ข้ามไปเนื้อหา

พรรคฟุนซินเปก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
FUNCINPEC
ហ្វ៊ុនស៊ិនប៉ិច
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
หัวหน้าแก้ว พุทธรัศมี
คำขวัญ"ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
ก่อตั้ง21 มีนาคม พ.ศ. 2524
ก่อนหน้าพรรคสังคมราษฎรนิยม
ที่ทำการ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 6A, ราชธานีพนมเปญ, พระราชอาณาจักรกัมพูชา
อุดมการณ์อนุรักษนิยม
สีหนุนิยม
กษัตริย์นิยม
จุดยืนกลาง-ขวา
กลุ่มระดับสากลองค์การประชาธิปไตยสายกลางนานาชาติ
สี  สีเหลือง
ที่นั่งรัฐสภาในพระราชอาณาจักร
0 / 125
ที่นั่งพฤฒสภาในพระราชอาณาจักร
2 / 62
สภาท้องถิ่นในพระราชอาณาจักร
28 / 11,572
เว็บไซต์
เว็บไซต์ทางการ
การเมืองกัมพูชา
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคฟุนซินเปก (อักษรโรมัน: FUNCINPEC; เขมร: គណបក្ស ហ្វ៊ុនស៊ិនប៉ិច คณปกฺส หฺวุ̃นซินปิจ) เป็นพรรคการเมืองนิยมเจ้าในกัมพูชา โดยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2536 จนถึง พ.ศ. 2541 หลังจากนั้น ความสำคัญของพรรคลดลง คำว่าฟุนซินเปกเป็นคำย่อจากภาษาฝรั่งเศส Front Uni National pour un Cambodge Indépendant, Neutre, Pacifique, et Coopératif หมายถึง “แนวร่วมเอกภาพแห่งชาติกัมพูชาที่เป็นเอกราช เป็นกลาง สงบสุขและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”

ภูมิหลัง

[แก้]

พรรคนี้มีรากฐานมาจากพระนโรดม สีหนุ ที่เคยเป็นผู้นำในการเรียกร้องเอกราชของกัมพูชา และยังเคยเป็นพระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศ ระหว่างพ.ศ. 2498 – 2513 ภายใต้ระบอบสังคม พระนโรดม สีหนุพ้นจากอำนาจหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2513 โดยพระญาติของพระองค์คือ พระสีสุวัตถิ์ สิริมตะและกลุ่มผู้นิยมฝ่ายขวาคือนายพลลน นล ซึ่งได้ร่วมมือกันก่อตั้งสาธารณรัฐเขมร พระนโรดม สีหนุทรงลี้ภัยไปปักกิ่งและจัดตั้งรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่น ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่จีนสนับสนุน (ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อเขมรแดง)

หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมือง พ.ศ. 2518 และก่อตั้งกัมพูชาประชาธิปไตย พระนโรดม สีหนุถูกกักตัวในบ้านพักรับรอง กลุ่มผู้สนับสนุนพระองค์ถูกกีดกันออกจากอำนาจหรือถูกกวาดล้าง หลังจากที่เขมรแดงถูกกลุ่มที่มีกองทัพเวียดนามหนุนหลังโค่นล้มเมื่อต้นปี พ.ศ. 2522 พระนโรดม สีหนุทรงลี้ภัยออกจากกัมพูชา และทรงกล่าวถึงเขมรแดงว่า “แม้จะมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ก็เป็นรัฐบาลที่ถูกกฎหมายหนึ่งเดียวของกัมพูชา ซึ่งเกิดจากกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านสหรัฐและลน นล”[1] ส่วนเขมรแดงได้ขอให้พระนโรดม สีหนุมาเป็นผู้นำอีกครั้งเพื่อสร้างภาพพจน์ในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม พระนโรดม สีหนุได้ประกาศแยกตัวจากฝ่ายคอมมิวนิสต์และประณามว่าเป็นฆาตกร[2]

มูลินากา

[แก้]

