กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรมประชาสงเคราะห์)
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
Department of Social Development and Welfare
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง3 ตุลาคม พ.ศ. 2545; 21 ปีก่อน (2545-10-03)[1]
หน่วยงานก่อนหน้า
  • กรมประชาสงเคราะห์
    (2483–2545)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่1034 ถนนกรุงเกษม แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 10100
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • จตุพร โรจนพานิช[2], อธิบดี
  • สุชาดา หมื่นกล้า, รองอธิบดี
ต้นสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
หน่วยงานลูกสังกัด
เว็บไซต์https://dsdw.go.th

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นหน่วยงานระดับกรม ในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การจัดสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ และการให้บริการสวัสดิการสังคมแก่คนไร้ที่พึ่ง ผู้ทำการขอทาน สมาชิกนิคมสร้างตนเอง ราษฎรบนพื้นที่สูง และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคมโดยการมีส่วนร่วมของ ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง[3]

ประวัติ[แก้]

ตราราชการของกรมประชาสงเคราะห์

กรมประชาสงเคราะห์ ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2483 โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เป็นอธิบดีคนแรก โดยในระยะแรกสังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี[4] โดยมีหน้าที่ในการจัดสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ บริการสวัสดิการสังคมแก่คนไร้ที่พึ่ง ซึ่งระยะเวลาต่อมา กรมได้ดำเนินการครอบคลุมไปถึง การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก การป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ รวมไปถึงการสงเคราะห์และพัฒนาชาวเขา[5]

ในเวลาต่อมาเมื่อได้มีการตรา พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545[1] กำหนดให้จัดตั้ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกำหนดให้แยก กรมประชาสงเคราะห์ ออกมาจาก กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พร้อมกับเปลื่ยนชื่อกรมเป็น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยให้โอนภาระและหน้าที่ และ งบประมาณจาก กรมประชาสงเคราะห์ ด้วย[6]

ประวัติการย้ายส่วนราชการ[แก้]

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ย้ายส่วนราชการมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง โดยเป็นการย้ายตั้งแต่สมัยยังใช้ชื่อ กรมประชาสงเคราะห์[4]:

หน่วยงานในสังกัด[แก้]

  • กลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญ
  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
  • กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม
  • กองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต
  • กองพัฒนาสังคมกลุ่มเป้าหมายพิเศษ
  • กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
  • กลุ่มตรวจสอบภายใน
  • กองส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม
  • ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมและต่อต้านการทุจริตกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
  • สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 11 แห่ง
  • ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด
  • นิคมสร้างตนเอง จำนวน 43 แห่ง
  • ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัด จำนวน 16 จังหวัด
  • ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิต จำนวน 3 แห่ง
  • ศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ จำนวน 3 แห่ง
  • พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่

สำนักงานธนานุคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ[แก้]

สำนักงานธนานุเคราะห์
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
Public Pawnshop Office
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง29 เมษายน พ.ศ. 2498 (68 ปี)
สำนักงานใหญ่อาคาร 8 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ถนนกรุงเกษม แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ประสงค์ พันธ์ลิมา, ผู้อำนวยการ
  • นภัส หลักคำ, รองผู้อำนวยการ
  • สุพัสตรา จันทร์ศรี, รองผู้อำนวยการ
หน่วยงานลูกสังกัด
  • สถานธนานุเคราะห์ จำนวน 43 แห่ง
เว็บไซต์http://www.pawn.co.th

สำนักงานธนานุเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือ โรงรับจำนำของรัฐ[7] เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2498 ดำเนินภารกิจเกี่ยวกับโรงรับจำนำ ปัจจุบันมีสถานธนานุเคราะห์ในสังกัด จำนวน 43 แห่งทั่วประเทศ

ประวัติ[แก้]

สำนักงานธนานุเคราะห์ โรงรับจำนำของรัฐ ได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2498 ในสมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย

ปี พ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานธนานุเคราะห์” การดำเนินงานระยะแรก มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการ สังกัดแผนกธนานุเคราะห์ กองสวัสดิการสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย

ปี พ.ศ. 2517 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยคณะที่ปรึกษาฝ่ายบริหารราชการ แผ่นดินจากการเป็นหน่วยงานของทางราชการเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัด กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยใช้ชื่อว่า “สำนักงานธนานุเคราะห์”

ปี พ.ศ. 2536 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงาน และเงินงบประมาณของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ไปเป็น ของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ตามประกาศ พระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2536 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 110 ตอนที่ 99 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2536

ปี พ.ศ. 2545 ได้มีการโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน พนักงาน ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกระทรวงแรงงานและ สวัสดิการสังคม ในส่วนของสำนักงานธนานุเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ มาเป็น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามประกาศพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 102 ก ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2545

สาขา[แก้]

สำนักงานธนานุเคราะห์มีสถานธนานุเคราะห์ทั้งหมด 43 แห่ง ตั้งอยู่ ในเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 29 แห่ง ปริมณฑล 4 แห่ง คือ จังหวัดนนทบุรี (2 สาขา) จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ และส่วนภูมิภาค 10 แห่ง คือ จังหวัดระยอง (2 สาขา) จังหวัดลำพูน จังหวัดอุดรธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดพิษณุโลก[8] จังหวัดชลบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดราชบุรี

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่ม 119 ตอนที่ 99ก หน้า 24 วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2545.
  2. มติคณะรัฐมนตรี 14 กุมภาพันธ์ 2566
  3. ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. 2559. เล่ม 133 ตอนที่ 94ก หน้า 29 วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559.
  4. 4.0 4.1 Historical Background The Department of Public Welfare (Old Website)
  5. หน้าที่ความรับผิดชอบของส่วนราชการในกรมประชาสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
  6. การโอนหน้าที่และงบประมาณของกรมประชาสงเคราะห์ไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
  7. สำนักงานธนานุเคราะห์
  8. "สถานที่ตั้งสำนักงานธนานุเคราะห์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-24. สืบค้นเมื่อ 2019-06-25.