ข้ามไปเนื้อหา

นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน

พ.ศ. 2310–พ.ศ. 2314
สถานะนครรัฐ
เมืองหลวงนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
การปกครองราชาธิปไตย
เจ้าผู้ครองนคร 
• พ.ศ. 2310 – พ.ศ. 2314
เจ้าพระตา
• พ.ศ. 2314 – พ.ศ. 2314
เจ้าพระวอ
ประวัติศาสตร์ 
• แยกตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
พ.ศ. 2310
• ถูกยึดครองโดยอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
พ.ศ. 2314
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หรือ จำปานครขวางกาบแก้วบัวบาน[1] เป็นรัฐอิสระที่แยกตัวจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานต้านทานการปราบปรามของเวียงจันทน์ได้เป็นช่วงสั้นๆ ก่อนจะถูกทิ้งร้างจากการโจมตีโดยความร่วมมือระหว่างเวียงจันทน์และพม่า

ประวัติศาสตร์

[แก้]

เหตุการณ์นำ

[แก้]

ใน พ.ศ. 2250 อาณาจักรล้านช้างล่มสลายจากการเข้าแทรกแซงหรือได้รับการไกล่เกลี่ยจากสมเด็จพระเพทราชากษัตริย์อาณาจักรอยุธยา ซึ่งได้เสนอให้แยกอาณาจักรออกจากกันเพื่อลดปัญหาของความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งพระไชยเชษฐาธิราชที่ 2 หรือพระไชยองค์เว้ทรงสถาปนาอาณาจักรใหม่ นามว่า อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และกลายเป็นคู่อริกันกับฝ่ายอาณาจักรหลวงพระบางต่อมายาวนานอีกกว่าร้อยปี ต่อมาใน พ.ศ. 2256 เขตแดนอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ก็ได้ถูกแยกเป็นอีกหนึ่งอาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์

เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างป้อมปราการกันชนให้แก่อาณาจักรที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นมาใหม่ พระไชยองค์เว้ จึงโปรดแต่งตั้งให้ท้าวนองเป็นเจ้าอุปราชนครเวียงจันทน์ และโปรดให้เจ้าอุปราชนองนำไพร่พลไปตั้งเมืองที่หนองบัวลุ่มภูเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านยันกับอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมา พ.ศ. 2283 เจ้าอุปราชนองได้นำกองกำลังชาวเวียดนามเข้ายึดอำนาจจากเจ้าองค์ลอง พระราชโอรสของพระไชยองค์เว้ เหตุผลที่เจ้าอุปราชนองมีกำลังพลจากทางเวียดนามเป็นจำนวนมากและมีความเกี่ยวข้องกับทางเวียดนาม สืบเนื่องมาจากตั้งแต่สมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมมิกราชขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้พยายามกำจัดพระญาติทางฝ่ายพระราชบิดาจนแทบสิ้น หนึ่งในนั้นคือเจ้าชมพู พระเชษฐาต่างพระมารดา เจ้าชมพูถูกเนรเทศ (หลบหนี) ไปพึ่งเวียดนาม โดยมีแสนทิพย์นาบัวติดตามพระองค์ไปด้วย เจ้าชมพูให้กำเนิดโอรสกับหญิงชาวเมืองเว้นามว่าพระไชยองค์เว้ ภายหลังเจ้าชมพูสิ้นพระชนม์ แสนทิพย์นาบัวจึงได้พระมารดาของพระไชยองค์เว้เป็นภรรยาให้กำเนิดบุตรซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าอุปราชนอง ดังนั้นเจ้าอุปราชนองจึงเป็นพี่น้องต่างบิดากับพระไชยองค์เว้ และล้วนมีเชื้อสายเวียดนามทางฝั่งมารดาทั้งคู่

