รัฐสุลต่านอาเจะฮ์
ราชอาณาจักรอาเจะฮ์ดารุซซาลัม Keurajeuën Acèh Darussalam كاورجاون اچيه دارالسلام | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2039–พ.ศ. 2446 | |||||||||
การขยายตัวของรัฐสุลต่านอาเจะฮ์ระหว่างสมัยของอิสกันดาร์ มูดา พ.ศ. 2151 - 2180 | |||||||||
สถานะ | รัฐในอารักขาของจักรวรรดิออตโตมัน (1569–1903) | ||||||||
เมืองหลวง | กูตาราจา, บันดาอาเจะฮ์ดารุซซาลัม (ปัจจุบันคือบันดาอาเจะฮ์) | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาอาเจะฮ์, ภาษามลายู, ภาษาอาหรับ | ||||||||
ศาสนา | ศาสนาอิสลามซุนนี | ||||||||
การปกครอง | สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | ||||||||
สุลต่าน | |||||||||
• พ.ศ. 2039 - 2071 | อาลี มูฆายัต ชาห์ | ||||||||
• พ.ศ. 2418 - 2446 | อลาอุดดิน มูฮัมหมัด ดาอูด ชาห์ที่ 2 | ||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||
• การขึ้นครองราชย์ของสุลต่านองค์แรก | พ.ศ. 2039 | ||||||||
พ.ศ. 2446 | |||||||||
สกุลเงิน | ทองธรรมชาติและเหรียญเงิน | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | อินโดนีเซีย มาเลเซีย |
รัฐสุลต่านอาเจะฮ์ (อังกฤษ: Sultanate of Aceh) หรือชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรอาเจะฮ์ดารุสซาลาม (อังกฤษ: Kingdom of Aceh Darussalam; อาเจะฮ์: Keurajeuën Acèh Darussalam / كاورجاون اچيه دارالسلام) เป็นรัฐที่มีสุลต่านเป็นผู้ปกครองอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันคือจังหวัดอาเจะฮ์ ประเทศอินโดนีเซีย ครองอำนาจในราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 ก่อนจะเสื่อมอำนาจลง เมืองหลวงตั้งอยู่ที่กูตาราจา ปัจจุบันคือบันดาอาเจะฮ์ ในช่วงที่มีอำนาจ อาเจะฮ์พยายามเข้ายึดครองรัฐสุลต่านยะโฮร์ และมะละกาที่อยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส พยายามเข้าควบคุมช่องแคบมะละกา และพื้นที่ที่มีพริกไทยและดีบุกมาก อาเจะฮ์เป็นศูนย์กลางของนักปราชญ์อิสลามและการค้า
การก่อตั้งและความรุ่งเรือง
[แก้]ประวัติศาสตร์ช่วงแรกของอาเจะฮ์ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยมีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่ากำเนิดจากชาวจาม ภาษาอาเจะฮ์เป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาอาเจะฮ์-จาม 10 ภาษา ตามประวัติศาสตร์มลายู กษัตริย์จามปา ซยาห์ เปา กูบะห์ มีโอรสชื่อ ซยาห์ เปาลิง ได้อพยพออกมาเมื่อเมืองวิชายาถูกราชวงศ์เลของเวียดนามตีแตกใน พ.ศ. 2014 และมาก่อตั้งราชอาณาจักรอาเจะฮ์ ผู้ปกครองอาเจะฮ์หันมานับถือศาสนาอิสลามในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 สุลต่านองค์แรกคืออาลี มูฆายัต ชาห์ ผู้ปกครองสุมาตราเหนือใน พ.ศ. 2063 โดยเข้ายึดครองเดลี เปอดีร ปาไซ และเข้าโจมตีอารู โอรสของพระองค์คือ อะลาอุดดีน อัลกาฮาร์ พยายามขยายอิทธิพลลงไปทางใต้ของสุมาตรา และพยายามข้ามช่องแคบไปยึดครองยะโฮร์และมะละกา อาเจะฮ์ได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดิออตโตมันที่ส่งทหารมาช่วย
ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2142 กอร์เนลียึส เฮาต์มัน ชาวดัตช์ได้เดินทางมาถึงอาเจะฮ์และต้องการยึดครองให้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ พวกเขาได้รับอนุญาตจากสุลต่านให้เข้ามาซื้อขายพริกไทยได้ ชาวดัตช์เหล่านี้ได้พักอยู่ 3 เดือน ได้ออกซื้อพริกไทยและเครื่องเทศ แต่ถูกชาวพื้นเมืองโจมตีเสียชีวิตไป 68 คน ในปีเดียวกันนั้น ตัวแทนจากบริษัทอินเดียตะวันออกได้เดินทางมาถึงและกลับไปใน พ.ศ. 2145[1][2]
สุลต่านระหว่าง พ.ศ. 2132 – 2147 คือ อาลาอุดดีน เรียยัก ชาห์ อิบน์ ไฟร์มัน ชาห์ ความยุ่งยากภายในทำให้การขยายอำนาจของสุลต่านเป็นไปได้ไม่เต็มที่ จนกระทั่ง อิสกันดาร์ มูดาขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2150 เขาขยายอำนาจยึดครองไปทั่วเกาะสุมาตรา และขยายอำนาจเข้าควบคุมปาหังซึ่งเป็นแหล่งผลิตดีบุกในคาบสมุทรมลายา อาเจะฮ์เรืองอำนาจจนถึง พ.ศ. 2172 จึงพ่ายแพ้มะละกาที่ร่วมมือกับโปรตุเกสและยะโฮร์ ซึ่งได้ทำลายกองทัพเรือและทหารราว 19,000 คน ตามบันทึกของโปรตุเกส[3][4] อย่างไรก็ตาม อาเจะฮ์ไม่ได้ถูกทำลายทั้งหมด เพราะยังสามารถไปรุกรานเคดะห์ได้ในปีเดียวกัน และกวาดต้อนพลเมืองมายังอาเจะฮ์ อิสกันดาห์ กานี เจ้าชายจากปาหังซึ่งเป็นพระราชบุตรเขยได้ครองราชย์ต่อมา ในสมัยนี้ อาเจะฮ์ได้เน้นความเป็นเอกภาพทางศาสนาและความเข้มแข็งภายใน เมื่อสิ้นสุดรัชกาลของทานี อาเจะฮ์ปกครองโดยสุลต่านหญิง ในช่วงนี้ อำนาจปกครองของอาเจะฮ์อ่อนแอลง ในขณะที่อำนาจทางศาสนาเพิ่มสูงขึ้น สุลต่านกลายเป็นตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ ดังที่ นักเดินทางชาวเปอร์เซียได้กล่าวถึงสุมาตราเหนือใน พ.ศ. 2223 ว่ามีผู้ปกครองท้องถิ่นแยกกันปกครองเป็นอิสระ
วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
[แก้]อาเจะฮ์ถือว่าตนเองสืบทอดมาจากรัฐสุลต่านปาไซ รัฐอิสลามแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสืบทอดงานเผยแผ่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของนักวิชาการทางด้านอิสลาม หลังจากที่มะละกาถูกโปรตุเกสยึดครอง ได้แปลอัลกุรอ่านและเอกสารทางศาสนาอิสลามเป็นภาษามลายู นักวิชาการที่เป็นที่รู้จักกันคือ ฮัมซะห์ ปันซูรี ซัมซุดดินแห่งปาไซ อับดูรราอูฟแห่งซิงกิลและนูร์รุดดิน อาร์รานีรี ชาวอินเดีย[5]
อาเจะฮ์ได้กำไรจากการส่งออกพริกไทย จันทน์เทศ กานพลู หมาก [6]และดีบุกหลังเข้ายึดครองปาหังได้ใน พ.ศ. 2160 อัตราการลงทุนต่ำและใช้ทองเป็นสกุลเงินทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ไม่สามารถผลิตอาหารให้เพียงพอกับกองทัพและการค้าของรัฐ จนในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ที่บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ได้เข้ามามีบทบาททั้งการทหารและเศรษฐกิจจนสามารถยึดครองมะละกาได้สำเร็จใน พ.ศ. 2185
ช่วงสุดท้ายและการยึดครองของเนเธอร์แลนด์
[แก้]ใน พ.ศ. 2422 สุลต่านบัดร์ อัลอลาม ชารีฟ อาซิม ญามาล อัดดิมขึ้นครองบัลลังก์ ซึ่งเป็นสุลต่านชายคนแรกในรอบ 60 ปี จากนั้น เป็นการปกครองโดยผู้ปกครองหลายองค์ในช่วงสั้นๆ จนใน พ.ศ. 2270 สมาชิกจากราชวงศ์บูกิส สุลต่านอลาอัดดิน อะห์หมัด ชาห์ ขึ้นครองอำนาจ สุลต่านได้ได้อนุญาตให้โกห์ ลายฮวน กัปตันชาวจีนจากปีนัง นำพริกไทยจากอาเจะฮ์ไปปลูกที่ปีนัง ต่อมาใน พ.ศ. 2362 โกห์ได้ช่วยสุลต่านปราบปรามผู้ปกครองท้องถิ่นในอาเจะฮ์[7]
