย์ และอีกหนึ่งเดือนต่อมาก็คว้าแชมป์ลีกได้ ทำให้สโมสรคว้าดับเบิลแชมป์ได้สำเร็จ ใน ค.ศ. 2018 พวกเธอคว้าแชมป์ลีกสมัยที่สอง และได้แชมป์เอฟเอคัพอีกครั้ง[129] สองปีต่อมาใน ค.ศ. 2020 สโมสรสร้างประวัติศาสตร์คว้าดับเบิลแชมป์เป็นครั้งที่สาม ด้วยการคว้าแชมป์ลีกและฟุตบอลถ้วย ปัจุบัน สโมสรหญิงเชลซีมี จอห์น เทร์รี ตำนานกัปตันทีมชายของเชลซีเป็นประธานสโมสร[130]
เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 นับตั้งแต่ ค.ศ. 1992 พรีเมียร์ลีกกลายเป็นลีกระดับสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ ส่วนฟุตบอลลีกเฟิสต์ดิวิชันและเซคันด์ดิวิชันกลายเป็นลีกระดับสองและสามแทน นับตั้งแต่ ค.ศ. 2004 เฟิสต์ดิวิชันกลายเป็นแชมเปียนชิปและเซคันด์ดิวิชันกลายเป็นลีกวัน
อ้างอิง
- ↑ "TEAM HISTORY – INTRODUCTION". Chelsea F.C. Website. สืบค้นเมื่อ 11 May 2011.
- ↑ "Premier League Handbook Season 2015/16" (PDF). Premier League. สืบค้นเมื่อ 23 May 2016.
- ↑ "General Information". www.chelseafc.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Chelsea FC - history, facts and records". www.footballhistory.org.
- ↑ "Chelsea FC statistics through history". www.footballhistory.org.
- ↑ "Trophy Cabinet | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ https://www.chelseafc.com/th
- ↑ "Five interesting facts about Chelsea's Champions League triumph | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ UEFA.com (2012-05-19). "Chelsea win breaks London duck". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Probert, Greg. "Chelsea FC: Ranking the Blues' 5 Most Hated Rivals". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "English Premier League Teams Popularity rankings". www.stadium-maps.com (ภาษาอังกฤษ). 2023-05-27.
- ↑ "Fandom for Premier League clubs in the UK 2023". Statista (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Top 20 most-followed clubs revealed as Ronaldo effect shown and Man Utd dwarfed". The Sun (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2024-06-09.
- ↑ "Deloitte Football Money League 2023". Deloitte United Kingdom (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ TEITELBAUM", "MIKE OZANIAN"," JUSTIN. "The World's Most Valuable Soccer Teams 2023". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Glanvill, Rick (2006). Chelsea FC: The Official Biography. p. 55.
- ↑ "The Birth of a Club". Chelsea FC. 30 September 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 December 2015. สืบค้นเมื่อ 16 December 2015.
- ↑ "John Tait Robertson | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ "Team History – 1905–29". chelseafc.com. Chelsea FC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 July 2011. สืบค้นเมื่อ 23 April 2014.
- ↑ Glanville, Brian (10 January 2004). "Little sign of change for Chelsea and their impossible dreams". The Times. UK. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 September 2011. สืบค้นเมื่อ 15 March 2009.(ต้องลงทะเบียน)
- ↑ "EFS Attendances". www.european-football-statistics.co.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-01. สืบค้นเมื่อ 2021-04-22.
- ↑ "Historical attendances". European Football Statistics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2011. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.
- ↑ "Historical attendances". European Football Statistics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2011. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.
- ↑ "Historical attendances". European Football Statistics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2011. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.
- ↑ "Historical attendances". European Football Statistics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2011. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.
- ↑ "Historical attendances". European Football Statistics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2011. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.
- ↑ "Historical attendances". European Football Statistics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 August 2012. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.
- ↑ "Between the Wars – Big Names and Big Crowds". chelseafc.com. Chelsea FC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 July 2012. สืบค้นเมื่อ 7 May 2012.
- ↑ "1970 FA Cup Final Match | Chelsea vs Leeds United | FA Cup Finals". www.fa-cupfinals.co.uk.
- ↑ "The battle of Stamford Bridge". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 1995-11-11.
