ข้ามไปเนื้อหา

พล นิกร กิมหงวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พล นิกร กิมหงวน

พล นิกร กิมหงวน หรือ สามเกลอ เป็นหัสนิยาย ประพันธ์โดย ป. อินทรปาลิต ที่จัดพิมพ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 - พ.ศ. 2511 มีมากมายเกินกว่าพันตอน (ตอนแรกคือตอน อายผู้หญิง) [1] เนื้อหาออกไปในแนวสนุกสนานครื้นเครง มีการหยอกล้อกันไปมา จัดเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน[2] นอกจากรูปแบบหนังสือแล้ว พล นิกร กิมหงวน ยังเคยทำเป็นภาพยนตร์ออกฉายอีกด้วย รวมทั้งละครโทรทัศน์ อีกด้วย

ตัวละคร

[แก้]

ตัวละครเอกที่เป็นที่จดจำได้ของคนทั่วไปคือ

  • พล พัชราภรณ์ - บุตรชายคนเดียวของพระยาประสิทธิ์นิติศาสตร์ (ประสิทธิ์ พัชราภรณ์) อดีตผู้พิพากษา กับคุณหญิงประสิทธิ์นิติศาสตร์ (วาด พัชราภรณ์) มีใบหน้าที่หล่อคมคาย และพูดจาสุภาพเรียบร้อย เป็นที่ต้องตาของสาว ๆ แต่ก็เป็นคนที่นายแห้ว คนใช้ กลัวและเกรงใจที่สุด เป็นคนที่ได้เรื่องที่สุดในหมู่เพื่อน คือ ยามที่เพื่อนจะออกนอกลู่นอกทาง "บางครั้ง" ก็จะเตือนให้สติ เหมือนเป็นผู้นำอย่างกลาย ๆ แต่พลเองก็มักจะเฮฮาไปกับเพื่อนเสมอ จนเสียเองก็มี แต่ยามดุก็เอาเรื่อง พลมีฝีมือชกมวยมาก
  • นิกร การุณวงศ์ - เป็นบุตรชายคนเล็กของพระยาวิจิตรบรรณาการ (แก่น การุณวงศ์) พี่ชายของคุณหญิงวาด นิกรจึงมีศักดิ์เป็นลูกผู้พี่ของพล แต่นิกรอ่อนกว่าพลราวปีนึง เป็นน้องชายของ นันทา พัชราภรณ์ (นามสกุลเดิม การุณวงศ์) ภรรยาของพล นิกรกินเก่งมากถึงมากที่สุด ในวงเหล้ามักจะกินแต่กับ บางครั้งก็สัปหงกบ่อย ๆ มีความรู้ด้านไสยศาสตร์เล็กน้อย (2 คนนี้เป็นตัวละครช่วงแรกสุด เรียกว่า 2 เกลอ) มีสมญาว่า "กระดิ่งทอง" มาจากการที่ชอบร้องยี่เก (ลิเก) และแทนตัวเองด้วยชื่อนี้ รำสวย ร้องยี่เกเพราะ เจ้าบทเจ้ากลอน ความสามารถพิเศษ คือ การล้วงกระเป๋า มักล้วงกระเป๋ากิมหงวนเสมอ
  • กิมหงวน ไทยแท้ - (ทั้ง 3 คนนี้เป็นตัวละครช่วงแรก ๆ เรียกว่า 3 เกลอ) (ชื่อเดิม กิมหงวน ไทยเทียม ภายหลังเปลี่ยนเป็น สงวน ไทยแท้ ) เจ้าของห้างศิวิไลซ์พานิชย์ และกิจการค้าอื่น ๆ มากมาย ได้รับการยกย่องว่าร่ำรวยเป็นอันดับหนึ่งของไทย มีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ สูงถึง 6 ฟุต 1 นิ้ว ซึ่งจัดว่าสูงมากสำหรับคนไทยในสมัยนั้น ชอบสวมแว่นตาขอบกระ ปกติเป็นคนไม่สู้คน แต่ถ้าถูกดูหมิ่นจะเปลี่ยนเป็นคนมุทะลุฉุนเฉียว มักจะถอดแว่นตาออกเมื่อโมโหได้ที่ พฤติการณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ จะฉีกหรือเผาธนบัตรจำนวนมาก ๆ เพื่อประกาศความมั่งคั่ง การพบกันของกิมหงวนกับเพื่อนทั้งสองในตอนแรกเป็นการเขม่นหน้ากันก่อนจะกลายเป็นเพื่อนร่วมตาย กิมหงวนมีฉายาจากตอนเป็นนักบินรบในสงครามอินโดจีนว่า "เปรตเวหา" เป็นคนบ้ายออย่างมาก
  • ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ - (ทั้ง 4 คนนี้อาจเรียกได้ว่า 4 สหาย) เป็นบุตรของพระยานพรัตน์ไมตรี (นพ ณรงค์ฤทธิ์) เป็นนักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์อัจฉริยะ สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เมื่อปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง ดร.ดิเรก ได้แสดงความสามารถด้วยการชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นในลักษณะผีดิบได้ มีนิสัยชอบพูดภาษาอังกฤษปนไทย หรือพูดด้วยไวยากรณ์แบบอังกฤษ เช่น "ผมเป็นโกรธ / I'm angry." และชอบเล่าเรื่องเกี่ยวกับมหาราชาที่อินเดียมาก เพราะก่อนกลับประเทศได้แวะที่อินเดีย ได้อยู่ในราชสำนักมหาราชา สิ่งประดิษฐ์ของดิเรกมีทั้งอาวุธ ไปจนถึง ยาวิเศษที่ทำให้ล่องหนได้
  • พระยาปัจจนึกพินาศ (อู๊ด ศิริสวัสดิ์) - นายพลนอกราชการ มีจุดเด่นที่ศีรษะล้าน ไม่มีผมมาตั้งแต่เกิด จึงมักโดนล้อให้โกรธเสมอในเรื่องเกี่ยวกับเส้นผมบนหัว มีภรรยา คือ คุณหญิงปัจจนึกพินาศ (ประณีต ศิริสวัสดิ์) เป็นพ่อของประภา ณรงค์ฤทธิ์ และประไพ การุณวงศ์ จึงมีศักดิ์เป็นพ่อตาของ นิกร การุณวงศ์ และ ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ เจ้าคุณแม้สูงวัยแต่ก็ชอบคิดทำอะไรด้วยความกระตือรือร้นมีไฟเสมอ เวลาสามเกลอไปไหน ๆ มักจะชวนท่านไปด้วย เจ้าคุณมักเป็นต้นคิดเรื่องต่าง ๆ บางครั้งก็ลงทุนทำสิ่งต่างๆด้วยความเห่อ หรือความเพ้อฝัน ช่วงสงครามได้เข้ารับราชการอีกครั้ง และทำให้สามเกลอช่วงสงครามมีสีสันเป็นอย่างมาก มีน้องชาย คือ อี๊ด ศิริสวัสดิ์

