วรรณคดีกัมพูชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพสลักเรื่อนางติโลตตมา อสูรสุนทะและอุปสุนทะที่ปราสาทบันทายศรี

วรรณคดีของกัมพูชามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและแบ่งเป็นสองระนาบเช่นเดียวกับวรรณคดีในประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือแบ่งเป็นวรรณคดีลายลักษณ์ ส่วนใหญ่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในชนชั้นสูงและพระสงฆ์ กับวรรณกรรมมุขปาฐะ ส่วนใหญ่เป็นเพลงพื้นบ้าน ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา และวรรณคดีอินเดีย เช่น รามายณะและมหาภารตะ

ศิลาจารึก[แก้]

วรรณกรรมภาษาเขมรในยุคแรกๆ ปรากฏในรูปศิลาจารึก ปรากฏตั้งแต่สมัยฟูนัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวทางศาสนา เช่น คำอุทิศต่างๆ และกิจการในพระราชวัง

เอกสารทางพุทธศาสนา[แก้]

เอกสารภาษาเขมรที่เก่า ส่วนใหญ่จะเป็นพระไตรปิฎก และคัมภีร์ที่แปลจากภาษาบาลี จารด้วยอักษรเขมรลงบนใบลาน

รามเกียรติ์[แก้]

รามเกียรติ์หรือเรียมเกอร์เป็นรามายณะในรูปภาษาเขมร เพื่อนำมาใช้ในการแสดงละครของกัมพูชา ระบำสุวรรณมัจฉาซึ่งเป็นนาฏศิลป์คลาสสิกแบบหนึ่งของกัมพูชาอาศัยเค้าเรื่องของรามเกียรติ์ตอนหนุมานไปจับนางสุวรรณมัจฉา

วรรณกรรมราชสำนัก[แก้]

พระธรรมราชาที่ 2 (พ.ศ. 2172 – 2177) เป็นกวีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง นักองค์ด้วง (พ.ศ. 2384 – 2403) เป็นกวีที่มีชื่อเสียงเช่นกัน โดยได้เขียนเรื่อง กากี (กาเก็ย) และพุทธเสนนางกังรี (ปุทิเสน เนียงก็องเร็ย) ที่ได้แรงบันดาลใจจากนิทานชาดก

เรื่องเล่าที่เป็นที่นิยม[แก้]

ภาพวาดจากเรื่องวรวงศ์และสรวงศ์สมัยพุทธศตวรรษที่ 24

เรื่องเล่าที่เป็นที่นิยมในกัมพูชาส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เช่น รามายณะ มหาภารตะ และนิทานชาดกของพุทธศาสนา และได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมไทยมาก ตัวอย่างเรื่องที่เป็นที่นิยมคือพระวรวงศ์และสรวงศ์ ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าชายเขมรสององค์ที่ถูกขัไล่แล้วกลับคืนสถานะเดิมของตนได้ เรื่องนี้ต่อมาได้นำไปสร้างเป็นบัลเลต์หลวงของกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2549[1]

ตุมเตียวเป็นนิยายรักคลาสสิกในจังหวัดกำปงจามที่เป็นที่รู้จักไปทั้งประเทศเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 โดยมีต้นกำเนิดมาจากบทกวีในสมัยพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 ในปัจจุบัน ตุมเตียวได้กลายเป็นวรรณคดี ละคร และภาพยนตร์ในกัมพูชา แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดย Étienne Aymonier เมื่อ พ.ศ. 2423 ตุมเตียวเป็นที่นิมในต่างประเทศ เมื่อ George Chigas นำต้นฉบับของพระปทุมเถระโสมไปแปล[2]

ประเภท[แก้]

วรรณกรรมกัมพูชาแบ่งเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้[3]

  • คัมภีร์ เป็นเอกสารเกี่ยวกับคำสอน ประวัติศาสตร์และความรู้ทั่วไป ได้แก่ พระไตรปิฏก ชาดก รบากษัตริย์ พระราชพงศาวดาร
  • กรม เป็นเอกสารเกี่ยวกับระเบียบพิธีการต่างๆ ปัจจุบันส่วนใหญ่เก็บรักษาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เช่นกรมกบฏศึก กรมโจรกรรม
  • กบวนหรือตำรา เป็นเอกสารบันทึกองค์ความรู้ต่างๆ เช่น กบวนยา กบวนโหร
  • ประเดาหรือสุภาษิต เป็นสำนวนสั้นๆ จารึกไว้ในใบลาน มีลักษณะค้ายคำร้อยกรองเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ
  • จบับ มาจากคำว่าจับตรงกับภาษาไทยว่าแบบฉบับเป็นเอกสารกล่าวถึงแบบแผนในการดำเนินชีวิต
  • นิทาน เป็นเรื่องเล่าประเภทต่างๆ พุทธศาสนบัณฑิตได้จัดพิมพ์เพื่อรวบรวมไว้ในเรื่องประชุมเรื่องเพรงเขมรหรือประชุมนิทานเขมร มีถึง 8 ภาค
  • แลบง เป็นคำร้อยกรองที่แต่งเป็นเรื่องต่างๆโดยอาศัยเรื่องจากพระไตรปิฎกหรือนิทานชาดก เช่นเรื่องขยองสังข์หรือหอยสังข์ ซึ่งตรงกับเรื่องสังข์ทองในภาษาไทย และเรื่องอื่นๆ เช่น พุทธิเสน กรุงศุภมิต พระสุธน วรเนตรวรนุช เป็นต้น นิยมแต่งด้วยบทกากคติ
  • วีรกถา เป็นร้อยกรองที่แต่งขึ้นเพื่อการสักการบูชา เช่น เลบิกนครวัด เล่าถึงการสร้างนครวัด แต่งด้วยคำประพันธ์แบบบทพรหมคีติ เลบิกรามเกียรติ์เป็นการสรรเสริญเกียรติยศของพระรามเป็นต้น

