รัฐศรีจนาศะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รัฐศรีจนาศะ, จนาศปุระ[1] หรือ จานาศปุระ[2] เป็นอาณาจักรแห่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 118 พบที่บ่ออีกาในเมืองโบราณเสมา ระบุศักราช 790 ตรงกับ พ.ศ. 1411 และจารึกหลักที่ 117 ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ศิลาจารึกทั้ง 2 หลักนี้ ยืนยันถึงการมีอยู่จริงของอาณาจักรศรีจนาศะ เนื่องจากมีรายชื่อกษัตริย์ผู้ปกครอง กล่าวถึงดินแดนนอกกัมพุชเทศ แสดงให้เห็นถึงความเป็นรัฐอิสระที่นับถือทั้งศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูลัทธิไศวะ อย่างน้อยก็ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-15 นักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อว่า ศูนย์กลางของแคว้นศรีจนาศะอาจตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล คือเมืองโบราณเสมา หรือบริเวณอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน

ผู้ปกครองศรีจนาศะ[แก้]

ศิลาจารึกหลักที่ 117 ได้กล่าวถึงผู้ปกครองศรีจนาศะ 4 พระองค์ โดยเริ่มจากพระองค์แรกนามว่า ภคทัตต์ ผู้ที่สืบต่อลงมาจากพระเจ้าภคทัตต์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า สุนทรปรากรม พระเจ้าสุนทรปรากรมทรงมีพระราชโอรสทรงพระนามว่า สุนทรวรมัน และพระเจ้าสุนทรวรมันทรงมีพระราชโอรส 2 องค์ องค์พี่ทรงนามว่านรปติสิงหวรมัน ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แห่งอาณาจักรศรีจานาศะ องค์น้องทรงนามว่า มงคลวรมัน ได้โปรดให้สร้างจารึกหลักนี้เพื่อฉลองการสร้างพระรูปพระชนนีเป็นพระราชเทวี คือ ชายาของพระศิวะ เมื่อมหาศักราช 859 หรือ พ.ศ. 1480 [3]

นรปติสิงหวรมัน มีพระชนมายุอยู่ร่วมสมัยกับกษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร ถึง 4 แผ่นดิน (พ.ศ. 1480 - 1514) คือ พระเจ้าชัยวรรมันที่ 4, พระเจ้าหรรษวรมันที่ 2, พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 5

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าแคว้นศรีจนาศะก่อตั้งขึ้นเมื่อใด และมีกษัตริย์ครองเมืองแล้วกี่พระองค์ แต่จากข้อมูลในศิลาจารึกพอทราบได้ว่า ศรีจนาศะเป็นรัฐอิสระที่นับถือ 2 ศาสนาเป็นอย่างต่ำ คือ ศาสนาพุทธ และ ศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย กษัตริย์ในยุคต้นอาจนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก เนื่องจากรายพระนามไม่มีคำว่า "วรมัน" ต่อท้าย ต่อมาในรัชกาลของศรีสุนทรวรมัน กลับมีคำว่า "วรมัน" ต่อท้ายพระนาม มาจนถึงพระราชโอรสคือ นฤปติสิงหวรมัน และ มงคลวรมัน อาจเป็นไปได้ว่าแคว้นศรีจนาศะเกิดการดองญาติกับจักรวรรดิเขมรทางใต้ กล่าวคือ ในรัชสมัยของสุนทรวรมัน อาจแต่งงานกับพระธิดาของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 4

หลังจากรัชกาลของ นรปติสิงหวรมัน แคว้นศรีจนาศะได้หายไปจากประวัติศาสตร์ อาจเป็นไปได้ว่าถูกรวมเข้ากับจักรวรรดิเขมรในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ที่แผ่อำนาจขึ้นมา ในจารึกเมืองโบราณเสมา พ.ศ. 1514 [4] พบรายชื่อ ทฤฒภักดี สิงหวรมัน ที่สันนิฐานว่าเป็นพระราชทินนามใหม่ของ นรปติสิงหวรมัน ที่ถูกลดบทบาทลงมา

ลำดับ รายพระนาม หมายเหตุ
ไม่ทราบพระนาม
1 ภคทัตต์
2 ศรีสุนทรปรากรม พระราชโอรสของภคทัตต์
3 ศรีสุนทรวรมัน พระราชโอรสของศรีสุนทรปรากรม
4 ศรีนรปติสิงหวรมัน พระราชโอรสของศรีสุนทรวรมัน และมีน้องชื่อมงคลวรมัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "จารึกศรีจนาศะ". พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. 9 กรกฎาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ศานติ ภักดีคำ. "เมืองเสมา คือ "ศรีจนาศะ" ?". ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน. สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/313
  4. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/353

ดูเพิ่ม[แก้]