ข้ามไปเนื้อหา

พระราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2496–2513)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชอาณาจักรกัมพูชา

ព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជា
พฺระราชาณาจกฺรกมฺพุชา
พ.ศ. 2496–พ.ศ. 2513
คำขวัญ
"ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
เพลงชาตินครราช[2]
"เมืองของพระเจ้าแผ่นดิน"
ที่ตั้งของกัมพูชา
สถานะราชอาณาจักร
เมืองหลวงราชธานีพนมเปญ
ภาษาราชการภาษาเขมร
ภาษาประจำชาติภาษาฝรั่งเศส
ภาษาจาม
ศาสนา
ศาสนาพุทธ (ศาสนาประจำชาติ)
เดมะนิมชาวเขมร (เชื้อชาตินิยม)
การปกครองรัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
(1953–1955)
รัฐพรรคการเมืองเดียวภายใต้ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
(1955–1970)
พระมหากษัตริย์ 
• พ.ศ. 2494 - 2498
พระนโรดม สีหนุ¹
• พ.ศ. 2498 - 2503
พระนโรดม สุรามฤต
• พ.ศ. 2503 - 2513
ราชินีสีสุวัตถิ์ กุสุมะ
นายกรัฐมนตรี 
• พ.ศ. 2498
สมเด็จแปน นุต
• พ.ศ. 2498
หลวง เลง เงต
• พ.ศ. 2512 - 2513
ลน นล
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
ยุคประวัติศาสตร์สงครามเย็น
• ได้รับเอกราช
9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496
18 มีนาคม พ.ศ. 2513
• สถาปนาสาธารณรัฐ
9 ตุลาคม พ.ศ. 2513
ประชากร
• พ.ศ. 2505[3]
5,728,771
สกุลเงินเรียล
รหัส ISO 3166KH
ก่อนหน้า
ถัดไป
อินโดจีนของฝรั่งเศส
กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
สาธารณรัฐเขมร
ราชรัฏฐาภิบาลรวบรวมชาติกัมพูชา
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชา
¹ เป็นทั้งผู้นำรัฐและผู้นำรัฐบาล

พระราชอาณาจักรกัมพูชา ในช่วง พ.ศ. 2496–2513 เป็นการบริหารประเทศในช่วงแรกของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ตั้งแต่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ในช่วงแรกพระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศในฐานะพระมหากษัตริย์ ต่อมาทรงสละราชสมบัติมาเล่นการเมือง จัดตั้งพรรคสังคมราษฎร์นิยม ประวัติศาสตร์กัมพูชาในช่วงนี้มักถูกเรียกว่า สมัยสังคมราษฎรนิยม (សម័យសង្គមរាស្ត្រនិយម) หรือ กัมพูชาภายใต้การปกครองของพระสีหนุ อันเนื่องมาจากเป็นยุคที่พระนโรดม สีหนุได้ทรงรวมทั้งตำแหน่งพระมหากษัตริย์และผู้นำรัฐบาลในคราวเดียวกัน

ภายใต้การบริหารประเทศของพระนโรดม สีหนุ ถือเป็นยุคที่กัมพูชาเจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้านและชาวกัมพูชาถือเป็นยุคทองยุคหนึ่งของชาวกัมพูชา

แม้ปกครองของสมเด็จนโรดมสีหนุคือยุคสมัยอันรุ่งเรืองแต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งแนวทางนโยบายช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงนิยมตะวันตก ต่อต้านคอมมิวนิสต์และเวียดนาม และดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับไทย ทั้งกรณีพิพาทเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร และการกวาดล้างชาวไทยเกาะกงในจังหวัดเกาะกง ภายหลังทรงหันไปเป็นมิตรกับจีนและเกาหลีเหนือมากขึ้น จนถูกรัฐประหาร โดยจอมพลลน นล เมื่อ พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นที่รู้จักในการรัฐประหารปี พ.ศ. 2513 ทำให้ราชอาณาจักรกัมพูชาภายใต้ระบอบสังคมราษฎร์นิยมของพระนโรดม สีหนุต้องสิ้นสุดลงและได้มีการเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ โดยจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรขึ้นแทน ส่วนพระนโรดม สีหนุต้องเสด็จลี้ภัยไปจัดตั้งรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่น ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

เอกราช การประชุมเจนีวาและการรุกรานของเวียดมิญ

[แก้]

