พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2493

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2493
Rama IX on his Throne.jpg
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเครื่องขัตติยราชภูษิตาภรณ์
วันที่4–8 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
สถานที่พระบรมมหาราชวัง
ที่ตั้งจังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ถ่ายทำโดยหม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล
แก้วขวัญ วัชโรทัย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2493 เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ปรากฏบันทึกรายละเอียดไว้ ดังนี้

การเตรียมพิธี[แก้]

พราหมณ์ประกอบพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี สระเกษ สระแก้ว สระคงคา และสระยมนา ในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น มาทำพิธีเสกน้ำ สำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษก และ น้ำสรงพระมูรธาภิเษก

นอกจากนี้ ยังมีการประกอบพิธีจารึกพระปรมาภิไธยลงบนพระสุพรรณบัฎ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะดวงตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2493 ตามเวลาพระมหามงคลฤกษ์

พระราชพิธี[แก้]

ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[แก้]

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงรับ น้ำสรงพระมูรธาภิเษกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493[แก้]

พิธีประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเจริญพระพุทธมนต์

วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เวลา 10.00 น. เจ้าพนักงานอาลักษณ์เชิญพระสุพรรณบัฏ พร้อมด้วยดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ออกจากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มาขึ้นพระราชยานกงที่เกยพลับพลาเปลื้องเครื่อง ประตูหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกระบวนเครื่องสูง กลองชะนะและคู่แห่ แห่ไปตามถนนหน้าศาลาสหทัย เลี้ยวตามถนนจักรีจรัณย์เข้าประตูพิมานไชยศรี ไปตามถนนอมรวิถี ถึงหน้าประตูสนามราชกิจ แล้วเชิญไปประดิษฐาน ณ พระแท่นมณฑลในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

เวลา 18.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องเต็มยศจอมพลทหารบก ประดับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี โดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานมายังพระบรมมหาราชวัง ทรงพระดำเนินเข้าสู่พระทวารเทเวศร์รักษา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชปฏิสันถารแล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระรัตนตรัย แล้วประทับพระราชอาสน์ พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูลเบิกทายาทผู้สืบสกุลพระยาเมือง ข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย ข้าหลวงประจำจังหวัดเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท คือ

พระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นำข้าหลวงยุติธรรมประจำภาคทั้ง 5 ภาค เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปฏิสันถารแล้ว ปลัดกระทรวงยุติธรรม นำข้าหลวงยุติธรรมออกจากที่เฝ้า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงจุดเทียนชนวน พระราชทานแก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เพื่อทรงนำไปจุดเทียนที่เครื่องนมัสการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงจุดเทียนพระมหามงคลและเทียนเท่าพระองค์

จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ขึ้นยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ สังฆการี อาราธนาพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 30 รูป มีสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ขึ้นสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณทางประตูสนามราชกิจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการพระรัตนตรัย สมเด็จพระสังฆราชถวายศีล

ถึง เวลา 18.50 น. อันเป็นมหามงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงจุดเทียนทองชนวน ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน เสร็จแล้วถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช จากนั้นสมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปจุดเทียนชัยในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ พระสงฆ์ทั้งนั้นเจริญมงคลคาถา จุดเทียนชัย ชาวพนักงาน ประโคม ฆ้องชัย สังข์ บัณเฑาะว์ แตร ดุริยางค์ จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงจุดเทียนชนวนแก่มหาดเล็ก พร้อมด้วยธูปเงิน เทียนทอง และดอกไม้ ไปบูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ คือ

สมเด็จพระสังฆราชเสด็จกลับไปขึ้นนั่งอาสนะที่เดิม พระศาสนโสภณ (จวน อุฎฐายี) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร อ่านประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จบแล้ว พระสงฆ์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ 30 รูป และในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย 45 รูป เจริญพระพุทธมนต์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระครูวามเทพมุนี ประธานพิธีพราหมณ์ ถวายน้ำพระมหาสังข์ พราหมณ์เป่าสังข์ แล้วถวายใบสมิตสำหรับทรงปัดพระองค์ ประกอบด้วย

  • ใบมะม่วง 25 ใบ ได้แก่ ภยันตราย
  • ใบทอง 32 ใบ ได้แก่ อุปัทวันตราย
  • ใบตะขบ 56 ใบ ได้แก่ โรคันตราย

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับใบสมิตมาทรงปัดพระองค์ เสร็จแล้ว พระราชครูวามเทพมุนี รับพระราชทานกลับไป กระทำพิธีศาสตร์ปุณยา ชุบโหมเพลิง ณ ที่ทำพิธีพราหมณ์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงจุดเทียนพระมหามงคล เทียนเท่าพระองค์ ธูปเทียนบูชา พระสยามเทวาธิราช พระแท่นอัฐทิศ และพระที่นั่งภัทรบิฐ

