เอเปค 2022
เอเปค 2022 ประเทศไทย APEC 2022 Thailand | |
---|---|
ประเทศ | ไทย |
วันที่ | 18–19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค) [1] |
คำขวัญ | เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (อังกฤษ: Open. Connect. Balance.) |
สถานที่จัดงาน | ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร |
เว็บไซต์ | www |
ประเด็นสำคัญ | |
การประชุมเอเปค 2022[3] (อังกฤษ: APEC 2022 Thailand) เป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในประเทศไทย ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2565[4][5] และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18–19 พฤศจิกายน[1] มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจ
แนวคิดหลักของการประชุมครั้งนี้คือ "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" ประเทศไทยได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี เป็นหัวข้อหลักในการประชุมและจัดทำข้อเสนอไปยังผู้นำเขตเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
กลุ่มต่อต้านการประชุมได้วิพากษ์โมเดลบีซีจีว่าเอื้อผลประโยชน์ต่อนายทุนใหญ่มากกว่าประชาชน อีกทั้งใช้โอกาสนี้ในการประท้วงขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และต่อต้านนโยบายของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในแขกของรัฐบาลไทยช่วงการประชุมนี้ด้วย แต่มวลชนเสื้อแดงบางส่วนประกาศไม่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่อต้านดังกล่าว โดยเกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ประท้วงในระหว่างการประชุม
ภูมิหลัง
[แก้]ขั้นตอนการเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจาก พ.ศ. 2555 ในการประชุมที่เมืองวลาดีวอสตอค ประเทศรัสเซีย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ด้วยความหวังที่จะลบภาพเดิมจากการประชุมอาเซียนเมื่อสามปีก่อนหน้า ที่กลุ่มคนเสื้อแดงบุกรุกสถานที่จัดประชุมจนทำให้ต้องยกเลิกการประชุมทั้งหมด[6] โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555[7]
ในปี พ.ศ. 2564 รัฐบาลได้จัดสรรวงเงินงบประมาณสำหรับการประชุมครั้งนี้จำนวน 3,283.10 ล้านบาท[8]
เอเปค 2022 เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกในรอบสี่ปี หลังจากการประชุมที่ประเทศชิลีในปี พ.ศ. 2562 ถูกยกเลิกเนื่องจากการประท้วงภายในประเทศ[9] ต่อเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้การประชุมที่มาเลเซียและนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ต้องจัดในรูปแบบออนไลน์[10][11]
สถานที่จัดประชุมหลักในเอเปค 2022 คือ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเคยใช้จัดประชุมรัฐมนตรีเอเปคเมื่อ พ.ศ. 2546[12] โดยได้มีการรื้ออาคารเดิมแล้วก่อสร้างอาคารใหม่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2562 และแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 สองเดือนก่อนการประชุมเอเปค 2022 จะเริ่มต้น[13] นอกจากนี้ หอประชุมกองทัพเรือ ยังเป็นสถานที่จัดเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจและแขกรับเชิญพิเศษพร้อมคู่สมรส เช่นเดียวกับการประชุมเอเปคในปี พ.ศ. 2546[14][15] อนึ่ง ก่อนหน้านี้เคยมีการเสนออิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นตัวเลือกในการจัดประชุม[16]
การประชุมเอเปคครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยเคยเจ้าภาพจัดการประชุมในปี พ.ศ. 2535 และ 2546[17]
การจัดประชุม
[แก้]ตราสัญลักษณ์
[แก้]ตราสัญลักษณ์ของการประชุม ออกแบบโดยชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นรูป "ชะลอม" ซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของในการเดินทาง หรือนำไปมอบกับบุคคลที่เคารพในสังคมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ทำจากไม้ไผ่ สะท้อนถึงการค้าที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงมิตรภาพเข้าด้วยกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วยชะลอม 21 ช่อง สื่อถึงสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ และใช้สีน้ำเงิน ชมพู เขียว สื่อให้เห็นถึงคำขวัญของการประชุม "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล"[18][19]
กำหนดการประชุม
[แก้]สัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders' Week: AELW) เริ่มด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ในวันที่ 14–16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และการประชุมรัฐมนตรีเอเปคในวันที่ 17 พฤศจิกายน โดยมีหัวข้อสำคัญคือการผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย–แปซิฟิก หรือ FTAAP และแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี[20] ช่วงค่ำวันเดียวกัน รัฐบาลไทยได้จัดงานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกรับเชิญพิเศษพร้อมคู่สมรส ที่หอประชุมกองทัพเรือ[21][22]
ในงานเลี้ยงรับรองดังกล่าว ได้มีการจัดอาหารค่ำซึ่งดูแลโดย ชุมพล แจ้งไพร เจ้าของร้าน "อาหาร" ซึ่งได้รับดาวมิชลินสองดวง อีกทั้งยังเคยมีประสบการณ์ดูแลอาหารในการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2535 และ 2546[23] รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2562[24] ชุมพลออกแบบอาหารค่ำดังกล่าวในแนวคิด "ภูมิปัญญาอาหารไทยอย่างยั่งยืน" โดยใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงจากทั่วประเทศ[25]
นอกจากนี้ ในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์รับรองผู้นำเอเปค ยังมีการแสดงโดยกระทรวงวัฒนธรรม[26] ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคครั้งนี้[27] โดยมีนักร้องผู้มีชื่อเสียงร่วมแสดง เช่น ธงไชย แมคอินไตย์, รัดเกล้า อามระดิษ เป็นต้น[28] อีกทั้งยังมีการประดับตกแต่งสถานที่ในบรรยากาศงานลอยกระทง[29] อนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีการแสดงแสง สี เสียง ตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงไอคอนสยามด้วย[30]
หลังจากนั้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะเจ้าภาพ ได้ให้การต้อนรับและร่วมประชุมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจ, ผู้แทน และแขกรับเชิญพิเศษในช่วงแรก[22][31] เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำเขตเศรษฐกิจ และโน้มน้าวให้ลงนามในร่างเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี[32] ต่อมารองประธานาธิบดีสหรัฐพร้อมด้วยผู้นำญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้จัดประชุมฉุกเฉินจากเหตุเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยข้ามทวีปตกลงใกล้ทะเลญี่ปุ่น โดยผู้นำแคนาดา, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วย[33] กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ประณามการกระทำดังกล่าวว่าเป็นความ "อุกอาจ" อีกทั้งเตือนเกาหลีเหนือให้หยุดการกระทำที่ผิดกฎหมายและบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาคจากนี้ต่อไป[34]
ในช่วงเวลาเดียวกันกับการประชุมดังกล่าว นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรีไทย นำคู่สมรสผู้นำเอเปค ซึ่งรวมถึง ดั๊ก เอ็มฮัฟฟ์ คู่สมรสรองประธานาธิบดีสหรัฐ ชมนิทรรศการและรับประทานอาหารกลางวัน ณ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[35]
ต่อมาในช่วงเย็นวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงรับพระประมุข ประธานาธิบดี และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกรัฐมนตรี ผู้นำเขตเศรษฐกิจสมาชิกหรือผู้แทน และแขกพิเศษ พร้อมด้วยคู่สมรส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท[36][37]
วันถัดมาผู้นำเขตเศรษฐกิจได้ร่วมประชุมในช่วงที่สอง โดยมีหัวข้อหลักคือการผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย–แปซิฟิก[38] การลงนามรับรองเอกสารเป้าหมายกรุงเทพ และการส่งมอบหน้าที่เจ้าภาพปีต่อไปให้สหรัฐ[39] ทั้งนี้ สมาชิก "ส่วนใหญ่" ของเอเปค ประณามการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียด้วย แต่ทั้งนี้ยังมีมุมมองที่แตกต่างในเรื่องการประเมินสถานการณ์และมาตรการลงโทษต่อผู้ก่อสงคราม[40] แถลงการณ์ที่ประชุมยังระบุด้วยว่า แม้เอเปคจะไม่ใช่เวทีในการหาทางออกต่อปัญหาความมั่นคง แต่ประเด็นดังกล่าวก็ส่งผลอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก[41]
ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังมีการประชุมสุดยอดผู้บริหารภาคเอกชนแห่งเอเปค หรือเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท 2022 คู่ขนานไปกับการประชุมหลัก ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพ โดยมีผู้นำเขตเศรษฐกิจบางส่วนเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ผู้จัดการประชุม ได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับ ณ ริเวอร์พาร์ค ไอคอนสยาม และงานเลี้ยงรับรอง ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ด้วย[42]
วันหยุดราชการกรณีพิเศษ
[แก้]คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร อำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งเพื่อให้การอารักขาและการรักษาความปลอดภัยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพสูงสุด[43] อนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศปิดสถานศึกษาของรัฐในสังกัดตามพื้นที่และวันดังกล่าว ทั้งนี้ ให้สถานศึกษาตามประกาศนั้นจัดการสอนชดเชยให้ครบตามวันที่ปิดต่อไป[44]
ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยแม้มิได้กำหนดให้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันหยุดธนาคาร แต่ได้ขอความร่วมมือสถาบันการเงินต่าง ๆ พิจารณาให้หน่วยงานที่ไม่ได้บริการประชาชนหรืองานที่มีความเสี่ยงต่อระบบไม่สูงนัก ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำงานจากที่พำนักอาศัยของแต่ละบุคคล (Work from home)[45]
การรักษาความปลอดภัย
[แก้]ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคนั้น ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานสากล โดยรถยนต์ที่จะเข้าพื้นที่ต้องมีการตรวจค้นทั้งหมด[46] และผู้ที่จะเข้าปฏิบัติงานต้องมีการลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า ซึ่งสื่อมวลชนที่ไม่ได้ลงทะเบียน จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำข่าวในพื้นที่ดังกล่าว[47]
สำหรับการจราจรนั้น มีการปิดถนนโดยรอบศูนย์การประชุม[48] โดยเฉพาะถนนรัชดาภิเษกปิดการจราจรตั้งแต่แยกอโศกมนตรีถึงแยกพระรามที่ 4 และถนนดวงพิทักษ์ปิดการจราจรทั้งเส้นทาง ระหว่างวันที่ 16–19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ตลอด 24 ชั่วโมง[49] รวมถึงปิดใช้งานสวนเบญจกิติ[48][50], สวนป่าเบญจกิติ[51], สถานีรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับสถานที่จัดประชุม[31][52] รวมทั้งปิดสกายวอล์คข้ามแยกราชประสงค์[53] และแยกอโศก[54] ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่พำนักของผู้นำเขตเศรษฐกิจและอยู่เหนือเส้นทางไปยังสถานที่จัดประชุมในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้งมีการจัดเตรียมรถรับ-ส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่พักอาศัยหรือทำงานในสถานที่ใกล้เคียงศูนย์ประชุม[52][55] อนึ่ง ขสมก. ได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง จำนวน 14 สาย เพื่อรองรับการปิดและปรับการจราจรในช่วงการประชุม[56] นอกจากนี้กรมเจ้าท่ายังมีการควบคุมเส้นทางการจราจรทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นบางช่วงด้วย[57][58]
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เตรียมกำลังตำรวจประมาณ 35,000 นาย เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกผู้นำที่เข้าร่วมประชุม[59] นอกจากนี้ สตช. ยังติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมกว่า 20,000 ตัว[60] และระดมกวาดล้างปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนเถื่อน อาวุธปืนสงคราม ยาเสพติด และหมายจับค้างเก่าด้วย[61]
สำหรับการชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ นั้น สตช. ประกาศให้พื้นที่การประชุม ที่พักของผู้นำ และเส้นทางที่ผู้นำจะใช้ เป็นพื้นที่ห้ามกีดขวางการจราจร เพื่อป้องกันการรวมตัวของผู้ชุมนุมบริเวณใกล้เคียง[61] ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศให้พื้นที่รอบศูนย์การประชุม รวมทั้งโรงแรมอีกจำนวน 19 แห่ง ในพื้นที่ เขตคลองเตย, เขตปทุมวัน, เขตสาทร และเขตบางรัก เป็นพื้นที่ตามมาตรา 8 (5) ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558[62] และกองบัญชาการตำรวจนครบาลยังประกาศห้ามชุมนุมในบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลด้วย[63] อนึ่ง ผู้นำเขตเศรษฐกิจและผู้เข้าร่วมการประชุมเอเปค 2022 จะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายที่ได้ตราไว้เมื่อ พ.ศ. 2561[64]
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจัดพื้นที่การยื่นหนังสือของกลุ่มผู้ชุมนุมถึงผู้นำแต่ละประเทศ ไว้ที่อาคารกระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา[65] และกรมการกงสุล ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ[59] นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดพื้นที่สาธารณะจำนวนเจ็ดแห่ง เช่น ลานคนเมือง ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) เป็นต้น เพื่อรองรับผู้ชุมนุมที่ขออนุญาตใช้พื้นที่ล่วงหน้าในช่วงการประชุมดังกล่าว[66][67] โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก และพลตำรวจเอก อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ดูแลและประสานงานผู้ชุมนุม[68]
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กำหนดเขตห้ามบินสำหรับอากาศยาน โดยเฉพาะอากาศยานไร้คนขับ และอากาศยานที่ไม่ได้รับอนุญาตให้บิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รัศมีโดยรอบ 10 นอติคอลไมล์ (ประมาณ 19 กิโลเมตร) จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ความสูงตั้งแต่ 0–3,000 ฟุต จากพื้นดิน ในช่วงการประชุมเอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 13–21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565[69]
ของที่ระลึก
[แก้]สำหรับของที่ระลึกสำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคู่สมรสนั้น ประกอบด้วย ภาพดุนโลหะพระบรมมหาราชวัง, กล่องเครื่องประดับดุนโลหะ, ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติ, สมุดรายนามผู้ผลิตและผู้ประกอบการผ้าไหมของประเทศไทย, เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมเอเปค 2022, กรอบรูปถมเงิน พร้อมภาพพระราชทานของผู้นำเขตเศรษฐกิจและแขกพิเศษของรัฐบาลพร้อมคู่สมรสระหว่างการเข้าเฝ้าฯ และกล่องลิเภาเลี่ยมขอบเงิน ตกแต่งเงินลงยาสี ซึ่งกรอบรูปและกล่องลิเภาจะมอบให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจ และแขกพิเศษของรัฐบาลในภายหลัง[70]
ศูนย์สื่อมวลชน
[แก้]รัฐบาลไทยได้จัดพื้นที่ศูนย์สื่อมวลชนไว้ที่โถงนิทรรศการในชั้น LG ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์[71] โดยมีการแบ่งพื้นที่ต่าง ๆ เป็นสัดส่วน[72] และมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวคิดของการประชุม[73] อีกทั้งยังมีพื้นที่เพื่อการสันทนาการและผ่อนคลาย มีการจัดบริการนวดแผนไทยโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก[74] นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งบัวขาว บัญชาเมฆ ได้ขึ้นสาธิตแม่ไม้มวยไทยในเวทีดังกล่าวด้วย[75]
อนึ่ง มีสื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าวในการประชุมครั้งนี้ประมาณ 2,300 ราย โดยนอกจากสื่อของเจ้าภาพแล้ว ยังมีสื่อจากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย โดยสื่อจากจีนมีจำนวนมากที่สุด ตามด้วยญี่ปุ่นและสหรัฐ[76]
ผู้นำที่เข้าร่วมประชุม
[แก้]การประชุมนี้เป็นการเข้าร่วมครั้งแรกของแอนโทนี แอลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, กาบริเอล โบริช ประธานาธิบดีชิลี, บองบอง มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และจอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง
ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ประธานาธิบดีเวียดนาม, ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้ใช้โอกาสดังกล่าวเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาล[77] โดยเฉพาะมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยของสมาชิกราชวงศ์ซะอูดเป็นครั้งแรกในรอบสามทศวรรษ หลังจากทั้งสองประเทศลดความสัมพันธ์ทางการทูตจากคดีเพชรซาอุ[78]
ในช่วงเวลาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีไทยได้มีการหารือทวิภาคีกับผู้นำฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, รองประธานาธิบดีสหรัฐ และกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ[79]
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีจีนและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้พบปะหารือกันเป็นครั้งแรกในรอบสามปี[80][81] และยังมีการหารือทวิภาคีของผู้นำเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย[82][83][84]
ผู้นำและผู้แทนเขตเศรษฐกิจ
