พระราชวังโบราณ อยุธยา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ซากฐานพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 | |
ที่ตั้ง | ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
---|---|
ประเภท | พระราชวัง |
ส่วนหนึ่งของ | อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา |
ความเป็นมา | |
ผู้สร้าง | สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 |
สร้าง | พ.ศ. 1893 |
ละทิ้ง | พ.ศ. 2310 |
สมัย | อยุธยา |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ขุดค้น | พ.ศ. 2519 |
ผู้ขุดค้น | กรมศิลปากร |
สภาพ | ซากปรักหักพัง |
ผู้บริหารจัดการ | กรมศิลปากร |
การเปิดให้เข้าชม | ทุกวัน 08.00-18.30 น. |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบสถาปัตยกรรม | อยุธยา |
เกณฑ์ | วัฒนธรรม: (iii) |
ขึ้นเมื่อ | 1991 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา |
เลขอ้างอิง | 576 |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | พระราชวังโบราณ |
ขึ้นเมื่อ | 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา |
เลขอ้างอิง | 0000316 |
พระราชวังโบราณ อยุธยา เป็นพระราชวังหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปัจจุบันคือพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พระราชวังโบราณ ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์
ประวัติ
[แก้]เมื่อ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ สร้างพระที่นั่ง 3 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และ พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท ในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน และ ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาทและพระที่นั่งตรีมุขด้วย พระราชวังระยะแรกนี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 7 พระองค์ เป็นเวลา 98 ปี
ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 1991 ทรงยกบริเวณพระราชวังเดิม ได้แก่ พระที่นั่ง 3 องค์นั้น ให้เป็นพุทธาวาส หรือก็คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังมาสร้างใหม่ทางด้านเหนือของพระราชวังเดิม ใกล้แม่น้ำลพบุรี คูเมืองด้านเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทและพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท เป็นพระที่นั่ง 2 องค์แรก
มีพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งซึ่งสร้างในเขตนี้ แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างในรัชสมัยใด ก็คือ พระที่นั่งมังคลาภิเษก หรือพระที่นั่งวิหารสมเด็จพระมหาปราสาท 3 องค์นี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 16 พระองค์ เป็นเวลา 182 ปี
ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงขยายให้วังหลวงกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม โดยให้เขตพระราชวังไปเชื่อมติดกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทเพิ่มอีก 2 องค์ คือพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ และ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์
ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ขึ้นเป็นที่ประทับอีกองค์หนึ่ง ดังนั้นวังหลวงสมัยอยุธยาตอนปลายมี พระมหาปราสาทรวมทั้งสิ้น 6 องค์ เป็นที่ประทับของ พระมหากษัตริย์ 10 พระองค์ เป็นเวลา 137 ปี จนเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310
พระบรมมหาราชวังในกรุงเทพมหานครนั้น ได้สร้างเลียนแบบพระบรมมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยา
พื้นที่
[แก้]พระบรมมหาราชวังในระยะหลังนั้น มีป้อมรอบพระราชวัง 8 ป้อม ประตูน้ำ 2 ประตู ประตูบก 20 ประตู พระราชวังหลวงแบ่งออกเป็นเขตต่าง ๆ ดังนี้
- เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ และส่วนราชการต่าง ๆ เช่น ศาลาลูกขุน ศาลหลวง ศาลาสารบัญชี เป็นต้น
- เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาท 3 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของคลังมหาสมบัติ โรงช้าง โรงม้า เป็นต้น
- เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ โรงเครื่องต้น และที่อยู่ของฝ่ายใน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี
- พระที่นั่งตรีมุข ในปัจจุบันพบเป็นซากฐาน เมื่อครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้สร้างพลับพลาตรีมุข เพื่อประกอบพระราชพิธีบวงสรวงบรรพกษัตริย์ในวาระที่พระองค์ครองราชย์ครบ 40 ปี เมื่อ พ.ศ. 2451 ซึ่งเป็นเวลายาวนานเท่ากับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา[1]
- สวนไพชยนต์เบญจรัตน์ อันเป็นที่ตั้งของพระคลังมหาสมบัติ ได้แก่ คลังศุภรัตน์ คลังพิมาณอากาศ คลังวิเศษ โรงราชรถ คลังแสง เป็นต้น เช่นเดียวกับหอพระเทพบิดร และหอพระมณเฑียรธรรม
- สวนองุ่น เป็นสวนหลวงประจำพระราชวัง มีตำหนักสระแก้ว ตำหนักสวนกระต่าย และตำหนักศาลาลวด ตั้งอยู่บริเวณนี้
- วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดหลวงประจำพระราชวัง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อยุธยา Discovering Ayutthaya หน้า 62-65
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พระราชวังโบราณ อยุธยา
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์