อุทโยคบรรพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อุทโยคบรรพ (อักษรโรมัน: Udyoga Parva) แปลว่า "บรรพแห่งความพยายาม" เป็นหนังสือบรรพที่ 5 ของ มหาภารตะ[1] ประกอบไปด้วยบรรพย่อย 10บรรพ รวมทั้งสิ้น 199 ตอน[2][3] [4][5] เป็นเนื้อหาต่อเนื่องมาจาก วนบรรพ และวิราฏบรรพ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับฝ่ายเการพและฝ่ายปาณฑพเตรียมการรบ พระกฤษณะพยายามสร้างสันติภาพแก่ทั้งสองฝ่ายแต่ล้มเหลว (อุทโยคะ แปลว่า ความพยายาม) ก่อนสงครามจะเปิดฉาก พระกฤษณะจึงได้สาธยายคำสอนภควัทคีตาแก่อรชุน เพื่อลบข้อสงสัยและความท้อแท้ของอรชุนในการทำสงครามครั้งนี้ บรรพนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องมาจาก ส่วนบรรพต่อไปจากนี้คือ ภีษมบรรพ

เนื้อเรื่อง และบรรพย่อย[แก้]

พี่น้องปาณฑพทั้ง 5 คนได้เปิดเผยตัวทั้ง ๆ ที่ยังไม่ครบเวลาหนึ่งปีในช่วงซ่อนตัวปีที่สิบสาม ซึ่งถ้าหากทำตามสัญญาได้ครบก็สามารถเข้าไปครอบครองอาณาจักรแต่เดิมที่ยกให้ทุรโยธน์ไปได้ แต่ทางทุรโยธน์บอกว่าไม่ได้ทำตามสัญญา เพราะฉะนั้นพวกปาณฑพจะต้องลี้ภัยในป่าต่อไปอีกสิบสามปีเหมือนกับเริ่มนับหนึ่งใหม่ เรื่องนี้ไม่สามรถหาข้อยุติได้ จึงต้องตัดสินด้วยการทำสงคราม

ในขณะที่ความพยายามจะหาทางตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามดำเนินไปนั้น ต่างฝ่ายต่างก็พยายามก่อตั้งพันธมิตรเพื่อเตรียมทำสงครามใหญ่ พระกฤษณะเองก็ได้รับการติดต่อจากสองฝ่ายเพื่อให้ร่วมกับฝ่ายตนและตกลงยกกองทหารของตนให้กับทุรโยธน์ไป ในขณะที่ตกลงให้คำแนะนำ และให้การสนับสนุนฝ่ายปาณฑพตามคำขอของอรชุน[ต้องการอ้างอิง]

ท้าวศัลยะทรงตัดสินใจเข้าร่วมรบกับฝ่ายเการพ แม้จะมีฐานะเป็นลุงของฝ่ายปาณฑพโดยทำหน้าที่เป็นสารถีให้กับกรรณะ แต่ท้าวศัลยะก็รับปากกับยุธิษฐิระว่าแม้จะต้องทำหน้าที่เป็นสารถีบังคับรถม้าศึกให้กรรณะ แต่ก็จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อมืให้กรรณะได้เปรียบในการทำศึก

ในระหว่างการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงคราม ทุรโยธน์ปฏิเสธที่จะทำข้อตกลงสันติภาพ แม้ว่าบรรดาผู้อาวุโสไม่ว่าจะเป็นท้าวธฤตราษฎร์ ผู้เป็นบิดาและพระนางคานธารีผู้เป็นมารดาจะขอร้องก็ตามที ส่วนพระกฤษณะเองก็ใช้ความพยายามอย่างหนัก เพื่อชักชวนให้กรรณะมาอยู่ข้างฝ่ายปาณฑพเช่นเดียวกับพระนางกุนตีก็ยอมเปิดเผยตัวในระหว่างไปพบเป็นการส่วนตัวกับกรรณะ ว่าเป็นแม่ที่ให้กำเนิดเพื่อขอให้กรรณะย้ายข้างมาอยู่กับฝ่ายปาณฑพแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ กรรณะตัดสินใจอยู่กับฝ่ายเการพเพื่อย้ำมิตรภาพระหว่างตนกับทุรโยธน์ แม้จะรู้ความลับชาติกำเนิดแล้วว่าตนเองเป็นลูกพระอาทิตย์กับพระนางกุนตีก็ตามที

เมื่อถึงเวลากองทหารฝ่ายเการพและปาณฑพก็เดินทางเข้าสู่สมรภูมิรบที่ทุ่งกุรุเกษตร ทางฝ่ายปาณฑพมีธฤตทยุมัน เป็นผู้บัญชาการรบ ส่วนท้าวภีษมะรับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการรบฝ่ายเการพ[ต้องการอ้างอิง]

"ขุนพลสัญชัย" ซึ่งเป็นคนสนิทของท้าวธฤตราษฎร์ ได้รับอำนาจพิเศษให้สามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสมรภูมิและเป็นคนเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้กับท้าวธฤตราษฎร์ฟัง และเป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์สู้รบในสงครามที่เกิดขึ้นผู้อ่านได้รับรู้เรื่องทั้งหมดผ่านการเล่าเรื่องและอาจจะรวมถึงการตีความสำคัญของสัญชัยเป็นสำคัญ

ในตอนนี้เองที่เรื่องราวอันเป็นบทสนทนาโต้ตอบที่มีความยาวประมาณ 18 บทซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า "ภควัทคีตา" ได้สอดแทรกเข้ามาเป็นเนื้อหาหลัก เนื้อหาในบทสนทนาเป็นตอนที่กฤษณะสั่งสอนอรชุนมิให้ลังเลในการทำสงคราม แม้ว่าศัตรูจะเป็นญาติของตนก็ตามที บทสนทนาอันสวยสดงดงามและมีความยาวพอสมควรดังกล่าว เป็นรื่องราวที่แยกออกมาต่างหากจากเนื้อหาที่กล่าวถึงสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง[แก้]

  1. van Buitenen, J.A.B. (1978) The Mahabharata: Book 4: The Book of the Virata; Book 5: The Book of the Effort. Chicago, IL: University of Chicago Press
  2. Ganguli, K. M. (1883–1896) "Udyoga Parva" in The Mahabharata of Krishna-Dwaipayana Vyasa (12 Volumes). Calcutta
  3. Dutt, M.N. (1896) The Mahabharata (Volume 5): Udyoga Parva. Calcutta: Elysium Press
  4. van Buitenen, J.A.B. (1973) The Mahabharata: Book 1: The Book of the Beginning. Chicago, IL: University of Chicago Press, p 476
  5. Debroy, B. (2010) The Mahabharata, Volume 1. Gurgaon: Penguin Books India, pp. xxiii–xxvi

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]