วัดธาตุทอง (กรุงเทพมหานคร)
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
วัดธาตุทอง | |
---|---|
วัดธาตุทอง พระอารามหลวง เมื่อมองจากสถานีเอกมัย | |
ชื่อสามัญ | วัดธาตุทอง พระอารามหลวง |
ที่ตั้ง | ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ[1] |
นิกาย | เถรวาท ธรรมยุติกนิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระพุทธสัพพัญญู พระพุทธอภิบาลปวงชน พระพุทธชินราชจำลอง |
เจ้าอาวาส | พระราชวรญาณโสภณ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดธาตุทอง พระอารามหลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร หน้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีเอกมัย วัดนั้นก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2481 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พุทธศักราช 2483 (เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร) ผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตอุโบสถ เมื่อวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2505 มีเนื้อที่ 54 ไร่ 3 งาน 82 ตาราง (เลขที่ 149 โฉนดที่ 4037) วัดธาตุทองฯ แท้จริงแล้วมีประวัติความเป็นมายาวนาน ย้อนกลับไปถึงยุคสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ก่อนจะมาตั้งอยู่บนนถนนสุขุมวิทในปัจจุบัน
ที่ตั้ง
[แก้]- ทิศเหนือ ติดกับที่ดินและบ้านเรือนประชาชน(ซอยชัยพฤกษ์)
- ทิศใต้ ติดกับถนนสุขุมวิท
- ทิศตะวันออก ติดกับที่ดินและบ้านเรือนประชาชน(ซอยเอกมัย)
อยู่ติดกับโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง
ประวัติ
[แก้]วัดธาตุทอง พระอารามหลวง ในอดีต อารามแห่งนี้เดิมมี 2 วัด คือวัดหน้าพระธาตุ และวัดทองล่าง วัดหน้าพระธาตุตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นในสมัยอโยธยา (กรุงศรีอยุธยา) หน้าวัดมีพระพุทธเจดีย์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สถาปนาโดย พระเจ้าสายน้ำผึ้งหรือพระเจ้าดวงกฤษณราช กษัตริย์แห่งอโยธยา (ปรากฏในพงศาวดารเมืองเหนือ-อยุธยามรดกโลก) ส่วนวัดทองล่างนี้เล่ากันมาว่า สถานที่ตรงนั้นเป็นสวนผลไม้ของ ปู่ ย่า ตา ยาย ของนายทอง โดยได้รับมรดกจากวงศ์สกุล นัยว่า กลางสวนนั้นมีต้นโพธิ์ใหญ่โตมาก นายทองจึงเป็นกังวลเพราะเห็นว่าต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ในวัด ไม่สมควรจะให้อยู่ในบ้าน จะโค่นทิ้งเสียก็กลัวว่า จะเป็นอันตรายแก่ตนและครอบครัว จึงบริจาคที่ส่วนนั้นสร้างเป็นวัดเล็กๆขึ้น พอเป็นที่อยู่ของพระพอสมควร วัดนั้นยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ดี แต่ก็ยังมีสมภารชาวรามัญรูปหนึ่งชื่อว่า "กะทอ" กะทอเป็นภาษารามัญ กะ แปลว่า ปลาตะเพียน ทอ แปลว่า ทอง กะทอ จึงแปลว่า ปลาตะเพียนทอง ส่วนชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่า สมภารทอง สมภารกับนายทองเจ้าของวัดต่างร่วมกันทำนุบำรุงวัดจัดสร้างอุโบสถเสนาราม ต่อมาท่านทั้ง 2 เล็งถึงนิมิตหมาย 3 ประการ คือ ดังนี้
1. ที่เดิมมีต้นโพธิ์อยู่
2. เจ้าของที่ชื่อนายทอง
3. สมภารชื่อทอง
จึงตั้งชื่อวัดนี้ขึ้นว่า "วัดโพธิ์สุวรรณาราม" หรือวัดโพธิ์ทอง ครั้นนายทองถึงแก่กรรม ผู้เป็นบุตรจึงได้ปฏิสังขรณ์วัดเป็นลำดับมา ในชั้นหลังๆวัดนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดทอง" ภายหลังวัดทอง มีหลายแห่งตามแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งด้านบนและล่างจึงเพิ่มอักษรท้ายชื่อนี้ว่า "วัดทองล่าง" คู่กับวัดทองบน ที่ตั้งของวัดทองล่างนี้ อยู่ใกล้กับฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองพระโขนง
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2480 รัฐบาลในสมัยนั้นต้องการที่ตำบลคลองเตย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ วัดหน้าพระธาตุและวัดทองล่าง ซึ่งอยู่ภายในบริเวณนั้น จึงถูกเวนคืนที่ดิน โดยรัฐบาลชดใช้เงินให้เพื่อไปรวมกับวัดอื่น หรือไปสร้างวัดใหม่ขึ้น โดยทางคณะสงฆ์จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีพระเดชพระคุณพระมหารัชมังคลาจารย์ (เทศ นิเทสสกเถร) สมัยเมื่อยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระรัชมงคลมุนี วัดสัมพันธวงศ์ เป็นประธานกรรมการและท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวจเถร) ครั้งยังเป็นพระเทพมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้แนะนำเลือกสถานที่ดินที่สร้างวัด มีเนื้อที่ 54 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา ราคาที่ดินไร่ละ 500 บาท หรือวาละ 5 สลึงสถานที่ตั้งอารามในปัจจุบัน โดยถือกรรมสิทธิ์เป็นที่วัดธาตุทอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2480