- ↑ Shergold, Adam (2018-05-18). "Manchester United vs Chelsea FA Cup final flashback". Mail Online.
- ↑ Johnson, Simon. "Chelsea and their love affair with the FA Cup final". The Athletic.
- ↑ "2002 FA Cup Final | Arsenal vs Chelsea". www.fa-cupfinals.co.uk.
- ↑ World, Republic. "Chelsea owner Roman Abramovich held secret investments in rival players: Report". Republic World (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Smith, Alan (2021-04-01). "Abramovich and Chelsea's value compared to Liverpool following £538m investment". Football.London (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "How Abramovich's investment has built a Chelsea for the present and the future". MARCA (ภาษาอังกฤษ). 2021-05-31.
- ↑ Hayes, Garry. "Charting Chelsea's Year-by-Year Transfer Spend Under Roman Abramovich". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ News, C. F. C. "Top 15 Chelsea most successful managers list! Best managers ever!" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ 161385360554578 (2021-01-27). "From Mourinho to Lampard - rating every Chelsea manager in Abramovich era". talkSPORT (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์) - ↑ "Liverpool 2-3 Chelsea" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2005-02-27. สืบค้นเมื่อ 2021-11-29.
- ↑ Harris, Christopher (2007-09-20). "Chelsea Sack Jose Mourinho". World Soccer Talk (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-12. สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
- ↑ UEFA.com. "Man. United-Chelsea 2008 History | UEFA Champions League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Chelsea 2-1 Everton" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2009-05-30. สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
- ↑ "Remembering Carlo Ancelotti's Free-Scoring Chelsea of 2009/10". 90min.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Mourinho, Conte & Abramovich's Chelsea manager records | Goal.com". www.goal.com.
- ↑ "Chelsea sack Carlo Ancelotti within an hour of defeat by Everton". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2011-05-22.
- ↑ "Rafael Benítez appointed Chelsea interim manager until end of season". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2012-11-21.
- ↑ "Conte sacked as Chelsea manager". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
- ↑ MCFCCityTV. "City 6-0 Chelsea: Extended highlights". www.mancity.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Man City win Carabao Cup on penalties". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
- ↑ "Chelsea 4-1 Arsenal: Eden Hazard scores twice in Europa League final". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Murray, Scott (2019-05-29). "Chelsea beat Arsenal 4-1 to win Europa League final – as it happened". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
- ↑ "Maurizio Sarri is leaving Chelsea | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ "Chelsea ban involved 69 youngsters - Fifa". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-05.
- ↑ "Frank Lampard sacked by Chelsea after 18 months; Thomas Tuchel set to take over". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Club statement". www.chelseafc.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Club statement". www.chelseafc.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Tony Cascarino reveals how Chelsea are checking on former players dur…". archive.ph. 2021-06-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2024-11-01.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Chelsea win Super Cup on penalties". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
- ↑ Athletic, The. "Chelsea vs Liverpool live score and result updates: Carabao Cup latest as Liverpool win classic 11-10 on penalties". The Athletic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Abramovich says he will sell Chelsea". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-03.
- ↑ Law, Matt; Wallace, Sam (2022-03-03). "Roman Abramovich confirms he is selling Chelsea - donating net proceeds to victims of war in Ukraine". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2022-03-03.
- ↑ "Abramovich disqualified as Chelsea director". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-03-15.
- ↑ "Club statement | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ Athletic, The. "Liverpool win the FA Cup over Chelsea in shootout: Live result, highlights and post-match updates". The Athletic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "New owners complete Chelsea takeover | Premium Times Nigeria" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2022-05-30.
- ↑ "Bruce Buck to step down as Chairman of Chelsea Football Club | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ "Chelsea Football Club announces new Board of Directors and leadership changes". www.chelseafc.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Petr Cech to leave Technical and Performance Advisor role". www.chelseafc.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "BREAKING: Chelsea sack manager Thomas Tuchel". Punch Newspapers (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-09-07.
- ↑ "Welcome to Chelsea, Graham Potter!". www.chelseafc.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Lampard named Chelsea manager for rest of season". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-04-15.
- ↑ "Mauricio Pochettino to become Chelsea head coach". www.chelseafc.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ Hunter, Andy (2024-02-25). "Chelsea 0-1 Liverpool: player ratings from the Carabao Cup final". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-03-01.
