ซาโลมอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โซโลมอน)
ซาโลมอน
กษัตริย์แห่งอิสราเอล
การพิพากษาของซาโลมอน วาดโดย เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์
ครองราชย์c. 970–931 ก่อนค.ศ.
ก่อนหน้าดาวิด
ถัดไปเยโรโบอัม (อาณาจักรเหนือ)
เรโหโบอัม (อาณาจักรใต้)
พระราชสมภพ1010 ปีก่อนค.ศ.
เยรูซาเลม
สวรรคต931 ปีก่อนค.ศ.
เยรูซาเลม
ชายาพระนางนามา
ธิดาฟาโรห์
สนม 700 นาง[1][2]
พระราชบุตรเรโหโบอัม
ราชสกุลราชวงศ์ดาวิด
พระราชบิดาดาวิด
พระราชมารดาบัท‌เชบา

ซาโลมอน[3][4][5] (ศัพท์คริสต์ศาสนา) หรือ โซโลมอน (ศัพท์ประวัติศาสตร์) (ละติน: Solomon; ฮีบรู: שְׁלֹמֹה) มาจากราก S-L-M ที่แปลว่า ความสงบ ในอิสลามว่า สุลัยมาน[6] หรือตามฉายาคือ ซาโลมอนผู้ทรงปัญญา ชื่ออีกชื่อหนึ่งที่ใช้ในคัมภีร์ฮีบรูคือ เจดิดิอา (ฮีบรู: יְדִידְיָהּ) เป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งอิสราเอล ปรากฏในทานัคของศาสนายูดาห์ คัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมของศาสนาคริสต์ และในอัลกุรอานของศาสนาอิสลาม คัมภีร์กล่าวว่ากษัตริย์ซาโลมอนเป็นพระโอรสของดาวิด[7] และกล่าวว่าเป็นกษัตริย์องค์ที่สามและองค์สุดท้ายของสหราชอาณาจักรชาวยิวก่อนที่จะแตกเป็นราชอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือและราชอาณาจักรยูดาห์ทางใต้ ซึ่งหลังจากการแตกประเทศ ผู้ที่สืบเชื้อสายซาโลมอนก็ปกครองแต่เพียงราชอาณาจักรยูดาห์เท่านั้นเอง

พระคัมภีร์กล่าวว่าพระเจ้าซาโลมอนเป็นผู้สร้างวิหารแห่งซาโลมอน[8] ในกรุงเยรูซาเลมที่ถือกันว่าเป็นพระวิหารแห่งเยรูซาเลมหลังแรก[7] และเป็นผู้มีความฉลาด มั่งคั่ง และอำนาจอย่างมากในยุคนั้น

ในพระคัมภีร์[แก้]

ซาโลมอนประสูติในกรุงเยรูซาเลม[9] เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของกษัตริย์ดาวิดที่ประสูติแด่พระนางบัท‌เชบา ส่วนพระราชโอรสองค์แรกนั้นสิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว มีพระเชษฐาและพระอนุชาร่วมพระราชบิดามารดาอยู่สามองค์ คือ ชิ‌เม‌อา, โช‌บับ และนาธัน[10] และซาโลมอนทรงมีพระเชษฐาต่างมารดาอยู่ 6 องค์

เหตุแย่งชิงบัลลังก์[แก้]

หนังสือพงศ์กษัตริย์เล่ม 1 ได้ระบุว่า "กษัตริย์​ดาวิด​มี​พระ‍ชน‌มายุ​และ​ทรง‍พระ‍ชรา​มาก​แล้ว แม้​จะ​ห่ม​ผ้า​ให้​หลาย​ผืน พระ‍องค์​ก็​ยัง​ไม่​อบอุ่น"[11] ดังนั้นบรรดาข้าราชสำนักจึงต้องเสาะแสวงหา​สาว‍งามพรหม‌จารีทั่วทั้งดินแดนอิสราเอล ซึ่งได้พบกับหญิง​ชาว​ชู‌เนมนามว่า อา‌บี‌ชาก​ [12] ซึ่งนางคอยปรน‌นิ‌บัติ​พระ‍องค์โดยที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กัน เมื่อกษัตริย์ดาวิดทรงอยู่ในสภาพเช่นนี้จึงทำให้เกิดการชิงอำนาจขึ้นในราชสำนัก เจ้าชาย​อา‌โด‌นี‌ยาห์ซึ่งประสูติแด่​พระ‍นาง​ฮัก‌กีทได้ประกาศตนขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ แต่ก็แพ้แก่กลอุบายของพระ‍นาง​บัท‌เช‌บาและนาธันผู้เผยพระวจนะ ซึ่งได้โน้มน้าวให้กษัตริย์ดาวิดทรงประกาศให้เจ้าชายซาโลมอนเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ตามที่เคยปฏิ‌ญาณ​ต่อพระยาเวห์ ถึงแม้ว่าซาโลมอนจะไม่ใช่โอรสองค์ใหญ่ก็ตาม

ซาโลมอนสืบราชสมบัติ[แก้]

ซาโลมอนรับการเจิมเป็นกษัตริย์ วาดโดย Cornelis de Vos

ซาโลมอนได้ขึ้นครองราชย์ตามพระบัญชาของกษัตริย์ดาวิด หลังครองราชย์แล้วซาโลมอนก็เริ่มกำจัดฝ่ายตรงข้าม ทั้งประหารเจ้าชาย​อา‌โด‌นี‌ยาห์, ประหารแม่ทัพโยอาบคนสนิทของพระบิดา, ขับไล่ปุโรหิต​อา‌บี‌ยา‌ธาร์​ ฯลฯ ซาโลมอนแต่งตั้งให้เพื่อนฝูงญาติมิตรมีอำนาจในราชสำนัก ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร กองทัพของซาโลมอนมีความเข้มแข็งขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะกองทหารม้าและกองรถม้า พระองค์ได้จัดตั้งนิคมขึ้นจำนวนหลายแห่งทั้งนิคมการค้าและค่ายทหาร หลังครองราชย์ได้สี่ปีพระองค์ก็ได้สร้างวิหารหลังแรกขึ้นคือวิหารแห่งซาโลมอน การค้าขายระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างรุ่งเรืองในรัชสมัยพระองค์ พระองค์ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นกษัตริย์อิสราเอลที่มั่งคั่งที่สุดที่ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์

สติปัญญาจากพระเจ้า[แก้]

พระยาเวห์ประทานสติปัญญาแก่ซาโลมอน วาดโดย Luca Giordano

ซาโลมอนเป็นบุคคลที่ทรงพระสติปัญญาที่สุดในพระคัมภีร์ ในหนังสือพงศ์กษัตริย์ฉบับ 1 ซาโลมอนได้ทรงอุทิศพระองค์เองต่อพระยาเวห์และทูลขอพระสติปัญญา พระยาเวห์ทรงตอบรับคำอธิษฐานของพระองค์ ทรงให้สัญญาแก่ซาโลมอนว่าจะประทานสติปัญญาชั้นเลิศที่สุดแก่ซาโลมอน เนื่องจากพระองค์ไม่ได้ทูลขอสิ่งที่เห็นแก่ตัวอย่างความเป็นอมตะหรือความพินาศของอริศัตรู

เรื่องราวที่มีชื่อเสียงที่สุดในด้านพระสติปัญญาของซาโลมอนคือคำพิพากษาของซาโลมอน เป็นคดีที่มีสตรีสองคนอ้างสิทธิว่าเป็นแม่ที่แท้จริงของเด็กทารกคนหนึ่งและขอให้ซาโลมอนทรงตัดสิน ซาโลมอนพิพากษาคดีอย่างง่าย ๆ โดยให้ตัดเด็กทารกออกเป็นสองส่วนแบ่งให้สตรีผู้กล่าวอ้างทั้งสองคนเสีย ทันใดนั้นมีสตรีคนหนึ่งยอมถอนตัวทันที เธอกล่าวว่าเธอขอยอมแพ้เสียดีกว่าให้เด็กถูกฆ่าตาย เมื่อได้ยินเช่นนั้นซาโลมอนจึงประกาศให้สตรีผู้ที่ถอนตัวเป็นแม่ของเด็กทารก