คณะกรรมการได้จัดการย้ายเสนาสนะถาวรวัตถุ"วัดหน้าพระธาตุและวัดทองล่าง" มาปลูกสร้างรวมกันที่ตำบลคลองบ้านกล้วย ณ สถานที่แห่งนี้ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเป็นองค์อุปถัมภ์ และทรงนำมงคลนาม ทั้ง 2 วัดนี้มารวมกันประทานนามใหม่ว่า "วัดธาตุทอง" ย้ายมาเมื่อปี พุทธศักราช 2481 ปี 2482 จึงเริ่มมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาเป็นคราวแรก ปี 2483 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและได้เริ่มก่อสร้างปูชนียวัตถุ ถาวรวัตถุต่างๆตามลำดับเรื่อยมา
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธุ์ 2550 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณารับวัดธาตุทองไว้ในพระอุปถัมภ์ และประทานตราสัญลักษณ์ใหม่ให้แก่วัด เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2550 และ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดธาตุทอง เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ในวันที่ 29 พฤษาภาคม 2555 จวบจนปัจจุบัน
พระมหาเจดีย์ 84 พรรษา ราชนครินทร์
[แก้]สิ่งสำคัญยิ่งที่ควรจดจำไว้สำหรับวัดธาตุทองอีกประการหนึ่งคือ พระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่นอกจากจะทรงพระกรุณารับวัดธาตุทองไว้ในพระอุปถัมภ์ และพระราชทานตราสัญลักษณ์ใหม่ให้แก่วัด แล้วนั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2550 ก็ได้พระราชทานผ้าพระกฐินให้อัญเชิญมาทอด ณ วัดธาตุทอง โดยรวมปัจจัยเป็นกองทุนสร้างพระมหาเจดีย์ 84 พรรษา ราชนครินทร์ ด้วย เป็นต้น
ปูชนียวัตถุ
[แก้]วัดธาตุทองฯ มีปูชนียวัตถุ ที่สำคัญ ดังนี้
1. พระเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ย้ายมาจากวัดหน้าพระธาตุ
2. พระสัพพัญญู พระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 70 นิ้ว สูง-นิ้ว สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2495
3. พระพุทธชินินทร ประจำอุโบสถ สมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง 32 นิ้ว
4. หลวงพ่อพระพุทธอภิบาลปวงชน หน้าตักกว้าง 32 นิ้ว สร้างเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พุทธศักราช 2525 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดพระนามเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2525
5. พระพุทธมนต์ปรีชา สุโขทัย พระประธานหอประชุม (ปัจจุบัน ประดิษฐานภายในอุโบสถ)
6. พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุอินแขวนจำลอง
7. พระพุทธชินราชจำลอง ประจำวิหารลิมปาภรณ์
ศาสนสถานและเสนาสนะที่สำคัญ
[แก้]1. อุโบสถ ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2490 ลักษณะอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเสร็จสมบูรณ์ ผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2505
2. ศาลาการเปรียญ ขนาดกว้าง 12.20 เมตร ยาว 22 เมตร สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2482 (ย้ายมาจากวัดทองล่าง คุณหญิงศวงศ์บูรณะใหม่)
3. หอระฆัง 1 หลัง สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2497 ปัจจุบันรื้อถอน เพื่อใช้สถานที่สร้างพระมหาเจดีย์
4. หอประชุม-ศาลา เอนกประสงค์ ขนาดกว้าง 14.30 เมตร ยาว 24.30 เมตร ลักษณะอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2499(มีการแสดงพระธรรมเทศนาเช้า-เย็นในวันพระ และในวันอาทิตย์) ปัจจุบันรื้อถอนเพื่อใช้สถานที่สร้างพระมหาเจดีย์
5. วิหารลิมปาภรณ์ ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นสถานที่ศึกษาพระอภิธรรม และ เป็นสถานที่เจริญสมาธิภาวนา สำหรับประชาชนทั่วไป ทุกวันอาทิตย์ สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2514
6. ฌาปนสถานทรงไทย 2 หลังติดกัน กว้าง 11.80 เมตร ยาว 37.30 เมตร
7. อาคารศาลาบำเพ็ญกุศล เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ จำนวน 83 หลัง ลักษณะอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
8. กุฏิสงฆ์ จำนวน 45 หลัง ลักษณะอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
ลำดับเจ้าอาวาส
[แก้]นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พระอารามแห่งนี้มีเจ้าอาวาสมาแล้วทั้งสิ้น 4 องค์ได้แก่
ลำดับที่ | รายนาม | เริ่มวาระ (พ.ศ.) | สิ้นสุดวาระ (พ.ศ.) |
---|---|---|---|
รักษาการ | พระครูปลัดสัมพิพัฒนญาณาจารย์ | 2482 | 2487 |
1. | พระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปญฺโญ) | 2503 | 2544 |
รักษาการ | พระพรหมุนี (จุนท์ พรหมคุตฺโต) | 2544 | 2549 |
2. | พระราชวรญาณโสภณ (ชุบ เขมงฺกโร) | 2549 | ปัจจุบัน |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง [วัดธาตุทอง], เล่ม 32, ตอน 0 ก, 3 ตุลาคม พ.ศ. 2458, หน้า 284
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วัดธาตุทอง เก็บถาวร 2012-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน