ข้ามไปเนื้อหา

ประวัติศาสตร์ฮิตไทต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชรถของฮิตไทต์จากภาพนูนของอียิปต์

ฮิตไทต์ (อังกฤษ: History of the Hittites) ฮิตไทต์เป็นชนโบราณที่พูดภาษาตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียนและก่อตั้งอาณาจักรที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ฮัตทูซา (Hattusa) ทางตอนเหนือของตุรกีตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสต์ศักราช ในศตวรรษที่ 14 ก่อนคริสต์ศักราช “ราชอาณาจักรฮิตไทต์” ก็รุ่งเรืองถึงจุดสูงสุดโดยอาณาบริเวณที่ครอบคลุมตอนกลางของอานาโตเลีย ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียไปจนจรดอูการิต (Ugarit) และตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย หลังจากปี 1180 ก่อนคริสต์ศักราชท่ามกลางความวุ่นวายต่าง ๆ ในเลแวนต์ที่เกิดจากการรุกรานของชนทะเล (Sea Peoples) จักรวรรดิฮิตไทต์ก็สลายตัวลงเป็นนครรัฐไซโรฮิตไทต์ (Syro-Hittite states) หลายนครที่เป็นอิสระต่อกัน บางนครก็รุ่งเรืองต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์ศักราช ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมชนฮิตไทต์ทราบได้จากบันทึกอักษรรูปลิ่มที่พบในบริเวณที่เคยเป็นอาณาจักร และจากการติดต่อทางการค้าขายและการทูตที่พบในสถานที่เก็บหลักฐานโบราณของอียิปต์และตะวันออกกลาง

ฮัตเทียน และ ฮิตไทต์

[แก้]
ผลของการโยกย้างถิ่นฐานของฮิตไทต์ราว 1900 ปีก่อนคริสต์ศักราช

โดยทั่วไปแล้วก็สรุปกันว่าชาวฮิตไทต์เข้ามาในอานาโตเลียราว 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะที่ภูมิภาคเดิมของฮิตไทต์ยังคงเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันอยู่ แต่ก็มีหลักฐานที่แน่นหนาราวร้อยปีมาแล้วว่าเป็นดินแดนอินโด-ยูโรเปียนในศตวรรษที่ 4 และ 3 ก่อนคริสต์ศักราชที่ในปัจจุบันคือบัลแกเรียและยูเครน ฮิตไทต์และชนอื่น ๆ ในกลุ่มอานาโตเลียมาจากทางตอนเหนือที่อาจจะเป็นบริเวณทะเลแคสเปียน การโยกย้ายเข้าไปในบริเวณอานาโตเลียอาจจะเป็นการเริ่มการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ในตะวันออกกลางเมื่อ 1900 ปีก่อนคริสต์ศักราช (1900 BCE Near East mass migration) ผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมกลุ่มหลักในอานาโตเลียขณะนั้นคือฮัตเทียน นอกจากนั้นก็ยังมีอาณานิคมอัสซีเรียอยู่ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ฮิตไทต์รับอักษรรูปลิ่มมาใช้ ฮิตไทต์ใช้เวลานานกว่าที่จะก่อตั้งตนเองเป็นหลักเป็นฐานในอานาโตเลีย ชั่วระยะเวลาหนึ่งฮิตไทต์ก็ตั้งตัวเป็นกลุ่ม ๆ ตามเมืองต่าง ๆ อิสระจากชนกลุ่มอื่น ๆ แต่เมื่อมีประมุขผู้เข้มแข็งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ Boğazköy ก็สามารถรวมตัวกันได้ และพิชิตดินแดนส่วนใหญ่ในอานาโตเลียที่ก่อตั้งขึ้นเป็นราชอาณาจักรฮิตไทต์[1]

ราว 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ฮิตไทต์มีศูนย์กลางอยู่ที่ฮัตทูซา (Hattusa) ที่ต่อมากลายมาเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรฮิตไทต์ บริเวณนี้เดิมเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้ที่มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และพูดภาษาที่ไม่ใช่กลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน นักการศึกษาเกี่ยวกับอานาโตเลียเรียกภาษานี้ว่า "ภาษาฮัตติก" (Hattic) เพื่อให้แตกต่างจากภาษาฮิตไทต์ที่เป็นภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน ที่ใช้ในช่วงเวลาเดียวกันราว 2000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และกลายมาเป็นภาษาราชการของราชอาณาจักรฮิตไทต์เป็นเวลาราวหกถึงเจ็ดร้อยปีต่อมา "ฮิตไทต์" เป็นชื่อสมัยใหม่ที่ใช้เรียกภาษานี้ แต่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "เนซิลี" (Nesili) หรือ "ในภาษาของเนซา" (Neša)

กลุ่มฮิตไทต์แรกที่ไม่ทราบที่มารับวัฒนธรรมของฮัตเทียนมาใช้เป็นอันมาก และวัฒนธรรมของพ่อค้าอัสซีเรีย—โดยเฉพาะการใช้อักษรรูปลิ่มและการใช้ตราประทับกลม

การที่ภาษาฮัตติกยังคงเป็นภาษาที่ใช้ในทางศาสนาในราชอาณาจักรฮิตไทต์อยู่เป็นเวลานานและดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองวัฒนธรรมจะดำเนินต่อเนื่องกันอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ไม่ทราบว่าผู้พูดภาษาฮัตติก— ฮัตเทียน— ถูกกำจัดโดยผู้พูดภาษาฮิตไทต์ หรือถูกกลืนชาติ หรือเพียงแต่ยอมใช้ภาษาเท่านั้น

อ้างอิง

[แก้]
  • Trevor R. Bryce, The Kingdom of the Hittites, Oxford (1998).

ดูเพิ่ม

[แก้]