สติปัญญาของซาโลมอนนั้นเป็นที่เลื่องลือไปในอาณาจักรมากมาย นั่นเองทำให้ชาวต่างประเทศมากมายต่าง "...แสวง‍หา​ที่​จะ​เข้า‍เฝ้า​ซา‌โล‌มอน เพื่อ​จะ​ฟัง​พระ‍สติ‍ปัญญา​ซึ่ง​พระ‍เจ้า​ประ‌ทาน​ไว้​ใน​พระ‍ทัย​ของ​พระ‍องค์ ทุก​คน​ก็​นำ​เครื่อง‍บรร‌ณา‌การ​ของ​เขา​มา คือ​ภาชนะ​เงิน​และ​ภาชนะ​ทอง เสื้อ‍ผ้า อาวุธ เครื่อง‍เทศ ม้า​และ​ล่อ ตาม​จำ‌นวน​กำ‌หนด​ทุก ๆ ปี"[13]

ชายาและบาทบริจาริกา[แก้]

คัมภีร์ไบเบิลระบุว่า ซาโลมอนมีชายา 700 องค์และบริจาริกาอีก 300 นาง บรรดาชายาล้วนเป็นพระราชธิดาจากต่างอาณาจักร อาทิ ธิดาของฟาโรห์แห่งอียิปต์, ธิดาแห่งอาณาจักรอัมโมน, ธิดาแห่งอาณาจักรโมอับ ฯลฯ ในพระคัมภีร์ยังบันทึกไว้อีกว่า กษัตริย์ซาโลมอนได้หลงชายาต่างชาติจนยินยอมให้ชายาทั้งหลายนับถือเทพเจ้าของอาณาจักรตนเอง ยอมให้สร้างวิหารของเทพเจ้าของศาสนาอื่นในอาณาจักรของพระองค์ การกระทำเช่นนี้ของซาโลมอนทำให้พระยาเวห์ทรงกริ้ว[14] กลายเป็นปฐมเหตุที่พระยาเวห์เอาพระทัยออกห่างอิสราเอล พระยาเวห์เริ่มแผนการจะทำลายอิสราเอลโดยการยืมมือของอาณาจักรศัตรูของอิสราเอล

ซาโลมอนสวรรคต อิสราเอลแตกเป็นเหนือ-ใต้[แก้]

ในคัมภีร์ฮีบรูระบุว่า ซาโลมอนเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชอาณาจักรอิสราเอล เสด็จสวรรคตด้วยโรคชราเมื่อมีพระชนม์ราว 80 ปี หลังซาโลมอนสวรรคต เจ้าชายเรโหโบอัมก็ได้สืบบัลลังก์ต่อจากพระบิดาในกรุงเยรูซาเลม อย่างไรก็ตาม สิบสองชนเผ่าอิสราเอลกลับไม่ยอมรับเรโหโบ‌อัมเป็นกษัตริย์และประกาศแยกประเทศอยู่ทางเหนือ โดยให้เยโรโบอัมจากเผ่าเอฟราอิมเป็นกษัตริย์ ประเทศอิสราเอลจึงแตกออกเป็นเหนือ-ใต้

  • อิสราเอลเหนือเรียกว่า "อาณาจักรอิสราเอล" มีเมืองหลวงอยู่ที่ซามาเรีย มีเยโรโบอัมเป็นกษัตริย์
  • อิสราเอลใต้ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเรียกว่า "อาณาจักรยูดาห์" มีเมืองหลวงอยู่ที่เยรูซาเลม มีเรโหโบอัมเป็นกษัตริย์

พระราชทรัพย์[แก้]

ซาโลมอนสร้างวิหารในเยรูซาเลมอุทิศพระเป็นเจ้า วาดโดย James Tissot

ในคัมภีร์ฮีบรูระบุว่าราชสำนักอิสราเอลมีความมั่งคั่งที่สุดในปีที่ 40 ในรัชกาลของซาโลมอน ในแต่ละปีต่างมีชาวต่างประเทศมากมายหวังเข้าเฝ้าเพื่อถวายเครื่องบรรณาการแก่ซาโลมอน ดังปรากฏความว่า "น้ำ‍หนัก​ของ​ทอง‍คำ​ที่​นำ​มา​ถวาย​ซา‌โล‌มอน​ใน​ปี​หนึ่ง​นั้น​เป็น​ทอง‍คำ​หนัก​ถึง 23,000 กิโล‍กรัม...ถ้วย​ทั้ง‍สิ้น​ของ​พระ‍ราชา​ซา‌โล‌มอน​ทำ​ด้วย​ทอง‍คำ และ​ภาชนะ​ทั้ง‍สิ้น​ของ​พระ‍ตำ‌หนัก​พนา​เล‌บา‌นอน​ทำ​ด้วย​ทอง‍คำ​บริ‌สุทธิ์ ไม่‍มี​ที่​ทำ​ด้วย​เงิน​เลย เงิน​นั้น​ถือ‍ว่า​เป็น​ของ​ไม่‍มี​ค่า​อะไร​ใน​สมัย​ของ​ซา‌โล‌มอน"[15] นอกจากนี้ซาโลมอนยังมีกองเรือของตนเองซึ่งจะนำทรัพย์สินเข้ามาถวายปีละสามหน

ตำนาน[แก้]

ดวงตราแห่งซาโลมอน[แก้]

ซาโลมอนมีแหวนมนตราวงหนึ่งที่เรียกว่า ดวงตราแห่งซาโลมอน (Seal of Solomon) เชื่อกันว่าซาโลมอนได้รับมอบแหวนวงนี้และมีอำนาจเหนือญินและปิศาจ กล่าวกันว่าสัญลักษณ์มนตราบนแหวนเป็นสัญลักษณ์เดียวกับ ดาราแห่งดาวิด (บ้างเรียก โล่แห่งดาวิด) แม้ว่าดาราแห่งดาวิดจะเป็นสัญลักษณ์ของศาสนายูดาห์ซึ่งเริ่มปรากฏในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ถึง 4 ก็ตาม บันทึกของรับบีระบุว่า ครั้งหนึ่งราชาแห่งเหล่ามารแอสโมเดียส (Asmodeus) ถูกจับกุมโดยเบไนอา (Benaiah) ที่สวมแหวนอยู่ และถูกบังคับให้อยู่ใต้อาณัติของซาโลมอน

ในอีกตำนานระบุว่าแอสโมเดียสนำชายผู้หนึ่งซึ่งมีสองหัวขึ้นมาจากโลกบาดาลเพื่อให้ซาโลมอนทอดพระเนตร ชายผู้นั้นไม่สามารถกลับไปโลกบาดาลได้ จึงได้อยู่กินกับสตรีนางหนึ่งในกรุงเยรูซาเลม และมีลูกชายด้วยกันเจ็ดคน หกในจำนวนเจ็ดคนนั้นมีลักษณะเช่นมารดา ส่วนอีกหนึ่งคนมีสองหัวเช่นบิดา เมื่อบิดาเสียชีวิต นายสองหัวได้เรียกร้องมรดกในส่วนสำหรับสองคน ซาโลมอนตัดสินว่านายสองหัวเป็นเพียงบุคคลเดียว

ดวงตราแห่งซาโลมอนเปรียบได้ดั่งแหวนแห่งอำนาจ ในหลายตำนานระบุว่า มีหลายกลุ่มคณะบุคคลเคยพยายามชิงหรือขโมยแหวนด้วยทางใดทางหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจมนตรา

วัตถุแห่งซาโลมอน[แก้]

อีกหนึ่งวัตถุมาตราหนึ่งของซาโลมอนคือโต๊ะและกุญแจแห่งซาโลมอน เป็นที่กล่าวว่าโต๊ะแห่งซาโลมอนตั้งอยู่ในเมืองโตเลโดในช่วงที่ชาววิซิกอทปกครอง ก่อนที่จะถูกชิงไปโดยนายทหารฝ่ายมุสลิมในช่วงอาณาจักรอุมัยยะฮ์พิชิตดินแดนไอบีเรีย[16] ส่วนกุญแจแห่งซาโลมอนปรากฏอยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า กุญแจย่อยของซาโลมอน ซึ่งเป็นตำราไสยเวทมีโครงเรื่องที่ซาโลมอนจับกุมปิศาจต่างๆด้วยแหวน และบังคับให้ปิศาจพวกนั้นแนะนำชื่อเสียงเรียงนามแก่ตน