นอกจากนี้ยังมีตัวละครผู้หญิงอีก 4 คนที่เป็นภรรยาของสี่สหาย ได้แก่

  • นันทา พัชราภรณ์ - ภรรยาของ พล พัชราภรณ์ นามสกุลเดิม คือ การุณวงศ์ บุตรสาวคนโตของพระยาวิจิตรบรรณาการ (แก่น การุณวงศ์) เป็นพี่สาวของนิกร การุณวงศ์
  • ประไพ การุณวงศ์ - ภรรยาของ นิกร การุณวงศ์ นามสกุลเดิม คือ ศิริสวัสดิ์ บุตรสาวคนเล็กของพระยาปัจจนึกพินาศ (อู๊ด ศิริสวัสดิ์) และคุณหญิงปัจจนึกพินาศ (ประณีต ศิริสวัสดิ์) เป็นน้องสาวของประภา ณรงค์ฤทธิ์
  • นวลละออ ไทยแท้ - ภรรยาของ กิมหงวน ไทยแท้ นามสกุลเดิม คือ มัฆวานรังสรรค์ บุตรีของพระมัฆวานรังสรรค์ และคุณนายลิ้นจี่ มัฆวานรังสรรค์ จบเอกพละหญิงคนแรกของกรมพลศึกษา
  • ประภา ณรงค์ฤทธิ์ - ภรรยาของ ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ นามสกุลเดิม คือ ศิริสวัสดิ์ บุตรสาวคนโตของพระยาปัจจนึกพินาศ (อู๊ด ศิริสวัสดิ์) และคุณหญิงปัจจนึกพินาศ (ประณีต ศิริสวัสดิ์) เป็นพี่สาวของประไพ การุณวงศ์ [3]

