เมืองสุวรรณภูมิ
สุวรรณภูมราชบุริน สุวัณภูมราชบุรียประเทศราช | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2256 – พ.ศ. 2443 | |||||||||||||
เมืองหลวง |
| ||||||||||||
พื้นที่ | |||||||||||||
• พ.ศ. 2256–2315 | 31,000[1] ตารางกิโลเมตร (12,000 ตารางไมล์) | ||||||||||||
• พ.ศ. 2318–2335 | 16,500[1] ตารางกิโลเมตร (6,400 ตารางไมล์) | ||||||||||||
• พ.ศ. 2318–2409 | 9,200[1] ตารางกิโลเมตร (3,600 ตารางไมล์) | ||||||||||||
การปกครอง | |||||||||||||
• ประเภท | อาญาสี่ | ||||||||||||
เจ้าเมือง | |||||||||||||
• พ.ศ. 2256–2268 | เจ้าแก้วมงคล | ||||||||||||
• พ.ศ. 2335–2357 | พระรัตนาวงษามหาขัติยราช (อ่อน) | ||||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||||
• การอพยพของกลุ่มเจ้าแก้วมงคล | พ.ศ. 2256 | ||||||||||||
• สวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรอยุธยา | พ.ศ. 2308 | ||||||||||||
• รับพระราชทานนามเมืองสุวรรณภูมิ | พ.ศ. 2315 | ||||||||||||
• ยกเลิกตำแหน่งอาญาสี่ | พ.ศ. 2443 | ||||||||||||
|
เมืองสุวรรณภูมิ เป็นหัวเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขงภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ และได้รับการยกฐานะเป็นประเทศราชในบางช่วงเวลา[2] ภายหลังถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวกาวของสยาม
ประวัติศาสตร์
[แก้]เมืองสุวรรณภูมิ เดิมเรียกว่า "เมืองท่งศรีภูมิ" หรือนิยมเรียกทั่วไปว่า "เมืองศรีภูมิ"[ต้องการอ้างอิง] ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเสียว เมื่อแรกก่อตั้งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ โดยในปี พ.ศ. 2256 พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้โปรดให้เจ้าแก้วมงคลนำไพร่พลมาตั้งรักษาการอยู่ที่บ้านทง[3]เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก เมืองท่งศรีภูมิมีแม่น้ำชีเป็นเขตแดนด้านตะวันออก (เขตนครหลวงจำปาสัก) และแม่น้ำมูลเป็นเขตแดนด้านทิศใต้ กั้นระหว่างเขตเมืองนครราชสีมา (เมืองในเขตอาณาจักรอยุธยา) ด้านทิศเหนือชนแดนเขตอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ บริเวณเมืองผาขาว เมืองพันนา สนามหมากหญ้า (เขตรอยต่อจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู และขอนแก่นในปัจจุบัน) ภูเม็ง (เขตอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น) ฝายพญานาค (รอยต่ออำเภอหนองเรือ และอำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2308 ได้เกิดความขัดแย้งในการสืบต่ออำนาจเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ เป็นเหตุให้เมืองท่งศรีภูมิได้เข้าอยู่ภายใต้อาณาเขตของอาณาจักรอยุธยา จนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2310 เมืองท่งศรีภูมิได้เป็นอิสระ และรวมตัวอย่างหลวม ๆ กับชุมนุมเจ้าพิมาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีเมืองพิมายได้เป็นชุมนุมแรก เมืองท่งศรีภูมิจึงได้เข้าสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรธนบุรี[ต้องการอ้างอิง]
ในปี พ.ศ. 2315 เจ้าเซียง เจ้าเมืองท่งศรีภูมิลำดับที่ 4 ได้เสนอขอย้ายที่ตั้งศูนย์กลางเมืองท่งศรีภูมิไปด้านทิศตะวันตก บริเวณตำบลดงเท้าสาร และขอพระราชทานนามเมืองใหม่เป็น "เมืองสุวรรณภูมิ" นับแต่นั้น โดยมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงธนบุรี
ภายหลัง พ.ศ. 2325 หลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมืองสุวรรณภูมิได้อยู่ในอาณาเขตของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ โดยมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชในปี พ.ศ. 2335[2] โดยมีชื่อเมืองเต็มว่า "สุวรรณภูมิราชบุรินทร์" หรือเขียนเป็น "สุวรรณภูมิราชบุรี" หรือ "สุวรรณภูมิราชบุรีย์" พระยศเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้รับพระราชทินนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า "รัตนวงษา" หรือ "รัตนวงศา" อันหมายถึง สายสกุลผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าแก้วมงคล อันเป็นปฐมวงศ์เจ้าเมืองท่งศรีภูมิ โดยเป็นหนึ่งในสายพระบรมวงศานุวงศ์ของพระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2435 มีการปฏิรูปการปกครองในระบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองสุวรรณภูมิคงฐานะเป็นเมืองชั้นเอก โดยมีเมืองชั้นโท ตรี และจัตวา ภายใต้การปกครองจำนวน 5 เมือง ได้แก่ เมืองสุวรรณภูมิ เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (หรืออำเภอพยัคฆภูมิพิสัย), เมืองพนมไพรแดนมฤค (หรืออำเภอพนมไพร), เมืองเกษตรวิสัย (หรืออำเภอเกษตรวิสัย) และเมืองจุตรพักตร์พิมาน (หรืออำเภอจตุรพักตรพิมาน) ซึ่งเมืองทั้งหมดล้วนแยกออกมาจากเมืองสุวรรณภูมิ และมีเจ้าเมืองที่เป็นทายาทของเจ้าแก้วมงคลทั้งสิ้น
ปี พ.ศ. 2442 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาวทรงให้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในระบบอาญาสี่ และแทนที่ด้วยตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง[4]
รายพระนามและรายนามเจ้าเมือง
[แก้]ลำดับ | เจ้าเมือง | เริ่มต้น (พ.ศ.) | สิ้นสุด (พ.ศ.) | จำนวนปี | เหตุการณ์สำคัญ/อื่น ๆ |
---|---|---|---|---|---|
1 | เจ้าแก้วมงคล | 2256 | 2268 | 12 | ตั้งเมืองท่งศรีภูมิ ณ บริเวณเมืองเก่า ตำบลทุ่งศรีเมือง อำเภอสุวรรณภูมิ พระราชครูโพนสะเม็ก (เจ้าราชครูหลวง) พระสังฆราชของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์เสด็จมาทำพิธีวางเสาหลักเมือง ในสมัยเจ้าแก้วมงคลมีเจ้ามืดคำดลเป็นอุปราชและเจ้าสุทนต์มณีเป็นราชบุตร (ตามลักษณะการปกครองอาญาสี่) |
2 | เจ้ามืดคำดล | 2268 | 2306 | 38 | เจ้ามืดคำดล เกิดในคืนเดือนมืด เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ท้าวมืด เป็นบุตรคนโตที่เกิดเเต่พระชายาท่านที่ 2 ชาวเวียงจันทน์ของเจ้าแก้วมงคล ในสมัยเจ้ามืดคำดลมีเจ้าสุทนต์มณี (น้องชาย) เป็นอุปฮาดและท้าวเซียง (บุตรคนโต) เป็นราชบุตร หลังจากได้ครองเมืองท่ง เจ้ามืดคำดลได้ตั้งแข็งเมืองเป็นเอกราชไม่ได้ขึ้นแก่นครจำปาศักดิ์ เพราะเหตุว่านครจำปาศักดิ์พี่กับน้องเกิดวิวาทยาดชิงสมบัติแก่กันจึงหาได้ติดตามมาว่ากล่าวเอาส่วยสาอากรไม่[ต้องการอ้างอิง] ครั้นต่อมา เจ้าองค์หล่อหน่อคำ เจ้าผู้ครองนครน่าน[ใคร?] ซึ่งเป็นบุตรเจ้าแก้วมงคลเกิดเเต่ธิดาเจ้านครน่านคนเก่า ได้พาไพร่พลมาสืบหาพระบิดา ซึ่งรู้ข่าวว่าพระบิดามาเป็นเจ้าเมืองอยู่ริมสระสี่แจ่ง แฮ้งสี่ตัว แม่หญิงเอาผัว พ่อชายออกลูก ครั้นมาถึงเขตเมืองท่ง เจ้าองค์หล่อตั้งค่ายอยู่ระหว่างปากเสียวน้อย ซึ่งเรียกว่าวังหม่านจนบัดนี้นั้น เจ้าองค์หล่อจับได้เพี้ยบุตรตะพานบ้านโนนสูง กวนหมื่นหน้าบ้านเบน ซึ่งยกทัพออกมาต่อสู้กันนอกเมือง เมื่อได้ตัวแม่ทัพสองคนนี้แล้ว เจ้าองค์หล่อจึงซักไล่ไต่ถามหาสระสี่แจง แฮ้งสี่ตัว แม่หญิงเอาผัว พ่อชายออกลูก แม่ทัพทั้งสองได้แจ้งความให้เจ้าองค์หล่อหน่อคำทราบตลอดแต่ต้นจนถึงปลาย เจ้าองค์หล่อหน่อคำจึงได้ทราบว่าเป็นเมืองพระบิดาของตน แล้วปล่อยให้แม่ทัพสองคนเข้าไปบอกแก่เจ้ามืดคำดลน้องชายให้ทราบทุกประการโดยแน่นอนแล้ว เจ้ามืดรู้ว่าเป็นพี่ชายแห่งตน จึงได้แต่งให้แสนท้าวออกไปอัญเชิญเจ้าองค์หล่อหน่อคำให้เข้ามายังเมืองท่ง แล้วจัดการรับรองให้เป็นเกียรติยศอันดี แล้วเจ้ามืดพร้อมกับเจ้าองค์หล่อหน่อคำจัดการปลงศพเจ้าแก้วมงคลผู้เป็นบิดาตามประเพณีผู้ครองบ้านเมืองมาแต่ก่อน เสร็จแล้วเจ้าองค์หล่อหน่อคำก็ลาเจ้ามืดน้องชายกลับคืนนครน่านตามเดิม[5] |
