เตียวอุ๋น (ง่อก๊ก)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เตียวอุ๋น (จาง เวิน)
張溫
ขุนพลราชองครักษ์ส่งเสริมคุณธรรม
(輔義中郎將 ฝู่อี้จงหลางเจี้ยง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 224 (224) – ค.ศ. 230 (230)
ราชครูประจำองค์รัชทายาท
(太子太傅 ไท่จื่อไท่ฟู่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
ราชเลขาธิการสำนักคัดเลือก
(選曹尚書 เสฺวี่ยนเฉาช่างชู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
ขุนนางที่ปรึกษา (議郎 อี้หลาง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 193[a]
ซูโจฺว มณฑลเจียงซู
เสียชีวิต230[3] (37 ปี)[b]
บุพการี
  • จาง ยฺหวิ่น (บิดา)
ญาติ
  • จาง จือ (น้องชาย)
  • จาง ไป๋ (น้องชาย)
  • พี่สาวน้องสาว 3 คน
อาชีพขุนพล, ขุนนาง
ชื่อรองฮุ่ยชู่ (惠恕)

เตียวอุ๋น (ค.ศ. 193–230) มีชื่อภาษาจีนกลางว่า จาง เวิน (จีน: 張溫) ชื่อรอง ฮุ่ยชู่ (惠恕) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน[3]

ภูมิหลังครอบครัวและการรับราชการช่วงต้น[แก้]

เตียวอุ๋นเป็นชาวอำเภออู๋เซี่ยน (吳縣) เมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครซูโจฺว มณฑลเจียงซู เตียวอุ๋นมาจากตระกูลเตียว (張 จาง) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ตระกูลทรงอิทธิพลในเมื่องง่อกุ๋นในเวลานั้น[c] บิดาของเตียวอุ๋นชื่อจาง ยฺหวิ่น (張允) มีชื่อเสียงในเมืองง่อกุ๋นในเรื่องการให้ความสำคัญกับมิตรภาพและไม่ยึดตั้งความมั่งคั่งทางวัตถุ จาง ยฺวิ่นยังรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยของขุนศึกซุนกวน[6] ซึ่งภายหลังขึ้นเป็นจักรพรรดิผู้สถาปนารัฐง่อก๊ก

เตียวอุ๋นในวัยเยาว์มีชื่อเสียงในเรื่องคุณธรรมและมีรูปลักษณ์ที่สง่างาม เมื่อซุนกวนได้ยินชื่อเสียงของเตียวอุ๋นจึงถามเหล่าขุนนางว่า "ในบรรดาคนรุ่นราวคราวเดียวกัน เตียวอุ๋นเทียบได้กับใคร" หลิว จีตอบว่า "เทียบได้กับจวนจ๋อง" แต่โกะหยงเห็นต่างว่า "หลิว จีไม่รู้จักเขาดีพอ ไม่มีใครเลยที่จะเทียบได้กับเตียวอุ๋น" ซุนกวนจึงพูดว่า "หากเป็นเช่นนั้น ก็เหมือนจาง ยฺหวินยังมีชีวิตอยู่" เมื่อเตียวอุ๋นถูกเรียกตัวไปยังที่ว่าการของเมืองง่อกุ๋นเพื่อพบซุนกวนและเหล่าขุนนาง ได้สร้างความประทับให้ทุกคนด้วยกิริยาท่าทางและการตอบคำถามต่าง ๆ อย่างฉะฉาน เมื่อเตียวอุ๋นกำลังจะลาออกไป เตียวเจียวจับมือของเตียวอุ๋นพูดว่า "ข้าขอฝากแผนการของข้าไว้กับท่าน ท่านคงจะเข้าใจที่จะข้าจะสื่อ" ต่อมาเตียวอุ๋นได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางที่ปรึกษา (議郎 อี้หลาง) และราชเลขาธิการสำนักคัดเลือก (選曹尚書 เสฺวี่ยนเฉาช่างชู) ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นราชครูประจำองค์รัชทายาท (太子太傅 ไท่จื่อไท่ฟู่) และได้รับการนับถืออย่างสูงจากซุนกวน[7]

