เมืองมุกดาหาร
มุกดาหาร | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2313 – พ.ศ. 2442 | |||||||||||
เมืองหลวง |
| ||||||||||
การปกครอง | |||||||||||
• ประเภท | อาญาสี่ | ||||||||||
เจ้าเมือง | |||||||||||
• พ.ศ. 2313–2347 | พระยาจันทรศรีสุราช | ||||||||||
• พ.ศ. 2406–2412 | เจ้าจันทรเทพสุริยวงษ์ | ||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||
• การอพยพของกลุ่มเจ้าจันทร์สุริยวงษ์ | พ.ศ. 2256 | ||||||||||
• ตั้งนามเมืองมุกดาหาร | พ.ศ. 2313 | ||||||||||
• ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง | พ.ศ. 2442 | ||||||||||
|
เมืองมุกดาหาร เป็นหัวเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขงภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ และได้รับการยกฐานะเป็นประเทศราชในบางช่วงเวลา[1] ภายหลังถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลฝ่ายเหนือของสยาม
ประวัติศาสตร์
[แก้]การสร้างเมืองหลวงโพนสิม
[แก้]อาณาจักรล้านช้างเกิดการแย่งชิงอำนาจกันภายหลังจากที่พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชสวรรคต กลุ่มพระยาแสน (พญาเมืองจันทน์) ยึดครองเวียงจันทน์ได้ เจ้าศรีวิชัยพร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์หลบหนีภัยไปพึ่งบารมีอยู่กับเจ้าราชครูโพนสะเม็ก ในการหลบหนีครั้งนี้ เจ้าศรีวิชัยได้นำบุตรไปด้วย 2 คน คือ เจ้าแก้วมงคลและเจ้าจันทร์สุริยวงษ์[2]
พระยาแสนเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ได้คิดที่จะกำจัดเชื้อพระวงศ์ที่หนีกันมาพึ่งบารมีของเจ้าราชครูโพนสะเม็ก รวมทั้งเจ้าราชครูฯ ซึ่งมีผู้ให้ความเคารพนับถือมากด้วย เจ้าราชครูโพนสะเม็กจึงนำชาวเวียงจันทน์อพยพเดินทางล่องน้ำโขงไปทางใต้ ในการอพยพคราวนี้เชื้อพระวงศ์ก็ได้หลบหนีออกมาด้วย
นางแพง ผู้ครองเมืองกาลจำบากนาคบุรีศรี ได้ทราบข่าวว่าเจ้าราชครูโพนสะเม็ก จึงถวายอาณาจักรให้ราชครูฯ ปกครอง ในปี พ.ศ. 2256 ท่านราชครูฯ พิจารณาแล้วจึงเห็นว่า เจ้าหน่อกษัตริย์เป็นเชื้อกษัตริย์กรุงเวียงจันทน์ จึงได้เชิญมาเป็นประมุขฝ่ายอาณาจักร ถวายนามว่า "เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร" และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่จาก กาลจำบากนาคบุรี เป็น "นครจำปาศักดิ์" แยกออกจากอาณาเขตของกรุงเวียงจันทน์
ต่อมาพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้แต่งตั้งให้ เจ้าแก้วมงคลอพยพไพร่พลลงไปสร้างเมืองท่งศรีภูมิ ส่วนเจ้าจันทร์สุริยวงษ์ให้อพยพไพร่พลไปสร้างเมืองหลวงโพนสิม อยู่แถวบริเวณพระธาตุอิงฮัง[3] (แขวงสุวรรณเขต) ซึ่งตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
การสร้างเมืองมุกดาหาร
[แก้]ภายหลังจากเจ้าจันทร์สุริยวงษ์พิราลัยแล้ว พระโอรสทั้ง 2 พระองค์ได้แยกย้ายกันออกไปปกครองบ้านเมืองแถบริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ เจ้าราชาบุตรโคตร (ท้าวราชบุตรโคตร) ได้อพยพไพร่พลจากเวียงดงเขนยและเมืองแก้งกอก ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มาตั้งเมืองที่บ้านดอนตาล เรียกว่า เมืองดอนตาล[ต้องการอ้างอิง] และฝ่ายพระอนุชาคือ เจ้าจันทกินรี (ท้าวกินรี) ได้ครองเมืองหลวงโพนสิมต่อจากพระบิดา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2310 ได้มีนายพรานในหมู่บ้านข้ามลำน้ำโขงมาทางฝั่งขวาของปากห้วยบังมุก และได้พบเมืองร้าง วัดร้าง และต้นตาลจำนวน 7 ยอดอยู่ริมฝั่งโขง เห็นว่าเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าบริเวณฝั่งซ้ายที่พวกตนอาศัยอยู่มาก เนื่องจากอุดมไปด้วยปลา ที่ดิน และทรัพยากรต่าง ๆ จึงกลับไปรายงานให้เจ้าจันทกินรีทราบ เจ้าจันทกินรีจึงพาพรรคพวกข้ามน้ำโขงมาและพิเคราะห์ดูว่าที่ตั้งบริเวณนี้คงเป็นเมืองโบราณมาก่อน และประทับใจในความอุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะตั้งถิ่นฐาน จึงได้พากันอพยพจากบ้านหลวงโพนสินมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบริเวณปากห้วยบังมุกที่นายพรานเป็นผู้พบ[4]
ในขณะที่กำลังจัดเตรียมพื้นที่เพื่อตั้งเมืองใหม่ ได้พบพระพุทธรูป 2 องค์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อด้วยเหล็กเนื้อดี จึงได้พร้อมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณวัดร้างริมฝั่งโขง และขนานนามว่า วัดศรีมุงคุณ (ศรีมงคล) รวมทั้งก่อสร้างกุฏิวิหารขึ้น พร้อมอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ขึ้นไปประดิษฐานบนพระวิหาร แต่ปรากฏว่าพระพุทธรูปองค์เล็ก เกิดปาฎิหาริย์กลับลงไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตั้งเดิมหลายครั้ง และค่อย ๆ จมหายลงไปใต้ดิน คงเห็นแต่ยอดพระเกศโผล่ขึ้นมาให้เห็น จึงมีการสร้างแท่นสักการะบูชาครอบไว้ในบริเวณนั้น และขนานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระหลุบเหล็ก[5] ปัจจุบันบริเวณที่พระหลุบเหล็กจมดินได้ถูกกระแสน้ำเซาะตลิ่งโขงพังลงไปหมดแล้ว (คงเหลือแต่แท่นสักการะบูชาที่ยกเข้ามาเก็บรักษาไว้หน้าพระวิหารของวัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน)[4]
ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ก่ออิฐถือปูน ชาวเมืองได้ขนานนามว่า "พระเจ้าองค์หลวง" เป็นพระประธานของวัดศรีมุงคุณ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น วัดศรีมงคลใต้ ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดมุกดาหารนับแต่นั้นมา[4]
ในเวลาต่อมา มักมีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งมีสีสดใสเป็นประกายลอยออกจากต้นตาลริมฝั่งโขง และลอยไปตามลำน้ำโขงทุกคืน จนถึงช่วงใกล้สว่างจึงลอยกลับมาที่ต้นตาลเช่นเดิม เจ้าจันทกินรีจึงได้ขนานนามแก้วดวงนี้ว่า แก้วมุกดาหาร เนื่องจากได้ตั้งเมืองขึ้นริมฝั่งโขงตรงปากห้วยบังมุกอีกทั้งได้มีผู้พบเห็นไข่มุกในแม่น้ำโขงอีกด้วย และให้ขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า เมืองมุกดาหาร ตั้งแต่เดือน 4 ปีกุน จุลศักราช 1132[5] (กุมภาพันธ์ถึงมีนาคม พ.ศ. 2314 ไทยสากล[note 1]) มีอาณาเขตครอบคลุมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขงรวมถึงแขวงสุวรรณเขตของประเทศลาว
การเข้าสู่ปริมณฑลแห่งอำนาจของสยาม
[แก้]ครั้นถึงสมัยอาณาจักรธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกกองทัพขึ้นมาปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อยในสองฝั่งแม่น้ำโขง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เจ้าจันทกินรี เป็น พระยาจันทรศรีสุราชอุปราชามันธาตุราช[5] ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหารภายใต้ขัณฑสีมาของอาณาจักรธนบุรี
ภายใต้การปกครองของสยาม
[แก้]![]() | ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (ธันวาคม 2024) |
รายพระนามและรายนามเจ้าเมือง
[แก้]ลำดับ | ชื่อ | เริ่มต้น (พ.ศ.) | สิ้นสุด (พ.ศ.) | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
เมืองหลวงโพนสิม | ||||
- | เจ้าจันทร์สุริยวงษ์ | 2256 | ไม่ปรากฏ | |
- | เจ้ากินรี | ไม่ปรากฏ | 2313 | เริ่มสร้างเมืองมุกดาหารในปี พ.ศ. 2310 |
เมืองมุกดาหาร | ||||
1 | พระยาจันทรศรีสุราชอุปราชามันธาตุราช (เจ้าจันทกินรี) | 2313 | 2347 | |
2 | พระยาจันทร์สุริยวงษ์ (กิ่ง) | 2347 | 14 ธันวาคม 2383
(เดือนอ้าย แรม 5 ค่ำ[5]) |
|
3 | พระจันทร์สุริยวงษ์ (พรหม) | 2383 | 2405 | |
ว่างตำแหน่ง 2405–2407 | ||||
4 | เจ้าจันทรเทพสุริยวงษ์ดำรงรัฐสีมามุกดาธิบดี (เจ้าหนู) | 2407 | หลัง 5 สิงหาคม 2411
(หลังเดือน 9 แรม 2 ค่ำ[5]) |
เดินทางลงไปกรุงเทพฯ เมื่อแรม 2 ค่ำเดือน 9 |
5 | พระพฤติมนตรี (คำ) | 2411 | 2422 | |
6 | พระจันทร์สุริยวงษ์ (บุญเฮ้า) | 22 กรกฎาคม 2422
(เดือน 9 ขึ้น 4 ค่ำ[6]) |
28 มีนาคม 2431
(เดือน 5 แรม 1 ค่ำ[7]) |
|
7 | พระยาศศิวงศ์ประวัติ (เมฆ) | 28 มีนาคม 2431 | 4 ตุลาคม 2434 | รักษาราชการแทน |
4 ตุลาคม 2434[8] | 2442 | |||
ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง (2442) |
การปกครอง
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ เทียบตามปฏิทินสุริยคติไทย โดยยึดวันปีใหม่คือ 1 มกราคม อนึ่ง ปี จ.ศ. 1132 เป็นปีขาลไม่ใช่ปีกุน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ (1934), "เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๔๐", จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๗, พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, สืบค้นเมื่อ 2024-08-27
- ↑ "พระลับ". สารสนเทศด้านพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-14. สืบค้นเมื่อ 2024-12-01.
- ↑ ชีวะประเสริฐ, สัญญา (2014). "ความทรงจำของเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขง: มุกดาหาร และสะหวันนะเขด". วารสารประวัติศาสตร์: 54. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-22. สืบค้นเมื่อ 2024-12-01.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "เกี่ยวกับจังหวัด". สำนักงานธนารักษ์พื้นที่มุกดาหาร. 10 July 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-24. สืบค้นเมื่อ 2024-12-01.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 มุกดาหาร, จังหวัด (1986), ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดมุกดาหาร, ขอนแก่น: สำนักงานจังหวัดมุกดาหาร, pp. 15–23, สืบค้นเมื่อ 2024-12-01
- ↑ "ตั้งตำแหน่งหัวเมือง" (PDF), ราชกิจจานุเบกษา, vol. 1, 1 February 1885, p. 52, สืบค้นเมื่อ 2024-12-02
- ↑ "ข่าวตาย" (PDF), ราชกิจจานุเบกษา, vol. 5, 3 December 1888, p. 315, สืบค้นเมื่อ 2024-12-02
- ↑ "พระราชทานสัญญาบัตร" (PDF), ราชกิจจานุเบกษา, vol. 8, 4 October 1891, p. 248, สืบค้นเมื่อ 2024-12-01