3 | เจ้าสุทนต์มณี | 2306 | 2308 | 2 |
เจ้าสุทนต์มณีเกิดมาพร้อมมี "พระทนต์" (ฟัน) จึงได้ชื่อว่า "สุทนต์มณี" เป็นบุตรคนที่ 2 ที่เกิดเเต่พระชายาท่านที่ 2 ชาวเวียงจันทน์ของเจ้าแก้วมงคล เจ้าสุทนต์มณีครองเมืองได้ 2 ปี ต่อมาท้าวเซียง (บุตรคนโตของเจ้ามืดคำดล) และท้าวสูน (น้องชายของท้าวเซียง) ได้ร่วมกับกรมการเมืองบางส่วนคบคิดเพื่อหาทางให้ท้าวเซียงขึ้นเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ จึงนำทองคำไปถวายและขอสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรอยุธยา และเจ้าผู้ครองนครจำปาสักมิได้ให้ความช่วยเหลือเจ้าสุทนต์มณีมากพอ จึงยังผลให้เจ้าสุทนต์มณีและกรมการเมืองที่จงรักภักดีพร้อมไพร่พลเมืองส่วนใหญ่หนีออกจากเมืองท่งศรีภูมิไปตั้งรับที่บ้านดงเมืองจอก (เขตอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน) ท้าวเซียงได้ครองเมืองท่งศรีภูมิต่อจากเจ้าสุทนต์มณีและได้แต่งตั้งท้าวสูนเป็นอุปฮาด และแต่งตั้งท้าวเพ (บุตรท้าวเซียง) เป็นราชบุตร |
4 | เจ้าเซียง (ท้าวเซียง) หรือ พระรัตนวงษา (เซียง) | 2308 | 2330 | 22 | ท้าวเซียงได้รับการพระบรมราชโองการแต่งตั้งจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์แห่งอาณาจักรอยุธยาเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ ต่อมาเกิดศึกระหว่างราชวงศ์โก้นบองกับอาณาจักรอยุธยาจนกระทั่งเสียกรุงในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 เมืองท่งศรีภูมิจึงกลายเป็นอิสระอย่างน้อย 7 เดือน จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกู้กรุงสำเร็จ เมืองท่งศรีภูมิจึงได้เข้าสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรธนบุรี[ต้องการอ้างอิง] ต่อมาในปี พ.ศ. 2315 ทางกรมการเมืองและพระยากรมท่าได้หารือกับเจ้าเมือง เห็นว่าควรย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ เนื่องจากบริเวณที่ตั้งเดิมติดลำน้ำเสียว ชัยภูมิไม่เหมาะสมในการป้องกันเมือง ตลิ่งเซาะพัง น้ำท่วมถึง ขยายเมืองต่อไปในภายภาคหน้ามิได้ จึงได้มีใบบอกไปยังกรุงธนบุรี ขอย้ายที่ตั้งเมืองท่งศรีภูมิไปยังบริเวณดงเท้าสารซึ่งเป็นเนินสูงขนาดใหญ่และน้ำท่วมไม่ถึงใกล้บริเวณแหล่งน้ำเสียวดังเดิม และเดิมพื้นที่เคยเป็นที่ตั้งบ้านดงเมืองหางซึ่งเป็นเมืองเก่ามาแต่เดิมก่อนแล้ว ทางกรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ย้ายที่ตั้งเมืองมาที่บริเวณดังกล่าว และสถาปนาพระยศท้าวเซียงเป็น "พระรัตนวงษา" ทั้งนี้ พระยศนั้นให้ยังถึงพระนามของเจ้าแก้วมงคล เจ้าเมืองท่งศรีภูมิพระองค์แรก และได้พระราชทานนามเมืองใหม่ว่า "เมืองสุวรรณภูมิ" ต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับสั่งให้พระยากรมท่าเจรจาให้พระรัตนวงษา (เซียง) กับเจ้าสุทนต์มณี (ยังตั้งทัพยั้งอยู่บริเวณบ้านดงเมืองจอก) ให้คืนดีกันในฐานะอาและหลาน และพระยากรมท่าได้เจรจาขอให้เจ้าสุทนต์มณีเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าสุทนต์มณีจึงนำไพร่พลเข้าสวามิภักดิ์ และขอตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่บริเวณบ้านกุ่มฮ้างเป็นเมืองร้อยเอ็ด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้พระราชทานแต่งตั้งพระยศเป็น "พระขัติยวงษา" ในปี พ.