ภารกิจการทูตไปจ๊กก๊ก[แก้]

ในฤดูร้อน ค.ศ. 224[1] เมื่อเตียวอุ๋นอายุ 31 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลราชองครักษ์ส่งเสริมคุณธรรม (輔義中郎將 ฝู่อี้จงหลางเจี้ยง ) และถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจการทูตที่จ๊กก๊กอันเป็นรัฐพันธมิตรของง่อก๊ก ก่อนจะออกเดินทาง ซุนกวนบอกเตียวอุ๋นว่า "ที่จริงข้าไม่ต้องการส่งท่านไปปฏิบัติภารกิจนี้ ที่ข้าต้องส่งท่านไปเพราะข้ากังวลว่าจูกัดเหลียงอาจจะตีความข้อตกลงระหว่างเรากับพวกแซ่โจ (วุยก๊ก) ผิดไป เราควรร่วมมือกับจ๊กก๊กอย่างใกล้ชิดมากขึ้นหลังจากจัดการกับภัยคุกคามจากเผ่าซานเยฺว่แล้ว ท่านในฐานะทูตมีภารกิจที่ต้องทำให้ลุล่วง แต่ท่านไม่มีข้อจำกัดว่าท่านสามารถพูดอะไรได้บ้าง" เตียวอุ๋นตอบว่า "กระหม่อมไม่เคยรับหน้าที่รับผิดชอบยิ่งใหญ่ในราชสำนักมาก่อน และไม่มีความสามารถในการจัดการทางการทูตได้ดี กระหม่อมเกรงว่ากระหม่อมไม่อาจเผยแพร่เกียรติคุณของง่อก๊กได้เช่นเดียวกับที่ผู้อาวุโสเตียว (หมายถึงเตียวเจียว) ทำได้ และไม่อาจตัดสินใจได้ดีอย่างจื๋อฉ่าน แต่จูกัดเหลียงเป็นผู้มีปัญญา เฉลียวฉลาด และเก่งการวางแผนระยะยาว กระหม่อมจึงเชื่อว่าเขาจะต้องเข้าใจเจตนาของฝ่าบาทและเหตุผลที่พระองค์ทรงกระทำข้อตกลงกับวุยก๊กเป็นแน่ ด้วยการอำนวยพรจากราชสำนัก กระหม่อมเชื่อว่าจะไม่ยากที่จะเข้าใจในสิ่งที่จูกัดเหลียงกำลังมองหา ไม่มีอะไรต้องทรงวิตก"[2]

เมื่อมาถึงจ๊กก๊ก เตียวอุ๋นได้รับการต้อนรับอย่างดีและได้รับเชิญไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิเล่าเสี้ยนแห่งจ๊กก๊กที่ราชสำนัก เตียวอุ๋นทูลสรรเสริญเล่าเสี้ยนที่มีผู้มีความสามารถจำนวนมากในราชสำนัก และเปรียบเทียบเล่าเสี้ยนกับพระเจ้าอู่ติง กษัตริย์ราชวงศ์ชาง และพระเจ้าโจวเฉิง กษัติรย์แห่งราชวงศ์โจว จากนั้นจึงทูลชี้แจ้งว่าจริง ๆ แล้วง่อก๊กอยากจะคงสัมพันธ์ฉันมิตรกับจ๊กก๊ก แต่ต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊กอย่างไม่เต็มใจเพราะขาดกำลังทหารไปต้านวุยก๊ก นอกจากนี้เตียวอุ๋นยังแสดงความขอบคุณต่อผู้คนในจ๊กก๊กที่ต้อนรับตนเป็นอย่างดี ราชสำนักจ๊กก๊กประทับใจและยกย่องเตียวอุ๋นอย่างสูง[8]

ไม่นานหลังจากเตียวอุ๋นกลับมาง่อก๊ก ก็ถูกส่งไปประจำอยู่กองทหารรักษาการที่เมืองอิเจี๋ยง (豫章郡 ยฺวี้จางจฺวิ้น) แต่ไม่มีหน้าที่สำคัญใด ๆ ที่นั่น[9]

ตกต่ำและเสียชีวิต[แก้]