แต่ในทางปฏิบัติเจ้าอุปราชนองได้รับการยอมรับเป็นแต่เพียงเจ้าอุปราชครองเมืองเท่านั้น ไม่อาจได้รับการยอมรับหรือรับรองจากขุนนางให้ขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการแต่อย่างใดเนื่องจากเจ้าอุปราชนองไม่มีเชื้อสายทางกษัตริย์ล้านช้างแต่เป็นเพียงเชื้อสายสามัญชนที่เข้ามายึดอำนาจจากเชื้อสายเจ้านายเท่านั้น เมื่อเจ้าอุปราชนองได้ครองนครเวียงจันทน์จึงมอบให้เจ้าพระตาบุตรชายไปปกครองเมืองหนองบัวลุ่มภูแทน[ต้องการอ้างอิง]

ภายหลังบุตรชายทั้งสอง คือ เจ้าพระวอและเจ้าพระตาร่วมมือกับเจ้าสิริบุญสาร พระราชโอรสของเจ้าองค์ลอง เข้ายึดอำนาจจากเจ้าอุปราชนอง ด้วยการให้ที่พักพิงและหลบราชภัยในเมืองหนองบัวลุ่มภูนานกว่าสิบปี ทั้งยังช่วยยกทัพไปชิงบัลลังก์ล้านช้างเวียงจันทน์มาให้แก่เจ้าสิริบุญสารจนได้นั่งเมืองเป็นพระเจ้าล้านช้างเวียงจันทน์ ซึ่งพระวอพระตามีส่วนร่วมในการปิตุฆาตบิดาของพวกตนหรือเป็นเหตุสนับสนุนให้พระเจ้าสิริบุญสารสำเร็จโทษบิดาของพวกตน

การแยกตัวจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์

[แก้]

ต่อมา พ.ศ. 2314 พระเจ้าสิริบุญสารเกิดความขัดแย้งกับพระตาพระวอ เนื่องจากพระเจ้าสิริบุญสารต้องการมีอำนาจเหนือดินแดนที่แวดล้อมล้านช้างเวียงจันทน์ (ล้านช้างหลวงพระบาง-เมืองหนองบัวลุ่มภู) และทรงมีความระแวงเมืองหนองบัวลุ่มภูที่มีไพร่พลมาก และต่างต้องการตำแหน่งในราชสำนักที่สูงสุดรองจากตน โดยพระเจ้าสิริบุญสารได้ปฏิเสธที่จะยกตำแหน่งให้และขอให้เจ้าพระตาและเจ้าพระวอไปช่วยรักษาการที่ด่านบ้านหินโงม[ต้องการอ้างอิง] เมื่อไม่ได้รับผลประโยชน์ เจ้าพระตาและเจ้าพระวอจึงยกทัพหนีกลับเมืองหนองบัวลุ่มภูและบูรณะสร้างบ้านแปลงเมืองให้เป็นนครใหญ่ชื่อว่า นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน[2][3] ซึ่งแข็งเมืองไม่ขึ้นกับนครหลวงเวียงจันทน์อีกต่อไป มีกฏบัญญัติบ้านเมือง มีเจ้าผู้ครองเมือง มีดินแดนกำแพงคูเมืองล้อมรอบพร้อมประตูเวียง มีแม่น้ำแม่พระเนียงเป็นสายหลัก มีเมืองขึ้นของตัวเอง ได้แก่เมืองนาด้วง[ต้องการอ้างอิง] ภูเวียง ผ้าขาวพันนา[4] พร้อมผู้คนและช้างเผือกคู่เวียง

การล่มสลาย

[แก้]