- ↑ "Why Pochettino and Chelsea parted ways: 'Loneliness', injuries and resistance to club structure - The Athletic". web.archive.org. 2024-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-22. สืบค้นเมื่อ 2024-05-27.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Pochettino's Chelsea exit thrusts spotlight on Stewart and Winstanley - The Athletic". web.archive.org. 2024-05-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-24. สืบค้นเมื่อ 2024-05-27.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Mauricio Pochettino: Chelsea sacking would 'not be a problem'". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2024-05-10.
- ↑ "CIVIC HERALDRY OF ENGLAND AND WALES-LONDON, COUNTY OF (OBSOLETE)". www.civicheraldry.co.uk.
- ↑ "Chelsea centenary crest unveiled" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2004-11-12. สืบค้นเมื่อ 2021-12-07.
- ↑ "Chelsea". Historical Football Kits. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 August 2017. สืบค้นเมื่อ 30 October 2020.
- ↑ Glanvill, Rick (2006). Chelsea Football Club: The Official History in Pictures. p. 212
- ↑ Mears, Brian (2002). Chelsea: Football Under the Blue Flag. Mainstream Sport. p. 42.
- ↑ "Baseball Team Vision Screening", Sports Vision, Elsevier, pp. 284–285, 2007, สืบค้นเมื่อ 2021-12-07
- ↑ Powell, Jim (2015-07-04). "The history of Chelsea's Stamford Bridge - in pictures". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
- ↑ "10 Stamford Bridge facts you might not know | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ "Top 10 Football Clubs With The Most Fans in The World". Football Lovers (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-10-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-21. สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
- ↑ "Fandom for Premier League clubs in the UK 2021". Statista (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Ranking of English Premier League teams popularity". www.stadium-maps.com.
- ↑ "EXCLUSIVE: Manchester United and Real Madrid top global shirt sale charts | Sporting Intelligence" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Murray, Tom. "The 20 most popular rich-list football teams on social media". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Making a new start" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2002-05-02. สืบค้นเมื่อ 2023-08-27.
- ↑ "Bates: Chelsea's driving force" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2003-07-02. สืบค้นเมื่อ 2023-08-27.
- ↑ "BBC NEWS | Special Report | 1998 | Hooligans | Soccer hooliganism: Made in England, but big abroad". news.bbc.co.uk.
- ↑ "Wayback Machine". web.archive.org. 2011-03-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-17. สืบค้นเมื่อ 2023-08-27.
- ↑ Glanvill, Rick (2006). Chelsea FC: The Official Biography. pp. 312–318.
- ↑ Glanvill, Rick (2006). Chelsea FC: The Official Biography. pp. 321–325.
- ↑ https://web.archive.org/web/20170617002220/http://www.thefootballnetwork.net/main/s120/st44186.htm
- ↑ "Bates sells off Chelsea to a Russian billionaire". www.telegraph.co.uk.
- ↑ "Roman Abramovich still owed £726m under complex Chelsea structure". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2010-05-19.
- ↑ "Roman Abramovich clears Chelsea debt". www.telegraph.co.uk.
- ↑ "Chelsea tycoon to clear club's debt" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2003-07-28. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
- ↑ "Chelsea FC record first Abramovich-era profit". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2012-11-09. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
- ↑ "Chelsea FC reports a record £18m in annual profit". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2014-11-13. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
- ↑ "Chelsea FC financial results show record revenues | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ "Men: Senior". Chelsea F.C. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 January 2023. สืบค้นเมื่อ 18 July 2023.
- ↑ "Men: On Loan". Chelsea F.C. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 August 2022. สืบค้นเมื่อ 2 August 2024.
- ↑ โค้ชพรีเมียร์รุมสงสาร เชลซีปลดโบอาส ! จากข่าวสด
- ↑ เชลซี ปิดดีล ลาเวีย, แม็กไกวร์ ยังอยู่ แมนยู !อัปเดตข่าวเด่นตลาดนักเตะ (16 ส.ค. 66)สยามสปอร์ต
- ↑ UEFA.com (2013-05-15). "Chelsea join illustrious trio". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "What is Chelsea's record attendance?". The Chelsea Chronicle (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-04-27.
