ข้ามไปเนื้อหา

จักรวรรดิซาเซเนียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรวรรดิซาเซเนียน

ساسانیان
ค.ศ. 224–ค.ศ. 651
ธงชาติจักรวรรดิซาเซเนียน
ธงชาติ
จักรวรรดิซาเซเนียนในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดในรัชสมัยของคอสเราที่ 2 (Khosrau II)
จักรวรรดิซาเซเนียนในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดในรัชสมัยของคอสเราที่ 2 (Khosrau II)
สถานะจักรวรรดิ
เมืองหลวงFirouzabad (แรก)
Ctesiphon
ภาษาทั่วไปภาษาเปอร์เชียกลาง
ศาสนา
โซโรอัสเตอร์ (ทางการ), ศาสนายูดาห์, ศาสนาคริสต์, ศาสนาพุทธ และ ฮินดู
การปกครองราชาธิปไตย
ชาห์แห่งชาห์ 
• ค.ศ. 224-241
อาร์ดาเชอร์ที่ 1
• ค.ศ. 632-651
ยาซเดเกิร์ดที่ 3
ยุคประวัติศาสตร์ยุคโบราณ
• ก่อตั้ง
ค.ศ. 224
• ชาวอาหรับรุกราน
ค.ศ. 651 ค.ศ. 651
พื้นที่
ค.ศ. 5507,400,000 ตารางกิโลเมตร (2,900,000 ตารางไมล์)
ก่อนหน้า
ถัดไป
จักรวรรดิพาร์เธีย
รัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดีน
ประวัติศาสตร์อิหร่านแผ่นดินใหญ่
Faravahar background
กษัตริย์แห่งเปอร์เชีย
ก่อนยุคใหม่
หลัง อิสลาม
อาณาจักรกาหลิป 637–651
จักรวรรดิอุมัยยะฮ์ 661–750
จักรวรรดิอับบาซียะฮ์ 750–1258
จักรวรรดิทาฮิริยะห์ 821–873
ราชวงศ์อาลาวิยะห์ 864–928
จักรวรรดิซัฟฟาริยะห์ 861–1003
จักรวรรดิซามานิยะห์ 819–999
จักรวรรดิไซยาริยะห์ 928–1043
จักรวรรดิไบอิยะห์ 934–1055
จักรวรรดิกาสนาวิยะห์ 975–1187
จักรวรรดิกอร์ 1149–1212
จักรวรรดิเซลจุค 1037–1194
จักรวรรดิควาเรซเมีย 1077–1231
ราชวงศ์คาร์ติยะห์ 1231-1389
จักรวรรดิข่านอิล 1256–1353
ราชวงศ์มุซาฟฟาริยะห์ 1314–1393
ราชวงศ์จุพานิยะห์ 1337–1357
ราชวงศ์จาไลยิริยะห์ 1339–1432
ราชวงศ์เตมือร์ 1370–1506
คารา โคยันลู เตอร์โคมันส์ 1407–1468
อัค โคยันลู เตอร์โคมันส์ 1378–1508
จักรวรรดิซาฟาวิยะห์ 1501–1722*
จักรวรรดิโมกุล 1526–1857
ราชวงศ์โฮทาคิ 1722–1738
จักรวรรดิอาฟชาริยะห์ 1736–1750
* หรือ 1736
ยุคใหม่

จักรวรรดิซาเซเนียน (เปอร์เซีย: ساسانیان, อังกฤษ: Sasanian Empire) เป็นจักรวรรดิเปอร์เชียจักรวรรดิสุดท้ายก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาเป็นมหาอำนาจในเอเชียตะวันตกเป็นเวลากว่าสี่ร้อยปี[2] อาร์ดาเชอร์ที่ 1 ทรงก่อตั้งราชวงศ์ซาเซเนียนหลังจากที่ทรงชนะอาร์ตาบานัสที่ 4 จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิพาร์เธียน และมาสิ้นสุดลงเมื่อยาซเดเกิร์ดที่ 3 (Yazdegerd III) มาพ่ายแพ้หลังจากที่ทรงใช้เวลาถึงสิบสี่ปีในการต่อต้านจักรวรรดิรอชิดีนซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐเคาะลีฟะฮ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง

จักรวรรดิซาเซเนียนหรือที่เรียกว่า “Eranshahr” (“จักรวรรดิอิหร่าน”)[3] ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นปัจจุบันคืออิหร่าน, อิรัก, อาร์มีเนีย, ทางตอนใต้ของคอเคซัส (รวมทั้งทางตอนใต้ของดาเกสตาน), ตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชียกลาง, ตะวันตกของอัฟกานิสถาน, บางส่วนของตุรกี, บางส่วนของซีเรีย, บริเวณริมฝั่งทะเลของคาบสมุทรอาหรับ, บริเวณอ่าวเปอร์เซีย และบางส่วนของทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน

สมัยการปกครองของซาสซานิยะห์เป็นสมัยอันยาวนานของปลายสมัยโบราณและถือกันว่าเป็นสมัยที่สำคัญที่สุดและมีอิทธิพลที่สุดทางประวัติศาสตร์สมัยหนึ่งของ เป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของวัฒนธรรมของเปอร์เซียแ ละเป็นจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่จักรวรรดิสุดท้ายก่อนที่จะเริ่มยุคการพิชิตของมุสลิมและการยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม[ต้องการอ้างอิง] วัฒนธรรมของเปอร์เซียมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของโรมันเป็นอันมากในยุคซาสซานิยะห์[4] และจักรวรรดิโรมันเองก็มีความนับถือจักรวรรดิซาสซานิยะห์ที่จะเห็นได้จากพระราชสาส์นจากจักรพรรดิโรมันถึงชาห์แห่งชาห์ที่จ่าหัวจดหมายว่า "my brother"[ต้องการอ้างอิง] อิทธิพลของซาสซานิยะห์ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงในจักรวรรดิเองแต่ยังแผ่ขยายไปถึงแอฟริกา[5] จีน และ อินเดียด้วย[6] และมีบทบาทสำคัญในด้านศิลปะของยุคกลางทั้งในยุโรปและเอเชีย[7]

อิทธิพลของซาสซานิยะห์ยังคงอยู่ต่อมาจนถึงต้นสมัยอิสลามเมื่ออิสลามได้รับชัยชนะต่ออิหร่าน[8] อับโดลโฮสเซน ซารินคูป (Abdolhossein Zarrinkoob) ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอิหร่านคนสำคัญถึงกับกล่าวว่าสิ่งที่มารู้จักกันภายหลังว่าเป็นวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และความเชี่ยวชาญอื่นๆ ของอิสลามนั้นมีต้นตอมาจากวัฒนธรรมของซาสซานิยะห์เปอร์เชีย และเผยแพร่ไปในโลกมุสลิมโดยทั่วไป[9]

ประวัติศาสตร์ยุคก่อนหน้า

[แก้]

330 ปีก่อนคริสตกาล จักรวรรดิอะคีเมนียะห์ถูกทำลายด้วยน้ำมือของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช วัฒนธรรมเปอร์เซียที่เหลืออยู่ได้กลายเป็นจักรวรรดิพาร์เธียน

323 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เสด็จสวรรคต ที่ราบสูงอิหร่านตกเป็นของซิลูกอส นิกาตอร์ หนึ่งในคณะเดียดอคีหรือเหล่าแม่ทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ซิลูกอส นิกาตอร์ได้ก่อตั้งรัฐเฮลเลนิสต์ชื่อว่าจักรวรรดิซิลูซิดขึ้นบนพื้นที่ของประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ในยุครุ่งเรืองที่สุดจักรพรรดิแผ่ขยายอาณาเขตจนกินพื้นที่ของประเทศตุรกีและประเทศปากีสถานในปัจจุบัน วัฒนธรรมซิลูซิดเป็นการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมเกรโค-มาซิโดเนียนกับวัฒนธรรมอิหร่าน ประชาชนซึ่งเป็นชาวอิหร่านจึงไม่ได้มองผู้นำซึ่งเป็นชาวซิลูซิดว่าเป็นพวกเดียวกับตน

155 ปีก่อนคริสตกาล ชาวพาร์เธียนพิชิตอาณาเขตอิหร่านทั้งหมดของจักรวรรดิซิลูซิด ชาวพาร์เธียนเป็นชาวอิหร่านตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาวอิหร่านในจักรวรรดิลิซูซิดที่ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมเฮลเลนิสต์

จุดเริ่มต้นของราชวงศ์ซาสซานิยะห์

[แก้]

ตำนานเปอร์เซียเล่าว่า ซาสซานเป็นนักบวชแห่งแพร์ซโพลิส มีบุตรชายนามว่าบาบักเป็นเจ้าชายของแคว้นเล็กๆ ที่ชื่อว่าคูร์ เจ้าชายบาบักได้สังหารพระเจ้าโกซีร์ กษัตริย์ผู้ปกครองมณฑลเปอร์ซิส และตั้งตนเป็นกษัตริย์คนใหม่ พระเจ้าบาบักได้ส่งต่ออำนาจให้พระโอรสนามว่าชาปูร์ซึ่งต่อมาประสบอุบัติเหตุสิ้นพระชนม์ อำนาจจึงตกเป็นของพระอนุชานามว่าอาร์ดาเชร์ พระเจ้าอาร์ตาเบนุสที่ 5 กษัตริย์ราชวงศ์อาร์ซาซิยะห์ (ราชวงศ์พาร์เธียน) คนสุดท้ายของเปอร์เซียต่อต้านการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอาร์ดาเชร์ ในปี ค.ศ. 224 พระเจ้าอาร์ดาเชร์จึงทำสงครามล้มล้างอำนาจของพระเจ้าอาร์ตาบานุส ในปี ค.ศ. 226 พระเจ้าอาร์ดาเชร์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเหล่ากษัตริย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาสซานิยะห์

การปกครองแบบฟิวดัลของราชวงศ์อาร์ซาซิยะห์ถูกเปลี่ยนเป็นการปกครองแบบมีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางทางอำนาจ แต่มีการกระจายอำนาจให้แก่เจ้าขุนมูลนายคนอื่นๆ พระเจ้าอาร์ดาเชร์ได้รับการสนับสนุนจากนักบวชเนื่องจากทรงฟื้นฟูศาสนาโซโรอัสเตอร์ ทรงปลุกขวัญกำลังใจประชาชนด้วยการประกาศว่าพระองค์จะกำจัดอิทธิพลของอารยธรรมเฮลเลนิสต์ให้หมดไปจากเปอร์เซีย ทรงชำระแค้นลูกหลานของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ด้วยการทำสงครามพิชิตดินแดนเดิมของจักรวรรดิอะคีเมนียะห์กลับคืนมาได้ทั้งหมด พระองค์ทำสงครามขยายอาณาเขตเปอร์เซียไปจนถึงแม่น้ำโอซอสทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และแม่น้ำยูเฟรติสทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อทรงสวรรคตในปี ค.ศ. 241 ราชบัลลังก์ตกเป็นของพระโอรสนามว่าชาปูร์