ซุนกวนไม่พอใจที่เตียวอุ๋นยกย่องราชสำนักจ๊กก๊ก ทั้งยังอิจฉาที่เตียวอุ๋นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซุนกวนกลัวว่าเตียวอุ๋นจะชนะใจผู้คนและจะยึดอำนาจตนในที่สุด จึงหาทางจะปลดเตียวอุ๋นออก โอกาสของซุนกวนมาถึงเมื่อเตียวอุ๋นมีส่วนเกี่ยวกับเรื่องของจี้ เยี่ยนขุนนางที่เตียวอุ๋นแนะนำให้ราชสำนักง่อก๊ก จี้ เยี่ยนสร้างความไม่พอใจอย่างมากในเหล่าเพื่อนขุนนาง เมื่อจี้ เยี่ยนเสนอความคิดสุดโต่งในการปฏิรูประบบราชการอันส่งผลกระทับถึงขุนนางง่อก๊กถึงร้อยละ 90[10]

ในปี ค.ศ. 224 จี้ เยี่ยนและเพื่อนขุนนางชื่อสฺวี เปียว (徐彪) ถูกจับกุมและถูกปลดจากตำแหน่งด้วยข้อหาว่าประพฤติมิชอบ ทั้งคู่ฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา เตียวอุ๋นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพราะเป็นผู้ที่แนะนำจี้ เยี่ยน และยังเป็นเพื่อนสนิทของทั้งจี้ เยี่ยนและสฺวี เปียว เตียวอุ๋นจึงพลอยถูกปลดจากตำแหน่งและถูกจับขังคุก[11][d]

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 224[4] ซุนกวนร่างหนังสือระบุความผิดของเตียวอุ๋น หนังสือมีความว่า:

เมื่อครั้งข้ารับเตียวอุ๋นเข้าทำงาน ข้าตั้งใจจะเตรียมตำแหน่งว่างให้เขามารับ หวังว่าจะไว้วางใจมอบหมายความรับผิดชอบยิ่งใหญ่ในกาลภายหน้า ข้าปฏิบัติต่อเขาดีกว่าเสนาบดีผู้ใหญ่บางท่านเสียอีก ไม่คาดคิดเลยว่าเขาจะกลับกลายเป็นคนชั่วร้ายตระบัดสัตย์ได้ถึงเพียงนี้

ในกาลก่อน ข้าไม่มีอคติต่อจี้ เยี่ยนและครอบครัว แม้ว่าข้าจะได้ยินมาว่าพวกเขาเข้าข้างคนชั่วมาก่อน ข้าจึงยังคงรับมาทำราชการและเลื่อนขั้นให้พวกเขาเพราะข้าต้องการสังเกตการณ์ว่าจี้ เยี่ยนจะทำหน้าที่ในตำแหน่งอย่างไร บัดนี้เมื่อตรวจสอบอย่างใกล้ชิด จึงเห็นธาตุแท้ของเขา เขาเป็นเพื่อนสนิทของเตียวอุ๋น และทำตามการนำของเตียวอุ๋น พวกเขานับถือซึ่งกันและกันและสนิทกันมาก พวกเขาจับผิดข้าราชการใด ๆ ที่ไม่ใช่พวกของตนและตั้งข้อหาเพื่อปลดออกจากตำแหน่ง

เมื่อข้ามอบหมายให้เตียวอุ๋นรับผิดชอบดูแลสามเมืองและนำข้าราชการกับกองทหารที่เหนื่อยล้าไปที่นั่น ข้ากลัวว่าจะเกิดสงครามขึ้นที่นั่น จึงสั่งให้เขาอพยพโดยเร็ว ข้ามอบทวนจี่พิธีการเพื่อช่วยให้เตียวอุ๋นมีอำนาจบังคับบัญชา