เจ้าพนักงานสังฆการี นิมนต์ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ชั้นพระราชาคณะ จำนวน 5 รูป ขึ้นนั่งยังอาสนะบนพระแท่นบรรทมในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ขึ้นยังห้องพระบรรทม พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการพระรัตนตรัย เสร็จแล้ว ประทับพระราชอาสน์ ณ ห้องกลาง ทรงพระมหามงคล พระสงฆ์ 5 รูป เจริญพระพุทธมนต์ พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเทียรจบแล้ว ทรงเปลื้องพระมหามงคล พระสงฆ์ถวายบังคมลา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จกลับไปประทับพระราชอาสน์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ จากนั้นเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนบูชาธรรมที่พระแท่นสวดภาณวาร พระราชาคณะ นั่งปรก และสวดภาณวารต่อไปตลอดคืน เสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน ประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้นพปฎลเศวตฉัตร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยศูรยพิมาน
พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493[แก้]

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เวลา 11.20 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนิน ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรับการสรงพระมูรธาภิเษกจากสหัสธารา พระสงฆ์ในมณฑลพระราชพิธี เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร มโหระทึก และเครื่องดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศ ถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารปืนใหญ่ ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติ 21 นัด

จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ สู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้พระบวรเศวตฉัตร แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพาเป็นปฐม เพื่อรับน้ำอภิเษก จากสมาชิกรัฐสภา [1] เมื่อผันพระองค์เวียนมาสู่ทิศบูรพาอีกครั้งแล้ว เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานวุฒิสภา กราบบังคมทูลถวายชัยมงคล ด้วยภาษามคธ, นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย

เสร็จแล้ว พระราชครูวามเทพมุนี (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล) ทำหน้าที่พระมหาราชครู กราบบังคมทูลถวายชัยมงคล ด้วยภาษามคธ และภาษาไทย แล้ว น้อมเกล้าฯ ถวาย พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ขณะนี้ ชาวพนักงาน ประโคมสังข์ แตร เครื่องดุริยางค์

จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชเสด็จฯ ประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระราชครูวามเทพมุนี ร่ายเวทย์ สรรเสริญศิวาลัยไกรลาส จบแล้ว กราบบังคมทูลถวาย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นภาษามคธ แล้วทูลเกล้าฯ ถวาย พระสุพรรณบัฎ จารึกพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” , เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์, เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์, เครื่องราชูปโภค และ พระแสงราชศัสตราวุธ ขณะนั้น พระสงฆ์ เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงาน ประโคมสังข์ แตรฯ กองทหารถวายความเคารพ แตรวงบรรเลง เพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารยิงปืนกองแก้วจินดา ตามกำลัง วันศุกร์ 21 นัด ทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 101 นัด พระสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักร ย่ำระฆังถวายชัยมงคล

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์แล้วพระราชครูวามเทพมุนีกราบบังคมทูลถวายชัยมงคลด้วยภาษามคธและภาษาไทย จากนั้นจึงมี พระปฐมบรมราชโองการ พระราชทานอารักขาแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลายว่า

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

พระราชครูวามเทพมุนี รับสนองพระปฐมบรมราชโองการ แล้วทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ปกครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรมจรรยา ดังพระปฐมบรมราชโองการ ที่พระราชทานไว้ ทุกประการ

ต่อมา เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยศูรยพิมาน โดยมี คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายชัยมงคล

จากนั้น เวลา 14.40 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสี ให้ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

จากนั้น เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินด้วยริ้วขบวนราบใหญ่ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินด้วยริ้วขบวนราบใหญ่จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สดัปกรณ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จด้วยกระบวนราบใหญ่ประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ในการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493[แก้]

พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

เวลา 19.54 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน ในการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงประทับแรม ในพระบรมมหาราชวัง รุ่งเช้า จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493[แก้]

เสด็จออกสีหบัญชร

เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จออกยังท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายชัยมงคล

ต่อมาเวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลและสมาคมต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายชัยมงคล ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเสด็จออกสีหบัญชร พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูลถวายชัยมงคล ในนามพสกนิกรชาวไทย ทั่วพระราชอาณาจักร

เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ในพิธีเฉลิมพระนาม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และ พระราชทานสมณศักดิ์ แก่พระราชาคณะ เสร็จแล้ว ทรงสดับพระธรรมเทศนา มงคลสูตร รัตนสูตร และ เมตตสูตร รวมหนึ่งกัณฑ์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญานวโร)

วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493[แก้]

พิธีสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ พระราชวงศ์ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาฐานันดรศักดิ์ ได้แก่

จากนั้นทรงสดับพระธรรมเทศนาโดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ถวายพระธรรมเทศนา เทวตาทิสนกถา ทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตรรวมหนึ่งกัณฑ์ [2]

อ้างอิง[แก้]

  1. พิธีถวายน้ำอภิเษกนี้ มีความหมายว่า เพื่ออัญเชิญสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทรงแผ่พระราชอาณา ปกครองพสกนิกรทั้งหลาย ทั่วทิศทั้ง 8
  2. พระภิกษุที่ถวายพระธรรมเทศนา ในพระราชพิธี วันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม ขึ้นนั่งบนพระแท่นมหาเศวตฉัตร มิใช่นั่งเทศน์ บนธรรมาสน์เทศน์ธรรมดา เช่นการพระราชพิธีอื่น

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2493 ถัดไป
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2469
(25 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม พ.ศ. 2469)
2leftarrow.png พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
(4 พฤษภาคม-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2493)
2rightarrow.png พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
(4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)