สภาบรรพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สภาบรรพ (อักษรโรมัน: Sabha Parva) แปลว่า "บรรพแห่งสภา" เป็นหนังสือบรรพที่ 2 ของ มหาภารตะ รวมทั้งหมด 18 เล่ม[1] ว่าด้วยเรื่องการสร้างพระราชวังและสภาแห่งใหม่ของพวกปาณฑพที่นครอินทรปรัสถ์ ซึ่งเป็นอาณาเขตที่ท้าวธฤตราษฎร์แบ่งให้พี่น้องปาณฑพทั้ง 5 คนปกครอง บรรพนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องมาจาก อาทิบรรพ ส่วนบรรพต่อไปจากนี้คือ วนบรรพ

เนื้อเรื่อง[แก้]

พี่น้องเจ้าชายปาณฑพ ซึ่งก่อตั้งอาณาจักรของตัวเองโดยมีกรุงอินทรปรัสถ์เป็นเมืองหลวง ประสบความสำเร็จ ขยายอำนาจและอิทธิพลของตนออกไปได้ มีประชาชนและผู้คนให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมาก

และในที่สุดยุธิษฐิระก็ประกาศสถานภาพของตนว่าบัดนี้ ตนเองได้เป็นจักรพรรดิแล้ว อันมีความหมายว่าเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่เหนือพระราชาแว่นแคว้นอื่นในการนี้ทางราชสำนักกรุงอินทรปรัสถ์ได้เชื้อเชิญพระราชาจากแว่นแคว้นใกล้เคียงกัน ใหมาร่วมพิธีบวงสรวง ราชศูรยะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ การดำเนินดารดังกล่าวของพวกปาณฑพเป็นไปท่ามกลางความอิจฉาริษยาและเกลียดชังของพวกเการพเป็นอันมาก และเพื่อเป็นการตอบโต้และลดทอนอิทธิพลของพวกปาณฑพ ท้าวศกุนิผู้เป็นลุงของทุรโยธน์ ได้แนะนำให้ใช้วิธีเชิญท้าวยุธิษฐิระมาเล่นเกมทอดสกาพนันกัน เพราะศกุนิซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนมีวิชาในกาเล่นสกา เชื่อว่าตัวเองจะเอาชนะและสร้างความอับอายให้กับพวกปาณฑพได้

ท้าวธฤตราษฎร์ผู้เป็นพ่อของทุรโยธน์ ได้รับการร้องขอให้เอ่ยปากชวนยุธิษฐิระมาเล่นสกากัน แม้ว่าในตอนแรกท้าวธฤตราษฎร์จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับเล่ห์กลดังกล่าว แต่ในที่สุดก็ทำตามคำขอร้องของทุรโยธน์ โดยให้ท้าววิฑูรเป็นคนเชิญให้ยุธิษฐิระมาเล่นสกากันที่กรุงหัสตินาปุระ[ต้องการอ้างอิง]

ในการเล่นทอดสกาเพื่อพนันขันต่อกันนั้น ปรากฏว่ายุธิษฐิระปราชัยอย่างย่อยยับต้องเสียทรัพย์สมบัติ อัญมณี เครื่องประดับที่มีค่า รถม้าศึก ข้าทาสบริวาร ช้างม้า และในท้ายที่สุดยุธิษฐิระได้ขอเดิมพันด้วยอาณาจักรที่ตนเองปกครอง ซึ่งก็เสียพนันอีก ยุธิษฐิระซึ่งบัดนี้ตกอยู่ในภาวะอันบ้าคลั่งของการพนันขันต่อก็เอาตัวเองและพี่น้องปาณฑพอีกสี่คนเป็นเดิมพัน แต่ก็แพ้อีกและถูกยั่วยุจากทุรโยธน์กับศกุนิให้ใช้พระนางเทราปตีเป็นเดิมพัน ยุธิษฐิระต้องการเอาชนะให้ได้ ก็ตงลงเดิมพันด้วยพระนางเทราปตีและต้องพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพ่ายแพ้ ทุรโยธน์ก็บังคับให้ส่งตัวพระนางเทราปตีซึ่งมีฐานะเป็นทาสจากการพนันให้ แต่พระนางเทราปตีไม่ยอมมาปรากฏตัว ทำให้ทุหศาสันลุแก่โทสะไปจิกหัวลากตัวมาจากที่พัก และนำตัวมายังที่ประชุมในสภา การกระทำย่ำยีครั้งนี้ทำให้ภีมะทนไม่ได้ประกาศก้องกลางที่ประชุมให้สัตย์สาบานว่า "ถ้าหากจะต้องทำสงครามล้างอายในวันข้างหน้า ข้าขอให้คำสัตย์ ข้าจะฉีกอกไอ้คนชั่วทุหศาสัน เอาเลือดสด ๆ กลางทรวงอกของมันมาล้างมลทินให้เทราปตีให้จงได้!!!!!"[2][3][4]

ส่วนทุรโยธน์ซึ่งล่วงเกินพระนางเทราปที โดยบังคับให้มานั่งบนตักนั้น ภีมะก็ประกาศว่า

"ข้าจะล้างแค้นด้วยการจะใช้คทาทุบสะโพกของทุรโยธน์ให้หักสะบั้น จนกว่ามันจะตายด้วยความทุกข์ทรมาน"

เมื่อเหตุการณ์รุนแรงลุกลามบานปลายมาจนถึงขั้นนี้ ท้าวธฤตราษฎร์ก็เข้ามาไกล่เกลี่ยตามคำร้องขอของพระนางเทราปที ท้าวธฤตราษฎร์ให้ยุติการเล่นพนันกินบ้านกินเมืองแล้วสั่งให้ทุรโยธน์ส่งมอบทุกสิ่งทุกอย่างที่ยุธิษฐิระแพ้พนันกลับคืนให้จนหมดสิ้นเพื่อให้เลิกแล้วต่อกัน แต่ทุรโยธน์ซึ่งยังไม่หายแค้นก็ยังดันทุรังขอให้ท้าวธฤตราษฎร์ผู้เป็นบิดาซึ่งเป็นคนอ่อนไหวโลเล และตามใจลูกชายให้เชิญยุธิษฐิระมาเล่นพนันทอดสกาเป็นครั้งสุดท้าย คราวนี้ตกลงกันว่าถ้าหากใครแพ้คนนั้นจะต้องลี้ภัยเป็นเวลาสิบสองปี และจะต้องซ่อนตัวไม่ให้ใครพบเห็นในปีที่สิบสามอีกหนึ่งปี ก่อนจะกลับมาอยู่อย่างปกติในปีที่สิบสี่ ยุธิษฐิระแพ้พนันและต้องลี้ภัยตามข้อตกลงที่ทำไว้กับทุรโยธน์จอมโกงนั่นเอง[ต้องการอ้างอิง][1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 van Buitenen, J. A. B. (1978) The Mahabharata: Book 2: The Book of the Assembly Hall; Book 3: The Book of the Forest. Chicago, IL: University of Chicago Press
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ kmg
  3. J. A. B. van Buitenen (Translator), The Mahabharata, Volume 2, 1981, ISBN 978-0226846644, pages 29-30
  4. Sabha Parva Mahabharata, Translated by Manmatha Nath Dutt (1894), page 33

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]