การปกครองในยุคเริ่มต้น

[แก้]

พระเจ้าชาปูร์ หรือ พระเจ้าซาโปร์ที่ 1 (ค.ศ. 241-272) มีความกระตือรือร้นและมีทักษะฝีมือไม่ต่างจากพระบิดา พระองค์ได้รับการศึกษาชั้นดีและเป็นคนรักการเรียนรู้ พระองค์ให้อิสรภาพแก่ทุกศาสนาอย่างเปิดกว้าง ทั้งศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนามาณีกี ศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่นๆ ทรงสานต่องานเขียนคัมภีร์อเวสตะ โดยให้นักบวชใส่ความรู้ด้านอภิปรัชญา ดาราศาสตร์ และเวชกรรมที่ส่วนใหญ่หยิบยืมมาจากอินเดียและกรีซเข้าไปด้วย พระองค์ให้การอุปถัมภ์งานศิลปะ แม้จะไม่ใช่แม่ทัพที่เก่งกาจที่สุด แต่ทรงเป็นนักบริหารที่เก่งกาจในบรรดามวลหมู่กษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาสซานิยะห์ ทรงสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่ตั้งชื่อตามพระองค์ว่ากรุงชาปูร์ซึ่งปัจจุบันยังมีซากปรักหักพังเหลืออยู่ และสร้างเมืองหลวงใหม่อีกแห่งคือกรุงชูชตาร์ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำการุน พระองค์ได้สร้างหนึ่งในงานวิศวกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคโบราณ คือ เขื่อนหินแกรนิต ซึ่งเป็นสะพานที่สร้างจากก้อนหินแกรนิต มีความยาว 1,710 ฟุต กว้าง 20 ฟุต ไว้ใช้เปลี่ยนทิศทางน้ำเป็นการชั่วคราว มีส่วนที่เป็นทางเดินพื้นแน่นหนาและประตูระบายน้ำขนาดใหญ่ยักษ์ไว้ควบคุมทิศทางน้ำ ตำนานเล่าว่าพระเจ้าชาปูร์ได้ให้วิศวกรชาวโรมันเป็นผู้ออกแบบและให้เชลยชาวโรมันเป็นผู้ก่อสร้าง

ในด้านการสงคราม พระเจ้าชาปูร์บุกรุกรานซีเรียไปจนถึงกรุงแอนติออก แต่พ่ายแพ้ต่อกองทัพโรมัน ทั้งสองฝ่ายตกลงสงบศึกกันในปี ค.ศ. 244 โดยกรุงโรมได้ดินแดนทั้งหมดที่ถูกพระเจ้าชาปูร์ยึดมากลับคืนไป เมื่ออาร์เมเนียจับมือเป็นพันธมิตรกับกรุงโรม พระชาปูร์ไม่พอใจจึงเข้าไปก้าวก่ายในอาร์เมเนียและตั้งราชวงศ์ใหม่ที่ฝักใฝ่เปอร์เซียขึ้นมาในปี ค.ศ. 252 สร้างความปลอดภัยให้แก่เปอร์เซียที่ได้ดินแดนกันชนแห่งใหม่ทางฝั่งขวา พระองค์จึงกลับมาทำสงครามกับกรุงโรมอีกครั้ง ทรงเอาชนะและจับกุมตัวจักรพรรดิวาเลริอานุสได้ในปี ค.ศ. 260 กรุงแอนติออกถูกปล้นทำลาย เชลยหลายพันคนถูกกวาดต้อนไปเป็นแรงงานในอิหร่าน อุไดนา ข้าหลวงแห่งพัลไมรา ยกทัพมาสมทบกับกรุงโรมและขับไล่พระเจ้าชาปูร์ให้ถอนร่นข้ามกลับไปทางแม่น้ำยูเฟรติสซึ่งเป็นแนวเขตที่กั้นระหว่างโรมันกับเปอร์เซีย

ผู้สืบทอดตำแหน่งคนต่อๆ มาในช่วงปี ค.ศ. 272-302 ไม่มีอะไรโดดเด่น ประวัติศาสตร์จึงกระโดดข้ามไปที่ยุคของพระเจ้าโฮร์มิซด์ที่ 2 (ค.ศ. 302-309) ผู้สืบสานความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุข พระองค์บูรณะซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างสาธารณะและบ้านเรือนประชาชนโดยเฉพาะผู้ยากไร้ ทรงตั้งศาลยุติธรรมใหม่ขึ้นมาเพื่อให้คนจนได้ร้องเรียนคนรวยและมักออกว่าความด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครรู้ว่าพระองค์คิดจะกีดกันพระโอรสออกจากการสืบทอดบัลลังก์หรือไม่ แต่เมื่อพระเจ้าโฮร์มิซด์สวรรคต เหล่าขุนนางได้จับพระโอรสของพระองค์จองจำและยกบัลลังก์ให้พระโอรสอีกคนที่ยังไม่เกิด โดยตั้งชื่อให้ล่วงหน้าว่าพระเจ้าชาปูร์ที่ 2 ทารกในครรภ์ได้รับการทำพิธีแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ด้วยการวางมงกุฎลงบนครรภ์ของมารดา

ยุคทองครั้งที่หนึ่ง

[แก้]

พระเจ้าชาปูร์ที่ 2 กลายเป็นกษัตริย์เอเชียที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด (ค.ศ. 309-379) ทรงฝึกฝนการทำสงครามตั้งแต่ยังเด็ก ทรงมีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณที่แข็งแกร่ง ทรงขึ้นบัญชาการทั้งการเมืองและการรบตอนพระชนมายุ 16 พรรษา ในการบุกรุกรานฝั่งตะวันออกของแคว้นอาระเบีย พระองค์ได้ทำลายหมู่บ้านต่างๆ จนราบเป็นหน้ากลอง สังหารเชลยไปหลายพันคน เชลยส่วนที่เหลือถูกจับไปเป็นทาส ในปี ค.ศ. 337 ทรงเปิดสงครามกับกรุงโรมอีกครั้งเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ในเส้นทางการค้าสู่ตะวันออกไกล การเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ของกรุงโรมและอาร์เมเนียยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้กับความขัดแย้ง พระเจ้าชาปูร์ใช้เวลา 40 ปีต่อสู้กับจักรพรรดิโรมันหลายคน จักรพรรดิยูเลียนุสเป็นผู้ผลักดันให้พระองค์ถอยกลับไปกรุงเตซีโฟน ในปี ค.ศ. 363 จักรพรรดิโยเบียนุสใช้อุบายบีบคั้นให้เกิดการสงบศึก พระเจ้าชาปูร์ต้องยอมรามือจากมณฑลริมแม่น้ำไทกริสและแคว้นอาร์เมเนีย พระเจ้าชาปูร์ที่ 2 สวรรคตในขณะที่เปอร์เซียกำลังอยู่บนจุดสูงสุดทางอำนาจและความยิ่งใหญ่ ครองอาณาเขตกว้างไกลราวหนึ่งแสนเอเคอร์ที่แลกมาด้วยเลือด

ยุคคั่นกลาง

[แก้]

ในคริสต์ศตวรรษต่อมาการทำสงครามย้ายมาอยู่ที่พรมแดนตะวันออก ราวปี ค.ศ. 425 กลุ่มชนที่ชาวกรีกเรียกว่าชาวเอฟธาลิต หรือชาวฮันขาว เข้ายึดพื้นที่ระหว่างแม่น้ำโอซอสกับแม่น้ำแย็กซาตีส กษัตริย์ซาสซานิยะห์นามว่าพระเจ้าวาห์รามที่ 5 (ค.ศ. 420-438) กำราบชาวเอฟธาลิตได้สำเร็จ แต่หลังพระองค์สวรรคต ชาวเอฟธาลิตขยายจำนวนเพิ่มลูกหลานและทำสงครามขยายอาณาเขตจนสร้างจักรวรรดิใหม่ที่ครองอาณาเขตตั้งแต่ทะเลแคสเปียนจนถึงแม่น้ำสินธุ มีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงกอร์กาน และมีเมืองสำคัญคือเมืองบอลค์ ชาวเอฟธาลิตสังหารพระเจ้าเปโรซ (ค.ศ. 459-484) และบังคับให้พระเจ้าวาลาคช์ (ค.ศ. 484-488) จ่ายบรรณาการให้ตน

ฝั่งตะวันออกยังคงถูกคุกคาม ขณะที่ภายในเปอร์เซียได้เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกษัตริย์กับคณะขุนนางและเหล่านักบวช พระเจ้าคาวาดที่ 1 (ค.ศ. 588-531) วางแผนตัดกำลังศัตรูด้วยการสนับสนุนกลุ่มคอมมิวนิสต์ เพื่อเบนเข็มให้ศัตรูหันไปจัดการกับกลุ่มคอมมิวนิสต์แทน ในปี ค.ศ. 490 มัซดัก นักบวชโซโรอัสเตอร์ ประกาศตนเป็นผู้ที่พระเจ้าส่งให้มาเทศนาข้อบัญญัติศาสนาแบบเก่าที่กล่าวว่าผู้ชายทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิ์ครอบครองเหนือใคร ทรัพย์สมบัติและการแต่งงานเป็นสิ่งที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นและเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง สมบัติทุกชิ้นและผู้หญิงทุกคนเป็นทรัพย์สมบัติร่วมกันของผู้ชายทุกคน มัซดักถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อการขโมย การคบชู้ และการร่วมประเวณีกันในเครือญาติ และมีแนวคิดต่อต้านการมีทรัพย์สมบัติและการแต่งงาน แนวคิดยูโทเปียแบบสุดโต่งทำให้มัซดักเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ยากไร้ ทั้งกษัตริย์ยังให้การสนับสนุน กลุ่มสาวกของมัซดักจึงเริ่มออกปล้นบ้านเรือนไปจนถึงฮาเร็มเศรษฐี ขโมยนางบำเรอรูปงามราคาแพงมาใช้งานเอง เหล่าขุนนางคับแค้นใจจึงจับพระเจ้าคาวาดขังคุกและให้พระอนุชานามว่าจามาสป์ขึ้นครองบัลลังก์แทน

