พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 9

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไฟล์:King Bhumibol Adulyadej.jpg
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ชื่อ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
วันและเวลา 2-8 ธันวาคมของทุกปี (ถึงปี พ.ศ. 2558)
สถานที่ ไทย ประเทศไทย
ผู้จัด รัฐบาลไทยและสำนักพระราชวัง
โอกาส การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหมายกำหนดการจากสำนักพระราชวัง

วันที่ 2 ธันวาคม[แก้]

ไฟล์:071202 king's speech March.jpg
พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ลานพระราชวังดุสิต ในวันที่ 2 ธันวาคม 2550

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ไปในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ พระลานพระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิต หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ปี พ.ศ. 2552 แต่ได้มีการเปลี่ยนสถานที่จากลานพระราชวังดุสิตเป็นท้องสนามหลวงอันเป็นการลดพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแต่พิธีนั้นจัดยาวตั้งแต่เวลา13:00-18:00น.แล้วจะเสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา18:20น.[1]

วันที่ 4 ธันวาคม[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกๆพระองค์ ในการที่ให้คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

วันที่ 5 ธันวาคม[แก้]

เวลาเช้า โดยพระองค์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ พร้อมเครื่องแบบเต็มยศ ประทับพระราชบัลลังก์ บนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ เหนือพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน และอยู่เบื้องหลังพระวิสูตร (ม่าน) พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท (อยู่เบื้องหลังพระวิสูตร) และคณะบุคคลต่างๆ (อยู่เบื้องหน้าพระวิสูตร) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

เวลาบ่าย เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวัง เข้าสู่มุขหน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีบรรพชิตญวณและจีนถวายพระพรชัยมงคล แล้วจึงเสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตรปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณีและพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ทรงจุดธูปเทียนบูชาเทพยดานพเคราะห์แล้วเสด็จสู่มุขหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานสังคหวัตถุแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้สูงอายุ แล้วเสด็จพระราชดำเนิน จากพระอุโบสถไปประทับรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปเทียบหน้าพระทวารเทเวศรรักษาเสด็จเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนสัญญาบัตร พัดยศ ไตร แก่พระสงฆ์ซึ่งเข้ารับพระราชทานสมณศักดิ์ใหม่พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระราชาคณะถวายอดิเรก ถวายพระพรลา จากนั้นพระสงฆ์ 60 รูป เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดเทียนพระมหามงคลเทียนเท่าพระองค์ และธูปเทียนบูชาพระพุทธรูป เทวรูป พระเคราะห์ แล้วจึงทรงจุดธูปเทียนนมัสการ ทรงศีล จากนั้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาจบแล้ว สมเด็จพระราชาคณะถวายอดิเรกถวายพระพรลา แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนิน กลับโดยประทับรถยนต์พระที่นั่งพระทวารเทเวศรรักษา [2]

เวลาค่ำ พิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ ของเหล่าข้าราชการ และพสกนิกรชาวไทย ซึ่งกำหนดจัดที่ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง และ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด

วันที่ 6 ธันวาคม[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังพระบรมมหาราชวัง ยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราชแล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวาราชมเหศวร์ ทรงประกอบพิถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์เสร็จแล้วสมเด็จพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเศษกัณฑ์ 1 จบพิธีสงฆ์แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนิน กลับโดยประทับรถยนต์พระที่นั่งที่พระทวารเทเวศรรักษา

วันที่ 7 ธันวาคม[แก้]

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปในงานสโมสรสันนิบาต

แต่เดิมจะเสด็จพระราชดำเนินออกท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ให้คณะทูตานุทูตต่างประเทศ และผู้แทนฝ่ายกงสุล เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล มีพระราชดำรัสตอบ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้น ก่อนจะเปลี่ยนแปลงเป็นวันที่ 8 ธันวาคม และสถานที่ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ตามหมายกำหนดการเป็นวันที่ 8 ธันวาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และครั้นถัดมาในวันที่ 7 ธันวาคม (บางปีเลื่อนไปเป็นวันที่ 9 ธันวาคม) ก็เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ในรัฐพิธีสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
(เว้นในปี พ.ศ. 2551 จัดที่หอประชุมกองทัพเรือ)[3]

วันที่ 8 ธันวาคม[แก้]

เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะทูตานุทูต ต่างประเทศและผู้แทนฝ่ายกงสุลเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลมีพระราชดำรัสตอบแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้น

กิจกรรมของประชาชนทั่วไป[แก้]

ทุกปีจะมีการประดับธงชาติและธงพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ในทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ โรงเรียน บริษัท และบ้านเรือน เพื่อถวายพระพรให้พระองค์มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน และยังมีการทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง ถนน โรงพยาบาล และประดับรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้ที่หน้าบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วย

กิจกรรมสำหรับลูกในวันพ่อแห่งชาติ คือ ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ หรือบำเพ็ญกุศล ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศล และระลึกถึงพระคุณของพ่อ

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมประกาศเกียรติคุณ พ่อตัวอย่าง หรือพ่อดีเด่น โดยกำหนดคุณสมบัติ คือ มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่งเสริมการศึกษาของบุตร ธิดา นับถือศาสนาโดยเคร่งครัด งดเว้นอบายมุขทุกชนิด อุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน

อ้างอิง[แก้]

  1. ในหลวงประกาศเลื่อนสวนสนามปี 2553จากสำนักข่าวเจ้าพระยา
  2. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เก็บถาวร 2011-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. งานสโมสรสันนิบาต เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ดูเพิ่ม[แก้]

ก่อนหน้า พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 9 ถัดไป
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 8
(20 กันยายน พ.ศ. 2478 - 2488)
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 9
(5 ธันวาคม พ.ศ. 2494 - 2558)
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 10
(28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน)