ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอจตุรพักตรพิมาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อำเภอจตุรพักตร์พิมาน)
อำเภอจตุรพักตรพิมาน
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Chaturaphak Phiman
คำขวัญ: 
ตำนานเศียรคชสาร เล่าขานปรางค์กู่
เชิดชูวัฒนธรรม งามล้ำหลักเมือง
ลือเลื่องเมืองหงส์ ธำรงงามน้ำใจ
น้ำใสห้วยกุดแดง แดนแห่งพรหมพิมาน
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอจตุรพักตรพิมาน
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอจตุรพักตรพิมาน
พิกัด: 15°50′42″N 103°33′24″E / 15.84500°N 103.55667°E / 15.84500; 103.55667
ประเทศ ไทย
จังหวัดร้อยเอ็ด
พื้นที่
 • ทั้งหมด522.0 ตร.กม. (201.5 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด79,171 คน
 • ความหนาแน่น151.67 คน/ตร.กม. (392.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 45180
รหัสภูมิศาสตร์4504
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอจตุรพักตรพิมาน
ถนนปัทมานนท์ ตำบลหัวช้าง อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด 45180
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

จตุรพักตรพิมาน [จะ-ตุ-ระ-พัก-พิ-มาน][1] เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด

ประวัติ

[แก้]

เมืองจตุรพักตรพิมาน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2425 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) จตุรพักตรพิมาน แปลว่า ที่อยู่ของเทพเจ้าผู้มีสี่หน้า ซึ่งตั้งชื่อให้สอดคล้องกับนามเจ้าเมืองจตุรพักตรพิมาน คือ ท้าวพรหม หรือ สุพรหม และชื่อเดิมของชื่อเมืองที่ชื่อว่า “บ้านเมืองหงส์” ท้าวพรหม (สุพรหม) เป็นบุตรของพระรัตนวงศา (คำสิงห์) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิรับราชการที่เมืองสุวรรณภูมิ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพรหมพิทักษ์ เมื่อบิดาเห็นว่าหลวงพรหมพิทักษ์ มีอายุ 22 ปีเศษ เหมาะสมที่จะเป็นเจ้าเมืองได้ จึงมีใบบอกกราบทูลขอหลวงพรหมพิทักษ์เป็นเจ้าเมือง และยกบ้านเมืองหงส์เป็นเมืองจตุรพักตรพิมานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านเมืองหงส์เป็นเมืองจตุรพักตรพิมาน ให้หลวงพรหมพิทักษ์เป็นพระธาดาอำนวยเดชเจ้าเมืองจตุรพักตรพิมาน ขึ้นกับเมืองสุวรรณภูมิ เมื่อ พ.ศ. 2425 ดังระบุไว้ในการแต่งตั้งขุนนางไทยในรัชการที่ 5 ว่า “ให้หลวงพรหมพิทักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสุวรรณภูมิเป็น พระธาดาอำนวยเดชเจ้าเมืองจตุรพักตรพิมาน ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่าบ้านเมืองหงส์ แขวงเมืองสุวรรณภูมิ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นเมืองนั้นขึ้นแก่เมืองสุวรรณภูมิ ได้บังคับบัญชาท้าวเพี้ย กรมการแลราษฎร บรรดาอยู่ในเขตุแขวงเมืองจตุรพักตรพิมานทั้งสิ้นแล ให้ฟังคำบังคับบัญชาพระรัตนวงศา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ แต่ที่เป็นยุติธรรมแลชอบด้วยราชการตั้งแต่วันที่ 2 ฯ 7 ปีมะเมีย จัตวาศก เป็นปีที่ 15 ของดวงตาที่ประทับนี้ ประจำการแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2425” หน้าที่ของเจ้าเมืองที่ต้องทำโดยสม่ำเสมอ คือการเก็บภาษีอากรส่งไปยังเมืองสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเมืองที่เมืองจตุรพักตรพิมานต้องขึ้นสังกัดอยู่ การลงโทษผู้กระทำผิดนั้น ขโมยที่ถูกจับได้และการไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาปีละ 2 ครั้ง ที่เมืองสุวรรณภูมิ เมืองจตุรพักตรพิมาน เป็นเมืองขึ้นกับเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ พ.ศ. 2425 จนถึง พ.ศ. 2443 ทางราชการได้ยุบเมืองจตุรพักตรพิมาน ลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ด เพราะเห็นว่าอยู่ใกล้เมืองร้อยเอ็ด (ประมาณ 26 กิโลเมตร) กว่าเมืองสุวรรณภูมิ (ระยะทางจากเมืองจตุรพักตรพิมานห่างจากเมืองสุวรรณภูมิประมาณ 50 ก.ม.) มีพระธาดาอำนวยเดช เป็นนายอำเภอคนแรก (พ.ศ. 2443) และมีนายอำเภอได้รับแต่งตั้งย้ายสับเปลี่ยนตามระเบียบราชการมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

มีประวัติความเป็นมาของอำเภอจตุรพักตรพิมาน มีปรากฏอยู่ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 ว่าพระรัตนวงศา (คำสิงห์ ) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ มีใบบอกขอตั้งเมืองหงส์ เป็นเมืองของหลวงพรหมพิทักษ์ (ท้าวพรหม หรือ สุพรหม) ผู้ช่วยราชการเมือง บุตรของพระรัตนวงศา (คำสิงห์) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และขอพระศรีวรราช (สอน) ผู้น้องเป็นอุปฮาดเมืองจตุรพักตรพิมาน วันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ยกบ้านเมืองหงส์เป็นเมืองจตุรพักตรพิมานให้หลวงพรหมพิทักษ์ (สุพรหม) เป็นพระธาดาอำนวยเดช เจ้าเมือง พระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์ และพระธาดาอำนวยเดชได้อพยพครอบครัวไปตั้งที่ว่าการเมืองอยู่ที่บ้านเปลือยหัวช้าง ทางห่างกันกับบ้านเมืองหงส์ประมาณ 90 เส้น หาได้ไปตั้งที่ว่าการเมืองอยู่บ้านเมืองหงส์ตามพระกระแสตราโปรดเกล้าฯ ไม่พระธาดาอำนวยเดช (หลวงพรหมพิทักษ์) กับพระศรีราชา(สอน) อุปฮาดพี่น้องทั้งสองนี้ เป็นผู้ตั้งเมืองจตุรพักตรพิมาน และเป็นบุตรพระรัตนวงศา (คำสิงห์) สืบเชื้อสายจากพระขัติยวงศา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดเมืองจตุรพักตรพิมานนี้ ต่อมาได้ยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด และเรียกว่า อำเภอหัวช้างอยู่ระยะหนึ่ง และได้เปลี่ยนชื่อกับมาเป็นอำเภอจตุรพักตรพิมาน จนทุกวันนี้

ภูมิศาสตร์

[แก้]

อำเภอจตุรพักตรพิมาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดร้อยเอ็ด ห่างจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครระยะประมาณ 490 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 522 ตารางกิโลเมตร

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอจตุรพักตรพิมานตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

สภาพพื้นของอำเภอเป็นที่ราบ ป่าไม้ส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณ

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

ลักษณะภูมิอากาศของอำเภอจตุรพักตรพิมาน อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด โดยพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาวเรียกว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อิทธิพลของลมนี้จะทำให้บริเวณอำเภอจตุรพักตรพิมานประสบกับภาวะอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือ มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ จะพักจากทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ในช่วงฤดูฝนทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกทั่วไปอำเภอจตุรพักตรพิมานตั้งอยู่ในเขตร้อน และแห้งแล้ง มี 3 ฤดูได้แก่

ทรัพยากรธรรมชาติ

[แก้]

อำเภอจตุรพักตรพิมาน มีแร่ธาตุที่สำคัญ คือ หินเกลือ ฟอสเฟต และแทนตาไลท์ ส่วนใหญ่จะอยู่แถบบ้านหนองตอ ตำบลหัวช้าง ทรัพยากรจะเป็นป่าเบญจพรรณป่าไม้ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ยาง ไม้เหียง ไม้ตะแบก และไม้ประดู่ ลักษณะดินส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วนปนทรายและบางแหล่งจะพบดินลูกรัง ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของหินดินดาน ลำน้ำเสียวถือว่าเป็นสายน้ำที่สำคัญของอำเภอซึ่งจะไหลผ่าน 3 อำเภอด้วยกันคือ อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน และอำเภอเกษตรวิสัย แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอสุวรรณภูมิ ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งมีน้ำขังเป็นช่วงๆ

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอจตุรพักตรพิมานแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 12 ตำบล 150 หมู่บ้าน ดังนี้

ตำบลของอำเภอจตุรพักตรพิมาน
ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน หมู่บ้าน ประชากร [a] [2]
1 หัวช้าง Hua Chang 15 12,897
2 หนองผือ Nong Phue 11 7,532
3 เมืองหงส์ Mueang Hong 17 7,303
4 โคกล่าม Khok Lam 16 7,412
5 น้ำใส Nam Sai 10 4,848
6 ดงแดง Dong Daeng 16 8,852
7 ดงกลาง Dong Klang 10 5,906
8 ป่าสังข์ Pa Sang 14 5,887
9 อีง่อง I Ngong 9 4,284
10 ลิ้นฟ้า Lin Fa 9 4,511
11 ดู่น้อย Du Noi 14 6,624
12 ศรีโคตร Si Khot 9 4,301
รวม 150 80,357
  1. ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอจตุรพักตรพิมานประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลจตุรพักตรพิมาน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลหัวช้าง (หมู่ที่ 1-3 บางส่วน)
  • เทศบาลตำบลหนองผือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองผือทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหัวช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหัวช้าง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลจตุรพักตรพิมาน)
  • เทศบาลตำบลดงแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดงแดงทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลโคกล่าม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกล่ามทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลเมืองหงส์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองหงส์ทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลลิ้นฟ้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลิ้นฟ้าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำใส ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำใสทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดงกลาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดงกลางทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลป่าสังข์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าสังข์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลอีง่อง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอีง่องทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดู่น้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดู่น้อยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลศรีโคตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีโคตรทั้งตำบล

ประชากร

[แก้]
  • ประชากร มีจำนวน 81,441 คน เป็นชาย 40,325 คน เป็นหญิง 41,116 คน (พ.ศ. 2553)
  • ครัวเรือน มีจำนวน 19,198 หลังคาเรือน

ชาวอำเภอจตุรพักตรพิมานที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2546.
  2. กระทรวงสาธารณสุข (1 มกราคม 2562). "จำนวนประชากรทะเบียนราษฏร์ ย้อนหลัง 3 ปี". hdcservice.moph.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-08. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)