หลังถูกขังลืมในปราสาทสามปีพระเจ้าคาวาดหนีออกมาได้ ทรงหนีไปหาชาวเอฟธาลิตเพื่อขอกำลังมายึดเมืองเตซีโฟนและตำแหน่งกษัตริย์แห่งเปอร์เซียคืน พระเจ้าจามาสป์ถูกถอดออกจากตำแหน่ง เหล่าขุนนางหนีกลับไปดินแดนทรัพย์สินของตน

ยุคทองครั้งที่สอง

[แก้]

พระเจ้าคาวาดขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเหล่ากษัตริย์อีกครั้งในปี ค.ศ. 499 พระองค์ได้สังหารมัซดักกับเหล่าสาวกหลายพันคนและยึดถือแนวคิดคอมมิวนิสต์ ในการครองราชย์ยุคที่สองของพระเจ้าคาวาด พระองค์ปราบสหายเก่าอย่างชาวเอฟธาลิตได้สำเร็จ การต่อสู้กับกรุงโรมไม่ปรากฏผู้แพ้ผู้ชนะ เมื่อทรงสรรคต ราชบัลลังก์ได้ตกเป็นของพระโอรสนามว่าโคสเรา กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของราชวงศ์ซาสซานิยะห์

พระเจ้าโคสเราที่ 1 (ค.ศ. 531-579) มีสมญานามว่าอาเนาเชร์วาน แปลว่า ดวงวิญญาณอันเป็นอมตะ เมื่อพระเชษฐาลอบวางแผนถอดพระองค์ออกจากบัลลังก์ พระองค์ได้สังหารพระเชษฐากับเหล่าทายาทชาย ประชาชนในปกครองเรียกพระองค์ว่า “ผู้เที่ยงธรรม” นักประวัติศาสตร์เปอร์เซียกล่าวว่าทรงมีไหวพริบ มีความรู้ มีปัญญา มีความกล้า และมีความรอบคอบ ทรงปฏิรูปการบริหารปกครอง เลือกผู้ช่วยจากความสามารถโดยไม่สนใจชั้นวรรณะ ทรงตั้งอาจารย์ของพระโอรสนามว่าวูซ็อกเมียร์เป็นวิเซียร์ (เสนาบดี) ทรงฝึกฝนวินัยและฝึกทักษะให้แก่กองทัพฟิวดัลที่ไม่เคยผ่านการฝึกฝน ทรงตั้งระบบจัดเก็บภาษีที่เสมอภาคมากขึ้นและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กฎหมายเปอร์เซีย ทรงสร้างเขื่อนและคลองเพื่อพัฒนาการจ่ายน้ำในเมืองใหญ่ๆ และการชลประทานในไร่นา ทรงพัฒนาผืนดินรกร้างให้เป็นแปลงกสิกรรม ส่งเสริมการค้าด้วยการสร้าง ปรับปรุง และดูแลสะพานและถนนต่างๆ ทรงอุทิศชีวิตให้กับการดูแลประชาชนและบ้านเมือง ทรงสนับสนุนให้ประชาชนแต่งงานเพื่อสร้างกำลังพลไว้ใช้ในไร่นาและสนามรบ เด็กกำพร้าและเด็กยากไร้ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากภาครัฐ ผู้ใดละทิ้งศาสนามีโทษประหารชีวิต แต่อนุโลมให้ชาวคริสต์ ราชสำนักของพระองค์เป็นที่รวมตัวของนักปราชญ์ แพทย์ และนักวิชาการทั้งจากอินเดียและกรีซ ทรงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผลงานวรรณกรรม ผลงานวิทยาศาสตร์ และผลงานวิชาการ และออกเงินจ้างนักแปลและนักประวัติศาสตร์ ทรงรับรองความปลอดภัยของชาวต่างชาติ ทำให้ราชสำนักของพระองค์เต็มไปด้วยผู้มาเยือนจากต่างแดนหลากหลายเชื้อชาติ

พระองค์ประกาศเมื่อครั้งขึ้นครองราชย์ว่าต้องการสงบศึกกับกรุงโรมซึ่งจักรพรรดิยุสติเนียนุสเห็นชอบด้วยเนื่องจากกำลังพุ่งเป้าไปที่แอฟริกาและอิตาลี ในปี ค.ศ. 532 สองกษัตริย์ลงนามในข้อตกลงสงบศึก ในปี ค.ศ. 539 พระเจ้าโคสเราประกาศสงครามกับกรุงโรมโดยกล่าวหาว่าจักรพรรดิยุสติเนียนุสผิดข้อตกลงอย่างร้ายแรง อาจเนื่องมาจากพระองค์เล็งเห็นว่าการบุกโจมตีในช่วงที่กองทัพของจักรพรรดิยุสติเนียนุสกำลังกรำศึกอยู่ทางฝั่งตะวันตกย่อมดีกว่าการรอให้ฝ่ายไบแซนไทน์ชนะศึกแล้วเสริมกำลังทัพเพื่อเตรียมสู้รบกับเปอร์เซียต่อ พระเจ้าโคสเรามองว่าเหมืองทองในเทรบิซอนด์และนอกเขตทะเลดำควรเป็นของเปอร์เซีย พระองค์จึงนำทัพเข้าซีเรีย ปิดล้อมเมืองเฮียราโพลิส เมืองอะพาเมีย และเมืองอะเลปโป เรียกค่าไถ่เมืองได้ก้อนโต ไม่นานก็เดินทางถึงกรุงแอนติออก ทหารเฝ้าเมืองเปิดประตูต้องรับเพราะไม่อย่างถูกยิงด้วยห่าธนูและก้อนหิน พระเจ้าโคสเราบุกเข้ายึดเมือง ปล้นทรัพย์สมบัติ เผาสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดยกเว้นมหาวิหาร ประชาชนส่วนหนึ่งถูกสังหารหมู่ อีกส่วนหนึ่งถูกส่งตัวไปเป็นทาสในเปอร์เซีย จักรพรรดิยุสติเนียนุสส่งเบลิซาริอุสไปกอบกู้สถานการณ์ แต่ในปี ค.ศ. 541 พระเจ้าโคสเราได้ยกทัพข้ามแม่น้ำยูเฟรติสกลับไปแล้ว แม่ทัพเบลิซาริอุสจึงไม่สามารถไล่ตามไปได้