[แก้]ต่อไปนี้เป็นรายพระนามและชื่อผู้นำและผู้แทนเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมเอเปค 2022[85]
ผู้นำและผู้แทนเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมเอเปค 2022 | ||||
---|---|---|---|---|
เขตเศรษฐกิจ | ชื่อที่ใช้ในการประชุมเอเปค | ตำแหน่ง | พระนาม/ชื่อ | |
ออสเตรเลีย | เครือรัฐออสเตรเลีย | นายกรัฐมนตรี | แอนโทนี แอลบานีส | |
บรูไน | เนอการาบรูไนดารุซซาลาม | สุลต่าน | สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ | |
แคนาดา | แคนาดา | นายกรัฐมนตรี | จัสติน ทรูโด | |
ชิลี | สาธารณรัฐชิลี | ประธานาธิบดี | กาบริเอล โบริช | |
จีน | สาธารณรัฐประชาชนจีน | ประธานาธิบดี | สี จิ้นผิง | |
ฮ่องกง | เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน | ผู้บริหารสูงสุด | จอห์น ลี | |
อินโดนีเซีย | สาธารณรัฐอินโดนีเซีย | ประธานาธิบดี | โจโก วีโดโด | |
ญี่ปุ่น | ญี่ปุ่น | นายกรัฐมนตรี | ฟูมิโอะ คิชิดะ | |
เกาหลีใต้ | สาธารณรัฐเกาหลี | นายกรัฐมนตรี | ฮัน ด็อก-ซู | |
มาเลเซีย | มาเลเซีย | เลขาธิการรัฐบาล | โมฮามัด ซูกี อาลี | |
เม็กซิโก | สหรัฐเม็กซิโก | เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย | เบร์นาโด กอร์โดบา เตโย | |
นิวซีแลนด์ | นิวซีแลนด์ | นายกรัฐมนตรี | จาซินดา อาร์เดิร์น | |
ปาปัวนิวกินี | ปาปัวนิวกินี | นายกรัฐมนตรี | เจมส์ มาราเป | |
เปรู | สาธารณรัฐเปรู | รองประธานาธิบดี | ดินา โบลัวร์เต | |
ฟิลิปปินส์ | สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ | ประธานาธิบดี | บองบอง มาร์กอส | |
รัสเซีย | สหพันธรัฐรัสเซีย | รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่หนึ่ง | อันเดรย์ เบโลอูซอฟ | |
สิงคโปร์ | สาธารณรัฐสิงคโปร์ | นายกรัฐมนตรี | ลี เซียนลุง | |
ไต้หวัน | สาธารณรัฐจีน (จีนไทเป) | ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดี | จาง จงโหมว | |
ไทย | ราชอาณาจักรไทย | นายกรัฐมนตรี | ประยุทธ์ จันทร์โอชา (เจ้าภาพ) | |
สหรัฐ | สหรัฐอเมริกา | รองประธานาธิบดี | กมลา แฮร์ริส | |
เวียดนาม | สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม | ประธานาธิบดี | เหงียน ซวน ฟุก | |
ประธานาธิบดี อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์แห่งเม็กซิโก, ประธานาธิบดี โจ ไบเดินแห่งสหรัฐ, นายกรัฐมนตรี อิซมาอิล ซับรี ยักกบแห่งมาเลเซีย, ประธานาธิบดี ยุน ซ็อก-ย็อล แห่งเกาหลีใต้, ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดี เปโดร กัสติโย แห่งเปรู ส่งผู้แทนมาร่วมการประชุม[86][87]
|
แขกรับเชิญพิเศษ
[แก้]ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้เชิญแขกพิเศษเข้าร่วมประชุม ดังนี้[88]
แขกรับเชิญพิเศษที่เข้าร่วมประชุมเอเปค 2022 | ||||
---|---|---|---|---|
เขตเศรษฐกิจ | ชื่อที่ใช้ในการประชุมเอเปค | ตำแหน่ง | พระนาม/ชื่อ | |
ฝรั่งเศส | สาธารณรัฐฝรั่งเศส | ประธานาธิบดี | แอมานุแอล มาครง | |
ซาอุดีอาระเบีย | ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย | นายกรัฐมนตรี | มุฮัมมัด บิน ซัลมาน |
อนึ่ง ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีกำหนดเข้าร่วมประชุมในฐานะประธานอาเซียน แต่ได้ยกเลิกกำหนดการ เนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกเอเปคอยู่แล้ว จะรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปี พ.ศ. 2566[89]
ผลกระทบ
[แก้]จากการที่ถนนรอบบริเวณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถูกปิดลงตามแผนการรักษาความปลอดภัยนั้น บุคคลที่ต้องการผ่านเข้า-ออก เนื่องจากทำงานและ/หรืออาศัยบริเวณใกล้เคียง ต้องทำเรื่องขอมีบัตรผ่านกับสถานีตำรวจในท้องที่ดังกล่าว ซึ่งก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคสองวัน มีผู้เดินทางไปทำบัตรผ่านดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ตำรวจจึงขยายเวลาไปจนถึงวันสิ้นสุดการประชุม ด้านพนักงานรับ-ส่งอาหารของบริการเดลิเวอรี หรือไรเดอร์ รวมถึงกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างบางส่วน มีความกังวลว่าจะไม่ได้เข้าพื้นที่ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว[90]
นอกจากบริเวณดังกล่าวแล้ว เส้นทางที่ผู้นำจะเดินทางไปยังกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างการประชุม ก็ได้รับผลกระทบจากการปิดและปรับการจราจรด้วย ซึ่งเส้นทางดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตคลองเตย เขตปทุมวัน เขตสาทร เขตบางรัก เขตราชเทวี เขตพระนคร และเขตบางกอกน้อย[91]
ผู้ค้าบางส่วนในตลาดคลองเตย ซึ่งใกล้สถานที่จัดประชุม กล่าวว่าตนมีรายได้ที่ลดลง เนื่องจากมีการปิดและปรับการจราจร รวมถึงมีประกาศวันหยุดในกรุงเทพมหานคร แต่ตลาดมิได้หยุดตาม ส่งผลให้ลูกค้ามาจับจ่ายลดลง ซึ่งรถตุ๊กตุ๊กในบริเวณดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน[92]
การชุมนุมและประท้วง
[แก้]ก่อนการประชุม
[แก้]ในช่วงก่อนการประชุมเอเปค 2022 มีมวลชนกลุ่มหนึ่งได้เตรียมติดตั้งป้ายผ้าเพื่อประท้วงที่แยกอโศกมนตรี ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจจะเดินทางผ่านระหว่างการประชุม แต่ตำรวจได้เจรจาให้กลุ่มดังกล่าวเก็บป้ายผ้านั้นออกไป[93], มีการคุมตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงรวมถึงกลุ่มนักเคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้[94], เกิดเหตุเพลิงไหม้ 4 จุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับเหตุระเบิดปั๊มน้ำมันอีกสองแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้[95] และกลุ่มกรีนพีซในประเทศไทยได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในบริเวณทะเลสาบสวนเบญจกิติ เรียกร้องให้รัฐบาลร่วมผลักดันกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย สำหรับกลุ่มประเทศและชุมชนที่เสี่ยงต่อสภาพวิกฤตภูมิอากาศ[96]
เครือข่ายภาคประชาชนส่วนหนึ่ง ซึ่งมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีบทบาทในการประท้วงก่อนหน้านั้นรวมอยู่ด้วย[97] นอกจากวิจารณ์โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีแล้ว ยังอ้างว่าประยุทธ์ซึ่งสืบทอดอำนาจนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารเมื่อแปดปีก่อนหน้า ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นประธานที่ประชุมเอเปค กลุ่มดังกล่าวได้เรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมประกาศเคลื่อนไหวคู่ขนานกับการประชุมเอเปค 2022[98]
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ตัวแทนของกลุ่มได้เดินสายประชาสัมพันธ์โดยสวมชุดจากภาพยนตร์อวตาร แจกใบปลิวที่ย่านสยาม, ราชประสงค์ และเยาวราช[99] วันถัดมาตัวแทนของกลุ่มได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยจำนวนสี่แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, นิวซีแลนด์ และสหรัฐ[100] และแนวร่วมของเครือข่ายยังจัดกิจกรรมแต่งกายเป็นตัวละครจากไซอิ๋วเพื่อประท้วงการประชุมด้วย[101]
วันที่ 17 พฤศจิกายน มีชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวจีนขึ้นป้ายข้อความต้อนรับและตะโกนต้อนรับสี จิ้นผิงที่ถนนเจริญกรุงและถนนสีลม[102]
ระหว่างการประชุม
[แก้]เครือข่ายภาคประชาชนที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า "ราษฎรหยุดเอเปค 2022" ซึ่งได้ประกาศชุมนุมตามที่กล่าวมาข้างต้น ได้ดำเนินการชุมนุมเพื่อต่อต้านการประชุมเอเปค ระหว่างวันที่ 16–18 พฤศจิกายน ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า[103] พร้อมมีกิจกรรมเสริม เช่น การแต่งกายด้วยชุดหมีพูห์เพื่อประท้วงนโยบายจีนเดียวหน้าสถานที่พำนักของผู้นำเขตเศรษฐกิจ[104], พิธีเผาพริกเกลือ เผาหุ่นฟาง เพื่อสาปแช่งเผด็จการ[105] เป็นต้น นอกจากนี้ทางกลุ่มยังวางแผนเดินทางไปทำกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ในบริเวณใกล้สถานที่ประชุม[106]
ในช่วงเที่ยงวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามเดินทางจากแยกอโศกสู่พื้นที่การประชุม แต่ถูกตำรวจสกัดกั้นไว้ ตัวแทนของกลุ่มจึงได้อ่านแถลงการณ์ประณามรัฐบาลประยุทธ์[107] จากนั้นได้ยุติการชุมนุมที่บริเวณดังกล่าว[108] โดยก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุมต่อต้านเอเปคอีกกลุ่มมีการเผชิญหน้ากับตำรวจบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[109] ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมยืนยันที่จะเดินทางเข้าใกล้สถานที่จัดการประชุมอีกในเช้าวันถัดไป[110]
