เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เกิดเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2450 เป็นบุตรคนใหญ่ของจางวางทั่ว พาทยโกศลและนางปลั่ง นามเดิมว่านก ต่อมาเมื่ออายุ 10 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตรฯประทานนามให้ว่า "เทวาประสิทธิ์" ตามชื่อเพลงเพลงหนึ่ง เทวาประสิทธิ์ได้สมรสกับนางสาวยุพา โอชกะ เมื่อ พ.ศ. 2474 มีบุตรชายเพียงคนเดียวคือนายอุทัย พาทยโกศล

เทวาประสิทธิ์ได้หัดเรียนดนตรีไทยจากหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) ผู้เป็นปู่และจากจางวางทั่วผู้บิดานับตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนกระทั่งท่านสามารถบรรเลงเครื่องปี่พาทย์ได้ดีตั้งแต่อายุ ได้ 8 ปี จากนั้นท่านได้ไปเรียนดนตรีกับ ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ตั้งแต่ยังเด็ก ได้ไปเรียนเป่าปี่ในกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จนกระทั่งเชี่ยวชาญในการเป่าปี่

ในปี พ.ศ. 2466 เทวาประสิทธิ์ขณะที่มีอายุ 15 ปี ได้เข้าร่วมประชันวงปี่พาทย์ที่วังบางขุนพรหม และเดี่ยวปี่ได้รางวัลชนะเลิศ ส่วนในทางซอสามสายนั้นท่านได้รับประทานซอคู่พระหัตถ์ซึ่งเสียงดีมากมาคันหนึ่ง เรียกกันว่า ซอทวนนาค และยังได้เรียนกับพระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล (ประสงค์ อมาตยกุล) เมื่ออายุได้ 20 ปี ได้เข้ารับราชการทหาร อยู่ในกองแตรวงมหาดเล็กรักษาพระองค์ ทำหน้าที่เขียนโน้ตสากล หลังจากนั้นเป็นนักดนตรีอยู่กับวงพิณพาทย์วังบางขุนพรหมของทูลกระหม่อมบริพัตรฯ และวงพิณพาทย์ของจางวางทั่ว ท่านได้ควบคุมวงปี่พาทย์ต่อจากบิดาของท่าน ซึ่งรู้จักกันในนามว่า วงพาทยโกศล หรือวงฝั่งขะโน้น

เทวาประสิทธิ์ ได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีให้สถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น โรงเรียนการช่างสตรีโชติเวช โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนศึกษานารี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเคยช่วยราชการในด้านการบรรยายพิเศษ และปรับวงดนตรีให้แก่กองทัพบกและกรมตำรวจ นอกจากนั้น ท่านได้เคยถวายสอนซอสามสายแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ได้ถวายสอนซอด้วงและซออู้แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ

ผลงาน[แก้]

เพลงที่เทวาประสิทธิ์แต่งไว้มีไม่มากนัก เช่น

  • เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ ทำเป็นทางโหมโรงและทางธรรมดา
  • โหมโรงเพลงอาทิตย์อุทัย
  • เพลงเต่าเห่
  • เพลงนาคบริพัตรเถา
  • เพลงช้างประสานงาเถา
  • เพลงมุล่งเถา
  • เพลงนั่งช้างชั้นเดียว
  • เพลงขึ้นพลับพลา
  • เพลงเทวาประสิทธิ์เถา

ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2516

อ้างอิง[แก้]