ในการรุกรานโรมันเอเชียในอีกสามครั้งต่อมา พระเจ้าโคสเราใช้วิธีจู่โจมเร็วเข้าปิดล้อมเมือง พระองค์เรียกค่าไถ่เมืองและยึดเมือง ทำลายพื้นที่นอกเมือง แล้วยกทัพกลับไป ในปี ค.ศ. 545 จักรพรรดิยุสติเนียนุสจ่ายทองคำหนัก 2,000 ปอนด์ (มูลค่า 840,000 ดอลลาร์) เพื่อขอสงบศึกห้าปี เพื่อครบห้าปีได้จ่ายอีก 2,600 ปอนด์เพื่อขอขยายออกไปอีกห้าปี สุดท้ายในปี ค.ศ. 562 หลังตรากตรำทำสงครามมาตลอดชีวิต สองกษัตริย์ในวัย 50 พรรษาได้ยุติการทำศึก จักรพรรดิยุสติเนียนุสยอมจ่ายทองคำหนัก 30,000 ปอนด์ (มูลค่า 7,500,000 ดอลลาร์) ต่อปีให้เปอร์เซีย ส่วนพระเจ้าโคสเราได้ยุติการอ้างสิทธิ์ในดินแดนข้อพิพาทในเทือกเขาคอเคซัสและทะเลดำ

ราวปี ค.ศ. 570 ชาวฮิมยาริตทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นอาระเบียยื่นคำร้องมาขอความช่วยเหลือ พระเจ้าโคสเราจึงส่งกองทัพไปช่วยปลดปล่อยชาวฮิมยาริตจากผู้พิชิตดินแดนชาวอะบิสซิเนียน เมื่อเป็นอิสระชาวฮิมยาริตได้ตั้งมณฑลเปอร์เซียแห่งใหม่ขึ้นมา จักรพรรดิคนใหม่ คือ จักรพรรดิยุสตินุส มองว่าการขับไล่ชาวอะบิสซิเนียนออกจากอาระเบียของชาวเปอร์เซียเป็นการกระทำที่ไม่เป็นมิตร ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากชาวเติร์กที่อาศัยอยู่ติดพรมแดนตะวันออกของเปอร์เซีย ในปี ค.ศ. 572 จักรพรรดิยุสตินุสจึงประกาศสงคราม แม้จะชราแล้วแต่พระเจ้าโคสเรายังเข้าทำสงครามด้วยตัวเองจนยึดเมืองทารัสได้ แต่สุขภาพที่ย่ำแย่ทำให้ทรงพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 578 พระองค์ถอนทัพกลับกรุงเตซีโฟนและสวรรคตในปี ค.ศ. 579 ตลอดการครองราชย์ 48 ปีทรงพ่ายแพ้เพียงครั้งนี้ครั้งเดียว

พระโอรสของพระองค์ คือ พระเจ้าโฮร์มิซด์ที่ 4 (ค.ศ. 579-589) ถูกแม่ทัพวอห์ราม โชเบนล้มล้างอำนาจในปี ค.ศ. 589 วอห์รามตั้งพระโอรสในพระเจ้าโฮร์มิซด์เป็นพระเจ้าโคสเราที่ 2 และตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ปีต่อมาได้เลื่อนตนเองเป็นกษัตริย์ เมื่อพระเจ้าโคสเราถึงช่วงวัยที่เหมาะสม พระองค์เรียกร้องบัลลังก์ แต่วอห์รามไม่ให้ พระเจ้าโคสเราหนีไปอยู่ที่เมืองเฮียราโพลิสในโรมันซีเรีย จักรพรรดิชาวกรีกเมาริคิออสยื่นข้อเสนอจะกอบกู้บัลลังก์คืนให้ แลกกับการที่เปอร์เซียต้องถอนตัวออกจากอาร์เมเนีย พระเจ้าโคสเรายอมรับข้อเสนอ ในปี ค.ศ. 596 จึงเกิดเหตุการ์ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อกองทัพโรมันทำพิธีแต่งตั้งกษัตริย์เปอร์เซียในกรุงเตซีโฟน

เมื่อโพกัสสังหารและขึ้นแทนที่จักรพรรดิเมาริซิออส พระเจ้าโคสเราได้ประกาศสงครามในปี ค.ศ. 603 เพื่อแก้แค้นให้พระสหาย การปลุกระดมมวลชนและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์แตกออกจากกัน กองทัพเปอร์เซียเข้ายึดเมือทารัส เมืองอามีดา เมืองเอเดซซา เมืองเฮียราโพลิส เมืองอะเลปโป เมืองอะปาเมีย เมืองดามัสกัสในช่วงปี ค.ศ. 605-613

