รัฐบาลสหราชอาณาจักร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัฐบาลในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
His Majesty's Government
เวลส์: Llywodraeth ei Fawrhydi
ไอริช: Rialtas a Shoilse
แกลิกสกอต: Riaghaltas a Mhòrachd
ภาพรวม
ก่อตั้งค.ศ. 1707 (1707)
รัฐสหราชอาณาจักร
ผู้นำนายกรัฐมนตรี (ริชี ซูแน็ก)
แต่งตั้งโดยพระเจ้าแผ่นดิน (สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3)
หน่วยงานหลักคณะรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
กระทรวงระดับกระทรวง 23 หน่วยงาน
ไม่ใช่ระดับกระทรวง 20 หน่วยงาน
รับผิดชอบต่อรัฐสภาสหราชอาณาจักร
งบประมาณประจำปี1.189 ล้านล้านปอนด์
สำนักงานใหญ่เลขที่ 10 ถนนดาวนิง
เว็บไซต์gov.uk แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ

รัฐบาลในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน (อังกฤษ: His Majesty's Government ย่อเป็น HM Government) เรียกโดยทั่วไปว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักร หรือ รัฐบาลบริเตน เป็นรัฐบาลกลางของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ[1][2]

นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาลซึ่งแต่งตั้งรัฐมนตรีทุกคน สหราชอาณาจักรมีรัฐบาลนำโดยพรรคอนุรักษนิยมตั้งแต่ ค.ศ. 2010 และมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมเรื่อยมา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอาวุโสอยู่รวมกันเป็นคณะบุคคลมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด เรียกว่าคณะรัฐมนตรี[2]

รัฐมนตรีรับผิดชอบต่อสภาที่รัฐมนตรีผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยการกล่าวถ้อยแถลงต่าง ๆ และการตอบคำถามจากสมาชิกสภานั้น ๆ โดยสำหรับรัฐมนตรีอาวุโสส่วนใหญ่นั้นหมายความถึงสภาสามัญชน ไม่ใช่สภาขุนนาง รัฐบาลนั้นต้องพึ่งพารัฐสภาในการออกกฎหมายแม่บท[3] และมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปไม่เกินทุก ๆ 5 ปี เพื่อเลือกตั้งสภาสามัญชนชุดใหม่ ยกเว้นถ้านายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำต่อพระเจ้าแผ่นดินให้ยุบสภา ซึ่งจะทำให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น หลังจากที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง พระเจ้าแผ่นดินจะทรงแต่งตั้งหัวหน้าพรรคที่มีความเป็นไปได้ในการรับความไว้วางใจจากสภาสามัญชนมากที่สุดเป็นนายกรัฐมนตรี โดยส่วนใหญ่ดูจากจำนวนสมาชิกรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง[4]

ภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีของสหราชอาณาจักร พระเจ้าแผ่นดินทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ในทางปฏิบัติอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินจะใช้ได้ต่อเมื่อได้รับคำแนะนำจากสภาองคมนตรีเท่านั้น[5] สมาชิกสภาองคมนตรีประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี สภาขุนนาง ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้บังคับบัญชาตำรวจและทหารระดับสูง และทำหน้าที่ในการถวายคำแนะนำต่อพระเจ้าแผ่นดิน ในกรณีส่วนใหญ่นั้น คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหารโดยตรงในฐานะผู้บริหารกระทรวงและทบวงต่าง ๆ ทั้งนี้ บางตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีถือว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องทำงาน เช่น สมุหดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์ หรือ สมุหพระราชลัญจกร

บางครั้งการพูดถึงรัฐบาลจะใช้นามนัยว่า เวสต์มินสเตอร์ หรือ ไวต์ฮอลล์ เพราะอาคารทำการหลายหน่วยงานของรัฐบาลอยู่ในย่านนั้น โดยนามนัยเหล่านี้มักใช้โดยสมาชิกรัฐบาลสกอต รัฐบาลเวลส์ หรือหน่วยงานบริหารไอร์แลนด์เหนือเพื่อไม่ให้สับสนระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น

ประวัติ[แก้]

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ใช้ระบอบปกครองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือพระเจ้าแผ่นดินจะไม่ตัดสินพระราชหฤทัยในกิจการทางการเมืองอย่างเปิดเผยหรือชัดเจน และให้อำนาจทางการเมืองตกอยู่กับรัฐบาลและรัฐสภา เนื่องจากจารีตทางรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมาจากประวัติศาสตร์ของการจำกัดและลดพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินที่ดำเนินมายาวนาน โดยเริ่มจากการออกมหากฎบัตรใน ค.ศ. 1215

ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ใน ค.ศ. 1901 นั้น โดยธรรมเนียม นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกรัฐสภา (อังกฤษ: Member of Parliament; MP) จึงทำให้นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาสามัญชน ทั้งนี้มีช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ อเล็ก ดักลัส-ฮิวม์ เป็นสมาชิกสภาขุนนาง และไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาใดเลย ซึ่งธรรมเนียมนี้ใช้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเช่นกัน เนื่องจากในกาลปัจจุบันนั้นจะเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ทางการเมืองหากรัฐมนตรีคลังต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีในสภาขุนนาง ซึ่งจะทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถถามคำถามถึงรัฐมนตรีได้โดยตรง รัฐมนตรีคลังคนสุดท้ายที่เป็นสมาชิกสภาขุนนางคือลอร์ดเดนแมน ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 1 เดือนใน ค.ศ. 1834

รัฐบาลในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและพระเจ้าแผ่นดิน[แก้]

พระเจ้าแผ่นดินสหราชอาณาจักร เป็นประมุขแห่งรัฐและองค์รัฏฐาธิปัตย์ แต่ไม่เป็นประมุขรัฐบาล พระเจ้าแผ่นดินมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินน้อยมาก และวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ทั้งนี้ อำนาจของรัฐซึ่งสถิตอยู่กับองค์รัฏฐาธิปัตย์ (อังกฤษ: The Crown[a]) ยังคงเป็นบ่อเกิดอำนาจรัฐที่ใช้โดยรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน

นอกเหนือจากอำนาจที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย องค์รัฏฐาธิปัตย์ยังมีอำนาจในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเรียกโดยรวมว่าพระราชอำนาจ ซึ่งอำนาจเหล่านี้มีตั้งแต่อำนาจในการออกหรือเรียกคืนหนังสือเดินทาง ไปจนถึงอำนาจในการประกาศสงคราม โดยธรรมเนียมนั้น อำนาจเหล่านี้มอบให้รัฐมนตรีต่าง ๆ หรือเจ้าพนักงานในพระองค์ ซึ่งสามารถใช้อำนาจเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเพื่อถวายรายงานสถานการณ์ของประเทศเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยพระองค์จะ "มีสิทธิ์และหน้าที่ในการออกความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาล ... การเข้าเฝ้า รวมถึงการสื่อสารทุกรูปแบบระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและรัฐบาลของพระองค์ จะต้องเป็นความลับเด็ดขาด สุดท้ายแล้วหลังจากที่ทรงออกความเห็น พระเจ้าแผ่นดินจะต้องรับฟังและทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีของพระองค์"[6]

โดยพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระราชอำนาจ ซึ่งรวมแต่ไม่จำกัดถึงตัวอย่างเหล่านี้ เช่น

อำนาจภายใน[แก้]

  • พระราชอำนาจในการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง (หรือโดยหลักการ รวมถึงการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง) นายกรัฐมนตรี พระราชอำนาจนี้ พระเจ้าแผ่นดินใช้เป็นการส่วนตัว โดยธรรมเนียม (และความคาดหมาย) พระเจ้าแผ่นดินจะแต่งแต่งบุคคลที่มีความเป็นไปได้ในการคุมเสียงข้างมากในสภาสามัญชนมากที่สุดให้เป็นนายกรัฐมนตรี
  • พระราชอำนาจในการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือให้พ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรี
  • พระราชอำนาจในการลงพระปรมาภิไธยและออกกฎหมายต่าง ๆ โดยการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แก่ร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการทำให้กฎหมายบังคับใช้ได้จริง พระราชอำนาจนี้ใช้โดยพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงไว้ซึ่งอำนาจในการไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตเช่นกัน อย่างไรก็ดี ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ไหนที่ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ร่างพระราชบัญญัติตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ใน ค.ศ. 1708
  • พระราชอำนาจในการแต่งตั้งทหารสัญญาบัตรในกองทัพ
  • พระราชอำนาจในการบังคับบัญชากองทัพ อำนาจนี้ใช้โดยสภากลาโหมในพระปรมาภิไธยในพระเจ้าแผ่นดิน
  • พระราชอำนาจในการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาองคมนตรี
  • พระราชอำนาจในการออก ระงับ ยกเลิก เรียกคืน หรืออายัดหนังสือเดินทาง และมีพระราชอำนาจทั่วไปในการจัดให้หรือมิให้มีวิธีการที่พลเมืองสามารถขอออกหนังสือเดินทาง อำนาจนี้ใช้ในสหราชอาณาจักร แต่อาจไม่รวมถึงดินแดนโพ้นทะเล โดยรัฐมนตรีมหาดไทย
  • พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
  • พระราชอำนาจในการพระราชทาน เรียกคืน และทำให้เป็นโมฆะซึ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  • พระราชอำนาจในการจัดตั้งนิติบุคคล รวมถึงสถานะการเป็นเมืองโดยได้รับการจัดตังในตนเอง โดยการพระราชทานตราตั้ง และแก้ไข ทดแทน หรือยกเลิกตราตั้งที่มีอยู่แล้ว