- ↑ "The History of Chelsea FC | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ UEFA.com (2019-06-01). "Club facts: Chelsea". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Wolverhampton Wanderers vs. Chelsea - 26 September 1953 - Soccerway". int.soccerway.com.
- ↑ "Line of Duty: Rank Chelsea's leading appearance-makers | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ "Line of Duty: Rank Chelsea's leading appearance-makers | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ O, Jidonu Mauyon (2021-08-08). "Ranking the 5 oldest players in Premier League history". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ https://www.telegraph.co.uk/football/2017/09/20/premier-league-clubs-youngest-ever-player-career-panned/ian-hamilton/
- ↑ "Romelu Lukaku: Chelsea break club transfer record to re-sign striker from Inter Milan for £97.5m". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Macdonald, Martin. "Chelsea's 10 biggest sales of all time". www.footballtransfers.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Stead, Matthew (2020-04-10). "Jimmy Greaves might actually be one of the greatest ever..." Football365 (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Didier Drogba's Golden Boot Winning Season | All 29 Goals | Premier League 2009/10". OneFootball (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Frank Lampard Factfile - his career stats for Chelsea and England including goals and major honours | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ "2009/10 | Premier League Years | Official Site | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ Johnson, Simon. "Who is Chelsea's greatest manager?". The Athletic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "David Calderhead | Sitio Oficial | Chelsea Football Club". ChelseaFC.
- ↑ https://web.archive.org/web/20140905005953/https://www.surreyfa.com/previous-winners-and-officials/womens-cup-previous-winners
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-02. สืบค้นเมื่อ 2017-10-02.
- ↑ https://web.archive.org/web/20151208081036/http://shekicks.net/news/view/12007
- ↑ https://www.telegraph.co.uk/football/2018/05/15/chelsea-ladies-win-super-league-title-complete-double-give-katie/
- ↑ https://www.theguardian.com/football/2009/oct/18/john-terry-chelsea-womens-football
หนังสืออ่านเพิ่ม
- Batty, Clive (2004). Kings of the King's Road: The Great Chelsea Team of the 60s and 70s. Vision Sports Publishing Ltd. ISBN 978-0-9546428-1-5.
- Batty, Clive (2005). A Serious Case of the Blues: Chelsea in the 80s. Vision Sports Publishing Ltd. ISBN 978-1-905326-02-0.
- Glanvill, Rick (2006). Chelsea FC: The Official Biography – The Definitive Story of the First 100 Years. Headline Book Publishing Ltd. ISBN 978-0-7553-1466-9.
- Hadgraft, Rob (2004). Chelsea: Champions of England 1954–55. Desert Island Books Limited. ISBN 978-1-874287-77-3.
- Harris, Harry (2005). Chelsea's Century. Blake Publishing. ISBN 978-1-84454-110-2.
- Ingledew, John (2006). And Now Are You Going to Believe Us: Twenty-five Years Behind the Scenes at Chelsea FC. John Blake Publishing Ltd. ISBN 978-1-84454-247-5.
- Matthews, Tony (2005). Who's Who of Chelsea. Mainstream Publishing. ISBN 978-1-84596-010-0.
- Mears, Brian (2004). Chelsea: A 100-year History. Mainstream Sport. ISBN 978-1-84018-823-3.
- Mears, Brian (2002). Chelsea: Football Under the Blue Flag. Mainstream Sport. ISBN 978-1-84018-658-1.
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์ทางการ
- Chelsea F.C. at Premier League
- สโมสรฟุตบอลเชลซี ที่บีบีซีสปอต: ข่าวของสโมสร – ผลการแข่งขันและตารางอันดับล่าสุด
- Pages with login required references or sources
- สโมสรฟุตบอลในประเทศอังกฤษ
- สโมสรฟุตบอลเชลซี
- สโมสรในพรีเมียร์ลีก
- สโมสรฟุตบอลที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2448
- สโมสรฟุตบอลในลอนดอน
- ผู้ชนะเลิศในเอฟเอคัพ
- ผู้ชนะเลิศในอีเอฟแอลคัพ
- สโมสรที่ชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
- สโมสรที่ชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีก
- สโมสรที่ชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ
- สโมสรที่ชนะเลิศยูฟ่าซูเปอร์คัพ
- สโมสรที่ชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก
- สโมสรฟุตบอลในอิงกลิชฟุตบอลลีก