ศ. 2318 ครั้งนั้นเขตเมืองสุวรรณภูมิมีว่า ตั้งแต่ปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูล ขึ้นมาตามลำน้ำพาชีถึงปากห้วยดางเดียขึ้นไปทุ่งลาดไถ ไปบ้านข้อเหล็ก บ้านแก่งทรายหิน ตั้งแต่ถ้ำเต่าเหวฮวดดวงสวนอ้อย บึงกุยศาลาอีเก้งภูเมง หนองม่วงคลุ้ม กุ่มปักศาลาหักมูลเดง ประจบปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูลนี้เปนเขตรเมืองสุวรรณภูมิ[3] ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระรัตนวงษา (เซียง) จึงได้นำบรรณาการและต้นดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปถวายและขอสวามิภักดิ์[ต้องการอ้างอิง] |
5 | พระรัตนวงษา (สูน) | 2330 | 2335 | 5 | ในปี พ.ศ. 2330 ท้าวสูนผู้เป็นน้องชายของพระรัตนวงษา (เซียง) และดำรงตำแหน่งอุปฮาดได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ต่อมาในปี พ.ศ. 2335 ได้มีเหตุทิดโคตรก่อคดีได้ใช้มีดฟันพระรัตนวงษา (สูน) เสียชีวิต ท้าวอ่อนจึงได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ |
6 | พระรัตนาวงษามหาขัติยราช (อ่อน) | 2335 | 2357 | 22 | ท้าวอ่อนได้รับโปรดเกล้าจารึกพระสุพรรณบัฏเป็นที่พระรัตนาวงษามหาขัติยราชครองเมืองสุวรรณภูมิราชบุรียประเทศราช ดังที่ข้อความในเอกสารเรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 กล่าวไว้ว่า "...ด้วยพระบาทสมเดจพระพุทธิเจ้าอยู่หัวผู้ผ่านพิภพกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ จ้าวอุปราช เปน พระรันตนาวงษามหาขัติยราชครองเมืองสุวัณภูมราชบุรียประเทศราช เศกให้ ณ วันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 10 จุลศักราช 1153 ปีกุนตรีศก เพลาเช้า 2 โมง 6 บาท..."[2] พระรัตนวงษา (อ่อน) เป็นบุตรของพระขัติยวงษา (ทนต์) หลังได้ครองเมืองสุวรรณภูมิแล้ว ได้ขอพระราชทานแต่งตั้งท้าวโอ๊ะ (บุตรพระรัตนวงษา(เซียง)) ที่ดำรงตำแหน่งราชบุตรเดิมนั้นขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นอุปฮาด ต่อมา ในปี พ.ศ. 2357 ญาแม่แก้ว ภรรยาหลวงของท้าวอ่อนไม่พอใจที่ท้าวอ่อนมีภรรยามากจึงได้ลงไปกรุงเทพฯ เพื่อฟ้องกล่าวโทษท้าวอ่อนว่า ประพฤติการณ์ทุจริต ข่มเหงราษฎร มีภรรยามาก แลให้ได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีรับสั่งให้พระรัตนวงษา (อ่อน) มาเข้าเฝ้าแก้ต่างคดีที่กรุงเทพมหานคร หลังพิจารณาความแล้วได้ความจริงว่า ท้าวอ่อนเป็นผู้ประพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวโทษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลดท้าวอ่อนออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และให้นำตัวไปกักขังไว้ ณ บ้านหนองหอย แขวงเมืองสระบุรี แล้วพิจารณาโปรดเกล้าแต่งตั้งท้าวโอ๊ะที่ดำรงตำแหน่งอุปฮาดในขณะนั้นขึ้นเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ |
7 | พระรัตนวงษา (โอ๊ะ) | 2357 | 2372 | 17 | ในปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปแยกย้ายกันตรวจสำมะโนครัว และตั้งกองสักอยู่ตามหัวเมืองอีสานบางเมือง มีเมืองกาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด เป็นต้น และให้เรียกส่วย ผลเร่วเป็นธรรมเนียมแต่นั้นมา[ต้องการอ้างอิง] ในสมัยพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) ไม่มีการแต่งตั้งอุปฮาดและราชบุตร ในปี พ.