อำนาจต่างประเทศ[แก้]

  • พระราชอำนาจในการสัตยาบันในสนธิสัญญา
  • พระราชอำนาจในการประกาศสงครามหรือประกาศสันติภาพ
  • พระราชอำนาจในการส่ง หรือ ถอนกำลังทหารในเขตพ้นทะเล
  • พระราชอำนาจในรับรองสถานะทางการทูต
  • พระราชอำนาจในการให้อำนาจและรับรองตราตั้งราชทูต

ถึงแม้ว่าสหราชอาณาจักรจะไม่ได้มีการประมวลกฎหมายรัฐธรรมนูญไว้ แต่รัฐบาลได้เผยแพร่รายการพระราชอำนาจข้างต้นเพื่อความโปร่งใสในเดือน ตุลาคม ค.ศ. 2003 เพื่อสร้างความกระจ่าง เพราะพระราชอำนาจบางอย่างเป็นการใช้โดยรัฐบาลในพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดิน[7] อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีการรวบรวมอย่างสมบูรณ์ว่าพระราชอำนาจมีอะไรบ้าง เนื่องจากพระราชอำนาจหลายอย่างเริ่มมาจากขนบธรรมเนียมโบราณและช่วงที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือมีการปรับเปลี่ยนไปตามธรรมเนียมทางรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา

รัฐมนตรีและกระทรวง[แก้]

ที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศในลอนดอน

ใน ค.ศ. 2019 มีรัฐมนตรีประมาณ 120 คน[8] ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยข้าราชการ 560,000 คน[9] และเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ ที่ปฏิบัติราชการในกระทรวง 25 แห่งและหน่วยงานบริหารที่อยู่ภายใต้กระทรวงเหล่านั้น และกระทรวงที่ไม่ได้บริหารโดยรัฐมนตรี 20 กระทรวง[10] ที่มีความรับผิดชอบอื่น ๆ

โดยหลักการนั้น รัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกของสภาใด ๆ ในรัฐสภา แต่โดยธรรมเนียมและการปฏิบัตินั้น รัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาขุนนางหรือสมาชิกสภาสามัญชน เพื่อให้รัฐมนตรีรับผิดชอบต่อรัฐสภาได้ บางเวลานายกรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาใด ๆ แต่ในช่วงที้ผ่านมา รัฐมนตรีคนนอกจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาขุนนาง[11]

รัฐบาลในรัฐสภา[แก้]

รัฐบาลต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาสามัญชน ตามธรรมเนียมและเนื่องด้วยเหตุผลในทางปฏิบัติ รัฐบาลต้องอาศัยการสนับสนุนของสภาสามัญชนเพื่อให้ใช้จ่ายงบประมาณได้ (โดยการผ่านงบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน) และการออกกฎหมายแม่บท โดยธรรมเนียมนั้น ถ้ารัฐบาลเสียความไว้วางใจ รัฐบาลต้องลาออก หรือต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนจากสภาขุนนาง ซึ่งถึงแม้ว่ามีประโยชน์ในการทำให้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายได้เร็วขึ้น แต่การสนับสนุนนั้นไม่จำเป็นต่อการคงอยู่ของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นต้องลาออกถึงแม้ว่าจะแพ้การลงมติในกฎหมายสำคัญ หรือเสียความไว้วางใจจากสภานั้น

สภาสามัญชนสามารถตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรีผ่านกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี (อังกฤษ: Prime Minister's Questions; PMQs) ซึ่งเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาจากทุกพรรคการเมืองสามารถถามคำถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องใดก็ได้ นอกเหนือจากนี้ยังมีการตั้งกระทู้ถามถึงกระทรวงซึ่งจะมีรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้น ๆ ทั้งนี้กระทู้ถามรัฐมนตรีต่างจากกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี คือรัฐมนตรีในกระทรวงใด ๆ สามารถมาตอบกระทู้ถามในนามรัฐบาลได้ ขึ้นอยู่กับหัวข้อของกระทู้ถาม