พระเจ้าสิริบุญสารใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างยกกองทัพมาตีนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ทำการสู้รบกันที่ช่องน้ำจั่น (น้ำตกเฒ่าโต้) บนภูพานคำ[ต้องการอ้างอิง]ใช้เวลาอยู่ประมาณ 3 ปี พระตาพระวอได้ส่งทูตไปขอกองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ แต่ทว่าพระเจ้าสิริบุญสารชิงส่งบรรณาการให้แก่กองทัพพม่า กองทัพพม่าจึงหันมาช่วยฝ่ายเวียงจันทน์ตีนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน[5] เมื่อฝ่ายเจ้าพระตาทราบข่าวศึก คะเนคงเหลือกำลังที่จะต้านศึกกองทัพใหญ่กว่าไว้ได้ จึงให้ท้าวคำโส ท้าวคำขุย ท้าวก่ำ ท้าวคำสิงห์ พาไพร่พล คนชรา เด็ก ผู้หญิง พร้อมพระสงฆ์ อพยพมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ไว้รอท่า หากแพ้สงครามจะได้อพยพติดตามมาอยู่ด้วย โดยแรกได้มาตั้งเมืองที่บ้านสิงห์โคก บ้านสิงห์ท่า (จังหวัดยโสธร)[ต้องการอ้างอิง] และการสู้รบในครั้งสุดท้าย เจ้าพระตาถึงแก่ความตายในสนามรบ เจ้าพระวอพร้อมด้วยเครือญาติคือ นางอุสา นางแพงแสน ท้าวคำผง ท้าวทิตพรหม และนางเหมือนตา ได้หลบหนีออกจากเมืองมารับเสบียงอาหารจากบ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า[ต้องการอ้างอิง] แล้วผ่านลงไปตั้งเมืองที่ดอนมดแดง พร้อมขอพึ่งพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร [en] แห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์

รายพระนามเจ้าผู้ครองนคร

[แก้]
ลำดับ รายพระนาม เริ่มต้น (พ.ศ.) สิ้นสุด (พ.ศ.) ระยะเวลา หมายเหตุ
เมืองหนองบัวลุ่มภู
1 เจ้าอุปราชนอง ไม่ปรากฏ 2283 ไม่ปรากฏ

ถูกสถาปนาเมืองขึ้นและได้รับการแต่งตั้ง ตั้งแต่พระเจ้าไชยองค์เว้ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์ องค์ที่ 1

2 พระวรราชปิตา (เจ้าพระตา) 2283 2310 27 ปี
นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
2 พระวรราชปิตา (เจ้าพระตา) 2310 2314 4 ปี
3 พระวรราชภักดี (เจ้าพระวอ) 2314 2314 - อยู่ในภาวะสงครามกับเวียงจันทน์ และได้อพยพหนีลงมายังบ้านสิงห์ท่า (ยโสธร) ก่อนขึ้นครองเมือง

อ้างอิง

[แก้]
  1. แสนคำ, ธีระวัฒน์ (2015). "เมืองหนองบัวลำภู: การศึกษาพัฒนาการของชื่อเมืองโบราณสำคัญในลุ่มแม่น้ำโขง" [Muang Nong Bua Lamphu: The Study of Important Ancient Town’s Names in The Mekong River Basin]. ดำรงวิชาการ. 14: 113–136. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-07-05. สืบค้นเมื่อ 2024-07-05 – โดยทาง Thai Journals Online.
  2. กรมศิลปากร (ผู้รวบรวม) (1941), "ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์" [Tamnan Mueang Nakhon Champasak], ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ [Collection of Historical Archives] (PDF), พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, pp. 23–36, สืบค้นเมื่อ 2024-11-10
  3. โบราณคดีสโมสร (ผู้รวบรวม) (1916), "พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน" [Phongsawadan Hua-mueang Monthon Isan], ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ [A Collection of Chronicles] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, สืบค้นเมื่อ 2024-11-10
  4. สายสงวนวงศ์, ประวิทย์ (2020). "การขยายอิทธิพลและการสนับสนุนตั้งเมืองของสยามใน "พื้นที่อีสาน" ต้นพุทธศตวรรษที่ 24" [Siam’s expansion of influence and policy on city establishment in “Isanarea” at the beginning of the 24th Buddhist century]. วารสารประวัติศาสตร์. 45 (1): 6–7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-09-10. สืบค้นเมื่อ 2024-11-08 – โดยทาง SWU e-Journals System.
  5. "๓๓", พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล), กรุงเทพฯ: แดน บีช แบรดลีย์, 1864, สืบค้นเมื่อ 2024-11-10