ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอด่านช้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอด่านช้าง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Dan Chang
เขื่อนกระเสียว
คำขวัญ: 
เขื่อนกระเสียวลือนาม ธรรมชาติงามล้ำ
วัฒนธรรมตะเพินคี่ อุทยานดีสนสองใบ
แผนที่จังหวัดสุพรรณบุรี เน้นอำเภอด่านช้าง
แผนที่จังหวัดสุพรรณบุรี เน้นอำเภอด่านช้าง
พิกัด: 14°50′30″N 99°41′50″E / 14.84167°N 99.69722°E / 14.84167; 99.69722
ประเทศ ไทย
จังหวัดสุพรรณบุรี
พื้นที่
 • ทั้งหมด1,193.6 ตร.กม. (460.9 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด67,659 คน
 • ความหนาแน่น56.69 คน/ตร.กม. (146.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 72180
รหัสภูมิศาสตร์7203
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอด่านช้าง ถนนด่านช้าง-สามชุก ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี 72180
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ด่านช้าง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอด่านช้างตั้งอยู่ในทิวเขาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ประกอบด้วย

ประวัติ

[แก้]

อำเภอด่านช้าง พบว่าเป็นแหล่งพื้นที่ที่มีการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยหินใหม่ลงมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ บริเวณพื้นที่เชิงเขาซึ่งมีลำห้วยไหลผ่าน โดยได้พบเครื่องมือหินจำนวนมาก อาทิ ขวานหินขัด หินกะเทาะ ที่ทำจากหินตระกูลเชิร์ต ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ขวานสำริด และกระดิ่งสำริด สันนิษฐานว่าบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหินกะเทาะในสมัยหินใหม่ นอกจากนั้นได้มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ฝังบรรจุอยู่ในภาชนะดินเผาเคลือบสี่หู พบตะกรันแร่ และก้อนดินไฟที่เป็นโครงสร้างเตาถลุงเหล็ก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแหล่งถลุงโลหะในสมัยอยุธยา

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบว่ามีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยงซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขาทางด้านทิศตะวันตก และมีชาวลาวครั่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณพื้นที่ราบเชิงเขาและพื้นที่ราบลุ่มทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งกลุ่มชนดังกล่าวถือเป็นประชากรดั้งเดิมในเขตอำเภอด่านช้างปัจจุบัน

อำเภอด่านช้างมีต้นกำเนิดที่มาของชื่อจาก บ้านด่านช้าง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวลาวครั่งที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้ลำห้วยกระเสียว เมื่อ 140 ปีที่ผ่านมา เดิมพื้นที่แถบนี้มีลักษณะเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่าน้อยใหญ่หลากหลายชนิดชุกชุม โดยเฉพาะช้างซึ่งมักจะลงมากินน้ำในลำห้วยกระเสียวจนเกิดเป็นลักษณะทางเดินโขลงช้างต่อมาเมื่อมีชาวลาวครั่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบริเวณนี้จึงเรียกว่า ด่านช้าง และถือกำเนิดเป็นชื่อหมู่บ้านด่านช้างขึ้นนับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน ต่อมาบ้านด่านช้างได้รับการยกสถานะขึ้นเป็น ตำบลด่านช้าง อำเภอเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี มณฑลนครไชยศรี ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เดิมตำบลด่านช้างขึ้นอยู่ในเขตปกครองของอำเภอเดิมบาง หรือ อำเภอเดิมบางนางบวช ในปัจจุบัน ต่อมาทางราชการได้พิจารณาว่าอำเภอเดิมบางนางบวชในขณะนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ราษฎรในเขตที่เป็นอำเภอด่านช้างในปัจจุบันติดต่อราชการไม่สะดวก ประกอบกับมีดำริโครงการก่อสร้างเขื่อนกระเสียวขึ้นในเขตท้องที่ตำบลด่านช้างและตำบลห้วยขมิ้น จึงควรที่จะมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ขึ้นเป็นเมืองแห่งใหม่รองรับความเจริญในอนาคต จึงแยกตำบลด่านช้าง ตำบลห้วยขมิ้น และตำบลองค์พระ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอด่านช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2517 โดยมี นายธีระศักดิ์ เทศศิริ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอคนแรก ต่อมาได้มีประกาศเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ให้โอนตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอเดิมบางนางบวช ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งขึ้นใหม่มาขึ้นการปกครองกับกิ่งอำเภอด่านช้างอีกตำบลหนึ่ง รวมเป็น 4 ตำบล คิดเป็นพื้นที่รวม 745,625 ไร่ ซึ่งขณะนั้นกิ่งอำเภอด่านช้าง ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเกือบทั้งหมด

