ภาธร ศรีกรานนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รองศาสตราจารย์ ภาธร ศรีกรานนท์ (เกิด 4 มกราคม พ.ศ. 2516) นักดนตรี นักประพันธ์เพลง และนักวิชาการดนตรี เชี่ยวชาญในเครื่องดนตรี แซกโซโฟนและคลาริ ผู้ได้รับรางวัลต่างๆในระดับนานาชาติมากมาย ภาธรเป็นหนึ่งในสมาชิกของวงดนตรี วง อ.ส. วันศุกร์ วงดนตรีส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รับใช้เบื้องพระยุคลบาทด้านดนตรีมากว่า 30 ปี

ประวัติ[แก้]

ภาธร เป็นบุตรของ เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ เข้าเฝ้าถวายรับใช้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในด้านดนตรี ร่วมบรรเลงดนตรี ใน วง อ.ส. วันศุกร์ ตั้งแต่อายุ 13 ปี

ภาธร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานทุนการศึกษา เพื่อศึกษาวิชาการด้านดนตรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี Bachelor of Music in Composition and Saxophone Performance จาก มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์อาร์เบอร์ (ศึกษาวิชาการประพันธ์ดนตรีกับ William Bolcom, William Albright, Evan Chambers วิชา Orchestration กับ Michael Daugherty และการแสดงแซ็กโซโฟนกับ Donald Sinta) ปริญญาโท Master of Music in Composition จากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา (ศึกษาวิชาการประพันธ์ดนตรีกับ Jacob Druckman, Martin Bresnick, Krzysztof Penderecki, Anthony Davis และ David Lang) และปริญญาเอก Doctor of Philosophy in Music Composition จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ สหราชอาณาจักรฯ (ศึกษาวิชาการประพันธ์ดนตรีกับ Nigel Osborne และ Peter Nelson เก็บถาวร 2020-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) และได้ศึกษาวิชาดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ วิทยาลัยดนตรีเบิร์คลี สหรัฐอเมริกา

ผลงาน[แก้]

งานประพันธ์ดนตรีของภาธร เริ่มเป็นที่รู้จักกันเมื่อบทประพันธ์ “The Life of Christ” สำหรับโซปราโนแซ็กโซโฟนและเปียโนของเขาได้รับการตีพิมพ์โดย Dorn Publications ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2534 นับเป็นนักประพันธ์ที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงคนเดียว

ภาธรได้รับมอบหมายงานประพันธ์สำคัญเมื่อปี พ.ศ. 2539 จากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย โดยให้ประพันธ์ Piano Quintet สำหรับงานเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 140 ปีแห่งสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนี ในปีถัดมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ประพันธ์ Song Cycle ชุด “ฝนร่ำ…ใบไม้ร่วง” ถวาย เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ข้าราชบริพารประจำพระองค์ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งนำไปสู่งานผลงานบทประพันธ์ต่างๆตามพระราชเสาวนีย์ฯในชุด “เพลินเพลงพระราชทาน” ในปี พ.ศ. 2543

ในปี พ.ศ. 2541 ภาธรเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงดนตรีในมหกรรมดนตรี Five Lyra World Festival (Olympic of Music) ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี โดยผลงาน “Portrait of Siam” สำหรับ อัลโตแซ็กโซโฟนและเปียโนของเขาที่บรรเลงเป็นครั้งแรกในงานนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีมาก ในปี พ.ศ. 2544 ภาธรประพันธ์สังคีตนาฏกรรมเรื่อง เงาะป่า ซึ่งเป็นบทประพันธ์แบบโอเปร่าเรื่องแรกที่ใช้บทร้องเป็นภาษาไทย และได้มีการแสดงบางส่วนเป็นครั้งแรกในงาน Edinburgh Festival Fringe ในปีถัดมา