ในช่วง พ.ศ. 2463 อาเจะฮ์ผลิตพริกไทยได้ครึ่งหนึ่งของผลผลิตในโลก ตนกู อิบราฮิมได้ฟื้นฟูอำนาจของสุลต่านและเข้าควบคุมรายาพริกไทยที่ต้องส่งบรรณาการให้สุลต่าน และมีอำนาจในช่วงที่พี่ชายของเขา มูฮัมหมัด ชาห์ เป็นสุลต่าน และในรัชกาลต่อมาคือสุไลมาน ชาห์ ก่อนจะขึ้นเป็นสุลต่านองค์ต่อมาคือ สุลต่าน อาลี อลาอุดดิน มันซูร์ ชาห์ เขาขยายเขตควบคุมของอาเจะฮ์ลงไปทางใต้ ในเวลาเดียวกันที่เนเธอร์แลนด์ขยายอำนาจขึ้นเหนือ
สหราชอาณาจักรที่ได้รับรองเอกราชของอาเจะฮ์เพื่อปกป้องให้พ้นจากการยึดครองของเนเธอร์แลนด์ ได้ทบทวนนโยบายของตนใหม่ และได้ลงนามในสนธิสัญญาสหราชอาณาจักร-เนเธอร์แลนด์เกี่ยวกับสุมาตรา ยอมให้เนเธอร์แลนด์ควบคุมเกาะสุมาตราทั้งหมด แลกเปลี่ยนกับการผนวกโกลด์โคสต์และสิทธิทางการค้าที่เท่าเทียมกันในอาเจะฮ์ สนธิสัญญานี้นำไปสู่สงครามอาเจะฮ์ใน พ.ศ. 2416 เมื่ออาเจะฮ์ลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับสหรัฐ เมื่อเนเธอร์แลนด์เตรียมตัวทำสงครามนั้น มะห์มุด ชาห์ได้ขอความช่วยเหลือจากนานาชาติแต่ไม่สำเร็จ
สุลต่านได้ออกจากเมืองหลวงเมื่อพระราชวังถูกยึดเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2416 ออกไปสู่เขตเทือกเขา เนเธอร์แลนด์ได้ประกาศผนวกอาเจะฮ์ สุลต่านเสียชีวิตลงด้วยอหิวาตกโรค ชาวอาเจะฮ์ได้ยกหลานของสุลต่านตนกูอิบราฮิมขึ้นมาเป็นผู้นำ ผู้นำท้องถิ่นแม้จะยอมรับอำนาจของเนเธอร์แลนด์แต่ก็ให้ความช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านด้วย ในเวลานั้น นักการเมืองอาเจะฮ์ขอความช่วยเหลือจากอาณาจักรออตโตมันแต่ไม่สำเร็จ ตำแหน่งผู้นำในการต่อต้านเปลี่ยนมือไปสู่เจ้าของที่ดินและเป็นผู้นำทางศาสนาในที่สุด ที่ปรึกษาของสุลต่านอับด์ อัรเราะห์มาน อัลซาอีร์กลับมามีอำนาจควบคุมขบวนการเรียกร้องเอกราช แต่สุดท้ายก็ยอมมอบตัวต่อเนเธอร์แลนด์แลกเปลี่ยนกับการไปอยู่ที่เมกกะ
เนเธอร์แลนด์ขยายอิทธิพลจากเขตชายฝั่งเพื่อควบคุมพื้นที่ทั้งหมด สร้างทางรถไฟเชื่อมถึงเมืองหลวง ทำให้ประเทศสงบลงได้ใน พ.ศ. 2427 กระบวนการทางสันติภาพเชื่องช้าลงหลังจากนั้น แต่ก็ก้าวหน้าอีกครั้งระหว่าง พ.ศ. 2441–2446 ซึ่งเจ้าของที่ดินได้เซ็นสัญญาสงบศึกกับเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์สามารถจัดตั้งรัฐบาลในอาเจะฮ์ได้ และทำให้สุลต่านยอมมอบตัวใน พ.ศ. 2446 และได้ลี้ภัยใน พ.ศ. 2450 โดยไม่ได้ระบุนามรัชทายาท แต่ฝ่ายต่อต้านก็ยังสู้รบต่อจนถึง พ.ศ. 2455[8][7]
สุลต่าน
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- J.M. Barwise and N.J. White. A Traveller’s History of Southeast Asia. New York: Interlink Books, 2002.
- M.C. Ricklefs. A History of Modern Indonesia Since c. 1300, 2nd ed. Stanford: Stanford University Press, 1994.
- ↑ Michael Hicks, ‘Davis , John (c.1550–1605)’, Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press, 2004; online edn, Jan 2008
- ↑ Ooi Keat Gin, บ.ก. (2004). Southeast Asia. Santa Barbara, Calif. [u.a.]: ABC Clio. p. 120. ISBN 1-57607-770-5.
- ↑ Ricklefs, 34
- ↑ *D. G. E. Hall, A History of South-east Asia. London: Macmillan, 1955.
- ↑ Ricklefs, 51
- ↑ Barwise and White, 115–116
- ↑ 7.0 7.1 The Cambridge History of Southeast Asia By Nicholas Tarling Published by Cambridge University Press, 1999 ISBN 978-0-521-66370-0; pg. 260
- ↑ Ricklefs, 146