ช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน กลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์คล้ายกิโยตีนบริเวณใต้เสาชิงช้า[111] จากนั้นจึงเริ่มเคลื่อนจากที่ตั้งไปทางถนนดินสอเพื่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ถูกตำรวจสกัดและใช้การเจรจาร่วมด้วยซึ่งไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมบางส่วนขว้างปาสิ่งของรวมถึงน้ำปลาร้า[112] ทุบตีรถตำรวจ[113] และบางส่วนใช้ไม้หน้าสามพยายามตีไปยังเจ้าหน้าที่ ตำรวจจึงใช้กระสุนยาง และใช้กระบองตีไปยังผู้ชุมนุมเพื่อระงับเหตุ[113] มีผู้บาดเจ็บจากกระสุนยางจำนวน 5 คน[114] นอกจากนี้ยังมีผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สถูกเศษแก้วกระเด็นเข้าตาได้รับบาดเจ็บ[115] เดอะแมทเทอร์อ้างว่าผู้สื่อข่าวของตนที่สวมปลอกแขนสื่อมวลชนถูกตำรวจทำร้ายร่างกาย[116] ส่วนสื่อฝ่ายสนับสนุนประยุทธ์อ้างว่ากลุ่มต่อต้านบางส่วนมีการนำเลือดปลอมมาใช้เพื่อสร้างสถานการณ์ชุมนุมให้ดูรุนแรงกว่าความเป็นจริง[117] ทั้งนี้ มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมจำนวน 25 คน[118] ต่อมามีเจ้าหน้าที่ออกรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม สถานการณ์จึงได้คลี่คลายลงในระดับหนึ่ง[119]
หลังจากนั้นตำรวจได้นำตู้คอนเทนเนอร์ปิดถนนดินสอ[120] ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมที่ลานคนเมือง พร้อมเดินทางไปปักหลักที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อกดดันให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากเหตุดังกล่าวในช่วงเย็นวันเดียวกัน[121][122]
จากเหตุการณ์ทั้งสองวัน ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มดังกล่าว[123] โดยเฉพาะเหตุการณ์ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งมีตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวน 15 นาย สาหัส 1 นาย และทรัพย์สินเสียหายอีกจำนวนหนึ่ง[124][125] ทั้งนี้ ตำรวจได้ตั้งข้อหาผู้ชุมนุมว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ, การต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่, การวางเพลิง ทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย, ทำร้ายร่างกาย, ความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก และ พ.ร.บ. ความสะอาด[115]
เวลาต่อมาตำรวจได้ปล่อยผู้ชุมนุมจำนวน 23 คน ตามที่ได้รับการประกันตัวก่อนหน้านี้ โดยตั้งเงื่อนไขห้ามเข้าร่วมหรือชักชวนบุคคลอื่นเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง และมั่วสุมหรือกระทำการใด ๆ ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง[126] หลังจากนั้นผู้ชุมนุมอีก 2 คน ก็ได้รับการประกันตัวเช่นกัน[127]
ความเคลื่อนไหวอื่น ๆ
[แก้]กลุ่มสนับสนุนประยุทธ์ได้เตรียมตอบโต้การชุมนุมต่อต้านเอเปค[128] ด้าน กลุ่ม นปช. จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศไม่ร่วมการชุมนุมต่อต้านเอเปค เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลประยุทธ์ใกล้หมดวาระ และมีบทเรียนจากการชุมนุมเมื่อครั้งการประชุมอาเซียนในปี พ.ศ. 2552[129]
สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ประกาศแจ้งเตือนชาวเมียนมาที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในประเทศไทย ให้อยู่ในความสงบภายในสถานที่พำนักของตนเอง ห้ามเคลื่อนไหวใด ๆ ที่อาจเป็นความสุ่มเสี่ยงให้เกิดอาชญากรรม ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ของประเทศไทยอย่างเคร่งครัด ในช่วงการประชุมเอเปค 2022[130]
หลังเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลการประชุมให้สำเร็จลุล่วง โดยไม่มีการละเมิดสิทธิ์อันชอบธรรมซึ่งกันและกัน[131]
ข้อวิจารณ์
[แก้]แซม แบรอน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียแปซิฟิกศึกษา วิจารณ์ว่าการที่โจ ไบเดิน ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่มาร่วมประชุม และส่งรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส มาร่วมประชุมแทน ทั้งที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพในปีถัดไปนั้น เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลแห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่แสดงออกว่ากำลังเหินห่างภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งจะเปิดโอกาสให้จีนซึ่งกำลังมีอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าวสูงอยู่แล้ว ยิ่งมีอำนาจมากขึ้นไปอีก[132] ด้านมติชนสุดสัปดาห์วิเคราะห์ว่าการไม่เดินทางมาร่วมประชุมเอเปคของไบเดินนั้น สะท้อนถึงมุมมองอันตกต่ำของไทยในสายตาประเทศเสรีประชาธิปไตย[133] คำ ผกา สื่อมวลชน วิจารณ์ว่าการจัดประชุมเอเปคดังกล่าวเป็นเหมือน "ผักชีโรยหน้า" เพราะการเตรียมการส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อให้แขกเห็นภาพที่สวยงาม แต่ไม่สนใจแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง[134]
วิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการนิด้าโพล กล่าวว่าแม้เอเปคจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคะแนนนิยมของรัฐบาลประยุทธ์แต่อย่างใด[135] สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวว่าด้วยความที่ไทยมีความเกรงใจจีนและรัสเซียมากเกินไป และผู้นำไม่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน อีกทั้งมีที่มาจากการรัฐประหาร ส่งผลให้การประชุมครั้งนี้ขาดเสน่ห์ที่จะชักชวนนานาชาติให้มาสนใจประเทศไทย[136]
ผู้จัดการออนไลน์กล่าวว่าไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการหารือทวิภาคีกับชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะกับผู้นำจีนและมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย[137] เชษฐา ทรัพย์เย็น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ระบุว่าการประชุมเอเปคและ จี-20 ที่อินโดนีเซียก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของเศรษฐกิจโลก แต่รัฐบาลไทยเองก็ต้องนำข้อสรุปที่ได้จากการประชุมดังกล่าวไปปฏิบัติด้วย จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด[138]
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน วิจารณ์โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนใหญ่มากกว่าประชาชน[139] วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กล่าวว่าเศรษฐกิจบีซีจีไม่มีการพูดถึงเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งวิจารณ์ว่าโมเดลดังกล่าวอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสืบทอดอำนาจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ[140] อนุสรณ์ ธรรมใจ วิจารณ์ว่าเอเปคครั้งนี้นอกจากบีซีจีที่สอดคล้องกับกระแสโลกแล้ว ก็ไม่มีข้อริเริ่มใหม่ ๆ ที่จะสร้างผลประโยชน์ทั้งในไทยและในภูมิภาคเอเปค[141] พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่ารัฐบาลไทยยังไม่มีการนำปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบรรจุในแผนนโยบายด้านการเกษตร และงบประมาณที่สนับสนุนนโยบายบีซีจีนั้น เน้นไปทางภาคอุตสาหกรรมมากกว่าความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เป้าหมายกรุงเทพที่รัฐบาลลงนามร่วมกับภาคีสมาชิกเอเปค จึงอาจมีความน่าเชื่อถือลดน้อยลง[142]
ก่อนการประชุมเอเปค มีผู้พบว่าป้ายประกาศข้อความที่ปรับเปลี่ยนได้ หรือ VMS บนทางพิเศษฉลองรัช เพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมเอเปค 2022 สะกดคำภาษาอังกฤษผิดจากคำว่า Welcome เป็น Welcom ขาดตัวอักษร e ไป และยังนำธงชาติของสมาชิก จี-20 มาใช้ประกอบ ด้านการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขออภัยต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และชี้แจงว่าได้ดำเนินการแก้ไขทันทีที่พบข้อบกพร่องดังกล่าว[143] ส่วนไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือประชาชนงดแชร์ภาพก่อนการแก้ไข เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีในช่วงการประชุม[144] เวลาต่อมา กทพ. ประกาศจะดำเนินคดีกับผู้นำภาพดังกล่าวไปตัดต่อ อันทำให้องค์กรเกิดความเสียหาย[145]
นันทนา นันทวโรภาส วิจารณ์ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 ว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องภายในประเทศ ไม่เข้มแข็งพอที่จะทำให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ หันมาให้ความสำคัญ แต่การใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมผู้ชุมนุม ก็ทำให้รัฐบาลเสียภาพลักษณ์ด้วยเช่นกัน[146] ธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ถนนดินสอเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ว่ากระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นี้[147]
ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านและนักวิชาการบางส่วน ได้ออกมาประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจากการปะทะกันดังกล่าว[148] พร้อมสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประท้วงดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้อง[149] ขณะที่หริรักษ์ สูตะบุตร อาจารย์มหาวิทยาลัย มองว่าการปฏิบัติการของตำรวจเป็นไปตามหน้าที่ และอ้างว่าตำรวจจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเพื่อหยุดการฝ่าแนวกั้นและการขว้างปาสิ่งของของผู้ประท้วง[150] ส่วนณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง วิจารณ์ว่าผู้นำประท้วงกำลังใช้มวลชนเป็นเบี้ยเพื่อหวังได้ภาพตามที่ต้องการ[151]
นอกจากนี้ ยังมีการวิจารณ์ประเด็นอื่น ๆ เช่น ป้ายต้อนรับผู้นำชำรุด[152] และการจัดอาหารเลี้ยงเจ้าหน้าที่ซึ่งมาปฏิบัติงานในช่วงการประชุม[153] เป็นต้น
ผลสืบเนื่อง
[แก้]สมาคมโรงแรมไทยกล่าวว่า อัตราการจองห้องพักย่านถนนสุขุมวิทและริมแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงการประชุมเอเปคเต็มเกือบทุกแห่ง[154] ด้านหอการค้าไทยคาดการณ์วงเงินหมุนเวียนในช่วงการประชุมนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท[155] ส่วนร้านอาหารที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบในการเตรียมมื้อค่ำรับรองผู้นำเอเปค ก็มียอดขายที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน[156][157][158][159]
หลังเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงความเสียใจต่อเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมทบทวนการประสานงานระหว่างผู้ชุมนุมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง[160] ส่วนตัวแทนกลุ่มราษฎรได้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน โดยอ้างการกระทำที่เกินกว่าเหตุ[161] อีกทั้งแนวร่วมของกลุ่มได้จัดกิจกรรมประท้วงการกระทำของตำรวจในเหตุการณ์ดังกล่าว[162] ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามหลักปฏิบัติสากล และทุกฝ่ายต้องไม่แสดงพฤติกรรมยั่วยุหรือสร้างเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงต่อกัน[163]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Thailand Announces Dates for APEC Economic Leaders' Meeting". APEC (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-11. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "รบ.พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022 ชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศ". mgronline.com. 2022-02-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-20. สืบค้นเมื่อ 2022-02-20.
- ↑ "นายกฯ ประกาศการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 (APEC 2022) สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง พลิกฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคต พร้อมเชิญคนไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกัน". www.thaigov.go.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-14. สืบค้นเมื่อ 2022-02-20.
- ↑ Rujopakarn, Benjamin. "Thailand Unveils Logo for 2022 APEC Chairmanship". thailandnow.in.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2021.
- ↑ "Prime Minister concludes APEC Economic Leaders' Summit". apec2021nz.org. 13 November 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2021.
- ↑ "เอเปก 2022 มีความสำคัญกับรัฐบาลประยุทธ์อย่างไร กับฝันร้าย 13 ปีที่ผ่านมา". www.thairath.co.th. 2022-11-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ matichon (2022-11-17). "ครม.ยุค 'ยิ่งลักษณ์' อนุมัติจัดประชุมเอเปค 2022". มติชนออนไลน์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "20 ปี"เอเปก"กลับมาเยือนไทยอีกรอบ เจ้าภาพทุ่มไม่อั้น งบฯรวม3,283ล้าน". mgronline.com. 2021-01-30. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-17. สืบค้นเมื่อ 2022-02-20.
- ↑ "ชิลียกเลิกจัดประชุม APEC หลังเหตุประท้วงบานปลาย สหรัฐฯ ยันเดินหน้าเซ็นข้อตกลงการค้ากับจีน แม้ไม่ได้ลงนามในที่ประชุมซัมมิต". THE STANDARD. 2019-10-31. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-นายกฯ ย้ำเวทีเอเปคครั้งที่ 27 ส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคทุกมิติ ต่อยอดธุรกิจดิจิทัลในยุคหลังโควิด-19". www.thaigov.go.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-03. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "นิวซีแลนด์เตรียมเปิดประชุมเอเปค มุ่งถกประเด็นฟื้นฟูศก.จากโควิด : อินโฟเควสท์". สำนักข่าวอินโฟเควสท์. 2021-11-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "APEC THAILAND 2003: Programme for Saturday, 18 October". ryt9.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-20. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ Banking, Money and. ""ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์" พร้อมเปิดให้บริการ 12 กันยายน 2565". Money and Banking. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "คมนาคมโรดโชว์ "ผู้นำเอเปก" ลงทุน MR-Map พ่วงแลนด์บริดจ์". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-02-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-20. สืบค้นเมื่อ 2022-02-20.
- ↑ "หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0504/ว.209" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ ""อิมแพ็ค" ท้าชนศูนย์ฯสิริกิติ์! ต่อจิ๊กซอว์ปั้นศูนย์ประชุมใหม่ปี67". bangkokbiznews. 2022-02-09.
- ↑ "1992 APEC Ministerial Meeting". apec.org. 10 September 1992. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2021.
- ↑ "ถอดรหัส "ตราสัญลักษณ์" ประเทศไทย : APEC 2022". bangkokbiznews. 2021-11-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-20. สืบค้นเมื่อ 2022-03-15.
- ↑ "นิสิตสถาปัตย์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวดโลโก้เอเปค 2022 งดงามความหมายสะท้อนความเป็นไทย". จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-02. สืบค้นเมื่อ 2022-03-15.
- ↑ การประชุมรัฐมนตรีเอเปคเต็มคณะ เริ่มต้นหารือมุ่งสู่ความร่วมมือเปิดตลาดการค้าเสรีร่วมกัน, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17, สืบค้นเมื่อ 2022-11-17
- ↑ ""อิทธิพล" ย้ำรัฐบาลพร้อมจัดงานเอเปค แจงเลื่อนงานกาล่าดินเนอร์ เป็น 17 พย. เพื่อความเหมาะสม". mgronline.com. 2022-11-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-08. สืบค้นเมื่อ 2022-11-08.
- ↑ 22.0 22.1 "คู่มือสื่อมวลชน การประชุมเอเปค 2022" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-09. สืบค้นเมื่อ 2022-11-09.
- ↑ "ไทยพร้อม APEC พร้อม มุมมองจาก 'ชุมพล แจ้งไพร' ว่าด้วยแนวคิด Open – Apec 2022 – APECprompt Thaiprompt". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-13. สืบค้นเมื่อ 2022-11-13.
- ↑ "สัมภาษณ์ ชุมพล แจ้งไพร เส้นทางชีวิตของยอดเชฟอาหารไทยเสิร์ฟบนเวทีเอเปค 2022". thepeople (ภาษาอังกฤษ). 2022-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "เปิดภาพเมนูอาหารสุดหรู รัฐบาลจัดเต็มเลี้ยง ต้อนรับผู้นำเอเปค". เดลินิวส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-13. สืบค้นเมื่อ 2022-11-13.
- ↑ "รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานในพิธีบวงสรวงการจัดการแสดงทางวัฒนธรรมในงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำสำหรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค พ.ศ. 2565". www.thaigov.go.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-13. สืบค้นเมื่อ 2022-11-13.
- ↑ "กาล่าดินเนอร์ผู้นำเอเปค 2022 เบิร์ด ธงไชย นำทีมโชว์ร้องเพลง". thansettakij. 2022-11-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-14. สืบค้นเมื่อ 2022-11-14.
- ↑ "'พี่เบิร์ด' มาแน่ ! โชว์ร้องเพลงงานเลี้ยงผู้นำเอเปค". bangkokbiznews. 2022-11-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-14. สืบค้นเมื่อ 2022-11-14.
- ↑ หนึ่ง. "เผยของที่ระลึก มอบผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 'เบิร์ด' ขับร้องมื้อค่ำ โชว์วัฒนธรรมเด่น". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-14. สืบค้นเมื่อ 2022-11-14.
- ↑ ""วิจิตร เจ้าพระยา" ปรากฏการณ์แสงสี กระตุ้นไฮซีซัน รับประชุม "เอเปค 2022"". bangkokbiznews. 2022-11-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-13. สืบค้นเมื่อ 2022-11-13.