ดำริการพัฒนาพื้นที่กิ่งอำเภอด่านช้างนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2509 โดย นายพัฒน์ บุญยรัตพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณพื้นที่รกร้างไม่ไกลสถานที่ ที่จะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนกระเสียว ห่างจากหมู่บ้านด่านช้างไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร มีความเหมาะสมที่จะสร้างเป็นเมืองใหม่เพื่อรองรับความเจริญในอนาคต จึงได้ดำเนินการวางผังเมืองกำหนดพื้นที่ส่วนราชการ สถานศึกษา วัด ที่อยู่อาศัย ตลาดย่านการค้าในอนาคต และตัดถนนเป็นซอยตาราง ส่งผลให้เวลาต่อมาพื้นที่ดังกล่าวเมื่อมีการตั้งกิ่งอำเภอด่านช้างขึ้นในปี พ.ศ. 2517 จึงพัฒนากลายเป็นชุมชนแห่งใหม่ที่มีผังเมืองที่มีความเหมาะสมและสวยงาม การพัฒนาของชุมชนแห่งใหม่ดังกล่าวได้เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2514 โดยทางราชการได้ตัดถนนชลประทานเชื่อมต่อทางหลวงสายท่าช้าง-สระบัวก่ำ เดิมจากบ้านสระบัวก่ำ อ.เดิมบางนางบวช ในขณะนั้นขึ้นมาถึงโครงการก่อสร้างเขื่อนกระเสียว ปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3350 เมื่อการคมนาคมถูกพัฒนาจึงทำให้การเดินทางเข้าสู่ด่านช้างสะดวกขึ้น จึงเริ่มมีการย้ายถิ่นฐานของประชากรจากพื้นที่ต่างๆเข้ามาในด่านช้าง โดยส่งผลให้พื้นที่ของทางราชการที่ได้จัดสรรและวางผังเมืองไว้ซึ่งอยู่บริเวณที่กำหนดเป็นหลักกิโลเมตรที่สองของทางหลวงดังกล่าวเริ่มพัฒนาและเจริญขึ้นกลายเป็น บ้านกิโลสอง ชุมชนแห่งใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองของกิ่งอำเภอด่านช้าง และตลาดย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ ต่อมากิ่งอำเภอด่านช้างได้พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งเมื่อทางราชการทำการตัดทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 333 สายอู่ทอง-ด่านช้าง-บ้านไร่ ต่อจากอำเภออู่ทอง ขึ้นมาถึงกิ่งอำเภอด่านช้างทำให้มีการย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้ามาจับจองพื้นที่ทำการค้าและอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น ส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนมากขึ้นจนพัฒนากลายเป็น ตลาดกิโลสอง หรือ ตลาดด่านช้าง ในเวลาต่อมา

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 กิ่งอำเภอด่านช้าง ได้พัฒนาความเจริญขึ้นมาเป็นลำดับทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี ว่าที่ ร.ต.กฤษณ์ สังขพันธ์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเป็นคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศจัดตั้งสุขาภิบาล องค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งแรกของอำเภอ โดยได้รวมพื้นที่บางส่วนของตำบลด่านช้างและตำบลหนองมะค่าโมง คือหมู่ที่ 1 บ้านด่านช้าง ตำบลด่านช้าง และหมู่ที่ 5 บ้านกิโลสอง ตำบลหนองมะค่าโมง รวมพื้นที่ 4.4 ตารางกิโลเมตร เป็นสุขาภิบาลด่านช้าง ซึ่งต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 จึงได้พัฒนายกฐานะขึ้นเป็น เทศบาลตำบลด่านช้าง ทำหน้าที่ดูแลและพัฒนาตลาดกิโลสอง หรือ ตลาดด่านช้าง ย่านเศรษฐกิจของอำเภอด่านช้างในปัจจุบัน

อำเภอด่านช้างเป็นอำเภอลำดับที่ 9 ใน 10 อำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีความสำคัญทางด้านสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ซึ่งมีแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในอำเภอขนาดใหญ่ที่มีการบริหารงานที่สลับซับซ้อน เมื่อปี พ.ศ. 2554 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ปรับปรุงตำแหน่งนายอำเภอด่านช้างให้เป็นระดับผู้อำนวยการระดับสูง

