ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
รายละเอียด
ผู้ใช้ตราพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เริ่มใช้พ.ศ. 2549
เครื่องยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ
โล่อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.
ประคองข้างหนุมานและครุฑ
คำขวัญฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
ส่วนประกอบอื่นพระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกร, พระวาลวีชนี, พระแส้จามรี, ฉลองพระบาทเชิงงอน, อุณาโลม
การใช้พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ. 2549

ตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานตราสัญลักษณ์ สำหรับงานเฉลิมฉลองอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ จากการทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายแบบ โดยรัฐบาล เพื่อทรงเลือกแบบที่เหมาะสมดังกล่าว ตราสัญลักษณ์นี้ ออกแบบโดย นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร

ความหมายของตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี[แก้]

ตรา​สัญลักษณ์​งาน​ฉลอง​สิริ​ราชสมบัติ​ ครบ​ 60 ปี
ซุ้มเฉลิม​พระ​เกียรติ​ ที่ประดับ​ตราสัญลักษณ์​ งาน​ฉลอง​สิริ​ราชสมบัติ​ครบ​ ​60​ ปี​ ณ.บริเวณ​ด้านหน้า​ลานพระราชวัง​ดุสิต
ไฟล์:พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี.jpg
ธงตราสัญลักษณ์

​ อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร สีเหลืองนวลทอง อันเป็นสีประจำพระชนมวาร ขลิบรอบตัวอักษรด้วยสีทอง บนพื้นสีน้ำเงินเจือทอง อันเป็นสีประจำพระราชวงศ์

ล้อมด้วยเพชร อันเป็นเอกแห่งรัตนะ หมายความว่า เหล่านักปราชญ์ ราชกวีสำคัญ อีกบรรดาช่างอันมีชื่อ พระยาช้างสำคัญ นางงาม เหล่าทแกล้วทหาร ข้าราชบริพาร อันยอดฝีมือ ในการปฏิบัติราชการอย่างสุจริตยิ่ง

เหล่านี้ เปรียบด้วยเพชร อันมีชื่อว่ารัตนะ แวดล้อมประดับพระเกียรติยศ แห่งพระมหากษัตริยาธิราชพระองค์นั้น อันเหนือยิ่งกว่าเพชร อันได้ชื่อว่ารัตนะทั้งปวง คือพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงสถิตเป็นเพชรอันยอดค่ายิ่งในดวงใจราษฎร์ ทรงบำบัดทุกข์ผดุงสุข เป็นที่พึ่งอันเกษมสุขร่มเย็นแก่ปวงพสกนิกร ซึ่งต่างเชื้อชาติศาสนา ในพระราชอาณาจักรของพระองค์

อนึ่ง อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร นี้ ประดิษฐานบนพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎประกอบพระอุณาโลม - แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรี และพระแส้หางช้างเผือก ทอดสอดอยู่ในกงพระที่นั่งภัทรบิฐเบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ - มีธารพระกร และพัชนีฝักมะขาม ทอดสอดอยู่เบื้องขวาแห่งกงพระที่นั่งภัทรบิฐ อันประดิษฐานบนฐานเขียง ซึ่งทอดฉลองพระบาทประดิษฐานอยู่

เหล่านี้รวมเรียกว่า เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วยสิ่งอันแสดงความเป็นกษัตริย์ทั้ง 5 คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พัดวาลวิชนี และ พระแส้ และ ฉลองพระบาท อันมีความหมายถึง ปีแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ

ล่างลงมา เป็นแพรแถบสีชมพูขลิบทอง เขียนอักษรสีทอง ความว่า “ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙” ปลายแห่งแพรแถบ ผูกเป็นภาพกระบี่ธุช เป็นวานรภายขาว มือถือก้านลายซุ้ม อันเป็นกรอบลายของตราสัญลักษณ์ฯ อยู่ด้านขวา ส่วนด้านซ้ายปลายแพรแถบ ผูกเป็นภาพพระครุฑพ่าห์ เป็นครุฑหน้าขาว กายสีเสนปนทอง มือถือก้านลายกรอบแห่งตราสัญลักษณ์ฯ

พื้นภาพตราสัญลักษณ์ฯ ทั้งหมดสีเขียวปนทอง อันหมายถึง สีอันเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ และยังหมายถึง สีของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ แห่งผืนภูมิประเทศ ที่ทรงปกครองทำนุบำรุงอย่างหนักยิ่ง มาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติมา

ณ บัดนี้ ถึงมหามงคลสมัย ที่จะเฉลิมฉลองพระเกียรติ ในการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อันยาวนานที่สุดในประเทศไทยและยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในประเทศไทย

ข้อปฏิบัติการขอใช้ตราสัญลักษณ์ฯ และการประดับธงกับตราสัญลักษณ์ฯ[แก้]

เนื่องในมหามงคลสมัย การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 และรัฐบาลโดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 ได้กำหนดการขอใช้ตราสัญลักษณ์และการประดับธงกับตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 ดังนี้

  1. กรณีที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป มีความประสงค์ นำตราสัญลักษณ์ไปใช้ในการจัดทำสิ่งของใด ๆ ก็ตาม ให้แจ้งสำนักราชเลขาธิการ เพื่อพิจารณาคำขออนุญาต
  2. โครงการและกิจกรรมที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติจากคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 แล้ว สามารถนำตราสัญลักษณ์ฯ ไปใช้ในโครงการและกิจกรรมได้เลย โดยให้แจ้งสำนักราชเลขาธิการทราบ เพื่อรวบรวมบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ยกเว้น โครงการและกิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดรายได้ จะต้องได้รับการพิจารณาจากสำนักราชเลขาธิการก่อน
  3. ให้ประดับธงชาติไทยคู่กับธงผืนผ้าสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์ฯ บนผืนผ้า และประดับตราสัญลักษณ์ฯ ตามอาคารบ้านเรือน และสถานที่ของหน่วยงาน เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี โดยไม่ต้องขออนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการ ทั้งนี้ให้ประดับในระยะเวลาของการจัดงาน งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]