ในอิสลาม[แก้]

ท่านนบีสุลัยมาน (อ.ล.) เป็นบุตรของนบีดาวูด (อ.ล.) ท่านสืบทอดความเป็นนบี (นุบูวะฮฺ) และความเป็นกษัตริย์ต่อจากบิดาของท่าน ช่วงสมัยของนบีสุลัยมาน (อ.ล.) คือราว 1010-970 ก่อนคริสตกาล เรื่องราวของท่านถูกระบุเอาไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน 16 ที่ด้วยกัน  ส่วนหนึ่งจากความพิเศษของท่านนบีสุลัยมาน (อ.ล.) คือ พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานความเฉลียวฉลาดและความถูกต้องแม่นยำในการตัดสินคดีความนับตั้งแต่ช่วงเยาว์วัยของท่าน

พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงสอนให้ท่านนบีสุลัยมาน (อ.ล.) รู้ภาษาของสัตว์บางชนิด เช่น นก และมด เป็นต้น พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงบันดาลให้มีตาน้ำทองแดงไหลออกมาแก่ท่านเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ , ให้หมู่ญินคอยบริการรับใช้ท่านในการสร้างเมียะหรอบ , รูปเหมือน และหม้อตลอดจนถาดขนาดใหญ่ , กองทัพของท่านประกอบไปด้วยญิน , มนุษย์และฝูงนก , ตลอดจนสายลมที่จะพัดไปตามบัญชาของท่านเป็นต้น

ในสมัยของท่านนบีสุลัยมาน (อ.ล.) กษัตริย์ฮิรอม แห่งเมืองไทร์ (ซู๊ร) ได้ส่งช่างฝีมือและวัสดุอุปกรณ์มาร่วมสร้างมัสยิดอัลอักศอ หรือที่เรียกกันว่า มหาวิหารของสุลัยมาน (โซโลมอน) และมีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับอาณาจักรแห่งสะบะอฺ ของพระนางบิลกีซ , อาณาจักรยะฮูดาที่ท่านนบีสุลัยมาน (อ.ล.) ปกครองมีอาณาเขตครอบคลุมตั้งแต่อ่าว อะเกาะบะฮฺ (อัย-ละฮฺ) ปาเลสไตน์ จอร์แดนตะวันออก , เลบานอน , ซีเรีย จรดชาดฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส

والله أعلم بالصواب[17]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "In Our Time With Melvyn Bragg: King Solomon". UK: BBC Radio 4. 7 June 2012. สืบค้นเมื่อ 2012-06-10.
  2. Holy Bible. 1 Kings 11:1-3. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)CS1 maint: location (ลิงก์)
  3. หนังสือพงศ์กษิตริย์ ฉบับที่ 1-2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  4. หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 1-2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  5. หนังสือเพลงซาโลมอน, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  6. Kaplan, Aryeh (1989). The Bahir. p. 130. ISBN 0877286183.
  7. 7.0 7.1 Barton, George A. "Temple of Solomon". Jewish Encyclopedia. New York, NY.: Funk & Wagnalls. pp. 98–101. doi:10.1038/2151043a0. สืบค้นเมื่อ 2007-05-15.
  8. หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 2 3:1-14, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  9. 1 พงศาวดาร 14:4 ,พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  10. 1 พงศาวดาร 3:5 , พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  11. 1 พงศ์กษัตริย์ 1:1
  12. 1 พงศ์กษัตริย์ 1:3
  13. 1 พงศ์กษัตริย์ 10:24
  14. 1 พงศ์กษัตริย์ 11:6
  15. 1 พงศ์กษัตริย์ 10:21
  16. Ibn Abd-el-Hakem. History of the Conquest of Spain.
  17. "ประวัติโดยสรุปของนบีสุลัยมาน โดย อ. อะลี เสือสมิง".{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าซาโลมอน