ในระหว่างการอภิปรายร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล รัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบในขอบเขตของร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นผู้นำการอภิปรายให้ฝ่ายรัฐบาล และตอบข้อสงสัยจากสมาชิกรัฐสภาหรือขุนนาง

คณะกรรมาธิการ[12]ทั้งสภาสามัญชนและสภาขุนนางทำหน้าที่ถ่วงดุลรัฐบาลโดยการตรวจสอบการทำงานและตรวจสอบรายละเอียดของร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนออย่างละเอียด โดยรัฐมนตรีจะต้องมาให้ข้อมูลหรือตอบข้อซักถามของกรรมาธิการ

โดยธรรมเนียมและการบังคับของประมวลจริยธรรมรัฐมนตรี[13]นั้น เมื่อรัฐสภาอยู่ในสมัยประชุม รัฐมนตรีต้องกล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ หรือปัญหาที่มีความสำคัญระดับชาติต่อรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาหรือขุนนางตั้งข้อซักถามต่อรัฐบาลเกี่ยวกับถ้อยแถลงได้ หากรัฐบาลเลือกที่จะกล่าวถ้อยแถลงนอกรัฐสภา รัฐบาลมักจะได้การวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากสมาชิกรัฐสภาและประธานสภาสามัญชน[14]

สถานที่[แก้]

ทางเข้าหลักของ เลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งเป็นจวนและที่ทำการของขุนคลังเอก ในปัจจุบันตำแหน่งนี้ถือโดยนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการในเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งตั้งในเมืองเวสต์มินสเตอร์ ลอนดอน การประชุมคณะรัฐมนตรียังจัดขึ้นที่นี่ด้วย กระทรวงส่วนใหญ่มีที่ทำการย่านไวต์ฮอล์

ขีดจำกัดอำนาจรัฐบาล[แก้]

อำนาจของรัฐบาลนั้นรวมถึงอำนาจบริหารโดยทั่วไป อำนาจทางบทกฎหมาย อำนาจที่กฎหมายบัญญัติว่าให้รัฐบาลมีได้ และอำนาจอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งและการอุปถัมภ์ แต่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐบางประเภทที่มีอำนาจมาก เช่น ผู้พิพากษา ราชการส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการการกุศล ได้รับสถานะทางกฎหมายที่ทำให้ถือได้ว่าอิสระจากการสั่งการและควบคุมของรัฐบาล และอำนาจรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในส่วนนั้นจะถูกจำกัดให้ใช้ได้แค่อำนาจที่พระเจ้าแผ่นดินสงวนไว้ หรืออำนาจที่รัฐสภามอบให้ ทั้งนี้ ข้อจำกัดทั้งทางกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีพิจารณาความสามารถบังคับใช้กับรัฐบาลได้ผ่านการพิจารณาทบทวนโดยศาล

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาศาลแขวงและนายกเทศมนตรียังสามารถถูกจับกุมและนำไปขึ้นศาลด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตได้ และรัฐบาลมีอำนาจแต่งตั้งกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการทำงานของราชการส่วนท้องถิ่นได้ และออกคำสั่งเพื่อให้ปฏิบัติหากราชการส่วนท้องถิ่นหากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ทางกฎหมายของตนเอง[15]

เปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่เจ้าหน้าที่ของสหภาพไม่ต้องรับโทษทางอาญาหากการกระทำอยู่ในกรอบของภาระมอบหมายของเจ้าหน้าที่คนนั้น[16] และทูตต่างประเทศ (แต่ไม่รวมถึงพนักงานของทูต) กับสมาชิกสภายุโรปได้รับความคุ้มครองจากการดำเนินคดีอาญาแบบไร้เงื่อนไข เพราะเหตุนี้ หน่วยงานของสหภาพยุโรปและทูตจึงไม่ต้องจ่ายภาษี เพราะไม่สามารถฟ้องร้องฐานหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีได้ ตัวอย่างของเรื่องนี้คือเมื่อตอนที่สหราชอาณาจักรยังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหราชอาณาจักรอ้างว่าตนไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเขตการจราจรหนาแน่น เพราะถือว่าเป็นภาษีและไม่ใช่ค่าธรรมเนียม (แม้ในชื่อจะระบุว่าเป็นค่าธรรมเนียมก็ตาม) จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระ ซึ่งสำนักบริหารมหานครลอนดอนได้โต้แย้งการอ้างของเอกอัครราชทูตในเรื่องนี้