ศ. 2369 เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อกองทัพเวียงจันทน์และท้าวอุปราชสีถานของเจ้าอนุวงศ์เดินทางมาถึงเมืองร้อยเอ็ด เจ้าเมืองร้อยเอ็ดได้ยกนางหมานุย นางตุ่ย นางแก้ว ภริยาของพระขัติยวงษาคนก่อนให้อุปราชสีถาน จึงรอดพ้นจากภัย ส่วนพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) ได้ยกม้าต่างกับผ้าแพรพร้อมนางอ่อม บุตรีของพระรัตนวงษา (อ่อน) เจ้าเมืองคนเก่าให้ อุปราชสีถาน จึงพ้นภัย (ทั้งนี้เมืองร้อยเอ็ดและเมืองสุวรรณภูมิมิได้เข้าร่วมกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์แต่ร่วมต่อสู้กับกองทัพฝ่ายรัตนโกสินทร์) ในสมัยพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) มีการสร้างหล่อพระพุทธรูปสำคัญ ดังปรากฏในจารึกอักษรธรรมพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง โดยญาครูโสมเมืองสุวรรณภูมิว่า ศุภมัสตุจุลศักราชราชาได้ พัน ๑ ร้อย ๘๓ หัวครูโสมมีศรัทธา สร้างพุทธฮูปไว้กับสาสนา ๕ พัน วสา นิพานปัจจโยโหตุ แล้วเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ วันทิดมื้อกาบสัน (แปล: พระครูโสม (คำว่า หัวครู มาจาก เจ้าหัว,เจ้าอยู่หัว ในอดีตใช้เรียกพระเถระชั้นผู้ใหญ่) เป็นผู้สร้างพุทธรูปนี้ขึ้น แล้วเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2364) พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธศิลป์นิยมแบบล้านช้างตอนล่างลงมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่เก่าแก่และสำคัญองค์หนึ่งในเมืองสุวรรณภูมิ สันนิษฐานว่า เป็นการสร้างถวายและประดิษฐานที่วัดป่ายาง (ปัจจุบันในเขตโรงเรียนอนุบาลสุวรรณภูมิ หรือ เทศบาล 2) แล้วย้ายมาที่วัดคุ้ม (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) และนำมาประดิษฐานที่วัดโพธิ์ ซึ่งปัจจุบันคือ วัดสว่างโพธิ์ทอง ในเขตเมืองเก่าสุวรรณภูมิ[ต้องการอ้างอิง] |
8 | พระรัตนวงษา (ภู) | 2372 | 2395 | 23 |
พระรัตนวงษา (ภู) เป็นบุตรของพระขัติยวงษา (ทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด โดยดำรงตำแหน่งอุปฮาดเมืองร้อยเอ็ด ท้าวภูได้มีความดีความชอบในการศึกกบฏเจ้าอนุวงศ์ จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรงตำแหน่งเป็นพระรัตนวงษา (ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท้าวเกษเป็นอุปฮาดและแต่งตั้งท้าวสาร (บุตรของพระรัตนวงษา (โอ๊ะ)) เป็นท้าวสุริยวงษ์ |
9 | พระรัตนวงษา (สาร) | 2395 | 2397 | 2 |
พระรัตนวงษา (สาร) เป็นบุตรของพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) ในสมัยนี้ไม่มีการแต่งตั้งอุปฮาดและราชบุตร |
- | ว่างตำแหน่ง | 2397 | 2401 | 4 |
สืบเนื่องจากความขัดแย้งก่อนหน้า และการแต่งตั้งอุปฮาดและราชบุตรมิได้ทันการณ์ ยังผลให้หลังพระรัตนวงษา (สาร) เสียชีวิต จึงไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้ |
10 | พระรัตนวงษา มหาราช (เลน) | 2401 | 2410 | 9 | พระรัตนวงษามหาราช (เลน) เป็นบุตรของพระรัตนวงษา (อ่อน) ในปี พ.ศ. 2402 เมืองสุวรรณภูมิคล้องได้ช้างเผือก “พระมหาศรีเสวตวิมลวรรณ” ในปี พ.ศ. 2404 เมืองสุวรรณภูมิคล้องได้ช้างเผือก “พระเศวตสุพรรณภาพรรณ” ในปี พ.ศ. 2409 เกิดคดีปล้นจีนหอย บริเวณบ้านด่าน (ปัจจุบันตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเหตุให้เสียพื้นที่บริเวณตำบลด่านให้แก่แขวงเมืองมหาชนะชัย เมืองอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2410 ได้มีการสร้างวัดทุ่งลัฏฐิวัน โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2413 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2413 มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 30 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ตามส.ค. 1 เลขที่ 884-885-887 |