การพิมพ์[แก้]

บาทหลวงเกด็อง ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ริเริ่มการพิมพ์ภาษาเขมรขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่เป็นเอกสารของทางราชการ ยังไม่ได้เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป ต่อมาจึงตั้งโรงพิมพ์ภาษาเขมรในฮ่องกง และมาตั้งในพนมเปญในที่สุด หนังสือภาษาเขมรที่พิมพ์ในพนมเปญเรื่องแรกคือ บัณดำตาเมียส เป็นเอกสารที่สนับสนุนการปกครองของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม การพิมพ์เอกสารทางพุทธศาสนาในช่วงแรกๆถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษนิยม ใน พ.ศ. 2461 สมเด็จพระสังฆราช ฮวด ตาดและสมเด็จจวน นาต ได้พิมพ์พระธรรมวินัยก็ถูกต่อต้านจากกระทรวงธรรมการ และหนังสือถูกนำไปเผาทิ้ง[3] ก่อนที่จะได้รับการยอมรับในเวลาต่อมา

อิทธิพลจากวรรณกรรมต่างชาติ[แก้]

  • ฝรั่งเศส วรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสคือการเขียนเอกสารในรูปร้อยแก้วแทนการเขียนแบบร้อยกรองตามขนบเดิม และการแต่งเลบิกเป็นเรื่องสั้นๆ เลียนแบบจากเรื่องปัญจตันตระและหิโตปเทศ
  • จีน วรรณกรรมกัมพูชาที่แปลจากวรรณกรรมจีนมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ได้รับโดยผ่านฉบับภาษาไทย เช่นเรื่อง นางเจียวกุน ส่ายฮั่น (ไซ่ฮั่น) เล่าถึงการก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น และสามก๊ก
  • ไทย วรรณกรรมไทยและวรรณกรรมเขมรมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะด้านโครงเรื่องต่างๆ แม้แต่ในวรรณกรรมสมัยใหม่ เช่นกุหลาบไพลิน
  • เวียดนามและลาว ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลมากในช่วง พ.ศ. 2523 – 2534 ซึ่งเป็นช่วงที่ปกครองในระบอบสังคมนิยมเช่นเดียวกัน วรรณกรรมที่แปลจากภาษาลาว เช่น บุปผานุวงศ์ กองวระเสนาใหญ่ จำปาแดง เพลิงปฏิวัติเผาไหม้ ที่แปลจากภาษาเวียดนามเช่น ขัญวิญ ควกทวน เหือนวิลวิญ เป็นต้น

วรรณกรรมสมัยใหม่[แก้]

การเข้ามาของฝรั่งเศสทำให้มีการตั้งคำถามใหม่ในวรรณกรรมกัมพูชา การพิมพ์ภาษาเขมรเกิดขึ้นในพนมเปญเมื่อ พ.ศ. 2451 โดยหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์เป็นภาษาเขมรคือคำสั่งตาเมียส ซึ่งเป็นวรรณกรรมชวนเชื่อให้นิยมฝรั่งเศส ผลจากการศึกษาแบบใหม่ในกัมพูชาทำให้มีการเขียนนวนิยายภาษาเขมร แต่ก็ยังมีอิทธิพลจากอินเดียและไทยอยู่ ตัวอย่างเช่น ตุมเตียวของพระปทุมเถระ (โสม) พิมพาพิลาปของคุณหญิงสิทธิ และเตียวแอกโดยนู กอน[4]

ยุคเขมรแดงและหลังจากนั้น[แก้]

ในยุคกัมพูชาประชาธิปไตย พ.ศ. 2518 – 2520 ปัญญาชนส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ออกไปสู่ชนบท บ้างถูกฆ่าเพราะมีภูมิหลังเป็นปัญญาชน.[5] หรือไม่ก็หลบหนีออกนอกประเทศ วรรณกรรมพื้นบ้านถูกทำลายล้าง[6] เมื่อ พล พตพ่ายแพ้และมีการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาขึ้นแทน ได้มีการฟื้นฟูพุทธศาสนาและวรรณกรรมขึ้นใหม่ แต่การฟื้นฟูวรรณกรรมก็ต้องอยู่ภายใต้แนวคิดสังคมนิยม นิยมโซเวียตและนิยมเวียดนามจนกระทั่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของรัฐกัมพูชา[7]

ปัจจุบัน[แก้]

มีการจัดตั้งสมาคมนักเขียนเขมรขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2536.[8] หลังจากถูกยุบเลิกในสมัยเขมรแดง นักเขียนกัมพูชารุ่นใหม่พยายามก้าวสู่ระดับนานาชาติ และมีการมอบรางวัลซีไรต์ให้นักเขียนด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. "Les Nuits d'Angkor". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-14. สืบค้นเมื่อ 2012-09-19.
  2. Documentation Center of Cambodia - Tum Teav: A Translation and Analysis of a Cambodian Literary Classic
  3. 3.0 3.1 บัญญัติ สาลี. วรรณกรรมเขมรปัจจุบัน. มหาสารคาม. อภิชาตการพิมพ์. 2551
  4. Larousse - Literature du Cambodge
  5. David P. Chandler, A history of Cambodia, Westview Press; Allen & Unwin, Boulder, Sydney, 1992
  6. Michael Vickery, Cambodia 1975-1982, ISB 13 978-9747100815
  7. Soizick Crochet, Le Cambodge, Karthala, Paris 1997, ISBN 2-86537-722-9
  8. Cambodian literature today

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

หนังสือและเอกสาร[แก้]

เว็บไซต์[แก้]