เมื่อครั้งเตียวอุ๋นอยู่ที่อิเจี๋ยง ได้เขียนฎีกาถึงข้า เสนอให้โจมตีกบฏและพวกที่สร้างปัญหาอื่น ๆ ในพื้นที่ ข้าเชื่อถือเตียวอุ๋นจึงอนุมัติข้อเสนอ และส่งกำลังห้าพันนายจากกองทหารราชองครักษ์และหน่วยเจี่ยฝาน (解煩) ไปสนับสนุน ภายหลังข้าได้ยินว่าโจผีนำทัพด้วยตนเองเข้าโจมตีพื้นที่โดยรอบแม่น้ำไหฺวและซื่อ ข้าออกคำสั่งล่วงหน้าถึงเตียวอุ๋น สั่งให้เตรียมพร้อมนำกำลังมาสนับสนุนข้าในเหตุฉุกเฉิน แต่เตียวอุ๋นรวบรวมกำลังไปตั้งมั่นในเนินเขาลึกแทน และถึงขั้นปฏิเสธที่จะยกมาเมื่อข้าเรียก โชคดีที่โจผีถอยทัพไป มิฉะนั้นผลที่ตามมาก็ไม่อาจคาดคิด

มีคนผู้หนึ่งชื่ออิน หลี่ (殷禮) ซึ่งเชี่ยวชาญการทำนายทายทัก ข้าเชิญเขามาที่ราชสำนักแต่เตียวอุ๋นยืนกรานที่จะพาเขาไปจ๊กก๊ก แนะนำและยกย่องเขาให้ราชสำนักจ๊กก๊ก หลังจากอิน หลี่กลับมาง่อก๊ก เขาควรได้รับตำแหน่งที่เราเตรียมไว้ให้ แต่เตียวอุ๋นกลับให้เขาทำงานในสำนักราชเลขาธิการแทน การจัดการเหล่านี้กระทำโดยเตียวอุ๋นทั้งหมด

เตียวอุ๋นยังบอกเจี่ย ยฺเหวียน (賈原) ว่าตนต้องการเลื่อนขั้นให้เจีย ยฺเหวียนเป็นเสนาบดีตรวจการ (御史 ยฺวี้ฉื่อ) จากนั้นก็ไปหาเจี่ยง คาง (蔣康) บอกให้เจี่ยง คางมาแทนที่เจี่ย ยฺเหวียน เตียวอุ๋นใช้อำนาจที่ได้รับจากราชสำนักในทางที่ผิดโดยการสร้างกลุ่มการเมืองของตนเอง เป็นหลักฐานว่าเขากระทำทุจริตและสามารถก่อการในทางมุ่งร้ายได้

ข้าทนไม่ได้ที่จะเห็นเตียวอุ๋นถูกประหารชีวิตในที่สาธารณะ จึงอนุญาตให้เขากลับบ้านและรับราชการที่นั่นต่อไปในฐานะข้าราชการระดับล่าง เตียวอุ๋นเอ๋ย ท่านโชคดีมากที่รอดพ้นจากความตาย[12]

ขุนพลเล่งทอง (駱統 ลั่ว ถ่ง) เขียนฎีกายาวเหยียดถึงซุนกวน เกลี้ยกล่อมซุนกวนให้ยกโทษให้เตียวอุ๋น แต่ซุนกวนไม่ยอมรับคำแนะนำ[13]

เตียวอุ๋นป่วยเสียชีวิตในอีก 6 ปีถัดมาหลังจากถูกปลดจากตำแหน่ง[5]

ครอบครัว[แก้]

เตียวอุ๋นมีน้องชาย 2 คนคือจาง จือ (張祗) และจาง ไป๋ (張白) ทั้งคู่มีชื่อเสียงในฐานะผู้มีความสามารถเช่นกัน ทั้งสองเสียตำแหน่งราชการพร้อมกับเตียวอุ๋นผู้พี่ชาย[14] จาง ไป๋แต่งงานกับลู่ ยฺวี่เชิง (陸鬱生) บุตรสาวของลกเจ๊ก (ลู่ จี้)[15]

เตียวอุ๋นยังมีพี่สาวน้องสาวอีก 3 คนซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องคุณธรรม น้องสาวคนที่สองของเตียวอุ๋นแต่งงานกับกู้ เฉิง (顧承) หลานชายของโกะหยง (กู้ยง) หลังกู้ เฉิงเสียชีวิต นางก็ถูกจับคลุมถุงชนให้แต่งงานใหม่กับชายที่มีแซ่เตง ( ติง) นางฆ่าตัวตายในวันแต่งงานด้วยการกินยาพิษ ราชสำนักง่อก๊กยกย่องนางที่ยังคงซื่อสัตย์ต่อสามีผู้ล่วงลับ ผู้คนในบ้านเกิดของนางวาดภาพของนางเพื่อระลึกถึง[16]

