ข้ามไปเนื้อหา

สหภาพไปรษณีย์สากล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สหภาพไปรษณีย์สากล
ชื่อย่อยูพียู (UPU)
ก่อตั้ง9 ตุลาคม 1874; 150 ปีก่อน (1874-10-09)
ประเภททบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ
สถานะตามกฎหมายดำเนินการอยู่
สํานักงานใหญ่แบร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ผู้อำนวยการ
Masahiko Metoki[1]
องค์กรปกครอง
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
เว็บไซต์www.upu.int
ผลจากสนธิเมื่อตุลาคม 1874

สหภาพไปรษณีย์สากล (ฝรั่งเศส: Union Postale Universelle; อังกฤษ: Universal Postal Union หรือ UPU) เป็นองค์การระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ประสานงานนโยบายการไปรษณีย์ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งประเทศสมาชิกแต่ละประเทศตกลงในนโยบายจัดการไปรษณีย์ภัณฑ์ระหว่างประเทศ ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันสหภาพไปรษณีย์สากลใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ และ ในปี พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) ได้เพิ่มภาษาอังกฤษเข้าเป็นภาษาใช้งาน

ประวัติ

[แก้]

ก่อนที่จะมีสหภาพไปรษณีย์สากล การที่ประเทศหนึ่งจะแลกเปลี่ยนไปรษณีย์กับประเทศอื่นได้ต้องมีการทำสนธิสัญญากับแต่ละประเทศคู่สัญญา อีกทั้งการส่งจดหมายระหว่างประเทศมักต้องติดแสตมป์ของประเทศต่าง ๆ ที่จดหมายเดินทางผ่าน

สหรัฐอเมริกาจึงเรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติในเรื่องนี้ ซึ่งการประชุมครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีผู้เข้าร่วม 15 ประเทศจากยุโรปและอเมริกา ผลเพียงแค่นำไปสู่อัตราไปรษณีย์ที่ชัดเจน ไม่ได้มีความตกลงระหว่างประเทศแต่อย่างไร 11 ปีต่อมาผู้แทนจาก 22 ประเทศเข้าประชุมที่กรุงแบร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ลงนามในสนธิสัญญาแบร์น จัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศได้สำเร็จ เมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2417 ใช้ชื่อว่า สหภาพไปรษณีย์ทั่วไป (ฝรั่งเศส: Union générale des postes; อังกฤษ: General Postal Union) แต่ในการประชุมไปรษณีย์สากลสมัยถัดไป พ.ศ. 2421 (ค.ศ. 1878) ที่กรุงปารีส เห็นว่าจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จึงได้ลงมติเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน

เมื่อมีการก่อตั้งสหประชาชาติ สหภาพไปรษณีย์สากลก็ได้กลายเป็นองค์การชำนัญพิเศษหน่วยหนึ่งของสหประชาชาติ

ข้อกำหนดสำหรับประเทศสมาชิก

[แก้]

ข้อกำหนดที่สหภาพไปรษณีย์สากลกำหนดขึ้นเช่น

  1. อัตราค่าส่งจดหมายไปยังประเทศปลายทางต่าง ๆ ควรมีอัตราใกล้เคียงกัน
  2. หน่วยงานไปรษณีย์ควรให้ความสำคัญกับจดหมายในประเทศและจดหมายระหว่างประเทศเท่า ๆ กัน
  3. หน่วยงานไปรษณีย์ของประเทศต้นทางเป็นฝ่ายที่เก็บค่าไปรษณีย์ทั้งหมด โดยไม่ต้องแบ่งให้กับประเทศทางผ่าน หรือประเทศที่เป็นปลายทางของจดหมาย ซึ่งข้อตกลงนี้มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังโดยเพิ่มค่าธรรมเนียมระหว่างหน่วยงานไปรษณีย์ โดยคิดจากผลต่างของน้ำหนักจดหมายในขาไปและขากลับ

สหภาพไปรษณีย์สากลยังเป็นผู้บริหารระบบวิมัยบัตร ซึ่งเป็นบัตรที่สามารถซื้อในประเทศหนึ่งและแลกเป็นแสตมป์ในทุกประเทศที่เป็นสมาชิก

ประเทศไทย

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) ผู้แทนไปรษณีย์ไทยนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้เข้าร่วมการประชุมสหภาพไปรษณีย์สากล ครั้งที่ 3 ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส และทำเรื่องขอเข้าร่วมสหภาพ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 หลังจากได้จัดตั้งกรมไปรษณีย์และให้บริการประมาณสองปี ทำให้กรมไปรษณีย์สามารถให้บริการจดหมายระหว่างต่างประเทศได้ ก่อนหน้านั้นจดหมายไปประเทศต้องส่งผ่านทางกงสุล เช่นกงสุลอังกฤษ หรือผ่านบริษัทเดินเรือของเอกชน ในโอกาสนี้กรมไปรษณีย์ก็ได้จัดพิมพ์แสตมป์ชุดที่สอง แทนแสตมป์ชุดที่หนึ่งหรือชุดโสฬศ โดยเพิ่มชื่อประเทศและราคาบนดวงแสตมป์เป็นภาษาอังกฤษตามข้อบังคับของสหภาพไปรษณีย์สากล

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Director General". UPU. สืบค้นเมื่อ 14 January 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]