หลังจากการรณรงค์ในการเรียกร้องเอกราชอย่างสมบูรณ์ของกัมพูชาในช่วง พ.ศ. 2496 ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ฝรั่งเศสตัดสินใจยินยอมให้เอกราชแก่กัมพูชา แม้ว่ากัมพูชาจะได้รับเอกราชตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2496 แต่สถานะทางการทหารยังไม่มั่นคง กลุ่มที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ของเขมรอิสระเข้าร่วมกับรัฐบาล แต่กลุ่มที่นิยมเวียดมิญและสมาคมเขมรอิสระได้เพิ่มการต่อต้านมากขึ้น แม้ว่ากองทัพสหภาพฝรั่งเศสจะพยายามปราบปราม ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2497 กองทัพเวียดมิญได้บุกข้ามชายแดนเข้ามายังกัมพูชา กลุ่มที่นิยมราชวงศ์พยายามต่อต้านแต่ไม่สามารถบังคับให้ทหารเวียดมิญออกไปได้ทั้งหมด กลุ่มคอมมิวนิสต์ได้พยายามสร้างข้อต่อรองก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุมเจนีวาที่จะเริ่มในปลายเดือนเมษายนของปีนั้น

การประชุมเจนีวามีผู้เข้าร่วมได้แก่ ตัวแทนจากกัมพูชา เวียดนามเหนือ รัฐเวียดนาม (ต่อมาจะเป็นสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้) ลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพโซเวียต ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา จุดประสงค์ของการประชุมเพื่อฟื้นฟูสันติภาพในอินโดจีน การอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับอินโดจีนเริ่มขึ้นเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 เวียดนามเหนือพยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนของฝ่ายต่อต้านในกัมพูชาแต่ล้มเหลว ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 การประชุมได้บรรลุข้อตกลงโดยยอมรับความเป็นเอกราชของกัมพูชา เวียดมิญต้องถอนทหารออกจากกัมพูชา 90 วัน ส่วนกองกำลังฝ่ายต่อต้านในกัมพูชาต้องสลายตัวไปใน 30 วัน ฝรั่งเศสและเวียดมิญจะถอนทหารออกจากกัมพูชาภายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2497

เพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนทหารเวียดมิญออกไป ตัวแทนฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการประชุมเจนีวาต้องการให้ลาวและกัมพูชาเป็นกลางอย่างแท้จริงโดยต้องไม่มีทหารสหรัฐอเมริกาในประเทศเหล่านี้ กัมพูชาได้ประกาศเป็นกลางโดยจะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศใด นอกจากการร่วมมือกับสหประชาชาติ ที่ประชุมยังได้มีมติจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมนานาชาติสำหรับประเทศในอินโดจีน โดยมีตัวแทนจากแคนาดา โปแลนด์และอินเดีย โดยเป็นที่ปรึกษาในการเจรจาสงบศึก การถอนกองทหารต่างชาติ การปลดปล่อยนักโทษ และสิ่งที่ได้ตกลงร่วมกันอื่นๆระหว่างการประชุม ฝรั่งเศสและทหารเวียดมิญส่วนใหญ่ถอนทหารออกไปตามที่กำหนดไว้

ยุคสมัยแห่งสังคมราษฎร์นิยม

[แก้]
พระนโรดม สีหนุ สมเด็จเอิว พระบิดาของชาติ, ประมุขแห่งรัฐ, พระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี

หลังการประชุมเจนีวาได้มีการเลือกตั้งขึ้นในประเทศกัมพูชาใน พ.ศ. 2498 โดยมีคณะกรรมการควบคุมนานาชาติเป็นผู้สังเกตการณ์เพื่อรับประกันความยุติธรรม พระนโรดม สีหนุได้ทรงตัดสินพระทัยลงเล่นการเมืองอย่างไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2498 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศสละราชสมบัติให้พระบิดาของพระองค์คือพระนโรดม สุรามฤตขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทนพระองค์ พระนโรดม สีหนุทรงเข้ามาเล่นการเมือง พระองค์ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นคือ พรรคสังคมราษฎร์นิยม (សង្គមរាស្ត្រនិយម) หรือเรียกสั้นๆว่าพรรคสังคม สมาชิกส่วนใหญ่เป็นฝ่ายขวา ซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยความรุนแรง แนวคิดที่โดดเด่นของพรรคคือ ชาตินิยมเขมร นิยมเจ้า ต่อต้านความอยุติธรรมและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ปกป้องพุทธศาสนา การเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2498 พรรคสังคมชนะการเลือกตั้งโดยได้ 83% ของที่นั่งทั้งหมดในสภา มากกว่าพรรคเขมรเอกราชของเซิง งอกทัญและกรมประชาชนของกลุ่มฝ่ายซ้าย