คำวิจารณ์[แก้]

ครั้งหนึ่งมีชายชื่อยฺหวี จฺวิ้น (虞俊) ชาวอำเภออีเหี้ยว (餘姚縣 ยฺหวีเหยาเซี่ยน) ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับเตียวอุ๋นว่า "จาง ฮุ่ยชู่[e] มีความสามารถแต่ไม่ฉลาด ฉูดฉาดแต่ไม่มองความเป็นจริง ตัดสินจากความแค้นของผู้คนที่มีต่อเขาที่เพิ่มขึ้น คาดการณ์ได้ว่าเขาจะพบกับหายนะในสักวัน" จูกัดเหลียงไม่เห็นด้วยกับทัศนะของยฺหวี จฺวิ้นในตอนแรก แต่ภายหลังก็ยกย่องยฺหวี จฺวิ้นที่มองการณ์ไกลเมื่อการคาดการณ์ของเขากลายเป็นความจริง นอกจากนี้จูกัดเหลียงยังครุ่นคิดถึงสาเหตุของความตกต่ำของเตียวอุ๋นเป็นเวลาหลายวันก่อนที่จะสรุปว่า "ข้ารู้แล้ว เขาเถรตรงเกินไปเมื่อต้องแยกความแตกต่างระหว่างความซื่อตรงและการทุจริต ระหว่างความดีและความชั่ว"[17]

ตันซิ่ว ผู้เขียนชีวประวัติเตียวอุ๋นในจดหมายเหตุสามก๊ก ประเมินเตียวอุ๋นไว้ว่า "เตียวอุ๋นมีความสามารถและดูดี แต่ขาดสติปัญญาและความรอบคอบ นั่นส่งผลให้ต้องประสบกับปัญหา"[18]

เผย์ ซงจือ ผู้เขียนอรรถาธิบายขยายความชีวประวัติเตียวอุ๋น ตั้งข้อสังเกตว่าการตกต่ำของเตียวอุ๋นเกิดจากชื่อเสียงที่แพร่หลายทำให้ซุนกวนเกิดความอิจฉา ชื่อเสียงของเตียวอุ๋นมีหลักฐานชัดเจนจากฎีกาของเล่งทอง (ลั่ว ถง) ถึงซุนกวน ซึ่งเล่งทองกล่าวว่า "เตียวอุ๋นไม่มีใครเทียบ"[19]

ในนิยายสามก๊ก[แก้]

เตียวอุ๋นปรากฏเป็นตัวละครในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก โดยมีบทบาทในตอนที่ 86[f] ซุนกวนสั่งให้เตียวอุ๋นร่วมเดินทางกับเตงจี๋กลับไปจ๊กก๊ก หลังจากเตงจี๋ในฐานะทูตของจ๊กก๊กมาเจรจาโน้มน้าวให้ซุนกวนสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างง่อก๊กและจ๊กก๊กอีกครั้งเพื่อต่อต้านวุยก๊ก เตียวอุ๋นเข้าเฝ้าเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊ก ่ก่อนที่เตียวอุ๋นจะกลับไปง่อก๊ก เล่าเสี้ยนมีรับสั่งให้เตรียมงานเลี้ยงส่งเตียวอุ๋นและให้จูกัดเหลียงและขุนนางผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ไปร่วมงาน ระหว่างงานเลี้ยง เตียวอุ๋นโต้วาทีกับจินปิดขุนนางของจ๊กก๊ก จินปิดตอบคำถามของเตียวอุ๋นได้อย่างลื่นไหล ส่วนเตียวอุ๋นไม่สามารถตอบคำถามของจินปิดได้ ภายหลังเตียวอุ๋นจึงพูดกับจูกัดเหลียงว่าตนประทับใจมากที่จ๊กก๊กมีผู้มีความสามารถเช่นนี้