ตัวละครที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่

  • เชย พัชราภรณ์ (ลุงเชย) - เป็นพี่ชายของพระยาประสิทธิ์นิติศาสตร์ (ประสิทธิ์ พัชราภรณ์) มีอาชีพเป็นพ่อค้าฟืนที่อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ (ปากน้ำโพ) ถึงแม้จะมีฐานะมั่นคงจากการค้า แต่ก็มีความตระหนีถี่เหนียวอย่างยากที่จะหาใครเปรียบได้ แม้แต่ตอนที่ป่วยหนักใกล้ตายก็ไม่ยอมแจ้งข่าวมาทางน้องชายจนถึงที่สุดถึงยอมส่งโทรเลขมาแค่คำว่า "หนัก" (เนื่องจากโทรเลขเก็บค่าบริการตามคำ) นอกจากนี้ ยังมีบุคลิกที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า ไก่นา (ไม่ทันสมัย) เชื่อกันว่า คำว่า "เชย" ที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันในความหมายเดียวกัน มาจากชื่อของตัวละครตัวนี้นั่นเอง
  • แห้ว โหระพา หรือ ศักดิ์แห้ว โหระพากุล (เจ้าแห้ว) - เป็นคนรับใช้เก่าแก่ของบ้าน "พัชราภรณ์" เกิดในบ้านพัชราภรณ์และเป็นคนสนิทของ พล พัชราภรณ์ แห้วมักรู้เห็นเป็นใจในการเที่ยวเตร่ของเจ้านายในช่วงต้นเรื่อง แห้วซื่อสัตย์ภักดี แม้จะทะเล้น ทะลึ่ง แต่เจ้านายก็ให้ความรัก ไว้ใจให้ติดตามเสมอ แห้วเคยเข้ารบในสงคราม และร่วมผจญภัยกับคณะพรรคหลายครั้ง แห้วมีข้อเสียคือ ติดกัญชา มักโดนตำหนิลงโทษหากแอบสูบ ในตอน กระเทยสาว แห้วสงสัยในตัวของมะลิชายหนุ่มลึกลับที่เข้ามาอาศัยในบ้านจนแอบส่องดูจนได้รู้ว่ามะลิเป็นผู้หญิงจึงได้เข้าไปปลุกปล้ำ
  • พระยาประสิทธิ์นิติศาสตร์ (ประสิทธิ์ พัชราภรณ์) - พ่อของพล เป็นคนมีนิสัยจริงจัง ค่อนข้างดุแต่ไม่ค่อยเอาจริง มีหัวอกเดียวกับเจ้าคุณปัจจนึกคือศีรษะล้านเหมือนกัน แต่ล้านน้อยกว่า เพียงระดับ "ง่ามเทโพ" เท่านั้น คือ กลางศีรษะล้าน แต่มีผมขึ้นโอบอยู่บริเวณท้ายทอย ท่านเจ้าคุณเคยรับราชการเป็นผู้พิพากษาและเกษียณอายุในตำแหน่งอธิบดีศาล และเปิดกิจการ “ห้างพัชรากรณ์” ซึ่งตอนหลังให้พลดูแลเป็นผู้จัดการ เจ้าคุณประสิทธิ์ปรากฏตัวครั้งแรกตอน "อายผู้หญิง" ถึงแก่อนิจกรรมในช่วง พ.ศ. 2508-2509
  • คุณหญิงประสิทธิ์นิติศาสตร์ (วาด พัชราภรณ์) - แม่ของพล เป็นคนที่รักลูกหลานมาก แม้จะสูงวัยแต่ก็กระตือรือร้นเสมอ แถมยังชอบกินหมากมาก ๆ ตอนแรก ๆ ผู้เขียนให้ชื่อเล่น ๆ ว่า ช้อย แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็น วาด
  • พระยาวิจิตรบรรณาการ (แก่น การุณวงศ์) - พ่อของนิกร การุณวงศ์ และนันทา พัชราภรณ์ มีน้องชาย คือ ช่วง การุณวงศ์ และน้องสาว คือ คุณหญิงประสิทธิ์นิติศาสตร์ (วาด พัชราภรณ์)
  • เจ้าสัวกิมเบ๊ - พ่อของกิมหงวน ไทยแท้ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของคนแรกของห้างศิวิไลซ์พานิชย์ มีพี่ชาย คือ เจ้าสัวกิมไซ
  • พระยานพรัตน์ไมตรี (นพ ณรงค์ฤทธิ์ หรือ ท่อก ณรงค์ฤทธิ์) - พ่อของ ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์
  • เจ้าสัวกิมไซ - ลุงของกิมหงวน ไทยแท้ พี่ชายของเจ้าสัวกิมเบ๊ มีบทบาทในตอน แก๊งมาเฟีย
  • คุณนายลิ้นจี่ มัฆวานรังสรรค์ - แม่ของนวลละออ เป็นม่ายสาวพราวเสน่ห์ที่เหมือนเป็นพี่สาวนวลละออมากกว่า มีกิจการร่ำรวยที่จังหวัดเชียงใหม่มีบทบาทในตอน ชิงนาง
  • อี๊ด ศิริสวัสดิ์ - น้องชายของพระยาปัจจนึกพินาศ (อู๊ด ศิริสวัสดิ์) มีศีรษะล้านเหมือนพี่ชาย ประกอบอาชีพค้าขายทั่วไปที่จังหวัดหนองคาย มีบทบาทในช่วงสงครามอินโดจีน
  • ช่วง การุณวงศ์ - น้องชายของพระยาวิจิตรบรรณาการ (แก่น การุณวงศ์) เป็นน้าของพล และเป็นอาของนิกร มีบทบาทในตอน สามเกลอล่าสัตว์
  • คุณท้าวอนงค์นาถภักดี (คุณท้าวใหญ่) - พี่สาวของคุณหญิงวาด และเจ้าคุณวิจิตร มีนิสัยเจ้าระเบียบ เดิมผู้เขียนตั้งชื่อและให้ฐานะว่า คุณจอมแก่น ซึ่งเป็นเจ้าจอมคนหนึ่งในวัง แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็น คุณท้าวใหญ่ ซึ่งมีฐานะเป็นสตรีชั้นสูงในวังแทน มีบทบาทครั้งแรกในตอน ศึกหม้ายสาว / ประชุมดารา

