พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
พระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นโท
ประสูติ10 มีนาคม พ.ศ. 2435
สิ้นพระชนม์23 มกราคม พ.ศ. 2500 (64 ปี)
พระราชทานเพลิง26 มิถุนายน พ.ศ. 2500
พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส
พระสวามีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
พระบุตร
ราชสกุลภาณุพันธุ์ (ประสูติ)
ยุคล (เสกสมรส)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระมารดาหม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล (10 มีนาคม พ.ศ. 2435 – 23 มกราคม พ.ศ. 2500) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับหม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา และเป็นพระชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

พระประวัติ[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล (พระยศเดิม หม่อมเจ้าเฉลิมเขตรมงคล) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประสูติแต่หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุนนาค)[1] มีพระโสทรเชษฐา 2 พระองค์ ได้แก่

พระองค์เป็นพระธิดาที่ใกล้ชิดกับพระบิดา ด้วยความที่ทรงกำพร้าพระมารดาตั้งแต่พระชันษาได้เพียง 2 ปี[1] จึงเลี้ยงไว้ไม่ห่างพระองค์ ด้วยความรักในพระธิดา สิ่งใดที่เป็นความสุขและความปรารถนาของพระธิดา ถ้าไม่เหลือความสามารถแล้วพระองค์หญิงเป็นต้องได้[1] ทั้งนี้มีพี่เลี้ยงเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทของพระบิดา โดยพระองค์ทรงเรียกพระองค์เจ้าคำรบว่า "แม่"[2]

ในปีที่พระองค์ประสูตินั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี[3] จึงมีเจ้านายทูลขอพระราชทานพระนามสำหรับพระโอรส-ธิดาในเวลาไล่เลี่ยกันสามองค์ คือ[3]

ต่อมาในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 พระองค์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2443 สถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า พร้อมกับพระโสทรเชษฐาทั้งสองพระองค์[4]

เสกสมรส[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ทรงพบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ครั้งแรกในงานออกร้านวัดเบญจมบพิตร ดังที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงเล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลฟัง ความว่า[5]

“...ในงานออกร้านวัดเบ็ญจมบพิตร เจ้านายหนุ่ม ๆ อยากดูผู้หญิงก็ไม่กล้า เราต้องจัดการให้ ลุงนั่งอยู่กับพวกหนุ่ม ๆ หน้าร้านเรียกสาว ๆ ให้เข้าไปรับแจก บางคนทำดัดจริตกระมิตกระเมี้ยนเพราะมีหนุ่ม ๆ อยู่ด้วย แต่พอถึงยายบี้ [พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล] แกก็ทำหน้าเป๋อไปหมอบกราบเอาเงินแจก แล้วยังซ้ำกราบเจ้านายหนุ่ม ๆ นั้นเสียด้วย สมเด็จชายก็เลยพอพระทัยว่าไม่มีจริต...”

ด้วยความที่พระองค์ไม่มีจริตและน้ำพระทัยอันบริสุทธิ์ ประกอบกับการแสดงออกทางอากัปกิริยาที่เป็นธรรมชาติ คือสิ่งที่ดึงดูดพระทัยสมเด็จชายที่กำลังทรงอยู่ในแวดวงของเหล่าสตรีที่มีจริต และด้วยความสมน้ำสมเนื้อดังกล่าว ความรักของทั้งสองพระองค์ก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น[5]

เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ และได้รับการยกย่องจากรัชกาลที่ 5 ในฐานะสะใภ้หลวง[2] สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเล่าถึงงานอภิเษกสมรสนี้ ความว่า[5]

“...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าคุณจอมมารดาแพ [เจ้าคุณพระประยูรวงศ์] พาพระบุตรีของพระองค์ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคลไปพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ เป็นนางห้ามสะใภ้หลวงตามธรรมเนียมพิธีอย่างใหม่ที่ใช้กันไม่มีการซู่ซ่าอันใด เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐...”