ก่อน พ.ศ. 2522 มีกลุ่มผู้อพยพจำนวนมากเข้ามาสู่ค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย รวมทั้งกลุ่มที่เป็นเคยเป็นทหารของฝ่ายสาธารณรัฐและฝ่ายนิยมเจ้า กลุ่มที่เป็นสมาชิกกองทัพแห่งชาติเขมรที่เคยนำโดยพระนโรดม จันทรังสี และโจรผู้ร้ายที่ได้ประโยชน์จากความวุ่นวาย ต่อมา ใน พ.ศ. 2522 กลุ่มเขมรแดงที่พ่ายแพ้ได้อพยพมายังแนวชายแดนไทยเพิ่มขึ้น

ซอน ซานและอดีตนายทหารที่เคยสังกัดกองทัพแห่งชาติเขมรคือนายพลเดียน เดลได้จัดตั้วแนวร่วมเพื่อต่อสู้กับเวียดนามซึ่งต่อมากลายเป็นแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์และนิยมสาธารณรัฐ ในอีกด้านหนึ่ง อดีตทหาร 2 คนคือกัปตันกอง ซิเลียะห์และทหารพลร่ม พันเอกเนม โสภณ ได้จัดตั้งองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร โดยใช้ชื่อว่าขบวนการเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติกัมพูชาหรือเรียกด้วยชื่อย่อว่ามูลินากา (MOULINAKA มาจากภาษาฝรั่งเศส Mouvement de Liberation National du Kampuchea) เมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2522[3] ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านกลุ่มแรกที่จงรักภักดีต่อพระนโรดม สีหนุ เนม โสภณได้ลอบเข้าสู่กัมพูชาอย่างลับ ๆ เพื่อสนับสนุนกลุ่มนิยมเจ้า และถูกทหารเวียดนามจับกุม แต่หนีออกมาได้ใน พ.ศ. 2523 และขึ้นเป็นผู้นำของมูลินากาหลังจากที่กอง ซิเลียะห์เสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียเมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2523

การก่อตั้งฟุนซินเปกและกองทัพเจ้าสีหนุ

[แก้]

พระนโรดม สีหนุได้จัดตั้งพรรคฟุนซินเปกขึ้นที่ปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชาลี้ภัย[3] พรรคฟุนซินเปกได้รับการสนับสนุนจากอาเซียนในฐานะขบวนการต่อต้านเวียดนามซึ่งร่วมมืออย่างหลวมๆกับกลุ่มเขมรแดงที่ยังครองอำนาจอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชาและแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมรที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและชาติตะวันตก และได้ร่วมมือกับอิน ตัมจัดตั้งกองทัพเจ้าสีหนุซึ่งมีขุมกำลังหลักมาจากกลุ่มมูลินากาและกลุ่มเล็ก ๆ อื่นที่นิยมเจ้า

แนวร่วมเขมรสามฝ่าย

[แก้]

ตลอดปี พ.ศ. 2525 ได้ให้ความช่วยเหลือแก่กองทัพเจ้าสีหนุและแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมรผ่านทางสิงคโปร์[3] กองทัพของเขมรแดงได้รับความช่วยเหลือจากจีน แต่กลุ่มที่มีเวียดนามหนุนหลังยังคงได้รับชัยชนะในการกวาดล้างทั้งสามกลุ่ม ทำให้อาเซียนเข้ามากดดันให้แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร เขมรแดงและฟุนซินเปกรวมกลุ่มเข้าด้วยกัน เกิดเป็นแนวร่วมเขมรสามฝ่าย ซึ่งมีการลงนามที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 โดยพระนโรดม สีหนุ ตัวแทนจากฟุนซินเปกเป็นประธานาธิบดี เขียว สัมพัน ตัวแทนจากเขมรแดงเป็นรองประธานาธิบดี และซอน ซาน ตัวแทนแนวร่วมปลดปล่อยฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา เกิดความขัดแย้งระหว่างพระนโรดม สีหนุกับอิน ตัม ทำให้อิน ตัมถอนตัวออกไป พระนโรดม รณฤทธิ์ พระโอรสของพระนโรดม สีหนุ เข้ามาควบคุมกองทัพเจ้าสีหนุแทน ในช่วงนี้ กองทัพเจ้าสีหนุจัดเป็นกองทหารที่มีขนาดเล็กที่สุดในแนวร่วมเขมรสามฝ่าย

พ.ศ. 2523 – 2532

[แก้]

