พระมัญชุศรีโพธิสัตว์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์
สันสกฤตमञ्जुश्री (มญฺชุศฺรี)
จีน文殊 (Wénshū)
文殊師利 (Wénshūshīlì)
ญี่ปุ่น文殊 (มงจุ)
文殊師利 (มงจุชุริ)
เกาหลี문수보살
มองโกเลียЗөөлөн эгшигт
ᠵᠦᠭᠡᠯᠡᠨ ᠡᠭᠰᠢᠭᠲᠦ
ไทยพระมัญชุศรีโพธิสัตว์
ทิเบตའཇམ་དཔལ་དབྱངས།
Jampelyang
เวียดนามVăn-thù-sư-lợi
ข้อมูล
นับถือในมหายาน, วัชรยาน
พระลักษณะมหาปัญญา
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ (สันสกฤต: मञ्जुश्री, Mañjuśrī, มญฺชุศฺรี; จีน: 文殊, Wénshū หรือ 文殊師利菩薩, Wénshūshili Púsà; ญี่ปุ่น: もんじゅ, Monju; ทิเบต: འཇམ་དཔལ་དབྱངས།, Jampelyang; เนวาร์: मंजुश्री, Manjushree) เป็นพระโพธิสัตว์ในกลุ่มตถาคตโคตรของพระไวโรจนพุทธะ ชื่อของท่านแปลว่า แสงอันอ่อนหวานหรืออ่อนโยน เป็นพระโพธิสัตว์ที่มีผู้นับถือในทิเบตรองลงมาจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ชื่อของท่านมีปรากฏในพระสูตรต่าง ๆ มากมาย เช่น สัทธรรมปุณฑรีกสูตร ถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์ฝ่ายปัญญาและมีหน้าที่คุ้มครองนักปราชญ์

รูปลักษณ์[แก้]

พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พุทธศิลป์ธิเบต

ในงานทางพุทธศิลป์ ท่านมักปรากฏคู่กับพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ โดยพระมัญชุศรีอยู่บนสิงโตเขียวส่วนพระสมันตภัทรอยู่บนช้างสีขาวในทิเบต รูปของพระมัญชุศรีเป็นชายหนุ่ม อายุราว 16 ปี นั่งบนดอกบัว มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือดอกบัว หรือคัมภีร์ใบลาน มีกายเป็นสีเหลือง ในจีน ท่านมีชื่อว่า "บุ่งซู้" มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่มากกว่าภาพลักษณ์ในทิเบต

ปางดุ[แก้]

ยมานตกะ วิทยราชแห่งทิศตะวันตก พุทธศาสนิกชนบางพวกถือว่าเป็นหนึ่งในภาคดุร้ายของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์

พระมัญชุศรีมีภาคสำแดงที่ดุร้ายหลายปางเช่น มัญชุวัชระ ซึ่งมี 3 หัว กายสีแดง อารยมัญชุโฆษะ กายสีเหลือง มี 6 แขน และยมานตกะเป็นต้น ในภาคดุร้ายนี้ ท่านมีศักติตามความนิยมของนิกายตันตระด้วย

วัดไดโงะ

รูปลักษณ์อื่น ๆ[แก้]