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2500 พระนโรดม สีหนุได้เชิญผู้นำพรรคประชาธิปไตยเข้าพบที่พระราชวังเป็นเวลา 5 ช.ม.หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของพระองค์ ในช่วงเวลาเดียวกัน กรมประชาชนได้เตรียมการณ์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 5 คนพระนโรดม สีหนุพยายามต่อต้านพรรคนี้ สถานีวิทยุแห่งชาติได้ออกประกาศว่ากรมประชาชนเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม มีการติดโปสเตอร์ต่อต้านกรมประชาชนโดยทั่วไป ทำให้ผู้สมัครของพรรค 4 คนถอนตัวไป ส่วนที่เหลืออีก 1 คนไม่ได้รับการเลือกตั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป องค์กรที่ต่อต้านระบอบของสีหนุถูกผลักดันให้กลายเป็นองค์กรใต้ดิน พรรคประชาธิปไตยถูกคว่ำบาตรเมื่อ พ.ศ. 2500 หลังจากที่หัวหน้าพรรคเข้าร่วมกับระบอบสังคม

พรรคสังคมไม่ได้เป็นองค์กรฝ่ายขวาโดยแท้จริง มีสมาชิกฝ่ายซ้ายจำนวนมากอยู่ในพรรคเพื่อถ่วงดุลกับฝ่ายขวาในจำนวนนี้ มีผู้นำของเขมรแดงคือฮู ยวนและฮู นิมเป็นรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2501 – 2506 และเขียว สัมพันเป็นเลขาธิการทางด้านการค้าเป็นเวลาสั้นๆใน พ.ศ. 2506 แต่พรรคที่เป็นเอกเทศของฝ่ายซ้ายกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2502 นพ โบพัน บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ประชาชนรายสัปดาห์ถูกยิงตายที่ด้านนอกสำนักงานด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใน พ.ศ. 2503 ประชาชนร่วมสองพันคนถูกส่งตัวไปอบรมด้วยข้อหาทางการเมือง ในปีเดียวกัน บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ l'Observateur ถูกทุบตีข้างถนน ถูกเปลื้องผ้าและถ่ายรูปประจานโดยกลุ่มตำรวจลับ บรรณาธิการได้ไปแจ้งความแต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจ อีกไม่กี่วันต่อมา หนังสือพิมพ์ l'Observateur และหนังสือพิมพ์อื่นที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันถูกสั่งปิด

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2505 ผู้นำฝ่ายซ้ายที่สำคัญคือตู สามุตถูกตำรวจจับกุมตัวขณะอยู่ที่ตลาด และถูกคุมขังไว้หลายวัน ก่อนจะถูกสังหารโดยนำไปถ่วงน้ำในบึงที่สตึงเมียนเจยในพนมเปญ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2506 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศชื่อของฝ่ายซ้ายจำนวน 34 คน ว่าเป็นพวกขี้ขลาด หลอกลวง ก่อวินาศกรรม หัวหน้ากบฏ และเป็นคนทรยศ และให้ตำรวจจับกุมคนเหล่านี้ เมื่อถูกจับ ทั้งหมดถูกส่งตัวเข้าพบพระนโรดม สีหนุและให้ลงนามรับรองว่าพระองค์เป็นประมุขรัฐ หลังจากนั้นจะถูกตำรวจจับตามองตลอดเวลา ผลที่ตามมาทำให้ขบวนการฝ่ายซ้ายต้องออกจากเมืองหลวงไปตั้งมั่นในชนบท

ใน พ.ศ. 2506 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศให้การธนาคาร การค้ากับต่างชาติและการประกันภัยเป็นของรัฐเพื่อลดอิทธิพลของต่างชาติในด้านเศรษฐกิจ ใน พ.ศ. 2507 ได้จัดตั้งบริษัทการค้าของรัฐคือสหกรณ์ส่งออก-นำเข้าแห่งชาติ เพื่อควบคุมการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เน้นชาตินิยมเขมรมากกว่านิยมจีนหรือเวียดนาม ทำให้การลงทุนจากต่างชาติหายไป หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2509 พรรคสังคมชนะการเลือกตั้ง ลน นลได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ฝ่ายขวามีอิทธิพลในพรรคและรัฐบาลมากขึ้น เมื่อลน นลประอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2510 ซอน ซานได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

พัฒนาการภายในประเทศ

[แก้]
สิน ศรีสมุทร

การสนับสนุนการศึกษา

[แก้]
กองทัพเขมรภูมินท์มีหน้าที่ต้องปกป้องครอบครัวของท่าน โฆษณาชวนเชื่อยุคสังคมราษฏรนิยมที่มีแนวคิดเชื้อชาตินิยมอย่างรุนแรง

หลังจากมีนโยบายดังกล่าวแล้วพระนโรดม สีหนุทรงสนับสนุนให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นในกัมพูชาจำนวนมาก ใน พ.ศ. 2508 ทรงให้จัดตั้งวางระบบมหาลัยวิทยาลัยของกัมพูชาขึ้นโดยยึดการจัดการของมหาวิทยาลัยในไทยเป็นแม่แบบ มีการตั้งมหาวิทยาลัยภูมินทร์วิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางทางด้านศิลปะ ในปีเดียวกันนี้ ในกัมพูชามีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาถึง 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยภูมินทร์วิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ มหาวิทยาลัยภูมินทร์กำปงจาม มหาวิทยาลัยภูมินทร์ตาแก้ว-กำปอต และมหาวิทยาลัยภูมินทร์ปัจเจกเทศ โดยทุกแห่งมีอธิการบดีเป็นชาวกัมพูชา และพยายามจัดการศึกษาเป็นของตัวเองโดยไม่ตามอย่างฝรั่งเศส [4]

สังคม

[แก้]

ดนตรี

[แก้]

หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว เจ้านโรดม สีหนุได้ทรงนำดนตรีมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับประเทศเกิดใหม่นี้ด้วยการให้การอุปถัมภ์นักดนตรีประจำราชสำนักหลายคนให้สร้างผลงานสไตล์ใหม่ ๆ เช่น สิน ศรีสมุทร ซึ่งเริ่มต้นอาชีพนักดนตรีหลวงด้วยการเป็นนักร้องแนวบัลลาดในพระราชวัง ก่อนจะเป็นที่รู้จักในฉายา ‘ราชาร็อกแอนด์โรลแห่งกัมพูชา’ ในปลายยุค ค.ศ. 1960 เจ้านโรดม สีหนุ นำเข้าดนตรีตะวันตกหลากหลายแนวสู่กัมพูชา ควบคู่กับการนำเข้ามาโดยชาวกัมพูชาที่ร่ำรวยซึ่งสำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศส ในยุคนั้นมีค่ายเพลงผุดขึ้นมากมายในกัมพูชา และมีไนต์คลับสำหรับการฟังดนตรี-เต้นรำอยู่ทั่วไปในกรุงพนมเปญ[5]

ในยุครุ่งเรืองของดนตรีกัมพูชาช่วงปี ค.ศ. 1960 – 1970 ซุปเปอร์สตาร์ฝ่ายชายที่โด่งดังที่สุดของประเทศในขณะนั้นคือ สิน ศรีสมุทร เจ้าของฉายา ‘ราชาร็อกแอนด์โรลแห่งกัมพูชา’ ส่วนซุปเปอร์สตาร์ฝ่ายหญิงของประเทศคือ รส สิริสุทธา เจ้าของฉายา ‘ราชินีเสียงทอง’[6]

นโยบายเชื้อชาติ

[แก้]

รัฐบาลราชอาณาจักรภายใต้การบริหารของพรรคสังคมราษฎร์นิยมได้มีนโยบายเชื้อชาตินิยมในระยะแยกหลังเกิดคดีปราสาทเขาพระวิหารได้มีการต่อต้านชาวไทยหรือคนที่มีเชื้อสายไทยสยามเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก พระนโรดมได้ประกาศให้ถือเชื้อสายชาวเขมรเป็นชาติพันธุ์บริสุทธิ์ ชาวไทยสยามจัดเป็นพลเมืองชั้นสอง โดยถูกห้ามเป็นเจ้าของกิจการ ห้ามแต่งงานกับชาวเขมร นโยบายดังกล่าวยังเป็นผลให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไทยสยามในจังหวัดเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ ซึ่งมีประชาการไทยสยามจำนวนมากอาศัยอยู่ในสมัยที่เคยตกเป็นของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนบริเวณจังหวัดเกาะกงมีการกวาดล้างครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดทำให้ชาวไทยเกาะกงจำนวนมากต้องเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว

นโยบายไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใด

[แก้]
โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดกำปงจาม สมัยสังคมราษฎรนิยม

นโยบายไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใดของพระนโรดม สีหนุเกิดขึ้นหลังจากการประชุมที่เจนีวา ก่อนหน้านี้ พระองค์เคยสนใจจะนำกัมพูชาเข้าร่วมกับซีโต้ ซึ่งต้องการรวมกัมพูชา ลาวและเวียดนามใต้เข้าในสนธิสัญญาด้วย แต่หลังจากการพบปะกับเยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียและอู นุ นายกรัฐมนตรีพม่า พระองค์จึงตัดสินใจใช้นโยบายไม่ฝักใฝ่กับฝ่ายใดและปฏิเสธการเข้าร่วมกับซีโต้ นอกจากนั้น พระนโรดม สีหนุยังไม่พอใจที่สหรัฐสนับสนุนไทยและเวียดนามใต้มากกว่ากัมพูชา