ทั้งนี้สมเด็จชายและพระองค์หญิงทรงครองชีวิตคู่ ที่เรียกอย่างสามัญว่า "ผัวเดียวเมียเดียว"[5] โดยมีพระโอรสด้วยกัน 3 พระองค์ ได้แก่[2]


  1. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538) เสกสมรสกับหม่อมหลวงสร้อยระย้า (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์), หม่อมบุญล้อม (สกุลเดิม นาตระกูล), หม่อมปริม (สกุลเดิม บุนนาค) และหม่อมไฉไล (สกุลเดิม ถาวร) มีพระโอรส-ธิดาทั้งหมด 6 องค์
  2. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร (29 เมษายน พ.ศ. 2456 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534) เสกสมรสกับหม่อมราชวงศ์กุลปราโมทย์ (ราชสกุลเดิม สวัสดิกุล), หม่อมสมเชื้อ (สกุลเดิม ชมเสวี), หม่อมทองไพ (สกุลเดิม ประยูรโต), หม่อมทองแถม (สกุลเดิม ประยูรโต) และหม่อมบัวทอง (สกุลเดิม ไตลังคะ) มีพระโอรส-ธิดาทั้งหมด 6 องค์
  3. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (1 เมษายน พ.ศ. 2458 – 2 มกราคม พ.ศ. 2541) เสกสมรสกับหม่อมฟองจันทร์ (เดิม: เจ้าฟองจันทร์ อินทขัติย์) และหม่อมอุบล (สกุลเดิม สุฤทธิ์) มีพระโอรส-ธิดาทั้งหมด 7 องค์

พระจริยวัตร[แก้]

พระองค์ทรงออกพระนามพระองค์เองว่า "แม่หนูเฉลิมเขตร"[6] ส่วนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่พระองค์อื่น ๆ ออกพระนามว่า "ยายบี้" ด้วยมีพระนาสิกแบน[6] และพระราชนัดดาองค์อื่น ๆ ในรัชกาลที่ 5 ออกพระนามว่า "ยิบหยี" เพราะโปรดทำพระเนตรหยี[4]

พระองค์ไม่สันทัดในงานบ้านงานเรือนนัก แต่ก็ทำหน้าที่ของบุตรที่ดีโดยมิขาดตกบกพร่อง โดยพระองค์เองเคยกล่าวเกี่ยวกับความไม่สันทัดดังกล่าว ความว่า "เกิดมาเป็นลูกเจ้าฟ้า มาแต่งงานก็เป็นเมียเจ้าฟ้า จะให้รู้จักเช็ดกระไดไชรูท่ออย่างไร"[7]

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ได้กล่าวถึงอุปนิสัย และพระจริยวัตรโดยรวมของพระองค์ไว้ ความว่า "พระองค์หญิงเฉลิมเขตรมงคลมีพระรูปโฉมเหมือนสมเด็จพระบิดาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งพระอัธยาศัยก็คล้ายกันเป็นอันมาก กล่าวคือไม่มีใครเกลียดและไม่มีศัตรู เพราะไม่เป็นภัยกับใครเลย ไม่มีการเล่นพวก ไม่ด่าว่าค่อนแคะผู้ใด ไม่ดูถูกเหยียดหยามผู้ใด มีแต่ความซื่อสัตย์สุจริตและตามพระทัยพระองค์เอง เช่นเด็กที่เป็น Spoiled Child มาตั้งแต่เกิดเพราะไม่เคยมีใครขัดใจเท่านั้น ถ้ามีสิ่งใดที่เสียก็เป็นเรื่องที่ท่านทำพระองค์ท่านเอง ไม่มีผู้ใดต้องมาเสียหายด้วย เช่น ทรงใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ก็เป็นเงินของท่านเอง ไม่ได้ไปหยิบยืมใครมาให้เขาสูญทรัพย์"[8]

ความสนพระทัย[แก้]

พระองค์หญิงก็ทรงสนพระทัยในงานด้านศิลปะ การแสดง และทรงริเริ่มในการฝึกละครข้าหลวงตั้งเป็นคณะนาฏดุริยศิลปินจัดแสดงภายในวัง เมื่อตามเสด็จพระสวามีไปประทับยังมณฑลปักษ์ใต้ก็ทรงจัดตั้งวงดนตรี มีข้าหลวงเป็นนักดนตรีประจำคณะ ส่วนพระองค์ทรงซอด้วง[9]