- ↑ 31.0 31.1 "เช็กที่นี่ประชุมเอเปค 16-18 พ.ย.ปิดถนน-ปิดสถานีMRT-ปิดโรงเรียนที่ไหนบ้าง?". เดลินิวส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 2022-11-03.
- ↑ "เปิดฉากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกแล้ว นายกฯ ประกาศ หวังผู้นำเขตเศรษฐกิจรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม". mgronline.com. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ NEWS, KYODO. "Leaders of Japan, U.S., 4 other states meet over North Korea". Kyodo News+. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "Thai PM calls for sustainable growth as tensions overshadow APEC". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ ""ภริยานายกฯ" นำ "คณะคู่สมรสผู้นำเอเปค" ชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดินที่เกาะเกิด อยุธยา". สยามรัฐ. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "ในหลวง-พระราชินี โปรดเกล้าฯ คณะผู้นำเอเปค และภริยา เข้าเฝ้าฯ". Thai PBS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ pantipa (2022-11-19). "ทรงรับพระประมุข ฯลฯ เฝ้าฯในโอกาสเสด็จฯเยือนไทยเพื่อร่วมประชุมเอเปค". หน่วยราชการในพระองค์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "นายกฯประชุมผู้นำเขตศก.เอเปคการค้าลงทุน-หนุนเสรีเอเชีย-แปซิฟิก". เดลินิวส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "ประยุทธ์ ปิดฉากเอเปค 2022 อย่างงดงาม ส่งชะลอมต่อ สหรัฐฯ เจ้าภาพปีหน้า". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-11-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "'Most' APEC members condemn war in Ukraine in leaders' statement". The Japan Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-11-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ Mcpherson, Poppy; Kittisilpa, Juarawee; Wongcha-um, Panu (2022-11-19). "APEC pledges to boost trade as geopolitical rifts hijack regional summits". Reuters (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "นับถอยหลัง ไทยเจ้าภาพ APEC CEO Summit 2022 เวทีถกผู้นำธุรกิจเอเปค". spacebar.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-14.
- ↑ "ครม. เคาะ 16-18 พ.ย. วันหยุดพิเศษ ช่วงประชุมเอเปค". Thai PBS. 2022-10-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2022-10-05.
- ↑ "ศธ.สั่งปิดโรงเรียนรัฐบาล 3 จังหวัด ช่วงเอเปค 2022". thansettakij. 2022-11-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-12. สืบค้นเมื่อ 2022-11-12.
- ↑ "กำหนดให้วันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันทำการตามปกติของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ". www.bot.or.th (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-12. สืบค้นเมื่อ 2022-10-12.
- ↑ "เริ่มแล้ว! ประชุมเอเปค บิ๊กตู่ ยิ้มสยาม ไหว้ต้อนรับผู้นำ ศูนย์สิริกิติ์เข้ม ดูแลขั้นสูงสุด(มีคลิป)". ข่าวสด. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ APEC 2022 (2022-10-18). "Frequently Asked Questions regarding Press Arrangements for the AELW". APEC (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-27. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ 48.0 48.1 "งดใช้สวนเบญจกิติช่วงประชุมเอเปค ปิดเส้นทางน้ำหน้ากองทัพเรือ 18 พ.ย." ประชาชาติธุรกิจ. 2022-11-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-02. สืบค้นเมื่อ 2022-11-02.
- ↑ "แนะหลีกเลี่ยงเส้นทางรอบ "ศูนย์สิริกิติ์" 16-19 พ.ย.นี้ ประชุม APEC 2022". www.sanook.com/news. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-06. สืบค้นเมื่อ 2022-11-06.
- ↑ "กรุงเทพมหานคร ประกาศปิดสวนเบญจกิติ เป็นการชั่วคราว รองรับการจัดประชุม เอเปค". www.fm91bkk.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-12. สืบค้นเมื่อ 2022-11-12.
- ↑ "กทม.พร้อมรับประชุมเอเปค 12 พ.ย.นี้ ปิดสวนป่าเบญจกิติ เปิดทางฝ่ายความมั่นคง". ข่าวสด. 2022-11-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 2022-11-03.
- ↑ 52.0 52.1 "ประกาศปิด MRT สถานีศูนย์สิริกิติ์รับประชุมเอเปค 16-19 พ.ย.นี้". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-11-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-10. สืบค้นเมื่อ 2022-11-10.
- ↑ 146 (2022-11-16). "เพื่อเอเปค แจ้งปิดสกายวอล์ก แยกเฉลิมเผ่าถึงเกษร 17-19 พ.ย.นี้". ข่าวสด. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์) - ↑ "ตรึงกำลัง จนท. เข้ม "แยกอโศก" ดูแลความเรียบร้อยประชุมเอเปค". bangkokbiznews. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "ผบ.ตร.ติวเข้มความพร้อมเอเปค". สำนักข่าวไทย อสมท. 2022-10-31. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-31. สืบค้นเมื่อ 2022-10-31.
- ↑ "เช็กด่วน! ขสมก.ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ 14 สาย หลีกเลี่ยงปิดจราจรการประชุมเอเปค 16-19 พ.ย.นี้". มติชนออนไลน์. 2022-11-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-12. สืบค้นเมื่อ 2022-11-12.
- ↑ "กรมเจ้าท่า ประกาศควบคุมเดินเรือ พื้นที่จัดเลี้ยงผู้นำเอเปค เย็นนี้". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "กรมเจ้าท่าแจ้ง "ห้ามเดินเรือ" ในแม่น้ำเจ้าพระยา 18-19 พ.ย.นี้ เริ่ม 3 ทุ่ม- 6 โมงเข้า เช็คจุดพื้นที่ควบคุมที่นี่!". สยามรัฐ. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ 59.0 59.1 "สตช. จับจริง กลุ่มป่วน "เอเปค" ชุมนุม-เรียกร้องได้ จัดสถานที่ไว้ให้". คมชัดลึกออนไลน์. 2022-11-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-14. สืบค้นเมื่อ 2022-11-14.
- ↑ "APEC 2022 ตร.เข้มความปลอดภัยทุกพื้นที่ วางระบบ CCTV 22,848 ตัว". thansettakij. 2022-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ 61.0 61.1 "ตร.ระดมกวาดล้างอาชญากรรม พบปืนไม่มีทะเบียน 5,345 กระบอก". Thai PBS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-09. สืบค้นเมื่อ 2022-11-09.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ เก็บถาวร 2022-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๖๖ ง ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
- ↑ ""บิ๊กป้อม" เข้ม ห้ามใครขัดขวาง "ประชุมเอเปค" เด็ดขาด". คมชัดลึกออนไลน์. 2022-11-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ "พระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๑" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-11. สืบค้นเมื่อ 2022-11-11.
- ↑ "ตร.กำชับ 4 มาตรการเข้มด้านการข่าว รองรับความปลอดภัยช่วงประชุมเอเปค : อินโฟเควสท์". สำนักข่าวอินโฟเควสท์. 2022-11-10. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-11. สืบค้นเมื่อ 2022-11-11.
- ↑ "โปรดทราบ 'ผู้ว่าฯชัชชาติ' ยังเปิด 7 พื้นที่กทม.ให้ม็อบได้ช่วงประชุมเอเปก". 2022-11-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-09. สืบค้นเมื่อ 2022-11-09.
- ↑ "กทม.ประกาศ 7 จุด พื้นที่ใช้ชุมนุมสาธารณะได้ เปิดให้ประชาชนแสดงออกภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ". mgronline.com. 2022-06-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-09. สืบค้นเมื่อ 2022-11-09.
- ↑ "'ผู้ว่าฯชัชชาติ' โวย 'ม็อบป่วนเอเปก' ผิดสัญญา หนาว!จ่อหารือฝ่ายความมั่นคง". 2022-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง การบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ในระหว่างวันที่ 13 – 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-09. สืบค้นเมื่อ 2022-11-09.
- ↑ "เผยโฉม 7 ของที่ระลึก ประชุม APEC 2022 สำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจและคู่สมรส". www.thairath.co.th. 2022-11-06. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-06. สืบค้นเมื่อ 2022-11-06.
- ↑ ""บิ๊กตู่" เซอร์ไพรส์ เยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการสื่อ บอกอย่าเพิ่งถามอะไร". สยามรัฐ. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "พาชมศูนย์สื่อ 'เอเปค 2022' ไทยต้อนรับปังแค่ไหน !". bangkokbiznews. 2022-11-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "APEC โชว์ศูนย์สื่อมวลชน นำร่อง BCG". สำนักข่าวไทย อสมท. 2022-11-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ ประชาชาติ, ซีเอสอาร์ (2022-11-16). "บูธนวดไทยในงาน APEC 2022 คึกคัก ซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่สายตาโลก". ประชาชาติธุรกิจ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "บัวขาว ฟาดเน้นๆ โชว์ศิลปะแม่ไม้มวยไทยในเวทีการประชุมเอเปค". mgronline.com. 2022-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "More than 2,300 journalists covering APEC meeting in Bangkok". www.thaipbsworld.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ หนึ่ง (2022-11-04). "'บิ๊กตู่' เตรียมเปิดทำเนียบฯต้อนรับแขกพิเศษอย่างเป็นทางการ เผยความพร้อมเอเปก". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-04. สืบค้นเมื่อ 2022-11-04.
