วัดธรรมิกราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดธรรมิกราช
วิหารเก้าห้อง วัดธรรมิกราชเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
วัดธรรมิกราชตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดธรรมิกราช
ที่ตั้งของวัดธรรมิกราชในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดธรรมิกราชตั้งอยู่ในประเทศไทย
วัดธรรมิกราช
วัดธรรมิกราช (ประเทศไทย)
ที่ตั้งตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัด
ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ความเป็นมา
สร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา
ละทิ้งพ.ศ. 2310
สมัยอยุธยา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพซากปรักหักพัง
ผู้บริหารจัดการกรมศิลปากร
การเปิดให้เข้าชมทุกวัน 08.00-18.30 น.
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมอยุธยา

วัดธรรมิกราช เดิมชื่อ วัดมุขราช เป็นอดีตพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดกับพระราชวังโบราณ และวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดธรรมิกราช สร้างขึ้นโดย พระยาธรรมิกราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง จึงสันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นก่อนที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งเดิมชื่อวัดมุขราช ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามผู้สร้างเป็นวัดธรรมิกราช[1]

วัดธรรมมิกราช มีจุดเด่นที่สำคัญคือเป็นวัดที่มีการพบเศียรพระธรรมิกราชซึ่งนับเป็นเศียรพระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย[2] ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และเจดีย์ทรงกลมที่มีปูนปั้นรูปสิงห์ล้อมที่หาชมได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ที่พบคือวัดที่มีรูปปูนปั้นเป็นช้าง ในสมัยสุโขทัย เรียกว่า วัดช้างล้อม ซึ่งในวัดแห่งนี้เดิมมีสิงห์ล้อมถึง 52 ตัว แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 20 ตัว[3]

ปัจจุบันยังเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาและปฏิบัติธรรมอยู่ โดยมีพระครูธรรมิกาจารคุณ (ธรรมภณ ธมฺมพโล) เป็นเจ้าอาวาส

ประวัติ[แก้]

เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้ง สร้างวัดพนัญเชิงนั้น พระราชโอรส คือพระเจ้าธรรมิกราช โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นที่บริเวณเมืองเก่าชื่อเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ทางหน้าประตูด้านทิศเหนือคือ พระเจดีย์สิงห์ล้อม 52 ตัวที่แตกต่างไปจากเจดีย์ทั่วไป นับเป็นพระเจดีย์สิงห์แห่งเดียวในพระนครศรีอยุธยา ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา ในสมัยต่อมา พระมหากษัตริยได้ทรงบูรณะมาโดยตลอด โดยสังเกตจากร่องรอยการซ่อม และพื้นที่ของวัดที่อยู่ทางทิศตะวันออกของพระนครฯ ตามคติโบราณถือว่าเป็นทิศมงคล ในสมัยสมเด็จพระไตรโลกนาถทรงธรรม (พ.ศ. 2153) ทรงบูรณะวัด และสร้างพระวิหารหลวง เพื่อฟังธรรมในวันธรรมสวนะ (วันพระ) สำหรับพระวิหารพระพุทธไสยยาสน์ (พระนอน) นั้น พระราชมเหสีของพระองค์มีพระราชธิดาประชวร ทรงอธิษฐานไว้เมื่อพระราชธิดาหายแล้วจึงสร้างพระวิหารถวาย น้ำพระพุทธมนต์ในพระวิหารนี้กล่าวกันว่ามี ความศักดิ์สิทธิ์มากมีประชาชนมาอธิษฐาน ขอไปใช้ตามความปรารถนาจำนวนมาก

พระราชพงศาวดารว่าเมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าสามกรมต่างรวบรวมผู้คนเพื่อจะชิงราชสมบัติ พระธรรมโคดมวัดธรรมิกราช และพระราชาคณะวัดกุฏีดาว วัดพุทไธสวรรย์ วัดรามรามาวาส ไปเทศน์โปรดให้เจ้าทั้งสามกรมให้สามัคคีกันและให้กระทำสัตย์สาบาล

ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอุทุมพรผนวชที่วัดนี้พร้อมด้วยมหาดเล็กชื่อนายหง โดยตั้งพระทัยว่าถ้าบ้านเมืองเกิดศึกจะออกไปช่วยรบ ต่อมาเมื่อทัพข้าศึกยกมาถึงตำบลภูเขาทอง นายหงลาสิกขาก่อนออกรบและแตกพ่ายไปเข้ากับพระยาตาก (สิน) เมื่อกู้อิสรภาพแล้วต่อมาได้รับพระราชทานเป็นพระยาเพชรพิชัยจนต่อสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ บุตรของพระยาเพชรพิชัยที่รับราชการต่อมาก็เป็นพระยาเพชรพิชัยสืบมา จนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ภริยาพระยาเพชรพิชัยตามเสด็จมาที่วัดเกิดศรัทธาจึงบูรณะวัดขึ้น ในสมัยที่พระครูธรรมิกาจารคุณ (ฟัก) เป็นเจ้าอาวาส โดยบูรณะพระอุโบสถและพระวิหารใหม่และจะขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง แต่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดีสวรรคตก่อน มีสถานที่ตั้งเครื่องรับเสด็จและบ่อน้ำโบราณศักดิ์สิทธิ์ของวัด ประมาณปี ๒๔๘๔ พระอุโบสถเดิมพระประธานเป็นศิลปสมัยรัตนโกสินทร์เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ผนังด้านตะวันออกเขียนเป็นภาพพุทธประวัติโดยนายช่างแข ก่อนจะทรุดตัวลง หลังคาได้ทรุดลงมาก่อนทางวัดได้มุงสังกระสีไว้ ยังไม่ทันบูรณะผนังพระอุโบสถก็ทรุดพังลง ทางวัดเตรียมการจะบูรณะ แต่ทางกรมศิลปากรได้เข้ามาซ่อมแทน เดิมเขตกุฎีสงฆ์ที่เป็นเขตสังฆาวาสนั้นอยู่หลังพระอุโบสถติดกับศาลพระเจ้าธรรมิกราช สมัยที่นายปรีดีพนมยงค์สร้างวัดพนมยงค์นั้น เริ่มทำการบูรณะพระวิหารมงคลบพิตรแล้วจะนำช่างชุดเดียวกันมาบูรณะวัดธรรมิกราชต่อ แต่มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น ต่อมาสมัยจอมพลแปลกพิบูลสงคราม เป็นนายกฯ ได้มาสร้างกำแพงวัดปูพื้นพระวิหารพระนอนและกุฏิสงฆ์ ยังไม่แล้วเสร็จก็เกิดเหตุทางการเมืองขึ้นอีกจนกรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการต่อ

เศียรพระพุทธรูปหล่อสำฤทธิ์เป็นศิลปะสมัยอู่ทอง เดิมอยู่ในวิหารหลวงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก กล่าวว่าผู้ใดเป็นคดีความกันมาสาบานต่อหน้าพระพักตร์คนผิดต้องตายหรือมีอันเป็นไปทุกคนเป็นที่กล่าวขานกันมาก สมัยที่พระยาโบราณราชธานินทร์ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในพระราชวังจันทรเกษม ได้นำเศียรพระพุทธรูปนี้ไป ต่อมากรมศิลปากรจึงนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ความศักดิ์สิทธิ์จึงคลายไป

อ้างอิง[แก้]