ภายหลังพระสวามีสิ้นพระชนม์ เสด็จพระองค์หญิงฯทรงย้ายมาประทับที่วังมังคละสถาน ริมถนนสุขุมวิท ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เสด็จพระองค์หญิงฯ ทรงสนพระทัยในนาฏยศิลป์และดุริยางค์ของไทย และโปรดจัดการแสดงต่าง ๆ ขึ้นตลอดพระชนม์ชีพ ทรงจัดการแสดงครั้งแรก ณ วังมังคละสถานเป็นโขนเฉลิมวันประสูติในปี พ.ศ. 2485 ต่อมาทรงตั้งคณะชูนาฏดุริยางค์ศิลป์ขึ้น เพื่อแสดงเป็นประจำในวังโดยอาศัยสถานที่ต่าง ๆ ในวังเป็นฉาก และจัดการแสดงตามที่ต่าง ๆ ในโอกาสสำคัญ เช่น งานฉลองเปิดหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากการแสดงตามแบบแผนเดิมของไทยแล้วเสด็จพระองค์หญิงฯได้ทรงประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ในเรื่องเครื่องแต่งกายและฉาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงคิดแบบละครขึ้นใหม่ชนิดหนึ่งเรียกว่า ละครพูดสลับรำ ละครของพระองค์มีคนดูจำนวนมาก และมีทุกระดับชั้น

ต่อมาทรงหันมาสนพระทัยด้านศิลปะรำไทย ทรงตั้งคณะชูนาฏดุริยศิลป[9] ทั้งนี้ทรงมีความสามารถในการเขียนบทละคร ทั้งละครรำละละครพันทางซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น บทละครดังกล่าวได้แก่ ปันหยีมิสาหรัง และบทละครจากนวนิยายเรื่อง รุ่งฟ้าดอยสิงห์ เป็นต้น[9]

คณะชูนาฏดุริยางค์ศิลป์แสดงอยู่ 15 ปี มีการแสดงอยู่ 4ประเภท คือ โขนละครต่าง ๆ รำเบ็ดเตล็ด และการแสดงเบ็ดเตล็ดมีผู้แสดงทั้งผู้มีบรรดาศักดิ์และสามัญชนนักแสดงหลายคนเริ่มอาชีพที่นี่ และหลายคนได้รับอิทธิพลจากที่นี่และมีชื่อเสียงอยู่จนปัจจุบัน ครั้นเสด็จพระองค์หญิงฯ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2500 พระนามชื่อคณะและสิ่งที่พระองค์สร้างเสริมไว้ให้แก่วงการนาฏยศิลป์ไทยก็จางหายไปและถูกลืมเลือน

สิ้นพระชนม์[แก้]

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ประชวรและไม่สามารถเสด็จออกงานพระราชพิธีต่าง ๆ ได้ โดยได้ย้ายไปประทับที่วังมังคละ และหมดพระกำลัง สิ้นพระชนม์ลงด้วยโรคพระวักกะพิการเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2500 สิริพระชันษา 64 ปี โดย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อช่วงบ่ายวันพุธที่ 26 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2500 ก่อนหน้านั้นในช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 25 มิถุนายน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวังมงคลสถาน เพื่อวางพวงดอกไม้ที่หน้าโกศพระศพและประทับเป็นประธานในพิธีการพระราชกุศลพระราชทานพระศพ[10][11] พระนามของพระองค์ ถูกนำมาใช้เป็นชื่อของ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมเขตร์

พระเกียรติยศ[แก้]

พระอิสริยยศ[แก้]

  • หม่อมเจ้าเฉลิมเขตรมงคล (10 มีนาคม พ.ศ. 2435 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436)
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 – 11 เมษายน พ.ศ. 2443)[12]
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล (12 เมษายน พ.ศ. 2443 – 23 มกราคม พ.ศ. 2500)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 308
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ:ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 189
  3. 3.0 3.1 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ:ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 188
  4. 4.0 4.1 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ:ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 187
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 310
  6. 6.0 6.1 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ:ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 185
  7. ธงทอง จันทรางศุ. ในกำแพงแก้ว. กรุงเทพฯ:เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค. 2550, หน้า 105
  8. ธงทอง จันทรางศุ. ในกำแพงแก้ว. กรุงเทพฯ:เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค. 2550, หน้า 101
  9. 9.0 9.1 9.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 311
  10. ข่าวในพระราชสำนัก
  11. สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ:ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 190
  12. พระอิสริยยศ
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน, เล่ม 24, ตอน 0 ฉบับพิเศษ, 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450, หน้า 883
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 25, ตอน 39, 27 ธันวาคม พ.ศ. 2451, หน้า 1153
  15. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469, หน้า 3114
  16. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 63, ตอน 17 ง, 26 มีนาคม พ.ศ. 2489, หน้า 426
  17. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 70, ตอน 20 ง, 24 มีนาคม พ.ศ. 2496, หน้า 1255