- ↑ "มกุฎราชกุมารซาอุฯ เยือนไทย พลิกฟื้นความสัมพันธ์หลังร้าวฉานนาน 30 ปี". bangkokbiznews. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ isranews (2022-11-15). "'ประยุทธ์' เตรียมหารือ 8 ผู้นำประเทศ ช่วงการประชุมเอเปก". สำนักข่าวอิศรา. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-15.
- ↑ "Japan and China affirm stable ties during first summit in three years". Nikkei Asia (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ Murakami, Sakura; Baptista, Eduardo (2022-11-17). "Xi, Kishida meet as tensions grow over Taiwan, East China Sea". Reuters (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "Japan-Chile Summit Meeting". Ministry of Foreign Affairs of Japan (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "Marcos, Xi meet amid sea row". The Manila Times (ภาษาอังกฤษ). 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "VP Harris Meets Xi at APEC in Bangkok Ahead of Philippines Visit Near Disputed Spratly Islands". VOA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "เปิดชื่อ ผู้นำ-ผู้แทน 21 เขตเศรษฐกิจ 3 แขกพิเศษ ประชุมผู้นำเอเปค 2022". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-11-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-13. สืบค้นเมื่อ 2022-11-13.
- ↑ "เช็กแถวผู้นำร่วม APEC 2022 "ปูติน" รอยืนยัน "สี จิ้นผิง" แขกพิเศษ". bangkokbiznews. 2022-11-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-01. สืบค้นเมื่อ 2022-11-01.
- ↑ "ปูตินไม่มาประชุมเอเปคที่ไทย ส่งรองนายกรัฐมนตรีนำคณะเข้าร่วม". เดลินิวส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-11. สืบค้นเมื่อ 2022-11-11.
- ↑ "อ่าน'สัญญะ'ผู้นำโลก 'มาครง'ร่วมเอเปค". bangkokbiznews. 2022-10-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-12. สืบค้นเมื่อ 2022-10-12.
- ↑ ""ฮุน เซน" ติดโควิด ล้มแผนไม่เข้าร่วมประชุม G20 - APEC". bangkokbiznews. 2022-11-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-15.
- ↑ "ขยายเวลาขอบัตรผ่านเส้นทางปิดจราจรช่วงเอเปคถึง 19 พ.ย." Thai PBS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ บช.น.เผยภาพรวมการจราจร ได้รับผลกระทบ APEC เพิ่ม, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17, สืบค้นเมื่อ 2022-11-17
- ↑ "พ่อค้า แม่ค้า แรงงานรายวัน โอด ปิดถนนประชุม APEC ทำรายได้หาย". pptvhd36.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ ""ม็อบป่วนเอเปค"เริ่มเคลื่อนไหว หวังใช้เวทีการประชุมประจาน "นายกฯลุงตู่"". NationTV. 2022-11-10. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-10. สืบค้นเมื่อ 2022-11-10.
- ↑ "ตรวจค้นหอพักย่านรามคำแหง - คุมตัว 3 นักกิจกรรมนักศึกษามลายู อ้างเหตุความมั่นคงช่วง APEC". prachatai.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ ""เผา-ระเบิด" โหมโรงป่วนเอเปค สกัดซ้ำรอยปี 52 ดิสเครดิตรัฐบาล". bangkokbiznews. 2022-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "'กรีนพีซไทย' ลงน้ำ เรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพอากาศต่อผู้นำ APEC พร้อมวิพากษ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG". THE STANDARD. 2022-11-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-11. สืบค้นเมื่อ 2022-11-11.
- ↑ "แนวร่วม "ราษฎร" ชุมนุมขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ คู่ขนานประชุมเอเปค". BBC News ไทย. 2022-11-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ "'ราษฎรหยุด APEC2022' เตรียมเคลื่อนไหวคู่ขนานเอเปค จี้ 'ประยุทธ์' ยุติบทบาท ปธ.-ยกเลิก 'BGC' เอื้อนายทุน". prachatai.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-10. สืบค้นเมื่อ 2022-11-10.
- ↑ "ผ่าความเคลื่อนไหว"หนุน-ต้านเอเปค2022 " นายกฯเดินหน้าเป็นเจ้าภาพที่ดี". NationTV. 2022-11-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-15.
- ↑ "กลุ่มราษฎรยื่นหนังสือสถานทูตฯ ค้านการจัดประชุมเอเปค". Thai PBS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-15.
- ↑ ""ไซอิ๋วตะลุยเอเปค" กลุ่มนักกิจกรรมประท้วงบรรดาผู้นำเผด็จการจากเยาวราชถึงศูนย์สิริกิติ์". prachatai.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-15.
- ↑ "เสียงดังกระหึ่ม ต้อนรับ สี จิ้นผิง และภริยา". ch7. สืบค้นเมื่อ 29 November 2022.
- ↑ "จ่อก่อม็อบรับ APEC กลุ่มราษฎร นัดปักหมุด 3 วัน อุบเคลื่อนขบวนไปที่ประชุม". www.thairath.co.th. 2022-11-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-13. สืบค้นเมื่อ 2022-11-13.
- ↑ "ตะวันและเพื่อนแต่งเลียน "หมีพูห์" ประท้วงนโยบายจีนเดียว". prachatai.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "ม็อบ APEC เผาพริกเผาเกลือและหุ่นฟางสาปแช่งเผด็จการ แฉมีคนถูกเจาะข้อมูล". www.thairath.co.th. 2022-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "ชุมนุม "ลานคนเมือง" วิพากษ์เอเปค ตร.จัดกำลังดูแล 50 นาย". Thai PBS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ "PHOTO STORY: 'ม็อบอโศก' ประณาม 'บิ๊กตู่' จัด 'เอเปค' รับรอง 'รัฐบาลเผด็จการ' เทศกาล 'โกหกครั้งใหญ่'". spacebar.th (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
- ↑ ยุติชุมนุม! 'ม็อบต้านเอเปค'อ่านแถลงการณ์ ก่อนฉีกทิ้งกลางแยกอโศก
- ↑ "อนุสาวรีย์ ปชต. วุ่น! คฝ.ยึดป้ายผ้าม็อบต้านเอเปค ตะโกน "จับเลย จับเลย" (คลิป)". NationTV. 2022-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ ""มายด์" ยันเดินหน้าบุกศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ย้ำไม่ได้ต้องการความรุนแรง". อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 - AMARIN TV HD. 2022-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "(เพิ่มเติม2) ตร.เจรจากลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ให้กลับไปปักหลักที่ลานคนเมือง". ryt9.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ AP, Sarot Meksophawannakul-stringer. "Protester throw fermented fish sauce to riot police during a protest against the Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) forum". The Brunswick News (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ 113.0 113.1 "Amid anti-govt protests in Bangkok, APEC leaders call for enhanced cooperation". WION. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ เอ๋ (2022-11-18). "'มายด์' ร่ำไห้! โวยตำรวจยิงกระสุนยาง". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ 115.0 115.1 "แจ้ง 7 ข้อหามวลชน 25 คน "ต้านเอเปค" ส่งฟ้องศาล 19 พ.ย.นี้". Thai PBS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "เอเปค : ตำรวจ คฝ. เริ่มใช้กระสุนยางกับผู้ชุมนุม "ราษฎรหยุดเอเปค 2022"". BBC News ไทย. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "อนาถ "สามกีบ" บีบน้ำตาประณามนายกฯ แต่ม็อบล่อไม้หน้าสาม พกเลือดปลอม - TOPNEWS" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "(เพิ่มเติม) ตร.จับกุมผู้ชุมนุม ราษฎรหยุด APEC 2022 แล้ว 25 ราย". ryt9.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ สถานการณ์การชุมนุมถนนดินสอ เริ่มคลี่คลาย, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18, สืบค้นเมื่อ 2022-11-18
- ↑ "ตำรวจนำตู้คอนเทนเนอร์วางกั้นถนนปิดล้อมพื้นที่ผู้ชุมนุม". workpointTODAY. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "ม็อบราษฎรหยุด APEC นัดไป สน.ทุ่งสองห้อง เรียกร้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมแบบไร้เงื่อนไข : อินโฟเควสท์". สำนักข่าวอินโฟเควสท์. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "ตร.เข้าสลายการชุมนุม ม็อบเอเปค 2022 ก่อนระดมมวลชนไป สน.ทุ่งสองห้อง". pptvhd36.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "รอหมายเรียก! ตร. จ่อตั้ง 4 ข้อหา ม็อบ 2 จุด ป่วนเอเปก ยอดผู้ชุมนุมรวมกัน 150 คน". 2022-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "ตร.จ่อเอาผิดม็อบราษฎรหยุด APEC 2022 ทำลายทรัพย์สินราชการ-ทำร้ายเจ้าหน้าที่". สยามรัฐ. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "ผบ.ตร. ระบุ เหตุปะทะ ม็อบราษฎรหยุดเอเปค ตำรวจเจ็บ 15 สาหัส 1". bangkokbiznews. 2022-11-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "ปล่อยตัว23ผู้ชุมนุม อีก 2 คนรอเช้า 'มายด์' เผยตร. หวั่นรวมตัวต้านเอเปคอีกพรุ่งนี้". ข่าวสด. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ ตร.ให้ประกันผู้ชุมนุมค้าน APEC 25 คน, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19, สืบค้นเมื่อ 2022-11-19
- ↑ "'ศปปส.-นักรบองค์ดำ'ประกาศจัดทัพเผชิญหน้า'3 กีบ' ปกป้องการประชุมเอเปค". naewna.com. 2022-11-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-12. สืบค้นเมื่อ 2022-11-12.