เหตุการณ์สำคัญ

[แก้]
  • วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 นายพันตรี ม.จ.วงศ์วโรชร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ แม่กองรังวัดภูมิประเทศในสยาม ได้เดินทางมาที่บ้านตะเพินคี่ ตำบลองค์พระ อำเภอเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี มณฑลนครไชยศรี (ขณะนั้น) เพื่อปักปันเขตแดนรอยต่อ 3 จังหวัด ระหว่างกาญจนบุรี อุทัยธานี และสุพรรณบุรี พร้อมทั้งได้ตั้งนายปวยคอง ราษฎรบ้านดังกล่าวเป็นเจ้าวัด ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของราษฎร
  • ปี พ.ศ. 2505 กระทรวงเกษตรได้ประกาศให้ป่าห้วยขมิ้น ป่าพุน้ำร้อน และป่าหนองหญ้าไทร พื้นที่ตำบลด่านช้าง ตำบลห้วยขมิ้น ตำบลบ่อกรุ อำเภอเดิมบางนางบวช พื้นที่ 330,625 ไร่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 กระทรวงเกษตรได้ประกาศให้ป่าองค์พระ ป่าพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู ในพื้นที่ตำบลองค์พระ อำเภอเดิมบางนางบวช พื้นที่ 447,000 ไร่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เพิ่มเติมอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากยังมีไม้ชนิดดีมีค่าขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นป่าต้นน้ำลำธาร จำเป็นที่จะต้องสงวนไว้เป็นป่าไม้ถาวร การประกาศทั้ง 2 ครั้งดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่กว่า 777,625 ไร่กลายเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี
  • ปี พ.ศ. 2516 บริษัท สุพรรณบุรีทำไม้ จำกัด ได้รับสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ โดยบริษัทได้ใช้เวลาตัดไม้ และชักลากออกจากป่า รวมเป็นเวลาประมาณ 17 ปี และได้หยุดดำเนินการไปในปี พ.ศ. 2532 ผลจากการสัมปทานดังกล่าวได้ทำให้พื้นที่ป่าลดลงและเกิดการจับจองที่ดินเปลี่ยนแปลงพื้นที่บริเวณดังกล่าวไปทำเกษตรกรรมประเภทพืชไร่เป็นจำนวนมาก อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น
  • ต่อมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2517 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดตั้ง สหกรณ์นิคมห้วยขมิ้น เพื่อจัดที่ดินป่าห้วยขมิ้น ป่าพุน้ำร้อน และป่าหนองหญ้าไทร ที่เสื่อมโทรมให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ก่อนเข้าทำประโยชน์ต่อไป คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 180,000 ไร่
  • วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2517 กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่าอำเภอเดิมบางนางบวชมีพื้นที่กว้างขวางและห่างไกล ราษฎรไม่ได้รับความสะดวกจากบริการของรัฐ จึงได้ประกาศให้แยกตำบลด่านช้าง ตำบลองค์พระ และตำบลห้วยขมิ้น ออกไปจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอด่านช้าง โดยมีนายธีระศักดิ์ เทศศิริ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นคนแรก ต่อมาได้ประกาศเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ได้โอนตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอเดิมบางนางบวช ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งขึ้นใหม่มาขึ้นการปกครองกับกิ่งอำเภอด่านช้างอีกตำบลหนึ่ง รวมเป็น 4 ตำบล คิดเป็นพื้นที่รวม 745,625 ไร่ ซึ่งขณะนั้นกิ่ง อำเภอด่านช้าง ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเกือบทั้งหมด
  • วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนารถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารเรียน โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 3 และพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน และทอดพระเนตรโครงการก่อสร้างเขื่อนกระเสียว
  • ปี พ.ศ. 2523 การก่อสร้างเขื่อนกระเสียวได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร การประมง และแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุพรรณบุรีตอนล่างได้ มีพื้นที่เก็บกักน้ำ 28,750 ไร่ เป็นเขื่อนดินที่มีความยาวถึง 4,250 เมตร เป็นอันดับที่สองรองจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
  • วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 กิ่งอำเภอด่านช้าง ได้พัฒนาความเจริญขึ้นมาเป็นลำดับทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอด่านช้าง เป็นศูนย์กลางในการบริหารราชการมาจนถึงปัจจุบัน โดยมี ว่าที่ ร.ต.กฤษณ์ สังขพันธ์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเป็นคนแรก
  • ปี พ.ศ. 2525 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งสุขาภิบาล องค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งแรกของอำเภอ โดยได้รวมพื้นที่บางส่วนของตำบลด่านช้างและตำบลหนองมะค่าโมง คือหมู่ที่ 1 บ้านด่านช้าง ตำบลด่านช้าง และหมู่ที่ 5 บ้านกิโลสอง ตำบลหนองมะค่าโมง พื้นที่ 4.4 ตารางกิโลเมตร เป็นสุขาภิบาลด่านช้าง ซึ่งต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 จึงได้พัฒนายกฐานะขึ้นเป็น เทศบาลตำบลด่านช้าง ทำหน้าที่ดูแลและพัฒนาตลาดกิโลสอง หรือ ตลาดด่านช้าง ย่านเศรษฐกิจของอำเภอด่านช้างในปัจจุบัน
  • วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2532 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ประจำอำเภอด่านช้าง โดยมี นายเกียรติคุณ สุวรรณกูล นายอำเภอด่านช้าง เข้ารับพระราชทาน
  • ปี พ.ศ. 2533 บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ย้ายโรงงานผลิตน้ำตาลจากอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มาก่อสร้างใหม่ใกล้ลำห้วยกระเสียว บนทางหลวงหมายเลข 3350 ในพื้นที่ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 45,000 ตันต่อวัน เป็นโรงงานผลิตน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ทำให้อ้อยกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอด่านช้าง และส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมของอำเภอด่านช้างอย่างรวดเร็ว
  • วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 อำเภอด่านช้างปรากฏชื่อเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อเครื่องบินของสายการบินเลาดาแอร์ เที่ยวบินที่ 004 ประสบอุบัติเหตุตกบริเวณป่าสนสองใบ เศษซากความเสียหายกระจายไปทั่วป่าในเขตตำบลห้วยขมิ้น และตำบลวังยาว มีผู้เสียชีวิต 223 คน
  • วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 กรมการปกครองได้อนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอด่านช้าง ขึ้นใหม่ในบริเวณศูนย์ราชการอำเภอด่านช้าง โดยฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาเป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์อาคารดังกล่าว เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จได้กลายเป็นศูนย์กลางในการบริหารราชการมาจนถึงปัจจุบัน
  • วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี และเปิดประชุมทางวิชาการองค์การยุวเกษตรแห่งอนาคต ที่ วิทยาลัยเกษตรกรรมสุพรรณบุรี อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
  • วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2541 กรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่า พื้นที่ป่าองค์พระ ป่าพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู ในท้องที่ตำบลองค์พระ ตำบลห้วยขมิ้น ตำบลวังยาว ตำบลนิคมกระเสียว ตำบลด่านช้าง ยังมีสภาพป่าที่มีความสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี ทิวทัศน์สวยงาม สัตว์ป่าชุกชุม จึงได้ประกาศจัดตั้งเป็น อุทยานแห่งชาติพุเตย ครอบคลุมเนื้อที่ 198,422 ไร่ นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่สำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี
  • ปี พ.ศ. 2546 ได้มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยหินใหม่ลงมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ที่บ้านพุน้ำร้อน ตำบลด่านช้าง บริเวณพื้นที่เชิงเขาซึ่งมีลำห้วยแม่ทวีปไหลผ่าน โดยได้พบเครื่องมือหินจำนวนมาก อาทิ ขวานหินขัด หินกะเทาะ ที่ทำจากหินตระกูลเชิร์ต ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ขวานสำริด และกระดิ่งสำริด สันนิษฐานว่าบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหินกะเทาะในสมัยหินใหม่ นอกจากนั้นที่บ้านโป่งคอม ตำบลด่านช้าง ได้มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ฝังบรรจุอยู่ในภาชนะดินเผาเคลือบสี่หู พบตะกรันแร่ และก้อนดินไฟที่เป็นโครงสร้างเตาถลุงเหล็ก สันนิษฐานว่าบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นแหล่งถลุงโลหะในสมัยอยุธยา
  • วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดเขาถ้ำหมี ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
  • วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ณ สำนักสหปฏิบัติ ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อทรงนมัสการ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปอ.ปยุตโต) โดยมี เจ้าคุณพระสินีนาฏพิลาสกัลยาณี ตามเสด็จ