ในลักษณะที่คล้ายกันนั้น พระเจ้าแผ่นดินยังได้รับความคุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องคดีอาญาทั้งปวง และสามารถฟ้องร้องพระองค์ได้ต่อเมื่อรับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น เรียกว่าความคุ้มกันองค์รัฏฐาธิปัตย์ ตามกฎหมายนั้น องค์รัฏฐาธิปัตย์ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้ แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2ทรงเลือกที่จะชำระภาษีเงินได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1993 จนพระองค์เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 2022 รวมถึงเลือกที่ชำระภาษีท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ สถาบันพระเจ้าแผ่นดินได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเรียกว่าเงินปีส่วนพระเจ้าแผ่นดินและมรดกที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้รับจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนียังได้รับการยกเว้นภาษีมรดกอีกด้วย

นอกเหนือจากอำนาจทางกฎหมาย รัฐบาลในสมเด็จฯยังมีอิทธิพลอย่างมากเหนือส่วนราชการท้องถิ่น รวมไปถึงหน่วยงานที่สังกัดราชการท้องถิ่นด้วยผ่านการจัดสรรงบประมาณและมอบเงินอุดหนุน เนื่องจากมีผลผูกพันกับหน้าที่หลายอย่างของราชการท้องถิ่น เช่น สวัสดิการภาษีท้องถิ่น หรือสวัสดิการบ้านที่อยู่อาศัย ที่รัฐบาลกลางต้องจัดสรรงบประมาณให้เกือบทั้งหมดหรือทั้งหมด

ทั้งรัฐบาลกลางและส่วนราชการท้องถิ่นไม่สามารถฟ้องร้องผู้ใดในข้อหาหมิ่นประมาทได้ แต่นักการเมืองสามารถฟ้องร้องประชาชนเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่ใช้ทรัพยากรทางราชการ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีการฟ้องร้องแบบนี้น้อยมาก ทั้งนี้การกล่าวถ้อยแถลงเท็จเกี่ยวกับผู้ลงสมัครเลือกตั้งระหว่างช่วงหาเสียงเลือกตั้งด้วยเจตนาให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งรายนั้นได้รับคะแนนเสียงน้อยลงเป็นความผิดอาญา (การแสดงความเห็นถือว่าไม่เข้าเงื่อนไข เช่นเดียวกับการพิจารณาความผิดหมิ่นประมาท)

หมายเหตุ[แก้]

  1. ไม่มีการบัญญัติคำแปลภาษาไทยไว้

อ้างอิง[แก้]

  1. His Majesty's Government เก็บถาวร 17 พฤศจิกายน 2019 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 28 June 2010
  2. 2.0 2.1 Overview of the UK system of government : Directgov – Government, citizens and rights. Archived direct.gov.uk webpage. Retrieved on 29 August 2014.
  3. "Legislation". UK Parliament. 2013. สืบค้นเมื่อ 27 January 2013.
  4. House of Commons – Justice Committee – Written Evidence เก็บถาวร 1 ธันวาคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Publications.parliament.uk. Retrieved on 19 October 2010.
  5. The monarchy : Directgov – Government, citizens and rights. Archived direct.gov.uk webpage. Retrieved on 29 August 2014.
  6. "Queen and Prime Minister". The British Monarchy. 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2010. สืบค้นเมื่อ 27 January 2013.
  7. Mystery lifted on Queen's powers | Politics. The Guardian. Retrieved on 12 October 2011.
  8. Maer, Lucinda; Kelly, Richard (31 March 2021). "Limitations on the number of Ministers". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2021. สืบค้นเมื่อ 31 March 2021 – โดยทาง commonslibrary.parliament.uk.
  9. Civil Service Statistics เก็บถาวร 10 พฤศจิกายน 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. civilservant.org.uk. September 2011
  10. LIST OF MINISTERIAL RESPONSIBILITIES Including Executive Agencies and NonMinisterial Departments. Cabinet Office 2009
  11. Maer, Lucinda (2017-09-04). "Ministers in the House of Lords".
  12. Committees – UK Parliament เก็บถาวร 7 ธันวาคม 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Parliament.uk (21 April 2010). Retrieved on 12 October 2011.
  13. Ministerial Code. Cabinet Office 2010
  14. "Speakers' statements on ministerial policy announcements made outside the House" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 16 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010.. Parliamentary Information List. Department of Information Services. www.parliament.uk. 16 July 2010
  15. "Secretary of State sends in commissioners to Tower Hamlets". Gov.uk. 17 December 2014. สืบค้นเมื่อ 10 April 2015.
  16. "The Immunity of Members of the European Parliament" (PDF). European Union. October 2014. สืบค้นเมื่อ 10 April 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]