สถานีรถไฟพหลโยธิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถานีรถไฟพหลโยธิน
รถไฟทางไกล
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้งถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
เจ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย
สายทางรถไฟสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ
ชานชาลา1
การเชื่อมต่อสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)
โครงสร้าง
ประเภทโครงสร้างระดับดิน
ประวัติ
เริ่มเปิดให้บริการ20 ธันวาคม พ.ศ. 2544
ปิดให้บริการ27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 (12 ปี)
พหลโยธิน
Phahonyothin
กิโลเมตรที่ 7.47
ชุมทางบางซื่อ
Bang Sue Junction
–0 กม.
นิคมรถไฟ กม.11
Nikhom Rotfai Khomo Sip-et
+3.54 กม.
ดูเพิ่ม: รายชื่อสถานีรถไฟ ย่านชานเมือง

สถานีรถไฟพหลโยธิน หรือ ที่ทำการรับส่งสินค้าพหลโยธิน หรือ ย่านพหลโยธิน เคยเป็นศูนย์ขนถ่ายสินค้าหลักและย่านสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ตั้งเดิมอยู่ที่ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ฝั่งตรงข้ามสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) (หรือที่เรียกกันติดปากว่า หมอชิต 2) อยู่ในบริเวณเดียวกับที่ทำการรับส่งสินค้าพหลโยธิน เคยเป็นย่านสับเปลี่ยนขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนรางมากกว่า 50 ราง รวมความยาว (ตามแนวเส้นทาง) ถึง 4 กม.

ประวัติ[แก้]

การเปิดใช้งาน[แก้]

สถานีรถไฟพหลโยธิน เป็นสถานีที่สร้างและเปิดใช้งานเป็นลำดับล่าสุด เริ่มก่อสร้างในปลายปี พ.ศ. 2543 การก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2544 สถานีนี้สร้างขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร การให้บริการเดินขบวนรถไฟไปสู่ภูมิภาค และเป็นการตอบสนองความต้องการด้านการขนส่งภายในประเทศ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการที่จะจัดระบบการขนส่งในช่วงเทศกาลให้เกิดความสะดวกต่อประชาชน สามารถเลือกเดินทางได้ทั้งทางรถไฟ และรถโดยสารประจำทาง กับเพื่อใช้เป็นสถานีเชื่อมต่อ และรองรับการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสถานีปลายทางที่สถานีบางซื่อ

ในระยะแรกการรถไฟฯ ได้จัดให้มีขบวนรถออก-เข้าที่สถานีพหลโยธินแห่งนี้เฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดหลายวัน เพื่อให้ผู้โดยสารที่ไม่สามารถขึ้นรถโดยสารประจำทางมาขึ้นรถไฟ โดยไม่ต้องขึ้นรถเมล์ ในปลายปี พ.ศ. 2545 การรถไฟฯ มีนโยบายที่จะปรับปรุงงานด้านบริการ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการเดินทาง และช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานคร กับปัญหารถแน่นย่านสถานีรถไฟกรุงเทพ (ช่วงแยกยมราช-อุภัยเจษฎุทิศ) จึงจัดเที่ยวรถประจำที่สถานีพหลโยธินจำนวน 6 ขบวน คือ ขบวนรถธรรมดาที่ 201/202 (พหลโยธิน-พิษณุโลก-พหลโยธิน), ขบวนรถธรรมดาที่ 211/212 (พหลโยธิน-ตะพานหิน-พหลโยธิน) และขบวนรถเร็วที่ 115/116 (พหลโยธิน-พิษณุโลก-พหลโยธิน) และประกาศเปิดใช้เป็นทางการถาวร ตามคำสั่งฝ่ายการเดินรถที่ พ.2/ดร.3/121 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 แต่ยังไม่กำหนดอัตรากำลัง และชั้นสถานีอย่างเป็นทางการ

การยกเลิกขบวนรถโดยสาร[แก้]

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประกาศยกเลิกเที่ยวรถประจำทั้งหมดจากสถานีรถไฟพหลโยธิน ส่งผลให้ขบวนรถรวมทั้งหมด 6 ขบวน เปลี่ยนต้นทาง/ปลายทาง ไปที่สถานีรถไฟกรุงเทพ

การยกเลิกสถานีรถไฟ[แก้]

สถานีรถไฟพหลโยธิน ถูกประกาศยกเลิกการใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป รวมถึงยกเลิกอักษรย่อ ชื่อภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และรหัสสถานีจากสารบบของการรถไฟฯ เนื่องจากกีดขวางโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ - รังสิต ซึ่งสถานีแห่งนี้อยู่สังกัดงานย่านบางซื่อ กองจัดการเดินรถเขต 1 ศูนย์กรุงเทพปริมณฑล และภาคตะวันออก จุดศูนย์กลางสถานีตั้งอยู่ที่ กม. 8+902.86

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]