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอด่านช้างแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 7 ตำบล 93 หมู่บ้าน ได้แก่

1. หนองมะค่าโมง (Nong Makha Mong)
2. ด่านช้าง (Dan Chang)
3. ห้วยขมิ้น (Huai Khamin)
4. องค์พระ (Ong Phra)
5. วังคัน (Wang Khan)
6. นิคมกระเสียว (Nikhom Krasiao)
7. วังยาว (Wang Yao)

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอด่านช้างประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลด่านช้าง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลหนองมะค่าโมงและบางส่วนของตำบลด่านช้าง
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองมะค่าโมง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองมะค่าโมง (นอกเขตเทศบาลตำบลด่านช้าง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลด่านช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลด่านช้าง (นอกเขตเทศบาลตำบลด่านช้าง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขมิ้น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยขมิ้นทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลองค์พระ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลองค์พระทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวังคัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังคันทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมกระเสียว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนิคมกระเสียวทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวังยาว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังยาวทั้งตำบล

สถานศึกษา

[แก้]

ระดับอนุบาลและประถมศึกษา

  • โรงเรียนอนุบาลด่านช้าง

ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 2 แห่ง

ระดับอาชีวศึกษา 1 แห่ง

  • วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี

ระดับอุดมศึกษา 1 แห่ง

สถานพยาบาล

[แก้]

ประเภทโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ จำนวน 1 แห่ง

  • โรงพยาบาลด่านช้าง (110 เตียง)

ประเภทโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 16 แห่ง ในพื้นที่ 7 ตำบล

อ้างอิง

[แก้]