ก่อน พ.ศ. 2532 ที่เริ่มมีการถอนทหารเวียดนามออกจากกัมพูชา กองกำลังแนวร่วมปลดปล่อยฯของซอน ซานและกองทัพเจ้าสีหนุได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเงิน การทหารและทางเทคนิคจากสหรัฐเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตและเวียดนามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกัมพูชา ฟุนซินเปกและเขมรแดงยังได้รับความช่วยเหลือจากจีนด้วย แนวร่วมปลดปล่อยฯ เริ่มอ่อนแอลงใน พ.ศ. 2529 ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างซอน ซานกับฝ่ายกองทัพที่นำโดยนายพลสัก สุตสคัน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเลือกของสหรัฐในการขึ้นเป็นผู้นำ การแตกแยกทำให้ทหารในกองทัพลดจำนวนลง ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นผลดีต่อฟุนซินเปกและกองทัพเจ้าสีหนุโดยการทำให้สถานะของกลุ่มโดดเด่นขึ้น เขมรแดงได้ขยายฐานที่มั่นจากเทือกเขาบรรทัดไปยังพนมมาลัยตามแนวชายแดนไทย และมีความร่วมมือระหว่างกองทัพเจ้าสีหนุกับเขมรแดงในการโจมตีจังหวัดพระตะบอง[4]

หลังข้อตกลงสันติภาพ พ.ศ. 2534

[แก้]

หลังจากการถอนทหารเวียดนามทั้งหมดออกจากกัมพูชาและพระนโรดม รณฤทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับฮุน เซนระหว่าง พ.ศ. 2536 – 2540 และเป็นผู้นำพรรคจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 จึงเปลี่ยนเป็นผู้นำพรรคคนปัจจุบันคือ แก้ว พุทธรัศมี ส่วนพระนโรดม สีหนุทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์กัมพูชาอีกครั้งใน พ.ศ. 2535 แม้ว่าพรรคฟุนซินเปกจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุด แต่ก็มีปัญหาความแตกแยกภายในที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ระหว่างพระนโรดม รณฤทธิ์ พระนโรดม สิริวุฒิ และพระสีสุวัตถิ์ สิริรัฐ (พระโอรสของพระสีสุวัตถิ์ สิริมตะ) เกี่ยวกับปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ปัญหาเกี่ยวกับเวียดนามและเขมรแดง ปัญหาการปฏิรูปที่ดิน และอื่น ๆ ใน พ.ศ. 2540 เกิดการรัฐประหารที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างพระนโรดม รณฤทธิ์กับฮุน เซน โดยมีเขมรแดงหนุนหลังพรรคฟุนซินเปก ส่งผลให้พระนโรดม รณฤทธิ์ต้องลี้ภัยไปฝรั่งเศส

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 พรรคฟุนซินเปกได้ 43 ที่นั่งจากทั้งหมด 123 ที่นั่ง เป็นลำดับสองรองจากพรรคประชาชนกัมพูชา ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2546 คะแนนเสียงของพรรคฟุนซินเปกลดลงได้เพียง 26 ที่นั่ง ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2549 พรรคฟุนซินเปกได้ 12 ที่นั่งจากทั้งหมด 61 ที่นั่ง หลังจากพระนโรดม รณฤทธิ์แยกออกไปจัดตั้งพรรคของตนเองคือพรรคนโรดม รณฤทธิ์ ปรากฏว่าทั้งสองพรรคพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2551 ได้เพียง 2 ที่นั่ง พรรคประชาชนกัมพูชาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย พรรคสม รังสีกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก แม้แต่พรรคใหม่อย่างพรรคสิทธิมนุษยชนก็ได้คะแนนเสียงมากกว่าพรรคฟุนซินเปก ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2555 พรรคฟุนซินเปกได้ 10 ที่นั่ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Shawcross, W. Sideshow:Kissinger, Nixon and the Destruction of Cambodia, Simon & Schuster, 1979, p.391
  2. Coalition Government of Democratic Kampuchea, Library of Congress Country Studies
  3. 3.0 3.1 3.2 Corfield, J. A History of the Cambodian Non-Communist Resistance 1975-1983 เก็บถาวร 2009-04-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Monash University, 1991, p. 8. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "corfield" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  4. Radu, M. The New insurgencies: anticommunist guerrillas in the Third World, 1990, p.220

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]