  • ธรรมจักรมัญชุศรี ทำท่าธรรมจักรมุทรา ถือก้านดอกบังรองรับดาบและคัมภีร์ในระดับบ่า นั่งขัดสมาธิเพชร
  • มัญชุโฆษ พระหัตถ์ทำปางธรรมจักร มีก้านดอกบัวโผล่ทางซ้าย นั่งบนหลังสิงห์
  • มหาราชลีลามัญชุศรี พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวขาบในระดับบ่า พระหัตถ์ขวาอยู่ในระดับต่ำ นั่งท่ามหาราชลีลาบนหลังสิงห์
  • ธรรมศังขรสมาธิมัญชุศรี ทำปางสมาธิ นั่งขัดสมาธิเพชร
  • สิทไธกวีระ พระหัตถ์ขวาทำปางประทานพร พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวขาบในระดับบ่า นั่งขัดสมาธิเพชร
  • อรปจนะ พระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์แนบอก พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ นั่งขัดสมาธิเพชร
  • สถิรจักร ทำปางประทานพรและถือพระขรรค์ นั่งท่าลลิตาสนะบนดอกบัว มีศักติเคียงข้างเสมอ
  • วาศีศวร พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวขาบ นั่งบนหลังสิงห์ บางครั้งถือระฆัง
  • มัญชุวร ทำปางธรรมจักร มีคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาอยู่บนดอกบัว นั่งบนดอกบังหรือบนสิงห์
  • วาทิราฏ ทำปางธรรมจักร นั่งบนหลังเสือ
  • วัชรราคะ หรือ อมิตาภะ-มัญชุศรี ทำปางสมาธิ นั่งขัดสมาธิเพชร รูปแบบนี้จะเหมือน พระอมิตาภะพุทธะมาก เพียงจะแต่งกายแบบกษัตริย์ ส่วนพระอมิตาภะแต่งกายแบบนักบวช
  • นามสังคีติ-มัญชุศรี สามพักตร์ สี่กร สองกรหน้าถือคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาและพระขรรค์นั่งบนดอกบัว
  • มัญชุกุมาร สามพักตร์ หกกร สามกรซ้ายถือคัมภีร์ปรั๙ญาปารมิตา ดอกบัวขาบและคันศร สามกรขวาถือพระขรรค์ ลูกศร และทำปางประทานพร
  • มัญชุนาค สามพักตร์ หกกร ห้ากรถือจักร วัชระ รัตนะ ดอกบัว และพระขรรค์ อีกกรทำปางสมาธิ
  • วัชรานังคมัญชุโฆษ เสียรเดียว สี่หรือหกกร ถ้ามีสี่กรจะถือ คันศร ลูกศร ดาบ และดอกบัวรองรับคัมภีร์ ถ้ามีหกกรจะถือคันศรทำด้วยดอกไม้ ลูกศรทำด้วยดอกบัว ดอกบัว ดอกอโศก ดาบ และกระจก
  • มัญชุวัชระ สามพักตร์ หกกร เศียรกลางสีแดง อีกสองเศียรสีฟ้าและขาว สองกรหน้ากอดรัดศักติ กรหนึ่งจับพระพักต์ศักติ ที่เหลือถือวัชระคู่ ดาบ ดอกบัว คันศร ลูกศร
  • ธรรมธาตุวาศิศวรมัญชุศรี สี่พักตร์ แปดกร ทำธรรมจักรมุทรา ถือดาบ คัมภีร์ วัชระ คันศร ลูกศร กลด ขมวดเชือก และขอสับช้าง
  • รูปแบบโบราณ ห้าพักตร์ แปดกร พระหัตถ์ซ้ายกอดรัดศักติ ที่อยู่บนตัก เป็นที่นิยมมากในอินเดีย พระหัตถ์ที่เหลือถือคัมภีร์และดาบ

ในประเทศไทย มีการสร้างรูปพระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ จำลองจากวัดซูเซี้ยง(殊像寺) ภูเขาอู่ไทซาน มณฑลสถานของพระมัญชุศรี มณฑลซานซี สาธารณรัฐประชาชนจีน อยู่ที่อารามจีนปากช่องเขาใหญ่ เป่าซานซื่อ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สร้างจากวัสดุทองเหลือง มีความสูงถึง 6.54 เมตร ถือว่าเป็นปฏิมากรของพระมัญชุศรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ความเชื่อ[แก้]

พระสูตรเริ่มกล่าวถึงพระมัญชุศรีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8 บางสำนักเชื่อว่าท่านจะปรากฏให้ผู้คนรับรู้ในความฝันเฉพาะเสียงเท่านั้น ถือว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่เป็นเอกทางปัญญา เป็นเทพแห่งเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์และสถาปัตยกรรม ชาวเนปาลเชื่อว่า พระมัญชุศรีเป็นผู้นำพุทธศาสนาไปเผยแพร่ในเนปาล ใน​มหาไวโร​จน​สูตรมีพระธารณีประจำพระองค์ว่า​ โอมอะร​ะปะจะนะ[1]

อ้างอิง[แก้]

  • ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กทม. โรงพิมพ์อักษรสมัย. 2543. หน้า 119 -122
  • สุมาลี มหณรงค์ชัย. พระชินพุทธะห้าพระองค์. กทม. ศูนย์ไทยธิเบต. 2547
  1. 《大毘盧遮那成佛神變加持經》CBETA 電子版No. 848 入真言門 ...buddhism.lib.ntu.edu.tw › sutra › chi_pdf › sutra10