ความสำเร็จที่พวยพุ่งทำให้พระเจ้าโคสเราประกาศทำสงครามศักดิ์สิทธิ์กับชาวคริสต์ โดยมีชาวยิว 26,000 คนร่วมสู้รบด้วย ในปี ค.ศ. 614 กองกำลังผสมของพระองค์ปล้นทำลายกรุงเยรูซาเล็มและสังหารชาวคริสต์ไป 90,000 คน โบสถ์คริสต์หลายแห่งรวมถึงโบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ถูกเผาราบเป็นหน้ากลอง กางเขนแท้ ปูนียวัตถุชิ้นสำคัญที่สุดของชาวคริสต์ถูกขนไปเปอร์เซีย ในปี ค.ศ. 616 กองทัพเปอร์เซียบุกยึดเมืองอเล็กซานเดรียและยึดอียิปต์ทั้งหมดได้ในปี ค.ศ. 619 กองทัพเปอร์เซียบุกรุกรานอานาโตเลียและยึดเมืองชาลซีดอนได้ในปี ค.ศ. 617 โดยระหว่างเมืองชาลซีดอนกับกรุงคอนสแตนติโนเปิลมีเพียงช่องแคบบอสพอรัสกั้น ชาวเปอร์เซียยึดครองเมืองชาลซีดอนเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ โบสถ์ถูกรื้อทำลาย งานศิลปะและทรัพย์สมบัติถูกขนย้ายไปเปอร์เซีย อานาโตเลียถูกขูดรีดภาษีหนักจนยากจนแร้นแค้น มีทรัพยากรไม่เพียงพอ

ภายหลังพระเจ้าโคสเราได้ยกหน้าที่ในการทำสงครามให้แก่เหล่าแม่ทัพ ส่วนพระองค์เกษียณตัวไปใช้ชีวิตอยู่อย่างหรูหราในพระราชวังที่เมืองดัสตาเกิร์ด (อยู่ห่างจากกรุงเตซีโฟน 60 ไมล์) ทรงใช้ชีวิตอยู่กับงานศิลปะและพระมเหสี 3,000 คน

ยุคเสื่อมถอย

[แก้]

จักรพรรดิเฮราคลิออสใช้เวลาสิบปีสร้างกองทัพขึ้นมาใหม่ ทรงยกทัพข้ามไปยึดคืนเมืองชาลซีดอน ล่องเรือสู่ทะเลดำ ข้ามอาร์เมเนีย ไปโจมตีเปอร์เซีย จักรพรรดิเฮราคลิออสเอาคืนการหยามเกียรติกรุงเยรูซาเล็มของพระเจ้าโคสเราด้วยการทำลายโครอมเมีย สถานที่เกิดของโซโรอัสเตอร์ และดับเปลวเพลิงศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามดับของชาวโซโรอัสเตอร์ในปี ค.ศ. 624 พระเจ้าโคสเราจึงยกทัพมาปราบแต่พ่ายแพ้ ทัพกรีกเดินหน้าต่อไป ขณะที่พระเจ้าโคสเราหนีกลับกรุงเตซีโฟน เหล่าแม่ทัพร่วมมือกับกลุ่มขุนนางถอดพระองค์ออกจากตำแหน่ง พระองค์ถูกจับขังคุก ได้รับเพียงขนมปังและน้ำประทังชีวิต พระโอรสสิบแปดคนถูกสังหารต่อหน้าพระองค์ สุดท้ายในปี ค.ศ. 628 พระองค์ถูกสังหารด้วยน้ำมือของเชรูยา พระโอรสของพระองค์เอง

หลังสังหารพระบิดา เชรูยาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าคาวาดที่ 2 ทรงสงบศึกกับจักรพรรดิเฮราคลิออส ถอนตัวออกจากอียิปต์ ปาเลสไตน์ ซีเรีย อานาโตเลีย และเมโสโปเตเมียตะวันตก คืนดินแดนที่ยึดมาให้ชาวไบแซนไทน์ และคืนส่วนที่เหลือของกางเขนแท้ให้กรุงเยรูซาเล็ม ในปี ค.ศ. 629 เมื่อกางเขนแท้เดินทางถึงวิหารเดิม กลุ่มชาวอาหรับได้เข้าโจมตีทหารยามชาวกรีกที่บริเวณใกล้กับแม่น้ำจอร์แดน ในปีเดียวกันได้เกิดโรคระบาดรุนแรงในเปอร์เซีย คร่าชีวิตประชาชนหลายพันคนรวมถึงกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย พระโอรสวัย 7 พรรษาของพระองค์ได้รับการประกาศให้เป็นกษัตริย์คนใหม่นามว่าพระเจ้าอาร์ดาเชร์ที่ 3 แม่ทัพชอร์-วาราซสังหารกษัตริย์น้อย แย่งชิงบัลลังก์มาเป็นของตน แต่ถูกทหารของตนเองสังหารในเวลาต่อมา ศพถูกลากประจานไปตามท้องถนนในกรุงเตซีโฟน นับแต่นั้นได้เกิดภาวะอนาธิปไตยขึ้น เปอร์เซียอ่อนแอลงเนื่องจากสงครามภายในยาวนาน 26 ปี ในรอบสี่ปีมีกษัตริย์ขึ้นครองบัลลังก์เก้าคน บางคนถูกลอบสังหาร บางคนหนีหายไป และบางคนสวรรคตด้วยสาเหตุทางธรรมชาติ มณฑลและเมืองต่างๆ แยกตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับการบริหารส่วนกลางอีกต่อไป ในปี ค.ศ. 634 ราชบัลลังก์ตกเป็นของพระเจ้าเย็ซเดเกิร์ดที่ 3 ทายาทแห่งราชวงศ์ซาซานและบุตรชายของหญิงผิวสี

