ราชาศัพท์ (ภาษาไทย)
ราชาศัพท์ เป็นระเบียบการใช้ภาษาไทยให้สุภาพตามชั้นของบุคคลซึ่งแบ่งเป็นห้าชั้น ได้แก่
- กษัตริย์
- เจ้านาย หรือพระราชวงศ์
- พระสงฆ์ของศาสนาพุทธ
- ข้าราชการ
- สุภาพชนทั่วไป
ประวัติ
[แก้]ความเห็นของนักภาษาศาสตร์ไทย
[แก้]สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์ไปถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า "...ราชาศัพท์ดูเป็นคำที่ผู้เป็นบริวารชนใช้สำหรับผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่...มีเค้าจะสังเกตในคำจารึกและหนังสือเก่าเห็นได้ว่า ราชาศัพท์ใช้ในกรุงศรีอยุธยาดีกว่าที่อื่น ยิ่งเหนือขึ้นไป (หมายถึง ในสมัยก่อนอยุธยา) ยิ่งใช้น้อยลงเป็นลำดับ" โดยทรงสันนิษฐานด้วยว่า ราชาศัพท์เกิดขึ้นในอาณาจักรละโว้สมัยที่ขอมปกครอง ส่วนในประเทศไทยในนั้นน่าจะริเริ่มแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งกวาดต้อนชาวเขมรเข้ามาเป็นชนชั้นล่างในราชอาณาจักรอยุธยามาก ราชาศัพท์ในไทยจึงเป็นคำที่ชนชั้นล่างใช้แก่ชนชั้นสูงกว่า และยังแสดงพระวิจารณ์อีกว่า "...เมื่อแรกตั้งราชาศัพท์ ภาษาที่ใช้กันในพระนครศรีอยุธยายังสำส่อน เลือกเอาศัพท์ที่เข้าใจกันมากมาใช้ และ...ในครั้งแรกจะไม่มีมากมายนัก ต่อมาภายหลังจึงคิดเพิ่มเติมขึ้นด้วยเกิดคิดเห็นว่าของเจ้าควรจะผิดกับของไพร่ให้หมด..." [1]
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ราชบัณฑิต มีพระปาฐกถาเรื่อง "กถาเรื่องภาษา" ว่า "...นอกจากคำพูดและวิธีพูดทั่วไปแล้ว ยังมีคำพูดและวิธีพูดสำหรับชนเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่าอีกด้วย เช่น ราชาศัพท์ของเรา เป็นต้น ฝรั่งไม่มีราชาศัพท์เป็นคำตายตัว แต่มีวิธีพูดยกย่องชั้นพระมหากษัตริย์หรือชั้นผู้ดีเหมือนกัน แต่วิธีพูดเช่นนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว โดยมากมักจะเป็นวิธีพูดอย่างสุภาพเท่านั้นเอง"[2].
คำสุภาพ
[แก้]คำสุภาพ คือคำราชาศัพท์สำหรับชั้นสุภาพชน เป็นการเปลี่ยนถ้อยคำต่างๆ ให้เหมาะสมสำหรับสื่อสารกับผู้ที่อาวุโสกว่า คำสุภาพมีลักษณะทั่วไปดังนี้
- ไม่เป็นคำอุทานที่ไม่สุภาพ เช่น โว้ย เว้ย หรือคำสบถ เช่น ให้ตายห่า ให้ฉิบหายวายวอด หรือการพูดกระชากเสียง เช่น เปล่า ไม่ใช่ เป็นต้น
- ไม่เป็นคำผวน คือเมื่อผวนหางเสียงกลับมาไว้ข้างหน้าแล้ว คำนั้นจะกลับเป็นไม่สุภาพทันที เช่น ผักบุ้ง ผวนเป็น พุ่งบัก เป็นต้น
- ไม่มีการใช้คำที่ถือว่าหยาบโลน เช่น ไอ้, อี, ขี้ ฯลฯ โดยจะเปลี่ยนคำศัพท์ไปเป็นคำอื่น เป็น สิ่ง, นาง, อุจจาระ ฯลฯ หรือไม่ก็ตัดออกไปเลย เช่น อีเลิ้ง เป็น นางเลิ้ง ดอกขี้เหล็ก เป็น ดอกเหล็ก เป็นต้น
ความหมายที่แท้จริงของ "คำหยาบ" หาใช่หมายถึงเฉพาะคำโลนหรือคำที่ใช้ในการกล่าวผรุสวาจาเท่านั้นไม่ ที่ถูกแล้วน่าจะเรียกว่า "คำสามัญ" มากกว่า เช่น คำว่า ตีน, กิน, เดิน, นอน ก็ไม่น่าจะเป็นคำหยาบอะไร แต่การนำคำเหล่านี้ไปใช้พูดกับผู้คนที่อาวุโสกว่า คำเหล่านั้นจะถือเป็น "คำหยาบ" ต้องเปลี่ยนใช้คำอื่น เช่น จะพูดว่า "ตีน" ก็ต้องเปลี่ยนเป็นคำว่า "เท้า" เป็นต้น [3][ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
ภาษาไทยถิ่นเหนือ
[แก้]ในภาษาไทยถิ่นเหนือ มีการเพ็ดทูลเจ้านายด้วยราชาศัพท์เพื่อแสดงถึงการให้เกียรติเช่นกัน อย่างในราชสำนักนครเชียงใหม่ โดยชนชั้นเจ้านายจะเรียกเจ้าผู้ครองนครกับภรรยาว่า เจ้าพ่อหลวง กับ เจ้าแม่หลวง หากเป็นคนพื้นเมืองจะเรียกว่า พ่อเจ้า กับ แม่เจ้า[4] เรียกเจ้านายชั้นสูงว่า เจ้าเหนือหัว[5] โดยใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ข้าบาทเจ้า ในสรรพนามเรียกแทนท่านว่า ฝ่าบาท ตอบรับด้วยคำว่า บาทเจ้า และใช้คำกราบถวายบังคมทูลว่า ไหว้สา[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สาส์นสมเด็จ ฉบับองค์การค้าคุรุสภาพิมพ์จำหน่าย, เล่ม 23. (2505). พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา. หน้า 106-107.
- ↑ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือ "ราชาศัพท์". (2545) ราชาศัพท์. (พิมพ์ครั้งที่สอง). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ชวนพิมพ์. หน้า 3
- ↑ ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา. การใช้ถ้อยคำและราชาศัพท์
- ↑ 4.0 4.1 อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ. 2540. p. 15.
- ↑ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ. 2540. p. 16.
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ความหมายและเหตุผลในการใช้ราชาศัพท์ เก็บถาวร 2007-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สุจิตต์ วงษ์เทศ (4 ธันวาคม 2557). "ราชาศัพท์ในไทยใช้คำเขมร ในเขมรใช้คำไทย". Sujitwongthes.com. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)