ผลงานประพันธ์ในช่วงหลังของภาธรมี อาทิ “E se mais mundo houvera, lá chegara…” (ที่ไหนมีแผ่นดิน ที่นั่นมีเรา) สำหรับนักร้องเสียงบาริโทน คณะนักร้องประสานเสียงและวงออร์เคสตรา ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย มอบหมายให้ประพันธ์ขึ้นเป็นพิเศษเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี บทประพันธ์นี้ ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นเพลงสัญลักษณ์ในวาระครบรอบ 500 ปี ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส ในปี พ.ศ. 2554 ในปี พ.ศ. 2555 ภาธรได้ประพันธ์เพลงแจ๊ส “En Elephantine Ballad” เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีช้างไทยที่สวนสัตว์กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยนำบทกวีนิพนธ์ของเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี ในสมเด็จพระราชินีนาถ มาเกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ประกอบในบทประพันธ์ ผลงานชิ้นนี้ได้ออกแสดงครั้งแรกถวายหน้าพระที่นั่งเจ้าชายเฮนริกและสมาชิกพระราชวงศ์เดนมาร์ก ในเดือนพฤษภาคม. ในปี พ.ศ. 2560 ผลงานสำหรับออร์เคสตรา “In Memoriam” ได้บรรเลงโดยวง Royal Philharmonic Concert Orchestra แห่งกรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เพื่อถวายเป็นพระบรมราชสักการะ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผลงานโอเปร่าชิ้นที่ 2 ของภาธรชื่อ “Pero Vaz de Sequeira” อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้าชายดูอาร์ต ปิอู แห่งพระราชวงศ์โปรตุเกส

การบรรเลงแซ็กโซโฟน ภาธรได้ร่วมแสดงกับวงออรเคสตราที่มีชื่อเสียง อาทิ วงดุริยางค์กรมศิลปากร (NSO) วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (BSO) วงดุริยางค์ซิมโฟนีทหารอากาศ วงดุริยางค์ทหารเรือ Royal Philharmonic Orchestra (RPO) แห่งประเทศสหราชอาณาจักร และกับศิลปินแจ๊สที่มีชื่อเสียง อาทิ Gary Burton, Benny Carter, Jimmy Heath, David Liebman, Ernie Watts, Milt Hinton, J.J. Johnson, Urbie Green, วง Ophelia Ragtime Orchestra แห่งประเทศนอร์เวย์ และวง Preservation Hall Jazz Band แห่งเมืองนิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภาธรได้เปิดการแสดงเดี่ยวในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของการแสดงเดี่ยวแซ็กโซโฟนคลาสสิกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2543 ภาธรได้เดี่ยวแซ็กโซโฟน ร่วมกับ วง l’Orchestre National de Lille แห่งประเทศฝรั่งเศส ณ โรงละคร Opera Comique กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนักแซ็กโซโฟนชาวไทยคนแรก ที่ได้แสดงเดี่ยวร่วมกับวง ในปี พ.ศ. 2553 ภาธรได้ร่วมกับวง Preservation Hall Jazz Band ดำเนินโครงการ “The Royal Jazz Celebration” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ โดยโครงการประวัติศาสตร์นี้เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ด้วยการแสดงดนตรีหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ บริเวณท่าน้ำศิริราช จากเรือพระที่นั่งอังสนาล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงค่ำภาธรได้ขึ้นแสดงร่วมกับวง Preservation Hall Jazz Band โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ร่วมทรงไวบราโฟน ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุดงานหนึ่งในรอบปี. แผ่นซีดีและดีวีดีชุด “Royal New Orleans Jazz Celebration” ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวม 3 สาขาด้วยกัน ในปี พ.ศ. 2554 ภาธรได้รับเชิญให้ร่วมบรรเลงดนตรีกับ Preservation Hall Jazz Band อีกครั้ง ในงาน New Orleans Jazz and Heritage Festival รัฐหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา และกับวงดนตรี The Jazzminions ของเขา ในงาน Snake City Jazz Festival ที่เมืองสลังเงรุป และที่ศาลาว่าการกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในปี พ.ศ. 2555 ภาธรและสมาชิกวงดนตรี ได้กลับไปบรรเลงดนตรีที่ประเทศเดนมาร์กอีกครั้ง ในงานครบรอบ 50 ปีช้างไทยในสวนสัตว์กรุงโคเปนเฮเกนและที่ Århus World View Festival ณ เมืองออร์ฮุส ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ซีดี “An Elephantine Ballad” ได้วางจำหน่ายในประเทศไทย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ภาธรพร้อมกับวง The Jazzminions ได้รับเชิญให้แสดงในงาน Nordens Madfestival ที่กรุงโคเปนเฮเกน และในงาน Musik på Slottet (The Royal Festivals) ณ พระราชวังกรุงสตอกโฮล์ม เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 40 ปีของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน ในปีเดียวกันนี้ ภาธรได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นสมาชิกวง The New Orleans Jazz All Stars ของประเทศสหรัฐอเมริกา และในเดือนพฤศจิกายน เขาได้ร่วมกับ David Liebman นักเป่าโซปราโน แซ็กโซโฟนระดับโลก ในงานเฉลิมฉลองวาระครบ 180 ปีความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา และได้บันทึกเสียงดนตรีแจ๊สร่วมกับนักดนตรีไทยเดิม