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ชีวประวัติเตียวอุ๋นในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าเตียวอุ๋นมีอายุ 32 ปี (โดยการนับอายุแบบตะวันออก) ขณะเดินทางไปจ๊กก๊กเพื่อภารกิจทางการทูต ชีวประวัติซุนกวนยืนยันว่าเวลาที่เตียวอุ๋นเดินทางไปคือฤดูร้อนของปี ค.ศ. 224 เมื่อตำนวณแล้วปีเกิดของเตียวอุ๋นควรจะอยู่ราว ค.ศ. 193[1][2]
  2. ชีวประวัติซุนกวนบันทึกว่าเตียวอุ๋นได้รับการละเว้นโทษประหารชีวิตในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 224 ในขณะที่ชีวประวัติเตียวอุ๋นบันทึกว่าเตียวอุ๋นเสียชีวิตหลังจากนั้น 6 ปี เมื่อคำนวณแล้ว ปีที่เตียวอุ๋นเสียชีวิตควรจะเป็นราว ค.ศ. 230[4][5]
  3. สี่ตระกูลใหญ่ในเมืองง่อกุ๋น ได้แก่ โกะ (顧 กู้), ลก (陸 ลู่), จู (朱 จู) และเตียว (張 จาง) บุคคลที่มีชื่อเสียงในแต่ละตระกูลได้แก่ โกะหยง (กู้ ยง), กู้ เช่า และกู้ ถานจากตระกูลโกะ; ลกซุน (ลู่ ซฺวิ่น), ลกเจ๊ก (ลู่ จี้) และลู่ ข่าย จากตระกูลลก; จูหวน (จู หฺวาน) และจู จฺวี้ จากตระกูลจู และเตียวอุ๋นจากตระกูลเตียว
  4. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของเหตุกาณณ์ในบทความจี้ เยี่ยน
  5. ฮุ่ยชู่เป็นชื่อรองของเตียวอุ๋น
  6. ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตรงกับตอนที่ 66