นอกจากนี้ในยุคหลัง ผู้เขียนได้นำตัวละครคือบุตรชายของสามเกลอมาเป็นตัวละครหลัก หรือตัวละครรองร่วมกับรุ่นพ่อด้วย คือ

  • พนัส พัชราภรณ์ - บุตรของพล พัชราภรณ์ และนันทา พัชราภรณ์
  • นพ การุณวงศ์ - บุตรของนิกร การุณวงศ์ และประไพ การุณวงศ์
  • สมนึก ไทยแท้ - บุตรของกิมหงวน ไทยแท้ และนวลละออ ไทยแท้
  • จินตนา ไทยแท้ - บุตรีของกิมหงวน ไทยแท้ และนวลละออ ไทยแท้ มีบทบาทในตอน ลูกสาวเสี่ยหงวน
  • ศ.ดำรง ณรงค์ฤทธิ์ - บุตรของ ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ และประภา ณรงค์ฤทธิ์

โดย พนัส, นพ และ สมนึก เกิดในวันเดียวกัน ในเดือน เมษายน พ.ศ. 2483 หลังจาก ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ได้แต่งงานกับ ประภา ศิริสวัสดิ์ และนายแพทย์ผู้ทำคลอดทั้งสาม คือ ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ชื่อของทั้งสามคนมีอักษรจากชื่อของพ่อแม่ ศ.ดำรงเกิดในปีหลังจากนี้ มีบทบาทร่วมกับพี่ ๆ

นวนิยาย , ภาพยนตร์ , ละครโทรทัศน์

[แก้]

รายชื่อนวนิยาย

[แก้]

ภาพยนตร์

[แก้]

ละครโทรทัศน์

[แก้]