ในการประชุมบันดุง พ.ศ. 2498 พระนโรดม สีหนุได้พบปะกับโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนและฝั่ม วัน ดง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามเหนือ ทั้งสองประเทศให้การรับรองว่าจะเคารพเอกราชและอธิปไตยของกัมพูชา ประสบการณ์ที่พระองค์ต่อสู้กับฝรั่งเศส ทำให้พระองค์เห็นว่าสหรัฐเป็นเช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศในอินโดจีน และสนับสนุนการขยายอำนาจของไทยและเวียดนามใต้

ประเทศจีนสนับสนุนนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของกัมพูชาเพราะเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐเข้ามามีอิทธิพลเหนือกัมพูชา เมื่อโจว เอินไหลเดินทางไปพนมเปญใน พ.ศ. 2499 ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนประมาณ 300,000 คนให้เข้าร่วมในการพัฒนาชาติกัมพูชาและได้สิทธิเป็นพลเมืองกัมพูชา ความจงรักภักดีของชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนนี้เป็นจุดที่อ่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและกัมพูชา เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนและสหภาพโซเวียต พระนโรดม สีหนุเลือกเข้าข้างจีน ใน พ.ศ. 2498 พระนโรดม สีหนุเดินทางไปสหรัฐเพื่อเจรจาขอความช่วยเหลือทางทหาร มีการจัดตั้งที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐในพนมเปญ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการฝึกทหารและการใช้อาวุธที่ได้รับจากสหรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2503 ความช่วยเหลือจากสหรัฐคิดเป็นร้อยละ 30 ของงบประมาณทางทหารของกัมพูชา เนื่องจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐที่เป็นที่ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ทหารของกัมพูชา ทำให้พระนโรดม สีหนุระแวงว่าฝ่ายทหารที่นำโดยลน นลจะมีอำนาจมากเกินไป

ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับสหรัฐเกิดจากการที่สหรัฐและเวียดนามใต้ละเมิดอธิปไตยของกัมพูชา โดยข้ามแดนมาโจมตีทหารเวียดกงและทิ้งระเบิดในกัมพูชา นอกจากนั้น พระนโรดม สีหนุยังระแวงว่าสหรัฐจะโค่นล้มรัฐบาลของพระองค์เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ที่นิยมตะวันตกมากกว่า ดังที่ปรากฏใน พ.ศ. 2502 ที่มีการจับกลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดในแผนบางกอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ เช่น ซ็อม ซารี ผู้นำกองทหารเขมรเสรีฝ่ายขวาในเวียดนามใต้เซิง งอกทัญ นักชาตินิยมรุ่นแรกๆที่เคยลี้ภัยเข้ามาในไทย และดาบ ฌวน ผู้มีอิทธิพลในจังหวัดเสียมราฐ นอกจากนั้นยังกล่าวหาว่าดาบ ฌวนต้องการจัดตั้งรัฐอิสระที่ประกอบด้วยเสียมราฐ กำปงธมและบางส่วนของลาวใต้ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ผู้นำลาวฝ่ายขวา

พระนโรดม สีหนุมองว่ารัฐบาลเวียดนามใต้ไม่มีความมั่นคงและสุดท้ายเวียดนามเหนือจะชนะสงคราม ทำให้พระองค์ตัดสินใจสนับสนุนเวียดนามเหนือ นอกจากนั้น กัมพูชายังเป็นชาติแรกที่ยอมรับรัฐบาลของเวียดกงที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 ใน พ.ศ. 2508 พระนโรดม สีหนุได้เจรจากับจีนและเวียดนามเหนือ เมื่อเวียดนามเหนือและเวียดกงถูกบีบจนต้องย้ายฐานที่ตั้งเข้ามาในกัมพูชา พระนโรดม สีหนุอนุญาตให้เวียดกงเข้ามาได้ และยอมให้ใช้ท่าเรือขนส่งอาวุธและอุปกรณ์ทางทหารให้แก่เวียดกง ทำให้กัมพูชาเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนามมากขึ้น

ความขัดแย้งกัมพูชา-ไทย

[แก้]
กองทัพราชอาณาจักรกัมพูชาภายใต้สังคมราษฎรนิยม
กองทัพราชอาณาจักรกัมพูชาเข้าทำการปฏิบัติการใกล้พรมแดนประเทศไทย บริเวณจังหวัดตราด, จันทบุรีและสระแก้ว
ชายแดนไทยกัมพูชา