11 | พระยารัตนวงษา มหาขัติยราช (คำผาย) | 2410 | 2420 | 10 | พระยารัตนวงษามหาขัติยราช (คำผาย) เป็นบุตรของพระรัตนวงษา (ภู) ในสมัยพระยารัตนวงษามหาขัติยราช (คำผาย) มีท้าวคำสิงห์เป็นอุปฮาดและท้าวคำสอนเป็นราชบุตร ในปี พ.ศ. 2413 เมืองสุวรรณภูมิคล้องได้ช้างพลายสีประหลาด “พระเสวตสุวรรณภาพรรณ” ด้วยความดีความชอบและการถวายช้างเผือกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยพระรัตนวงษามหาราช (เลน) พระรัตนวงษา (คำผาย) จึงได้โปรดเกล้าพระราชทานเลือนตำแหน่งจากพระรัตนวงษาเป็น "พระยารัตนวงษา" ปัจจุบันรายนามช้างเผือกจำนวน 4 เชือกที่เมืองสุวรรณภูมิได้ทูลเกล้าถวายปรากฏในจารึกข้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง |
12 | พระยารัตนวงษา (คำสิงห์) | 2420 | 2428 | 8 | พระยารัตนวงษา (คำสิงห์) เป็นน้องชายของพระยารัตนวงษา (คำผาย) ในสมัยพระยารัตนวงษา (คำสิงห์) มีท้าวคำสอนเป็นอุปฮาด ในสมัยนี้มีการขอแยกตั้งบ้านเมืองจำนวนมาก ทั้งในเขตเมืองสุวรรณภูมิและเขตเมืองอื่น ๆ ที่มาตั้งเมืองแต่เกิดข้อพิพาทล่วงล้ำเขตเมืองสุวรรณภูมิ อาทิ เมืองวาปีประทุม, เมืองราษีไศล, เมืองมหาชนะชัย, เมืองชุมพลบุรี และเป็นเหตุให้เมืองสุวรรณภูมิสูญเสียอาณาเขตเป็นจำนวนมากจากการแพ้อรรถคดีเรื่องการตั้งเมืองดังกล่าว |
13 | พระรัตนวงษา (คำสอน) | 2428 | 2439 | 11 | พระรัตนวงษา (คำสอน) เป็นน้องชายของพระรัตนวงษา (คำสิงห์) ในปี พ.ศ. 2432 อุปฮาด (สุวรรณ), ราชวงษ์ และกรมการเมืองพนมไพรแดนมฤค ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีความวิวาทบาดหมางกับอุปฮาดเมืองสุวรรณภูมิ มิพอใจจะขึ้นกับเมืองสุวรรณภูมิ จึงมีใบบอกไปยังพระพิเรนทรเทพ (ทองคำ) ข้าหลวงเมืองนครราชสีมา ขอขึ้นกับนครราชสีมา แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเขตแขวงเมืองพนมไพรแดนมฤคมิได้ติดต่อกับเขตแขวงนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นทางสะดวกแก่การบังคับบัญชา ในปี พ.ศ. 2432 อุปฮาดและกรมการเมืองสุวรรณภูมิมีใบบอกกล่าวโทษเมืองมหาสารคาม, เมืองสุรินทร์ และเมืองศรีสะเกษว่าแย่งชิงเขตแขวงเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งเป็นเมืองขึ้น คือเมืองมหาสารคามขอบ้านนาเลาเป็นเมืองวาปีประทุม, เมืองสุรินทร์ขอบ้านทัพค่ายเป็นเมืองชุมพลบุรี, เมืองศรีสระเกษขอบ้านโนนหินกองเป็นเมืองราษีไศล จึงได้มีการโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงนครจำปาสักและเมืองอุบลราชธานีไต่สวนว่ากล่าวในเรื่องนี้ ได้ข้อสรุปว่ารื้อถอนไม่ไหวเพราะได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามมาได้หลายปีแล้ว ดังนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้คงเป็นเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามตามเดิม ในปี พ.ศ. 2433 พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) เจ้าเมืองพนมไพรแดนมฤคซึ่งลงมา ณ กรุงเทพฯ เพื่อจะขอเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ แต่ไม่สำเร็จ เลยป่วยพักรักษาตัวอยู่ ณ กรุงเทพฯ นั้น ครั้นอาการป่วยทุเลาแล้ว จึ่งกราบถวายบังคมลากลับบ้านเมือง ครั้นไปถึงเมืองนครราชสีมา กลับเป็นไข้หนักลงอีก ครั้นวันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 12 จึงถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ. 