- ↑ matichon (2022-11-14). "'แดงเชียงใหม่' ยันไม่ร่วมม็อบชนเอเปคที่ กทม. มีบทเรียนจากพัทยา ชี้ 'ตู่' อยู่ไม่กี่เดือนก็ไปแล้ว". มติชนออนไลน์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-15.
- ↑ "สถานทูตเตือนชาวพม่าในไทย ห้ามเคลื่อนไหวช่วงประชุม APEC". mgronline.com. 2022-11-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-13. สืบค้นเมื่อ 2022-11-13.
- ↑ "โฆษกกระทรวงต่างประเทศ มองม็อบต้านเอเปค ทุกภาคส่วนมีหน้าที่ทำตามกฎหมาย". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "กูรูชี้ ไบเดนคิดผิด! ไม่มาเอเปค แนะตัดสินใจใหม่". bangkokbiznews. 2022-11-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-13. สืบค้นเมื่อ 2022-11-13.
- ↑ มติชนสุดสัปดาห์; chokb (2022-10-04). "ไบเดนไม่ร่วม 'เอเปค' สัญญาณสถานะตกต่ำของ 'ไทย' ในสายตาประชาคม 'โลกเสรี'/บทความในประเทศ". มติชนสุดสัปดาห์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-14. สืบค้นเมื่อ 2022-11-14.
- ↑ "อั๋นคำผกา อัดเอเปค ไม่ใช่ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ โลกไม่โง่ รู้ดีว่าเรามีปัญหา". ข่าวสด. 15 November 2022. สืบค้นเมื่อ 21 November 2022.
- ↑ "ผอ.นิด้าโพล ชี้รัฐบาลเจ้าภาพจัดเอเปคช่วยเสริมภาพลักษณ์ แต่ไม่ใช่ผลงานเพิ่มคะแนนนิยม". Thai PBS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ บำรุงสุข, สุรชาติ (2022-11-18). "เอเปคในวันที่ไทยไร้เสน่ห์! โดย สุรชาติ บำรุงสุข". มติชนออนไลน์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "แค่ทวิภาคีซาอุฯกับจีน ไทยก็เกินคุ้ม !!". mgronline.com. 2022-11-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ "เทียบการประชุมเอเปค-G20 … ไทยได้หรือเสียรู้?". NationTV. 2022-11-19.
- ↑ "วิพากษ์: การประชุม APEC 2022 และแผนปฏิบัติการ BCG เพื่อผลประโยชน์ใคร?". ilaw.or.th.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "เปิดโปงขบวนการ 'ฟอกเขียว' เอื้อกลุ่มทุน ภาคประชาชนชำแหละเวที APEC กระทบสิทธิรอบด้าน". waymagazine.org. 2022-11-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-11. สืบค้นเมื่อ 2022-11-10.
- ↑ isranews (2022-11-15). "เสวนา มธ. ตกผลึก ไทยได้ประโยชน์ 'เอเปค' หลายด้าน". สำนักข่าวอิศรา. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-15.
- ↑ เชาวน์ดี, นราวิชญ์ (2022-11-19). ""ลงนาม-รับรองแล้ว" นายกแถลงผลสำเร็จเอเปค ก้าวไกลวิพากษ์ "ส่อฟอกเขียว"". สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "ทำป้ายยังไงให้ขายหน้าฝรั่ง "Welcom to APEC 2022" การทางพิเศษฯ ขออภัยแก้ไขให้แล้ว". mgronline.com. 2022-11-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-15.
- ↑ "รัฐบาล แจง แก้ป้าย "Welcome" งาน APEC 2022 ที่ผิดแล้ว ของดแชร์ในโลกโซเชียล". www.thairath.co.th. 2022-11-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-15.
- ↑ "การทางพิเศษฯ ขู่ฟ้องชาวเน็ต ตัดต่อป้ายต้อนรับผู้นำเอเปค ขอให้ลบใน 24 ชั่วโมง". www.sanook.com/news. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "ม็อบต้านเอเปก เสียงเรียกร้องไร้สัญญาณตอบ หรือฟ้องให้โลกรู้ คนไม่เอาบิ๊กตู่". www.thairath.co.th. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "The MATTER ออกแถลงการณ์กรณีนักข่าวบาดเจ็บในที่ชุมนุม 'ราษฎรหยุด APEC 2022'". workpointTODAY. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 2022-11-18.
- ↑ "เข้าเฝ้า ร.10-ราชินี 22 ผู้นำประเทศ ณ พระที่นั่งจักรีฯ (คลิป)". www.thairath.co.th. 2022-11-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "อ.ปริญญา ชี้ สลายการชุมนุม กลุ่มราษฎรหยุดเอเปค ไม่ชอบด้วยกฎหมาย". ข่าวสด. 2022-11-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ ""หริรักษ์"เผยเขียนไว้ไม่ผิดม็อบยั่วยุ ตร.ใช้ความรุนแรง ชี้ไม่เห็นเงา'ชัชชาติ'ออกมาช่วยไกล่เกลี่ย". mgronline.com. 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ ""โบว์ ณัฏฐา" ซัดวางแผนมวลชนเป็นเบี้ย หวังได้ภาพที่ต้องการ - TOPNEWS" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ หักได้อย่างไร? ป้ายต้อนรับผู้นำเอเปค หน้าทำเนียบหัก! เร่งซ่อมด่วน, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17, สืบค้นเมื่อ 2022-11-17
- ↑ "ข้างหลังภาพ'เอเปค'? เสียงครวญตร.ไทย 'อารักขาVIP' สวัสดิการสวนทาง". เดลินิวส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-11-17.
- ↑ "เอเปค2022 ดันเที่ยวโค้งท้าย เงินสะพัดโรงแรมหรูหมื่นล้าน". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-11-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ "ช่วงเอเปคเงินสะพัด 2 หมื่นล้านบาทหนุนทั้งการท่องเที่ยว จ้างงาน". pptvhd36.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ "'ปลากุเลาเค็มตากใบป้าอ้วน' ยอดขายพุ่งหลังเป็นส่วนหนึ่งในเมนูที่เสิร์ฟในงานเลี้ยงผู้นำเอเปค 2022". workpointTODAY. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ "อร่อยตามรอย "เอเปก" คนแห่กิน ข้าวซอยหมี่กรอบล้านนา เมนูของดี 4 ภาค". www.thairath.co.th. 2022-11-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ "เนื้อโพนยางคำยอดพุ่ง! หลังขึ้นโต๊ะผู้นำเอเปค". bangkokbiznews. 2022-11-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ "ร้านข้าวมันไก่ยอดกระฉูดหลัง 'ไก่เบตง' ขึ้นโต๊ะAPEC 2022". 2022-11-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ "'ชัชชาติ' เสียใจเหตุสลายชุมนุม นำบทเรียนไปทบทวนแผนจัดพื้นที่ชุมนุม". prachatai.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "แจ้งเอาผิด 'คฝ.' ทุกระดับสลายชุมนุม 'ต้านเอเปค' โดยมิชอบด้วยกฎหมาย". เดลินิวส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "ป่วนไม่เลิก! ม็อบบุกห้างกลางกรุง พังป้าย- ตะโกนด่า". สยามรัฐ. 2022-11-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
- ↑ "กสม. ออกแถลงการณ์ หยุดความรุนแรง สลาย "ม็อบเอเปค" ตาม หลักสิทธิมนุษยชน". คมชัดลึกออนไลน์. 2022-11-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-11-19.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี เว็บไซต์เอเปค
ก่อนหน้า | เอเปค 2022 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เอเปค 2021 | การประชุมเอเปค (2022) |
เอเปค 2023 |