ข้ามไปเนื้อหา

ท้าวเวสวัณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ท้าวเวสสุวรรณ)
ท้าวเวสวัณ ศิลปะจีน
ตราประจำจังหวัดอุดรธานี แสดงรูปท้าวเวสวัณ
ท้าวเวสวัณ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ
วัดโทได

ท้าวเวสวัณ[1] (สันสกฤต: वैश्रवण Vaiśravaṇa ไวศฺรวณ; บาลี: वेस्सवण Vessavaṇa เวสฺสวณ) หรือท้าวกุเวร[2] เป็นเจ้าแห่งยักษ์ เป็นหนึ่งในจาตุมหาราช ผู้คุ้มครองและดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ในรามเกียรติ์เป็นโอรสของท้าวลัสเตียนกับนางศรีสุมณฑา มีพระอนุชาคือ ท้าวกุเปรัน ท้าววัสวตีวัณ (เจ้าแห่งสวรรค์ชั้นที่ 6) ทรงอิทธิฤทธิ์อานุภาพมาก เคยตัดเศียรของท้าวราวณะขาดไป 1 เศียร เป็นโลกบาลประจำทิศเหนือ ท้าวเวสวัณคือท้าวกุเวรในศาสนาฮินดู

ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงท้าวเวสวัณว่าเป็น 1 ใน 5 ผู้มีสุดยอดอาวุธวิเศษ คือ วชิราวุธของพระอินทร์ ไม้ตะบองของท้าวเวสวัณ นัยตาของพระยม ผ้าพันคอของอาฬวกยักษ์ และจักรแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ

ในพระอภิธรรมของเถรวาท ได้จัดให้ยมทูตและนิรยบาลที่ลงโทษสัตว์นรกในนรกนั้นเป็นเทวดาประเภทยักษ์ ซึ่งเป็นบริวารของท้าวเวสวัณโดยตรง จึงถือกันว่าท้าวเวสสุวรรณเป็นจ้าวแห่งวิญญาณที่ควบคุมเหล่าภูตผีปีศาจสัมภเวสีต่าง ๆ อีกด้วย ผ่านยมทูตและนิรยบาลนั่นเอง

คนไทยโบราณนิยมนำผ้ายันต์รูปยักษ์ผูกไว้ที่หัวเตียงเด็กเพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้มารังควานแก่เด็ก ท้าวกุเวรองค์นี้มีกล่าวถึงในอาฏานาฏิยปริตรว่านำเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกามาเข้าเฝ้าพระโคตมพุทธเจ้า และได้ถวายสัตย์ที่จะดูแลพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกไม่ให้ยักษ์หรือบริวารอื่น ๆ ของท้าวจตุโลกบาลไปรังควาน โดยมอบบทอาฏานาฏิยปริตรให้แก่พระสงฆ์ เพื่อไว้สวดเพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจที่จะมารบกวน และเชื่อว่าถ้าสวดอาฏานาฏิยปริตร โดยพระสงฆ์ จะขับไล่ภูตผีอาถรรพ์มนต์ดำได้ทั้งสิ้น ปัจจุบันจะเรียกการสวดอาฏานาฏิยปริตรอีกชื่อหนึ่งว่าการสวด"ภาณยักษ์"นั่นเอง

ท้าวกุเวรนั้น บางทีก็เรียกว่าท้าวไวศรวัน (เวสสุวรรณ) ภาษาทมิฬเรียก "กุเวร" ว่า "กุเปรัน" ซึ่งมีเรื่องอยู่ในรามเกียรติ์ว่า เป็นพี่ต่างมารดาของทศกัณฐ์ และทศกัณฐ์ไปแย่งบุษบกของท้าวกุเวรไป ท้าวกุเวรมีรูปร่างพิการผิวขาว มีฟัน 8 ซี่ และมีขาสามขา (ภาพท้าวเวสวัณจึงมักเขียนท่ายืนแยงแย่ ถือไม้กระบองยาว อยู่หว่างขา) เมืองท้าวกุเวรชื่อ "อลกา" อยู่บนเขาหิมาลัย มีสวนอุทยานอยู่ไหล่เขาแห่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุ ชื่อว่า "สวนไจตรต" หรือ "มนทร" มีพวกกินนรและคนธรรพ์เป็นผู้รับใช้ ท้าวกุเวรเป็นโลกบาลประจำทิศเหนือ คนจีนเรียกว่า "ตัวเหวิน" (多聞) คนญี่ปุ่นเรียกว่า "บิชะมนเตง" (毘沙門天(びしゃもんてん)