2434 มีสารตราโปรดเกล้า ฯ ให้ปันหน้าที่ข้าหลวงเป็น 4 กอง คือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก, หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ, เมืองลาวฝ่ายเหนือ และหัวเมืองลาวกลาง เมืองสุวรรณภูมิอยู่ในบังคับบัญชาหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนออกไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ ให้เรียกว่าข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว โดยให้เมืองสุวรรณภูมิอยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว ในปี พ.ศ. 2435 มีตราลงวันที่ 28 พฤศจิกายนว่า ท้าวสิลารับการตำแหน่งพระศรีเกษตราธิไชย ผู้รักษาราชการเมืองเกษตรวิไสย เมืองขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีใบบอกส่งบัญชีสำมะโนครัวมายังกรุงเทพฯ ข้ามเมืองสุวรรณภูมิเมืองใหญ่ มีความผิด ให้ข้าหลวงเมืองอุบลเรียกตัวมาว่ากล่าวภาคทัณฑ์อย่าให้ทำต่อไป ในปี พ.ศ. 2435 โปรดเกล้าฯ ให้จมื่นศักดิ์บริบาล นายร้อยโทเล็กเป็นข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ ในปี พ.ศ. 2436 กรมไปรษนีย์โทรเลขได้จัดให้มิสเตอร์โทมัศปาเมอ มิศเตอร์แมกสมูลเลอ มิศเตอร์วิลเลียม ไปจัดตั้งไปรษนีย์ตามหัวเมืองในมณฑลลาวกาว ซึ่งรวมถึงเมืองสุวรรณภูมิ ไปต่อกับหัวเมืองในมณฑลลาวกลางมากรุงเทพ ฯ กำหนดเดินอาทิตย์ละครั้ง ในปี พ.ศ. 2437 วันที่ 2 เมษายน ฝรั่งเศสยกกระบวนทัพล่วงเข้ามาถึงเมืองเชียงแตง บังคับขับไล่หลวงพิพิธสุนทร (อิน) แลนายร้อยโทคร้ามข้าหลวงกับทหาร 12 คน ซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงแตงให้ข้ามไปอยู่ ณ เมืองธาราบริวัตร ฝั่งโขงตะวันตกโดยอ้างเหตุว่า ดินแดนในฝั่งโขงตะวันออกและเกาะดอนในลำน้ำโขงเป็นเขตแขวงของญวนซึ่งอยู่ในบำรุงฝรั่งเศส เวลานั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาวซึ่งประทับอยู่เมืองอุบลราชธานี เมื่อได้ทรงทราบว่าฝรั่งเศสแสดงตัวเป็นศัตรูขึ้นดังนั้นแล้ว จึ่งได้โปรดให้เกณฑ์กำลังเมืองศรีสระเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ 800 คน และเมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองละ 500 คน และให้เกณฑ์เมืองขุขันธ์อีก 500 คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์คุมไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองมโนไพรและเมืองเซลำเภา โปรดให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน) ซึ่งกลับจากหน้าที่เมืองตะโปนไปเป็นข้าหลวงแทนพระศรีพิทักษ์อยู่เมืองขุขันธ์ และให้นายสุจินดา ขุนอินทรประสาท (กอน) นายร้อยตรีคล้าย นายร้อยตรีโชติ คุมทหาร 100 คน และกำลัง 500 คน พร้อมด้วยศาสตราวุธ เป็นทัพหน้า รีบยกออกจากเมืองอุบลราชธานีตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชาณเมืองสีทันดร และโปรดให้เมืองใหญ่ทุกเมืองในหัวเมืองลาวกาวเรียกคนพร้อมด้วยศาสตราวุธ มาเตรียมไว้กับบ้านเมือง เมืองละ 1,000 คน วันที่ 20 พฤษภาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้อุปฮาด (อำคา) เมืองสุวรรณภูมิ 1 พระศรีเกษตราธิไชย (ศิลา) ผู้ว่าราชการเมืองเกษตรวิไสย 1 คุมคนเมืองสุวรรณภูมิ 500 แลให้พระสุนทรพิพิธ ผู้ว่าราชการเมืองโกสุม 1 หลวงจำนงวิไชย ผู้ช่วยเมืองร้อยเอ็ด 1 คุมคนมหาสารคาม แลร้อยเอ็ด 300 รวม 800 ยกออกจากเมืองอุบลไปช่วยพระประชาณค่ายดอนสาคร วันที่ 2 มิถุนายน กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้พระสิทธิศักดิสมุทเขตร (บุษย์) เป็นข้าหลวงบังคับเมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ให้พระดุษฎีตุลกิจ (สง) ข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ ไปช่วยพระสิทธิศักดิ อยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ถอนนายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงเมืองมหาสารคามมาอยู่เมืองสุวรรณภูมิ วันที่ 24 ตุลาคม กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้พระณรงค์วิชิต (เลื่อน) เป็นข้าหลวงตรวจจัดราชการเมืองกาฬสินธุ์ กมลาไศรย ภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม วันที่ 4 พฤศจิกายน โปรดให้ขุนอาสาสงคราม (สวน) ไปเป็นข้าหลวงช่วยนายร้อยตรีพรหมอยู่ ณ เมืองสุวรรณภูมิ |
14 | พระรัตนวงษา (อำคา) | 2439 | 2443 | 5 | ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในระบบกินเมือง[4] ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 เมืองสุวรรณภูมิจึงเปลี่ยนตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง, อุปฮาดเป็นปลัดเมือง, ราชวงษ์เป็นมหาดไทยเมือง และราชบุตรเป็นยกกระบัตรเมือง |
การปกครอง
[แก้]เมืองสุวรรณภูมิได้แบ่งอาณาเขตออกให้ทายาทของเจ้าแก้วมงคลได้ปกครองหลายเมือง ดังนี้
- พ.ศ. 2318 เมืองร้อยเอ็ด (จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2335 เมืองชนบท (อำเภอชนบทในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2342 เมืองพุทไธสง (อำเภอพุทไธสงในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2408 เมืองมหาสารคาม แยกออกจากเมืองร้อยเอ็ดและเมืองสุวรรณภูมิ
- พ.ศ. 2415 เมืองเกษตรวิสัย (อำเภอเกษตรวิสัยในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2421 เมืองพนมไพรแดนมฤค (อำเภอพนมไพรในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2422 เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2425 เมืองวาปีปทุม (อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน) แยกออกจากเมืองร้อยเอ็ด แต่ไปตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองสุวรรณภูมิ ภายหลังยังคงให้ขึ้นเมืองร้อยเอ็ด ก่อนมาขึ้นจังหวัดมหาสารคามในภายหลัง
- พ.ศ. 2425 เมืองจตุรพักตร์พิมาน (อำเภอจตุรพักตร์พิมาน ในปัจจุบัน)
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 เจ้าแก้วมงคล (2021-07-15). "พื้นที่อาณาเขตของเมืองศรีภูมิ(สุวรรณภูมิ)". Facebook. สืบค้นเมื่อ 2024-11-14.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 2.0 2.1 2.2 สำนักนายกรัฐมนตรี (1971), เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ [Regarding the Royal Investiture of Vassal Lords in the Kingdom of Rattanakosin During the Reign of Rama I] (PDF), พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, pp. 11, 25, สืบค้นเมื่อ 2024-08-27
- ↑ 3.0 3.1 วิภาคย์พจนกิจ, เติม (2003), ประวัติศาสตร์อีสาน (PDF) (4th ed.), กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, pp. 155–179, ISBN 974-571-854-8, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-06-09, สืบค้นเมื่อ 2024-11-14
- ↑ 4.0 4.1 สิถิรบุตร, อุราลักษณ์ (1983). "บทที่ ๓" (PDF). มณฑลอีสานและความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ [Monthon Isan and its historical significance] (วิทยานิพนธ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. pp. 129–131. สืบค้นเมื่อ 2024-11-10.
- ↑ ขัติยะวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ), พระยา (1929), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พระนคร: โรงพิมพ์ศรีหงส์, pp. 8–9, สืบค้นเมื่อ 2024-11-14