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ([黄武]三年夏,遣輔義中郎將張溫聘于蜀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
  2. 2.0 2.1 (時年三十二,以輔義中郎將使蜀。權謂溫曰:「卿不宜遠出,恐諸葛孔明不知吾所以與曹氏通意,以故屈卿行。若山越都除,便欲大搆於蜀。行人之義,受命不受辭也。」溫對曰:「臣入無腹心之規,出無專對之用,懼無張老延譽之功,又無子產陳事之效。然諸葛亮達見計數,必知神慮屈申之宜,加受朝廷天覆之惠,推亮之心,必無疑貳。」) จดหมายเหตุสามก๊ํก เล่มที่ 57.
  3. 3.0 3.1 de Crespigny (2007), p. 1078.
  4. 4.0 4.1 ([黃武三年]秋八月,赦死罪。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47. เดือน 8 นี้เทียบเท่ากับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 ถึง 29 กันยายน ค.ศ. 224 ตามปฏิทินจูเลียน
  5. 5.0 5.1 (後六年,溫病卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  6. (張溫字惠恕,吳郡吳人也。父允,以輕財重士,名顯州郡,為孫權東曹掾,卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  7. (溫少脩節操,容貌奇偉。權聞之,以問公卿曰:「溫當今與誰為比?」大司農劉基曰:「可與全琮為輩。」太常顧雍曰:「基未詳其為人也。溫當今無輩。」權曰:「如是,張允不死也。」徵到延見,文辭占對,觀者傾竦,權改容加禮。罷出,張昭執其手曰:「老夫託意,君宜明之。」拜議郎、選曹尚書,徙太子太傅,甚見信重。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  8. (溫至蜀,詣闕拜章曰:「昔高宗以諒闇昌殷祚於再興,成王以幼沖隆周德於太平,功冒溥天,聲貫罔極。今陛下以聦明之姿,等契往古,總百揆於良佐,參列精之炳燿,遐邇望風,莫不欣賴。吳國勤任旅力,清澄江滸,願與有道平一宇內,委心協規,有如河水,軍事興煩,使役乏少,是以忍鄙倍之羞,使下臣溫通致情好。陛下敦崇禮義,未便恥忽。臣自入遠境,及即近郊,頻蒙勞來,恩詔輒加,以榮自懼,悚怛若驚。謹奉所齎函書一封。」蜀甚貴其才。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  9. (還,頃之,使入豫章部伍出兵,事業未究。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  10. (權旣陰銜溫稱美蜀政,又嫌其聲名大盛,衆庶炫惑,恐終不為己用,思有以中傷之,會曁豔事起,遂因此發舉。豔字子休,亦吳郡人也,溫引致之,以為選曹郎,至尚書。豔性狷厲,好為清議,見時郎署混濁淆雜,多非其人,欲臧否區別,賢愚異貫。彈射百僚,覈選三署,率皆貶高就下,降損數等,其守故者十未能一,其居位貪鄙,志節汙卑者,皆以為軍吏,置營府以處之。而怨憤之聲積,浸潤之譖行矣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  11. (競言豔及選曹郎徐彪,專用私情,愛憎不由公理,豔、彪皆坐自殺。溫宿與豔、彪同意,數交書疏,聞問往還,即罪溫。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  12. (權幽之有司,下令曰:「昔令召張溫,虛己待之,旣至顯授,有過舊臣,何圖凶醜,專挾異心。昔曁豔父兄,附于惡逆,寡人無忌,故進而任之,欲觀豔何如。察其中間,形態果見。而溫與之結連死生,豔所進退,皆溫所為頭角,更相表裏,共為腹背,非溫之黨,即就疵瑕,為之生論。又前任溫董督三郡,指撝吏客及殘餘兵,時恐有事,欲令速歸,故授棨戟,獎以威柄。乃便到豫章,表討宿惡,寡人信受其言,特以繞帳、帳下、解煩兵五千人付之。後聞曹丕自出淮、泗,故豫勑溫有急便出,而溫悉內諸將,布於深山,被命不至。賴丕自退,不然,已往豈可深計。又殷禮者,本占候召,而溫先後乞將到蜀,扇揚異國,為之譚論。又禮之還,當親本職,而令守尚書戶曹郎,如此署置,在溫而已。又溫語賈原,當薦卿作御史,語蔣康,當用卿代賈原,專衒賈國恩,為己形勢。揆其姧心,無所不為。不忍暴於巿朝,今斥還本郡,以給厮吏。嗚呼溫也,免罪為幸!」) Sanguozhi vol. 57.
  13. (將軍駱統表理溫曰:「 ... 」權終不納。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  14. (二弟祗、白,亦有才名,與溫俱廢。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  15. (績於鬱林所生女,名曰鬱生,適張溫弟白。) อรรถาธิบายในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  16. (文士傳曰:溫姊妹三人皆有節行,為溫事,已嫁者皆見錄奪。其中妹先適顧承,官以許嫁丁氏,成婚有日,遂飲藥而死。吳朝嘉歎,鄉人圖畫,為之贊頌云。) อรรถาธิบายจากเว่ยชื่อจฺว้านในจดหมายเหตุสากม๊ก เล่มที่ 57.
  17. (會稽典錄曰:餘姚虞俊歎曰:「張惠恕才多智少,華而不實,怨之所聚,有覆家之禍,吾見其兆矣。」諸葛亮聞俊憂溫,意未之信,及溫放黜,亮乃歎俊之有先見。亮初聞溫敗,未知其故,思之數日,曰:「吾已得之矣,其人於清濁太明,善惡太分。」) อรรถาธิบายจากไคว่จีเตี่ยนลู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  18. (評曰: ... 張溫才藻俊茂,而智防未備,用致艱患。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.
  19. (臣松之以為莊周云「名者公器也,不可以多取」,張溫之廢,豈其取名之多乎!多之為弊,古賢旣知之矣。是以遠見之士,退藏於密,不使名浮於德,不以華傷其實,旣不能被褐韞寶,杜廉逃譽,使才映一世,聲蓋人上,沖用之道,庸可暫替!溫則反之,能無敗乎?權旣疾溫名盛,而駱統方驟言其美,至云「卓躒冠羣,煒曄曜世,世人未有及之者也」。斯何異燎之方盛,又撝膏以熾之哉!) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 57.