เชื่อกันว่าการบูชาท้าวเวสวัณจะทำให้ค้าขายดี และเชื่อว่าจะทำให้ทรัพย์สมบัติมั่นคง ไม่มีใครจะมาทำลายหรือแย่งชิงไปได้เพราะท้าวเวสวัณเป็นผู้ชื่อว่าปกป้องรักษาขุมทรัพย์สมบัติ (ตามตำนานที่ท้าวเวสสุวัณจะสั่งให้คุยหกะยักษ์เฝ้ารักษาขุมทรัพย์ไว้) รวมทั้งเชื่อว่าการบูชาท้าวเวสวัณจะป้องกันมนต์ดำจากผู้ไม่หวังดีที่มุ่งประสงค์ให้กิจการค้าขายหรือครอบครัวเดือดร้อนอยู่ไม่สุข หรือใช้เล่ห์เหลี่ยมมาแกล้ง เพื่อเป็นการทำลายคู่แข่งทางการค้า

พระไพศรพณ์

[แก้]

ในประเทศไทยมีคติการบูชาท้าวเวสสุวรรณอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเรียกเทพเจ้าองค์นี้ว่า พระไพศรพณ์ ตามนามในภาษาสันสกฤต ไวศฺรวณ มือขวาถือตะบอง มือซ้ายยกเสมอหน้าอกแสดงการห้ามปรามมิให้ (เทวดา) ทำผิด เนื่องจากมีหน้าที่รักษาความเรียบร้อยยุติธรรมในสวรรค์ ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของอัยการมานาน คาดว่าตั้งแต่แรกตั้งกรมอัยการเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้วเนื่องจากยกกระบัตร (ชื่อเรียกอัยการในสมัยโบราณ) หรืออัยการในปัจจุบันก็มีหน้าที่รักษาความยุติธรรมและกฎหมายเช่นเดียวกับหน้าที่ของพระไพศรพณ์ในสวรรค์ แต่ยังตรวจไม่พบหลักฐานว่าได้มีประกาศเป็นทางการให้ใช้รูปพระไพศรพณ์เป็นเครื่องหมายราชการของอัยการตั้งแต่เมื่อใด

สัญลักษณ์ของอัยการ

[แก้]

ตามพระราชกฤษฎีกาเครื่องแบบข้าราชการอัยการและระเบียบการแต่งกายฯ พ.ศ. 2524 กำหนดเครื่องแบบข้าราชการอัยการซึ่งรวมถึงเครื่องหมายที่ประดับอินทรธนู จึงตรวจสอบดูปรากฏคำว่า "รูปพระไพศรพณ์" เป็นโลหะสีทองซึ่งกฎหมายนี้กำหนดวิธีการใช้ ดังนี้

  1. กรณีเครื่องแบบพิธีการ เช่น เครื่องแบบปกติขาว เครื่องแบบเต็มยศ ฯลฯ ให้ติดทับอยู่บนอินทรธนูค่อนมาทางด้านไหล่
  2. สำหรับเครื่องแบบสีกากีคอพับ กับเครื่องแบบสีกากีคอแบะ ให้ประดับทับอยู่บนพื้นอินทรธนูภายในขมวดวงกลม ฐานของรูปพระไพศรพณ์อยู่เหนือแถบต้น (กรณีอัยการชั้น 3 ขึ้นไป) หรืออยู่บนแถบที่สองของอินทรธนู (กรณีอัยการชั้น 1 และชั้น 2)

ต่อมาใน พ.ศ. 2503 ได้มีกฎหมายออกมากำหนดให้ข้าราชการอัยการใช้เครื่องหมายนี้มาประดับบนอินทรธนูเพื่อบ่งแสดงให้เห็นว่าข้าราชการอัยการแตกต่างจากข้าราชการพลเรือน และต่อมาใน พ.ศ. 2513 ก็ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้ใช้รูปท้าวกุเวร (หรือท้าวเวสสุวัณ) เป็นเครื่องหมายราชการของกรมการสารวัตรทหารบกซึ่งเป็นหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยของฝ่ายทหาร

ส่วนพระไพศรพณ์ยังคงเป็นสัญลักษณ์ประดับบ่าเสื้อเครื่องแบบอัยการทั้งสองข้างตลอดมา และใน พ.ศ. 2535 สำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้รูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินวางอยู่บนตราชั่งซึ่งเป็นเครื่องหมายของนักกฎหมาย ประกอบกับอีก 3 รูปรวมกันเป็นเครื่องหมายราชการของสำนักอัยการสูงสุด คือ พระแว่นสุริยกานต์ พระขรรค์ รองรับด้วยช่อชัยพฤกษ์

รูปตราใหม่นี้ถือเป็นเครื่องหมายราชการของหน่วยงานตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2535 ในวาระที่หน่วยงานของอัยการได้เปลี่ยนแปลงสถานะภาพจากหน่วยงานระดับกรมขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย มาเป็นสำนักงานไม่สังกัดกระทรวง ส่วนพนักงานอัยการในปัจจุบันรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ ได้ขยายบทบาทออกไปมาก รวมทั้งกำหนดหน้าที่อัยการไปถึงเรื่องทางการเมืองเพราะอัยการมีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรมทางการเมืองด้วยนั่นเอง

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 1130
  2. "ท้าวกุเวร", วิกิพีเดีย, 2024-10-04, สืบค้นเมื่อ 2024-10-04

ดูเพิ่ม

[แก้]