เกร็ด

[แก้]
  • พล นิกร กิมหงวนและดิเรก ก็มียศทหารด้วย โดยพลและดิเรกในตอนท้ายของเรื่องได้เป็นถึงพลตรีส่วนนิกรและกิมหงวนได้เป็นพันเอกพิเศษ(ในตอนไปสู่อนาคตพล นิกร กิมหงวนและดิเรก มียศเป็นพลโท และพระยาปัจจนึกพินาศได้เป็นถึงจอมพล)
  • ยศทหารสูงสุดของเจ้าแห้วคือจ่าสิบเอก(ในตอนไปสู่อนาคตได้เป็นร้อยตรี)
  • นันทา ประไพ นวลละออและประภา ก็ได้รับยศทหารเป็นร้อยตรี(ในตอนพลร่มหญิง )
  • ได้มีนิตยสารสำหรับเด็ก ชื่อ "เด็กก้าวหน้า" ได้ให้คุณ ป. อินทรปาลิต เขียนเรื่อง สี่สหายลงเป็นตอนๆ เป็นเรื่องที่มีมนุษย์ต่างดาวมาลงที่เกาะร้าง โดยจะมี 2 หัวและสร้างสัตว์ยักษ์ ตอนแรกลูกสี่สหายไปปราบแต่ไม่สำเร็จ ต้องให้สี่สหายไปปราบด้วย เขียนต่อเนื่องกันหลายเล่มทีเดียว
  • ในตอนบุกฝั่งโขงที่กิมหงวนถูกจับ กิมหงวนพูดภาษาฝรั่งเศสคล่องมาก แต่ตอนฝ่าแนวกระสุนซึ่งเป็นตอนที่สามเกลอจะหนีจากจุดที่โดนล้อม กิมหงวนกลับบอกว่าพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เลย[12][13]
  • ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองไทยขาดแคลนน้ำมันมาก สามเกลอและคณะพรรค ในสมัยนั้นบางตอน จึงหันมาขี่จักรยานราเล่ย์ แทนรถยนต์
  • หุ่นบ๊อบบี้ของ ดร. ดิเรก ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ดเรื่อง Forbidden Planet ซึ่งเข้าฉายในเมืองไทยในปี พ.ศ. 2499
  • สามเกลอตอนแรกของบรรลือสาส์น (ในตอน อภินิหารหลวงพ่อทวด)
  • สามเกลอได้ย้ายมาเป็นทหารอากาศ (ในตอน อัศวินราบอากาศ)[14]
  • ห้างสี่สหายพาณิชย์ ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง (ในตอน มนุษย์เหล็ก)

สิ่งที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

[แก้]
  • คำขวัญประจำอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ได้กล่าวถึงลุงเชย ซึ่งเป็นตัวละครตัวหนึ่งในพล นิกร กิมหงวนด้วยเช่นกัน โดยมีคำขวัญว่า "โกรกพระ สวนสวย บึงงาม สมญานามเมืองลุงเชย"

อ้างอิง

[แก้]
  1. รายการ แฟนพันธุ์แท้ ตอน พล นิกร กิมหงวน ออกอากาศเมื่อ 25 พฤษภาคม 2544.
  2. แฟนพันธุ์แท้ ปี 2001 - พล นิกร กิมหงวน
  3. ในช่วงต้น ๆ ผู้เขียนไม่ได้เขียนให้ ประภา ศิริสวัสดิ์ มีบทบาทมากนัก ภายหลังผู้เขียนให้ ประภา ศิริสวัสดิ์ มีประกาศนียบัตรวิชาชีพพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมีบทบาทเป็น พยาบาลผู้ช่วย ดร.ดิเรก ณรงฤทธิ์
  4. ภาพยนตร์สามเกลอ
  5. ออกฉายละครโทรทัศน์
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-12-01.
  7. สามเกลอโลดแล่นบนจอแก้วและจอเงิน
  8. Always on My Mind...: สามเกลอ / พล นิกร กิมหงวน
  9. หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2536.
  10. True4U ส่ง “พล นิกร กิมหงวน เดอะ มิวสิคัล” ลงจอเรียกเรตติ้ง[ลิงก์เสีย]
  11. พล นิกร กิมหงวน เดอะ มิวสิคัล ทางช่อง ทรูโฟร์ยู[ลิงก์เสีย]
  12. พล นิกร กิมหงวน ชุด สงครามอินโดจีน ตอน บุกฝั่งโขง
  13. พล นิกร กิมหงวน ชุด สงครามอินโดจีน ตอน ฝ่าแนวกระสุน
  14. พล นิกร กิมหงวน ชุด สงครามอินโดจีน ตอน อัศวินราบอากาศ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]