ปี พ.ศ. 2501 หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงเริ่มมีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา จนกระทั่งไทยและกัมพูชามีปัญหากระทบกระทั่งตามแนวชายแดนโดยเฉพาะปราสาทเขาพระวิหารที่เป็นคดีขึ้นสู่ศาลโลก ตลอดสมัยพระนโรดม สีหนุ ไทยและกัมพูชามีการประท้วงเกี่ยวกับการละเมิดเขตแดนกันบ่อยครั้งมาก จนในที่สุด พระนโรดม สีหนุจึงทรงตัดสินพระทัยฟ้องร้องนำคดีความปราสาทเขาพระวิหารสู่ศาลโลกเพื่อเรียกร้องเอาดินแดนพิพาทกับประเทศไทย เมื่อศาลโลกตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาถือเป็นความสำเร็จทางการทูตของกัมพูชาในช่วงยุคนี้ หลังจากนั้นพระนโรดม สีหนุจึงทรงเริ่มนโยบายแข็งกร้าวต่อประเทศไทย โดยเริ่มจัดการปัญหาชาวไทยเกาะกงอย่างโหดร้าย

ปัญหาพรมแดน

[แก้]

เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำสหราชอาณาจักร ซัม ซารี เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารลงในนิตยสาร กัมพูชาวันนี้ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า "ไทยอ้างสิทธิเหนือวิหารนี้ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดเอาพระวิหาร-อันเป็นการกระทำแบบฮิตเลอร์"[7] จากนั้นมาวิทยุและหนังสือพิมพ์ของกัมพูชาพาดพิงเรื่องสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารนี้อยู่เรื่อย ๆ จนเกิดกระแสทวงเขาพระวิหารคืนจากไทย[7] ประกอบกับพระนโรดม สีหนุ ได้ทรงปลุกกระแสชาตินิยมต่อต้านไทยทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาเลวร้ายลง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลไทยจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตจังหวัดที่มีพรมแดนใกล้กับกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดตราด, จันทบุรี, ปราจีนบุรี, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีใจความแถลงว่าได้มีโจรผู้ร้ายข้ามแดนเข้ามาทำร้ายร่างกาย ประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเหตุการณ์จึงตึงเครียดหนักขึ้น[8] ส่วนทางกัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในปีเดียวกันและได้มีการส่งกองทัพเข้ามาฝึกซ้อมรบประชิดชายแดนไทยเป็นระลอกๆ

กรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร

[แก้]

พระนโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้นได้ทรงตัดสินพระทัยนำประเด็นเขาพระวิหารฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 พระนโรดม สีหนุ ทรงมีบันทึกว่า ดินแดนทางขึ้นสู่ปราสาทพระวิหารนั้นไม่ได้เป็นของไทย หากแต่เป็นของกัมพูชาตามสนธิสัญญากับแผนที่ ฝรั่งเศส-สยาม ปี 1904 และ 1907 และทางขึ้นก็ยังหันเข้าสู่ประเทศกัมพูชาอีกด้วย

คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม หลังจากที่ศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ได้มีการเฉลิมฉลองทั่วทั้งราชอาณาจักรกัมพูชา มีการประกาศวันหยุดราชการ พ.ศ. 2506 สมเด็จเจ้าสีหนุ เสด็จขึ้นปราสาทพระวิหารเพื่อทำพิธีบวงสรวง ทางสะพานโบราณ (ช่องบันไดหัก) เมื่อทรงทราบว่ากัมพูชาชนะคดีปราสาทพระวิหาร[9]

หลังจากได้กัมพูชาได้อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารแล้วในช่วงปลายของราชอาณาจักรกัมพูชาสมัยสังคมราษฎรนิยมได้รับความนิยมจากประชาชนตกต่ำลง พระนโรดม สีหนุจึงทรงพยายามอ้างสิทธิเหนือปราสาทตาเมือนธม บริเวณจังหวัดสุรินทร์และปราสาทสด๊กก๊อกธม บริเวณจังหวัดสระแก้ว ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงซากปราสาทเท่านั้นเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนกลับคืนมา แต่ทว่าหลังจากเกิดรัฐประหารโดยจอมพลลอน นอลทำให้ทรงล้มเลิกการอ้างสิทธิดังกล่าวไป

การกวาดล้างชาวไทยเกาะกง

[แก้]