ในปี พ.ศ. 2558 ภาธรและวง The Jazzminions ได้ไปเปิดการแสดงที่เมืองเทเนริฟ ประเทศเสปน เมืองแอนทเวิร์ป ประเทศเบลเยียม และกรุงอัมเสตอดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ภาธรยังได้รับเชิญจากวงดนตรี Dutch Swing College Jazz Band แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้ร่วมบรรเลงในงานเฉลิมฉลองครบ 70 ปีของวง ณ โรงละคร Anton Phillipszaal ที่กรุงเฮก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของวง ที่มีนักดนตรีชาวไทยร่วมแสดง ในปี พ.ศ. 2559 ภาธร และวง The Jazzminions ได้เข้าร่วมแสดงดนตรีในงาน Snake City Jazz Festival ที่ประเทศเดนมาร์กอีกครั้ง และเปิดการแสดงที่กรุงโคเปนเฮเกนอีกครั้งหนึ่งด้วย และในปลายปี ภาธรได้จัดงาน คีตรัตนบรมราชานุสรณ์ ซึ่งมีกิจกรรมการแสดงดนตรี การเสวนาและสัมมนาวิชาการ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ในปี พ.ศ. 2560 ภาธร ได้ไปเปิดการแสดงที่เมืองนิวออร์ลีนส์ และได้รับเชิญให้กลับไปร่วมบรรเลงดนตรีในงาน French Quarter Jazz Festival ในปีเดียวกัน แสดงดนตรีในงาน Maputo International Jazz Festival ที่กรุงมาบูโต ประเทศโมซัมบิก และได้รับเชิญให้กลับไปสอนดนตรีแจ๊สให้กับเยาวชนโมซัมบิก ภาธรได้แสดงเดี่ยวแซ็กโซโฟนร่วมกับวง Royal Philharmonic Concert Orchestra ที่กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร และแสดงดนตรีในกรุงโคเปนเฮเกนตลอดเดือนธันวาคม ในปี พ.ศ. 2561 ได้แสดงดนตรีร่วมกับวง New Orleans Jazz All Stars และวง Dutch Swing College Band และวง The Jazzminions ที่งาน Snake City Jazz Festival ที่ประเทศเดนมาร์กอีกครั้ง นับเป็นนักดนตรีชาวไทยเพียงวงเดียวที่ได้รับเชิญให้ไปแสดงเป็นครั้งที่ 3

ในปี พ.ศ. 2562 ภาธร ได้ริเริ่มนำเสนอดนตรีรูปแบบผสมผสานดนตรีแจ๊สโดยใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านไทย ซึ่งภาธรเล่น ขลุ่ย ปี่ใน และปี่ชวา อีกทั้งได้บันทึกเสียงปี่ในและปี่ชวาประกอบเกมอิเล็กทรอนิกให้กับบริษัท Bandai Namco แห่งประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ภาธรและวงดนตรีคีตะเสวี ได้รับเชิญให้ไปแสดงที่กรุงนูรซุลตาน ประเทศคาซักสถาน ในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 15 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงนูรซุลตาน และช่วงปลายปี ที่นครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์

ภาธรได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย เช่น Band Award จาก Interlochen Center for the Arts รัฐมิชิแกน รางวัล Best Jazz Improvisation จาก Collegiate Jazz Festival รัฐอินเดียนา รางวัล Best Jazz Performance จาก Tri C Jazz Festival รัฐโอไฮโอ และ Lyra Prize ประจำปี พ.ศ. 2541 จาก Foundation for Hungarian Performing Arts ตลอดจนรางวัลเชิดชูเกียรติต่างๆ เช่น Certificate of Commendation จากนครลอสแอนเจลิส เมื่อ พ.ศ. 2546 รางวัลเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรีประจำปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2550 รางวัลเชิดชูเกียรติจากวุฒิสภาเมื่อ พ.ศ. 2554 และรางวัลเชิดชูเกียรติจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2555 ได้รับอิสริยาภรณ์ชั้น Commander of the Order of Merit จากประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกสเมื่อ พ.ศ. 2554

ภาธรเป็นนักดนตรีวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ที่มีอายุน้อยที่สุด เคยดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการสภา และผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการอำนวยการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอนุกรรมการในหลายคณะของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนมและมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สภาผู้แทนราษฎร

ภาธรเป็นคณบดีผู้ก่อตั้ง วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันดำรงค์ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นรองประธาน มูลนิธิคีตรัตน์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๖๓ เก็บถาวร 2022-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๓ ข หน้า ๓๒, ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2022-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๑๓, ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