การพิชิตของชาวอาหรับ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 632 มุฮัมมัดถึงแก่มรณกรรมหลังก่อตั้งรัฐอาหรับใหม่ขึ้นมา ผู้สืบทอดตำแหน่งคนต่อมาคือเคาะลีฟะห์อุมัร ในปี ค.ศ. 634 อุมัรได้รับสาส์นจากมุตชันนา แม่ทัพในซีเรีย แจ้งว่าเปอร์เซียกำลังวุ่นวายง่ายต่อการพิชิต อุมัรจึงมอบหมายหน้าที่ให้คอลิด แม่ทัพฝีมือดีที่สุดของตน คอลิดนำทัพเบดูอินอาหรับเดินทางเลียบชายฝั่งอ่าวเปอร์เซีย เอาชนะทุกการต้านทานขัดขวางจนไปถึงแม่น้ำยูเฟรติส แต่คอลิดถูกเรียกตัวกลับ มุตชันนาถูกส่งมาทำหน้าที่แทนพร้อมกองกำลังเสริม ทัพมุสลิมต่อเรือเป็นสะพานเพื่อข้ามแม่น้ำยูเฟรติส พระเจ้าเย็ซเดเกิร์ด กษัตริย์หนุ่มวัยเพียง 22 พรรษา มอบอำนาจในการสั่งการให้โรสตาม ข้าหลวงแห่งโครอซาน และสั่งให้ตั้งทัพใหญ่ขึ้นมารักษาดินแดน

ชาวเปอร์เซียปะทะกับชาวอาหรับในยุทธการที่เดอะบริดจ์ ฝ่ายเปอร์เซียเอาชนะได้และตามไล่ล่าตัวฝ่ายอาหรับโดยไม่คิดให้ถี่ถ้วน มุตชันนาปรับทัพใหม่และเอาชนะฝ่ายเปอร์เซียได้ในยุทธการที่เอล-โบเวบ์ในปี ค.ศ. 624 แม้ชนะแต่ฝ่ายมุสลิมเสียหายหนัก มุตชันนาได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่กรรม แต่คอลิดได้ส่งซาด แม่ทัพฝีมือดีมาพร้อมกับกองกำลังใหม่ 30,000 นาย พระเจ้าเย็ซเดเกิร์ดโต้ตอบด้วยการจัดตั้งกองกำลัง 120,000 นายให้โรสตามพาข้ามแม่น้ำยูเฟรติสไปยังกอดิซียะห์ในปี ค.ศ. 636 เกิดเป็นยุทธการสี่วันที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อิสลาม ในวันที่สี่พายุทรายพัดไปทางฝ่ายเปอร์เซีย ฝ่ายอาหรับจึงชิงความได้เปรียบในช่วงที่ศัตรูมองไม่เห็น โรสตามถูกสังหาร ทัพเปอร์เซียแตกกระเจิง ซาดนำทัพข้ามแม่น้ำไทกริสเข้าสู่กรุงเตซีโฟน

ซาดใช้เวลาสามปีสถาปนาการปกครองอาหรับขึ้นในดินแดนเมโสโปเตเมีย ขณะที่พระเจ้าเย็ซเดเกิร์ดตั้งทัพใหม่ที่มีกองกำลัง 150,000 นาย อุมัรส่งกำลังพล 30,000 นายมาสู้รบ ในยุทธการที่นะฮาวันด์ในปี ค.ศ. 641 ฝ่ายอาหรับใช้ยุทธวิธีอันยอดเยี่ยม ระดมยิงธนูใส่จนฝ่ายเปอร์เซียนับแสนแตกกระเจิงและถูกสังหารหมู่ ชาวอาหรับเป็นฝ่ายชนะ หลังจากนั้นไม่นานดินแดนเปอร์เซียทั้งหมดถูกชาวอาหรับยึดครอง พระเจ้าเย็ซเดเกิร์ดหนีไปเมืองบอลข์ ทรงร้องขอความช่วยเหลือจากจีนแต่ถูกปฏิเสธ ทรงร้องขอความช่วยเหลือจากชาวเติร์กแต่ได้มาเพียงกองทัพเล็กๆ ในปี ค.ศ. 652 ระหว่างที่กำลังเตรียมการเปิดศึกครั้งใหม่ พระองค์ถูกทหารเติร์กสังหารเพื่อปล้นชิงอัญมณี เป็นอันจบสิ้นราชวงศ์ซาสซานิยะห์ของเปอร์เซีย

อ้างอิง

[แก้]
  • Durant, Will (1992). The Age of Faith: A History of Medieval Civilization. MJF Books.
  1. Khaleghi-Motlagh, Derafš-e Kāvīān เก็บถาวร 2008-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. ""Sasanian Dynasty" Encyclopedia Iranica". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-09. สืบค้นเมื่อ 2009-09-11.
  3. See [1] เก็บถาวร 2007-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. J. B. Bury, p. 109.
  5. Transoxiana 04: Sasanians in Africa
  6. Sarfaraz, pp. 329-330
  7. Iransaga: The art of Sassanians
  8. Durant, p. ??
  9. Zarinkoob, p. 305.

ดูเพิ่ม

[แก้]