สืบเนื่องจากความขัดแย้งกับในจากกรณีปราสาทเขาพระวิหาร[10] ประกอบกับการที่พระนโรดม สีหนุน่าจะมีความระแวงไทยสูง[11] ในปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลกัมพูชาได้ออกกฎห้ามชาวเกาะกงพูดภาษาไทย ห้ามมีเงินไทย และห้ามมีหนังสือไทยไว้ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่ค้นพบจะถูกทำลายให้สิ้นซาก โดยเฉพาะหากพูดภาษาไทยจะถูกปรับคำละ 25 เรียล และเพิ่มขึ้นเป็น 50 เรียลในปีต่อมา[10][12]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 พระองค์ได้ประกาศว่า ทรงพบเอกสารคอมมิวนิสต์ที่เกาะกง โดยบางชิ้นเป็นภาษาไทย ทำให้พระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่าเขมรแดงได้รับคำสั่งจาก "นาย" ต่างประเทศ เพื่อปลุกระดมให้คนเขมรแปลกแยกจากสังคม [พรรคสังคมราษฎร์นิยม พรรคที่พระองค์จัดตั้งขึ้น] และพระองค์[11]

ความสัมพันธ์เมื่อครานั้นของไทยกับกัมพูชา ปรากฏในหนังสือชุด สามเกลอ-พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต ตอน "เขมรแหย่เสือ" ได้เขียนลงบทนำตอนหนึ่ง ความว่า[11]

"...คนไทยที่มีเชื้อชาติไทยสัญชาติเขมร และชาวเขมรในเกาะกง หรือจังหวัดใกล้เคียงกับจังหวัดตราดและจันทบุรี ถูกรัฐบาลเขมรกดขี่ข่มเหงรีดนาทาเร้นด้วยประการต่าง ๆ จึงอพยพเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อนโรดม สีหนุ ทราบข่าวนี้ ก็สั่งให้กองทัพเรือจับชาวประมงในน่านน้ำไทย ยึดเรือและนำตัวไปกักขังไว้ ปฏิบัติต่อคนไทยที่ถูกคุมขังอย่างโหดเหี้ยมทารุณราวกับสัตว์ป่า ชาวประมงหลายคนต้องเสียชีวิตเพราะถูกทารุณ เพราะอดอาหาร หรือเจ็บป่วยก็ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล..."

ในเหตุการณ์ช่วงนั้นจา เรียง อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งกัมพูชาได้ทำการบันทึกไว้ว่า ช่วงปี พ.ศ. 2509 มีชาวเกาะกงเชื้อสายไทยถูกสังหารไปราว 160 คน[11] ส่วนจรัญ โยบรรยงค์ ที่ได้รวบรวมบันทึกของชาวเกาะกงเชื้อสายไทย และนำมาเขียนเป็นหนังสือ "รัฐบาลทมิฬ" ได้อ้างอิงคำพูดของลอน นอล เมื่อครั้งทำงานใกล้ชิดกับสีหนุ และเดินทางมาประชุมที่เกาะกงความว่า "...คนไทยเกาะกง แม้ว่าจะสูญหายตายจากไปสักห้าพันคน ก็ไม่ทำให้แผ่นดินเขมรเอียง"[13] ผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ครั้งนี้คือมีคนเชื้อสายไทยจำนวนมากอพยพออกจากเกาะกงไปจังหวัดตราดของไทย[14] และเกิดปัญหาสถานะบุคคลจนถึงปัจจุบัน[15][16]

นโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

[แก้]
พระนโรดม สีหนุ และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ในปี ค.ศ. 1959 ขณะทรงเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน

พระนโรดม สีหนุได้ประกาศนโยบายเป็นกลางตั้งแต่ก่อนได้รับเอกราชเมื่อได้รับเอกราชแล้วได้ลาออกจากสหภาพฝรั่งเศส ปฏิเสธการต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามนโยบายของสหรัฐแต่ก็รับความช่วยเหลือจากสหรัฐ กัมพูชาพยายามเป็นมิตรกับทุกฝ่ายและแสวงหาพันธมิตรจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน พร้อมกันนั้น กัมพูชาได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น สหภาพโซเวียตและจีนด้วย ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 รัฐสภากัมพูชาได้ผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลาง

กัมพูชา-สหรัฐอเมริกา

[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐไม่ได้ราบรื่นมากนักเพราะกัมพูชารู้สึกว่าสหรัฐให้ความช่วยเหลือไทยกับเวียดนามใต้ที่เป็นศัตรูของกัมพูชามกกว่า ใน พ.ศ. 2506 สีหนุได้ประกาศไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากสหรัฐ โดยกล่าวว่า สหรัฐให้การสนับสนุนเขมรเสรีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล กัมพูชาเรียกร้องให้สหรัฐรับรองความเป็นกลางของกัมพูชา ชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการโจมตีของสหรัฐและเวียดนามใต้ จากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐเกิดความตึงเครียดจนเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2513

กัมพูชา-สหภาพโซเวียต

[แก้]

กัมพูชาสถาปนาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและรับความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีตั้งแต่ พ.ศ. 2500 อย่างไรก็ตาม หลังจาก พ.ศ. 2506 เมื่อจีนขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต และกัมพูชาเลือกเข้าข้างจีน ทำให้ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตตึงเครียด ใน พ.ศ. 2508 กัมพูชาวิจารณ์โซเวียตเรื่องนโยบายในเวียดนาม ทำให้โซเวียตไม่พอใจมาก แต่ในช่วงปลายปีนั้น โซเวียตได้พยายามปรับความสัมพันธ์ให้เข้าสู่ระดับปกติ จนสิ้นสุดสมัยของพระนโรดม สีหนุ

กัมพูชา-จีน

[แก้]
พระนโรดม สีหนุ และ เหมา เจ๋อตง ในปี ค.ศ. 1956 ขณะทรงเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กรุงปักกิ่ง

จีนและกัมพูชาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2501 และมีความแน่นแฟ้นเป็นพิเศษ จุดที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างกัมพูชากับจีนมีเพียงเรื่องชาวจีนในกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาระแวงว่าจะนำลัทธิคอมมิวนิสต์มาเผยแพร่ในกัมพูชา เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2510 พระนโรดม สีหนุสั่งยุบสมาคมมิตรภาพกัมพูชา-จีน ทำให้จีนไม่พอใจ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้ฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2512

กัมพูชา-เวียดนามใต้

[แก้]

กัมพูชากับเวียดนามใต้มีปัญหาขัดแย้งทางด้านพรมแดนในบริเวณกัมโพต มีโมดและลัมพัต และอธิปไตยเหนือเกาะในอ่าวไทยอีก 2-3 เกาะ นอกจากนั้น ยังมีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากสงครามเวียดนาม คือมีผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามล้ำแดนเข้ามาเป็นจำนวนมากและการที่เวียดนามใต้ล้ำแดนเข้ามาโจมตีเวียดกงในดินแดนกัมพูชา ในที่สุดกัมพูชาหันไปผูกมิตรกับเวียดนามเหนือและรับรองรัฐบาลปฏิวัติชั่วคราวแห่งเวียดนามใต้

สื่อวิดิโอ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • นภดล ชาติประเสริฐ. เจ้านโรดม สีหนุกับนโยบายความเป็นกลางของกัมพูชา. สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย. 2540
  1. "Vietnam, Laos, Cambodia. India, Pakistan, Nepal, Ceylon. Pergamon World Atlas. – David Rumsey Historical Map Collection". davidrumsey.com.
  2. www.nationalanthems.info
  3. Moorthy, Beth. "11.4m Cambodians counted by census | Phnom Penh Post". www.phnompenhpost.com.
  4. ธิบดี บัวคำศรี. ประวัติศาสตร์กัมพูชา.พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. เมืองโบราณ. 2555
  5. Piyakul Phusri (17 เมษายน 2561). "Saving the seven symbols". They Sang Before They Were Killed เรื่องราวบางเสี้ยวของบทเพลงกัมพูชายุคก่อนเขมรแดง. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. Piyakul Phusri (17 เมษายน 2561). "Saving the seven symbols". They Sang Before They Were Killed เรื่องราวบางเสี้ยวของบทเพลงกัมพูชายุคก่อนเขมรแดง. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 นิตยสาร สารคดี ปีที่ 24 ฉบับที่ 282 สิงหาคม 2551
  8. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2501/A/060/1.PDF
  9. พระนโรดม สีหนุเสด็จปราสาทเขาพระวิหาร (ภาษาเขมร) ที่ยูทูบ
  10. 10.0 10.1 รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ:บ้านพระอาทิตย์, 2551, หน้า 87
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ:บ้านพระอาทิตย์, 2551, หน้า 89
  12. นิติภูมิ นวรัตน์. เขตร์เขมรัฐภูมินทร์. ในเปิดฟ้าส่องโลก, 17 สิงหาคม 2543. เรียกดูเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556
  13. จรัญ โยบรรยงค์. รัฐบาลทมิฬ. กรุงเทพฯ:จิตติกานต์, 2528, หน้า 122
  14. "เส้นทางคืนสัญชาติ (1) ไทยพลัดถิ่น เรื่องราวแสนยาวไกล!" (Press release). เดลินิวส์. 30 เมษายน 2555. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2556. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. ปัญหาความไร้รัฐของคนเชื้อชาติไทยจากเกาะกง โดยอาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล และคุณภิญโญ วีระสุขสวัสดิ์ (๒). เรียกดูเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556
  16. "ผู้อพยพเชื้อสายไทย จ.เกาะกง : เรื่องเล่าบนเส้นทาง พ.ร.บ.สัญชาติ" (Press release). อิศรา. 21 มิถุนายน 2555. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2556. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)